คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน แอสไพรินเพิ่มอัตรารอดชีวิตในมะเร็งเต้านมหรือไม่
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 19 ธันวาคม 2565
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน แอสไพรินเพิ่มอัตรารอดชีวิตในมะเร็งเต้านมหรือไม่
แอสไพริน เป็นตัวยาที่ทางการแพทย์คุ้นเคยตั้งแต่ปี ค.ศ.1899 ผลิตครั้งแรกโดยบริษัท เบเยอร์/ไบเออร์ (Bayer) ประเทศเยอรมนี เป็นยาราคาถูกแต่มีประสิทธิภาพเป็นยาต้านการอักเสบในกลุ่มเอ็นเสด ยาลดไข้ ยาแก้ปวด และยาต้านเกล็ดเลือดช่วยลดการเกิดลิ่มเลือด ทางตะวันตกใช้ยาตัวนี้บ่อยในการป้องกันและรักษาภาวะหลอดเลือดอุดตันจากลิ่มเลือดในโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคอัมพาต/หลอดเลือดสมอง
ปัจจุบัน การศึกษาในห้องปฏิบัติการ, ในสัตว์ทดลอง, และการศึกษาในคนแบบการเฝ้าสังเกตพบว่า คุณสมบัติต้านการอักเสบและต้านเกล็ดเลือดของแอสไพรินช่วยลดอัตราการแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือดของเซลล์มะเร็ง, เพิ่มอัตรารอดชีวิตผู้ป่วยมะเร็งบางชนิด
ดังนั้นคณะแพทย์จากสหรัฐอเมริกานำโดย Wendy Y. Chen จาก Dana-Farber Cancer Institute, Boston, รัฐแมสซาชูเซตส์จึงต้องการศึกษาแบบล่วงหน้าและสุ่มตัวอย่างในระยะ 3 (Prospective randomized controlled trial, Phase3) ถึงผลของแอสไพรินในมะเร็งเต้านมชนิด HER2(-) ต่ออัตราปลอดโรค (DFS), อัตรารอดชีวิต โดยเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยฯที่ได้แอสไพรินวันละ300มก.และผู้ป่วยฯที่ได้ยาหลอก ซึ่งการศึกษานี้ได้รับทุนจาก U.S. National Institutes of Health และได้เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตในวารสารการแพทย์ ASCO Monthly Plenary Series. JCO meeting abstract ฉบับ20กุมภาพันธ์ 2022
โดยผู้ป่วยฯอายุอยู่ในช่วง 18-70 ปี ผู้ป่วยฯจะสุ่มให้ได้แอสไพรินวันละ 300 มก หรือยาหลอกในอัตรา1:1และเป็นแบบอำพรางทั้ง 2 ทาง (Double blind), ทุกรายต้องรู้ค่าการจับฮอร์โมนของเซลล์มะเร็ง,BMI/ดัชนีมวลกาย,และมะเร็งเต้านมอยู่ในระยะ 2,3, ศึกษาช่วงมกราคม 2017 - ธันวาคม 2020, ผู้ศึกษาทั้งหมด = 3,021 ราย,ระยะกึ่งกลางการติดตามผล = 20 เดือน
ผลการศึกษาพบว่า แอสไพรินฯ ไม่มีผลเพิ่มอัตราปลอดโรคและอัตรารอดชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งกลุ่มดังกล่าว ดังนั้นคณะผู้ศึกษาจึงไม่แนะนำให้ใช้ยาแอสไพรินในการป้องกันการแพร่กระจาย/การย้อนกลับเป็นซ้ำของมะเร็งเต้านม
บรรณานุกรม
- ASCO Monthly Plenary Series. JCO 2022; 40;36(suppl):pp36092
- https://ascopubs.org/doi/abs/10.1200/JCO.2022.40.36_suppl.360922 (meeting abstract). [2022,Nov13]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Aspirin [2022,Nov13]