คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน อัตราเกิดมะเร็งเต้านมย้อนเป็นซ้ำ 10-30 ปี หลังการวินิจฉัยครั้งแรก
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 5 ธันวาคม 2565
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน อัตราเกิดมะเร็งเต้านมย้อนเป็นซ้ำ 10-30 ปี หลังการวินิจฉัยครั้งแรก
ปัจจุบัน แพทย์มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบมะเร็งเต้านมในสตรีในระยะแรกของโรค และรวมถึงมีวิธีรักษามะเร็งเต้าฯที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้การรักษามะเร็งฯในระยะแรกๆมีผลการรักษาที่สูง ผู้ป่วยมีโอกาสรอดได้เกิน5ปีสูงมากและอัตรารอดที่ 10 ปีก็ยังสูงอยู่เช่นกันที่รวมถึงระยะเวลาย้อนกลับเป็นซ้ำก็มักเกิน 5-10 ปี นับจากวันวินิจฉัยโรคได้
คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากเดนมาร์ก นำโดย นพ. Rikke Nørgaard Pedersen จาก Department of Clinical Epidemiology, Department of Clinical Medicine, Aarhus University and Aarhus University Hospital, Aarhus,Denmark จึงต้องการศึกษาถึง อัตราเกิดเป็นซ้ำในระยะยาวนานกว่า 10 ปีขึ้นไปของมะเร็งเต้านมระยะแรกในสตรีว่าเป็นอย่างไร และได้รายงานผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์สหรัฐอเมริกา JNCI: Journal of the National Cancer Institute ทางอินเทอร์เน็ต เมื่อ 8 พย. 2021
ทั้งนี้เป็นการศึกษาแห่งชาติเดนมาร์ก Nationwide cohort study โดยใช้ข้อมูลจาก the Danish Breast Cancer Group database (DBCG), the Danish National Patient Registry (DNPR) ข้อมูลช่วง 1987-2004 และติดตามข้อมูลนาน 32 ปี (จนถึง 31ธันวาคม 2018) นับหลังการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม โดยผู้ป่วยที่ศึกษาทุกคนต้องไม่มีมะเร็งกลับเป็นซ้ำที่ 10 ปีและต้องไม่ตรวจพบว่าเป็นมะเร็งชนิดที่ 2 หลังจากเป็นมะเร็งเต้านมแล้ว
ผลการศึกษาพบว่า จากมะเร็งเต้านมระยะแรกในสตรีในช่วงเวลาที่ศึกษามีทั้งหมด 36,924 คน, มี 20,315 ที่ปลอดจากโรคมะเร็งที่ 10 ปี อัตราเกิดมะเร็งเต้านมย้อนกลับเป็นซ้ำหลัง 10 ปี คือ 15.53 ต่อมะเร็งเต้านมฯ 1,000 ราย-ต่อปี, อัตรารวมที่ 10-32 ปีหลังวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านม = 16.6% โดยปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งกลับเป็นซ้ำได้แก่
- ขนาดก้อนมะเร็งที่โตเกิน 20 ม.ม.
- มีเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองรักแร้
- และเซลล์มะเร็งเป็นชนิดมีตัวรับต่อฮอร์โมนเพศหญิงเอสโตรเจน (ER+)
คณะผู้ศึกษาได้สรุปว่า ผลจากการศึกษานี้ ผู้ป่วยกลุ่มมีปัจจัยดังกล่าว ควรได้รับการติดตามผลการรักษาอย่างต่อเนื่องจากแพทย์ตลอดไป, สมควรได้รับวิธีรักษาที่ก้าวหน้ากว่ากลุ่มไม่มีปัจจัยเสี่ยง, และแพทย์ควรศึกษาหาวิธีรักษาใหม่ที่ให้ประสิทธิผลการรักษาที่สูงกว่าวิธีที่มีอยู่ในปัจจุบัน
บรรณานุกรม