คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน อาการของมะเร็งรังไข่ฯระยะต้นๆ
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 3 ตุลาคม 2565
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน อาการของมะเร็งรังไข่ฯระยะต้นๆ
มะเร็งรังไข่เป็นมะเร็งพบบ่อยอีกชนิดในสตรีทั่วโลก สถิติเกิดของโลกที่รายงานในปี 2020 พบสูงเป็นลำดับ 8 ของสตรีทั่วโลก, และลำดับที่ 18 ของมะเร็งทุกชนิดรวมทั้ง 2 เพศ, ส่วนในประเทศไทยมีรายงานในปี 2021 จากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบสูงเป็นลำดับ 8 ของสตรีไทยโดยพบได้ 6.0 รายต่อสตรีไทย 100,000 คน
คณะแพทย์จากสหรัฐอเมริกา นำโดย นพ. John K. Chan สูตินรีแพทย์จาก Division of Gynecologic Oncology, Palo Alto Medical Foundation/California Pacific/Sutter Research Institute, San Francisco, แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ต้องการศึกษาว่า ในผู้ป่วยมะเร็งรังไข่กลุ่มเกิดจากเซลล์เนื้อเยื่อบุผิว(Epithelial ovarian cancer, เป็นชนิดพบบ่อยที่สุดและเป็นเกือบทั้งหมดของมะเร็งรังไข่ ซึ่งทั่วไปเมื่อกล่าวถึงมะเร็งรังไข่ จะหมายถึงมะเร็งฯชนิดนี้)ในระยะต้นๆของกลุ่มโรคที่มีความรุนแรงสูง ว่า‘จะมีอาการเริ่มแรกอย่างไร’ เพื่อเตือนผู้ป่วยให้รีบพบแพทย์และเพื่อเตือนแพทย์ให้ตระหนักเมื่อพบผู้ป่วยกลุ่มนี้ที่จะต้องคิดถึงว่า อาจเป็นอาการของของมะเร็งรังไข่ในระยะต้นๆที่แพทย์อาจตรวจภายในแล้วไม่พบก้อนเนื้อผิดปกติในท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานเพื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการรักษา, และได้เผยแพร่ผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ด้านสูตินรีแพทย์ Obstetrics & Gynecology ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2022
โดยเป็นการศึกษาย้อนหลังจากข้อมูลของ GOG 157 (การศึกษาทางคลินิกในเฟส3เรื่องมะเร็งรังไข่จากกลุ่มแพทย์นรีเวชมะเร็งวิทยา สหรัฐอเมริกา) โดยผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ 419 รายที่เป็นมะเร็งฯระยะต้นๆ, ผู้ป่วยทุกรายได้รับการจัดระยะโรคจากการผ่าตัด(Surgical staged)ว่าเป็นกลุ่มโรคระยะต้นที่มีความรุนแรงสูง ได้แก่ โรคอยู่ในระยะ IA-IB ที่มีเซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง (G3), หรือเซลล์มะเร็งชนิดย่อยเป็นชนิด Clear cell, หรือผู้ป่วยระยะ IC, หรือ ระยะ II
ผลการศึกษา:
- 72% มีอาการอย่างน้อย1อาการ (40% มี 1 อาการ, 32% มีมากกว่า 1 อาการ), และ 28% ไม่มีอาการแต่ตรวจภายในพบก้อนเนื้อในท้องน้อย/อุ้งเชิงกราน
- ในผู้มีอาการอย่างน้อย 1 อาการ, อาการที่พบบ่อย/เป็นๆหายๆ/เรื้อรัง, คือ ปวดท้องและ/หรือปวดท้องน้อย (31%), รู้สึกแน่นท้อง/ท้องอืด หรือ ท้องป่อง (26%)
- ในผู้ป่วยที่พบก้อนในท้องน้อย/ก้อนเนื้อที่รังไข่, 23% ก้อนเนื้อมีขนาด 10 ซม.หรือเล็กกว่า, 27% ก้อนเนื้อฯขนาดโตกว่า 10 ซม - 15 ซม., และที่เหลือก้อนเนื้อโตกว่า 15 ซม., ซึ่งการมีอาการขึ้นกับขนาดก้อนฯอย่างสำคัญทางสถิติ (P<.001)
- การศึกษาไม่พบว่า: การมีอาการ หรือชนิดของอาการ ขึ้นกับอายุ, ระยะโรค, หรือชนิดของเซลล์มะเร็ง,
- การศึกษาไม่พบว่า: การมีอาการก่อนวินิจฉัยโรคได้สัมพันธ์กับโอกาสเกิดมะเร็งกลับเป็นซ้ำ, หรือ กับอัตรารอดหลังรักษา
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า มากกว่า 70% ของผู้ป่วยมะเร็งรังไข่ชนิดเกิดจากเนื้อเยื่อบุผิวระยะต้นๆกลุ่มที่โรคมีความรุนแรงสูงมักมาพบแพทย์ด้วยอาการทั่วไปคล้ายโรคระบบทางเดินอาหารทั่วไปอย่างน้อย1หรือหลายอาการ, โดยอาการพบบ่อย คือ ปวดท้องเรื้อรัง และ/หรือปวดท้องน้อยเรื้อรัง, และโอกาสเกิดอาการและจำนวนอาการจะขึ้นกับขนาดของก้อนมะเร็งที่ใหญ่ขึ้น
บรรณานุกรม
- Chan, John K ,et al. Obstetrics & Gynecology, 2022;139(2): 157-162 (abstract). https://journals.lww.com/greenjournal/Abstract/2022/02000/Symptoms_of_Women_With_High_Risk_Early_Stage.2.aspx [2022,Aug29]
- Rojanamatin, et al. (2021). Cancer in Thailand vol ix, 2016-2018, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- https://www.wcrf.org/cancer-trends/ovarian-cancer-statistics/ [2022,Aug29]