คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เปรียบเทียบผลการรักษาเนื้องอกเส้นประสาทตาด้วยเทคนิคต่างๆ ทางรังสีรักษา
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 22 สิงหาคม 2565
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เปรียบเทียบผลการรักษาเนื้องอกเส้นประสาทตาด้วยเทคนิคต่างๆ ทางรังสีรักษา
เนื้องอกประสาทตา ทั่วไปคือเนื้องอกของเซลล์เยื่อหุ้มสมองที่หุ้มเส้นประสาทตา เป็นโรคพบยากที่ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าสัมพันธ์กับมีพันธุกรรมผิดปกติโดยเฉพาะกับโรคท้าวแสนปม โรคนี้พบทั่วโลก ทุกเพศ ทุกวัย เพศหญิงพบสูงกว่าเพศชาย พบสูงในเพศหญิงช่วงอายุวัยกลางคน ประมาณ 95% เกิดตาเดียว ซ้ายหรือขวามีโอกาสเกิดได้เท่ากัน เป็นโรคที่ถ้าไม่รักษามักทำให้ตาบอด และความรุนแรงโรคในเด็กสูงกว่าในผู้ใหญ่
โรคนี้การรักษาด้วยผ่าตัดมักผ่าออกได้ไม่หมด โรคจึงมักเป็นซ้ำสูงและมีผลข้างเคียงสูงจากผ่าตัด ปัจจุบันการรักษาจึงมักใช้การฉายรังสีรักษาซึ่งมีความก้าวหน้าในเทคนิคที่ช่วยลดผลข้างเคียงลงได้อย่างมีประสิทธิผล
คณะแพทย์จากบราซิล นำโดย พญ. Laísa Pereira de Melo จาก Department of Ophthalmology, Otorhinolaryngology and Head Neck Surgery, Ribeirao Preto Medical School - University of São Paulo, Ribeirão Preto, ประเทศบราซิล, จึงต้องการศึกษาว่าเทคนิคใดทางรังสีรักษาที่จะให้ผลในการควบคุมโรคได้ดีรวมถึงโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยในเกณฑ์ยอมรับได้ทางการแพทย์ และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง ของสหราชอาณาจักร Radiotherapy & Oncology ฉบับ 1 ธันวาคม 2021
โดยเป็นการศึกษาด้วยวิธี Systemic review จากการศึกษาที่เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ท ซึ่งมี 39 การศึกษาที่สามารถนำมาศึกษาครั้งนี้ได้ มีผู้ป่วยทั้งหมด 736 ตา ซึ่งเทคนิคทางรังสีรักษามีทั้งหมด 6 เทคนิค ได้แก่ เทคนิคเดิมแบบ 2 มิติ, เทคนิค 3 มิติแบบคอนฟอร์มัล (3CRT), เทคนิคฉายรังสีแบบสเตอริโอแบบฉายรังสีหลายครั้ง (SFRT), เทคนิครังสีศัลยกรรม/ฉายรังสีครั้งเดียว (SRS), เทคนิค 3 มิติไอเอ็มอาร์ที (IMRT), และเทคนิคใช้รังสีโปรตอน (PBT), ซึ่งผู้ป่วยทุกรายได้รับการติดตามผลการรักษานานเฉลี่ย 46 เดือน
ผลพบว่า:
- การควบคุมโรคได้ = 97.4%
- ทั้ง 6 เทคนิคไม่ต่างกันในด้านอัตราการมองเห็น (VA)
- เทคนิค 3 มิติแบบคอนฟอร์มัล (3CRT) มีผลข้างเคียงสูงสุด
- เมื่อรวมทั้งผลควบคุมโรคได้และอัตราเกิดผลข้างเคียง, เทคนิคฉายรังสีแบบสเตอ ริโอแบบฉายรังสีหลายครั้ง (SFRT), เทคนิครังสีศัลยกรรม/ฉายรังสีครั้งเดียว (SRS), เทคนิค 3 มิติไอเอ็มอาร์ที (IMRT), และเทคนิคใช้รังสีโปรตอน (PBT) มีแนวโน้มให้ผลการรักษาดีกว่าอีก 2 เทคนิคที่เหลือ
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การรักษาเนื้องอกเส้นประสาทตาด้วยการฉายรังสีรักษาให้ประสิทธิผลสูง และเทคนิคการฉายรังสีที่ทันสมัยให้ผลควบคุมโรคสูงกว่ารวมถึงผลข้างเคียงน้อยกว่าเทคนิค 2 มิติและเทคนิค 3CRT
ผู้เขียน: วิธีการฉายรังสีเทคนิคต่างๆดังกล่าวมีในประเทศไทย ในโรงเรียนแพทย์ทุกแห่งทั่วประเทศที่มีหน่วยงานรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา และโรงพยาบาลเอกชนขนาดใหญ่ในกทม.
บรรณานุกรม
- Radiotherapy&Oncology 2021. 165:135-141(abstract). https://www.thegreenjournal.com/article/S0167-8140(21)08776-4/fulltext [2022,Aug8]
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK430868/ [2022,Aug8]