คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งอวัยวะเพศชาย
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 8 สิงหาคม 2565
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งอวัยวะเพศชาย
มะเร็งอวัยวะเพศชาย ปัจจุบันพบน้อยในประเทศที่เจริญแล้ว แต่ยังพบบ่อยในอินเดีย อเมริกากลาง เอเชีย, ทั่วโลกมีรายงานในปี 2020 พบบ่อยเป็นลำดับที่ 24 ของมะเร็งเพศชายทั้งหมด คิดเป็น 0.4% ของมะเร็งเพศชายทุกชนิด ส่วนในประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปี ค.ศ.2021 ไม่พบติด 10 อันดับแรกของมะเร็งเพศชาย โดยพบ 1.1 รายต่อประชาการชายไทย1แสนคน
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งอวัยวะเพศชาย จากสมาคมมะเร็งวิทยาสหรัฐอเมริกา คือ
- มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จากติดเชื้อเอชพีวี (HPV infection) ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งปากมดลูก, มะเร็งคอหอยส่วนปาก, มะเร็งทวารหนัก
- ขาดความสะอาดที่ส่วนหัวอวัยวะเพศส่วนเนื้อเยื่อเมือกที่พบเกิดมะเร็งฯบ่อย จากมีการอักเสบเรื้อรังที่ก่อการระคายเคืองจากการสะสมของเซลล์เยื่อหุ้มอวัยวะเพศที่ตายแล้วร่วมกับสารคัดหลั่งจากอวัยวะเพศที่รวมเรียกว่า ‘ขี้เปียก (Smegma)’ เพราะเซลล์อักเสบเรื้อรังจะกลายพันธ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ ทั้งนี้บริเวณนี้จะทำความสะอาดได้ยากถ้าหนังหุ้มหัวอวัยวะเพศไม่เปิด (Phimosis) ทั่วไปการรักษาคือผ่าตัดเปิดหนังหุ้มอวัยวะเพศ ที่เรียกว่า การขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย (Circumcision)
- ผู้ที่ไม่มีการขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศชาย
- ติดบุหรี่ทุกรูปแบบ เพราะบุหรี่/สารในควันบุหรี่เป็นสารก่อมะเร็งสำคัญ
- ได้รับการรักษาโรคสะเก็ดเงินของผิวหนังปลายอวัยวะเพศด้วยแสงยูวี
- ผู้ป่วยเอดส์/เอชไอวี เพราะภูมิคุ้มกันบกพร่องส่งเสริมให้เซลล์ปกติกลายพันธ์เป็นเซลล์มะเร็งได้ง่าย
- บางการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุ อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งนี้ เพราะ 4 ใน 5 ของมะเร็งนี้พบมีอายุเกิน 55 ปี
ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองมะเร็งอวัยวะเพศชาย ดังนั้น ทั่วไปการป้องกัน/ลดปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งชนิดนี้ คือ การเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญคือ
- ถ้าไม่ได้ขริบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ ต้องเรียนรู้ที่จะทำความสะอาดล้างขี้เปียกไม่ให้เกิดสะสมจนก่อการอักเสบเรื้อรัง
- ใช้ถุงยางอนามัยชายเมื่อมีเพศสัมพันธ์เสมอ
- ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่
ตรวจ/สังเกตผิวหนังอวัยวะเพศด้วยตนเองเสมอ เช่น เมื่ออาบน้ำ และเมื่อพบว่าผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์
บรรณานุกรม
- J.et al.(2021).Cancer in Thailand Vol X, 2016-2018,Thailand
- https://www.wcrf.org/cancer-trends/worldwide-cancer-data/ [2022,Aug8]
- https://www.cancer.org/cancer/penile-cancer/causes-risks-prevention/risk-factors.html [2022,Aug8]