คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การฉายรังสีช่วยเพิ่มการควบคุมโรคในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การฉายรังสีช่วยเพิ่มการควบคุมโรคในโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง

มะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กิน เป็นมะเร็งพบน้อยแต่ก็พบได้เรื่อยๆ พบทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ ทั้ง2เพศ พบบ่อยใน2ช่วงอายุคือ ช่วงวัยหนุ่มสาวอายุประมาณ20-29ปี และช่วงอายุมากกว่า55ปี เป็นมะเร็งที่ตอบสนองดีมากต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา การรักษาหลักคือ ยาเคมีบำบัด และแพทย์จะพิจารณารังสีรักษาร่วมด้วยเป็นรายๆไป แต่บ่อยครั้งมีการรักษาร่วมกันระหว่างยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา และเพื่อลดผลข้างเคียงจากการรักษา ในต่างประเทศจึงมีการนำการตรวจผู้ป่วยด้วยเพทสะแกน(PET-scan)ระหว่างรักษาด้วยยาเคมีบำบัดมาช่วยตัดสินว่าผู้ป่วยควรได้รับยาเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษาอย่างไร

คณะแพทย์จากเยอรมนีซึ่งมีความสนใจศึกษามะเร็งชนิดนี้อย่างต่อเนื่องเรียกกลุ่มการศึกษานี้ว่า   the German Hodgkin Study Group  จึงต้องการศึกษาต่อเนื่องว่า กรณีมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินในระยะต้นๆ หลังได้ยาเคมีบำบัดไปแล้วจากยา  doxorubicin, bleomycin, vinblastine, และ  dacarbazine 2รอบ และผลตรวจ  PET-scan ไม่พบรอยโรคแล้ว การให้รังสีรักษาเฉพาะตำแหน่งรอยโรคแรกเกิดโรคจะช่วยควบคุมโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่รอยโรคแรกนั้นได้หรือไม่ โดยใช้รังสีรักษาปริมาณต่ำมาก คือ 20 Gy และเพื่อประเมินผลข้างเคียงของรังสีฯด้วย  ซึ่งได้รายงานผลศึกษาในวารสารการแพทย์รังสีรักษา สหรัฐอเมริกา  Journal of Radiation Oncology Biology &Physics ฉบับ 15 พฤศจิกายน 2021

ข้อมูลที่ศึกษาเป็นข้อมูลจาก The HD16 trial of the German Hodgkin Study Group (NCT00736320) ซึ่งเป็นการรักษาเปรียบเทียบแบบล่วงหน้าและสุ่มตัวอย่าง  prospective randomized controlled trial ซึ่งได้ศึกษาผู้ป่วยในช่วงปี 2009-2015  ในผู้ป่วยที่ผล PET-scan ไม่พบรอยโรค,  328รายได้ยาเคมีบำบัดวิธีเดียว, และ300รายได้ยาเคมีบำบัด+รังสีเฉพาะรอยโรคเดิม ทั้ง2กลุ่มมีระยะติดตามผลการรักษานาน 47 เดือน  ผลการศึกษา

  • พบผู้ป่วยมีโรคกลับเป็นซ้ำ15รายในกลุ่มได้เคมีฯ+รังสีฯ,และ29รายในกลุ่มได้เฉพาะยาเคมีฯ
  • ที่5ปี:
  • พบการกลับเป็นซ้ำที่รอยโรคเดิมในกลุ่มได้เฉพาะเคมีฯ=10.5%, ส่วนกลุ่มได้ยาเคมีฯ+รังสี การเป็นซ้ำที่รอยโรคเดิม =2.4% ซึ่งต่างกันอย่างสำคัญทางสถิติ, p=0.0008
  • ตำแหน่งโรคกลับเป็นซ้ำนอกรอยโรคเดิมไม่ต่างกันทางสถิติในผู้ป่วยทั้ง2กลุ่ม,p=0.54 คือ1% ในกลุ่มได้เฉพาะยาเคมีฯ,และ 6.6%ในกลุ่มได้เคมีฯ+รังสีที่รอยโรคเดิม
  • ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรง(grade4)ในขณะได้รังสีฯ
  • อัตราเกิดมะเร็งชนิดที่2เท่ากันในผู้ป่วยทั้ง2กลุ่ม

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ในผู้ป่วยที่ผล PET-scanระหว่างรอบการได้รับยาเคมีบำบัด2รอบในผู้ป่วยใน The HD16 trial ไม่พบผลข้างเคียงรุนแรงระหว่างได้รับรังสี20Gyเฉพาะรอยโรคเดิม แต่ในกลุ่มไม่ได้รังสีฯพบโรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่รอยโรคเดิมสูงกว่า ดังนั้น การให้รังสีเฉพาะรอยโรคเดิมในปริมาณ20Gyควรพิจารณาเป็นการรักษามาตรฐานในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองฮอดจ์กินกลุ่มดังกล่าวข้างต้น

บรรณานุกรม

Journal of Radiation Oncology Biology &Physics 2021; 111(4):900-906 (abstract)  [2022,May17]