คาเพ็กไซทาบีน (Capecitabine)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 17 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร
- ยาคาเพ็กไซทาบีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาคาเพ็กไซทาบีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาคาเพ็กไซทาบีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาคาเพ็กไซทาบีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาคาเพ็กไซทาบีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาคาเพ็กไซทาบีนอย่างไร?
- ยาคาเพ็กไซทาบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาคาเพ็กไซทาบีนอย่างไร?
- ยาคาเพ็กไซทาบีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil)
- มะเร็ง (Cancer)
- มะเร็งเต้านม (Breast cancer)
- มะเร็งลำไส้ใหญ่ (Colon cancer)
- มะเร็งไส้ตรง (Rectal cancer)
- กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (Flu-like Syndrome)
บทนำ: คือยาอะไร
คาเพ็กไซทาบีน (Capecitabine) คือ ยาเคมีบำบัดที่ใช้รักษาโรคมะเร็งชนิดต่างๆ เช่น มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งไส้ตรง, โดยตัวยาเป็นสารที่อยู่ในรูปไม่ออกฤทธิ์, ต่อเมื่อรับ ประทานยานี้แล้ว ยานี้จะถูกเปลี่ยนให้อยู่ในรูปออกฤทธิ์โดยตับ เรียกว่าสาร/ยาฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil) ออกฤทธิ์ด้วยการรบกวนการสร้างสารรหัสพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง ทำให้เซลล์มะเร็งไม่สามารถแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้รวดเร็วเช่นปกติ
ยาคาเพ็กไซทาบีน จัดเป็นหนึ่งในรายการยาจำเป็นขององค์การอนามัยโลก และจัดเป็นยาควบคุมพิเศษในประเทศไทย ใช้ภายใต้การดูแลจากแพทย์เฉพาะทางเท่านั้น
ยาคาเพ็กไซทาบีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาคาเพ็กไซทาบีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:เพื่อรักษาโรคมะเร็งบางชนิด เช่น
- โรคมะเร็งเต้านมระยะแพร่กระจาย
- โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และมะเร็งไส้ตรง ระยะแพร่กระจาย
นอกจากนี้ ยาคาเพ็กไซทาบีนยังมีการนำมาใช้รักษามะเร็งชนิดอื่นๆซึ่งเป็นข้อบ่งใช้ที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน (Off label use) ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษา เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งหลอดอาหาร
ยาคาเพ็กไซทาบีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาคาเพ็กไซทาบีน เป็นสารที่อยู่ในรูปไม่ออกฤทธิ์ (Prodrug) ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเปลี่ยนรูปของตัวยาที่ตับเป็นรูปตัวยาที่ออกฤทธิ์ชื่อว่า ‘ฟลูออโรยูราซิล (Fluorouracil)’ ทำหน้าที่ยับยั้งเอนไซม์ชื่อ ‘ไธมิดิเลทซินธิเทส (Thymidylate Synthetase)’ ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่มีบทบาทต่อการสร้างสารรหัสพันธุกรรม ทำให้เกิดการรบกวนกระบวนการสร้างสารรหัสพันธุกรรมชนิดดีเอ็นเอ/DNA และอาร์เอ็นเอ/RNA ส่งผลให้เซลล์มะเร็งเกิดการแบ่งตัวได้ช้าลง และถึงตายได้ในที่สุด
ยาคาเพ็กไซทาบีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคาเพ็กไซทาบีน มีรูปแบบการจำหน่าย: เช่น
- ยาเม็ดเคลือบชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 150 และ 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด
ยาคาเพ็กไซทาบีนมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาคาเพ็กไซทาบีน มีขนาดรับประทาน โดยทั่วไป คือ 1,250 มิลลิกรัมต่อพื้นที่ผิวของร่างกาย 1 ตารางเมตร (1,250 mg/m2), รับประทานวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 2 สัปดาห์, อาจใช้เป็นยาเดี่ยว หรือใช้ร่วมกับยาอื่นในการรักษา, โดยหลังจากครบ 2 สัปดาห์แล้ว แพทย์จะให้หยุดพักทานยาเป็นเวลา 1 สัปดาห์ นับเป็น 1 รอบ (3 สัปดาห์), ก่อนเริ่มรับประทานยานี้ในรอบใหม่
ทั้งนี้ ควรรับประทาน ยาคาเพ็กไซทาบีน หลังอาหาร และรับประทานยานี้ในเวลาเดียวกันของทุกๆวัน, ไม่บด ไม่หัก หรือเคี้ยว เม็ดยานี้
อย่างไรก็ดี แพทย์อาจใช้ยานี้เพื่อข้อบ่งใช้อื่นๆตามวิจารณญาณของแพทย์ผู้รักษา ซึ่งอาจมีการปรับขนาดยาคาเพ็กไซทาบีนและวิธีการรับประทานยานี้ เพื่อให้เหมาะสมกับผู้ป่วยและสภาวะของโรคเป็นรายบุคคลไป, ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรสอบถามวิธีการรับประทานยานี้จากแพทย์ หรือเภสัชกรทุกครั้งที่รับยานี้ เพื่อให้รับประทานยานี้ได้อย่างถูกต้อง
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาคาเพ็กไซทาบีน ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
- ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อทานเอง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร วิตามิน สมุนไพร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำลังใช้ยาวาฟาริน (Warfarin), ยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin), และกรดโฟลิก (Folic acid), เนื่องจากยาคาร์เพ็กไซทาบีนอาจทำให้ระดับยาเหล่านี้ในกระแสเลือดเปลี่ยนแปลงไป แพทย์ผู้ทำการรักษาและผู้ป่วยจึงต้องเฝ้าระวังผลข้างเคียงหรือพิษจากยาเหล่านี้หากมีการใช้ร่วมกับยาคาร์เพ็กไซทาบีน
- แจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ หากเคยมีประวัติร่างกายขาดเอนไซม์ไดไฮโดรไพริมิดีนดีไฮโดรจีเนส (Dihydropyrimidine dehydrogenase/DPD, การขาดเอนไซม์นี้ ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรมชนิดหนึ่งที่เกิดตั้งแต่เด็กและพบได้น้อยมาก ที่ทำให้ร่างกายเจริญเติบโตผิดปกติในหลายระบบอวัยวะโดยเฉพาะระบบประสาท), เอนไซม์นี้เป็นเอนไซม์สำคัญในการเมทาบอไลต์/การทำลายยาคาเพ็กไซทาบีนจากในรูปออกฤทธิ์ไปเป็นรูปอื่นเพื่อขับออกนอกร่างกาย, หากผู้ป่วยที่ร่างกายขาดเอนไซม์ดังกล่าว ได้ใช้ยาคาเพ็กไซทาบีนอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดการสะสมของยาคาเพ็กไซทาบีนในร่างกายและอาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯต่างๆได้มากขึ้น (อ่านเพิ่มเติมใน หัวข้อ ยาคาเพ็กไซทาบีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?)
- ประวัติโรคประจำตัว ทั้งโรคที่เคยเป็น และโรคที่กำลังดำเนินอยู่ รวมไปถึงโรคเรื้อรังต่างๆ โดยเฉพาะ โรคตับ โรคไต และโรคหัวใจ
- แจ้งให้แพทย์ทราบหาก คุณกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในช่วงระหว่างการให้นมบุตร
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาคาเพ็กไซทาบีน, ให้ข้ามมื้อยานั้นไป, และรับประทานยาในมื้อถัดไปตามปกติโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาคาเพ็กไซทาบีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคาเพ็กไซทาบีน มีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์): เช่น
- ปวดมวนท้อง
- ท้องผูก
- การรับรสชาติเปลี่ยนไป
- กระหายน้ำ
- เหนื่อยล้าง่าย
- วิงเวียน
- ปวดหัว
- ผมร่วง
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดหลัง
- ปวดข้อ
- มีอาการบวมที่ตา
- อาจมีอาการคันตามตัว
- นอนไม่หลับ
*อนึ่ง: หากอาการเหล่านี้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่ทุเลาลง หรือมีแนวโน้มว่าจะรุนแรงขึ้นจนส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน, ผู้ป่วยควรต้องแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/รีบไปโรงพยาบาลก่อนนัด หรือฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
***อนึ่ง:
- ยาคาเพ็กไซทาบีน อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯอื่นๆ เช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน, มีอาการเหมือนติดเชื้อไข้หวัดใหญ/ กลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ เจ็บคอ หนาวสั่น
- ซึ่งหากเกิดกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่จากยานี้บ่อยครั้ง ควรรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/พบแพทย์ก่อนนัด
- รวมไปถึง อาการ ปวด บวมตาม มือ เท้า ขา, หรือมีผิวหนังเป็นผื่นแดงและลอก, ก็ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/มาโรงพยาบาลก่อนนัดด้วยเช่นกัน
- *แต่หากมีอาการผิดปกติดังกล่าวที่เป็นอย่างรุนแรง หรือมีอาการปวดเค้นหน้าอก/แน่นหน้าอก รู้สึกว่าหัวใจเต้นเร็ว ปัสสาวะเปลี่ยนสีน้ำตาลเข้มหรือมีอาการเหมือนดีซ่าน (ผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลือง), ต้องรีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
- *หากรับประทานยานี้แล้ว เกิดอาการแพ้ยา เช่น มีผื่นคันขึ้นตามตัว ใบหน้า ริมฝีปาก หรือเปลือก/หนังตา บวม หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
- ยาคาเพ็กไซทาบีน อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯอื่นๆได้อีก หากเกิดอาการใดๆ, หรือ รู้สึกผิดไปจากปกติภายหลังการเริ่มรับประทานยานี้, ควรรีบแจ้งให้แพทย์ทราบทันที/มาโรงพยาบาลก่อนนัด/ฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือต่อการได้รับผลข้างเคียงจากยานี้ ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ มักพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯ ชนิดรุนแรงได้ ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/มาโรงพยาบาลก่อนนัด หรือทันที/ฉุกเฉินหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น
มีข้อควรระวังการใช้ยาคาเพ็กไซทาบีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคาเพ็กไซทาบีน: เช่น
- ไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้
- ยานี้ควรใช้ภายใต้ความดูแลจากแพทย์เฉพาะทางด้านมะเร็งเพื่อประเมินประสิทธิภาพ และผลข้างเคียงจากยาเป็นระยะๆ
- *ไม่ใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่ขาดเอนไซม์ไดไฮโดรไพริมิดีนดีไฮโดรจีเนส (Dihydropyri midine dehydrogenase/DPD), และแพทย์อาจสั่งตรวจเลือดของผู้ป่วยว่ามีเอนไซม์นี้ในร่างกายหรือไม่ก่อนเริ่มการบริหารยานี้, หรืออาจพิจารณาสั่งตรวจภายหลังเริ่มการบริหารยานี้ไปแล้วและพบว่าเกิดผลข้างเคียงจากยานี้แก่ผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องหรือรุนแรง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษา
- หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดชนิดต่างๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial Infraction), ภาวะหัวใจล้มเหลว
- หลีกเลี่ยงการฉีดหรือรับวัคซีนต่างๆขณะใช้ยานี้
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ เนื่องจากยานี้อาจเป็นอันตรายต่อทารก ในครรภ์, หากผู้ป่วยหญิงที่กำลังตั้งครรภ์อยู่ก่อนใช้ยานี้ ควรต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ, หากวางแผนที่จะตั้งครรภ์ควรปรึกษากับแพทย์ก่อนการใช้ยานี้
- ผู้ป่วยทั้งชายและหญิงที่ใช้ยานี้ ควรคุมกำเนิดเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์, จึงต้องปรึกษา แพทย์ผู้ทำการรักษาถึงวิธีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงการให้นมบุตรขณะใช้ยานี้
- รักษาความชุ่มชื้นให้แก่ผิวหนังบริเวณมือและเท้าเพื่อหลีกเลี่ยงกลุ่มอาการที่เรียกว่า ‘Hand-Foot Syndrome’ ซึ่งเป็นอาการข้างเคียงจากยานี้ คือ ทำให้มีการอาการบวมแดงที่ผิวหนังโดยเฉพาะมือและเท้าเหมือนถูกแดดจัดเผา ทำให้รู้สึกแสบร้อนตึงบริเวณดังกล่าว
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ “ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมถึงยาคาเพ็กไซทาบีน) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาคาเพ็กไซทาบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคาเพ็กไซทาบีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาคาเพ็กไซทาบีน รวมกับวัคซีนต่างๆโดยเฉพาะวัคซีนเชื้อเป็น (Live vaccine, วัคซีนที่ผลิตจากเชื้อโรคที่ยังมีชีวิต) เช่น วัคซีนบีซีจี (BCG) หรือกับ ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาทาโครไลมัส (Tacrolimus) ยาพิมีโครไลมัส (Pimecrolimus)
- ยาคาเพ็กไซทาบีน อาจทำให้ระดับยาวาฟาริน (Warfarin) ยาแอลโลพูรินอล (Allopurinol) และยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin) ในกระแสเลือดเปลี่ยนไป แพทย์อาจสั่งตรวจวัดระดับยาเหล่านี้ในกระแสเลือดเพื่อปรับระดับยาดังกล่าวให้เหมาะสมขณะที่ผู้ป่วยใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับยาคาเพ็กไซทาบีน
ควรเก็บรักษายาคาเพ็กไซทาบีนอย่างไร?
ควรเก็บรักษายาคาเพ็กไซทาบีน: เช่น
- เก็บยานี้ในภาชนะดั้งเดิมของผู้ผลิต ปิดฝาภาชนะให้แน่น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- หลีกเลี่ยงการเก็บยาในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำ หรือในตู้เย็น
- ไม่ควรนำสารดูดความชื้นที่ผู้ผลิตใส่ไว้ในภาชนะของผลิตภัณฑ์ออกจากภาชนะหากผู้ผลิตได้บรรจุไว้
- เก็บยานี้ในภาชนะดังกล่าวในตอนต้น ในอุณหภูมิห้อง
ยาคาเพ็กไซทาบีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคาเพ็กไซทาบีน มียาชื่อการค้าอื่น และชื่อบริษัทผู้ผลิต/จัดจำหน่าย เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ซีโลดา (Xeloda) | บริษัท โรชไทยแลนด์ จำกัด |
อินทาเคป (Intacape) | บริษัท อัลลายแอนซ์ ฟาร์มา จำกัด |
เคปซัยตาบีน อัลโวเจน (Capecitabine Alvogen) | เคปซัยตาบีน อัลโวเจน |
บรรณานุกรม
- American Pharmacists Association. Capeitabine, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;334-7:2014.
- https://chemocare.com/chemotherapy/drug-info/capecitabine.aspx [2022,Sept17]
- https://www.cancer.net/coping-with-cancer/physical-emotional-and-social-effects-cancer/managing-physical-side-effects/hand-foot-syndrome-or-palmar-plantar-erythrodysesthesia [2022,Sept17]
- https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2000/20896lbl.pdf [2022,Sept17]
- https://www.who.int/publications/i/item/WHO-MHP-HPS-EML-2021.02 [2022,Sept17]
- https://www.cancerresearchuk.org/about-cancer/cancer-in-general/treatment/chemotherapy/side-effects/dpd-deficiency [2022,Sept17]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=5&rctype=1C&rcno=6215101&lpvncd=10&lcntpcd=%E0%B8%99%E0%B8%A21&lcnno=5300001&licensee_no=1/2553 [2022,Sept17]