คอมดลูกสั้น (Shortened cervix)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 28 พฤศจิกายน 2560
- Tweet
- ภาวะคอมดลูกสั้นคืออะไร?
- ภาวะคอมดลูกสั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพสตรีอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการมีภาวะคอมดลูกสั้น?
- ภาวะคอมดลูกสั้นทำให้มีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะคอมดลูกสั้นอย่างไร?
- การดูแลรักษาภาวะคอมดลูกสั้นทำอย่างไร?
- สตรีตั้งครรภ์ที่มีคอมดลูกสั้น ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- การตรวจคัดกรองภาวะมดลูกสั้นในสตรีตั้งครรภ์ทุกคนจำเป็นหรือไม่?
- ภาวะคอมดลูกสั้น สามารถตั้งครรภ์ครั้งต่อไปได้หรือไม่?
- ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีคอมดลูกสั้นจะเป็นอย่างไร?
- มารดาที่มีคอมดลูกสั้นควรดูแลตนเองอย่างไรหลังคลอด
- สตรีที่มีคอมดลูกสั้น ควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อไร?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- การแท้งบุตร (Miscarriage)
- คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)
- ครรภ์แฝด (Multiple pregnancy)
- การคลอด การคลอดบุตร (Childbirth)
ภาวะคอมดลูกสั้นคืออะไร?
ความยาวปกติทั่วไปของคอมดลูก(Cervix)ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ขณะที่ไม่มีการตั้งครรภ์จะยาวประมาณ 4 ซม.(เซนติเมตร) แต่เมื่อตั้งครรภ์คอมดลูกจะสั้นลง เนื่องจากมีการบางตัวลงของปากมดลูก และจะบางตัวเหมือนแผ่นกระดาษเมื่อเจ็บครรภ์คลอดและเมื่อพร้อมที่จะคลอดซึ่งเป็นภาวะปกติ ส่วนคำว่า “ภาวะคอมดลูกสั้น(Shortened cervix หรือ Short cervix หรือ Shortening of the cervical canal)” จะหมายถึงว่า มีการสั้นลงของความยาวของคอมดลูกก่อนที่ปากมดลูกจะบางตัวมากเกินไป เป็นภาวะที่เกิดก่อนที่จะทำให้เกิดการคลอดตามมา หากคอมดลูกสั้นมาก ก็มีโอกาสที่ปากมดลูกจะเปิดขยายมาก และหากอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด จะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นภาวะที่สูติแพทย์ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้นหากสามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้เร็วก่อนที่ปากมดลูกจะเปิดขยายมาก จะสามารถช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้
เกณฑ์ที่แพทย์ใช้วินิจฉัยว่ามีภาวะคอมดลูกสั้น คือ ความยาวของคอมดลูกจากรูเปิดภายในของปากมดลูก(Internal os/ Internal cervical os)ถึงรูเปิดภายนอกของปากมดลูก(External os/ External cervical os)จะประมาณน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25 มม.(มิลลิเมตร) ที่อายุครรภ์ประมาณ 16-24 สัปดาห์ จะถือว่าผิดปกติ/คอมดลูกสั้น
ภาวะคอมดลูกสั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพสตรีอย่างไร?
ผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากการที่มี คอมดลูกสั้น จะมีผลต่อสตรีตั้งครรภ์ เพราะการที่คอมดลูกสั้น จะทำให้ปากลูกบางตัวและเปิดขยายตามมา ทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ง่าย หรือเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ แต่สำหรับสตรีที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ การมีคอมดลูกสั้น มักไม่เป็นปัญหา
ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการมีภาวะคอมดลูกสั้น?
สตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการมีภาวะคอมดลูกสั้น ได้แก่
1. เคยมีการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
2. เคยผ่าตัดปากมดลูกมาก่อน
3. มีความผิดปกติที่ปากมดลูก(Uterine anomalies)จากสาเหตุต่างๆ เช่น มีติ่งเนื้อปากมดลูก
4. ตั้งครรภ์แฝด
ภาวะคอมดลูกสั้นทำให้มีอาการอย่างไร?
การมีภาวะคอมดลูกสั้นส่วนมากไม่มีอาการในสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ แต่สำหรับสตรีตั้งครรภ์ อาจไม่มีอาการ หรือมีอาการดังต่อไปนี้
1. ปวดหน่วงในท้องน้อย
2. มีอาการของการแท้งบุตร (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง”อาการฯ”ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การแท้งบุตร)
3. มีอาการของการคลอดก่อนกำหนด (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง”อาการฯ”ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การคลอดก่อนกำหนด)
แพทย์วินิจฉัยภาวะคอมดลูกสั้นอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะคอมดลูกสั้นได้จาก
ก. ประวัติทางการแพทย์: เช่น มีประวัติเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือคลอดบุตรก่อนกำหนด แต่บางรายที่ไม่มีอาการ แพทย์อาจตรวจพบโดยบังเอิญมากกว่า เช่น จากการตรวจภายในวินิจฉัยโรคทั่วไปของสตรี
ข.การตรวจร่างกาย: การตรวจภายใน พบปากมดลูกสั้นผิดปกติในระยะเวลาที่ไม่ใช่เวลาเจ็บครรภ์คลอด
ค.การตรวจอัลตราซาวด์อุ้งเชิงกราน: โดยแพทย์จะทำการวัดระยะคอมดลูกตั้งแต่ รูปากมดลูกภายใน (Internal cervical os) ถึงรูปากมดลูกภายนอก (External cervical os) ด้วยเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด ซึ่งสามารถบอกความสั้นยาวของคอมดลูกได้แม่นยำกว่าการตรวจภายใน นอกจากนั้นการตรวจอัลตราซาวด์ยังทำให้สามารถมองเห็นลักษณะของถุงน้ำคร่ำที่ย้อยต่ำลงมาในปากมดลูกที่จะมีลักษณะคล้ายกรวย เรียกว่า Funneling ซึ่งจะบ่งบอกถึงว่า น่าจะมีโอกาสเกิดการคลอดก่อนกำหนดในไม่ช้า
อนึ่ง ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจวัดความยาวของคอมดลูกเพื่อทำนายการเกิดการคลอดก่อนกำหนด คืออายุครรภ์ที่ 16-24 สัปดาห์
ในสตรีตั้งครรภ์ทั่วไป ค่ามัธยฐาน(Median/ค่ากึ่งกลางของข้อมูล)ของความยาวปกติของคอมดลูกที่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ คือ 35 มม. และ
การศึกษาส่วนใหญ่จะถือว่า “มีภาวะคอมดลูกสั้นเมื่อความยาวของปากมดลูก คือ น้อยกว่าหรือเท่ากับ(=) 25 มม. ที่อายุครรภ์ประมาณ 16 – 24 สัปดาห์”
การดูแลรักษาภาวะคอมดลูกสั้นทำอย่างไร?
การดูแลรักษาภาวะคอมดลูกสั้นในช่วงตั้งครรภ์ ได้แก่
1. นอนพักผ่อนมากๆ เป็นคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับสตรีที่มีภาวะคอมดลูกสั้น แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลการศึกษาสนับสนุนอย่างชัดเจน
2. ผู้ป่วยบางราย แพทย์จะให้ยาป้องกันการหดรัดตัวของมดลูก เช่น ยาฮอร์โมนกลุ่ม โปรเจสเทอโรน
3. การเย็บปากมดลูก (Cervical cerclage) เพื่อช่วยให้ปากมดลูกกระชับ ลดโอกาสแท้งบุตร หรือคลอดก่อนกำหนด
4. การใช้ห่วงพยุงปากมดลูก (Vagianal pessary) เพื่อช่วยให้ปากมดลูกกระชับ ลด โอกาสแท้งบุตร หรือคลอดก่อนกำหนด
5. ปัจจุบันมีการให้ฮอร์โมนโปรเจสเทอโรน เป็นการป้องกันภาวะเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดในคนที่มีคอมดลูกสั้น(ไม่ใช่การรักษาภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด)สามารถให้ได้ในรูปแบบฉีดยา เช่นยา Hydroxyprogesterone caproate 250 มก.(มิลลิกรัม) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือใช้เป็นยาเหน็บช่องคลอด (Vaginal micronized progesterone) 200 มก. เหน็บช่องคลอดตั้งแต่อายุครรภ์ที่ 20 จนถึง 36 สัปดาห์ พบว่าสามารถช่วยลดภาวการคลอดก่อนกำหนดลงได้
สตรีตั้งครรภ์ที่มีคอมดลูกสั้น ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
โดยทั่วไป สตรีตั้งครรภ์จะไม่รู้ว่าตนเองมีคอมดลูกสั้น ยกเว้นตรวจพบโดยสูติแพทย์ ในกรณีที่แพทย์ตรวจพบคอมดลูกสั้น หากตรวจพบว่ายังไม่เข้าเกณฑ์การรักษา อาจมีการนัดตรวจติดตามเพื่อวัดความยาวของคอมดลูกอีกครั้ง ส่วนมากสตรีตั้งครรภ์ที่ปากมดลูกไม่สั้นมาก มักไม่มีอาการ แต่หากสตรีตั้งครรภ์นั้นมีอาการปวดหน่วงในท้องน้อยมากหรือรู้สึกคล้ายมดลูกจะหลุด มีน้ำ/ของเหลวไหลออกทางช่องคลอด มีการหดรัดตัวของมดลูกบ่อยๆผิดปกติ ก็ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
การตรวจคัดกรองภาวะมดลูกสั้นในสตรีตั้งครรภ์ทุกคนจำเป็นหรือไม่?
ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ในสตรีตั้งครรภ์เดี่ยว(ไม่ใช่ครรภ์แฝด)และในสตรีที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการคลอดก่อนกำหนด จำเป็นต้องตรวจวัดความยาวของคอมดลูกทุกคนหรือไม่ ในบางสถาบันการแพทย์ แนะนำตรวจวัดความยาวปากมดลูกในช่วงอายุครรภ์18-24 สัปดาห์ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดทุกราย บางสถาบันฯจะตรวจอัลตราซาวด์ทางหน้าท้องก่อน แล้วหากพบว่า คอมดลูกสั้น จึงจะมีการตรวจยืนยันด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอดอีกครั้ง แต่บางสถาบันฯ ไม่มีการแนะนำการตรวจ หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ”
แต่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด มีความจำเป็นที่ควรตรวจวัดคอมดลูกที่อายุครรภ์18 – 24 สัปดาห์ หากมีภาวะคอมดลูกสั้น แพทย์ก็จะทำการดูแลตามที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อ”การดูแลรักษาฯ”
ภาวะคอมดลูกสั้น สามารถตั้งครรภ์ครั้งต่อไปได้หรือไม่?
กรณี สตรีที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่า มีคอมดลูกสั้น สามารถตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้ แต่ก็มีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดมากขึ้นหากก่อนหน้านี้มีการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน
ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีคอมดลูกสั้นจะเป็นอย่างไร?
สุขภาพของทารกที่เกิดในมารดาที่มีคอมดลูกสั้น ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของทารกเป็นหลัก โดยเหมือนทารกทั่วไปที่เกิดจากมารดาที่มีคอมดลูกไม่สั้น ซึ่งหากเป็นทารกที่อายุครรภ์อ่อนมากๆ ทารกจะมีอันตรายจากการที่อวัยวะต่างๆยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ มีความเสี่ยงเกี่ยวกับการขยายตัวของปอดไม่เต็มที่ มีโอกาสเกิดเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ การพัฒนาการผิดปกติ แต่ สำหรับทารกที่อายุครรภ์ครบกำหนด การเจริญเติบโตหรือพัฒนาการก็เหมือนทารกทั่วไป
มารดาที่มีคอมดลูกสั้นควรดูแลตนเองอย่างไรหลังคลอด?
หลังคลอด มารดาที่มีคอมดลูกสั้นสามารถดูแลตนเองเหมือนสตรีหลังคลอดทั่วไป ขึ้นกับว่าเป็นการคลอดบุตรทางช่องคลอด หรือการผ่าตัดคลอดบุตร อ่านเพิ่มเติมเรื่อง”การดูแลตนเองฯ”ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การคลอดบุตร และเรื่อง การผ่าท้องคลอดบุตร
สตรีที่มีคอมดลูกสั้น ควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อไร?
ในสตรีที่มีคอมดลูกสั้น การคุมกำเนิดและการวางแผนตั้งครรภ์บุตรคนต่อไป/การวางแผนครอบครัวเหมือนสตรีหลังคลอดทั่วไป เพียงแต่จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะคอมดลูกสั้นขณะตั้งครรภ์อีกที่จะนำไปสู่การแท้งบุตรได้ง่าย หรือการคลอดก่อนกำหนดอีก ดังนั้นสตรีตั้งครรภ์ ต้องบอกแพทย์ผู้ดูแลว่า เคยมีปัญหาอย่างไรบ้างในการตั้งครรภ์ครั้งก่อนๆ เพื่อที่แพทย์จะได้ให้ยาช่วยขยายกล้ามเนื้อมดลูก/ยาป้องกันการหดรัดตัวของมดลูก หรือ ใส่ห่วงพยุงปากมดลูก หรือพิจารณาเย็บปากมดลูก เพื่อช่วยป้องกันการแท้งบุตร หรือการคลอดก่อนกำหนดอีก
บรรณานุกรม
- https://emedicine.medscape.com/article/402598-overview [2017,Nov11]
- https://www.uptodate.com [2017,Nov11]