คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง (Hard contact lens) / คอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม (Soft contact lens)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ปัจจุบัน ผู้มีปัญหาเรื่องสายตา ทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง นิยมใช้ เลนส์สัมผัส (Contact lens หรือ คอนแทคเลนส์) แทนการใส่แว่นตากว้างขวางขึ้น ซึ่งโดยทั่วไป เลนส์สัมผัส แบ่งตามลักษณะของเลนส์ได้เป็น 2 ชนิด คือ ชนิดแข็ง (Hard หรือ Rigid lens) และชนิดนิ่ม (Soft lens)

เลนส์สัมผัสชนิดแข็งมีข้อดีและมีข้อเสียอย่างไร?

เลนส์สัมผัสชนิดแข็งและเลนส์สัมผัสชนิดนิ่ม

-ข้อดีของเลนส์สัมผัสชนิดแข็ง คือ

  • ทำให้สายตาเห็นดีกว่า ทั้งภาพคมชัด และภาพที่เห็นชัดสม่ำเสมอดี จึงเหมาะสำหรับคนมีอาชีพที่ต้องการภาพที่คมชัด เช่น สถาปนิก วิศวกร หรือ ช่างเขียนแบบ
  • การหยิบจับเลนส์ง่ายกว่า เพราะเลนส์มีรูปร่างคงที่ การใส่และถอดทำได้ง่าย
  • ราคาถูกกว่า
  • สามารถขัดถูได้หากเป็นรอย
  • การดูแลรักษาง่ายกว่า ค่าบำรุงรักษาถูกกว่า
  • แก้สายตาเอียงได้ดีกว่า ผู้มีสายตาเอียงมากๆจึงต้องใช้เลนส์แข็ง สายตาถึงจะมองเห็น ชัด แม้ว่าปัจจุบันจะมีเลนส์นิ่มที่แก้สายตาเอียงได้ แต่ก็แก้ได้ไม่ดีนัก
  • มีอายุการใช้งานนาน อาจใช้ได้ถึง 5 ปีหรือนานกว่านั้น ในขณะที่เลนส์นิ่มโดยเฉลี่ยใช้ได้ 2 ปี

-ข้อเสียของเลนส์สัมผัสชนิดแข็ง ได้แก่

  • เลนส์แข็ง ออกซิเจนไม่สามารถซึมผ่านเลนส์ได้ ต้องอาศัยออกซิเจนเลี้ยงกระจกตา (ตาดำ) จากน้ำตา จึงมีโอกาสทำให้กระจกตาอักเสบจากภาวะขาดออกซิเจนได้ง่าย
  • ก่อนใช้ต้องอาศัยเวลาปรับตัวนาน ต้องเริ่มใส่ทีละน้อยชั่วโมง และเพิ่มชั่วโมงมากขึ้น หากเลิกใส่ไปแล้วกลับมาใส่ใหม่ก็ต้องค่อยๆปรับใหม่
  • ระคายเคืองมากกว่าเลนส์นิ่ม
  • ไม่เหมาะสำหรับใช้ขณะเล่นกีฬา เพราะว่าเลนส์หลุดจากตาง่าย
  • ไม่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละออง อาชีพบางอย่าง เช่น ช่างเชื่อมเหล็ก กรรมกรก่อสร้าง หรือช่างซ่อมรถยนต์ เพราะเพิ่มการระคายเคืองตาได้มากขึ้น
  • ไม่เหมาะสำหรับคนที่ไม่ค่อยกระพริบตา หรือคนที่ต้องอ่านหนังสือมาก เพราะตาจะแห้ง ก่อการระคายเคืองตามากขึ้น

เพื่อขจัดปัญหาข้อเสียของเลนส์สัมผัสแข็งทั่วไป ปัจจุบันคนหันมาใช้เลนส์ชนิดแข็งที่ออกซิเจนซึมผ่านดี ซึ่งเราเรียกกันว่า เลนส์กึ่งแข็งกึ่งนิ่ม (Semi-hard lens) ซึ่งดีกว่าเลนส์แข็งธรรมดาตรงที่ออกซิเจนซึมผ่านได้ และเลนส์ยังมีขนาดใหญ่กว่าเลนส์แข็งธรรมดา เพื่อให้เลนส์เกาะอยู่ที่ตาได้ดีขึ้น

เลนส์สัมผัสชนิดนิ่มมีข้อดีและมีข้อเสียอย่างไร?

-เลนส์สัมผัสชนิดนิ่มมีข้อดีต่างๆ ดังนี้

  • ผู้ใช้ ปรับสายตาเข้ากับเลนส์ได้รวดเร็ว โดยทั่วไปแค่ 10 นาที ผู้ใช้จะรู้สึกปกติดี แม้ว่าจะเป็นการใส่ครั้งแรก
  • ผู้ใช้สบายตา
  • ผู้ที่ทนต่อเลนส์แข็งไม่ได้ด้วยสาเหตุต่างๆ มักจะหันมาใช้เลนส์นิ่มได้
  • นักกีฬาโดยเฉพาะกีฬาที่มีการกระโดดและเคลื่อนไหวรุนแรง เช่น ตีเทนนิส ยิมนาสติก สามารถใช้เลนส์นิ่มโดยไม่หลุดจากตา ถ้าเป็นเลนส์แข็งจะหลุดจากตาได้ง่าย
  • พนักงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเครื่องจักร การใช้เลนส์นิ่มนอกจากเห็นชัดแล้ว เลนส์นิ่มอาจปกป้องดวงตาจากเศษเหล็กได้ดีกว่า
  • การเกิดภาวะขาดออกซิเจนของกระจกตาพบได้น้อยกว่าชนิดแข็ง เพราะว่าออกซิเจนซึม ผ่านตัวเลนส์ได้ดี
  • เหมาะสำหรับใช้ในเด็กที่จำเป็นต้องใช้เลนส์สัมผัส เพราะสบายตากว่า
  • สามารถใส่ว่ายน้ำในสระได้ ขณะว่ายน้ำเลนส์ติดกับกระจกตาแน่น ไม่หลุดหาย ขณะว่ายน้ำ สายตายังเห็นชัดดีโดยไม่ต้องสวมแว่น
  • สามารถใส่ๆถอดๆโดยไม่ต้องใช้เวลาปรับเข้ากับเลนส์ จึงเหมาะกับคนที่ไม่ใส่เลนส์ประ จำ

-ข้อเสียของเลนส์สัมผัสชนิดนิ่ม ได้แก่

  • โดยทั่วไปไม่สามารถแก้สายตาเอียงได้ หากมีสายตาเอียงต้องสั่งเฉพาะชนิดที่แก้เอียงได้ด้วย ซึ่งราคาแพงกว่า อีกทั้งแก้สายตาเอียงได้ไม่ดีนัก
  • ตาจะมองเห็นไม่ชัดนัก ทั้งนี้อาจเนื่องจากแก้ไขตาเอียงไม่ได้ดี เลนส์ที่ใส่อาจจะคับหรือหลวมเกินไป นอกจากนั้น ตัวเลนส์อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามบรรยากาศรอบตัว เช่น อา กาศแห้งหรือชื้น และการอยู่ในห้องปรับอากาศ อาจทำให้กำลังของเลนส์เปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะผู้ที่มีตาแห้ง น้ำตาไม่เพียงพอ เนื่องจากตัวเลนส์จะอมน้ำ จึงทำให้น้ำตาแห้งลงอีก ถ้าน้ำตาไม่เพียงพออาจทำให้ความหนาของเลนส์เปลี่ยนแปลง เป็นผลให้กำลังของเลนส์เปลี่ยนไป ส่งผลถึงการมองเห็นภาพชัดด้วย
  • อายุการใช้งานสั้น โดยเฉลี่ยไม่เกิน 2 ปี เนื้อเลนส์จะเสื่อมคุณภาพ อีกทั้งอาจมีคราบโปร ตีนมาจับ แม้แต่สเปรย์ผมก็อาจทำให้เลนส์เป็นรอยและเสียการมองเห็นได้ง่าย
  • ใช้ไปนานๆจะมีคราบไขมันและโปรตีน ไปจับกับเลนส์ ซึ่งทำให้ไม่สบายตา มองไม่ชัด หรืออาจก่อให้เกิดอาการแพ้คราบเหล่านั้น (กระจกตาอักเสบ) หรืออาจเป็นสาเหตุเกิดการติดเชื้อของลูกตา
  • การฆ่าเชื้อโรคเลนส์ก่อนใส่เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง อาจทำโดยวิธีต้มหรือใช้สารเคมี ทั้งนี้ขึ้นกับคำแนะนำของหมอตา และ/หรือบริษัทผู้ผลิต
  • มีขบวนการใช้ค่อนข้างยุ่งยาก มีการใช้น้ำยาล้างทำความสะอาด แช่น้ำยาฆ่าเชื้อแล้วยังต้องมีวิธีขจัดคราบโปรตีนที่เกาะเนื้อเลนส์ด้วย ผู้ใช้ต้องพิถีพิถันดูแลความสะอาด หยิบจับเลนส์อย่างระมัดระวัง มิเช่นนั้นเลนส์อาจฉีกขาดเสียหายได้ง่าย
  • มีอุบัติการณ์ของการติดเชื้อในตามากกว่าการใช้เลนส์แข็ง

มีขั้นตอนอย่างไรเมื่อใช้เลนส์สัมผัส?

โดยทั่วไปหากผู้มีสายตาผิดปกติ อยากจะใช้เลนส์สัมผัส ควรได้รับการตรวจตาจากจักษุแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสายตาก่อนว่าอยู่ในสภาวะเหมาะสมหรือไม่ ที่สำคัญคือ มีโรคตาอะ ไรประจำหรือไม่ เปลือกตาปกติดีหรือไม่ การกระพริบตาทำได้อย่างปกติหรือไม่ น้ำตามีพอ เพียงหรือไม่ กระจกตาปกติดีหรือไม่

เมื่อสภาพตาดี ก็จะวัดดูว่าสายตาเป็นเท่าไร ภารกิจประจำวันเป็นอะไร มีความตั้งใจใส่ตลอดหรือใส่เป็นบางครั้ง

ปัจจัยเหล่านี้ หมอตาจะนำมาพิจารณาว่า ควรใช้เลนส์หรือไม่ และควรเลือกใช้เลนส์ชนิดไหน ต่อจากนั้นจึงทำการวัดความโค้งของกระจกตา เพื่อคำนวณหาขนาดของเลนส์ และกำลังของเลนส์ แล้วนำเลนส์ขนาดใกล้เคียงให้ผู้ป่วยทดลอง จนได้ขนาดของเลนส์เป็นที่พอใจ

ทั้งนี้ หมอตา และ/หรือผู้ประกอบเลนส์ จะแนะนำวิธีใช้ วิธีใส่และถอด ตลอดจนการดูแลรักษา รวมทั้งการทำความสะอาดเลนส์ และนัดผู้ใช้เพื่อการตรวจเป็นระยะๆ จนกว่าจะแน่ใจว่าผู้ ใช้ใช้เลนส์ได้อย่างปลอดภัย

ควรดูแลตนเองอย่างไรและควรพบจักษุแพทย์เมื่อไร เมื่อใช้เลนส์สัมผัส ?

เนื่องจากเป็นวัสดุที่จำเป็นต้องนำมาวางอยู่หน้าบนกระจกตา จึงควรประกอบเลนส์สัมผัส จากผู้รู้ อย่าได้ซื้อใส่เองโดยไม่ได้รับการตรวจสภาพตา อีกทั้งต้องดูแลรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด มีขั้นตอนต่างๆของการทำความสะอาด ต้องมีขบวนการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งอาจทำได้โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อหรือใช้ความร้อน อีกทั้งจะต้องมีวิธีขจัดคราบต่างๆ เช่น คราบโปรตีนที่จับในเนื้อเลนส์โดยเฉพาะเลนส์ชนิดนิ่ม

เมื่อใช้เลนส์สัมผัสชนิดใดก็ตาม ควรต้องปฏิบัติตามหมอตา (จักษุแพทย์) ผู้ประกอบเลนส์และบริษัทผู้ผลิตแนะนำอย่างเคร่งครัด ถูกต้อง แม้ละเลยเพียงเล็กน้อย อาจก่อผลเสียต่อลูกตาได้ เช่น การติดเชื้อของลูกตา และ/หรือเกิดแผลต่อกระจกตา

หากมีอาการผิดปกติเมื่อใส่เลนส์สัมผัส เช่น เจ็บตา ระคายเคือง ตาแดง ตาพร่ามัว ควรต้องถอดเลนส์ออกทันที และขณะมีการอักเสบบริเวณดวงตาก็ควรงดไม่ใส่เลนส์ชั่วคราว และรีบพบหมอตาเสมอ

สำหรับผู้ใช้เลนส์สัมผัสไปนานๆ แม้ไม่มีอาการอะไรก็ควรได้รับการตรวจสภาพตาจากหมอตาเป็นระยะๆ หากพบว่าเริ่มมีอาการที่ไม่ดีเกิดขึ้น แพทย์จะได้ให้คำแนะนำรักษา ซึ่งบางรายอาจต้องงดใช้เลนส์สัมผัสชั่วคราวหรืออาจตลอดไป

Updated 2014, April 26