คอนแทคเลนส์ (Contact lens)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

คาดกันว่าประชากรไทยทั้งหมดประมาณ 61 ล้านคนราวๆ 40% มีปัญหาทางสายตา โดย 1 ใน 3 ของจำนวนนี้ได้รับการแก้ไขสายตาที่ผิดปกติ โดยการใช้แว่นตา หรือ “เลนส์สัมผัส หรือ เรียกทับศัพท์ภาษาอังกฤษว่า คอนแทคเลนส์ (Contact lens)” ส่วนน้อยรับการแก้ไขโดยวิธีผ่าตัด หรือแสงเลเซอร์ ส่วนที่เหลือไม่ได้รับการแก้ไข คงปล่อยให้ตาพร่ามัวไปตามธรรม ชาติ ต้องยอมรับว่าการแก้ไขสายตาผิดปกติที่มีมาแต่เดิมและสะดวกที่สุด คือ แว่นตา นึกจะหยิบมาใช้เมื่อไรก็ได้ ไม่ค่อยมีผลเสียต่อดวงตา

แต่แว่นตาเป็นอุปกรณ์ที่ต้องนำมาเกี่ยวข้างหู ทำให้แลดูเกะกะไม่คล่องตัว อีกทั้งผู้ที่มีสายตาผิดปกติมากๆเลนส์แว่นตาจะหนามาก ภาพที่เกิดจากเลนส์แว่นตาที่หนาจะมีขนาดผิดไปจากจริง และในกรณีที่สายตาผิดปกติเกิดจากผิวกระจกตาที่ไม่เรียบ เลนส์แว่นตาจะแก้ไขได้ไม่ดีนัก เลโอนาโด ดาวินชี (Leonardo da vinci) เป็นคนแรกที่เกิดความคิดว่า น่าจะมีอุปกรณ์มาวางหน้าตาเพื่อแก้ไขสายตาผิดปกติโดยไม่ต้องพึ่งแว่นตาที่เกะกะ ตามด้วย โธมัส ยัง (Thomas Young) เป็นผู้ริเริ่มออกแบบลักษณะของเลนส์สัมผัส และ อะดอฟ ฟิก (Adolf Fick) ได้ผลิตเลนส์สัมผัสอันแรกขึ้น และมีพัฒนาการเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

นิยามคอนแทคเลนส์

คอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัสเป็นแผ่นพลาสติกใส แต่เดิมไม่มีสี ในปัจจุบันทำเป็นสีต่างๆ เพื่อเปลี่ยนสีตาได้ (คอนแทคเลนส์สี คอนแทคเลนส์ตาโต) ได้รับการขัดเกลาหรือหล่อให้เป็นแผ่นกลมรูปกระทะ โดยมีความโค้งใกล้เคียงกับความโค้งของตาดำของคนเรา มีเส้นผ่าศูนย์ กลาง 7-15 มิลลิเมตร (ม.ม.) มีความหนาประมาณ 1 ม.ม. ตัวเลนส์สัมผัสจะมีกำลังหักเหของแสงคล้ายเลนส์ที่ใช้ในแว่นตา ดังนั้นเลนส์สัมผัสแต่ละอันจะมีความโค้ง เส้นผ่าศูนย์กลาง และกำลังหักเหแสงแตกต่างกัน ในปัจจุบันเส้นผ่าศูนย์กลางมักจะทำมาคงที่ จึงเหลือแต่ความโค้ง และกำลัง ต่างกับเลนส์แว่นตา ซึ่งจะมีแต่กำลังแว่นอย่างเดียว

เมื่อนำเลนส์สัมผัสมาวางที่ตาดำ (กระจกตา) ด้วยความโค้งที่ใกล้เคียงกัน และอาศัยน้ำ ตาที่ฉาบอยู่บางๆที่ผิวหน้าของตาดำ จะช่วยยึดเลนส์สัมผัสให้ติดกับตาดำ โดยที่ตัวเลนส์ขยับเคลื่อนที่ได้เล็กน้อยเมื่อเรากลอกตาไปมาในเลนส์ชนิดนิ่ม แต่ถ้าเป็นเลนส์ชนิดแข็งจะขยับเคลื่อนที่ได้มากกว่า (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง และคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม)

เนื่องจากตัวเลนส์สัมผัสมีขนาดพอสมควร และวางนาบอยู่กับตาดำ จึงต้องมีการฝึกหัดใส่สำหรับเลนส์ชนิดแข็ง ส่วนชนิดนิ่มด้วยลักษณะที่อ่อน ประกอบกับผิวที่เรียบจึงทำให้ไม่เคืองตาเวลาใส่ แต่ก็ยังต้องอาศัยการฝึกและความเคยชินในที่สุดจนไม่รู้สึกเจ็บ หรือเคืองตาเวลาใส่

อีกประการหนึ่ง เลนส์ชนิดนิ่ม จะมีขนาดใหญ่กว่าตาดำเราเล็กน้อย ตัวเลนส์จะคลุมตาดำไว้ทั้งหมด ส่วนของตาที่ระคายเคืองง่ายและมากคือเจ้าตาดำนี่เอง เมื่อเลนส์คุมตาไว้ทั้งหมดจึงไม่มีอาการเคืองตา การไม่เคืองตานี่เอง จึงทำให้เลนส์ชนิดนิ่มได้รับความนิยมมาก แต่ก็มีข้อ เสียตรงที่ว่า ถ้าตาดำเกิดอักเสบหรือเป็นแผล ผู้ใส่คอนแทคเลนส์อยู่จะไม่มีอาการเจ็บ ซึ่งอา การเจ็บเป็นอาการเตือนว่ามีโรคภัยของตาดำแล้ว จึงทำให้ผู้ใช้ปล่อยปละละเลยจนแผลหรือการอักเสบของตาดำลุกลามไปมาก

คอนแทคเลนส์ มีกี่ชนิด?

  • แบ่งคอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัสออกเป็นชนิดต่างๆตามลักษณะของเลนส์ ออกเป็น 2 ชนิดได้แก่
    • ชนิดแข็ง (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง และคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม) ทำจากพลาสติก ใส แข็ง จึงมีรูปร่างเป็นทรงกระทะคงที่ไม่เปลี่ยน แปลง เนื่องจากเป็นพลาสติกเนื้อแน่นแข็ง ไม่มีรู จึงทำให้ทั้งอากาศหรือออกซิเจนไม่สามารถซึมผ่านเลนส์ได้ จึงทำให้เลนส์ชนิดนี้มีข้อจำกัดตรงที่ใส่นานไม่ได้ เพราะจะทำให้ตาดำขาดออกซิเจน กล่าวคือในภาวะปกติตาดำคนเราได้ออกซิเจนจากอากาศและจากน้ำตาที่ฉาบที่ผิว เมื่อใช้เลนส์ชนิดนี้ น้ำตาใต้เลนส์จะเป็นแหล่งเดียวที่ให้ออกซิเจนแก่ตาดำซึ่งไม่พอเพียง เลนส์ชนิดนี้จึงต้องมีขนาดเล็กกว่าตาดำ มีการเคลื่อนไหวขณะกลอกตาหรือกระพริบตา เป็นการแลก เปลี่ยนน้ำตาบริเวณใต้เลนส์กับบริเวณอื่นๆ
    • ชนิดนิ่ม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง และคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม) ทำจากพลาสติกอ่อนนุ่ม อาจเป็นพวกไฮโดรเจล (Hydro gel)

    หรือไฮดรอกซีอีธีล มีธาครายเลท (Hydroxyethyl methacrylate) หรือ ซิลิโคน (Silicon) เป็นสารที่ดูดน้ำได้ดีจึงทำให้เลนส์นิ่ม มีรูปร่างไม่ค่อยคงที่ มีลักษณะอ่อนปวกเปียก อาจจะพับเข้าหากันง่าย แต่อากาศและน้ำซึมผ่านได้ดี ออกซิเจนจากอากาศหรือจากน้ำตาสามารถซึมผ่านตัวเลนส์ไปเลี้ยงกระจกตาได้ดี จึงใส่ได้นานกว่า และบางชนิดใส่นอนหรือค้างคืนได้ เลนส์ชนิดนี้มีขนาดใหญ่กว่าตาดำมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 12.5–15 ม.ม. เคลื่อนที่เวลากลอกตาได้เล็ก น้อย เนื่องจากเป็นเลนส์นิ่มจึงใช้ง่ายไม่ค่อยมีอาการระคายเคืองเวลาใช้

  • แบ่งเลนส์สัมผัสตามการใช้ได้ดังนี้
    • เลนส์ถาวรชนิดใส่เช้า–เย็นถอด (Daily wear) เป็นเลนส์สัมผัสชนิดมีอายุการใช้งานเป็นปีตามผู้ขายระบุ แต่ไม่สามารถใช้ได้ตลอดไป (ยังมีอายุการใช้งาน) เป็นเลนส์ที่ไม่ควรใส่ติดต่อกันเกิน 8–10 ชั่วโมง โดยทั่วไปเริ่มใส่เวลาเช้าและถอดในเวลาเย็น ห้ามนำไปใส่นอน มักเป็นเลนส์ที่ออกซิเจนซึมผ่านไม่ดีหรือต้องใช้การกระพริบตา เพื่อให้ตาดำได้รับออก ซิเจนจากน้ำตาและจากอากาศ ตัวอย่างเลนส์ชนิดนี้เช่น เลนส์แข็ง หรือเลนส์นิ่มบางชนิด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง และคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม)
    • เลนส์ถาวรชนิดใส่นอนได้ (Extended wear) เป็นเลนส์ที่ออกซิเจนซึมผ่านได้ดี แม้ว่าจะใช้ในเวลากลางวันแล้ว สามารถใส่นอนได้ อาจใส่ได้ถึง 1 สัปดาห์โดยไม่ต้องถอด หลายๆวันค่อยถอดออกมาทำความสะอาด ได้แก่ เลนส์ชนิดนิ่ม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บhaamor.com บทความเรื่อง คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง และคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม) แต่ด้วยสิ่ง แวดล้อมในบ้านเรา ความชื้นของอากาศทำให้ไม่ควรใส่นอนจะปลอดภัยกว่า
    • เลนส์ชนิดใส่แล้วทิ้ง (Disposable lens) ปัจจุบันมีชนิดใช้ วันเดียว, 1 สัปดาห์, 2 สัปดาห์, หรือเป็นรายเดือน เลนส์ชนิดนี้แต่แรกเริ่มผลิตเพื่อใช้สำหรับผู้ที่แพ้น้ำยาที่ใช้กับเลนส์ใช้ซ้ำเมื่อใช้เลนส์ไปนานๆ ดังนั้นจึงต้องใช้เลนส์ที่ไม่ต้องสัมผัสกับน้ำยาใดๆเลย พอครบกำหนดก็ทิ้งไป ปัจจุบันนิยมใช้เพราะใส่สะดวกสบาย เลนส์ชนิดนี้มีราคาต่อคู่ถูกกว่า 2 ชนิดแรก และอยู่ในกลุ่มเลนส์สัมผัสชนิดนิ่ม (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง และคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม)

ทำไมต้องใช้คอนแทคเลนส์?

ในปัจจุบันการใช้คอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัส มีจุดประสงค์ 3 ประการคือ

  • ใช้เพื่อแก้ไขสายตาผิดปกติ เป็นการใช้ที่มากที่สุด ได้แก่ การแก้ไขสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียง ตลอดจน สายตาผู้สูงอายุ
  • ใช้รักษาโรคกระจกตาบางชนิด โดยอาจจะใช้เลนส์สัมผัสอย่างเดียว หรือ ร่วมกับการหยอดตา ขึ้นกับชนิดของโรค เมื่อโรคหายก็เลิกใช้เลนส์สัมผัส
  • ใช้เพื่อความสวยงาม เพื่อเปลี่ยนสีตา หรือทำให้ดวงตาดูโตขึ้น โดยใช้เลนส์สัมผัสสีต่างๆ มักใช้ในนักแสดงที่ต้องการเปลี่ยนสีตาให้เข้ากับเชื้อชาติที่เป็นตัวแสดงอยู่ ตลอดจนเพื่อความสวยงามของดวงตา (คอนแทคเลนส์สี คอนแทคเลนส์ตาโต)

ควรทำอย่างไรเมื่อต้องการใช้คอนแทคเลนส์?

คอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัสเป็นทางเลือกอย่างหนึ่งสำหรับผู้มีสายตาผิดปกติ

แต่ก่อนจะตัดสินใจใช้เลนส์สัมผัส ควรรับการตรวจจากหมอตา (จักษุแพทย์) เพื่อตรวจสภาพตาว่าเหมาะสมจะใช้หรือไม่ มีโรคตาที่เป็นอุปสรรคต่อการใช้หรือไม่ มีภาวะตาแห้งหรือ ไม่ ตลอดจนวัดระดับสายตาว่าสั้น ยาว หรือเอียงเท่าไร แพทย์จะถามถึงภารกิจประจำวัน และความตั้งใจของผู้ใช้ว่า จะใช้เป็นประจำหรือเป็นบางโอกาส เพื่อจะได้เลือกเลนส์สัมผัสชนิดและขนาดที่เหมาะสม อาทิ เช่น

  • ถ้าต้องการภาพที่คมชัดมากและภาพที่เห็นสม่ำเสมอดี ควรใช้เลนส์แข็ง
  • ถ้าต้องการใช้ขณะออกกำลังกายซึ่งต้องมีการเคลื่อนไหวรุนแรง เช่น เทนนิส ว่ายน้ำ ควรใช้เลนส์นิ่ม หากใช้เลนส์แข็ง เลนส์อาจหลุดหายขณะเคลื่อนไหวได้ง่ายกว่า
  • ถ้ามีอาชีพอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีฝุ่นละอองมาก เช่น เป็นช่างซ่อมรถยนต์ ช่างเชื่อม ไม่ควรใช้เลนส์แข็ง เพราะจะเพิ่มการระคายเคืองตามากขึ้น
  • ถ้าคำนึงถึงค่าใช้จ่าย เลนส์แข็งจะมีราคาถูกกว่า
  • ถ้าสายตาเอียงมาก เลนส์แข็งจะให้ภาพที่คมชัดกว่า
  • ถ้าต้องการใช้เลนส์เป็นบางโอกาสเป็นครั้งคราว ควรใช้เลนส์นิ่ม

ควรดูแลตนเองอย่างไรเมื่อใช้คอนแทคเลนส์?

เมื่อตัดสินใจจะใช้คอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัส และได้รับการประกอบจากจักษุแพทย์และ ผู้เชี่ยวชาญแล้ว เมื่อได้เลนส์มาใช้แล้ว ท่านควรปฏิบัติตนที่สำคัญดังนี้

  • ไม่ว่าจะเป็นเลนส์ชนิดใด ล้วนต้องนำมาปะไว้บนหน้าตาดำ ถือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่อาจก่อให้เกิดปฏิกิริยาหรือตาดำอักเสบได้ตลอดเวลา ความสะอาดจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ถ้าเลนส์สกปรกมีเชื้อโรคก็เท่ากับนำเชื้อโรคเข้าไปใส่ในตา ซึ่งในบางครั้งอาจไม่เป็นไร ก็จะทำให้ผู้ใช้เลนส์ยิ่งประมาท แล้วจะมีสักวันหนึ่งกระจกตาเกิดภาวะขาดออกซิเจนหรือมีรอยถลอก เชื้อโรคจากเลนส์ก็จะก่อให้เกิดโรคร้ายแรงของกระจกตาและของลูกตาตาม มา
  • ใช้เลนส์ให้ถูกประเภท ชนิดใส่แล้วทิ้งพอครบกำหนดก็ต้องทิ้ง ชนิดใส่–ถอด ก็ห้ามนำไปใส่นอน หากจะให้ดี แม้ชนิดที่ระบุว่าใส่นอนได้ก็ไม่ควรใส่นอนเป็นประจำ เพื่อให้ตาได้มีโอกาสพักและได้รับออกซิเจนเต็มที่บ้าง ควรใส่นอนเฉพาะจำเป็นจริงๆและนานๆครั้ง
  • ต้องระลึกว่า แม้เลนส์รุ่นใหม่ๆจะออกแบบให้ออกซิเจนซึมผ่านได้ดีเพียงไร ตาที่ใส่เลนส์สัมผัสอยู่จะได้รับออกซิเจนน้อยกว่าไม่ได้ใช้เลนส์สัมผัสเสมอ แต่ถ้าปฏิบัติตามคำแนะ นำก็จะเป็นการขาดออกซิเจนที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายอะไรมากนัก จึงควรมีเวลาให้ตาได้พักหรือปลอดการใส่เลนส์บ้าง ขอแนะนำว่า แม้ท่านจะเลือกแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลนส์สัมผัส ท่านก็ควรจะมีแว่นเป็นอะไหล่ไว้ใช้เวลาพักตาจากเลนส์สัมผัส
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ประกอบเลนส์ บริษัทผลิตเลนส์ และ หมอตาอย่างเคร่งครัด
  • อย่าใช้เลนส์สัมผัสตามเพื่อน มีอยู่บ่อยๆที่เห็นเพื่อนใช้ก็อยากใช้บ้าง จึงไปขอซื้อเลนส์สัมผัสเองและใส่เองโดยไม่ได้รับการตรวจสภาพตาก่อน สภาพตาของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เลนส์บางอย่างอาจใช้ได้ดีกับคนคนหนึ่ง แต่อีกคนใช้ไม่ได้เลย บางคนอาจมีสายตาเท่ากัน แต่ความโค้งของกระจกตาไม่เท่ากัน จึงไม่สามารถใช้เลนส์ขนาดเดียวกันได้

คอนแทคเลนส์มีข้อดีอย่างไร?

คอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัส เป็นวัสดุที่มนุษย์คิดค้นขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้มีสายตาผิดปกติได้มีสายตาที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องใช้แว่นตาซึ่งต้องมีกรอบแว่น มีขาแว่นมาเกี่ยวข้างหู ทำให้แลดูเกะ กะไม่คล่องตัว อีกทั้งมีคุณสมบัติหรือกำลังการหักเหของแสงที่ดีเหนือเลนส์ที่ประกอบเป็นแว่น ตาโดยทั่วไป จะให้ภาพที่คมชัดกว่าแว่นตา อีกทั้งภาพที่เห็นใกล้เคียงกับภาพจริงมากกว่า กล่าวคือ ผู้ป่วยที่สายตาสั้นมาก หากใช้แว่นตาจะเห็นภาพที่เล็กกว่าความเป็นจริงมากกว่าการใช้เลนส์สัมผัส เลนส์แว่นตาที่มีกำลังมากๆจะทำให้ภาพผิดเพี้ยนจากความเป็นจริงมากกว่า นอกจากนั้น แว่นตายังทำให้ลานสายตาแคบลง เนื่องจากถูกบังคับโดยกรอบแว่นตาด้านข้าง

ใครควรใช้คอนแทคเลนส์?

บุคคลซึ่งเหมาะหรือใช้คอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัสได้ดี ได้แก่

  • อายุที่เหมาะสม คือ 13–38 ปี อายุน้อยกว่านี้ก็คงไม่ให้ความร่วมมือ หรือใส่และดูแลเลนส์ไม่ได้ ส่วนผู้สูงอายุ ส่วนประกอบของน้ำตาจะผิดไป ทำให้มีโปรตีนไปเกาะเลนส์ได้ง่าย อีกทั้งน้ำย่อยที่มีอยู่ในน้ำตาที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อแบคทีเรียมีจำนวนลดลงด้วย ทำให้คนสูงอายุที่ใช้เลนส์สัมผัสมีโอกาสติดเชื้อในลูกตาง่ายขึ้น
  • โดยปกติหญิงจะใช้ได้ดีกว่าชาย คงจะเนื่องจากหญิงคำนึงถึงความสวยงามมากกว่า จึงมีความตั้งใจจะใส่มากกว่า
  • สายตาควรจะสั้นมากกว่า -1.50 D (diopter หรือ ไดออปเตอร์ หรือ เรียกย่อว่า ดี) หรือยาวมากกว่า +1.50 D ถ้าผิดไปจากนี้หมอตาจะเป็นผู้ให้คำแนะนำ
  • ไม่มีโรคของกระจกตา
  • มีน้ำตาที่ปกติ
  • ผิวกระจกตาเรียบ ไม่มีรอยแผลเป็น
  • มีตาเอียงไม่มาก
  • ตำแหน่งของหนังตาบนปกติหรือผิดปกติเพียงเล็กน้อย เพราะตาที่โปนมากอาจทำให้ตาแห้ง หรือตาที่หรี่เล็กอาจทำให้การใส่-ถอดเลนส์สัมผัสค่อนข้างยุ่งยาก
  • เป็นคนละเอียดอ่อนและมีวินัยที่สามารถดูแลเลนส์สัมผัสได้

ใครไม่ควรใช้คอนแทคเลนส์?

มีบางสภาวะที่ทำให้การใช้คอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัสไม่ได้ผลหรือไม่ควรใช้ ได้แก่

  • เป็นโรคผิวหนังบริเวณหนังตา/เปลือกตา การมีขอบหนังตาที่บวมอักเสบ ทำให้ไม่ค่อยสบายตา ระคายเคืองภายในตา อีกทั้งสารที่ขับจากต่อมบริเวณเปลือกตา เปลี่ยนไปทำให้น้ำตาผิดปกติไป
  • ตาแห้ง
  • การใช้ยาบางตัวเป็นประจำ เช่น ยารักษาโรคกระเพาะอาหารบางชนิด จะทำให้น้ำตาลด ลง ผู้รับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดมักมีโปรตีนเกาะตัวเลนส์บ่อยขึ้น ยาในกลุ่มคลายเครียดแม้จะไม่มีผลโดยตรง แต่ความกังวลของผู้ป่วยจนต้องใช้ยาในกลุ่มนี้ มักจะทำให้ใช้เลนส์ไม่ค่อยได้
  • มีปัญหาในการหยิบจับเลนส์สัมผัส ผู้ป่วยที่เป็นโรคของข้อมือ มือสั่นจากโรคทางสมอง หรือเป็นโรคผิวหนังที่นิ้วและเล็บ ทำให้จับต้องเลนส์สัมผัสไม่ได้ดี
  • กระจกตาผิดปกติ เช่น โรคกระจกตารูปกรวย
  • โรคภูมิแพ้ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจจะเกิดภูมิแพ้ต่อพลาสติกที่ใช้ทำเลนส์ หรือแม้แต่น้ำยาที่ใช้กับเลนส์สัมผัส
  • หญิงตั้งครรภ์ และสตรีวัยทอง/วัยหมดประจำเดือน ตลอดจนผู้ใช้ยาคุมกำเนิดทำให้ฮอร์ โมนในร่างกายไม่ได้สมดุล ทำให้น้ำตาและกระจกตาผิดไปโดยไม่อาจอธิบายได้โดย เฉพาะ การใช้เลนส์แข็งในผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะไม่ได้ผล มีการสังเกตทั้งในผู้ป่วยตั้งครรภ์ และผู้กำลังให้นมบุตร จะมีโปรตีนไปเกาะเนื้อเลนส์มากกว่าปกติ
  • โรคเบาหวาน ถ้าควบคุมได้ดีอาจใช้ได้ ถ้าคุมไม่ค่อยดี จะมีปัญหาในเรื่องของคุณภาพน้ำตา ทำให้เกิดปัญหาในการใส่เลนส์ได้ หากจะใช้เลนส์สัมผัสในผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรใช้ชนิดนิ่ม
  • โรคของต่อมไทรอยด์ที่มีตาโปน การมีตาโปนทำให้การใส่เลนส์แข็งไม่ค่อยอยู่ เลนส์มัก จะหลุดออกมาง่าย แม้เลนส์ชนิดนิ่มก็มักจะไม่ค่อยได้ดี เพราะว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะไม่ค่อยกระพริบตา เลนส์จึงมักแห้งและมีโปรตีนมาจับง่าย
  • ผู้ป่วยที่มีปัญหาทางสุขภาพจิต ความกังวลระแวง ความเครียดต่างๆ ทำให้การประกอบเลนส์ทำได้ยาก

อนึ่ง โดยสรุป บุคคลที่ไม่เหมาะจะใช้เลนส์สัมผัสเลย ได้แก่ บุคคลในกลุ่ม 5D (ห้า ดี) ได้แก่ Dirty (สกปรก), Drunk (ติดเหล้า), Disease (มีโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวาน), Disable (มีความพิการ เช่น ของนิ้วมือ), และ Dumb (คนสอนยาก)

ควรเลือกใช้คอนแทคเลนส์ชนิดไหน?

การเลือกว่าจะใช้คอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัสชนิดไหนดี ควรต้องปรึกษาหมอตา/จักษุแพทย์ ซึ่งจะต้องตรวจดูระดับสายตาว่าสายตาสั้น สายตายาว หรือมีสายตาเอียง ร่วมด้วยหรือ ไม่ ดูสภาพของลูกตา น้ำตา อาชีพ ตลอดจนกิจกรรมของผู้ใช้ เนื่องจากเลนส์ทั้งแข็งและนิ่ม มีข้อดีและข้อเสียปะปนกัน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง คอนแทคเลนส์ชนิดแข็ง และคอนแทคเลนส์ชนิดนิ่ม)

การใช้คอนแทคเลนส์มีผลแทรกซ้อนอย่างไร?

การเลือกใช้คอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัสชนิดที่เหมาะสม มีการปฏิบัติตามคำแนะนำของหมอตาผู้ประกอบเลนส์ และของเอกสารกำกับการใช้เลนส์จากบริษัทผู้ผลิต รวมทั้งระมัดระวังดู แลในเรื่องความสะอาด จะทำให้ผู้ใช้เลนส์สัมผัสทั่วๆไปมีความปลอดภัยสูง แต่แน่นอนการใช้เลนส์สัมผัสมานานๆ อาจทำให้เกิดผลเสีย (ผลข้างเคียง/ผลแทรกซ้อน) ต่างๆได้บ้างที่สำคัญ ได้แก่

  • ภาวะตาดำหรือกระจกตาขาดออกซิเจน ปกติออกซิเจนที่มาเลี้ยงกระจกตาจะมาจากน้ำ ตา หลอดเลือดรอบตาดำ และน้ำภายในลูกตา การใช้เลนส์สัมผัสนานๆ โดยเฉพาะชนิด

    ที่ออกซิเจนซึมผ่านไม่ได้ กระจกตาจะเกิดภาวะขาดออกซิเจน หากเป็นอย่างฉับพลัน จะทำให้เกิดผิวกระจกตาเป็นแผล เป็นจุดเล็กๆ หรือบวมได้ ทำให้มีอาการเจ็บ เคืองตา ตาแดง หรือถ้าเป็นแบบเรื้อรังทำให้ผิวกระจกตาบางลง ความไวต่อการสัมผัสของกระจกตาลดลงตามด้วย มีหลอดเลือดเกิดใหม่วิ่งเข้ากระจกตา จึงส่งผลให้เกิดการเห็นภาพไม่ชัด

  • ผู้ใช้เลนส์สัมผัสนานๆ บางคนอาจเกิดอาการแพ้ต่อสารที่ไปเกาะกับเลนส์ หรือสารที่เป็นส่วนประกอบของน้ำยาต่างๆที่ใช้ประกอบการใส่เลนส์ ทำให้ตาแดงกะทันหัน ปวดตา และมีการอักเสบ ซึ่งที่พบบ่อยในผู้ใช้เลนส์สัมผัส ได้แก่ การอักเสบบวมของเยื่อตา และในบริเวณรอบๆตาดำ
  • เนื่องจากขอบเลนส์สัมผัสกดกระจกตา อาจทำให้กระจกตาเปลี่ยนรูปร่างหรือเป็นรอยย่นทำให้ตาเห็นภาพมัวลง
  • การดูดซึมของน้ำผ่านกระจกตา (ภาวะออสโมสิส/osmosis) อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็นบนผิวกระจกตา ทำให้เกิดอาการไม่สบายตาเวลาใช้เลนส์สัมผัส
  • การติดเชื้อถือเป็นอันตรายที่ร้ายแรงที่สุด อาจทำให้ผู้ใช้เลนส์สัมผัสสูญเสียสายตาได้ โดยเฉพาะพบบ่อยในคนใช้เลนส์สัมผัสชนิดนิ่มและใส่นอน ตลอดจนเลนส์สัมผัสชนิดสีที่เรียกกันว่าเลนส์ตาโต (คอนแทคเลนส์สี คอนแทคเลนส์ตาโต) กล่าวคือ ผู้ใช้เลนส์สัม ผัสจะมีกระจกตาขาดออกซิเจนอยู่แล้ว ถ้าบังเอิญมีการถลอกของผิวกระจกตา หากมีเชื้อโรคพลัดเข้าไปก็จะทำให้เกิดการอักเสบอย่างรุนแรงตามมา

มีข้อควรระวังอย่างไรเมื่อใช้คอนแทคเลนส์? และควรพบหมอตาเมื่อไร?

เนื่องจากเป็นวัสดุที่จำเป็นต้องนำมาวางอยู่บนหน้ากระจกตา จึงควรประกอบคอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัสจากผู้รู้ อย่าได้ซื้อใส่เองโดยไม่ได้รับการตรวจสภาพตาจากหมอตา/จักษุแพทย์ก่อน อีกทั้งต้องดูแลรักษาความสะอาดอย่างเคร่งครัด มีขั้นตอนต่างๆของการทำความสะ อาดขจัดคราบสกปรกออก ต้องมีขบวนการฆ่าเชื้อโรค ซึ่งอาจทำได้โดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อหรือใช้ความร้อน อีกทั้งจะต้องมีวิธีขจัดคราบโปรตีนที่จับในเนื้อเลนส์โดยเฉพาะเลนส์ชนิดนิ่ม

นอกจากนั้น หากมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บตา ระคายเคือง ตาแดง ตาพร่ามัว ควรจะถอดเลนส์ออกทันที ขณะมีการอักเสบบริเวณดวงตาก็ควรงดไม่ใส่เลนส์ชั่วคราว และรีบปรึกษาหมอตา ผู้ใช้เลนส์สัมผัสไปนานๆ แม้ไม่มีอาการอะไรก็ควรได้รับการตรวจสภาพตาจากหมอตาเป็นระ ยะๆ หากบางคนแพทย์ตรวจพบว่าเริ่มมีสิ่งผิดปกติ แพทย์จะได้ให้คำแนะนำรักษา หรือบางรายอาจต้องงดใช้เลนส์สัมผัสชั่วคราวหรือตลอดไป

updated 2014, April 4