คอตีบ (Diphtheria)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

คอตีบ (Diphtheria) คือ โรคเกิดจากทางเดินหายใจติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Chorynebacterium (C.) diphtheria, เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนที่แพร่ระบาดได้เร็ว/ง่าย/รุนแรงด้วยการสัมผัสสารคัดหลั่งจาก ทางเดินหายใจ, ตา, จมูก, ลำคอ, ผิวหนังผู้ป่วย (การคลุกคลี ใกล้ชิด ไอ จาม น้ำลาย เสมหะ), อาการหลักคือ มีไข้  เจ็บคอ/คออักเสบมาก หอบเหนื่อย  

ปัจจุบัน พบน้อยในประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ (วัคซีนคอตีบ) ตั้งแต่เป็นทารกอายุ 2 เดือนอย่างทั่วถึง,   แต่ยังเป็นโรคพบบ่อยในประเทศในเขตร้อนที่ยังไม่พัฒนาหรือกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย เพราะการขาดแคลนวัคซีน หรือเด็กไม่ได้รับวัคซีนเพราะคลอดเองที่บ้าน, อย่างไรก็ตามถึงแม้เป็นโรคของเขตร้อนแต่ก็พบได้ทั่วโลก   

โรคคอตีบ พบใกล้เคียงทั้งเพศหญิงและเพศชาย พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ   พบทุกอายุ แต่มักพบในเด็กเล็ก(มักไม่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนเนื่องจากช่วงอายุนี้ยังได้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจากแม่ ซึ่งจะหมดไปเมื่อเด็กมีอายุได้ประมาณ 6 เดือน),  ปัจจุบันจากการสาธารณสุขที่ดีขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้พบโรคนี้น้อยลงกว่าในอดีตมากเพราะเด็กได้รับการฉีดวัคซีนคอตีบเกือบทุกคน, จึงมักพบได้ประปรายหรือมีการระบาดกลุ่มเล็กๆในเด็ก/ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนนี้

ปัจจุบันในประเทศที่ยังไม่พัฒนา มักพบโรคเกิดในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) โดยเฉพาะ 'เด็กเล็ก' แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว มักพบในวัยรุ่น หรือในผู้ใหญ่จากคนกลุ่มนี้ขาดการฉีดวัคซีนคอตีบกระตุ้นซึ่งต้องฉีดทุกๆ 10 ปี

ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคคอตีบ คือ

  • คนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ 
  • วัยรุ่น หรือ ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนคอตีบกระตุ้น
  • การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แออัดและขาดสุขอนามัย
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ

เชื้อคอตีบก่อโรคและติดต่อได้อย่างไร?

คอตีบ

 

แหล่งรังโรคของเชื้อโรคคอตีบ คือ ‘มนุษย์’ โดยเชื้ออาศัยอยู่ในโพรงจมูก, โพรงหลังจมูก, ในลำคอ, และอาจพบที่ผิวหนังได้, นอกจากนั้นอาจพบเชื้อโรคคอตีบได้ในดินและในบางแหล่งน้ำธรรมชาติ

คอตีบ เป็นโรคติดต่อได้ง่ายและระบาดได้รวดเร็ว โดยติดต่อจากการใกล้ชิดคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมทั้งการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย ละอองหายใจ และจากการไอ จาม, นอกจากนั้นยังอาจพบติดต่อผ่านทางเชื้อที่ปนในอาหาร เช่น ในนม แต่พบโอกาสติดต่อด้วยวิธีนี้ได้น้อย

เมื่อได้รับเชื้อ เชื้อจะอยู่ในบริเวณส่วนตื้นๆของเนื้อเยื่อเมือกบุทางเดินหายใจ เช่น โพรงจมูก ต่อมทอนซิล ในลำคอ และในกล่องเสียง, หลังจากนั้นเชื้อจะสร้างสารพิษ/สารชีวพิษซึ่งเป็นโปรตีนมีพิษต่อร่างกายชนิดหนึ่งเรียกว่า ‘Diphtheria toxin’ ซึ่งสารพิษนี้จะก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อเมือกในทางเดินหายใจ ส่งผลเกิดการตายของเซลล์เนื้อเยื่อเมือกในทางเดินหายใจ,  เซลล์เม็ดเลือดขาว, และเม็ดเลือดแดง, รวมทั้งการตายสะสมของตัวแบคทีเรียเอง จึงก่อให้เกิดเป็น’แผ่นเยื่อหนาสีเทา-น้ำตาล’ปกคลุมหนาในทางเดินหายใจ จนก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ, ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจไม่ออก คล้ายมีอะไรบีบรัดในทางเดินหายใจ (เป็นที่มาของชื่อ “โรคคอตีบ”)  ซึ่งแผ่นเยื่อนี้พบเกิดได้ตั้งแต่ในโพรงจมูกลงไปจนถึงในลำคอ โดยพบบ่อยที่สุดในบริเวณต่อมทอนซิลและคอหอย

นอกจากนั้น ตัวสารพิษ ยังอาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือดจนอาจก่ออาการอักเสบกับอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆได้ ที่พบบ่อยคือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและ/หรือเส้นประสาทอักเสบโดยเฉพาะเส้นประสาทบริเวณลำคอที่ทำให้เกิดอาการกลืนลำบาก ซึ่งอาจเกิดได้หลังเริ่มมีอาการประมาณ 2 - 10 สัปดาห์

โรคคอตีบมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคคอตีบมักเกิดหลังได้รับเชื้อประมาณ 2 - 5 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) แต่อาจนานได้ถึง 10 วัน, และผู้ป่วยมักมีอาการอยู่ได้นานถึง 4 - 6 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค

อาการพบบ่อยของโรคคอตีบ: เช่น  

  • มีไข้ มักไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส (Celsius), อาจรู้สึกหนาวสั่น
  • อ่อนเพลีย, เจ็บคอ/ คออักเสบมาก
  • กิน/ดื่มแล้วเจ็บคอมากจึงกิน/ดื่มได้น้อย
  • หายใจลำบาก หายใจไม่ออก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย
  • คออาจบวม และไอมีเสียงดังเหมือนสุนัขเห่า
  • มีแผ่นเยื่อในจมูก ต่อมทอนซิล ลำคอ และกล่องเสียง ก่ออาการค่อยๆมีเสียงแหบลงเรื่อยๆ และ อาจมีน้ำมูกเป็นเลือด
  • อาจมีต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณลำคอ ซึ่งบวมโตได้ทั้งสองข้างลำคอ
  • หลังจากมีอาการทางเดินหายใจแล้ว อาจพบมีแผลบริเวณผิวหนังพบได้ทั่วตัว  แต่พบบ่อยบริเวณแขนและขา แผลมีลักษณะเหมือนแผลทั่วไป แต่เมื่อตรวจเชื้อจะพบว่า เกิดจากเชื้อโรคคอตีบ

แพทย์วินิจฉัยโรคคอตีบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคคอตีบได้จาก

  • ประวัติอาการผู้ป่วย ประวัติสัมผัสโรค ประวัติการฉีดวัคซีนคอตีบ ถิ่นที่พักอาศัย
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจย้อมเชื้อจากการป้ายสารคัดหลั่งจากโพรงหลังจมูกหรือจากลำคอ
  • อาจมีการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเลือดซีบีซี  (CBC) ดูการติดเชื้อ
    • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี
    • ตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์

รักษาโรคคอตีบได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคคอตีบ มักเป็นการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเสมอเพราะเป็นโรคที่มีอาการรุนแรง, ซึ่งการรักษา ได้แก่

  • การให้ยาต้านสารพิษของเชื้อคอตีบ (Diphtheria antitoxin) โดยเฉพาะในผู้ป่วยอาการรุนแรง
  • การให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยา Metronidazole,  Erythromycin, กลุ่ม Penicillin 
  • การฉีดวัคซีนคอตีบเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อโรค
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ/ การรักษาตามอาการ เช่น
    • การให้น้ำเกลือและ/หรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำ
    • การให้ออกซิเจน
    • การใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งบางครั้งอาจต้องเจาะคอถ้าทางเดินหายใจแคบเกินกว่าจะหายใจเองได้

โรคคอตีบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงจากโรคคอตีบเกิดจากสารพิษ/สารชีวพิษแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด และก่อให้เกิดโรคต่างๆดังได้กล่าวแล้ว, ซึ่งที่อาจพบได้ เช่น

  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ   
  • เส้นประสาทอักเสบที่ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งถ้าเกิดกับประสาทกล้ามเนื้อหายใจจะส่งผลให้หายใจเองไม่ได้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว ที่ทำให้ถึงตายได้
  • ไตวายเฉียบพลัน ที่อาจเป็นสาเหตุถึงตายได้เช่นกัน

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรค: โรคคอตีบจัดเป็นโรครุนแรงเป็นสาเหตุให้ถึงตายได้ อัตราตายทั่วไปประมาณ5%-10%, แต่ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัย

  • ความรุนแรงของโรคตั้งแต่แรกมีอาการที่ต่างกันในแต่ละคน
  • การได้รับยาต้านสารพิษและยาปฏิชีวนะอย่างรวดเร็วภายใน 1 - 2 วันหลังมีอาการ ช่วยลดอัตราตายลงเหลือประมาณ 1%
  • แต่ถ้ามาพบแพทย์ล่าช้า หรือ เมื่อผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 5 ปี หรืออายุสูงตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือเกิดผลข้างเคียงแล้ว, อัตราตายเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20%

ดูแลอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองหรือการดูแลผู้ป่วย คือ

  • การรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการดังกล่าวใน 'หัวข้อ อาการฯ'

นอกจากนั้น ดังกล่าวแล้วว่า คอตีบเป็นโรคติดต่อได้ง่ายรวดเร็วและรุนแรง *ดังนั้นผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยรวมทั้งผู้ดูแลผู้ป่วยควรพบแพทย์เสมอเพื่อขอรับคำแนะนำ อาจต้องตรวจเชื้อจากโพรงหลังจมูก และอาจจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนคอตีบ หรือฉีดกระตุ้น (ในคนเคยได้วัคซีนคอตีบมาก่อนแล้ว) รวมทั้งการได้รับยาปฏิชีวนะเมื่อตรวจพบเชื้อทั้งๆที่ยังไม่มีอาการทั้งนี้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์

ป้องกันโรคคอตีบอย่างไร?

การป้องกันโรคคอตีบที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ

  • การฉีดวัคซีนคอตีบซึ่งเริ่มฉีดเมื่ออายุ 2 เดือนโดย อยู่ในรูปแบบของวัคซีนรวม โรค คอตีบ, โรคบาดทะยัก, และโรคไอกรน (DTP vaccine/ดีพีทีวัคซีน: Diphtheria, Tetanus และ Pertussis), ทั่วไป ฉีดทั้งหมด 5 เข็มเป็นระยะๆจากอายุ 2 เดือนจนถึงอายุ 6 ปีตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของกระทรวงสาธารณสุขของเรา ซึ่งแพทย์/พยาบาลที่ดูแลมารดาเรื่องการคลอดจะเป็นผู้ให้คำแนะนำที่รวมถึงวันนัดการได้รับวัคซีนเข็มต่างๆของเด็ก   
  • นอกจากนั้นคือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญ คือ
    • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆซึ่งรวมทั้งเชื้อโรคคอตีบและลดการติดโรคที่ก่อให้เกิด ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี หรือ โรคเอดส์
    • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
    • ร่วมมือกันในชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีสุขอนามัยที่ดี

 

บรรณานุกรม

  1. กำหนดการให้วัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ของกระทรวงสาธารณสุข ปี https://www.chularat3.com/knowledge_detail.php?lang=th&id=615 [2022,Nov5]
  2. ศ.พญ.ประยงค์ และ รศ. พญ. วนพร อนันตเสรี. (2550). กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
  3. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th). New York: McGraw-Hill.
  4. https://emedicine.medscape.com/article/782051-overview#showall [2022,Nov5]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Diphtheria [2022,Nov5]
  6. https://emedicine.medscape.com/article/963334-overview#showall  [2022,Nov5]