ควิไทอะปีน (Quetiapine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 พฤศจิกายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ควิไทอะปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ควิไทอะปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ควิไทอะปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ควิไทอะปีนมีขนาดการรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ควิไทอะปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ควิไทอะปีนอย่างไร?
- ควิไทอะปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาควิไทอะปีนอย่างไร?
- ควิไทอะปีนมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- อารมณ์สองขั้ว หรือ ไบโพล่า (Bipolar disorder)
- โรคจิตเภท (Schizophrenia)
- โรคซึมเศร้า (Major Depressive Disorder หรือ MDD)
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- ยานอนหลับ (Hypnotic drug)
- ยาต้านเศร้า (Antidepressants)
บทนำ: คือยาอะไร?
ควิไทอะปีน (Quetiapine) คือ ยาจิตเวชที่ใช้รักษาอาการโรคจิตเภท, โรคไบโพลาร์/อารมณ์สองขั้ว, รวมไปถึงใช้เป็นยาต้านเศร้า, ยานี้ก่อให้เกิดฤทธิ์ทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ง่าย, แต่ทางคลินิกก็ไม่มีข้อแนะนำให้ใช้ยานี้เป็นยานอนหลับตามสรรพคุณดังกล่าว, ซึ่งรูปแบบยานี้จะเป็นยารับประทาน
นักวิทยาศาสตร์ ใช้เวลาพัฒนายาควิไทอะปีนถึง 4 ปีจนได้รับการขึ้นทะเบียนเมื่อปี ค.ศ.1997 (พ.ศ.2540) และเป็นที่รู้จักจนมีใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก
ประสิทธิภาพและระยะเวลาที่ใช้ในการรักษาอาการป่วยของยาควิไทอะปีนมีความแตกต่างกันออกไปตามลักษณะอาการป่วย เช่น อาการจิตเภทของผู้ป่วยจะเริ่มดีขึ้นเมื่อใช้ยาควิไทอะปีนประมาณ 18 สัปดาห์ขึ้นไป, แต่ในผู้ป่วยกลุ่มวัยรุ่นที่มีอายุ 13 – 17 ปี ใช้เวลาเพียงประมาณ 6 สัปดาห์ ก็เริ่มมีอาการดีขึ้น, ในขณะที่อาการของผู้ป่วยไบโพลาร์จะมีอาการดีขึ้นภายในประมาณ 24 สัปดาห์หลังได้รับยาควิไทอะปีน, และประมาณ 3 สัปดาห์สำหรับผู้ป่วยวัยรุ่นที่มีช่วงอายุ 10 – 17 ปี สำหรับการรักษาโรคไบโพลาร์
ยาควิไทอะปีน สามารถใช้เป็นลักษณะยาเดี่ยว หรืออาจต้องใช้ร่วมกับยา Lithium หรือยา Divalproex, โดยแพทย์จะบริหารการใช้ยาเหล่านี้กับผู้ป่วยอย่างค่อยเป็นค่อยไป กล่าวคือ เริ่มให้ผู้ป่วยได้รับยาในขนาดต่ำก่อน จากนั้นจึงค่อยปรับขนาดยาเพิ่มขึ้นตามลำดับ
มีเงื่อนไขบางประการที่ผู้ป่วยควรทราบว่า ร่างกายอยู่ในภาวะที่เหมาะสมต่อการใช้ยาควิไทอะปีนหรือไม่ เช่น
- ต้องไม่มีประวัติการแพ้ยาควิไทอะปีนมาก่อน
- ต้องไม่มีภาวะเกลือโพแทสเซียม หรือเกลือแมกนีเซียมในเลือดต่ำ
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีประวัติของหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือผู้ที่รับประทานยารักษาอาการ หัวใจเต้นผิดจังหวะอยู่ก่อนแล้ว เช่น ยา Amiodarone, Procainamide, Quinidine
- กรณีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในภาวะให้นมบุตร หรือเด็กที่อายุต่ำกว่า 10 ปีลงมา แพทย์มักจะไม่ใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้โดยไม่จำเป็น
- ผู้ป่วยวัยรุ่นมีที่เคยมีประวัติทำร้ายตนเอง หรือมีพฤติกรรมอยากฆ่าตัวตาย แพทย์จะต้องเพิ่มความระมัดระวัง และต้องให้ญาติคอยเฝ้าสังเกตอาการผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดเมื่อใช้ยา ควิไทอะปีนในการบำบัดรักษา
- ห้ามรับประทานยานี้พร้อมกับ สุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นองค์ประกอบด้วยจะเพิ่มอาการ วิงเวียน ง่วงนอน ในระดับที่รุนแรง
- การใช้ยานี้ต้องอาศัยความต่อเนื่องจึงจะเห็นประสิทธิผลของการรักษา การลืม รับประทานยาบ่อยครั้ง ย่อมไม่เกิดผลดีต่อตัวผู้ป่วย และอาจทำให้อาการแย่ลงกว่าเดิม,หรือการหยุดรับประทานเอง ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยมีอาการถอนยา/ลงแดงได้เช่นเดียวกัน
- โรคประจำตัวบางอย่างก็อาจได้รับผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากการใช้ยานี้จากอาการ จะแย่ลง เช่น โรคเบาหวาน
- การใช้ยานี้เป็นระยะเวลานานในผู้ป่วยเด็ก อาจทำให้เกิดภาวะความดันโลหิตสูง ดังนั้นขณะที่มีการใช้ยานี้ ควรหมั่นตรวจสอบความดันโลหิตอยู่เป็นประจำตามแพทย์ เภสัชกร แนะนำ
นอกจากนี้ ยังมีเรื่องผลข้างเคียง และข้อห้ามใช้อีกหลายประการที่ผู้ป่วยจะต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากเมื่อใช้ยาควิไทอะปีน, เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้ป่วยเอง การใช้ยาควิไทอะปีนจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด
ควิไทอะปีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาควิไทอะปีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บำบัดอาการโรคจิตเภท
- รักษาโรคไบโพลาร์/อารมณ์สองขั้ว
- รักษาอาการซึมเศร้า
ควิไทอะปีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาควิไทอะปีน มีกลไกการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ(Receptor)ในสมอง ชื่อ D2(Dopamine 2 receptor) และ 5-HT2 (5-hydroxytryptamine หรือ Serotonin receptor) โดยทำให้เกิดการปรับสมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง ส่งผลให้อาการทางจิตประสาทต่างๆกลับมาใกล้เคียงกับคนปกติ, จนเป็นที่มาของสรรพคุณ
ควิไทอะปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาควิไทอะปีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 25, 50, 100,150, 200,300, และ 400 มิลลิกรัม/เม็ด
ควิไทอะปีนมีขนาดการรับประทานอย่างไร?
ยาควิไทอะปีน มีขนาดการรับประทานขึ้นกับ ชนิดโรค, ความรุนแรงของอาการ, และอายุผู้ป่วย, ขนาดยาจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป ในบทความนี้ขอยกตัวอย่าง เช่น
ก. สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภท: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานยาเริ่มต้นครั้งละ 25 มิลลิกรัม, วันละ 2 ครั้ง ขนาดรับประทานอาจเพิ่มจาก 25 มิลลิกรัมไปเป็น 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง หรือ 3 ครั้ง/วัน, ในวันที่ 4 ของการรักษาอาจเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 300 – 400 มิลลิกรัม/วัน โดยแบ่งการรับประทานเป็น 2 – 3 ครั้ง, ทั้งนี้ทุกขนาดต้องเป็นไปตามคำสั่งของแพทย์ผู้รักษา
- ผู้สูงอายุ: รับประทานยาเริ่มต้นครั้งละ 25 มิลลิกรัม วันละ1 ครั้ง, อาจเพิ่มขนาดรับประทานครั้งละ 25 – 50 มิลลิกรัม/วัน, ขนาดการใช้ยาที่มีประสิทธิภาพอยู่ในช่วง 150 – 750 มิลลิกรัม/วัน, ทั้งนี้ขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วยตามดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
ข. สำหรับรักษาผู้ป่วยโรคไบโพลาร์/อารมณ์สองขั้ว: เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทานยาครั้งละ 50 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง, แพทย์สามารถปรับเพิ่มขนาดรับประทานได้สูงสุดไม่เกิน 800 มิลลิกรัม/วัน
*อนึ่ง:
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดการใช้ยานี้กับ เด็ก เด็กวัยรุ่น ต้องให้แพทย์ผู้รักษาเป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสมเป็นกรณีๆ เท่านั้น
- สามารถรับประทานยานี้ ก่อน หรือพร้อม อาหารก็ได้
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาควิไทอะปีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยา ควิไทอะปีน อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริม ที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาควิไทอะปีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาควิไทอะปีนตรงเวลา
ควิไทอะปีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาควิไทอะปีนสามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบอวัยวะต่างๆของร่างกาย: เช่น
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีภาวะตัวสั่นของร่างกาย ง่วงนอน วิงเวียน วิตกกังวล อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น รู้สึกสับสน เดินเซ การคิดช้าลง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปากคอแห้ง ท้องผูก อาเจียน อาหารไม่ย่อย เบื่ออาหาร มีน้ำลายมาก ท้องอืด กระเพาะอาหารอักเสบ
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตต่ำ ชีพจรเต้นผิดจังหวะ
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น น้ำหนักตัวเพิ่มหรือไม่ก็ลด คอเลสเตอรอลในเลือดสูง มีภาวะน้ำตาลในเลือดสูง
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน มีสิว สีผิวซีดลง
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น เกิดการติดเชื้อ เช่น ปอดบวม
- ผลต่อตา: เช่น การมองภาพผิดปกติ ตาแห้ง ปวดตา และเกิดต้อหิน
- ผลต่อภาวะทางจิต: เช่น เกิดอาการประสาทหลอน อยากทำร้ายตนเอง หรือคิดฆ่าตัวตาย
มีข้อควรระวังการใช้ควิไทอะปีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาควิไทอะปีน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามหยุดใช้ยานี้ทันที หรือปรับขนาดรับประทานด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- *หยุดการใช้ยานี้ทันที หากพบอาการแพ้ยา เช่น อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ตัวบวม ผื่นคันขึ้นเต็มตัว *แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะ เม็ดเลือดขาวต่ำชนิด Neutrophil ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจ/โรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยลมชัก
- หากพบอาการวิงเวียนหลังใช้ยานี้ ให้เลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะต่างๆ และ/หรือการทำงานกับเครื่องจักร เพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- *ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้เกินขนาด อาจสังเกตจากอาการ ง่วงนอนมาก ความดันโลหิตต่ำหัวใจเต้นเร็ว หรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจเกิดภาวะโคม่า และถึงขั้นตายได้ในที่สุด
*กรณีใช้ยานี้และมีอาการดังกล่าว ควรรีบส่งตัวผู้ป่วยไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล โดยเร็ว ทันที/ฉุกเฉิน
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด
- มาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาควิไทอะปีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอเช่นกัน
ควิไทอะปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาควิไทอะปีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาควิไทอะปีน ร่วมกับยา Amprenavir อาจทำให้ระดับยาควิไทอะปีนในกระแสเลือดเพิ่มมากขึ้น จนผู้ป่วยได้รับอาการข้างเคียงตามมา หากไม่มีความจำเป็น ใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยาควิไทอะปีน ร่วมกับยา Phenobarbital อาจทำให้ระดับยาควิไทอะปีนในกระแสเลือดลดต่ำลงจนส่งผลต่อการรักษา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีบุคคลไป
- การใช้ยาควิไทอะปีน ร่วมกับยา Bupropion อาจทำให้เกิดความเสี่ยงของอาการลมชัก กรณีที่จำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไ
- การใช้ยาควิไทอะปีน ร่วมกับยา Moxifloxacin อาจทำให้มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษาควิไทอะปีนอย่างไร?
ควรเก็บยาควิไทอะปีน: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 – 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ควิไทอะปีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาควิไทอะปีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Quantia (ควอนเทีย) | Unison |
Seroquel (เซโรควิล) | AstraZeneca |
Neutapin (นูทาปิน) | Kenyaku |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Quetiapine [2022,Nov26]
- https://www.drugs.com/image/quetiapine-images.html [2022,Nov26]
- https://www.drugs.com/mtm/quetiapine.html [2022,Nov26]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/quetiapine?mtype=generic [2022,Nov26]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/quetiapine-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Nov26]