ควินิดีน (Quinidine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 ตุลาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาควินิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาควินิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาควินิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาควินิดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาควินิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาควินิดีนอย่างไร?
- ยาควินิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาควินิดีนอย่างไร?
- ยาควินิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- หัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหัวใจเสียจังหวะ (Arrhythmia)
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะ (Antiarrhythmic drugs)
- ยากันชัก ยาต้านชัก (Anticonvulsant drugs)
- ยาลดกรด (Antacids)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ
ยาควินิดีน (Quinidine หรือ Quinidine sulfate หรือ Quinidine gluconate) เป็นสารสกัดที่ได้จากเปลือกต้นซิงโคน่า (Cinchona tree, ต้นไม้ ขนาดเล็ก เป็นไม้พื้นเมืองของประเทศแถบอเมริกาใต้ ที่เปลือกไม้มีสรรพคุณทำให้กล้ามเนื้อ คลายตัว) ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ, รวมถึงใช้รักษาการติดเชื้อไข้มาลาเรียที่มีสาเหตุจากเชื้อปรสิต Plasmodium falciparumโดยต้องใช้ร่วมกับยาดอกซีไซคลีน (Doxycycline) หรือ Atovaquone และ Proquanil
จากการศึกษาด้านเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetic, การศึกษาความเป็นไปของยา เมื่อยาเข้าสู่ร่างกาย)ของยานี้พบว่า ยาควินิดีนจะถูกดูดซึมจากระบบทางเดินอาหารได้ประมาณ 70 - 80 % และถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ ร่างกายต้องใช้เวลา 6 - 8 ชั่วโมงในการกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับปัสสาวะ
ควินิดีนจัดเป็นยาที่มีเงื่อนไขของการใช้ในผู้ป่วยแตกต่างกันออกไป การบริหารยา/การใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น ห้ามมิให้ผู้ป่วยปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้เอง
ยาควินิดีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาควินิดีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ รวมทั้งชนิด Conversion of atrial fibrillation
- รักษาโรคมาลาเรีย (ไข้จับสั่น)
ยาควินิดีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาควินิดีน มีกลไกการออกฤทธ์ โดยตัวยาจะออกฤทธิ์โดยลดความตรึงเครียดของกล้ามเนื้อหัวใจ ลดการนำกระแสของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ รวมถึงความเร็วในการทำงานของหัวใจ การดูดกลับของเกลือโซเดียม และการดูดออกของเกลือโพแทสเซียมจากเซลล์ กล้ามเนื้อหัวใจ จนเกิดสมดุลใหม่ภายในเซลล์ ทำให้ลดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ และเกิดฤทธิ์ของการรักษาในที่สุด
ยาควินิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาควินิดีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- เป็นยาเม็ด ขนาด 200 มิลลิกรัม/เม็ด
ยาควินิดีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาควินิดีนมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิดห้องบน - ห้องล่างเต้นผิดจังหวะ (Atrial - ventricular premature contractions):
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 - 300 มิลลิกรัม วันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดยาขึ้นกับความรุนแรงของอาการและดุลพินิจของแพทย์
ข. สำหรับโรคมาลาเรีย (Uncomplicated falciparum malaria):
- ผู้ใหญ่และเด็ก: รับประทาน 300 - 600 มิลลิกรัม หรือรับประทาน 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ทุก 8 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 - 7 วัน
ค. สำหรับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Conversion of atrial fibrillation:
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 200 มิลลิกรัม ทุกๆ 2 - 3 ชั่วโมง เป็นเวลา 5 - 8 ครั้ง ซึ่งขนาดรับประ ทาน แพทย์อาจปรับเพิ่มขึ้นจนอัตราการเต้นของหัวใจเข้าสู่ภาวะปกติ โดยขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 3 - 4 กรัม/วัน ทั้งนี้ขนาดรับประทานเพื่อคงระดับการรักษาคือ 200 - 300 มิลลิกรัม วันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็ก: ขนาดยาขึ้นกับความรุนแรงของอาการและดุลพินิจของแพทย์
อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาควินิดีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาควินิดีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาควินิดีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับ ประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาควินิดีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาควินิดีนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น
- มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ท้องเสีย
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- ผื่นคัน
- ลมพิษ
- การมองเห็นภาพไม่ชัดเจน
มีข้อควรระวังการใช้ยาควินิดีนอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาควินิดีน ดังนี้ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาควินิดีน
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะหัวใจหยุดเต้น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่ได้รับพิษของยา Digoxin
- ระวังการใช้ยานี้ใน ผู้ป่วยโรคหัวใจล้มเหลว, ผู้ป่วยด้วยกล้ามเนื้ออ่อนแรง, ผู้ป่วยที่อยู่ใน ภาวะติดเชื้อแบบเฉียบพลัน, ผู้ป่วยที่มีภาวะไข้สูง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับ - ไต ทำงานบกพร่อง
- ระวังการใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาควินิดีน) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด เสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาควินิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาควินิดีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาควินิดีนร่วมกับ ยาลดความดันยาลดความดันเลือดสูง จะเกิดการเสริมฤทธิ์ของยาลดความดันฯสูง และเกิดภาวะหลอดเลือดขยายตัว ส่งผลให้เกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ อาจช็อกได้ หากมีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทาน เพื่อความเหมาะสมต่อร่างกายของคนไข้เป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยาควินิดีนร่วมกับยาบางกลุ่ม อาจทำให้ระดับยาควินิดีนในกระแสเลือดสูงขึ้นจนทำ ให้ได้รับผลข้างเคียงของยาควินิดีนติดตามมา ยากลุ่มดังกล่าว เช่นยา
- ยาลดกรด เช่นยา Cimetidine
- ยารักษาหัวใจเต้นผิดจังหวะตัวอื่นๆ เช่นยา Amiodarone
- การใช้ยาควินิดีนร่วมกับยากันชักยาต้านชัก (เช่นยา Phenytoin, Phenobarbital) , หรือร่วมกับยารักษาวัณโรค (เช่นยา Rifampicin) จะทำให้เกิดการทำลายยาควินิดีนได้เพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อการรักษาของยาควินิดีน หากไม่จำเป็นควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษายาควินิดีนอย่างไร?
ควรเก็บยาควินิดีน เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
ยาควินิดีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาควินิดีน มียาชื่อการค้า และบรืษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Apo-Quinidine (เอโพ-ควินิดีน) | Apotex |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Quinidine [2020,Oct17]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fquinidine%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage [2020,Oct17]
3 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fquinidine%3fmtype%3dgeneric [2020,Oct17]
4 http://www.medicinenet.com/quinidine/article.htm [2020,Oct17]
5 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fSingapore%2fdrug%2finfo%2fApo-Quinidine%2f[2020,Oct17]