ควินาพริล (Quinapril)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 19 กันยายน 2564
- Tweet
- บทนำ : คือยาอะไร?
- ควินาพริลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ควินาพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ควินาพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ควินาพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ควินาพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ควินาพริลอย่างไร?
- ควินาพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาควินาพริลอย่างไร?
- ควินาพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- เอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ไทอะไซด์ (Thiazide)
- ไดจอกซิน (Digoxin)
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics Drugs)
- ไฮโดรคลอโรไทอะไซด์ (Hydrochlorothiazide)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
บทนำ : คือยาอะไร?
ควินาพริล (Quinapril) คือ ยาลดความดันในกลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ (ACE inhibitor, Angiotensin converting enzyme inhibitor) ถูกนำมาใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง,
ภาวะหัวใจล้มเหลว สามารถใช้เป็นยาเดี่ยวในการรักษาหรือจะใช้ร่วมกับยาอื่น เช่นยา Thiazide หรือ Digoxin ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์
อนึ่ง:
ข้อห้ามใช้บางประการที่ควรทราบของยาควินาพริล ได้แก่
- มีประวัตแพ้ยากลุ่มเอซีอี อินฮิบิเตอร์ โดยมีอาการบวมทั้งตัวจากหลอดเลือดแดงขยายตัว จากภูมิแพ้หรือที่เรียกว่า แองจิโออีดีมา(Agioedema)
- แพ้ยาควินาพริลโดยตรง
- เป็นผู้ป่วยด้วย โรคไต โรคตับ รวมถึงสตรีตั้งครรภ์ด้วยมีรายงานทางคลินิกว่ายานี้สามารถส่ง ผลให้ทารกในครรภ์ตายได้
ทั้งนี้ ก่อนการสั่งจ่ายยานี้แพทย์มักจะซักถามประวัติสุขภาพ อาทิ
- มีประวัติแพ้ยาอะไรบ้าง
- ปัจจุบันรับประทานยาอะไรอยู่หรือไม่
- ป่วยเป็นโรคไต โรคตับ โรคหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับไขกระดูก โรคหลอดเลือด เช่น เส้นเลือดในสมองตีบตัน (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง อัมพาต อัมพฤกษ์: โรคหลอดเลือดสมอง)
- อยู่ในภาวะขาดน้ำและมีโรคความดันโลหิตต่ำหรือไม่
- หากเป็นสตรีอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือภาวะเลี้ยงดูบุตรด้วยน้ำนมมารดาหรือไม่
หลังการจ่ายยานี้แพทย์อาจจะสำทับเรื่องอาการต่างๆที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยได้ เช่น
- ยานี้อาจทำให้มีอาการ วิงเวียน ปวดหัวเล็กน้อย หรือเป็นลม
- ห้ามรับประทานยานี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ด้วยจะทำให้วิงเวียนได้มากขึ้น
- หากมีอาการบวมตามใบหน้า-คอ-มือ-เท้า ต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ทันที/ฉุกเฉินด้วยเป็นอาการแพ้ยาแบบหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้
- หากพบอาการไอแห้งๆ (ไอไม่มีเสมหะ) หลังใช้ยานี้ควรต้องกลับมาปรึกษาแพทย์/มา โรงพยาบาลก่อนนัดเพื่อให้แพทย์พิจารณาปรับการรักษา
- หากเกิดความดันโลหิตต่ำมากควรต้องกลับมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็วก่อนนัดเพื่อแพทย์พิจารณาปรับการรักษา
- ยานี้อาจจะรบกวนการออกฤทธิ์และลดประสิทธิภาพของยาต้านเบาหวานส่งผลให้ระดับ น้ำตาลในเลือดสูงขึ้นได้
- แพทย์มักจะไม่จ่ายยานี้ให้กับเด็กด้วยข้อมูลทางคลินิกเรื่องการใช้ยาควินาพริลกับเด็กยังมีไม่เพียงพอ
หากพิจารณาเรื่องการกระจายตัวของยานี้ในร่างกายจะพบว่า ยาควินาพริลถูกออกแบบให้เป็นยาชนิดรับประทาน แต่ไม่ควรรับประทานพร้อมอาหารที่มีไขมันมากด้วยจะลดการดูดซึมของยานี้ เมื่อยาเข้าสู่กระแสเลือดจะเข้าจับกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 97% ก่อนที่จะถูกส่งไปเผาผลาญที่ตับ ถึงแม้ยานี้สามารถซึมผ่านเข้าน้ำนมมารดาได้เล็กน้อยแต่ก็ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากับมารดาที่เลี้ยงดูบุตรด้วยน้ำนมของตนเอง และร่างกายคนเราต้องใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงเพื่อการขับยานี้ออกจากกระแสเลือดเป็นปริมาณครึ่งหนึ่งโดยผ่านทิ้งไปกับปัสสาวะและอุจจาระ
ยาควินาพริลที่วางจำหน่ายในบ้านเรามีหลายขนาดความแรงตั้งแต่ขนาด 5 มิลลิกรัมจนถึง 40 มิลลิกรัม การใช้ยาได้อย่างเหมาะสมปลอดภัยจึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น และผู้ป่วยไม่สมควรไปหาซื้อยานี้มารับประทานด้วยตนเอง
ควินาพริลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาควินาพริลมีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูงโดยจะใช้เป็นยาเดี่ยวหรือใช้ร่วมกับยาขับปัสสาวะกลุ่ม ไทอะไซด์ (Thiazide-type diuretics)
- รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
ควินาพริลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาควินาพริลคือ ตัวยาจะเข้าไปยับยั้งการเปลี่ยนแปลงสาร แองจิโอเทนซิน, Angiotensin I ไปเป็น Angiotensin II ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดหดตัวส่งผลให้เกิดความดันโลหิตสูง เมื่อกลไกดังกล่าวโดนปิดกั้นจากตัวยานี้จะทำให้การหดตัวของหลอดเลือดกลับมาสู่ภาวะปกติ จึงทำให้ความดันโลหิตลดต่ำลง
ควินาพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาควินาพริลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 5, 10, 20 และ 40 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดที่ผสมร่วมกับยา Hydrochlorothiazide เช่น
- Quinapril 10 mg + Hydrochlorothiazide 12.5 mg.
- Quinapril 20 mg + Hydrochlorothiazide 12.5 mg.
ควินาพริลมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาควินาพริลมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาโรคความดันโลหิตสูง:เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มต้นรับประทาน 10 - 20 มิลลิกรัมวันละครั้ง การรับประทานยานี้ในช่วงแรกๆ ให้รับประทานก่อนนอนหรือแบ่งรับประทาน 2 ครั้งเช้า - เย็น
- สำหรับผู้ป่วยที่ต้องรับประทานยาขับปัสสาวะร่วมด้วย แพทย์อาจให้เริ่มรับประทานยา ควินาพริล 5 มิลลิกรัมวันละ1ครั้ง จากนั้นให้คอยตรวจสอบความดันโลหิตควบคู่กันไปและปรับยาตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น
- โดยทั่วไปขนาดรับประทานที่ใช้คงระดับการรักษาอยู่ที่ 20 - 80 มิลลิกรัม/วันโดยอาจรับประทานวันละ1ครั้งหรือแบ่งรับ ประทานวันละ 2 ครั้งก็ได้ตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษา
- ผู้สูงอายุ: รับประทานเริ่มต้นที่ 10 มิลลิกรัมวันละครั้ง หรือแบ่งรับประทานเป็น 2 ครั้ง/วัน และต้องคอยตรวจสอบระดับความดันโลหิตควบคู่กันไป
ข. สำหรับรักษาภาวะหัวใจล้มเหลว: เช่น
- ผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ: เริ่มต้นรับประทานครั้งละ 5 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งเช้า - เย็น และแพทย์อาจปรับขนาดรับประทานตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาที่อาจปรับขนาดรับประทานระหว่างช่วงสัปดาห์ได้อีก 20 - 40 มิลลิกรัมโดยแบ่งรับประทาน 2 ครั้ง
*อนึ่ง:
- ควรรับประทานยานี้ช่วงท้องว่าง และรับประทานยาให้ตรงเวลา
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ยังไม่มีข้อมูลการศึกษาที่แน่ชัดถึงผลข้างเคียงและขนาดการใช้ยานี้ในเด็ก การใช้ยานี้ในเด็กจึงอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาควินาพริล ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร ดังนี้เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก / หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคเบาหวาน รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาควินาพริลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทรวมถึงยาควินาพริลสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาควินาพริล สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ควินาพริลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
การใช้ยาควินาพริลสามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้ เช่น
- วิงเวียน
- ปวดหัว
- อ่อนแรง
- มีผื่นคัน
- เกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง
- เจ็บหน้าอก
- ดีซ่าน
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ท้องเสีย
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดหลัง
- *อาการข้างเคียงที่รุนแรง: เช่น มีภาวะความดันโลหิตต่ำ และโรคตับแข็ง
- *หากแพ้ยานี้: เช่น จะมีอาการบวมตามใบหน้า-มือ-เท้า หรือที่เรียกว่า แองจิโออีดีมา(Angioedema)
- *ภาวะที่ผู้ป่วยได้รับยานี้เกินขนาด: เช่น มีอาการความดันโลหิตต่ำอย่างรุนแรง
*ทั้งนี้ หากพบอาการแพ้ยาหรือได้รับยาเกินขนาดต้องรีบนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ควินาพริลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาควินาพริล เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือมีประวัติแพ้ยาในกลุ่มเอซีอีอินฮิบิเตอร์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ เด็ก และหลีกเลี่ยงการใช้ยากับสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่อยู่ในภาวะท้องเสียด้วยอาจทำให้เกิดภาวะสมดุลของน้ำและเกลือแร่ ในร่างกายผิดปกติไป
- ระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะหัวใจล้มเหลวขั้นรุนแรงด้วยอาจทำให้เกิดอาการบวมแบบแพ้ยานี้/ แองจิโออีดีมา(Angioedema)
- ระวังการใช้ยากับผู้ป่วยโรคไต โรคตับ
- คอยตรวจสอบและควบคุมความดันโลหิตให้เป็นปกติอยู่ตลอดเวลาตามแพทย์แนะนำ
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดหมายอย่างสม่ำเสมอ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาควินาพริลด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควินาพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาควินาพริลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาควินาพริล ร่วมกับ ยาที่เสริมเกลือโพแทสเซียมอาจทำให้เกิดภาวะเกลือ โพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalaemia, อาการเช่น หัวใจเต้นผิดปกติ คลื่นไส้, กล้ามเนื้ออ่อนแรง) หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไปเช่น ยา Potassium chloride
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาควินาพริล ร่วมกับ ยา Lithium ด้วยจะทำให้ความเข้มข้นในกระแสเลือดของยา Lithium เพิ่มสูงขึ้นจนอาจเกิดอาการพิษ/ผลข้างเคียงรุนแรงของยา Lithium ติดตามมา
- การใช้ยาควินาพริล ร่วมกับ ยาปฏิชีวนะบางตัวเช่นยา Tetracycline อาจทำให้การดูดซึมของยาปฏิชีวนะดังกล่าวลดน้อยจนประสิทธิภาพของการรักษาลดลง หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน
- การใช้ยาควินาพริล ร่วมกับยา Amiloride อาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูงขึ้น จนทำให้เกิดภาวะขาดน้ำ และมีภาวะของไตวาย เบาหวาน/น้ำตาลในเลือดสูง ภาวะหัวใจล้มเหลว ติดตามมา แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกัน
ควรเก็บรักษาควินาพริลอย่างไร?
ควรเก็บยาควินาพริล: เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในรถยนต์หรือในห้องน้ำ
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ควินาพริลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาควินาพริล มียาชื่อการค้าอื่น และ บริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Accupril (แอคคูพริล) | Pfizer |
Accuretic (แอคคูเรติก) | Pfizer |
Quinsil (ควินซิล) | Actavis |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Quinapril [2021,Sept18]
- https://www.drugs.com/mtm/quinapril.html [2021,Sept18]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/quinapril?mtype=generic [2021,Sept18]
- https://www.mims.com/India/drug/info/quinapril/?type=full&mtype=generic#Dosage [2021,Sept18]