ขาหนีบ (Groin)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 25 กุมภาพันธ์ 2557
- Tweet
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ กามโรค (STD: Sexually transmitted disease)
ขาหนีบ ตามความหมายจากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 คือ บริเวณโคนขาด้านหน้าตรงส่วนที่ต่อกับลำตัว
ทางการแพทย์ ตำแหน่งนี้จะเป็นตำแหน่งของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันหลายชนิด เช่น เนื้อเยื่อเส้นใย หลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำขนาดใหญ่ของขา และเป็นตำแหน่งของต่อมน้ำเหลืองสำคัญที่รับน้ำเหลือง จากลำตัวช่วงล่างที่ต่ำจากสะดือลงมา, จากขาและเท้า, จากอวัยวะเพศภายนอก, จากทวารหนักและเนื้อเยื่อรอบๆทวารหนัก, จากส่วนล่างของช่องคลอด, ทั้งนี้รวมถึงผิวหนังที่ห่อหุ้มเนื้อเยื่อ/อวัยวะเหล่านั้นด้วย ซึ่งเรียกต่อมน้ำเหลืองกลุ่มนี้ว่า ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบ หรือ ไข่ดัน (Inguinal lymph node)
ดังนั้น เมื่อมีการอักเสบ หรือมีโรคของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆดังกล่าว จะส่งผลให้มีต่อมน้ำ เหลืองที่ขาหนีบ โต คลำได้ อาจต่อมเดียว หรือ หลายต่อม อาจเจ็บ หรือไม่เจ็บก็ได้ หรือ ถ้าเนื้อเยื่อบริเวณขาหนีบเกิดเป็นพังผืดขึ้น จะส่งผลให้น้ำเหลืองจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆดังกล่าว ไหลเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองขาหนีบไม่ได้ จึงส่งผลให้เนื้อเยื่อ/อวัยวะเหล่านั้นเกิดอาการบวมได้ เช่น ขาบวม หรือ อวัยวะเพศบวม เป็นต้น