ก้อนในเต้านม (Breast mass)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

         ก้อนในเต้านม (Breast mass หรือ Breast lump) คือ ก้อนเนื้อผิดปกติที่เกิดในเต้านม อาจเกิดเพียงข้างเดียว (ซึ่งพบบ่อยกว่า) หรือเกิดทั้ง2ข้างของเต้านม (ซึ่งพบน้อยกว่า), อาจเกิดเพียงก้อนเดียว (ซึ่งพบบ่อยกว่า), หรือเกิดได้หลายก้อน (ซึ่งพบน้อยกว่ามาก), ก้อนเนื้ออาจมีขนาดเล็กตรวจพบได้จากการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจภาพรังสีเต้านม/แมมโมแกรม (Mammogram)และ/หรืออัลตราซาวด์เต้านม หรือก้อนเนื้ออาจมีขนาดใหญ่จนสามารถคลำได้โดยตัวผู้ป่วยเองและ/หรือโดยแพทย์

         ก้อนเนื้อในเต้านม พบทุกอายุ ตั้งแต่เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)จนถึงผู้สูงอายุ โดยในเด็กมักพบในช่วงวัยรุ่นที่ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศต่างๆ เต้านมจึงมีการขยายใหญ่ขึ้นและเริ่มมีการสร้างต่อมต่างๆสำหรับการสร้างน้ำนมจึงอาจส่งผลให้คลำได้คล้ายก้อนเนื้อ แต่ก้อนเนื้อเหล่านี้จะค่อยๆหายไปเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่

         ก้อนเนื้อในเต้านม พบเกิดทั้งในเพศหญิงและในเพศชาย  ทั่วไปส่วนใหญ่พบในเพศหญิง แต่ในเด็กชายมักคลำได้ก้อนในเต้านมโดยเฉพาะใต้หัวนมในช่วงวัยรุ่นซึ่งพบได้เป็นปกติโดยมีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศในวัยนี้ซึ่งก้อนฯจะค่อยๆยุบหายไปเอง

          ก้อนเนื้อในเต้านม พบได้เรื่อยๆไม่ถึงกับบ่อยนัก มีการศึกษาพบว่าก้อนฯในเต้านมส่วนใหญ่ เกิดจากก้อนเนื้อธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็ง ซึ่งพบได้ประมาณ 25%-50%ในเพศหญิงวัยผู้ใหญ่

         ‘บทความนี้’กล่าวถึงก้อนเนื้อในเต้านมเฉพาะในเพศหญิงและเฉพาะก้อนเนื้อซึ่งเป็นโรคเท่านั้น ไม่ครอบคลุมก้อนเนื้อที่เป็นไปตามธรรมชาติของฮอร์โมนเพศและไม่ครอบคลุมก้อนเนื้อที่เกิดจากโรคมะเร็งเต้านมซึ่งได้กล่าวแยกต่างหากเป็นอีกบทความหนึ่งแล้วในเว็บhaamor.com

ก้อนในเต้านมมีกี่ชนิด?

 

ก้อนเนื้อในเต้านมมีได้หลากหลายชนิด ที่พบได้บ่อย คือ

ก. ชนิดเรียกว่า ไฟโบรซีสติค (Fibrocystic changes หรือเรียกย่อว่า FCC): ซึ่งพบได้ประมาณ 40% ของก้อนเนื้อในเต้านมทั้งหมด (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ซีสต์เต้านม’)

ข. เนื้องอกชนิดไฟโบรแอดีโนมา(Fibroadenoma): พบได้ประมาณ 7 - 10%  (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘ไฟโบรแอดีโนมา’)

ค. ก้อนเนื้ออื่นๆที่ไม่ใช่มะเร็ง: พบรวมกันได้ประมาณ 13 - 20% ซึ่งที่พบบ่อยในกลุ่มนี้คือ ถุงน้ำ (Cyst), เป็นฝี, ก้อนไขมัน/เนื้องอกไขมัน(Lipoma), เนื้องอกชนิดที่เรียกว่า เนื้องอกฟิลโลดิส (Phyllodes), เนื้องอกชนิดที่เซลล์มีการเจริญเกินปกติ(Hyperplasia), เนื้องอกในท่อน้ำนมหรือเนื้องอกชนิด Adenosis

 ง. เนื้องอกมะเร็ง(โรคมะเร็งเต้านม): พบได้ประมาณ 10%  (แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจากเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ‘มะเร็งเต้านม’)

จ. บางครั้งผู้ป่วยคลำแล้วสงสัยมีก้อนในเต้านม แต่เมื่อแพทย์ตรวจแล้วพบว่าไม่มีก้อนเนื้อผิดปกติ (ทั้งจากตรวจคลำและจากการตรวจภาพรังสีเต้านม) ซึ่งพบกรณีนี้ได้ประมาณ 30 % ของผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ด้วยสงสัยมีก้อนที่เต้านม

 

ก้อนในเต้านมเกิดจากอะไร? มีอาการอย่างไร? เป็นมะเร็งได้ไหม?

สาเหตุและอาการของก้อนในเต้านม ขึ้นกับชนิดของก้อนเนื้อ

ก.  ไฟโบรซีสติค/ซีสต์เต้านม(Fibrocystic changes): สาเหตุของก้อนเนื้อชนิดนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศตามรอบประจำเดือน มักคลำก้อนฯได้ทั้ง2ข้างเต้านม ก้อนฯมีขอบเขตไม่ชัดเจนและคลำได้ไม่ชัดเจน, ผิวขรุขระ, ลักษณะหยุ่นๆ ไม่แข็ง เคลื่อนที่ได้, มักร่วมกับอาการเจ็บเต้านมและ/หรือเจ็บก้อนเนื้อ  เจ็บบริเวณรักแร้ และเจ็บที่ก้อน, รวมทั้งรู้สึกตึงแน่น หรือเต้านมบวมใหญ่/เต้านมคัดตึง, โดยอาการต่างๆจะเป็นมากขึ้นเมื่อใกล้วันประจำเดือนมา แต่อาการต่างๆจะดีขึ้นในช่วงไม่มีประจำเดือน  ซึ่งการกินยาเม็ดคุมกำเนิดจะบรรเทาอาการเหล่านี้ลง ในขณะที่ถ้ากินฮอร์โมนเพศชดเชย เช่น หลังผ่าตัดรังไข่ อาการต่างๆจะมากขึ้น ทั้งนี้ก้อนเนื้อชนิดนี้’มักไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านม’

ข.  ไฟโบรอะดีโนมา(Fibroadenoma): เป็นเนื้องอกที่’ไม่ใช่มะเร็ง’ มักพบในช่วงวัยเจริญ พันธุ์ (วัยยังมีประจำเดือน) ทั้งนี้สาเหตุเกิดที่แท้จริงยังไม่ทราบ แต่เชื่อว่ามีความสัมพันธ์กับ ฮอร์โมนเพศหญิงเพราะพบโรคได้สูงขึ้นในผู้หญิงที่กินยาคุมกำเนิดก่อนอายุ 20 ปี และในหลายๆคน ก้อนเนื้อยุบหายเองได้ในวัยหมดประจำเดือน

ก้อนเนื้อนี้มีลักษณะค่อนข้างกลม ผิวเรียบ เคลื่อนที่ได้ ไม่เจ็บ ไม่แข็งมาก มีได้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เกิดได้ทั้งก้อนเดียวหรือหลายก้อนในเต้านมข้างเดียวหรือทั้งสองข้าง

เมื่อก้อนเนื้อนี้เป็นชนิดที่เซลล์ยังไม่มีการเจริญเกินปกติและ/หรือเซลล์ไม่มีการเจริญเปลี่ยน รูปแบบ (Atypia) ซึ่งเรียกว่าชนิด ‘Simple fibroadenoma’ จะไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งเต้านม

 แต่ถ้าเซลล์ก้อนเนื้อนี้ เกิดการผิดปกติโดยมีการเปลี่ยนรูปแบบของเซลล์ซึ่งเรียกว่าชนิด Complex fibroadenoma จะเป็นปัจจัยเสี่ยงในการกลายเป็นมะเร็งเต้านมสูง 1 - 2 เท่าของผู้หญิงปกติ ทั้งนี้การจะทราบชนิดเซลล์จะได้จากการตัดก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ค. ชนิดเกิดจากเซลล์ไขมันตายและซีสต์น้ำมัน(Fat necrosis and oil cyst): พบได้ภายหลังจากเต้านมถูกกระแทกหรืออุบัติเหตุเต้านม หรือจากผ่าตัดเต้านม หรือการฉายรังสีรักษาบริเวณเต้านม ซึ่งจะส่งผลให้เซลล์ไขมันที่มีอยู่มากมายในเต้านมตาย เกิดเป็นพังผืดและ/หรือเป็นถุงน้ำชนิดภายในเป็น’น้ำมัน’จึงเกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้น ก้อนเนื้อจะมีลักษณะค่อนข้างกลม ไม่แข็ง เคลื่อนที่ได้บ้างเล็กน้อย อาจเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ ทั้งนี้ มักมีประวัติดังกล่าวนำมาก่อนคลำพบก้อนเนื้อ และก้อนเนื้อชนิดนี้’ไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านม’

ง. ชนิดถุงน้ำ/ซีส (Breast cyst): เป็นชนิดที่ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด แต่เชื่อว่าสัมพันธ์กับฮอร์โมนเพศหญิงเพราะมักพบเกิดร่วมกับก้อนเนื้อไฟโบรซีสติค พบในวัยเจริญพันธุ์ และถุงน้ำยุบหายเองได้ในวัยหมดประจำเดือนแล้ว ก้อนเนื้อค่อนข้างกลมหรือรูปไข่ อาจเจ็บหรือไม่ก็ได้, เคลื่อนที่ได้, แข็งประมาณลูกโป่งใส่น้ำ, มีได้ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ได้หลายเซนติเมตร,  ‘ทั่วไป ถุงน้ำไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านม’ ยกเว้นส่วนน้อยมากที่เซลล์ผนังถุงน้ำเกิดการเจริญเปลี่ยนรูปแบบ ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมได้1-2เท่าของผู้หญิงปกติ

จ.  เนื้องอกฟิลโลดิส(Phyllodes หรือ Phylloides): พบน้อยมาก พบทุกอายุแต่พบได้บ่อยกว่าในช่วงอายุ 30 - 40 ปี ทั้งนี้สาเหตุเกิดยังไม่ทราบ อาการและลักษณะก้อนเนื้อเช่นเดียวกับในก้อนเนื้อไฟโบรอะดีโนมา    

เนื้องอก Phyllodes กลายเป็นมะเร็งได้น้อย ประมาณ5% ของเนื้องอกชนิดนี้ แต่โรคนี้มีโอกาสย้อนกลับเป็นซ้ำได้สูงภายหลังการผ่าตัด

ฉ. ก้อนเนื้อไขมัน/เนื้องอกไขมัน(Lipoma): เป็นก้อนเนื้อที่ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดที่ชัดเจน แต่เชื่อว่าอาจจากมีความผิดปกติทางพันธุกรรมบางชนิด เป็นก้อนเนื้อมีลักษณะขอบเขตชัดเจน,ค่อนข้างกลม, นิ่ม, มักไม่เจ็บ (แต่อาจเจ็บได้), เคลื่อนที่ได้, ขนาดไม่เปลี่ยนแปลงตามรอบประจำเดือน, ‘ไม่กลายเป็นมะเร็งเต้านม’, มีโอกาสกลายเป็นมะเร็งเซลล์ไขมัน(Liposarcoma)ได้แต่โอกาสเกิดน้อยมากๆ

ช. เนื้องอกในท่อน้ำนม(Intraductal papilloma): คือ เนื้องอกที่เกิดในท่อน้ำนม มักเกิดกับ เต้านมเพียงข้างเดียว แต่พบ2ข้างได้บ้าง โดยทั่วไปมักคลำก้อนเนื้อไม่ได้ แต่ถ้าก้อนเนื้อโตขึ้น มักคลำได้ก้อนเนื้อโตอยู่ใต้หัวนมและผู้ป่วยอาจมี น้ำนม น้ำเหลือง หรือน้ำเลือด ออกจากหัวนมได้  ทั่วไปเนื้องอกชนิดนี้’เปลี่ยนแปลงเป็นมะเร็งได้บ้างแต่โอกาสเกิดน้อยมาก’

ซ. ก้อนเนื้อจากความผิดปกติของท่อน้ำนม(Duct ectasia): เกิดจากท่อน้ำนมมีขนาดใหญ่ และมีผนังหนากว่าปกติจนทำให้สามารถคลำได้เป็นก้อนเนื้อ, ไม่แข็งมาก, อยู่ใต้หัวนม, หัวนมอาจบุ๋มได้, และอาจมีน้ำสีออกเขียวหรือดำคล้ำออกจากหัวนม, มักเกิดกับเต้านมเพียงข้างเดียว, ทั้งนี้ก้อนเนื้อชนิดนี้’ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม’

ฌ. ก้อนเนื้อจากความผิดปกติของต่อมน้ำนม(Adenosis): ได้แก่ ก้อนเนื้อที่เกิดจากต่อมน้ำ นมขยายใหญ่ขึ้นและมีจำนวนต่อมฯเพิ่มกว่าปกติจนทำให้เกิดเป็นก้อนเนื้อขึ้น มักเกิดกับเต้านมเพียงข้างเดียว (แต่พบเกิดได้ทั้ง2ข้าง), อาจคลำได้ทั้งเป็นก้อนที่ไม่แข็งหรือเป็นก้อนที่แข็งจากมีพังผืดซึ่งบางครั้งอาจเป็นสาเหตุให้เต้านมผิดรูปร่างได้ (Sclerosing adenosis), ก้อนเนื้อชนิดไม่แข็ง มัก’ไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็งเต้านม’, แต่ชนิด’ที่แข็งมีพังผืดมากเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งเต้านม’ได้ประมาณ 1 - 2 เท่าของผู้หญิงปกติ

ญ. ก้อนเนื้อจากการอักเสบ/ฝี:มักเกิดในช่วงให้นมบุตรโดยเกิดจากเซลล์เต้านมติดเชื้อแบคทีเรีย มักเกิดร่วมกับมีไข้ เต้านมบวม แดง ร้อน เจ็บ มีลักษณะเป็นฝี อาจมีหนองออกทางหัวนม, เกิดได้กับเต้านมข้างเดียวหรือทั้ง2ข้าง, โรคนี้’ไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม’ แต่มะเร็งเต้านมชนิดรุนแรงจะทำให้เกิดอาการคล้ายการอักเสบของเต้านมได้ ซึ่งแพทย์แยกได้จาก อายุ, ประวัติให้นมบุตร, และการตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

ฎ. ก้อนเนื้อชนิดมีเซลล์เจริญเกินปกติ(Hyperplasia): ก้อนเนื้อชนิดต่างๆทุกชนิดอาจมีเซลล์เจริญเกินปกติได้ ซึ่งแพทย์ทราบได้จากการตัดชิ้นเนื้อหรือผ่าตัดก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทาง พยาธิวิทยา ซึ่งถ้ามีเซลล์เจริญเกินปกติเกิดขึ้น จะเป็น’ปัจจัยเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งเต้านม’ได้ ซึ่งถ้ามีเพียงเซลล์เจริญเกินปกติจะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อก้อนเนื้อเกิดเป็นมะเร็งเต้านม1-2เท่าของผู้หญิงปกติ แต่ถ้ามีทั้งเซลล์เจริญเกินปกติร่วมกับเซลล์เจริญเปลี่ยนรูปแบบ(Atypia)จะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งเต้านม4-5เท่าของผู้หญิงปกติ

แพทย์วินิจฉัยก้อนในเต้านมได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยว่ามีก้อนเนื้อและหาสาเหตุของก้อนเนื้อในเต้านมได้จาก

  • อายุ ประวัติ อาการต่างๆ ประวัติการใช้ยา ความสัมพันธ์กับประจำเดือน
  • การตรวจคลำเต้านม และต่อมน้ำเหลืองรักแร้ ร่วมกับ การตรวจร่างกาย
  • การตรวจภาพเต้านมด้วยอัลตราซาวด์และ/หรือแมมโมแกรม (การตรวจภาพรังสีเต้านม)
  • การเจาะ/ดูดเซลล์จากน้ำในก้อนเนื้อหรือจากตัวก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือการตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อหรือผ่าตัดทั้งก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ทั้งนี้การตรวจต่างๆดังกล่าวขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

รักษาก้อนในเต้านมอย่างไร?

แนวทางการรักษาก้อนเนื้อในเต้านมโดยทั่วไป คือ

ก. ผ่าตัดเอาก้อนเนื้อออกตั้งแต่แรกคลำพบก้อนเนื้อ หรือเจาะ/ดูดเซลล์หรือตัดชิ้นเนื้อจากก้อนเนื้อเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยาหรือการตรวจทางพยาธิวิทยาให้รู้ว่าเป็นก้อนเนื้อชนิดใด แล้วจึงให้การรักษาด้วยการผ่าตัดก้อนเนื้อ

ข. บางครั้งเมื่อแพทย์แน่ใจว่าเป็นก้อนเนื้อจากไฟโบรซีสติกและก้อนเนื้อมีขนาดเล็กๆหลายๆ ก้อน แพทย์อาจใช้วิธีเฝ้าตรวจติดตามโรค (เพราะถ้าผ่าตัดอาจต้องตัดทั้งเต้านม) โดยอาจนัดผู้ป่วยทุก2-3 เดือน ทั้งนี้เพราะดังกล่าวแล้วว่า ก้อนเนื้อชนิดนี้อาจหายเองได้ แต่จะผ่าตัดเมื่อก้อนเนื้อมีขนาดโตขึ้นต่อเนื่อง

ค. เมื่อก้อนเนื้อเกิดจากถุงน้ำ แพทย์อาจรักษาด้วยการเจาะดูดน้ำออก

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีก้อนหรือสงสัยมีก้อนในเต้านมได้แก่  รีบพบแพทย์ภายใน1-2 สัปดาห์เพื่อการวินิจฉัยแยกจากโรคมะเร็งเต้านมและเพื่อการรักษาที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆ

ป้องกันก้อนในเต้านมอย่างไร?

ปัจจุบัน เมื่อดูจากสาเหตุแล้ว ป้องกันโรคก้อนเนื้อในเต้านมยังไม่ได้ ดังนั้นควรต้องหมั่นดูแลเต้านมของตนเอง ตั้งใจคลำเต้านมทั้ง2ข้างขณะอาบน้ำอย่างน้อยทุกเดือน

 เมื่อพบหรือสงสัยมีก้อนเนื้อผิดปกติในเต้านม ควรรีบพบแพทย์ภายใน 1-2 สัปดาห์เพื่อวินิจฉัยแยกจากโรคมะเร็งเต้านมโดยเฉพาะเมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

หรือตรวจภาพรังสีเต้านม/แมมโมแกรมและ/หรืออัลตราซาวด์เต้านมเพื่อตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมตั้งแต่ยังไม่มีอาการ โดยเริ่มได้ตั้งแต่อายุ 45-50 ปีขึ้นไปหรือเริ่มตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปเมื่อมีญาติสายตรง (พ่อ แม่ พี่ น้อง ท้องเดียวกัน) เป็นโรคมะเร็งเต้านม ต่อจากนั้นความถี่ของการตรวจภาพรังสีเต้านมขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์

บรรณานุกรม

  1. Ghosh, A., and Ghosh, K. (2006). Clinical approach to breast disorders: a primer for internists. The Journal of the associations of physicians of India. 54, 389-394.
  2. Klein, S. (2005). Evaluation of palpable breast masses. Am Fam Physician. 71, 1731-1738.
  3. Morrow, M. (2000). The evaluation of common breast problems. Am Fam Physician. 61, 2371-2378. [2022,May7]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Breast_mass  [2022,May7]
  5. https://www.cancer.org/cancer/breast-cancer/non-cancerous-breast-conditions.html [2022,May7]
  6. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK560757/ [2022,May7]
  7. https://en.wikipedia.org/wiki/Breast_mass [2022,May7]