เนื้องอกไขมัน ก้อนเนื้อไขมัน (Lipoma)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เนื้องอกไขมัน หรือ ก้อนเนื้อไขมัน (Lipoma) เป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง (Benign tumor) ที่เกิดจากเซลล์ของเนื้อเยื่อไขมันเจริญผิดปกติ โดยเป็นเนื้องอกที่เกิดจากเซลล์ไขมันที่มีทุกอวัยวะของร่างกาย รวมถึงอวัยวะภายใน เช่น ผนังลำไส้ ปอด แต่โดยทั่วไป มักเกิดอยู่ในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันชั้นใต้ผิวหนัง ซึ่งทำให้สามารถคลำพบได้ มักพบเกิดที่ ลำตัวด้านหลังตอนบน, สะโพก, รักแร้, และที่ต้นขา, ส่วนอวัยวะต่างๆที่พบได้ เช่น เต้านม ถุงอัณฑะ ลำไส้ หัวใจ ปอด ผนังลำไส้ และในกล้ามเนื้อ

เนื้องอกไขมัน ทั่วไปมีขนาดโตไม่เกิน 3-5 ซม. แต่น้อยรายอาจพบโตได้เป็นหลายซม. หรือเป็น 10-20 ซม. เป็นก้อนเนื้อมีลักษณะ นุ่ม หยุ่น ผิวเรียบ จับโยกได้เล็กน้อย และจะไม่กลายเป็นมะเร็ง

เนื้องอกไขมัน เป็นเนื้องอกพบบ่อย ประมาณ 1-2%ของประชากรโลก พบทุกเชื้อชาติ ทุกอายุตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ แต่พบบ่อยในช่วงอายุ 40-60 ปี ผู้ชายพบสูงกว่าผู้หญิงเล็กน้อย

เนื้องอกไขมันมีกี่ชนิด?

เนื้องอกไขมัน

เนื้องอกไขมัน เมื่อแบ่งตามลักษณะของเนื้อเยื่อที่มองเห็นจากกล้องจุลทรรศน์โดยการตรวจทางพยาธิวิทยา พบเป็นได้หลายชนิด เช่น

  • Superficial subcutaneous lipoma: เป็นชนิดพบบ่อยที่สุด พบอยู่ใต้ผิวหนัง คลำพบได้ง่าย มักพบตาม ลำตัว ต้นขา แขน รักแร้
  • Spindle cell lipoma: เป็นเนื้องอกไขมันที่มีเซลล์ลักษณะเป็นรูปกระสวย มักพบในผู้ชาย อายุช่วง 45-65 ปี
  • Pleomorphic lipoma: มักพบเกิดในช่วงอายุวัยกลางคน ซึ่งเซลล์มีการเปลี่ยนแปลงได้หลายรูปแบบ คล้ายเซลล์ของมะเร็งเนื้อเยื่ออ่อนชนิดที่เกิดจากเซลล์ไขมัน (Liposarcoma)
  • Angiolipoma: เป็นเนื้องอกไขมันที่มีหลอดเลือดมาก และจะเจ็บเมื่อถูกกด บีบคลำ (เนื้องอกไขมันชนิดอื่นจะไม่เจ็บ)
  • Intramuscular lipoma: เป็นก้อนเนื้อที่เกิดในกล้ามเนื้อ จึงก่อให้เกิดอาการติดขัดและเจ็บเมื่อมีการใช้กล้ามเนื้อมัดนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาผ่าตัดออก
  • Hibernoma: มักพบในคนอายุน้อยกว่าในชนิดอื่นๆ คือในช่วงอายุประมาณ 20-40 ปี โดยเซลล์ไขมันจะเป็นชนิดมีธาตุเหล็กสูง ก้อนเนื้อจึงออกสีน้ำตาล โดยเกิดจาก เซลล์ไขมันที่มีหน้าที่ช่วยรักษาอุณหภูมิร่างกายให้อบอุ่น

ทั้งนี้ เนื้องอกไขมันทุกชนิด มี อาการ วิธีวินิจฉัย วิธีรักษา การพยากรณ์โรค ฯลฯ เช่นเดียวกัน แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์กำลังศึกษาว่า แท้ที่จริงแล้วแต่ละชนิดย่อยของเนื้องอกฯนี้จะมีความแตกต่างกันหรือไม่ และอย่างไร

*นอกจากนั้น พบว่าทุกชนิดของเนื้องอกไขมัน ไม่กลายเป็นมะเร็ง ถ้ามีมะเร็งเกิดขึ้น จะเกิดตั้งแต่แรกแล้ว ไม่ได้เกิดจากเซลล์เนื้องอกฯกลายพันธ์

เนื้องอกไขมันเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

ปัจจุบัน ยังไม่ทราบสาเหตุเกิดเนื้องอกไขมัน แต่พบปัจจัยเสี่ยง เช่น

  • พันธุกรรม: เพราะ
    • พบได้สูงขึ้นในคนที่ครอบครัวเป็นโรคนี้
    • โรคทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดได้บางโรค เช่น
      • โรคติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่กลุ่มที่เรียกว่า โรค Gardner syndrome
      • Madelung’s disease/ โรคที่เกิดเนื้องอกไขมันใต้ผิวหนังมากมายทั่วตัว
  • จากการสังเกต โดยยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดยืนยัน พบว่า
    • โรคมักเกิดในตำแหน่งที่เคยได้รับอุบัติเหตุ
    • ในผู้ชายที่ดื่มสุรา จะพบโรคได้สูงกว่าคนที่ไม่ดื่มสุรา
    • พบได้สูงขึ้นในคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกาย หรือในคนที่ใช้แรงน้อย ไม่ค่อยเคลื่อนไหว
    • พบได้สูงขึ้นในคนอ้วน

เนื้องอกไขมันมีอาการอย่างไร?

อาการพบบ่อยของเนื้องอกไขมัน คือ

  • คลำก้อนเนื้อได้ใต้ผิวหนัง โดยเป็นก้อนมีลักษณะ
    • ค่อนข้างกลม
    • ขนาดมักไม่เกิน 3-5 เซนติเมตร
    • ผิวและขอบก้อน เรียบ
    • ก้อนค่อนข้างนิ่ม เมื่อกดดู จะหยุ่น ๆ (ยุบแล้วกลับคืนตัวได้) หรือ แข็งประมาณคล้ายก้อนยางพารา
    • ก้อนเคลื่อนที่ได้เล็กน้อย และมักไม่เจ็บ ยกเว้นก้อนอยู่ในกล้ามเนื้อ หรือในส่วนลึกที่ติดกับเส้นประสาท
    • ไม่มีบาดแผลที่ก้อน
  • อาจพบ เพียงก้อนเดียว หรือหลายก้อนได้ แต่เมื่อพบก้อนไขมันนี้ได้ทั่วตัวที่มักพบร่วมกับโรคทางพันธุกรรมบางชนิด ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ สาเหตุฯ’ ซึ่งจะเรียกการเกิดในลักษณะนี้ว่า ‘Lipomatosis’
  • อย่างไรก็ตาม ก้อนไขมันบางชนิด อาจกดแล้วเจ็บได้ แต่เจ็บไม่มาก เช่น
    • ชนิด Angiolipoma
    • หรือ ถ้าเกิดก้อนไขมันที่อยู่ติดกับเส้นประสาท หรือในกล้ามเนื้อ
  • นอกจากนั้น เมื่อโรคเกิดในอวัยวะภายใน (โอกาสเกิดโรคน้อยมาก) ก็อาจก่อให้อวัยวะภายในเหล่านั้นทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติที่แตกต่างกันไปตามหน้าที่การทำงานของแต่ละอวัยวะ เช่น
    • ปวดท้องเรื้อรังจากลำไส้อุดตันเมื่อโรคเกิดในลำไส้
    • กล้ามเนื้อทำงานผิดปกติ ปวดกล้ามเนื้อเรื้อรัง เมื่อโรคเกิดในกล้ามเนื้อ
    • หัวใจเต้นผิดปกติ เมื่อโรคเกิดที่หัวใจ
    • เมื่อเกิดเป็นแผลที่ก้อนไขมัน ก็อาจทำให้อวัยวะนั้นๆเกิดเลือดออกได้

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อคลำได้ก้อนเนื้อผิดปกติ ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่า เป็นก้อนเนื้ออะไร

ส่วนหลังจากแพทย์วินิจฉัยว่า เป็นก้อนไขมัน ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อ

  • ก้อนเนื้อโตเร็ว
  • และ/หรือ ก่ออาการเจ็บ/ปวดเรื้อรัง
  • และ/หรือ ก้อนแข็งขึ้น
  • และ/หรือ ก้อนติดแน่นกับผิวหนัง และ/หรือกับเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง

แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกไขมันได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยได้ว่าเป็นก้อนเนื้อไขมัน จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการเจริญเติบโตของก้อน ประวัติอุบัติเหตุ
  • การตรวจร่างกาย ที่รวมถึงการตรวจคลำก้อนฯ
  • แต่ถ้าแพทย์ไม่แน่ใจว่าเป็นก้อนเนื้ออะไร อาจมีการตรวจสืบค้นเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • การตรวจภาพก้อนเนื้อด้วย อัลตราซาวด์, เอกซเรย์คอมพิวเตอร์, และ/หรือ เอมอาร์ไอ
    • นอกจาก นั้น บางครั้งอาจมีการตัดชิ้นเนื้อ หรือผ่าตัดก้อนเนื้อ เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

*อนึ่ง เนื้องอกไขมัน ทั่วไปแพทย์มักวินิจฉัยจากทางคลินิก คือ จากประวัติอาการ, และการตรวจดูลักษณะและการตรวจคลำก้อน, ไม่จำเป็นต้องมี การตรวจเลือด, เอกซเรย์, หรือ ตัดชิ้นเนื้อตรวจทางพยาธิวิทยา

เนื้องอกไขมันมีกี่ระยะ?

เนื่องจากเนื้องอกไขมัน ไม่ใช่เนื้องอกมะเร็ง แต่เป็นเนื้องอกทั่วไปที่ไม่มีการลุกลาม และแพร่กระจาย ดังนั้นจึงไม่มีการจัดแบ่งระยะโรค

รักษาเนื้องอกไขมันอย่างไร?

โดยทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีการรักษาเนื้องอกไขมัน เพราะเป็นเนื้องอกที่ไม่ก่ออาการ และก้อนมักไม่เจริญโต หรือโตได้ช้ามากๆ มักมีขนาดคงที่ตลอดไป หรือใช้เวลานานเป็นหลายเดือนหรือเป็นปีๆจึงค่อยๆโตขึ้น

อย่างไรก็ตาม ถ้ามีปัญหาเรื่องความสวยงาม หรือก้อนก่ออาการ (เช่น เจ็บเรื้อรัง หรือส่งผลติดขัดต่อการทำงานของกล้ามเนื้อ) การรักษาฯมีหลายวิธี ซึ่งจะเลือกวิธีใดขึ้นกับ ขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้อ รวมถึงดุลพินิจของแพทย์ และความประสงค์ของผู้ป่วย เช่น

  • การผ่าตัดเอาก้อนออก
  • การใช้เครื่องดูดไขมันออก (Liposuction)
  • หรือการฉีดยาบางชนิดเพื่อทำให้ก้อนเนื้อฝ่อ เช่น ยาสเตียรอยด์ โดยฉีดเข้าไปในก้อน

*อนึ่ง:

  • โดยทั่วไป หลังการรักษา โรคมักไม่กลับเป็นซ้ำอีก
  • ส่วนผลข้างเคียงจากการผ่าตัดรักษาที่อาจพบได้ คือ
    • การติดเชื้อบริเวณรอยโรค และ/หรือ ที่แผลจากการรักษา
    • และเกิดรอยแผลเป็น

โรคเนื้องอกไขมันก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ทั่วไป ไม่มีรายงานผลข้างเคียงจากตัวโรคเนื้องอกไขมัน ยกเว้นปัญหาด้าน ’ความสวยงาม’

อย่างไรก็ตาม อาจพบอาการผิดปกติได้ตามหน้าที่ของแต่ละอวัยวะที่มีก้อนเนื้อไขมัน แต่เป็นกรณีที่พบน้อยมากๆ เช่น

  • ก้อนเนื้ออาจก่อให้อวัยวะภายในเหล่านั้นทำงานผิดปกติ ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกตีที่แตกต่างกันไป ขึ้นกับหน้าที่การทำงานของแต่ละอวัยวะ เช่น ลำไส้อุดตัน กรณีโรคเกิดในลำไส้
  • อาการหัวใจเต้นผิดปกติ กรณีก้อนเนื้อเกิดในหัวใจ
  • เลือดออกในอวัยวะภายใน กรณีโรคเกิดที่อวัยวะภายในและเกิดแผลที่ก้อนไขมันร่วมด้วย

เนื้องอกไขมันรุนแรงไหม?

เนื้องอกไขมัน เป็นโรคไม่รุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ดีมาก ผู้ป่วยมีอายุไขได้เท่าคนปกติ ซึ่งทั่วไป ไม่จำเป็นต้องมีการรักษา ก้อนมักมีขนาดคงที่ และไม่เปลี่ยนเป็นมะเร็ง

อย่างไรก็ตาม มีเพียงรายงานประปรายว่า ก้อนไขมันบางชนิด เช่น ชนิด Pleomorphic lipoma อาจเปลี่ยนเป็นมะเร็งได้ แต่โอกาสเกิดก็น้อยมากๆๆๆ

มีวิธีตรวจคัดกรองโรคเนื้องอกไขมันไหม?

ปัจจุบัน ไม่มีวิธีตรวจคัดกรองให้พบก้อนเนื้องอกไขมันก่อนที่จะคลำพบก้อน และเนื่องจากเป็นโรคที่ไม่ก่ออันตราย จึงยังไม่มีการศึกษาเพื่อหาวิธีตรวจคัดกรองโรคนี้

ป้องกันโรคเนื้องอกไขมันอย่างไร?

เนื่องจากเป็นโรค ยังไม่ทราบสาเหตุ และปัจจัยเสี่ยงก็เป็นเรื่องทางพันธุกรรมเป็นส่วนใหญ่ ส่วนปัจจัยเสี่ยงฯอื่นๆก็ยังไม่ชัดเจน ดังนั้น ปัจจุบัน จึงยังไม่สามารถป้องกันโรคนี้ได้

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเอง เมื่อคลำได้ก้อนเนื้อ คือ การพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นก้อนเนื้ออะไรโดยเฉพาะ ก้อนเนื้อโตเร็ว และ/หรือมีเลือดออกจาก้อนเนื้อ

ส่วนเมื่อทราบแล้วว่าเป็นก้อนเนื้อไขมัน ไม่จำเป็นต้องมีการดูแลเฉพาะแต่อย่างไร เพียงแต่คอยสังเกตการเจริญเติบโตและลักษณะของก้อน โดยควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่อ

  • ก้อนโตขึ้น และ/หรือ
  • ก้อนฯมีลักษณะผิดไปจากเดิม เช่น
    • แข็งขึ้น
    • ยึดติดกับผิวหนัง และ/หรือ กับเนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง
    • ก่ออาการเจ็บปวด
    • และ/หรือ มีเลือดออกหรือเกิดเป็นแผลบนก้อนเนื้อ

บรรณานุกรม

  1. https://www.orthobullets.com/pathology/8067/lipomas [2019,May18]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Lipoma [2019,May18]
  3. https://orthoinfo.aaos.org/en/diseases--conditions/lipoma [2019,May18]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/191233-overview#showall [2019,May18]