การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- โดย นายแพทย์ ธีรยุทธ เต็มธนะกิจไพศาล
- 15 เมษายน 2566
- Tweet
สารบัญ
- การตั้งครรภ์คืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?
- อะไรคือครรภ์เสี่ยงสูง?
- การตั้งครรภ์มีกี่ระยะ? แต่ละระยะมีอาการอย่างไร?
- เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์?
- แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์?
- เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- จะดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อตั้งครรภ์?
- ข้อห้ามขณะตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
- ผลข้างเคียงจากการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
- รู้ได้อย่างไรว่าครรภ์อาจผิดปกติ?
- รู้ได้อย่างไรว่าใกล้คลอด?
- เมื่อใกล้คลอดควรทำอย่างไร?
- การปฏิบัติตัวหลังคลอดมีอะไรบ้าง?
- ควรตั้งครรภ์อีกครั้งเมื่อไหร่?
- ถ้าไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ควรทำอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- การเคลื่อนไหว หรือการดิ้นของทารกในครรภ์ (Fetal movement in pregnancy)
- คลอดก่อนกำหนด (Preterm labor)
- รกค้าง (Retained placenta)
- มาม่าบลู (Mama blues) หรือ เบบี้บลู (Baby blues)
- ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids or piles)
- หลอดเลือดขอด หลอดเลือดขาขอด หลอดเลือดดำขอด (Varicose vein)
- การแท้งบุตร (Miscarriage)
- การวางแผนครอบครัว (Family planning)
การตั้งครรภ์คืออะไร? เกิดขึ้นได้อย่างไร?
การตั้งครรภ์ (Pregnancy) คือ ภาวะที่เกิดจากการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิแล้วได้ตัวอ่อนเกิดขึ้น ในการตั้งครรภ์ที่ปกติ ตัวอ่อนจะไปฝังที่เยื่อบุโพรงมดลูก จากนั้นตัวอ่อนซึ่งมีเซลล์เดียวก็ จะแบ่งตัวและพัฒนาเป็นอวัยวะต่างๆและเจริญเป็นทารกต่อไป ซึ่งโดยทั่วไปในผู้หญิงปกติที่มีประ จำเดือนทุกๆประมาณ 4 สัปดาห์จะมีอายุครรภ์ประมาณ 40 สัปดาห์หรือ 280 วันนับจากวันแรกของ การมีประจำเดือนครั้งล่าสุด
อะไรคือครรภ์เสี่ยงสูง?
ครรภ์เสี่ยงสูง คือ ภาวะตั้งครรภ์ที่อาจเกิดอันตรายต่อมารดาและ/หรือต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น การที่มารดามีโรคประจำตัวบางอย่างเช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง และโรคมะเร็ง, ซึ่งการตั้งครรภ์ในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงสูงอาจส่งผลให้โรคของมารดาที่ตั้งครรภ์แย่ลง, และ/หรือ อาจส่งผลอันตรายต่อทารกในครรภ์ด้วย
สาเหตุที่ทำให้การตั้งครรภ์มีความเสี่ยงสูงที่พบบ่อย เช่น
- มารดามีอายุน้อย (น้อยกว่า 15 ปี) หรืออายุมาก (มากกว่า 35 ปี)
- มารดาอ้วน น้ำหนักตัวเกิน หรือผอมมาก หรือมีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่นดังกล่าวแล้ว
- มารดามีประวัติการตั้งครรภ์ผิดปกติมาก่อน เช่น การแท้งบุตร หรือ การคลอดก่อนกำหนด
การตั้งครรภ์มีกี่ระยะ? แต่ละระยะมีอาการอย่างไร?
ในทางการแพทย์นั้น การตั้งครรภ์แบ่งออกเป็น 3 ระยะ นั่นคือ ระยะที่มีการตั้งครรภ์, ระยะที่มีการเจ็บครรภ์คลอด, และระยะหลังคลอด
ก. ระยะที่มีการตั้งครรภ์:
ในช่วง 3 เดือนแรกของการตั้งครรภ์อาจจะมีอาการคลื่นไส้ วิงเวียนศีรษะ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีอาการตอนเช้า รับประทานอาหารไม่ค่อยได้ อาการจะดีขึ้นเมื่อผ่านช่วง 3เดือนแรกไปแล้ว นอกจากนั้นอาจจะมีอาการอ่อนเพลีย ได้บ้างในบางคน
เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นประมาณ 20 สัปดาห์ จะรู้สึกได้ถึงการดิ้นของทารกในครรภ์ หญิงตั้งครรภ์ควรที่จะต้องสังเกตการดิ้นของทารกในครรภ์ทุกวันเพื่อดูว่าทารกในครรภ์ยังมีชีวิตดีอยู่หรือไม่ (ซึ่งถ้าสงสัยเด็กดิ้นผิดปกติ เช่น ดิ้นลดลงหรือไม่ดิ้น ต้องรีบพบสูตินรีแพทย์) นอกจากนั้น อาจพบว่ามีการบวมที่ขาทั้งสองข้างได้เล็กน้อย
ข. ระยะที่มีการเจ็บครรภ์คลอด: จะมีอาการต่างๆ เช่น
- อาการเจ็บครรภ์คลอด จะมีลักษณะปวดทั่วท้องทั้งหมด ท้อง/มดลูกแข็งเกร็งเกิดจากการหดรัดตัวของมดลูก โดยอาการปวดจะบีบและคลายเป็นพักๆสม่ำเสมออย่างน้อย 10 นาทีต่อครั้ง, ในบางรายอาจมีอาการปวดร้าวไปที่เอวร่วมด้วย
- มีมูกปนเลือดออกทางช่องคลอดซึ่งแสดงว่ามีการเริ่มเปิดของปากมดลูกพร้อมที่จะคลอดแล้ว
- การมีน้ำเดิน คือ การมีน้ำใสใสไหลออกทางช่องคลอด กลั้นไม่ได้เหมือนปัสสาวะ ทั้งนี้เกิดจากถุงน้ำคร่ำแตก
ค. ระยะหลังคลอด:
ในระยะหลังคลอดจะยังคงมีเลือดไหลออกทางช่องคลอดในปริมาณไม่มากซึ่งเรียกว่า‘น้ำคาวปลา’ ในช่วงแรกจะมีสีแดงสด จากนั้นจะค่อยๆจางลงเป็นสีน้ำตาล และเปลี่ยนเป็นสีใสๆ, โดยน้ำคาวปลาควรจะหมดภายใน 2 - 4 สัปดาห์, ซึ่งถ้าน้ำคาวปลาผิดปกติ เช่น เป็นเลือดสดตลอดเวลา หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ หรือเมื่อผ่านระยะเวลานี้ไปแล้วยังคงมีน้ำคาวปลาอยู่, ควรรีบพบสูตินรีเวชเพราะอาจมีการติดเชื้อในมดลูกหรืออาจมีรกค้างอยู่ได้
การมีอาการปวดบริเวณท้องน้อยบีบเป็นพักๆ โดยอาการจะเกิดขึ้นเมื่อมารดาให้นมบุตร อาการที่เกิดขึ้นเป็นภาวะปกติแสดงว่ามดลูกกำลังหดตัวเข้าสู่อุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย
การขับปัสสาวะหลังคลอดในช่วง 2 - 3 วันแรก ปริมาณปัสสาวะที่ออกจะออกมากกว่าปกติ เนื่องจากร่างกายขับน้ำส่วนเกินที่เกิดจากการตั้งครรภ์ออกจากร่างกาย
ภายหลังคลอดอาจเกิดอาการผิดปกติทางด้านจิตใจได้ เช่น อาการซึมเศร้า วิตกกังวล (มาม่าบลู) ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากปัญหาความสับสนในบทบาทของมารดาและภรรยา โดยอาการจะค่อยๆกลับเป็นปกติภายใน 2 - 3 สัปดาห์, แต่ถ้าอาการเหล่านี้เรื้อรังควรรีบพบสูตินรีแพทย์
เราจะรู้ได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์?
อาการที่แสดงว่าอาจมีการตั้งครรภ์ที่พบบ่อย เช่น
- ประจำเดือนขาด
- คลื่นไส้อาเจียน มักมีอาการช่วงเช้าหรือมีอาการมากในช่วงเช้า
- อยากอาหารแปลกๆ
- อ่อนเพลีย
- อารมณ์แปรปรวน
- อาจปวดหัวบ่อยขึ้นแต่ไม่รุนแรง
- มีการเปลี่ยนแปลงของเต้านม เต้านมและหัวนมขยายใหญ่ขึ้น อาจรู้สึกเจ็บเต้านมและหัวนม
- ปัสสาวะบ่อยๆเพราะขนาดมดลูกโตขึ้น จึงกดเบียดทับกระเพาะปัสสาวะ จึงกระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น
ในกรณีที่มีอาการดังกล่าวและสงสัยว่าจะตั้งครรภ์ อาจตรวจยืนยันการตั้งครรภ์เองโดยการไปซื้อแถบตรวจปัสสาวะดูการตั้งครรภ์จากร้านขายยาขนาดใหญ่มาตรวจ ซึ่งหลังจากจุ่มแถบตรวจกับปัสสาวะ ‘ถ้าพบว่าแถบขึ้น 2 ขีดแสดงว่ามีการตั้งครรภ์’ ในกรณีที่ไม่แน่ใจควรรีบไปพบสูตินรีแพทย์
แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าตั้งครรภ์?
แพทย์จะทำการวินิจฉัยว่าตั้งครรภ์ ทั่วไปโดย
- ดูจากประวัติอาการ, ประวัติเพศสัมพันธ์, ประวัติขาดประจำเดือน
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจภายใน
- และมีการยืนยันผลการตรวจโดยการนำปัสสาวะไปตรวจดูการตั้งครรภ์
เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์ ควรรีบไปพบแพทย์/สูติแพทย์ทันทีที่เป็นไปได้เพื่อจะได้ทำการฝากครรภ์, ประเมินอายุครรภ์ที่แน่นอน, ประเมินว่ามีภาวะเสี่ยงในการตั้งครรภ์หรือไม่, นอกจากนั้นยังมีการตรวจเลือดเพื่อดูว่ามีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หรือไม่, รวมถึงการตรวจคัดกรองโรค ธาลัสซีเมียด้วยเพื่อการดูแลทารกตั้งแต่ในครรภ์
จะดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อตั้งครรภ์
การดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ที่สำคัญ เช่น
- การรับประทานอาหาร: หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับประทานอาหารเพิ่มขึ้นมากกว่าปกติประมาณ 300 กิโลแคลอรีต่อวัน, ไม่มีอาหารที่ต้องงด, ควรได้รับธาตุเหล็กเสริมระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อมาฝากครรภ์ หญิงตั้งครรภ์จะได้รับธาตุเหล็กในรูปยาเม็ดและควรรับประทานวันละเม็ดตลอดการตั้งครรภ์
- การออกกำลังกาย: หญิงตั้งครรภ์สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ ถ้าไม่มีอาการเหนื่อยเกินไป หรือ เป็นการออกกำลังกายชนิดที่เกิดอันตราย
- การทำงาน: ควรหลีกเลี่ยงงานที่ต้องออกกำลังมาก, ไม่ควรทำงานต่อเนื่องจนเกิดอาการเหนื่อยมาก, ควรมีเวลาพักระหว่างวัน, หญิงตั้งครรภ์ที่เคยคลอดบุตรน้ำหนักน้อยมาก่อน ควรจำกัดการทำงานไม่ให้มากเกินไป
- การเดินทาง: หญิงตั้งครรภ์สามารถเดินทางได้ แต่มีข้อควรปฏิบัติ คือ ควรมีโอกาสลุกเดินบ้างทุก 2 - 3 ชั่วโมง, กรณีที่นั่งรถยนต์ควรใช้เข็มขัดนิรภัยอย่างเคร่งครัด
- การเลือกใช้เสื้อผ้า: ควรสวมใส่เสื้อผ้าที่สวมใส่สบายไม่รัดแน่น
- การขับถ่ายอุจจาระ: หญิงตั้งครรภ์มักมีอาการท้องผูก และมีโอกาสเป็นริดสีดวงทวาร ได้มากขึ้น จึงควรพยายามป้องกันไม่ให้ท้องผูกโดยดื่มน้ำให้มากพอ, รับประทานอาหารที่มีใยอาหารมากขึ้น (ผักและผลไม้), และออกกำลังกายพอสมควร
- การดูแลสุขภาพฟัน: หญิงตั้งครรภ์ควรได้รับการตรวจสุขภาพฟันจากทันตแพทย์ และถ้ามีปัญหา ก็ทำการรักษาได้ตามที่ทันตแพทย์เห็นสมควร
- การมีเพศสัมพันธ์: สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ, ยกเว้นในช่วงเดือนสุดท้ายของการตั้งครรภ์
- การสูบบุหรี่: หญิงตั้งครรภ์และสามีควรงดสูบบุหรี่ เนื่องจากมีผลต่อน้ำหนักตัวของทารกในครรภ์
- การดื่มแอลกอฮอล์: ไม่ควรดื่มสุรา/แอลกอฮอล์ในช่วงตั้งครรภ์ เนื่องจากสุราจะทำให้เกิดภาวะทารกเจริญเติบโตช้าในครรภ์, ปัญญาอ่อน, หรืออาจจะมีความพิการแต่กำเนิดได้
ข้อห้ามขณะตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
ข้อห้ามสำคัญขณะตั้งครรภ์ คือ
- การใช้ยาเพื่อรักษาอาการเจ็บป่วยขณะตั้งครรภ์, *หญิงตั้งครรภ์ไม่ควรซื้อยามารับประทานเองเนื่องจากยาบางอย่างอาจส่งผลให้ทารกพิการได้
- นอกจากนั้น ในกรณีที่หญิงตั้งครรภ์มีโรคประจำตัวรวมทั้งโรคธาลัสซีเมีย ควรรีบไปฝากครรภ์ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการตั้งครรภ์ว่า การตั้งครรภ์จะส่งผลต่อทั้งมารดาและทารกในครรภ์หรือไม่
ผลข้างเคียงจากการตั้งครรภ์มีอะไรบ้าง?
อาการ/ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการตั้งครรภ์ เช่น
- อ่อนเพลีย
- ปวดหลัง
- ปวดหัว
- หลอดเลือดดำขาขอด/หลอดเลือดขอด
- ท้องผูก
- ริดสีดวงทวาร
- อาการแสบกระเพาะ
- มีตกขาว
- อาการตะคริว
รู้ได้อย่างไรว่าครรภ์อาจผิดปกติ?
อาการที่ต้องรีบมารับการรักษาที่โรงพยาบาล ทั่วไป เช่น
- เลือดออกทางช่องคลอด
- บวมที่หน้า นิ้ว ขา หรือเท้า
- ปวดหัวอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง และ ตามองเห็นไม่ชัด (อาการของภาวะครรภ์เป็นพิษ)
- ปวดท้อง, ปวดท้องน้อย โดยเฉพาะเมื่อปวดต่อเนื่อง หรือ ปวดมาก หรือร่วมกับมีอาการผิปกติอื่นๆ เช่น มีไข้ เลือดออกทางช่องคลอด
- อาเจียนอย่างต่อเนื่อง มีไข้สูง หนาวสั่น ปัสสาวะขัด มีน้ำไหลออกทางช่องคลอด
- ทารกในครรภ์ดิ้นน้อยลงมาก
รู้ได้อย่างไรว่าใกล้คลอด?
อาการที่บ่งบอกว่าใกล้คลอด ที่สำคัญคือ
- เจ็บครรภ์สม่ำเสมอ ประมาณทุก 10 นาที/ครั้ง
- มีมูกเลือดออกทางช่องคลอด และ/หรือ
- มีน้ำใสใสไหลออกทางช่องคลอดคล้ายปัสสาวะแต่กลั้นไม่ได้
เมื่อใกล้คลอดควรทำอย่างไร?
เมื่อมีอาการต่างๆที่บ่งชี้ว่าใกล้คลอด เช่น เจ็บครรภ์ถี่ทุก 10 นาที, มีมูกปนเลือดออกทางช่องคลอด, หรือมีน้ำใสใสไหลออกทางช่องคลอดโดยกลั้นไม่ได้, *ควรรีบมาโรงพยาบาล
การปฏิบัติตัวหลังคลอดมีอะไรบ้าง?
การปฏิบัติตัวหลังคลอดที่สำคัญ เช่น
- การให้นมบุตร: หญิงหลังคลอดควรให้นมบุตรทุก 2 ชั่วโมง, และควรให้นานไปถึง 6 เดือน, ก่อนและหลังให้นมบุตร ควรใช้สำลีชุบน้ำอุ่นทำความสะอาดหัวนมทั้งสองข้าง
- การมีเพศสัมพันธ์: ในช่วง 6 สัปดาห์หลังคลอด ควรงดการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการคุมกำเนิดก่อน (ควรปรึกษาสุตินรีแพทย์ผู้ทำคลอดในเรื่องการคุมกำเนิดและการวางแผนครอบครัว) เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อม
ควรตั้งครรภ์อีกครั้งเมื่อไหร่?
การตั้งครรภ์ในครรภ์ถัดไปนั้น ควรเว้นระยะห่างในการตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 ปีเพื่อให้หญิงหลังคลอดได้มีโอกาสพักในระหว่างไม่ตั้งครรภ์บ้าง
ถ้าไม่พร้อมที่จะตั้งครรภ์ควรทำอย่างไร?
ควรมีการวางแผนเพื่อคุมกำเนิด (การวางแผนครอบครัว) ในกรณีที่ยังไม่พร้อมในการจะมีบุตรคนถัดไป ซึ่งการคุมกำเนิดในปัจจุบันมีมากมายหลายวิธี เช่น กินยาเม็ดคุมกำเนิด, ยาฉีดคุมกำเนิด, การใส่ห่วงคุมกำเนิด, ยาฝังคุมกำเนิด, ใช้ถุงยางอนามัยชาย, ดังนั้นจึงควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ผู้ดูแลในเรื่องเหล่านี้ตั้งแต่เมื่อเริ่มฝากครรภ์
บรรณานุกรม
- กนก สีจร, ถวัลย์วงค์ รัตนสิริ, วิทูรย์ ประเสริฐเจริญสุข, โกวิท คำพิทักษ์. Antenatal care. สูติศาสตร์, second edition, p51-60.
- https://en.wikipedia.org/wiki/Advanced_maternal_age [2023,April15]
- https://www.betterhealth.vic.gov.au/healthyliving/pregnancy [2023,April15]
- https://www.betterhealth.vic.gov.au/health/healthyliving/baby-due-date [2023,April15]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Teenage_pregnancy [2023,April15]