กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน (PMDD / Premenstrual dysphoric disorder)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนคืออะไร?

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน เป็นกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนหรือกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนที่รุนแรง (Premenstrual dysphoric disorder หรือเรียกย่อว่า PMDD) คือ การมีอาการผิดปกติทางร่างกายจิตใจและ/หรืออารมณ์อย่างรุนแรงโดยสัมพันธ์กับก่อนการมีประจำเดือน เช่น ความเครียดจัด หงุดหงิดมาก โมโหร้าย หรือ ซึมเศร้าอย่างมาก

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีอาการอะไรบ้าง?

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีหลากหลายอาการ ได้แก่

  1. ซึมเศร้าอย่างมาก
  2. อยากฆ่าตัวตาย
  3. ร้องไห้บ่อยๆ
  4. โมโหร้าย
  5. นอนไม่หลับ
  6. ไม่มีเรี่ยวแรง
  7. อยากรับประทานอาหารที่แปลกๆ
  8. ไม่มีสมาธิในการทำงาน
  9. บวมตามตัว บวม/ปวดเต้านมมาก
  10. ปวดหัวอย่างมาก
  11. เจ็บเต้านมอย่างมาก

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีความสำคัญหรือมีผลกระทบต่อสตรีอย่างไร?

มีสตรีวัยเจริญพันธุ์ (วัยมีประจำเดือน) 2 - 10% ประสบกับปัญหานี้เนื่องจากมีอาการผิด ปกติค่อนข้างรุนแรง เช่น อยากฆ่าตัวตาย จึงเป็นอันตรายต่อชีวิตได้หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที หรือมีอาการทางร่างกายมากเช่น ปวดหัวมาก ปวดเต้านมมาก ทำให้ขาดงานจึงมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพของงานที่ทำได้

สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

สาเหตุจริงๆที่ทำให้เกิดอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนนี้ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สันนิษฐานว่าเกิดได้จาก

  1. การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนเพศหญิงในช่วงครึ่งหลังของวงรอบการมีประจำเดือนโดย เฉพาะในรอบเดือนที่มีการตกไข่ (ในสตรีวัยเจริญพันธุ์จะมีประจำเดือนทุก 28 - 30 วัน การ ตกไข่จะเกิดขึ้น 2 สัปดาห์ก่อนมีประจำเดือนครั้งถัดไป และบ่อยครั้งก็มีประจำเดือนได้โดยไม่มีการตกไข่)
  2. ความเครียด
  3. มีเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนต่อชีวิต
  4. อาจเกิดจากการลดลงของสาร เซโรโทนิน(Serotonin) ในร่างกายซึ่งเป็นสาระสำคัญของการรับส่งกระแสประสาท (Neurotransmitter) และสัมพันธ์กับภาวะทางอารมณ์/จิตใจเช่น ความหงุดหงิดและความโกรธ

ปัจจัยสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

ปัจจัยสี่ยงต่อการเกิดกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน คือ

  1. ประวัติในครอบครัวที่มีสมาชิกเป็นภาวะนี้
  2. ภาวะเครียด
  3. การมีภาวะซึมเศร้าอยู่ก่อนหน้านี้ก็จะกระตุ้นให้เกิดภาวะ/กลุ่มอาการนี้รุนแรงขึ้น

 

วิธีวินิจฉัยกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีอะไรบ้าง?

 แพทย์วินิจฉัยกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนโดยการซักประวัติดูว่าอาการดังที่กล่าว มาข้างต้นมักเกิดขึ้นซ้ำๆช่วง 10 - 14 วันก่อนมีประจำเดือน และอาการเหล่านี้จะดีขึ้นเมื่อประจำ เดือนหยุด จะมีอาการเกิดคล้ายเดิมอย่างน้อย 3 รอบประจำเดือนและมีอาการดังที่กล่าวมาข้าง ต้นอย่างน้อย 5 อาการร่วมกัน ส่วนการตรวจเลือดมักไม่พบสิ่งผิดปกติ

การรักษากลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีอะไรบ้าง? ดูแลตนเองอย่างไร?

หากมีอาการดังกล่าวแล้วควรรีบปรึกษาแพทย์ ซึ่งโดยทั่วไปแนวทางการรักษาคือ การใช้ยา และการดูแลตนเองโดยไม่ใช้ยา

ก. การใช้ยา: ได้แก่

  1. ยากลุ่ม Selective serotonin-reuptake inhibitors หรือเรียกย่อว่า SSRIs เป็นยาที่เพิ่มระดับสารเซโรโทนิน ในสมอง ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่รักษาอาการซึมเศร้าเช่น ยา Fluoxetine, Sertraline, Paroxetine สามารถลดอาการซึมเศร้าและอาการปวดหัวได้
  2. ยา GnRH Analogs (โกนาโดโทรปิน-รีลีสซิ่ง-ฮอร์โมน: ยาลดการสร้างฮอร์โมนเอสโตรเจน) ซึ่งจะทำให้ไม่มีการตกไข่และอาการคัดตึงเต้านม อ่อนเพลีย และโกรธง่ายหายไป แต่ต้องระ วังว่าหากใช้นานเกินกว่า 6 เดือนอาจจะทำให้เกิดโรค                        กระดูกพรุนได้
  3. ยา Danazol เป็นฮอร์โมนสังเคราะห์เหมือนฮอร์โมนเพศชายซึ่งจะป้องกันการตกไข่
  4. ยาเม็ดคุมกำเนิดและยาฉีดคุมกำเนิด (วิธีคุมกำเนิด) ซึ่งจะป้องกันการตกไข่ก็สามารถลดอาการของกลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนนี้ได้เช่นกัน
  5. ยาแก้ปวดกลุ่มที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-steroidal anti inflammatory drug หรือเรียกย่อว่าเอ็นเสด (NSAID) เช่น พอนสแตน (Ponstan®)

 ***** ทั้งนี้การใช้ยาต่างๆควรต้องเป็นการแนะนำจากแพทย์เสมอ เพราะในผู้มีอาการแต่ละคนจะใช้ชนิดยา ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่แตกต่างกัน ซึ่งถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ประ สิทธิภาพในการรักษาจะลดลงและอาจเกิดผลข้างเคียงจากยาได้ เช่น คลื่นไส้อาเจียน                              เบื่ออา หาร ปากแห้ง อาจมีอาการคล้ายโรคหวัด หรือ มือสั่นได้เมื่อใช้ยาในกลุ่ม SSRIs เป็นต้น

ข. สิ่งที่ควรทำควบคู่ไปกับการรับประทานยา คือ การดูแลตนเอง: ได้แก่

  1. การออกกำลังกายให้สม่ำเสมอให้พอควรกับสุขภาพ
  2. พักผ่อนให้มากๆ
  3. รับประทานอาหารที่เป็นผักผลไม้มากๆเพื่อให้ได้วิตามินที่เพียงพอ
  4. ลดอาหารหวานจัดเค็มจัด
  5. ลดเครื่องดื่มคาเฟอีน เช่น ชา กาแฟ

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนรุนแรงไหม? รักษาหายไหม?

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนพบได้น้อยกว่ากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนที่ไม่รุน แรงมาก แต่มีอาการมากกว่า บางครั้งอาจมีอันตรายถึงชีวิตเพราะบางคนจะมีอาการซึมเศร้าหมด หวังในชีวิตมากอาจคิดฆ่าตัวตาย การได้รับการรักษาทันท่วงทีจะช่วยบรรเทาอาการลงได้มาก

และเนื่องจากภาวะนี้สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศหญิงช่วงมีประจำเดือน ดังนั้นหากหมดประจำเดือนอาการเหล่านี้ก็จะหมดไป แต่ในช่วงที่ยังมีประจำเดือนอาการเหล่านี้ก็ยังคงมีอยู่ ได้แต่การรักษาจะทำให้อาการต่างๆดีขึ้น

กลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนมีผลข้างเคียงอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

 ในสตรีที่มีอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือน บางคนจะโมโหร้ายมากทำร้ายผู้อื่น บางคนจะ ซึมเศร้ามาก บางคนจะร้องไห้บ่อยๆ บางคนไม่มีแรงไปทำงาน บางคนอยากฆ่าตัวตาย หากมีอา การเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์เพราะอาจมีโรคอื่นที่มีอาการคล้ายกันได้ หากไม่ได้รับการรักษาที่เหมาะสมจะมีผลกระทบต่อสตรีผู้มีอาการและคนรอบข้างได้ นอกจากนั้นอาจทำให้สตรีผู้นั้นเกิดโรคซึมเศร้าตามมาได้

ป้องกันกลุ่มอาการรุนแรงก่อนมีประจำเดือนได้อย่างไร?

นอกจากจะต้องรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัดแล้ว การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอให้พอเหมาะกับสุขภาพจะช่วยลดหรือป้องกันภาวะ/กลุ่มอาการนี้ได้ เพราะเวลาออกกำลังกายจะมีฮอร์โมนเอ็นดอร์ฟิน (Endorphin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนแห่งความสุขหลั่งออกมาจากสมองทำให้เรามีความสุขไม่เครียด

นอกจากนั้น ควรดูแลตัวเองเกี่ยวกับอาหาร: เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เราผ่านพ้นวิกฤตช่วงก่อนมีประจำเดือนไปได้ เช่น

  • ควรรับประทานคาร์โบไฮเดรตชนิดดี เช่น ข้าวที่ไม่ขัดสีจนวิตามินหายหมด (Whole grain)
  • รับประทานผักผลไม้มากๆเพื่อให้ได้วิตามินครบถ้วน
  • ลดอาหารหวานจัด
  • ลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  • ลดเครื่องดื่มมีคาเฟอีน

บรรณานุกรม

  1. American College of Obstetricians and Gynecologists. Premenstrual Syndrome. ACOG Practice Bulletin No. 15. Washington, DC: American College of Obstetricians and Gynecologists, 2000.
  2. Dickerson LM, Mazyck PJ, Hunter MH. Premenstrual syndrome. Am Fam Physician. 2003;67(8):1743–52.
  3. Malone DC. Managing the spectrum of premenstrual symptoms. Am J Manag Care. 2005:11(16):S471–2.
  4. Vigod SN et al. Understanding and treating premenstrual dysphoric disorder: an update for the women’s health practitioner. Obstet Gynecol Clin North Am. 2009 Dec;36 (4):907–24.
  5. https://womensmentalhealth.org/specialty-clinics/pms-and-pmdd/ [2022,March26]