กลั้นอุจจาระไม่อยู่ หรือ อุจจาระเล็ด (Fecal incontinence)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ:คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

กลั้นอุจจาระไม่อยู่ /อุจจาระเล็ด (Fecal incontinence) คือ อาการที่อุจจาระไหลหรือเล็ดออกมาเองโดยตัวเราควบคุมไม่ได้ ซึ่งเกิดได้ทั้งเมื่อ ปวด หรือ ไม่ปวดอุจจาระ หรือเล็ดออกมากับการผายลม และเป็นได้ทั้ง ‘อุจจาระแข็ง’ หรือ ‘อุจจาระเหลว’ หรือ ‘เป็นมูก’ และรวมไปถึง ‘กลั้นผายลมไม่ได้’ด้วย

กลั้นอุจจาระไม่อยู่/ อุจจาระเล็ด/กลั้นอุจจาระไม่ได้ หรือ บางคนเรียกว่า “เข้าส้วมไม่ทัน” เป็นภาวะ/อาการ(โรค-อาการ-ภาวะ)พบบ่อย แต่อัตราเกิดที่แท้จริงไม่ทราบแน่นอน เพราะหลายคนที่มีอาการไม่เคยมาพบแพทย์ อย่างไรก็ตาม ได้มีการศึกษาประมาณการว่า

  • พบเกิดประมาณ 2-3% ของประชากรทั่วไป
  • พบประมาณ 45-50% ในผู้มีปัญหาทางสุขภาพกายและทางสมอง
  • พบทุกวัย แต่พบสูงขึ้นในผู้สูงอายุ โดยมีการศึกษาพบอาการนี้ประมาณ 30% ในคนที่อายุมากกว่า 65 ปี
  • พบในเพศหญิงสูงกว่าในเพศชาย คือประมาณ 63%ในประชากรที่อายุมากกว่า 30 ปี

อนึ่ง:

  • ชื่ออื่นของ กลั้นอุจจาระไม่อยู่(Fecal incontinence ย่อว่า FI) คือ
    • กลั้นอุจจาระไม่ได้, อุจจาระเล็ด
    • Anal incontinence, Bowel incontinence
  • กลั้นอุจจาระไม่อยู่ ไม่ใช่โรค แต่เป็น ภาวะ หรือ อาการ แต่ทั่วไปมักเรียกกันว่า เป็น ‘โรค’
  • อุจจาระเล็ด: ความหมายของคำว่า’เล็ด’ จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 คือ ‘ลอดออกแต่น้อย เช่น น้ำตาเล็ด’

อาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่เป็นอย่างไร?

กลั้นอุจจาระไม่อยู่

การกลั้นอุจจาระไม่อยู่/อุจจาระเล็ด/กลั้นอุจจาระไม่ได้ ที่จัดว่า ‘ผิดปกติ’ คือ ต้องเป็นอาการที่เกิดต่อเนื่องและไม่ใช่เกิดเฉพาะกรณี ’ท้องเสีย’

ซึ่งอาการโดยรวมจากกลั้นอุจจาระไม่อยู่/อุจจาระเล็ด/กลั้นอุจจาระไม่ได้ ได้แก่

  • เมื่อปวดอุจจาระ ต้องรีบเข้าห้องน้ำทันที มิเช่นนั้นจะมีอุจจาระเล็ดโดยควบคุมไม่ได้
  • มีอุจจาระเล็ดโดยไม่รู้ตัว/ไม่มีอาการปวดอุจจาระ ทราบเพราะมีอุจจาระติดกางเกงใน หรือได้กลิ่น
  • กลั้นผายลมไม่ได้ ผายลมโดยไม่รู้ตัว
  • เมื่อผายลม มักมีอุจจาระเล็ดออกมาด้วย
  • เมื่อออกแรง เช่น ยกของหนัก เบ่ง ไอ จาม มักมีอุจจาระเล็ด และ/หรือผายลมด้วย
  • มีอาการดังกล่าวในทุกข้อ ต่อเนื่อง เกือบทุกวัน หรือทุกวัน จนมีผลกระทบต่อ การใช้ชีวิตประจำวัน หรือการเข้าสังคม
  • อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วมด้วย เช่น
    • ท้องผูกเรื้อรัง และ/หรือ ท้องเสียเรื้อรัง
    • ท้องอืด แน่นท้อง/อึดอัดท้อง เป็นประจำ

กลั้นอุจจาระไม่อยู่เกิดได้อย่างไร?

กลไกการกลั้นอุจจาระไม่อยู่/อุจจาระเล็ด/กลั้นอุจจาระไม่ได้ ขึ้นกับ

  • การเสื่อมประสิทธิภาพการทำงานของ
    • กล้ามเนื้อหูรูดปากทวารหนัก
    • เส้นประสาทที่ควบคุมหูรูดปากทวารหนักและที่ควบคุมไส้ตรงและทวารหนัก
    • สมองส่วนควบคุมการทำงานของการขับถ่าย
    • ไขสันหลังส่วนควบคุมการขับถ่าย
    • ความยืดหยุ่นของเนื้อเยื่อต่างๆโดยเฉพาะกล้ามเนื้อในท้องน้อย/ อุ้งเชิงกราน , ไส้ตรง, และในทวารหนัก, ที่ทำหน้าที่รับการขยายตัวเก็บกักอุจจาระที่มาถึงไส้ตรงและทวารหนัก
  • ความเข็มข้นหรือลักษณะของอุจจาระ: เช่น เป็นก้อนแข็ง ก้อนเหลว หรือ เป็นน้ำ
  • ปริมาตร/ปริมาณของอุจจาระที่มาก
  • การกระตุ้นการทำงานของความรู้สึกอยากถ่ายอุจจาระเมื่อกินอาหาร ที่เรียกว่า Gastrocolic reflex
  • การบีบตัวเคลื่อนไหวของลำไส้ส่วนต่างๆ

ดังนั้น เมื่อกลไกเหล่านี้ผิดปกติ, เสื่อมประสิทธิภาพ, หรือสูญเสียการทำงานซึ่งโดยมากมักเกิดจากหลายกลไกร่วมกัน เช่น การบาดเจ็บ, การเสียหาย, การอักเสบ, และ/หรือ เสื่อมสภาพ จึงส่งผลให้ประสิทธิภาพในการกลั้นอุจจาระลดลง จึงเกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่/อุจจาระเล็ด/กลั้นอุจจาระไม่ได้

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุกลั้นอุจจาระไม่อยู่?

ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุ ของการกลั้นอุจจาระไม่อยู่/อุจจาระเล็ด/กลั้นอุจจาระไม่ได้ ที่พบบ่อย คือ

  • ท้องผูกเรื้อรัง เพราะก้อนอุจจาระที่กักคั่งในไส้ตรงและในทวารหนักจะถ่างยืดกล้ามเนื้อต่างๆของทั้งไส้ตรง, ทวารหนัก, และหูรูดปากทวารหนัก ส่งผลให้ไม่สามารถเก็บอุ้มอุจจาระไว้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • ท้องเสียเรื้อรังจากโรคระบบทางเดินอาหาร เช่น โรคลำไส้แปรปรวน, โรคโครห์น, เพราะจะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อกล้ามเนื้อและต่อเส้นประสาทของ ไส้ตรง, ทวารหนัก, และหูรูดปากทวารหนัก การทำงานของอวัยวะต่างๆเหล่านั้นจึงลดประสิทธิภาพลง
  • การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร เพราะขณะตั้งครรภ์และในการคลอดบุตร ที่รวมถึงการเบ่งคลอด น้ำหนักของครรภ์จะกดเบียดทับกล้ามเนื้อและเส้นประสาทต่างๆในท้องน้อย ก่อให้เกิดการทำลายและการยืดตัวของกล้ามเนื้อและเส้นประสาทเหล่านี้ กล้ามเนื้อต่างๆที่ใช้ในการอุ้มเก็บอุจจาระทั้งใน ท้องน้อย ไส้ตรง ทวารหนัก และหูรูดปากทวารหนัก จึงบาดเจ็บ เสียหายและเสื่อมสภาพ ส่งผลให้ไม่สามารถเก็บอุ้มอุจจาระได้ตามปกติ รวมทั้งการตั้งครรภ์เอง มักก่อให้เกิดอาการท้องผูกจากมดลูกกดเบียดทับลำไส้ใหญ่ด้วย ดังนั้น จึงเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้พบภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่ในผู้หญิงสูงกว่าในผู้ชาย โดยเฉพาะผู้หญิงตั้งครรภ์และโดยเฉพาะเมื่อเคยตั้งครรภ์หลายครั้ง
  • เคยได้รับการผ่าตัดใน ช่องท้อง ท้องน้อย เช่น ผ่าตัดมดลูก ผ่าตัดมะเร็งลำไส้ใหญ่
  • เคยได้รับการฉายรังสีรักษาบริเวณอุ้งเชิงกราน/ท้องน้อย เช่นใน มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งไส้ตรง

ทั้งนี้: การบาดเจ็บ เสียหาย อักเสบ เสื่อมสภาพ ของ กล้ามเนื้อ เส้นประสาท ของอวัยวะต่างๆในท้องน้อยที่รวมถึง ไส้ตรง ทวารหนัก และหูรูดปากทวารหนัก เกิดได้จาก

  • การคลอดปกติ หรือการคลอดโดยผ่าตัด สามารถเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่/กลั้นอุจจาระไม่ได้/อุจจาระเล็ด ทั้ง 2 กรณี
  • กล้ามเนื้อท้องน้อย ไส้ตรง ทวารหนัก และหูรูดปากทวารหนัก ได้รับบาดเจ็บจากสาเหตุต่างๆ เช่น การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก, การรักษาโรคต่างๆในท้องน้อย ลำไส้ ทวารหนัก และ/หรือ หูรูดปากทวารหนัก ด้วยการผ่าตัด และ/หรือการฉายรังสีรักษา ในบริเวณท้องน้อย เช่น ใน โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคมะเร็งปากมดลูก
  • เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงาน ของกล้ามเนื้อ และของเนื้อเยื่อต่างๆในท้องน้อย ไส้ตรง ทวารหนัก และของหูรูดปากทวารหนัก ถูกทำลาย เช่น จากการคลอด การผ่าตัดรักษาโรคในช่องท้องและ/หรือท้องน้อย หรือจากการฉายรังสีรักษาโรคมะเร็งในท้องน้อย
  • การผ่าตัดรักษาโรคของไส้ตรง หรือของทวารหนัก เช่น ในโรคมะเร็งไส้ตรง หรือ โรคมะเร็งทวารหนัก ส่งผลให้ต้องตัดอวัยวะส่วนดังกล่าวอออกไป จึงขาดอวัยวะส่วนกักเก็บอุจจาระ เกิดการเพิ่มแรงดันทันทีต่อหูรูดปากทวารหนักเมื่อมี อุจจาระมาถึง หูรูดฯจึงกักอุ้มอุจจาระไม่อยู่
  • เส้นประสาทควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้ออวัยวะต่างๆในท้องน้อย ไส้ตรง ทวารหนัก หูรูดทวารหนัก อักเสบเรื้อรังจากโรคต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง
  • อุบัติเหตุต่อสมอง และ/หรือต่อ ไขสันหลัง ส่งผลให้การควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อในท้องน้อย ไส้ตรง ทวารหนัก และหูรูดปากทวารหนักทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
  • ลำไส้อักเสบเรื้อรังจากสาเหตุต่างๆ เช่น โรคโครห์น ส่งผลให้กล้ามเนื้อของ ลำไส้ ทวารหนัก และหูรูดปากทวารหนัก ทำงานไม่มีประสิทธิภาพ
  • โรคริดสีดวงทวาร เพราะรอยโรคมีผลต่อผนังและหูรูดของปากทวารหนักโดยตรง
  • โรคสมองเสื่อม หรือ โรคสมองอักเสบ จากสาเหตุต่างๆ เช่น โรคอัลไซเมอร์ โรคพาร์กินสัน และโรคเอมเอส/โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ส่งผลให้กล้ามเนื้อและเส้นประสาทของ ไส้ตรง ทวารหนัก และหูรูดปากทวารหนัก เสียการทำงาน จึงขาดประสิทธิภาพ
  • ภาวะเจ็บป่วยเรื้อรังต่างๆที่ต้องนอนนานๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายเท่าที่ควร เช่น ในโรคอัมพฤกษ์/อัมพาต/โรคหลอดเลือดสมอง ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆในท้องน้อยเสื่อมประสิทธิภาพตามไปด้วย
  • โรคมะเร็งไส้ตรง หรือโรคมะเร็งทวารหนัก เพราะมีผลต่อกล้ามเนื้อและเส้นประสาทของอวัยวะทั้งสองโดยตรง และตัวก้อนเนื้อเองยังลดปริมาตรของอวัยวะทั้งสองให้ลดน้อยลง จึงลดประสิทธิภาพในการกลั้นอุจจาระ
  • อายุ: ยิ่งสูงอายุ การทำงานของเซลล์และเนื้อเยื่อทุกชนิดจะเสื่อมลง รวมทั้งของ สมอง เส้นประสาท และกล้ามเนื้อต่างๆ ซึ่งรวมทั้งของ ไส้ตรง ทวารหนัก และหูรูดปากทวารหนัก การทำงานของอวัยวะเหล่านี้จึงเสื่อมประสิทธิภาพลง ดังนั้นจึงส่งผลให้เกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่ในผู้สูงอายุสูงกว่าในคนวัยอื่นๆ
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด เช่น ยาที่ก่อให้เกิด ท้องเสีย หรือท้องผูก หรือยาลดการบีบตัวของกล้ามเนื้อต่างๆ/ยาคลายกล้ามเนื้อ จึงส่งผลถึงการทำงานของกล้ามเนื้อลำไส้ และหูรูดปากทวารหนัก
  • การอาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา, ผู้สูงอายุ/คนชราที่ขาดคนดูแล, และห้องส้วมอยู่ไกล, ก็เป็นหลายๆปัจจัยที่ทำให้เกิดภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ‘หัวข้ออาการฯ’ เพราะยิ่งพบแพทย์เร็ว โอกาสดูแลรักษาได้ด้วยวิธีที่ง่ายกว่า ไม่ยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายไม่สูงและได้ผลที่ดีกว่า

ผู้ป่วยไม่ต้องอายที่จะพบแพทย์ เพราะแพทย์ทุกคนเข้าใจและทราบดีว่า เป็นภาวะผิดปกติ เป็นภาวะที่พบบ่อย ซึ่งแพทย์ที่ควรพบคือ แพทย์ทั่วไป หรือ แพทย์เฉพาะทางอายุรกรรมระบบทางเดินอาหาร หรือ แพทย์ศัลยกรรมระบบทางเดินอาหาร

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุกลั้นอุจจาระไม่อยู่อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะ/อาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่/ อุจจาระเล็ด และหาสาเหตุของภาวะนี้ได้จาก

  • ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ โรคประจำตัว ประวัติการรักษาโรคทั้งในอดีตปัจจุบัน การใช้ยาต่างๆ และประวัติการตั้งครรภ์และการคลอดบุตร
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจทางทวารหนัก
  • การตรวจภายใน (ในผู้หญิง)
  • และอาจมีการตรวจอื่นๆเพื่อการสืบค้นเพิ่มเติมตามสิ่งผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • เอกซเรย์ลำไส้ใหญ่และทวารหนักด้วยการสวนแป้ง
    • ส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่และทวารหนัก
    • ตรวจภาพท้องน้อย/อุ้งเชิงกรานด้วย อัลตราซาวด์ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือเอมอาร์ไอ (MRI)
    • การตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคในลำไส้ใหญ่และทวารหนักเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
    • และการตรวจประสิทธิภาพการทำงานของ กล้ามเนื้อ เส้นประสาท ของหูรูดปากทวารหนัก ด้วยเทคนิคเฉพาะต่างๆ เช่น Anorectal manometry , Anal electromyography

รักษาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่อย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่/ อุจจาระเล็ด/ กลั้นอุจจาระไม่ได้มีหลากหลายวิธี ขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ เช่น

  • สาเหตุ
  • ความรุนแรงของอาการ
  • อายุ
  • สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
  • การตอบสนองของผู้ป่วยต่อวิธีรักษาต่างๆ
  • และดุลพินิจของแพทย์

อนึ่ง ตัวอย่างวิธีรักษา เช่น

  • ปรับพฤติกรรมการกินอาหาร ดื่มน้ำ เครื่องดื่ม เพื่อป้องกันท้องผูก หรือ ท้องเสีย เช่น
    • จำกัดหรือเลิกกินอาหาร/เครื่องดื่มบางประเภทที่กระตุ้นให้เกิดกลั้นอุจจาระไม่อยู่ เช่น นม เครื่องดื่มคาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ โคลา) เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, เนื้อสัตว์แปรรูป(เช่น แหนม ไส้กรอก) เนื้อลมควันต่างๆ, อาหารไขมันสูง, ผลไม้บางชนิด เช่น ลูกพรุน หรือมะละกอสุก, และสารเพิ่มความหวานแทนน้ำตาลบางชนิด, *ซึ่งอาหาร/สารที่กระตุ้นอาการนี้แตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วย
    • สังเกตตนเองเสมอว่า อาหาร/เครื่องดื่มประเภทใด ปริมาณเท่าไร เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดอาการฯ เพื่อปรับตัว ซึ่งวิธีนี้ เป็นวิธีพื้นฐานที่ใช้กับผู้ป่วยทุกราย โดยอาจใช้เพียงวิธีเดียวกรณีเพิ่งเริ่มมีอาการ และอาจเพิ่มเติมร่วมรักษากับวิธีอื่นๆตามปัจจัยที่ได้กล่าวแล้วในตอนต้น
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีผลข้างเคียงให้ท้องเสีย โดยแจ้งแพทย์ เภสัชกร พยาบาลว่า มีอาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่
  • ฝึกเข้าส้วมทุกเช้า และ/หรือหลังกินอาหารมื้อหลักทุกครั้ง เพื่อลด หรือไม่ให้มีกากอาหาร/อุจจาระหลงเหลือในลำไส้ตรงและในทวารหนักมากเกินไป
  • กินยาระบาย/ยาแก้ท้องผูก หรือสวนอุจจาระตามคำแนะนำของแพทย์เป็นระยะๆเมื่อมีท้องผูก เพื่อลดปริมาณอุจจาระในลำไส้ตรงและในทวารหนัก
  • กินยาแก้ท้องเสียในตอนเช้า โดยเฉพาะเมื่อต้องออกนอกบ้าน ถ้ามีภาวะอุจจาระบ่อย หรือมีลำไส้ใหญ่อักเสบเรื้อรัง หรือมีท้องเสียเรื้อรังจากลำไส้อักเสบเรื้อรัง
  • ทำกายภาพฟื้นฟูหูรูดปากทวารหนักที่เรียกว่า การฝึกขมิบหูรูดทวารหนัก/ ขมิบช่องคลอด (Kegel exercise) ได้แก่ การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานและหูรูดปากทวารหนักเช่นเดียวกับเมื่อรู้สึกอยากอุจจาระและกลั้นไว้ โดยจะฝึกเมื่อไร เวลาไหนก็ได้ ทั้งในท่านั่งและในท่านอน โดย
    • ตั้งใจเกร็งขมิบหูรูดฯประมาณ 10 วินาที แล้วผ่อนคลาย
    • พักประมาณ 10 วินาทีเท่ากัน
    • แล้วเริ่มขมิบใหม่
    • ทำซ้ำอย่างน้อย 4-5 ครั้ง
    • แต่ละวันทำประมาณ 4-5 ครั้งต่อวัน (แต่ฝึกได้บ่อยเท่าที่ต้องการ )
    • ก่อนฝึกควรปัสสาวะก่อน
    • ขณะปฏิบัติ ไม่ต้องกลั้นหายใจ หายใจได้ตามปกติ
    • สังเกตที่จะไม่ใช้กล้ามเนื้อ หน้าท้อง ขา หรือก้น ช่วยในการขมิบ ใช้เฉพาะตัวปากทวารหนักเท่านั้น
    • ในผู้ชายการฝึกที่ถูกต้องจะเห็นการเคลื่อนลงของลูกอัณฑะไปด้วย

*อนึ่ง: เมื่อฝึกสม่ำเสมอ ประมาณ 4-6 สัปดาห์มักสังเกตเหตุเห็นการควบคุมอุจจาระดีขึ้น นอกจากนี้ การฝึกนี้ไม่มีผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนและไม่มีข้อห้าม ฝึกได้ในทุกเพศและในทุกวัย

  • ทายาบริเวณรอบปากทวารหนัก เพื่อป้องกันการเกิดผื่นผ้าอ้อม เช่น ยาที่มีส่วนผสมของ Zinc oxide หรือ ตามแพทย์/พยาบาล/เภสัชกร แนะนำ
  • การรักษาทางศัลยกรรมด้วยเทคนิคเฉพาะต่างๆที่มีหลายวิธี เพื่อควบคุมการทำงานของหูรูดปากทวารหนัก และ/หรือกล้ามเนื้อ และ/หรือเส้นประสาทของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการขับถ่ายอุจจาระ
  • ในรายที่เป็นมากและไม่สามารถควบคุมได้ด้วยวิธีรักษาต่างๆดังกล่าว อาจต้องผ่าตัดทำทวารเทียมหน้าท้อง (Colostomy)

กลั้นอุจจาระไม่อยู่มีผลข้างเคียงไหม? รุนแรงไหม?

ภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่/อุจจาระเล็ด/กลั้นอุจจาระไม่ได้ เป็นภาวะไม่รุนแรง

ไม่ทำให้ถึงตาย แต่ส่งผลถึงคุณภาพชีวิต คือ ขาดความเชื้อมั่นในตนเอง อับอาย ไม่อยากออกนอกบ้าน มีปัญหาการเข้าสังคม ในการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำ ส่งผลถึงสุขภาพจิต

ส่วนผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนจากกลั้นอุจจาระไม่อยู่/อุจจาระเล็ด คือ

  • มีกลิ่นตัวที่เป็นผลมาจากกลิ่นอุจจาระที่เล็ดออกมา
  • อาการคันบริเวณปากทวารหนัก/ก้น/อวัยวะเพศ
  • เกิดผื่นคันในบริเวณดังกล่าวที่อาจติดเชื้อได้ง่ายจากอุจจาระเล็ด
  • ในผู้หญิงอาจเป็นสาเหตุของ คันช่องคลอด, ช่องคลอดอักเสบติดเชื้อ, กระเพาะปัสสาวะอักเสบ, จากการปนเปื้อนอุจจาระเล็ด

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเอง และการพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเมื่อมีอาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่/อุจจาระเล็ด คือ

  • ปรับพฤติกรรมการกินอาหาร/เครื่องดื่ม และสังเกตประเภทและปริมาณอาหาร ดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การรักษาฯ’
  • ฝึกขมิบก้น/ขมิบช่องคลอดสม่ำเสมอด้วยวิธีดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อการรักษาฯ’
  • ใช้ยาแก้ท้องเสีย, ยาแก้ท้องผูก/ยาระบาย, หรือ การสวนทวาร ตามแพทย์/พยาบาลแนะนำให้ถูกต้อง
  • ป้องกัน ท้องผูก และท้องเสีย
  • รู้จักใช้ผ้าอ้อมอนามัย
  • เปลี่ยนกางเกงใน และผ้าอ้อมอนามัยทุกครั้งที่มีอุจจาระปนเปื้อน ไม่ปล่อยไว้นาน
  • ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณก้น ปากทวารหนัก และอวัยวะเพศ ล้างให้สะอาดด้วยสบู่ที่อ่อนโยน(เช่น สบู่เด็กอ่อน)เสมอ หลังมีอุจจาระออกมา, หลังทำความสะอาดควรเช็ดบริเวณก้น/ปากทวารหนักให้แห้ง อาจโรยแป้งเด็กอ่อนเพื่อให้บริเวณดังกล่าวแห้งอยู่เสมอ
  • ทายาป้องกันผื่นผ้าอ้อมบริเวณปากทวารหนักและบริเวณรอบๆ เช่น ครีม/ขี้ผึ้งที่มีส่วนประกอบของยา Zinc oxide หรือ ยา Bepanthen
  • เมื่อเกิดผื่นคัน หรือ แผลในบริเวณก้น ปากทวารหนัก หรืออวัยวะเพศ ต้องรีบรักษา/พบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน
  • สวมใส่ เสื้อผ้า กางเกงใน ที่ถอดได้ง่าย รวดเร็ว ใช้เป็นผ้าฝ้าย100% เสมอ และเมื่ออกนอกบ้าน ควรเตรียมชุดสำรองไปด้วย
  • เมื่อทำงาน ออกนอกบ้าน ไปงาน เลือกนั่ง หรือทำกิจกรรมที่ใกล้ห้องน้ำ
  • วางแผนการเดินทางล่วงหน้าในเรื่องห้องน้ำเสมอ
  • เมื่อสังเกตพบว่า มีอาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่/กลั้นอุจจาระไม่ได้/อุจจาระเล็ด ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ เพราะการดูแลรักษาอย่างถูกวิธีตั้งแต่แรกมีอาการ มักได้รับผลดี

ป้องกันการกลั้นอุจจาระไม่อยู่

การป้องกันภาวะกลั้นอุจจาระไม่อยู่/อุจจาระเล็ด คือการป้องกันปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุดังได้กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุฯ’ ซึ่งค่อนข้างเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะสาเหตุจากความเสื่อมของเซลล์ต่างๆตามอายุ

อย่างไรก็ตามการดูแลตนเองให้มี สุขภาพกาย สุขภาพจิต แข็งแรง ก็จะช่วยชะลอการเสื่อมของเซลล์ลงได้ รวมทั้งเซลล์สมอง นั่นคือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกๆวัน ในปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน กินผัก ผลไม้ให้มากๆ
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้อย่างน้อยวันละ 6-8แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
  • มีการออกกำลังกาย ตามควรกับสุขภาพในทุกๆวัน
  • รักษาควบคุมโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง
  • ดูแลป้องกันไม่ให้เกิดภาวะ ท้องผูก หรือ ท้องเสีย เรื้อรัง
  • ฝึกขมิบก้น/ขมิบช่องคลอด สม่ำเสมอ เป็นประจำ เริ่มได้เลยตั้งแต่วันนี้
  • สังเกตความสัมพันธ์ระหว่างอาการกับ อาหาร เครื่องดื่ม ทั้งในด้าน ประเภท และปริมาณ เพื่อหลีกเลี่ยง ลดความรุนแรงของอาการ
  • กินยาต่างๆเฉพาะที่จำเป็น เมื่อจะใช้ยาควรรู้จักผลข้างเคียงของยา และเมื่อซื้อยาใช้เอง ควรปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาเสมอ

บรรณานุกรม

  1. Perry, S. et al. (2002). Prevalence of faecal incontinence in adults aged 40yearsor more in community. Gut. 50, 480-484.
  2. Wald, A. (2007). Fecal incontinence in adults. N Engl J Med. 356, 1648-1655.
  3. https://www.mayoclinic.org/healthy-lifestyle/womens-health/in-depth/kegel-exercises/art-20045283 [2021,Sept18]
  4. https://emedicine.medscape.com/article/268674-overview#showall [2021,Sept18]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Fecal_incontinence [2021,Sept18]
  6. https://gi.org/topics/fecal-incontinence/ [2021,Sept18]