กระจกตารูปกรวย (Keratoconus)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

Keratoconus เรียกตามศัพท์แพทย์ ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2547 ว่า “กระจกตารูปกรวย” แต่มีการเรียกกันได้หลายรูปแบบ ได้แก่ กระจกตาโปน กระจกตาย้วย กระจกตาโป่งพอง และกระจกตาเบี้ยว ทั้งนี้ คำว่า Keratoconus มาจากภาษากรีก โดย Kerato แปลว่า กระ จกตา และ Conus แปลว่า เป็นรูปกรวย ซึ่งในบทความนี้ ขอเรียกภาวะผิดปกตินี้ว่า “กระจกตารูปกรวย”

กระจกตารูปกรวยคืออะไร? มีสาเหตุจากอะไร?

กระจกตารูปกรวย

กระจกตารูปกรวย เป็นภาวะที่มีความผิดปกติของกระจกตา คือ กระจกตามีลักษณะบางลงในบริเวณตรงกลาง ทำให้กระจกตาตรงกลางยื่นออกมาข้างหน้าเป็นรูปกรวย หรือ ย้วย หรือโปน หรือโป่งพอง หรือเบี้ยว อันเป็นที่มาของชื่อต่างๆนั่นเอง โดยที่ไม่พบมีการอักเสบหรือติดเชื้ออะไรทั้งสิ้น

พบกระจกตารูปกรวยได้ 4 – 600 คน ต่อประชากร 100,000 คน โดยมักจะเริ่มมีอาการในวัยรุ่นอายุประมาณ 13 – 14 ปี และมีการดำเนินโรคไปเรื่อยๆจนถึงประมาณ 10 – 20 ปี กระ จกตาจึงคงตัวหยุดการเปลี่ยนแปลง

สาเหตุแท้จริงที่ทำให้เกิดกระจกตารูปกรวย ยังไม่ทราบ แต่พบว่า

  • กระจกตารูปกรวย พบในหญิงมากกว่าในชาย ในอัตราส่วน 2 : 1 ในหญิงระหว่างตั้งครรภ์ จะมีการดำเนินโรครุนแรงชัดเจนมาก จึงเชื่อว่าฮอร์โมนเพศหญิงน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะนี้
  • ส่วนในด้านกรรมพันธุ์ ยังไม่แน่ชัด แต่พบว่า มีประวัติทางกรรมพันธุ์ในผู้ป่วยได้ประมาณ 20% ของผู้ป่วย

ทั้งนี้มักจะพบความผิดปกตินี้ในทั้ง 2 ตา โดยที่ตาหนึ่งมักเป็นมากกว่าอีกตา หรือในระยะ แรกของความผิดปกติ จะพบเกิดกับตาข้างเดียวก่อน ต่อมาจึงเกิดความผิดปกติที่ตาอีกข้างตาม มา

กระจกตารูปกรวยมีกลไกการเกิดอย่างไร?

จากการศึกษากลไกการเกิดกระจกตารูปกรวยเชื่อว่า น่าเริ่มจากมีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่เรียกว่า Basal ในเนื้อเยื่อบุผิวของกระจกตา ตามด้วยการฉีกขาดของเนื้อเยื่อกระจกตาชั้นที่เรียกว่า Bowman เนื้อเยื่อบุผิวกระจกตาจึงบางลงตัว และสารคอลลาเจน (Collagen) ในชั้นกลางของกระจกตามีการเรียงตัวที่ผิดไป ไม่สม่ำเสมอ นานเข้าเนื้อเยื่อชั้นที่อยู่ลึกคือชั้น Descemet มีการฉีกขาด ตามด้วยแผลเป็นที่เห็นได้ชัด (กระจกตาเป็นฝ้าขาว) ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ ส่งผลให้กระจกตาบางลง จึงยื่นปูดออกมาข้างหน้า ทำให้เกิดภาวะตาสั้น – สายตาเอียงมากขึ้นๆตามความรุนแรงของกระจกตาที่ผิดปกติไป บางรายถ้ามีการฉีกขาดของเนื้อเยื่อชั้น Descemet กระจกตาจะบวมน้ำทันที เรียกว่าเกิด Acute hydrop ซึ่งลักษณะอาการกระจกตาบวมน้ำนี้จะคล้ายกับอาการในผู้ป่วยโรคต้อหินเฉียบพลัน แต่ต่างกันที่ อาการจากกระจกตารูปกรวยบวมน้ำจะพบในคนอายุน้อยและมีความดันลูกตาไม่สูง

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดกระจกตารูปกรวย?

มีการศึกษาที่ตั้งข้อสังเกตว่า กระจกตารูปกรวยมักพบร่วมกับ

1. ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ โดยเฉพาะภูมิแพ้ที่มีอาการคันตา ชอบขยี้ตาบ่อยๆ จนจักษุแพทย์บางท่านเชื่อว่า การขยี้ตาอาจก่อให้กระจกตามีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวได้

2. ผู้ป่วย กลุ่มอาการดาวน์ (Down syndrome)

3. ผู้ป่วยโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพันผิดปกติ (เป็นโรคที่พบได้น้อยมาก) เพราะมีความผิดปกติของการเรียงตัวของสารคอลลาเจนเช่นเดียวกัน เช่น Ehlers Danlos, Osteogenic imperfecta เป็นต้น

4. โรคแต่กำเนิดบางโรค (เป็นโรคที่พบได้น้อย) เช่น Crouzon, Leber’s เป็นต้น

กระจกตารูปกรวยมีอาการอย่างไร?

อาการที่พบได้จากภาวะกระจกตารูปกรวย คือ

  • เด็กวัยรุ่นที่มีสายตามัวลง/ ตาพร่า ลงๆ
  • ร่วมกับเห็นภาพบิดเบี้ยว
  • บางรายมีอาการ เคืองตา แสบตา ตาสู้แสงไม่ได้
  • มีสายตาสั้น และสายตาเอียง ค่อนข้างมาก

แพทย์วินิจฉัยภาวะกระจกตารูปกรวยอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยกระจกตารูปกรายได้จาก

  • ตรวจตาแล้วพบความผิดปกติของกระจกตา บางตรงกลางและโค้งมากบริเวณตรงกลาง เห็นได้ชัดในการตรวจตาด้วยเครื่องตรวจตาที่เรียกว่า Corneal topography(Photokeratoscopy หรือ Videokeratography)
  • ควรสงสัยภาวะนี้ หากพบสายตาเอียงแบบไม่เป็นระเบียบ (Irregular astigmatism) ร่วมกับกระจกตาตรงกลางค่อนมาด้านล่างมีความโค้งผิดปกติ

รักษากระจกตารูปกรวยอย่างไร?

แนวทางการรักษากระจกตารูปกรวย คือ

1. ใส่แว่นตาแก้ไข สายตาสั้น – สายตาเอียง โดยทั่วไปมักใช้ได้ในช่วงระยะแรกๆของโรคที่กระจกตายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงมาก

2. ใส่คอนแทคเลนส์เมื่อสายตาเอียงมากขึ้นจนใส่แว่นไม่ได้ผล ซึ่งการใช้คอนแทคเลนส์ชนิดแข็งจะช่วยแก้ไขสายตาได้ในระดับหนึ่ง

3. การผ่าตัด เป็นที่ทราบกันดีว่า หากโรคเป็นรุนแรงขึ้น การรักษาจะลงเอยด้วยการเปลี่ยนกระจกตา (Keratoplasty) โดยบางรายงานพบว่าประมาณ 21% ของผู้ป่วยต้องลงเอยด้วยการเปลี่ยนกระจกตา และมีถึง 53% ต้องทำการเปลี่ยนกระจกตาครั้งที่ 2 และมี 33% ต้องผ่าตัดเปลี่ยนกระจกตาครั้งที่ 3 ปัจจุบันจึงมีการพยายามหาวิธีรักษาเพื่อยับยั้งการเปลี่ยนแปลงของกระจกตา ทำให้ลดความจำเป็นในการเปลี่ยนกระจกตาลง ได้แก่

  • การผ่าตัดที่เรียกว่า Intracorneal ring implant (ICR) โดยการสอดวัสดุวงแหวนเข้าไปในเนื้อกระจกตา เพื่อเป็นการบังคับไม่ให้กระจกตาโป่งออก
  • อีกวิธีที่กำลังฮือฮาในต่างประเทศในปัจจุบัน คือ วิธี Corneal collagen cross link (เรียกกันว่า CXL) เป็นการแช่กระจกตาด้วยสาร Ribroflavin แล้วตามด้วยการยิงกระจกตาด้วยแสงเลเซอร์ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงในเนื้อกระจกตา
  • ล่าสุดมีการรักษาโดยวิธีผสมผสานระหว่าง ICR และ CXL ซึ่งคงต้องรอผลการรักษาในระยะยาวต่อไป

กระจกตารูปกรวยมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

เนื่องจากเป็นโรคไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด การพยากรณ์โรคของกระจกตารูปกรวยจึงแตก ต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคน ซึ่งแพทย์มักพยากรณ์ไม่ได้ โดย

  • ในบางคน โรคจะคืบหน้า (Disease progression) รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
  • บางคนโรคจะหยุดคืบหน้าไม่รุนแรงขึ้น โดยการเปลี่ยนแปลงของกระจกตาจะหยุดเพียงเท่าที่ตรวจพบตั้งแต่แรก
  • แต่โดยทั่วไป การเปลี่ยนแปลงของกระจกตามักจะพบเกิดได้ตลอดเวลาจนประมาณ 10-20 ปีหลังการเกิดอาการ กระจกตาจึงจะหยุดเปลี่ยนแปลง และความผิดปกติจะคงที่หลังจากนั้น
  • ทั้งนี้ เมื่อพบภาวะกระจกตารูปกรวยเกิดในเด็กอายุยิ่งน้อย ความรุนแรงของโรคยิ่งสูง (การพยากรณ์โรคไม่ค่อยดี) สูงกว่าคนที่เกิดภาวะนี้เมื่อโตแล้ว

ด้วยเหตุที่การพยากรณ์โรคไม่แน่นอนนี่เอง ผู้ป่วยกระจกตารูปกรวย จึงจำเป็นต้องพบจักษุแพทย์ตามนัดเสมอ เพื่อตรวจติดตามความคืบหน้าของโรค เพื่อแพทย์จะได้ให้การรักษาแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆที่มีการคืบหน้าเปลี่ยนแปลงของกระจกตา

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากระจกตาจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร การได้รับการรักษาดูแลจากจักษุแพทย์ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถใช้ตาได้เป็นปกติหรือเกือบปกติ ภาวะนี้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่ได้ส่งผลกระทบมากมายต่อการดำรงชีวิต เพียงแต่ต้องพบจักษุแพทย์สม่ำเสมอตามนัดเท่านั้น เพื่อการปรับเปลี่ยนแว่นตา และ/หรือคอนแทคเลนส์ให้เหมาะสมกับพยาธิสภาพของกระจกตา

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองก่อนที่จะวินิจฉัยได้ว่า มีภาวะกระจกตารูปกรวย คือ การรีบพบจักษุแพทย์ตั้งแต่แรกเริ่มมีปัญหาในการมองเห็นภาพ เพื่อการวินิจฉัยหาสาเหตุ เพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสมกับสาเหตุ

ส่วนเมื่อได้รับการวินิจฉัยแล้วว่า มีภาวะกระจกตารูปกรวย การดูแลตนเอง คือ

  • ปฏิบัติตามจักษุแพทย์แนะนำ
  • พบจักษุแพทย์สม่ำเสมอตามนัด เพื่อการปรับเปลี่ยนแว่นตา และ/หรือ คอนแทคเลนส์ให้เหมาะสมกับพยาธิสภาพของกระจกตา
  • ควรมีทั้งแว่นตา (เพื่อใช้สลับกับคอนแทคเลนส์ เพื่อช่วยลดการกดเบียดของคอนแทคเลนส์ต่อกระจกตา) และทั้งคอนแทคเลนส์ (เพราะจะกระชับกับกระจกตาช่วย ในการเห็นภาพได้ดีกว่าแว่นตา)
  • ไม่ขยี้ตา เพราะอาจเป็นสาเหตุให้กระจกตาผิดรูปได้มากขึ้น และ/หรือเพิ่มโอกาสติดเชื้อของตารวมทั้งของกระจกตาจากมือที่ไม่สะอาด ซึ่งถ้าเคือง/คันตา อาจใช้วิธีหลับตาแล้วตบเบาๆบนเปลือกตาตำแหน่งที่คัน และ/หรือประคบส่วนนั้นด้วยน้ำเย็นสะอาด
  • สังเกตการมองเห็นภาพเสมอ เมื่อผิดปกติไปจากเดิม หรือมีปัญหาเกี่ยวกับตา (เช่นตาแดง เคืองตามาก) ควรรีบพบจักษุแพทย์ก่อนนัด

ป้องกันกระจกตารูปกรวยได้อย่างไร?

การป้องกันกระจกตารูปกรวย เมื่อดูจากสาเหตุ (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ และปัจจัยเสี่ยง) แล้ว การป้องกัน 100% เป็นไปไม่ได้ แต่ที่พอช่วยได้คือ

  • การป้องกันโรคภูมิแพ้ และเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ต้องควบคุมโรคให้ได้
  • พยายามไม่ขยี้ตา โดยเฉพาะเมื่อเป็นโรคภูมิแพ้ที่มีอาการคันตา