กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 24 มีนาคม 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคกรวยไตอักเสบเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?
- กรวยไตอักเสบมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยกรวยไตอักเสบได้อย่างไร?
- รักษากรวยไตอักเสบอย่างไร?
- กรวยไตอักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?
- กรวยไตอักเสบรุนแรงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันกรวยไตอักเสบได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- กายวิภาคและสรีรวิทยาของระบบทางเดินปัสสาวะ (Anatomy and physiology of Urinary tract)
- โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ไตอักเสบ (Nephritis)
- โรคไตอักเสบในเด็ก (Pediatric nephritis)
- นิ่วในไต (Kidney stone)
- โรคไต (Kidney disease)
บทนำ
กรวยไตอักเสบ(Pyelonephritis)คือ โรคที่เกิดจากเนื้อเยื่อไต/กรวยไตติดเชื้อเฉียบพลัน ซึ่งเกือบทั้งหมดติดเชื้อจากแบคทีเรีย น้อยมากๆที่เกิดจากเชื้อไวรัส หรือเชื้อรา และมักเกิดจากเชื้อโรคจากกระเพาะปัสสาวะที่ลุกลามขึ้นมาถึงกรวยไต
กรวยไต (Renal pelvis) เป็นส่วนของไตที่มีลักษณะเป็นโพรง เป็นส่วนที่ต่อกับท่อไต (Ureter) มีหน้าที่ในการเก็บกักปัสสาวะที่กรองแล้วจากเซลล์ของไตก่อนปล่อยลงสู่ท่อไต
กรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis) เป็นโรคพบบ่อย พบได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ โดยพบได้บ่อยในเด็กเล็ก ผู้หญิงวัยสาว และผู้สูงอายุ ทั้งนี้พบในผู้หญิงบ่อยกว่าในผู้ชายประมาณ 4-5 เท่า
กรวยไตอักเสบ จัดเป็นการอักเสบของระบบทางเดินปัสสาวะที่แพทย์มักเรียกย่อว่า ยูทีไอ (UTI หรือ Urinary tract infection หรือ โรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ) หรือบางคนเรียกเจาะจงลงไปอีกว่า ‘การติดเชื้อ/โรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะตอนบน (Upper urinary tract infection)’ มักเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรียชนิด อีโคไล (E. Coli) แต่พบติดเชื้อแบคทีเรียอื่นๆได้เช่นกัน เช่น เชื้อ สแตฟ (Staphylococcus) และเชื้อ สูโดโมแนส (Pseudomonas) แต่ในคนมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ อาจเกิดจากติดเชื้อราได้
*อนึ่ง บทความนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ ‘กรวยไตอักเสบจากติดเชื้อแบคทีเรีย’ เท่านั้น
กรวยไตอักเสบ อาจเกิดเพียงกรวยไตข้างเดียวข้างใดข้างหนึ่ง (โอกาสเกิดในข้างซ้ายและข้างขวาใกล้เคียงกัน) หรือ เกิดพร้อมกันทั้งสองข้าง ทั้งนี้ขึ้นกับสาเหตุ
กรวยไตอักเสบ พบเกิดได้ทั้ง
- การอักเสบเฉียบพลัน ซึ่งอาการเกิดทันที และรุนแรง แต่เมื่อได้รับการรักษา จะหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ ที่เป็นการอักเสบที่พบได้บ่อยกว่า และ
- การอักเสบเรื้อรัง คือ การอักเสบไม่รุนแรง แต่เป็นๆหายๆ เรื้อรัง มักเกิดจากรักษาควบคุมสาเหตุของโรคไม่ได้ เช่น ยังมีนิ่วในไตเรื้อรัง หรือ มีต่อมลูกหมากโต
โรคกรวยไตอักเสบเกิดได้อย่างไร? มีปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?
โรคกรวยไตอักเสบ เป็นการอักเสบติดเชื้อแบคทีเรีย โดยการติดเชื้อเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งการติดเชื้อแบคทีเรียเป็นได้ทั้งการเป็นสาเหตุและการเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรค ทั้ง นี้สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่พบบ่อย คือ
- เป็นการอักเสบต่อเนื่องจากกระเพาะปัสสาวะอักเสบ มักพบเป็นสาเหตุในผู้หญิง หรือ ในผู้ป่วยที่ต้องนอนนานๆ และ/หรือต้องใช้สายสวนปัสสาวะ เช่น โรคอัมพฤกษ์/อัมพาต หรือ เมื่อได้รับการรักษาโรคต่างๆด้วยการผ่าตัดใหญ่ที่ต้องนอนโรงพยาบาลนาน และ/หรือมีการใส่สายสวนปัสสาวะ
- จากมีการอุดกั้นทางเดินปัสสาวะ ซึ่งส่งผลให้ปัสสาวะแช่อยู่ในทางเดินปัสสาวะนานเกินปกติ จึงติดเชื้อได้ง่าย เช่น นิ่วในไต หรือทางเดินปัสสาวะตีบแคบในผู้ชายจากต่อมลูกหมากโต หรือ การกลั้นปัสสาวะนานๆ หรือ การดื่มน้ำน้อย
- จากมีโรคของทางเดินปัสสาวะ อาจแต่กำเนิด เช่น มีปัสสาวะไหลย้อนกลับจากกระเพาะปัสสาวะเข้าในท่อไตและเข้าในไต/กรวยไตตามลำดับ จากหูรูดระหว่างท่อไตกับกระเพาะปัสสาวะหย่อน (Vesicoureteral reflux) ซึ่งมักพบเป็นสาเหตุในเด็กเล็ก
- จากการติดเชื้อของกระดูก หรือผิวหนัง หรือเนื้อเยื่อต่างๆ แล้วเชื้อโรคแพร่กระจายทางกระแสโลหิต (เลือด) มายังกรวยไต
- เป็นส่วนหนึ่งในการติดเชื้อทางกระแสโลหิตของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ /ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด)
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และผู้ป่วยโรคที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี หรือโรคเอดส์
- จากการมีเพศสัมพันธ์ โดยเฉพาะมีคู่นอนหลายคน (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
- หญิงตั้งครรภ์ เพราะตัวครรภ์อาจกดเบียดทับท่อไต และ/หรือกระเพาะปัสสาวะ จึงก่อให้เกิดทางเดินปัสสาวะอุดกั้น หรือจากมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน จึงเป็นสาเหตุให้กรวยไตอักเสบได้ง่าย
- อาจจากทางพันธุกรรม เพราะพบเกิดโรคได้บ่อยในคนที่มีประวัติคนในครอบครัวเดียวกันเป็นโรคนี้
กรวยไตอักเสบมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของกรวยไตอักเสบเป็นอาการไม่จำเพาะ พบได้คล้ายคลึงกับอาการติดเชื้อในอวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะในโรคติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ (ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ และท่อปัสสาวะ) ซึ่งที่พบบ่อย คือ
- มีไข้สูง อาจหนาวสั่นเมื่อเป็นการอักเสบเฉียบพลัน แต่อาจมีไข้ต่ำๆ หรือ ไม่มีไข้ เมื่อเป็นการอักเสบเรื้อรัง
- ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
- อ่อนเพลีย
- ปวดหลัง/เอว ปวดเรื้อรังเมื่อเป็นการอักเสบเรื้อรัง
- กดเจ็บในตำแหน่งไตข้างที่เกิดโรค
- ปัสสาวะขุ่น อาจเป็นเลือด (อาจเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือ ตรวจพบจากการตรวจปัสสาวะ) และอาจเป็นหนอง
- อาจปัสสาวะ ปวดแสบ ขัด ปัสสาวะน้อย เมื่อมีกระเพาะปัสสาวะอักเสบร่วมด้วย
- อาจมีหนอง หรือ สารคัดหลั่งบริเวณอวัยวะเพศ เมื่อเกิดจากติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ (โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
แพทย์วินิจฉัยกรวยไตอักเสบได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยกรวยไตอักเสบได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ ประวัติทางเพศสัมพันธ์ ประวัติการกลั้นปัสสาวะ อาชีพการงานที่ต้องกลั้นปัสสาวะเสมอ โรคประจำตัวต่างๆ
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจปัสสาวะ
- และในรายรุนแรงอาจมีการตรวจเชื้อ และ/หรือการเพาะเชื้อจากปัสสาวะ และ/หรือจากเลือด
- นอกจากนั้นอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับอาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- การถ่ายภาพไตด้วยเอกซเรย์ หรือเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ หรืออัลตราซาวด์
- หรือ การส่องกล้องทางเดินปัสสาวะ
รักษากรวยไตอักเสบอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคกรวยไตอักเสบ คือ การให้ยาปฏิชีวนะ ซึ่งในรายที่รุนแรงอาจเป็นการให้ยาทางหลอดเลือดดำโดยรับผู้ป่วยไว้เป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล แต่รายที่อาการไม่มาก การรักษาจะเป็นผู้ป่วยนอก
นอกจากนั้น คือ
- การรักษาสาเหตุ เช่น รักษาโรคต่อมลูกหมากโต เมื่อมีสาเหตุจากต่อมลูกหมากโต เป็นต้น
- และ การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น
- การพักผ่อน
- ยาลดไข้
- ยาแก้ปวด
- การดื่มน้ำสะอาดมากๆเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
- และการไม่กลั้นปัสสาวะนาน
กรวยไตอักเสบมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง?
ผลข้างเคียงจากกรวยไตอักเสบ คือ เมื่อได้รับการรักษาไม่ถูกต้อง หรือ ไม่มีการรักษาสาเหตุด้วย จะกลายเป็นโรคเรื้อรัง ที่อาจก่อให้เกิดโรคไตอักเสบเรื้อรัง (โรคไตเรื้อรัง) จนกลายเป็นไตวายเรื้อรัง และเสียชีวิตได้
กรวยไตอักเสบรุนแรงไหม?
โดยทั่วไป โรคกรวยไตอักเสบ ไม่รุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้เสมอเมื่อพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตั้งแต่แรกมีอาการ
แต่ในเด็กเล็ก ในผู้สูงอายุ และในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ โรคอาจรุนแรงเป็นการติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ /ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด) เป็นเหตุให้เสียชีวิต ได้
หรือเมื่อรักษาควบคุมสาเหตุไม่ได้ อาจกลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้เกิดไตวายเรื้อรัง (โรคไตเรื้อรัง) และเสียชีวิตได้เช่นกัน
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเอง/การพบแพทย์/การมาโรงพยาบาล คือ เมื่อมีอาการดังกล่าวใน ’หัวข้อ อาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ ไม่ควรดูแลตนเองด้วยการซื้อยาปฏิชีวนะกินเอง เพราะเป็นโรคไม่หายจากการดูแลตนเอง อาจดูว่าอาการดีขึ้น แต่แท้ที่จริง จะกลายเป็นการอักเสบเรื้อรัง ทั้งนี้เพราะยาปฏิชีวนะมีหลากหลายชนิด การจะรักษาโรคได้ ต้องขึ้นกับชนิดของโรค อายุผู้ป่วย ชนิดและขนาดของยาปฏิชีวนะ ซึ่งต้องอยู่ในดุลพินิจของแพทย์
ส่วนภายหลังจากพบแพทย์ และได้ทราบว่าตนเองเป็นโรคกรวยไตอักเสบ การดูแลตนเอง คือ
- ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยาต่างๆให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ควรหยุดยาเองโดยเฉพาะยาปฏิชีวนะ ต้องกินให้หมดตามแพทย์แนะนำ การหยุดยาเองก่อให้เกิดเชื้อดื้อยา จนกลายเป็นกรวยไตอักเสบเรื้อรัง อาจถึงขั้นเกิดโรคไตเรื้อรังได้
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม เช่น โรคหัวใจล้มเหลว
- ไม่กลั้นปัสสาวะนาน
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆรวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
- และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
- มีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น กลับมามีไข้
- หรือ อาการต่างๆเลวลง เช่น เช่น ปัสสาวะเป็นเลือดมากขึ้น ปวดเอวมากขึ้น
- มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมาก ท้องเสียมากต่อเนื่อง
- หรือเมื่อกังวลในอาการ
ป้องกันกรวยไตอักเสบได้อย่างไร?
สามารถป้องกันโรคกรวยไตอักเสบได้โดย
- เมื่อมีอาการผิดปกติทางปัสสาวะ หรือมีอาการดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้ออาการฯ’ ควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อหาสาเหตุและเพื่อได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ ป้องกันการเกิดการอักเสบรุนแรง หรือการเกิดกรวยไตอักเสบเรื้อรัง
- ดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว เมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม
- ไม่กลั้นปัสสาวะนาน
- รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เสมอ โดยเฉพาะการรู้จักดูแลตนเองเมื่อมีเพศสัมพันธ์ และไม่ควรส่ำส่อนทางเพศ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์)
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- Ramakrishnan, K., and Scheid, D. (2005). Diagnosis and management of acute pyelonephritis in adults. Am Fam Physician. 71, 933-942.
- http:// http://en.wikipedia.org/wiki/pyelonephritis [2019,March2]
- https://emedicine.medscape.com/article/245559-overview#showall [2019,March2]