แอลกอฮอล์และระบบประสาท (Alcohol and Nervous System)
- โดย ศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า
- 23 มิถุนายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- แอลกอฮอล์ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างไร?
- สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับผลของแอลกอฮอล์มีอะไรบ้าง?
- แอลกอฮอล์ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างไร?
- ผลร้ายของแอลกอฮอล์ต่อระบบประสาทที่พบบ่อยและควรทราบคืออะไร?
- ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษแบบเฉียบพลัน มีอาการอย่างไร?
- ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ(Alcoholic intoxication)
- Black out จากแอลกอฮอล์เป็นพิษคืออะไร?
- ผู้ป่วยแอลกอฮอล์เป็นพิษควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษได้อย่างไร?
- การรักษาภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษทำอย่างไร?
- ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษรักษาหายไหม?มีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
- ผู้ป่วยแอลกอฮอล์เป็นพิษ/ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร? เมื่อไรควร พบแพทย์ก่อนนัด?
- ภาวะถอนสุรา/ภาวะขาดสุราเฉียบพลัน(Alcoholic withdrawal syndrome)
- อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ
- เมื่อมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
- แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นอาการประสาทอัตโนมัติจากภาวะถอนสุรา?
- รักษาอาการของระบบประสาทอัตโนมัติจากถอนสุราอย่างไร ?
- อาการระบบประสาทอัตโนมัติจากถอนสุรามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ผู้ป่วยที่มีอาการทางประสาทอัตโนมัติ/ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร? เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- การชักจากภาวะถอนสุรา
- ประสาทหลอนในผู้ดื่มสุราเรื้อรัง
- ประสาทหลอนในผู้ดื่มสุราเรื้อรังมีอาการอย่างไร?
- ประสาทหลอนในผู้ดื่มสุราเรื้อรังมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่ามีประสาทหลอนจากพิษสุรา?
- ประสาทหลอนจากพิษสุรารักษาอย่างไร?
- ประสาทหลอนจากพิษสุรามีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
- ผู้ป่วยที่ประสาทหลอน /ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร?เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?
- ภาวะประสาทหลอน สับสน ร่วมกับ ซึมลง (Delirium tremens) คืออะไร
- ภาวะสูญเสียความทรงจำจากโรคพิษแอลกอฮอล์/พิษสุราเรื้อรัง(Wernicke-Korsakoff syndrome)
- ภาวะเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์เรื้อรัง (Wernicke-Korsakoff syndrome) คืออะไร?
- เมื่อมีภาวะเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นภาวะเสียความจำจากพิษแอกอฮอล์?
- รักษาภาวะเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์อย่างไร?
- ภาวะเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- ผู้ที่มีภาวะเสียความจำ/ญาติ ควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด? ถ้าจำเป็นต้องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำควรทำอย่างไร?
- สรุป
- กายวิภาคและสรีรวิทยาระบบประสาท (Anatomy and physiology of nervous system)
- โรคพิษสุรา (Alcoholism หรือ Alcohol use disorder)
- ประสาทอัตโนมัติ ระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system)
- การสูญเสียความทรงจำ ภาวะเสียความจำ (Amnesia)
- โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์ เส้นประสาทอักเสบเหตุจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Neuropathy)
- ภาวะทางสมองเหตุขาดวิตามินบิน 1
- ประสาทหลอน เห็นภาพหลอน หูแว่ว (Hallucination)
- สารหลอนประสาท (Hallucinogen)
- ยากระตุ้นความบันเทิง (Recreational drug)
บทนำ
แอลกอฮอล์(Alcohol) หรือ สุรา หรือ เหล้า เป็นเครื่องดื่มประเภทสารเสพติดชนิดหนึ่งที่มีพิษก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ทุกระบบของร่างกาย โดยเฉพาะระบบประสาท (Nervous system) ข้อมูลล่าสุดพบว่าคนไทยบริโภคแอลกอฮอล์สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก เป็นสิ่งที่ไม่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะมีผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย ยังส่งผลต่อสุขภาพจิต และก่อให้เกิดปัญหาสังคม
ปัญหาที่พบทางระบบประสาทจากแอลกอฮอล์นั้นมีมากมาย และเกิดขึ้นได้กับทุกส่วนของระบบประสาท โดยเฉพาะสมอง (Brain) ลองติดตามบทความนี้ เพื่อทำความเข้าใจให้ดีขึ้นว่า แอลกอฮอล์นั้น ส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร จะได้แนะนำคนที่เรารักให้ห่างไกลจากแอลกอฮอล์
แอลกอฮอล์ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างไร?
แอลกอฮอล์ หรือ สุรา มีผลโดยตรงต่อระบบประสาท โดยกดการทำงานของระบบประสาท การได้รับแอลกอฮอล์ขนาดสูงจะมีฤทธิ์คล้ายกับยาสลบ ได้แก่ ไม่รู้สึกตัว และกดการหายใจ แต่อาการในช่วงแรกๆของการดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ดื่มอาจมีพฤติกรรมก้าวร้าว เคลื่อนไหวมากกว่าปกติ ตื่นตัว พูดมากขึ้น เนื่องจากช่วงแรกจะมีการเพิ่มขึ้นของสารสื่อประสาทที่ออกฤทธิ์กระตุ้นสมอง แต่เมื่อได้รับแอลกอฮอล์ปริมาณมากขึ้น พิษของแอลกอฮอล์ก็จะกดการทำงานของสมอง โดยเฉพาะ ก้านสมอง (Brain stem) และศูนย์ควบคุมการเต้นของหัวใจ (Reticular formation)ในก้านสมอง
พิษของแอลกอฮอล์ มีทั้ง แบบเฉียบพลัน และ แบบเรื้อรัง
ก. แบบเฉียบพลัน หมายถึง ผู้ดื่มได้รับแอลกอฮอล์/สุราเข้าไปเป็นปริมาณมาก ส่งผลให้มีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงขึ้นทันที แอลกอฮอล์ในเลือดระดับต่างๆจะส่งผลต่อระบบประสาทดังนี้
- ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 30 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือดื่มสุรา 4 แก้วๆละ 1 ฝาขวดแม่โขง ผู้ดื่มจะมีอาการครึกครื้น สนุกสนานร่าเริง
- ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือดื่มสุรา 6 แก้วๆละ 1 ฝาขวดแม่โขง ผู้ดื่มจะมีอาการของการควบควบคุมการเคลื่อนไหวเสียไป ไม่สามารถควบคุมได้ดีเท่าภาวะปกติ
- ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือด 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือดื่มสุรา 12 แก้วๆละ 2 ฝาขวดแม่โขง ผู้ดื่มจะมีอาการเดินไม่ตรงทาง
- ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 200 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ หรือดื่มสุรา 24 แก้วๆ ละ 2 ฝาขวดแม่โขง ผู้ดื่มจะเกิดอาการสับสน
- ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 300 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ผู้ดื่มจะมีอาการ ง่วง สับสน/งงงวย และซึม
- ถ้าระดับแอลกอฮอล์ในเลือดมากกว่า 400 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ผู้ดื่มจะเกิดอาการสลบ และอาจถึงตายได้
ข. แบบเรื้อรัง หรือ โรคพิษสุราเรื้อรัง หมายถึงผู้ป่วยที่ดื่มแอลกอฮอล์/สุราอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ เป็นระยะเวลานาน ส่วนใหญ่นานมากกว่า10 ปี จนเกิดภาวะติดสุรา และมีลักษณะดังต่อไปนี้ คือ ต้องดื่มสุราตลอดเวลา ไม่สามารถควบคุมหรือหยุดหลังจากดื่มสุรา เมื่อหยุดสุราจะมีอาการลงแดง เช่น คลื่นไส้ เหงื่ออก สั่น ต้องเพิ่มปริมาณดื่มสุราขึ้นไปอีก และเพื่อให้มีความสุข ซึ่งเมื่อเกิดภาวะพิษสุราเรื้อรังนี้ ก็จะส่งผลให้ร่างกายส่วนต่างๆได้รับผลกระทบ เช่น ตับ (โรคตับแข็ง) ตับอ่อน (โรคตับอ่อนอักเสบ) และ ระบบประสาทดังจะกล่าวต่อไปในบทนี้
สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับผลของแอลกอฮอล์มีอะไรบ้าง?
สารสื่อประสาทที่เกี่ยวข้องกับผลของแอลกอฮฮล์/สุรา หลักๆ คือ
- โอปีออยด์ (Opioids) เป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเอง เช่น Endorphin (เอนดอร์ฟิน) ออกฤทธิ์ทำให้ร่างกายสดชื่น อารมณ์ดี แอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์โดยกระตุ้นสมองให้หลั่งสารโอปิออยด์ จึงพบว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในระยะแรก ปริมาณไม่มาก จะทำให้อารมณ์ดี (Euphoria) เพราะร่างกายมีสารโอปิออยด์เพิ่มขึ้น
- กาบา (Gamma-aminobutyric acid: GABA) เป็นสารสื่อประสาทที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของสมอง การดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มสาร GABA ผู้ดื่มจึงมีอาการง่วง และคลายความกังวล การเคลื่อนไหวผิดปกติ ในผู้ที่ดื่มเป็นประจำเมื่อหยุดดื่มทันที ผู้ดื่มจะมีอาการตรงกันข้าม เนื่องจากการทำงานของ GABA ลดลง จึงมีการกระตุ้นสมองมากขึ้น ก่อให้เกิดอาการกระวนกระวาย และอาการชักได้
- กลูตาเมต (Glutamate) เป็นสารกระตุ้นการทำงานของสมอง แอลกอฮอล์จะออกฤทธิ์โดยยับยั้งการทำงานของกลูตาเมต เมื่อดื่มแอลกอฮอล์นานๆ จะเกิดภาวะเป็นพิษ ส่งผลให้การรับรู้และการเรียนรู้เสียไป
- สารสื่อประสาทอื่นๆ เช่น ซีโรโตนิน (Serotonin) และ โดปามีน (Dopamine) ก็ส่งผลต่อการทำงานของระบบประสาทด้าน การเคลื่อนไหว อารมณ์ พฤติกรรมและความจำ
แอลกอฮอล์ส่งผลต่อระบบประสาทอย่างไร?
แอลกอฮอล์/สุราส่งผลต่อระบบประสาทมากมาย เช่น
- แอลกอฮอล์ปริมาณสูง จะส่งผล เช่น มึนเมา/ขาดสติ ซึม ปวดศีรษะหมดสติ
- การหยุดแอลกอฮอล์กะทันหันจะส่งผล เช่น สั่น ประสาทหลอน สับสน และ ชัก
- ภาวะขาดสารอาหารจากโรคพิษสุราเรื้อรัง เช่น โรคเส้นประสาท ตาบอด สับสน และ สมองเสื่อม
- ภาวะที่เป็นผลจากโรคพิษสุราเรื้อรัง เช่น สมองฝ่อ หัวใจโต กล้ามเนื้ออ่อน แรง
- ภาวะทางระบบประสาทที่เกิดจาก โรคตับที่สาเหตุเกิดจากสุรา เช่น ตับแข็ง มะเร็งตับ ซึ่งส่งผลให้การทำงานของตับเสียไป จึงเกิดการคั่งของของเสีย/ สารพิษที่ต้องถูกเผาผลาญโดยตับ เช่น เกิดการคั่งของสารไนโตรเจน (Nitrogen, เช่น ในรูปแบบสารแอมโมนเนีย/Ammonia) เป็นต้น ซึ่งปริมาณสารพิษเหล่านี้ที่สูงเพิ่มมากขึ้น จะส่งผลเป็นพิษต่อสมองและระบบประสาทส่วนอื่นๆด้วย จึงก่อให้เกิดอาการผิดปกติทางระบบประสาท เช่น สับสน นอนไม่หลับ/ไม่ง่วงนอน ขาดสมาธิ หลงลืม อาจถึงระดับโคมา และเสียชีวิตได้
ผลร้ายของแอลกอฮอล์ต่อระบบประสาทที่พบบ่อยและควรทราบคืออะไร?
ผลร้ายของแอลกอฮอล์/สุราต่อระบบประสาทที่พบบ่อยและควรทราบ คือ
- ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ(Alcoholic intoxication)
- ภาวะถอนสุรา บางคนเรียกว่า ภาวะขาดสุราเฉียบพลัน (Alcoholic withdrawal syndrome) และ
- ภาวะสูญเสียความทรงจำจากโรคพิษสุราเรื้อรัง (Wernicke-Korsakoff syndrome)
ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ(Alcoholic intoxication)
ก. ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษแบบเฉียบพลันมีอาการอย่างไร?
ภาวะแอลกอฮอล์/สุราเป็นพิษ ที่เกิดแบบเฉียบพลัน หมายถึง ภาวะเป็นพิษของแอลกอฮอล์เนื่องจากระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงเกินค่าปกติ ซึ่งพบได้ในผู้ที่ดื่มครั้งแรกๆ หรือดื่มเป็นประจำก็ได้ ถ้าระดับแอลกอฮอล์ไม่สูงผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดี พูดมากขึ้น แต่พูดไม่ชัด เดินเซ และง่วง กรณีระดับของแอลกอฮอล์สูงมาก ผู้ดื่มจะซึมและอาจไม่รู้สึกตัว/โคมา เป็นผลมาจากการยับยั้งการทำงานของสมองและไขสันหลัง ทั้งนี้เพราะดังได้กล่าวแล้วว่า การออกฤทธิ์ของแอลกอฮอล์คล้ายกับยาสลบ
ข. Black out จากแอลกอฮอล์เป็นพิษคืออะไร?
Black out เป็นภาวะแอลกอฮอล์/สุราเป็นพิษแบบหนึ่ง เกิดได้ทั้งในแอลกอฮอล์เป็นพิษเฉียบพลับหรือเรื้อรัง ที่ในกลุ่มผู้ดื่มแอลกอฮอล์ใช้เรียกกัน หมายถึง ผู้ดื่มจะรู้ตัวดี แต่ไม่สามารถจดจำเหตุการณ์ขณะนั้นได้ คือ ในช่วงเวลาเกิดภาวะสุราเป็นพิษที่รุนแรง ผู้ป่วยจะเสียความทรงจำในระยะสั้นมากกว่าเสียความทรงจำในระยะยาว ถ้าผู้ดื่มมีอาการแบบนี้บ่อยๆ พบว่ามีโอกาสเกิดการติดแอลกอฮอล์/ติดสุรา (Alcoholic dependent)ได้สูง
ค. ผู้ป่วยแอลกอฮอล์เป็นพิษ ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
ผู้ป่วยที่เกิดภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษไม่ว่าจะเป็นแบบเฉียบพลันหรือเรื้อรัง และ/หรือ ถ้าผู้ดื่มต้องการเลิกดื่มสุรา และ/หรือ มีอาการที่รุนแรง เช่น หมดสติ หายใจหอบ/หายใจลำบาก เร็ว ลึก เหนื่อยมาก สับสน ชัก สั่นมาก ประสาทหลอน ไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ญาติควรรีบพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
ง. แพทย์วินิจฉัยภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะแอลกอฮอล์/สุราเป็นพิษได้โดยพิจารณาจากอาการผิดปกติดังกล่าว ร่วมกับประวัติการดื่มสุรา ทั้งปริมาณในครั้งล่าสุดก่อนที่จะมีอาการ และประวัติการดื่มสุราที่ผ่านมาทั้งปริมาณและระยะเวลา ประวัติการติดสุรา และการตรวจเลือดเพื่อวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด รวมทั้งการตรวจเลือดดูระดับการทำงานของตับ และระดับเกลือแร่ชนิดต่างๆในเลือดด้วย เพราะถ้าผิดปกติ อาจเป็นสาเหตุให้เกิดอาการทางระบบประสาทได้เช่นกัน
จ. การรักษาภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษทำอย่างไร?
การรักษาภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษ กรณีอาการไม่มากและสัญญาณชีพปกติ ให้ อาบน้ำ ดื่มกาแฟแก่ๆ แต่ถ้าผู้ป่วยซึมมากไม่รู้สึกตัว ต้องรีบพามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลอย่างรีบด่วน และอาจต้องรักษาด้วยการฟอกเลือด (Hemodialysis)กรณีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงมากๆและผู้ป่วยมีอาการโคมา ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิติสูงมากถ้ามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลช้า เพราะร่างกายจะเกิดภาวะเลือดเป็นกรด และหยุดการหายใจจากแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์กดระบบการหายใจ
ฉ. ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษรักษาหายไหม? มีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
ภาวะแอลกอฮอล์เป็นพิษสามารถรักษาให้หายได้ไม่ยาก ถ้าเกิดขึ้นในผู้ที่ไม่มีภาวะติดสุรา เพราะเมื่อรักษาให้หาย และไม่กลับมาดื่มสุราอีกก็จะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่ในกรณีผู้ติดสุราเรื้อรังแล้ว การรักษาได้ผลไม่ค่อยดี (การพยากรณ์โรคไม่ดี) เพราะมีโรคร่วมอื่นๆด้วย เช่น โรคตับแข็ง ภาวะตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ และภาวะเกลือแร่ต่างๆในเลือดผิดปกติ ส่งผลให้การพยากรณ์โรคไม่ดี
ช. ผู้ป่วยแอลกอฮอล์เป็นพิษ/ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร? เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?
การดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยประกอบด้วย 2 ส่วน คือ
- การดูแล การรักษาประคับประคองตามอาการที่ผิดปกติ เช่น ประสาทหลอน หงุดหงิดง่าย ควรต้อง ปรึกษาจิตแพทย์ เป็นต้น และ
- การพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยเลิกดื่มสุราและไม่ให้กลับไปดื่มสุราอีก (ควรปรึกษาจิตแพทย์เช่นกัน)
อย่างไรก็ตาม ถ้าผู้ป่วยได้รับการดูแลรักษาจากแพทย์ เมื่อมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นก่อนถึงวันนัด เช่น อาเจียนเป็นเลือด ประสาทหลอนรุนแรงขึ้น ไม่นอน/นอนไม่หลับติดต่อกันหลายวัน หรือนอนตลอดเวลา ทานอาหารไม่ได้เลย มีอาการของภาวะขาดน้ำ และ/หรือ เรียกไม่รู้สึกตัว ก็ควรต้องรีบพามาพบแพทย์/ มาโรงพยาบาลก่อนนัด
ภาวะถอนสุรา/ภาวะขาดสุราเฉียบพลัน(Alcoholic withdrawal syndrome)
ภาวะถอนสุรามีอาการอย่างไร?ใครมีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอาการถอนสุราที่รุนแรง?
ภาวะถอนสุรา เกิดจากผู้ดื่มแอลกอฮอล์/สุรามาเป็นประจำเป็นเวลานานและต่อเนื่อง เมื่อหยุดดื่มทันที เช่น ช่วงเข้าพรรษา จึงเกิดอาการของระบบประสาทคล้ายถูกกระตุ้น ทำให้มีอาการนอนไม่หลับ สับสน ประสาทหลอน เพราะระดับแอลกอฮอล์ในเลือดลดลงอย่างรวดเร็ว
อนึ่ง ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดภาวะถอนพิษสุรารุนแรง คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัว ผู้สูงอายุ ผู้ที่เคยเกิดอาการถอนสุรามาก่อน เคยมีอาการชัก ตับอักเสบ ติดสุราอย่างรุนแรง ติดสุรามานาน ดื่มสุราปริมาณมากและบ่อย
ทั้งนี้อาการถอนพิษสุราแบ่งเป็น 4 กลุ่ม คือ
- อาการของระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากเกิน เกิดภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังดื่มแอลกอฮอล์ครั้งสุดท้าย ผู้ป่วยจะมีอาการ สั่น เหงื่อออกมาก คลื่นไส้อาเจียน กังวล และกระวนกระวาย
- อาการชัก มักเกิดภายใน 12-48 ชั่วโมง หลังดื่มแอลกอฮอล์ครั้งสุดท้าย
- อาการประสาทหลอน สับสน และซึมลง (Delirium tremens) มักเกิดภายใน 48-96 ชั่วโมง หลังดื่มแอลกอฮอล์ครั้งสุดท้าย
- อาการอื่นๆ เช่น สั่น หน้าแดง ตาแดง หัวใจเต้นเร็ว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ ตกใจง่าย นอนไม่หลับ ความสนใจและสมาธิลดลง ความจำไม่ดี เกิดขึ้นหลังการดื่มครั้งสุดท้าย 6- 12 ชั่วโมง ซึ่งอาการกลุ่มนี้จะค่อยๆหายภายใน 2-3 วัน และหายดีภายใน 2 สัปดาห์
ก. อาการของระบบประสาทอัตโนมัติ:
• เมื่อมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ ควรไปพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติจากภาวะถอนสุรา กรณีที่อาการไม่รุนแรง เช่น หัวใจเต้นเร็ว สั่น ไม่มาก ตกใจง่าย สามารถดูแลตนเองได้ โดยการดื่มน้ำ นอนพักผ่อนเต็มที่ แต่ถ้าอาการนั้นรุนแรงส่งผลต่อสัญญาณชีพ เช่น ความดันโลหิตที่เปลี่ยนแปลงอย่างมาก หัวใจเต้นเร็วมากกว่า150 ครั้งต่อนาที สั่นอย่างรุนแรง ญาติควรพามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
• แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นอาการประสาทอัตโนมัติจากภาวะถอนสุรา?
แพทย์วินิจฉัยอาการประสาทอัตโนมัติจากถอนสุราได้จาก ประวัติการดื่มสุราและการหยุดดื่ม ร่วมกับอาการผิดปกติที่แสดงออกข้างต้น เช่น อาการสั่น หน้าแดง หงุดหงิด อยู่ไม่สุข ไม่มีสมาธิ
• รักษาอาการของระบบประสาทอัตโนมัติจากถอนสุราอย่างไร ?
รักษาอาการผิดปกติจากระบบประสาทอัตโนมัติจากถอนสุรา ได้โดยการดื่มน้ำให้เพียงพอ อาบน้ำ และนอนพักผ่อนเต็มที่ แต่ถ้ามีอาการรุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ ยาทางจิตเวช เช่น Benzodiazepine เพื่อควบคุมอาการทางระบบประสาท ร่วมกับการแก้ไขความผิดปกติของเกลือแร่ ซึ่งที่พบบ่อย เช่น ภาวะโปแตสเซียม (Potassium)ต่ำ โดยการให้เกลือแร่ทางหลอดเลือดดำ ซึ่งการรักษาอาการเหล่านี้ มักใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์ก็จะหายดี
• อาการระบบประสาทอัตโนมัติจากถอนสุรามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคของอาการเหล่านี้ มักรักษาได้ผลดี แต่ที่รักษายาก คือผู้ป่วยมักจะมีการกลับไปดื่มสุราใหม่อีก เพราะอาการดังกล่าวมักเกิดในผู้ที่ภาวะติดสุราและภาวะพิษสุราเรื้อรัง
• ผู้ป่วยที่มีอาการทางประสาทอัตโนมัติ/ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร? เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?
การดูแลตนเองของผู้ป่วยที่สำคัญที่สุด คือ พยายามเลิกดื่มสุรา และตั้งสติ มีสติ เข้าใจถึงอาการของตนเอง ร่วมกับการปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล และให้ความร่วมมือกับครอบครัวเพื่อการดูแลผู้ป่วย
ญาติควรเฝ้าดูแลอย่างใกล้ชิด เพราะผู้ป่วยจะมีความหวาดระแวงและหงุดหงิดง่าย ประสาทหลอนด้วย ต้องค่อยๆพูดและให้กำลังใจ ให้ความมั่นใจ แต่ถ้าผู้ป่วยมีอาการไม่ดีขึ้นและมีอาการผิดปกติที่รุนแรงมากขึ้น สัญญาณชีพผิดปกติ ประสาทหลอน ควรรีบพามาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลทันที
ข. การชักจากภาวะถอนสุรา:
• การชักจากภาวะถอนสุรามีลักษณะอย่างไร? รักษาอย่างไร?
การชักในภาวะถอนสุรา ส่วนใหญ่เป็นแบบชักเกร็ง กระตุกทั้งตัวแบบลมบ้าหมู (โรคลมชัก) มักชักภายใน 7-48 ชั่วโมงแรกหลังดื่มสุราครั้งสุดท้าย ผู้ป่วยที่มีอาการชักทุกคน ควรตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองทุกราย เพราะอาจเกิดจากเลือดคั่งในสมองจากที่เมาสุราและมีอุบัติเหตุจากการล้มได้โยผู้ป่วยอาจไม่รู้ว่าตนเองล้ม แต่ถ้าเป็นการชักครั้งหลังแล้วมีลักษณะอาการแบบเดิมก็ไม่จำเป็นต้องตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ซ้ำ
ทั้งนี้แพทย์จะรักษาด้วยการให้ยากันชัก เช่น ยากลุ่มเบ็นโซไดอะซีปีน (Bensodiazepine) เช่น แวเลี่ยม (Valium) โดยการให้ยานั้น จะใช้ยาขนาดสูงในช่วงแรก และค่อยๆลดลงอย่างช้าๆทุก 1-2 สัปดาห์ ระยะเวลาที่ได้ยานั้นขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วย บางรายอาจได้ยานาน 3-6เดือน แต่โดยทั่วไปก็ประมาณ 2-3 เดือน
• เมื่อไหร่ที่ผู้ป่วยถอนสุราที่มีอาการชักควรไปพบแพทย์?
ถ้าผู้ป่วยมีอาการชัก ญาติควรพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงงพยาบาลทันทีโดยเฉพาะการชักครั้งแรก เพราะแพทย์ต้องตรวจประเมินว่ามีสาเหตุการชักจากอะไร เพราะอาจมีสาเหตุจากรอยโรคในสมอง เช่น เลือดออก หรือการติดเชื้อของสมองได้ นอกเหนือจากภาวะการถอนสุรา
• ผู้ที่มีภาวะถอนสุราควรได้ยาป้องกันการชักหรือไม่?
ผู้มีอาการชักที่ไม่รุนแรง ชักไม่บ่อย แพทย์มักให้การรักษาโดยรักษาประคับประคองตามอาการเท่านั้น เช่น อยู่ในที่สงบ แสงสลัว งดดื่มกาแฟ และให้ดื่มน้ำมากๆ ไม่จำเป็นต้องให้ยาป้องกันการชัก แต่ถ้ามีอาการรุนแรงก็จำเป็นต้องให้ยากันชัก เช่น ยาเบ็นโซไดอะซีปีน
• การชักจากภาวะถอนสุรามีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การชักจากภาวะถอนสุรา รักษาได้ไม่ยาก คือมีการพยากรณ์โรคที่ดี ถ้าผู้ป่วยไม่มีรอยโรคในสมองร่วมด้วย และไม่กลับไปดื่มสุราอีก แต่ในบางรายที่มีรอยโรคในสมองร่วมด้วย เช่น สมองเคยได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรง มีร่องรอยการฝ่อของสมอง (สมองฝ่อ)เฉพาะส่วน อาจจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยากันชักอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานดังกล่าวแล้วในหัวข้อการรักษา
• ผู้ป่วยที่มีการชักจากถอนสุรา/ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ผู้ป่วยควรดูแลตนเองด้วยการ เลิกดื่มแอลกอฮอล์/สุรา ปฏิบัติตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ และให้ความร่วมมือกับครอบครัวในการดูแลผู้ป่วยเอง
ญาติควรดูแลผู้ป่วยเรื่องการทานยาให้สม่ำเสมอ พยายามให้ผู้ป่วยหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่อาจทำให้ชักได้ เช่น อากาศร้อนจัด ไฟกระพริบ เป็นต้น
และถ้าผู้ป่วยมีอาการชักซ้ำหลายครั้ง หรือเกิดอุบัติเหตุจากการชัก หรือมีอาการผิดปกติอื่นๆเกิดขึ้น หรือเมื่อกังวลในอาการผู้ป่วย ก็ควรพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ
ค. ประสาทหลอนในผู้ป่วยดื่มสุราเรื้อรัง:
• ประสาทหลอนในผู้ดื่มสุราเรื้อรังมีอาการอย่างไร?
ผู้ป่วยประสาทหลอนจากดื่มสุราเรื้อรัง/พิษสุราเรื้อรัง จะมีอาการฝันร้าย การนอนผิดปกติไม่ยอมนอน/นอนไม่หลับเรื้อรัง ประสาทหลอนทั้งภาพและเสียง รวมทั้งการดมกลิ่น ลักษณะเฉพาะ เช่น เห็นเต่าสีทอง และช้างสีชมพู เป็นต้น
• เมื่อมีประสาทหลอนควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
เมื่อญาติสังเกตเห็นผู้ป่วยมีประสาทหลอน ญาติควรพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ โดยเฉพาะเมื่อไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ หรือ ผู้ป่วยมีอาการที่รุนแรง มีการทำร้ายร่างกายหรือทำลายสิ่งของ ไม่ยอมนอน หรือ ไม่ดื่มน้ำ ไม่ทานอาหาร
• แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่ามีประสาทหลอนจากพิษสุรา?
แพทย์วินิจฉัยภาวะประสาทหลอนจากพิษสุราได้จากประวัติการดื่มสุรา ภาวะติดสุรา และการหยุดดื่มสุรา ร่วมกับอาการผิดปกติที่เกิดขึ้น โดยไม่ได้มีสาเหตุอื่นๆ เพราะบางครั้งผู้ป่วยที่ดื่มสุราเป็นประจำที่มีอาการประสาทหลอน อาจเกิดจากการใช้สารเสพติดอื่นๆร่วมด้วย รวมทั้งอาจมีสาเหตุของโรคในสมอง เช่น ภาวะเลือดออกในสมอง เป็นต้น ดังนั้นบางครั้งต้องมีการตรวจ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ สมองร่วมด้วย
• ประสาทหลอนจากพิษสุรารักษาอย่างไร?
การรักษาอาการประสาทหลอนจากพิษสุรา จำเป็นต้องใช้ยารักษา เช่น ยารักษาทางจิตเวชบางชนิด ร่วมกับยา Benzodiazepine (ช่วยป้องกันอาการชัก) เพื่อป้องกันอาการชักด้วย การรักษาใช้เวลานานหลายสัปดาห์ และต้องค่อยๆลดขนาดยาลงอย่างช้าๆ เพื่อป้องกันอาการแทรกซ้อนจากการถอนยาอีก (เช่น กระวนกระวาย อ่อนแรง)
• ประสาทหลอนจากพิษสุรามีการพยากรณ์โรคเป็นอย่างไร?
การรักษาประสาทหลอนจากภาวะถอนสุรา สามารถรักษาหายได้ แต่ไม่ง่ายนัก ต้องใช้เวลานานหลายสัปดาห์ถึงหลายเดือน ขึ้นอยู่กับมีภาวะติดสุรา หรือพิษสุราเรื้อรังหรือไม่ การพยากรณ์โรค ยังขึ้นอยู่กับมีโรคร่วมอื่นๆด้วยหรือไม่ เช่น โรคตับแข็ง ตับวาย สมองฝ่อ ถ้ามีโรคร่วม การพยากรณ์โรคก็ไม่ดี
• ผู้ป่วยที่ประสาทหลอน/ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร?เมื่อไรควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ผู้ป่วยพิษสุราที่มีประสาทหลอน เมื่อรู้ตัวต้องเลิกดื่มสุรา ต้องปฏิบัติตามแพทย์พยาบาลแนะนำ ต้องพยายามให้มีสติ และให้ความร่วมมือกับญาติในการดูแลผู้ป่วย
ญาติต้องดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด และอดทน เพราะผู้ป่วยอาจมีการทำร้ายร่างกาย ทำร้ายผู้อื่นๆ หรือทำลายสิ่งของได้ ควรให้ความมั่นใจกับผู้ป่วย ดูแลการทานยาให้สม่ำเสมอ เพราะต้องทานยาหลายชนิด หลายเวลา อย่าให้ดื่มสุราอีก
ถ้าอาการผู้ป่วยผิดปกติมากขึ้น ชัก ไม่ยอมนอน และมีอาการหวาดระแวงอย่างรุนแรง หรือ ญาติกังวลในอาการ ควรพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด
• ภาวะประสาทหลอน สับสน ร่วมกับ ซึมลง (Delirium tremens) คืออะไร?
ภาวะประสาทหลอน สับสน ร่วมกับ ซึมลง (Delirium tremens ย่อว่า DT) คือ อาการที่เกิดขึ้นในผู้ป่วยที่ดื่มสุราเป็นประจำและต่อเนื่อง จนติดสุรา จะเกิดอาการประสาทหลอน สับสน หลงผิด (Delusion) สั่น ไม่รู้สึกง่วง มีอาการของระบบประสาทอัตโนมัติเพิ่มขึ้น เช่น ม่านตาขยาย มีไข้ หัวใจเต้นเร็ว เหงื่อออกมาก อาการมักเกิดภายใน 48-96 ชั่วโมงหลังดื่มสุราครั้งสุดท้าย นอกจากนั้น คือ มีภาวะขาดน้ำ มีภาวะเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ เช่น เกลือแร่ โปแตสเซียม (Potassium), แมกนีเซียม (Magnesium), และฟอสเฟต (Phosphate)ต่ำ ซึ่งภาวะเหล่านี้มีอันตรายและทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
อาการของ Delirium tremens นั้นเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากการหยุดสุราอย่างทันที เช่น เกิดการเจ็บป่วยและเข้ารักษาในโรงพยาบาล ผู้ป่วยจะมีอาการประสาทหลอนร่วมกับอาการชัก และระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติร่วมด้วย ซึ่งมีอันตรายมาก แตกต่างกับอาการประสาทหลอนในช่วงแรกของการหยุดดื่มสุราที่มีเพียงอาการประสาทหลอนและระบบประสาทอัตโนมัติผิดปกติ แต่ไม่รุนแรง
ค. ภาวะสูญเสียความทรงจำจากพิษแอลกอฮอล์/พิษสุราเรื้อรัง (Wernicke-Korsakoff syndrome)
• ภาวะเสียความทรงจำจากพิษแอลกอฮอล์เรื้อรัง (Wernicke-Korsakoff syndrome) คืออะไร?
ภาวะสูญเสียความทรงจำจากพิษแอลกอฮอล์เรื้อรัง (Wernicke-Korsakoff syndrome) คือ ภาวะเสียความจำ (Amnesia) แบบไปข้างหน้า (Anterograde amnesia)มากกว่าแบบย้อนหลัง(Retrograde amnesia) ผู้ป่วยจะรู้สติดี ทั้งนี้เกิดจากภาวะขาดสารอาหาร ไทอามีน (Thiamine) และมีภาวะขาดสารอาหารอื่นๆร่วมด้วย (เช่น วิตามิน เกลือแร่ ต่างๆ) ผู้ป่วยจะมีอาการกลอกตาไม่ได้ (Ophthalmoparesis) ตากระตุก (Nystagmus) เดินเซ (Ataxia) และสับสน ซึ่งภาวะนี้ เป็นภาวะหนึ่งในผู้ป่วยพิษสุราที่ต้องรีบรักษาโดยจัดเป็นภาวะฉุกเฉิน
• เมื่อมีภาวะเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
เมื่อเกิดอาการผิดปกติดังกล่าวจากภาวะเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์/สุรา ญาติควรพาผู้ป่วยพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที เพราะอาการดังกล่าวมีอันตรายค่อนข้างสูง อาจเสียความจำถาวร และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้
• แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่าเป็นภาวะเสียความจำจากพิษแอกอฮอล์?
แพทย์วินิจฉัยได้ว่าเป็นการเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์ โดยพิจารณาจากประวัติการดื่มสุราจนติดและมีกลุ่มอาการที่ผิดปกติดังกล่าวข้างต้น
ในบางราย การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือแม่เหล็กไฟฟ้า (เอมอาร์ไอ) สมอง สามารถตรวจพบความผิดปกติในเนื้อสมองได้ชัดเจน ก็เป็นการช่วยยืนยันการวินิจฉัย แต่ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบความผิดปกติ
• รักษาภาวะเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์อย่างไร?
การรักษาภาวะเสียความจำจากพิษสุรา จะให้ผลตอบสนองต่อการรักษาด้วยการให้ -สารอาหารไทอามีน -สารอาหารชนิดต่างๆ -การแก้ไขเกลือแร่ที่ผิดปกติ -และการรักษาอาการเดินเซด้วยการทำกายภาพบำบัด
ส่วนความทรงจำนั้น ต้องใช้การฝึกความจำ (การฝึกทางจิตเวช)เมื่อผู้ป่วยมีอาการอื่นๆที่ดีขึ้นจนสามารถให้ความร่วมมือในการฝึกได้
ส่วนการใช้ ยาอื่นๆที่เพิ่มความจำที่ใช้รักษาภาวะสมองเสื่อม ไม่มีข้อมูลสนับสนุนว่าได้ประโยชน์ชัดเจน
• ภาวะเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรคในการรักษาภาวะเสียความจำจากพิษแอลกอฮอล์ ส่วนใหญ่ได้ผลไม่ค่อยดี เนื่องจาก ผู้ป่วยมักมีมีปัญหาสุขภาพอย่างอื่นร่วมด้วย เช่น โรคตับแข็ง ภาวะตับวาย และมักเกิดภาวะสมองฝ่อจากพิษของแอลกอฮอล์/สุราร่วมอยู่ด้วย
• ผู้ที่มีภาวะเสียความจำ/ญาติ ควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?
ผู้ป่วยที่มีภาวะเสียความจำจะดูแลตนเองได้ยาก จึงมักต้องเป็นภาระในการดูแลจากญาติ แต่ถ้าพอมีสติ ควรให้ความร่วมมือกับญาติในการดูแลผู้ป่วยเสมอ
การดูแลผู้ป่วยของญาติที่เหมาะสมนั้น คือ ต้องอดทน และเข้าใจว่าผู้ป่วยมีอาการดังกล่าวเนื่องจากมีภาวะเสียความจำ ไม่ได้แกล้งทำ ดังนั้นผู้ป่วยจะมีอาการพูดจาสับสน คล้ายโกหก ถ้าญาติหรือผู้ดูแลไม่เข้าใจก็จะทำให้ไม่สามารถดูแลผู้ป่วยได้ดี จะหงุดหงิดกับผู้ป่วย ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการรักษา และต่อญาติเองด้วย ควรดูแลการทานยาของผู้ป่วยให้ครบถ้วน ให้กำลังใจ ต้องพยายามกระตุ้นให้ผู้ป่วยเลิกเหล้า/สุรา/แอลกอฮอล์ อย่างถาวร และถ้าผู้ป่วยมีอาการผิดปกติไปจากเดิม และ/หรือ มีอาการที่รุนแรงขึ้น และ/หรือเกิดภาวะแทรกซ้อน(ผลข้างเคียง เช่น ขึ้นผื่น คลื่นไส้ อาเจียน)จากยาที่ใช้รักษา และ/หรือ ญาติกังวลในอาการผู้ป่วย ให้รีบพาผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ
ถ้าจำเป็นต้องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำควรทำอย่างไร?
จริงแล้วไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำไม่ว่าด้วยเหตุผลใดๆก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติที่พบนั้น เราจะเห็นว่ามีผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำด้วยเหตุผลหลัก คือ การเข้าสังคมและคลายเครียด ด้วยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์นั้นจะทำให้ผู้ดื่มมีอารมณ์ที่ดีขึ้นชั่วคราว อย่างไรก็ตามการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสม ในผู้มีสุขภาพที่แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว จากหลายการศึกษาพบว่า ถ้าดื่มในปริมาณที่จำกัด คือ ปริมาณเบียร์ไม่ควรเกิน 1 ขวดของเบียร์ หรือ 2 กระป๋อง ถ้าเป็นเหล้าผสมน้ำก็ไม่ควรเกิน 2 แก้ว ก็อาจลดผลเสียต่อสุขภาพลงได้
นอกจากนี้ ก็ควรต้องทานอาหารร่วมด้วยทุกครั้ง ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์ขณะท้องว่าง ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว และไม่ควรขับรถเมื่อดื่มแอลกอฮอล์ และควรมีการตรวจสุขภาพเป็นประจำ
แต่ถ้าท่านมีโรคประจำตัว ไม่ควรดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด เพราะแอลกอฮอล์นั้นไม่ได้มีผลดีต่อสุขภาพเลยครับ
สรุป
จะเห็นได้ว่าพิษภัยของแอลกอฮอล์มีอันตรายต่อระบบประสาทอย่างยิ่ง ดังนั้นอย่าลองดื่มโดยเด็ดขาด เพราะถ้าดื่มแล้วจะเกิดการติดเช่นเดียวกับสารเสพติดอื่นๆทุกชนิด
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมถึงผลของแอลกอฮอล์ต่อเส้นประสาทได้ในบทความเรื่อง โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์