โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์ เส้นประสาทอักเสบเหตุจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Neuropathy)

สารบัญ

บทนำ

อาการมึนชาปลายมือปลายเท้า เป็นอาการผิดปกติของเส้นประสาท มีสาเหตุที่พบบ่อย เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคไตวาย เป็นต้น ในผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ (สุรา หรือ เหล้า) เป็นประจำก็มีอาการมึนชาปลายมือปลายเท้าได้บ่อย อาการดังกล่าวคืออะไร เกิดจากอะไร และเกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์อย่างไร อ่านได้จากบทความนี้ครับ

อาการมึนชาปลายมือปลายเท้าเกิดจากอะไร?

โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์

อาการมึนชา ปลายมือปลายเท้าที่พบโดยทั่วไปนั้น มักเกิดจากมีความผิดปกติของระบบประสาทส่วนของเส้นประสาทส่วนปลาย (Peripheral nerve) ซึ่งความผิดปกติที่เส้นประสาทมีสาเหตุมากมาย ตั้งแต่เป็นโรคพันธุกรรมที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด การอักเสบของเส้นประสาทจากโรคเบาหวาน โรคไตวาย โรคเอดส์ และจากการดื่มแอลกอฮอล์

โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์มีอาการอย่างไร?

อาการของโรคเส้นประสาทเหตุโดยแอลกอฮอล์ มีลักษณะคล้ายกับอาการโรคเส้นประ สาทจากสาเหตุอื่นๆ คือ มีอาการมึนชาของขามากกว่ามือและแขน อาการมักเกิดเท่ากันทั้งสองข้าง ซึ่งเป็นลักษณะความผิดปกติของเส้นประสาทส่วนปลาย ที่มีรอยโรคเริ่มต้นที่แอกซอน/ Axon (ใยประสาทชนิดหนึ่งของเซลล์ประสาท)

โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์พบบ่อยหรือไม่?

โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์ พบในผู้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ โดยพบได้บ่อย ประมาณ 12 ถึง 48% ของผู้ดื่มแอลอฮอล์ทั้งหมด ทั้งนี้ขึ้นกับระยะเวลาที่ดื่มมานานแค่ไหน มักพบบ่อยกรณีดื่มมานานมากกว่า 10 ปี

โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์เกิดจากอะไร?

โรคดังกล่าวมีสมมติฐานว่าเกิดจาก 2 สาเหตุ คือ

  • จากพิษของแอลกอฮอล์โดยตรงต่อเซลล์ของเส้นประสาท
  • จากขาดสารอาหาร ที่มีหน้าที่ช่วยการทำงานของเส้นประสาท เช่น สารไทอามีน (Thiamine) หรือวิตามินบี 1 และสารอาหารอื่นๆ เช่น วิตามินบี 6 วิตามินบี 12 ทั้งนี้อาจจาก กินได้ไม่เพียงพอ (เพราะคนที่ดื่มแอลกอฮอล์ มักไม่ค่อยกินอาหาร และ/หรือกินอาหารไม่มีประโยชน์) หรือ พิษของแอลกอฮอล์ส่งผลให้
    • การดูดซึมสารอาหารต่างๆลดลง
    • ร่างกายนำสารอาหารไปใช้ไม่ได้
    • และ/หรือ ร่างกายไม่สามารถเก็บสะสมสารอาหารเหล่านี้ไว้เป็นทุนสำรองในร่างกายได้

อาการโรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์มีอะไรบ้าง?

อาการผิดปกติหลักๆของโรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์ ประกอบด้วย

  • อาการมึนชาปลายเท้ามากกว่ามือและแขน และอาการเกิดเท่ากันทั้ง 2 ข้าง ซ้ายและขวา
  • อาการเจ็บ/ปวดบริเวณปลายเท้า
  • อาการอ่อนแรงของปลายเท้ามากกว่ามือและแขน ร่วมกับอาการปลายเท้าบวม
  • อาการเดินเซ ร่วมกับอาการชา

*****หมายเหตุ อาการความรู้สึกทางเพศลดลง นกเขาไม่ขัน กลั้นอุจจาระ และ/หรือ กลั้นปัสสาวะไม่อยู่ เป็นผลจากพิษของแอลกอฮอล์ต่อระบบประสาทอัตโนมัติและต่อไขสันหลัง (อ่านเพิ่มเติมใน ในบทความเรื่อง แอลกอฮอล์และระบบประสาท)

เมื่อมีอาการของโรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการของโรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์ดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรไปพบแพทย์เสมอ เพื่อการตรวจประเมินว่ามีสาเหตุจากอะไร เนื่องจาก อาการดังกล่าวที่เกิดขึ้นในผู้ดื่มแอลกอฮอล์นั้น อาจไม่ได้มีสาเหตุจากการดื่มสุรา/แอลกอฮอล์ก็ได้ อาจเกิดจากสาเหตุอื่น ๆเหมือนคนทั่วไป เช่น จากโรคเบาหวาน หรือโรคไตเรื้อรัง เพราะจำเป็นต้องรีบให้การรักษาที่ถูกต้องตามสาเหตุ แต่เป็นภาวะไม่รีบด่วนมาก

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุอาการมึนชาปลายเท้าได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการผิดปกติดังกล่าวในหัวข้อ อาการ โดยใช้ข้อมูลจากประวัติอาการ และประวัติอื่นๆทางการแพทย์ เช่น การดื่มแอลกอฮอล์เรื้อรัง การเจ็บป่วยในอดีตและปัจจุบัน (โรคประจำตัวต่างๆ) การใช้ยาต่างๆ และการตรวจร่างกาย

อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางราย แพทย์จำเป็นต้องส่งตรวจการนำกระแสไฟฟ้าของเส้น ประสาทและของกล้ามเนื้อ (Electromyogram and nerve conduction study) เพื่อวินิจฉัยว่า การอ่อนแรงของแขน ขา เกิดจากโรคของกล้ามเนื้อ หรือจากโรคของเส้นประสาท และ การตรวจเลือดต่างๆเพื่อหาสาเหตุอื่นๆ (เช่น โรคเบาหวาน) ทั้งนี้ การตรวจเพิ่มเติมต่างๆขึ้นกับอา การผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์

โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์จำเป็นต้องตัดเส้นประสาทตรวจหรือไม่?

ในทางปฏิบัติโดยทั่วไป ไม่มีความจำเป็นต้องตัดเส้นประสาท เพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา เพื่อการวินิจฉัยโรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์ ยกเว้นมีอาการที่ไม่ชัดเจน แพทย์ไม่สามารถให้ข้อสรุปได้ว่าอาการผิดปกติ เกิดจากอะไร หรือผู้ป่วยมีลักษณะผิดปกติที่บ่งชี้ว่าน่าจะมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ ก็มีความจำเป็นต้องตัดเส้นประสาทมาตรวจ เช่น โรคเรื้อน หรือ โรคของปลอกหุ้มประสาท (Demyelination)

โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์ต้องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอหรือไม่?

โรคนี้ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจภาพระบบประสาทด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์หรือเอมอาร์ไอ เพราะเป็นโรคของเส้นประสาท ยกเว้นในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการผิดปกติของเส้นประ สาทร่วมกับไขสันหลัง ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องตรวจแยกโรคอื่นๆของไขสันหลัง เช่น เนื้องอก เป็นต้น

ใครมีโอกาสเป็นโรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์มากขึ้น?

ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์จนมีภาวะติดสุรา เป็นโรคเบาหวาน โรคไตวาย และ/หรือมีภาวะขาดสารอาหารต่างๆ/ภาวะทุพโภชนาการ

โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์รักษาอย่างไร?

ในการรักษาโรคนี้ สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ต้องหยุดดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับรักษาภาวะขาดสารอาหารให้ดีขึ้น โดยการเสริมวิตามินและสารอาหารต่างๆที่ตรวจพบว่ามีภาวะพร่องจากปกติ อาจโดยการฉีดเข้ากล้ามเนื้อและ/หรือทางหลอดเลือดดำตามดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งอาจต้องให้สารอาหารเหล่านี้เป็นระยะเวลานานประมาณ 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นต้องได้รับการเสริมสาร อาหารอย่างต่อเนื่องด้วยการรับประทานจนกว่าจะหายเป็นปกติ ซึ่งใช้เวลานานหลายเดือน ทั้งนี้ต้องร่วมกับรักษาควบคุมโรคร่วมอื่นๆ เช่น โรคตับแข็ง โรคเบาหวาน ให้ดีขึ้น ร่วมกับการทำกาย ภาพบำบัดฟื้นฟูกล้ามเนื้อด้วย

โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์รักษาหายหรือไม่?

ถ้าอาการไม่รุนแรง เป็นมาไม่นาน เมื่อรักษาแล้วอาการจะดีขึ้นมาก อาการส่วนใหญ่นั้นจะดีขึ้นภายใน 4-6 สัปดาห์หลังการรักษา แต่ส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยมักจะมีอาการมานาน ร่วมกับมีโรคร่วมอื่นๆดังกล่าวแล้วร่วมด้วย กรณีเช่นนี้ผลการรักษาได้ผลไม่ค่อยดี

โรคเส้นประสาทเหตุจากแอลกอฮอล์มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคนี้มีการพยากรณ์ที่ดีในระดับหนึ่ง ขึ้นกับความรุนแรงและโรคร่วมที่พบด้วย

กรณีที่มีเพียงอาการออกร้อนหรือปวดปลายเท้าไม่มาก ให้การรักษาด้วยยาก็อาจได้ผลดี

แต่ถ้ามีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงอย่างมากร่วมกับมีโรคตับแข็ง หรือตับอักเสบที่รุนแรง การรักษาก็ได้ผลไม่ค่อยดี อย่างไรก็ตาม เมื่อทำการรักษาแล้ว อาการก็จะไม่ทรุดลงไปอีก

กรณีที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษา การดูแลไม่ให้อาการเลวลงที่สำคัญคือ ต้องเลิกดื่มแอลกอฮอล์

ทั้งนี้ อาการของโรคนี้จะไม่พัฒนาไปเป็นอาการอัมพาตโดยตรง แต่ผู้ป่วยเหล่านี้ก็มีโอ กาสเกิดอาการอัมพาตสูงกว่าคนทั่วไป เพราะมีปัญหาโรคตับ และภาวะทางโภชนาการที่ไม่ดี ที่ส่งผลให้เกิดโรคสมองที่เป็นสาเหตุของอัมพาตได้

ผู้ป่วย/ญาติควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพบแพทย์ก่อนนัด?

สิ่งสำคัญที่สุดในการดูแลผู้ป่วย คือต้องเลิกดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด ทานยาที่แพทย์สั่งมาอย่างสม่ำเสมอ และต้องหมั่นสังเกตว่ามีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) จากยาหรือไม่ กล่าวคือ ถ้ามีอาการใดๆที่ผิดสังเกตหรือทรุดลงไปจากเดิม ให้รีบพบแพทย์ทันทีก่อนนัด

อีกประการหนึ่งไม่ควรหาซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารมาทานเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ที่ให้การรักษาผู้ป่วยก่อน ทั้งนี้เพราะอาจมีผลข้างเคียงต่อการทำงานของตับได้ เพราะดังกล่าวแล้วว่า โรคนี้มักเกิดร่วมกับโรคตับแข็ง

ถ้าจำเป็นต้องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ มีวิธีป้องกันผลข้างเคียงจากพิษแอลกอฮอล์อย่างไร?

จริงๆแล้วไม่ควรมีการดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำด้วยเหตุผลใดๆทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม ถ้าจำเป็น ก็ต้องรู้จักดื่มเพียงพอประมาณ ไม่ให้เมา หรือให้เกิดโทษ คือวันละไม่ควรเกิน เบียร์ 1 ขวดหรือ 2 กระป๋อง เหล้าผสมน้ำไม่เกิน 2 แก้ว และต้องทานอาหารทุกครั้ง (อาหารมีประ โยชน์ทั้ง 5 หมู่) ไม่ควรดื่มแต่แอลกอฮอล์อย่างเดียว โดยเฉพาะช่วงท้องว่างเพราะกระเพาะอา หารจะดูดซึมแอลกอฮอลล์ได้ดี แต่ถ้ามีโรคประจำตัว ทางที่ดีควรอด/เลิก/ไม่ดื่มแอลกอฮอล์อย่างเด็ดขาด

ถ้าจำเป็นต้องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำควรดูแลตนเองอย่างไร?

นอกจากการปฏิบัติดังกล่าวแล้วในข้อข้างต้น ควรต้องหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ และถ้าพบว่ามีความผิดปกติใดๆเกิดขึ้นเพียงเล็กน้อย ก็ควรรีบหยุดดื่มทันที

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าผลการตรวจสุขภาพจะปกติ ก็ไม่ควรประมาทโดยการดื่มมากขึ้น ผู้เขียนยังยืนยันว่า การดื่มแอลกอฮอล์ ต้องไม่ควรเกินคำแนะนำข้างต้น

สรุป

เมื่อเห็นผลเสียของแอลกอฮอล์อย่างนี้แล้ว ลด เลิก ละ อย่าริดื่มโดยเด็ดขาด

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมเรื่องผลของแอลกอฮอล์ต่อระบบประสาทในบทความเรื่อง แอลกอฮอล์และระบบประสาท