เนื้องอก (Tumor)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

เนื้องอกหมายความว่าอย่างไร?

เนื้องอก (Tumor หรือ Tumour) หมายถึง ก้อนเนื้อผิดปกติที่เกิดขึ้นในอวัยวะต่างๆของร่างกาย ชื่ออื่นคือ นีโอพลาเซีย (Neoplasia),  นีโอพลาสซึม (Neoplasm), โดยก้อนเนื้อผิดปกตินี้เกิดจากการแบ่งตัวเพิ่มปริมาณของเซลล์ ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้วจะทำให้อวัยวะที่มีเนื้องอกมีขนาดใหญ่ขึ้น, ใหญ่มากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของเนื้องอกนั้นๆ

ส่วนใหญ่เนื้องอก เวลาคลำ จะมีความแข็งมากกว่าเนื้อปกติของอวัยวะนั้นๆ โดยมากถ้าเป็นอวัยวะปกติที่คลำได้ง่าย เช่น ผิวหนัง เต้านม อวัยวะเพศ ช่องปาก ต่อมไทรอยด์ ต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำเหลือง ทวารหนัก และอัณฑะ เมื่อเกิดเนื้องอกขึ้น  จะเห็นและคลำได้ง่าย เพราะจะเห็นเป็นก้อนทำให้อวัยวะนั้นมีขนาดใหญ่ผิดปกติ, แต่ถ้าเป็นเนื้องอกที่เกิดที่อวัยวะภายในลึกๆ จะสังเกตเห็นหรือคลำพบได้ยากมากจนกว่าจะมีขนาดใหญ่มากแล้ว เช่น ปอด ตับ ไต มดลูก สมอง ตับอ่อน ม้าม ต่อมลูกหมาก และ กระเพาะปัสสาวะ                        

การที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่เป็นก้อน ก็เพราะมีการแบ่งตัวเพิ่มปริมาณของเซลล์ที่ผิดปกติของอวัยวะนั้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งการแบ่งตัวเพิ่มปริมาณของเซลล์นี้เป็นการแบ่งตัวที่ร่างกายควบคุมไม่ได้ ไปสั่งการหรือบังคับให้หยุดแบ่งตัวเพิ่มปริมาณไม่ได้ จึงค่อยๆเพิ่มจำนวนของเซลล์ในก้อนเนื้องอก และขนาดก็ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ

เนื้องอกถือเป็นความผิดปกติของร่างกายมนุษย์ หรือเป็นโรคชนิดหนึ่ง ซึ่งทางการแพทย์จัดไว้ในกลุ่มที่เรียกว่า ‘นีโอพลาเซีย (Neoplasia)’

เนื้องอกมีกี่ชนิด? เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงต่างจากเนื้องอกมะเร็งอย่างไร?

 

เนื้องอก แบ่งใหญ่ๆ เป็น 2 ชนิด คือ ‘เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (ไม่ใช่มะเร็ง)’ ทางการ แพทย์เรียกว่า Benign tumor หรือ Benign neoplasia,  อีกชนิดคือ เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้าย หรือที่เรียกว่า’โรคมะเร็ง’ ทางการแพทย์เรียกว่า ‘Malignant tumor หรือ Malignant neoplasia หรือ Cancer(ตัวย่อทางการ คือ Ca แต่ทั่วไปใช้ Ca หรือ CA)’

เนื้องอกทั้งสองชนิดนี้มีความแตกต่างกันในพฤติกรรมของเซลล์ของเนื้องอก ได้แก่ เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงจะโตช้าๆ เพราะเซลล์ของเนื้องอกแบ่งตัวช้า, ไม่ค่อยมีการแทรกตัวเข้าไประหว่างเซลล์ปกติ, ไม่ค่อยมีการทำลายเซลล์ปกติใกล้เคียง, และที่สำคัญที่สุดคือ ไม่มีการกินทะลุเข้าไปในหลอดเลือดและท่อน้ำเหลือง ทำให้ไม่มีโอกาสที่เซลล์เนื้องอกจะแพร่กระจายตามหลอดเลือดและหลอดน้ำเหลืองไปเติบโตเป็นก้อนที่อวัยวะอื่นๆที่อยู่ไกลออกไปได้

ในทางตรงกันข้าม เนื้องอกที่เป็นเนื้อร้ายหรือโรคมะเร็ง จะมีขนาดโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะเซลล์มะเร็งแบ่งตัวเพิ่มปริมาณเร็วมาก, เซลล์มะเร็งจะเบียดแทรกตัวเข้าไปอยู่ระหว่างเซลล์ปกติใกล้เคียง และทำลายเซลล์ปกติเหล่านั้นด้วย, ที่สำคัญที่สุดคือ เซลล์มะเร็งสามารถแทรกตัวทะลุเข้าไปในหลอดน้ำเหลืองและหลอดเลือดได้ และอาศัยการไหลเวียนของเลือด และน้ำเหลือง นำพาเอาเซลล์มะเร็งเหล่านี้แพร่กระจายไปเจริญเติบโตเป็นก้อนมะเร็งก้อนใหม่ที่อวัยวะอื่นๆได้, การแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งไปสู่อวัยวะอื่นๆนี้ ทางการแพทย์เรียกว่า เมตาสะเตสีส (Metastasis) ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้คนไข้ตายจากโรคมะเร็งได้

ในบทนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะ 'เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง' ส่วนเนื้องอกชนิดร้ายแรง จะกล่าวถึงในบทความเรื่อง ‘มะเร็ง’

อนึ่ง: เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง เป็นโรคพบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อยมาก  และยังไม่มีรายงานสถิติเกิดในภาพรวม  เพราะส่วนใหญ่จะรายงานแยกเป็นแต่ละอวัยวะ  จึงยังไม่มีสถิติที่ชัดเจนของโรค, เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงพบได้ในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดได้ใกล้เคียงกัน

เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงมีสาเหตุจากอะไร?

เช่นเดียวกับโรคมะเร็ง สาเหตุที่แน่ชัดของเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงยังไม่ทราบ แต่จากการศึกษาต่างๆ อาจเกิดได้จากหลายปัจจัย ที่พบบ่อย เช่น  

  • ได้รับสารเคมีบางอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง เช่น จากสารพิษในควันบุหรี่ สารพิษในแอลกอฮอล์, สารพวกสีย้อมผ้าต่างๆ, จากยาบางชนิด(เช่น ยาสารเคมีที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง)
  • ติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น ไวรัสเอชพีวีที่เป็นสาเหตุเกิดโรคหูด
  • ได้รับรังสีบางชนิด เช่น เนื้องอกต่อมไทรอยด์จากได้รับรังสีจากสารไอโซโทป กรณีอุบัติเหตุของโรงงานที่ใช้พลังงานปรมาณู
  • มีพันธุกรรมผิดปกติ เช่น เนื้องอกของลำไส้ใหญ่

เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงมีอาการอย่างไร?

อาการของเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงมีได้หลายอย่าง ขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เป็นเนื้องอกว่าอยู่ตื้นๆ เช่น ผิวหนัง หรืออยู่ลึกภายในร่างกายซึ่งมองเห็นภายนอกได้ยาก แต่โดยทั่วไปแล้ว เนื้องอกมักจะมีอาการดังนี้ เช่น

  • มีก้อนเนื้อผิดปกติเกิดขึ้นที่อวัยวะนั้น เช่น มีก้อนนูนเกิดขึ้นที่ผิวหนัง หรือคลำก้อนเนื้อผิดปกติ ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนได้ในเต้านม หรือในช่องท้อง หรือตามแขนขา, ก้อนเนื้อเหล่านี้อาจคลำได้โดยตัวผู้ป่วยเอง คลำได้โดยญาติ เช่น มารดาคลำก้อนที่ผิดปกติได้ในท้องของบุตรที่ยังเป็นเด็กทารก หรือตรวจพบโดยแพทย์ที่ตรวจร่างกายก็ได้, ก้อนเนื้อที่คลำได้นี้อาจมีขนาดเล็กถ้าอยู่ในระยะเริ่มเป็น และโดยมากจะมีขนาดใหญ่ขึ้นช้าๆตามเวลาที่ผ่านไป, หลักในการสังเกตทั่วไป คือ ถ้าเป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็งมักจะมีขนาดใหญ่ขึ้นช้ากว่าเนื้องอกที่เป็นมะเร็ง
  • ก้อนเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงที่เกิดนั้น มักจะไม่มีอาการเจ็บปวด, ถ้ามีก้อนผิดปกติเกิด ขึ้นและมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย โดยมากจะเกิดจากการอักเสบมากกว่าจากเนื้องอก เช่น เป็นฝี (Abscess), แต่เนื้องอกไม่ร้ายแรงบางชนิดก็อาจจะมีอาการเจ็บปวดร่วมด้วยได้ เช่น เนื้องอกไปกดเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง เนื้องอกที่มีการอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เป็นต้น
  • ก้อนเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงที่เกิดขึ้น อาจจะทำให้การทำงานของอวัยวะนั้นผิดปกติไปจากเดิม ยกตัวอย่าง เช่น
    • เนื้องอกของต่อมไทรอยด์ที่ไม่ใช่มะเร็ง (Follicular adenoma): อาจผลิตฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์ (Thyroxine) ที่มากผิดปกติ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินได้
    • หรือฮอร์โมน Aldosterone ที่ผลิตออกมาจากเนื้องอกชนิด Cortical adenoma ของต่อมหมวกไต ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะความดันโลหิตสูงได้
    • นอกจากนั้น เนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง แต่ไปเกิดในอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง ก็อาจจะกดเนื้อสมองทำให้สมองทำงานผิดปกติมีอาการคล้ายโรคอัมพาต อาการชัก หรือตามองไม่เห็นได้ เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงได้อย่างไร?

การวินิจฉัยเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงของแพทย์ ใช้หลักการเดียวกับการวินิจฉัยโรคอื่นๆ ได้แก่

  • การซักถามประวัติอาการของผู้ป่วยเป็นอันดับแรกว่า มีอาการผิดปกติเป็นอย่างไร, เกิดที่ส่วนไหนของร่างกาย, เป็นมาเป็นเวลานานเท่าใดแล้ว, มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วยหรือไม่, ก้อนโตเร็วหรือโตช้า, มีประวัติการเป็นเนื้องอกในครอบครัวหรือไม่, เป็นต้น
  • การตรวจร่างกาย: โดยมากแพทย์จะตรวจร่างกายทั่วทุกระบบ โดยไม่จำเป็นต้องตรวจเฉพาะส่วนที่มีอาการเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อหาความผิดปกติอื่นๆที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน โดยอาจรวม ถึงการตรวจภายใน และนำเซลล์จากช่องคลอดและปากมดลูกมา เพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา ที่เรียกว่า แป๊บสเมียร์ (Pap smear) เพื่อตรวจโรคมะเร็งปากมดลูกด้วย
  • การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เช่น ตรวจเลือด,  การตรวจปัสสาวะ,  การตรวจอุจจาระ ทั้งนี้จะตรวจมากน้อยเท่าใดหรือตรวจอะไรบ้าง ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์, โดยนำข้อมูลที่ได้จากการซักประวัติ และตรวจร่างกายมาประกอบในการเลือกชนิดการตรวจด้วย, ปัจจุบันการตรวจสารที่หลั่งออกมาจากเซลล์เนื้องอก หรือสารมะเร็ง (Tumor marker) ก็มีประโยชน์ในการวินิจฉัยชนิดของเนื้องอกบางชนิดด้วย
  • การตรวจทางรังสีวิทยา: คือ (เอกซเรย์), รวมทั้งการตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์), การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์(ซีทีสแกน), การตรวจคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าเอมอาร์ไอ (MRI), และการตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ที่เรียกว่า เพทสะแกน (PET- scan), เป็นต้น, การตรวจเหล่านี้จะสามารถทำให้เห็นรูปร่าง ขนาด และตำแหน่งของเนื้องอกชัดเจนขึ้น
  • การตรวจทางพยาธิวิทยา และ/หรือ การตรวจทางเซลล์วิทยา ซึ่งโดยมากได้จากการเจาะดูดเซลล์จากก้อนเนื้องอกมาตรวจ (Fine needle aspiration, FNA) หรือตัดชิ้นเนื้อบางส่วนของก้อนเนื้องอกมาตรวจทางพยาธิวิทยา (Biopsy) จะทำให้ทราบชนิดของเนื้องอกได้ชัดเจนขึ้น

เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง รุนแรงไหม? ติดต่อไหม? รักษาหายไหม?

โดยทั่วไป เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง มีความรุนแรงโรคต่ำ แต่อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคขึ้นอยู่กับอวัยวะที่เกิดเนื้องอกว่าเป็นอวัยวะสำคัญหรือไม่ เช่น เกิดในอวัยวะสำคัญ เช่น สมอง หรือตา ก็อาจทำให้เกิดอาการรุนแรงได้

เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงไม่ใช่โรคติดต่อ จึงไม่สามารถติดต่อจากผู้หนึ่งไปสู่อีกผู้หนึ่งได้ในทุกทาง ทั้งทางการหายใจ เสมหะ สารคัดหลั่ง การกิน/ดื่ม อุจจาระ ปัสสาวะ และการสัมผัส จึงคลุกคลีกับผู้ป่วยได้ตามปกติ

โดยทั่วไป เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงมักรักษาให้หายด้วยการผ่าตัดเพียงวิธีการเดียว แต่บางครั้งถ้าเนื้องอกมีขนาดโตมาก หรืออยู่ติดกับหลอดเลือดขนาดใหญ่ หรือเกิดในตำแหน่งที่ผ่าตัดไม่ได้ หรือโรคเกิดซ้ำหลังจากผ่าตัด การรักษามักเป็นการผ่าตัดร่วมกับการฉายรังสีรักษา หรือ รังสีรักษาเพียงวิธีการเดียว, ส่วนการใช้ยาเคมีบำบัดและยารักษาตรงเป้า/ ยารักษามุ่งเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็งยังอยู่ในขั้นตอนของการศึกษา

รักษาและป้องกันเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงได้อย่างไร?

การรักษาและป้องกันเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง: ทั่วไป คือ

การรักษา:

ทั่วไปเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง การรักษาหลัก คือ ผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกเพียงวิธีเดียวก็สามารถรักษาโรคให้หายได้ และโอกาสกลับเป็นซ้ำมีได้ โดยขึ้นกับ ชนิดของเนื้องอก และการผ่าตัดสามารถตัดก้อนเนื้อออกได้หมดหรือไม่จากการตรวจก้อนเนื้อที่ผ่าออกด้วยกล้องจุลทรรศน์

วิธีรักษาอื่นๆ: คือ

  • รังสีรักษา: มักด้วยการฉายรังสีรักษา ที่จะใช้กรณี ผ่าตัดไม่ได้, หรือ โรคกลับเป็นซ้ำหลายครั้งจนผ่าตัดไม่ได้, หรือเซลล์เนื้องอกเริ่มกลายพันธ์ไปเป็นเซลล์มะเร็ง
  • ยาเคมีบำบัด: จะใช้กรณีเซลล์เนื้องอกเป็นชนิดตอบสนองต่อยาเคมีบำบัด โดยเนื้องอกกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัด, และ/หรือ เป็นเซลล์ฯมีการแบ่งตัวสูง
  • ยารักษาตรงเป้า: ปัจจุบันกำลังมีการศึกษาเรื่องยากลุ่มนี้อย่างจริงจัง เพราะเซลล์เนื้องอกส่วนใหญ่มักตอบสนองไม่ดีต่อทั้ง รังสีรักษา และ/หรือ ยาเคมีบำบัด

การป้องกัน:

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีป้องกันการเกิดเนื้องอกเพราะยังไม่ทราบสาเหตุเกิดที่แน่ชัด รวมทั้งบางสาเหตุที่ทราบ คือ พันธุกรรม ดังนั้นการดูแลตนเองที่ดีที่สุด คือ รีบพบแพทย์/มารงพยาบาลเมื่อพบมีก้อนเนื้อผิดปกติ เพื่อแพทย์วินิจฉัยแยกจากโรคมะเร็ง

มีผลข้างเคียงจากเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงไหม?

เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรงสามารถทำให้เกิดผลข้างเคียงต่อร่างกายได้หลายประการตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง ยกตัวอย่าง เช่น

  • ผลที่เกิดจากการมีก้อนเนื้อผิดปกติเกิดขึ้นในร่างกายโดยตรง: เช่น
    • ผลที่เกิดจากการที่ก้อนเนื้องอก กด ทับ เบียด แทรก เนื้อของอวัยวะปกติที่เกิดเนื้องอกนั้น หรืออวัยวะที่อยู่ใกล้เคียง ทำให้เนื้อเยื่อปกติมีขนาดฝ่อเล็กลง จึงทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของอวัยวะนั้นลดลง เช่น เนื้องอกของต่อมน้ำลายที่มีขนาดใหญ่ จะกดและเบียดต่อมน้ำลายส่วนที่ปกติให้เล็กลง จึงผลิตน้ำลายได้น้อยลง เป็นต้น  
    • การกดเนื้อปกติใกล้เคียง อาจจะทำให้เกิดความเจ็บปวดได้ถ้าก้อนเนื้องอกนั้นไปกดเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง
    • เนื้องอกในมดลูกจะเบียดโพรงมดลูกทำให้มีประจำเดือนผิดปกติได้ เช่น มีประจำเดือนมากและนานเกินไป
  • ผลที่เกิดจากการบิดของก้อนเนื้องอก: ทำให้เกิดการตายของเซลล์ของเนื้องอกที่เกิดจากการขาดเลือดมาเลี้ยง ผลที่ตามมาก็คือ อาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง เช่น เนื้องอกของรังไข่(รังไข่บิดขั้ว)ซึ่งมีขนาดใหญ่ อาจจะเกิดการบิดที่ขั้วของมัน จึงเกิดอาการปวดท้องรุนแรงได้
  • ผลที่เกิดจากเนื้องอกผลิตสารบางชนิดออกมาจากเซลล์ของเนื้องอกและส่งสารนั้นๆเข้าไปในกระแสเลือด ซึ่งจะไปมีผลต่อการทำงานของอวัยวะอื่นๆได้ เช่น เนื้องอกของต่อมไทรอยด์ อาจสร้างฮอร์โมนต่อมไทรอยด์ทำให้มีอาการของต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินได้ เป็นต้น

เมื่อสงสัยมีเนื้องอกควรทำอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อสงสัยมีเนื้องอกเกิดขึ้นในร่างกายของเรา เช่น คลำก้อนเนื้อผิดปกติได้ในเต้านม(ก้อนเต้านม) อาจจะแข็งเป็นไตหรือนุ่มๆก็ตาม ขั้นแรกอย่าเพิ่งปักใจเชื่อว่าเป็นเนื้องอก หรือเนื้อร้ายไปก่อนล่วงหน้า เพราะก้อนที่คลำได้นั้นอาจจะไม่ใช่เนื้องอกจริงๆ แต่อาจจะเป็นถุงน้ำ (Cyst) หรือเป็นเนื้อเยื่อที่อักเสบเป็นฝี หรืออื่นๆก็ได้ เราควรจะสังเกตเบื้องต้นว่า ก้อนนี้มีมานานเท่าใด เจ็บปวดหรือไม่ นุ่มหรือแข็ง สัมพันธ์กับอาการ หรือ ภาวะอื่นๆของร่างกายหรือไม่ เช่น มีไข้ร่วมด้วยหรือไม่ สัมพันธ์กับการมีประจำเดือนหรือไม่ เป็นต้น เพื่อที่จะนำข้อมูลเหล่านี้ไปแจ้งให้แพทย์ผู้ตรวจรักษาได้อย่างถูกต้อง ซึ่งจะนำไปสู่การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องตามขั้นตอนทางการแพทย์ต่อไป

ซึ่งเมื่อมีก้อนเนื้อผิดปกติเกิดในตำแหน่งใดก็ตาม, ไม่ว่าจะมีอาการอื่นร่วมด้วยหรือไม่, ขนาดก้อนเล็ก หรือก้อนใหญ่, ควรรีบพบแพทย์ภายใน 1-2 สัปดาห์เสมอ เพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยแยกจากโรคมะเร็ง

บรรณานุกรม

  1. https://www.staff.ncl.ac.uk/s.j.cotterill/medtm15a.htm [2022,Oct22]