ตาบอดสี (Color blindness)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ตาบอดสีหมายความว่าอย่างไร?

ตาบอดสี (Color blindness) เป็นภาวะ หรือบางคนเรียกว่าเป็นโรค ที่ตามองเห็นสีบางสีผิดไปจากคนปกติ ไม่ใช่ไม่เห็นสี เช่น คนตาบอดสีแดง ไม่ใช่ว่าเขาจะไม่เห็นสีแดงของวัตถุเลย เพียงแต่เขาอาจเห็นวัตถุนั้นเป็นสีเทา และเนื่องจากเขาถูกสอนตั้งแต่เด็กว่าวัตถุนั้นสีแดง (ทั้งๆที่เขาเห็นเป็นสีเทา) คนตาบอดสีแดงจึงบอกสีแดงได้ถูกต้อง เมื่อรับการตรวจวินิจฉัยว่าตาบอดสีแดง จึงไม่ยอมรับ เพราะเขาก็บอกได้ว่า นั่นเป็นสีแดง ซึ่งความสามารถในการเห็น และการแยกความแตกต่างของสีต่างๆ นอกจากเกิดจากความปกติของเซลล์รับรู้การเห็นสี (Photoreceptor cell) แล้ว ยังต้องอาศัยประสบการณ์เรียนรู้ด้วย

ตาบอดสี เป็นภาวะพบได้บ่อยภาวะหนึ่ง พบได้บ่อยกว่าในผู้ชาย โดยในผู้ชายพบภาวะนี้ได้ประมาณ 8% ของประชากรทั้งหมด แต่พบในผู้หญิงได้เพียงประมาณ 0.4%

ดวงตามีกลไกการเห็นสีอย่างไร?

ตาบอดสี

การที่คนเรามองเห็นสีต่างๆได้ เป็นเพราะภายในจอตา มีเซลล์รับรู้การเห็นสี (Photoreceptor) เราจะเห็นเป็นสีอะไรขึ้นอยู่กับว่ามีแสงสีอะไรมากระทบตาเรา คลื่นแสงที่คนเรามองเห็นได้ เป็นคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่น ขนาด 400-700 นานอมิเตอร์ (Nanometre)

คลื่นแสงที่มีขนาดยาวกว่า 700 ได้แก่ แสงอินฟราเรด(Infrared ray) คลื่นไมโครเวฟ (Microwave) คลื่นวิทยุ คลื่นโทรทัศน์ ส่วนคลื่นแสงที่สั้นว่า 400 ได้แก่ แสงอัลตราไวโอเล็ต หรือแสงยูวี (Ultraviolet light หรือ UV light) รังสีเอกซ์ (X-ray) และรังสีแกมมา (Gamma ray) ซึ่งตาคนเรามองไม่เห็น เนื่องจากจอตาคนเราไม่มีเซลล์รับรู้การเห็นสีนั้นๆ

คลื่นแสงขนาด 400-700 นานอมิเตอร์จะให้สีออกมาต่างๆกัน เช่น ขนาด 450 ให้สีน้ำเงิน และขนาด 700 ให้สีแดง บางคนอาจแจงคลื่นขนาด 400-700 ออกเป็น 7 สี ดังเช่น Sir Isaac Newton นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ เป็นคนแรกที่ใช้แก้วปริซึมแยกแสงแดดซึ่งเป็นแสงสีขาวออกมาเป็นสีรุ้ง ซึ่งท่านจินตนาการว่านับได้ 7 สี ทำให้ทุกวันนี้เราถือกันว่ารุ้งประกอบด้วยสี 7 สี ได้แก่ ม่วง คราม น้ำเงิน เขียว เหลือง แสด แดง เชื่อกันว่าคนโบราณถือว่าเลข 7 เป็นเลขศักดิ์สิทธิ์ เช่น สัปดาห์ต้องมี 7 วัน ใบหน้าคนเรามีช่อง 7 ช่อง (หู ตา จมูก ปาก) นิวตันจึงพยายามนับสีรุ้งให้เป็น 7 สีดังกล่าว ในความเป็นจริง คลื่นแสงขนาด 400 - 700 นานอมิเตอร์ จำแนกให้ละเอียดได้ถึง 100 สี หรือมากกว่านั้น ดังเช่น อุปกรณ์ตรวจสภาพการเห็นสีชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Farnsworth Munsell 100 hue test ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ประกอบด้วยสีต่างๆ 100 สีไม่ซ้ำกัน

การเห็นสีนอกจากเกิดจากคลื่นแสงสีต่างๆมากระทบตาเราแล้ว ยังอยู่ที่เซลล์รับรู้การเห็นสีในจอตา โดยจอตาของคนเรามีเซลล์รับรู้การเห็นอยู่ 2 ชนิด

  • ชนิดแรก มีรูปร่างเป็นแท่ง เรียกว่า รอด (Rod) หรือเซลล์รูปแท่ง มีอยู่ประมาณ 125 ล้านเซลล์ในดวงตาแต่ละข้าง เซลล์กลุ่มนี้จะกระจายอยู่บริเวณขอบๆของจอตา (Retina periphery) ทำหน้าที่มองเห็นในที่สลัวๆ และเห็นเป็นภาพขาว ดำ ผู้ที่มีโรคจอตาเสื่อมบริเวณขอบๆจอตา ทำให้เซลล์รูปแท่งนี้ถูกทำลายไป เช่น คนที่ขาดวิตามินเอ ทำให้เกิดภาวะตาฟางกลางคืน (Night blindness) ซึ่งเซลล์รูปแท่งนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวกับการเห็นสี
  • ชนิดที่สอง มีรูปร่างเป็นรูปกรวย เรียกว่า โคน (Cone) หรือเซลล์รูปกรวย คนเราจะมีประมาณ 6-7 ล้านเซลล์ในดวงตาแต่ละข้าง จะมีหนาแน่นบริเวณจอตาส่วนกลางที่เรียกว่าจุดภาพชัด (Macula) ทำหน้าที่ในการมองเห็นในที่มีแสงสว่าง มองเห็นทั้งภาพขาวดำ และภาพสี ถ้าผู้ใดมีโรคจอตาส่วนกลางเสื่อม จึงทำให้ตามัวลงมากพร้อมทั้งมีการเห็นสีผิดไป เรียกกันว่า ตาฟางกลางวัน (Day blindness) เซลล์รูปกรวยในตาคนเรามีอยู่ 3 ชนิด คือ
    • เซลล์รูปกรวยสีแดง (Red cone) มีอยู่ในตาข้างละประมาณ 3 ล้านเซลล์ มีสารสีแดงอยู่ในตัว ดูดซึมแสงที่มีความยาวคลื่นขนาด 400-700 แต่จะดูดซึมได้ดีสุดที่ 570 นานอมิเตอร์
    • เซลล์รูปกรวยสีเขียว (Green cone) มีจำนวนพอๆกับเซลล์รูปกรวยสีแดง มีสารสีเขียวที่ดูดซึมแสงขนาด 400-650 นานอมิเตอร์ โดยดูดซึมคลื่นแสงขนาด 540 ได้ดีที่สุด
    • เซลล์รูปกรวยสีน้ำเงิน (Blue cone) มีอยู่ในตาข้างละประมาณ 1 ล้านเซลล์ ภายในมีสารสีน้ำเงิน ดูดซึมแสงที่มีความยาวคลื่นในช่วง 380-500 และขนาด 400 นานอมิเตอร์ดีที่สุด

อนึ่ง ความสามารถการเห็นและแยกแยะสีต่างๆออกจากกันได้ดีแค่ไหน นอกจากอยู่ที่การทำงานของเซลล์รูปกรวยสีต่างๆในจอตาเราแล้ว ยังอาจมีปัจจัยอื่นที่มาเกี่ยวข้อง เช่น

1. ตาคนเราปรับอยู่ในสภาพอะไร เช่น ถ้าตาอยู่ในที่สว่างมาก (Light adapt) จะมองเห็นสีเหลือง เหลืองอมเขียว สีส้มดูสว่างกว่า สีน้ำเงิน สีเขียว และสีแดง ในทางตรงข้าม ถ้าตาเราปรับอยู่ในที่สลัว (Dark adapt) จะเห็นสีน้ำเงิน และสีเขียวดูสว่างกว่า ดังนั้น สุภาพสตรีไปงานกลางคืน ถ้าจะให้ดูสว่างเด่นกว่าผู้อื่นจึงควรแต่งกายด้วยชุดออกสีน้ำเงิน

2. ความเมื่อยล้าและภาพติดตา (Fatigue and after image) ถ้าส่องไฟสีแดงเข้าตา ทำให้เซลล์รูปกรวยสีแดงถูกกระตุ้นหลายๆวินาที เซลล์รูปกรวยสีแดงจึงเมื่อยล้า จึงดูเหมือนว่าเซลล์รูปกรวยสีเขียวและสีน้ำเงินทำงานได้ดีกว่า จึงมองเห็นสีแดงเป็นสีเขียว หรือน้ำเงิน และเมื่อปิดไฟสีแดง เซลล์รูปกรวยสีแดงจะอ่อนกำลังไม่ถูกกระตุ้น แต่ยังมีภาพติดตาอยู่ จึงยังมองเห็นอะไรเป็นสีเขียว สีน้ำเงิน ทั้งๆที่ไม่มีแสงอะไร

3. สีข้างเคียง มีส่วนทำให้สีที่เรามองดูเปลี่ยนไป เพราะเซลล์รูปกรวยสีที่เรามองจะถูกกระตุ้น ในขณะที่เซลล์รูปกรวยสีเดียวกันในบริเวณใกล้เคียงจะถูกกด เช่น ภาพสีชมพูที่วางบนพื้นสีแดง (สีชมพูเกิดจากสีแดงรวมกับสีน้ำเงิน) เมื่อเรามองพื้นสีแดง เซลล์รูปกรวยสีแดงถูกกระตุ้น มีผลให้เซลล์รูปกรวยสีแดงในสีชมพูถูกกด เราจึงเห็นสีชมพูออกเป็นสีน้ำเงินมากกว่า เป็นต้น

4. ลักษณะเฉพาะบางอย่างภายในดวงตา เช่น แก้วตา จะดูดซึมสีม่วง สีน้ำเงินมาก เราจึงมองอะไรค่อนข้างออกสีเหลือง แตกต่างจากดวงตาที่ไม่มีแก้วตา ที่จะมองเห็นสีม่วง สีน้ำเงินได้ชัดขึ้น หรือในบริเวณจุดภาพชัด (Macula) จะมีสารสีเหลืองมากในเซลล์ ดังนั้นถ้ามีแสงสีเหลืองมากระทบ หรือใส่แว่นสีเหลือง จะช่วยให้เรามองเห็นสีภาพต่างๆชัดขึ้น เป็นต้น

ตาบอดสีมีกี่ชนิด?

ภาวะตาบอดสีมี 2 ชนิด ชนิดที่พบได้บ่อยมากกว่า และเป็นเกือบทั้งหมดของตาบอดสี คือตาบอดสีชนิดเกิดแต่กำเนิด (ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อพูดถึงตาบอดสี จะหมายถึงตาบอดสีจากสาเหตุนี้ ซึ่งรวมทั้งในบทความนี้ด้วย) มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่เกิดในภายหลัง จากมีโรคในบริเวณจุดภาพชัด Macula จากมีการทำลายเซลล์รูปกรวยเกือบทุกชนิดไปเรื่อยๆตามสภาวะของโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ เช่น จากโรคเบาหวานขึ้นตา

ก. ภาวะตาบอดสีชนิดเกิดแต่กำเนิด: เป็นภาวะถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นที่รู้จักกันมาหลายร้อยปีแล้ว มักเป็นในผู้ชาย โดยเป็นโรคถ่ายทอดมากับ X chromosome (โครโมโซม) ของฝ่ายแม่/ฝ่ายหญิง กล่าวคือ แม่เป็นพาหะของโรค นำโรคไปสู่ลูกชาย John Dalton นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ เป็นผู้อธิบายในเรื่องตาบอดสี จึงเรียกภาวะตาบอดสีจากพร่องสีแดง-เขียวซึ่งเป็นภาวะที่พบได้บ่อย ว่า Daltonism ตามชื่อของ Dalton

ภาวะตาบอดสีแต่กำเนิด แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ 3 กลุ่ม คือ

1. กลุ่มที่เห็นสีเดียว (Monochromatism) เป็นผู้ที่มีแต่เซลล์รูปแท่ง ไม่มีเซลล์รูปกรวยเลย หรือบางรายมีเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงินชนิดเดียว กลุ่มนี้จะเห็นเพียงภาพขาวดำ สายตามักมัวมากจนมองไม่เห็นสี ตาสู้แสงไม่ได้ ลูกตากลิ้งกลอกไปมาตลอดเวลา (Nystagmus) ผู้ป่วยกลุ่มนี้แพทย์ให้การรักษาโดยมุ่งที่การช่วยเหลือให้มองเห็นดีขึ้น การเห็นสีเป็นไปไม่ได้ แพทย์จึงมักไม่คำนึงถึงเรื่องการเห็นสีเลย

2. กลุ่มที่มีเซลล์รูปกรวย 2 ชนิด (Dichromatism) อาจขาดเซลล์รูปกรวยสีแดง เรียกว่า ตาบอดสีแดง (Protanopia) หรือขาดเซลล์รูปกรวยสีเขียว (มีแต่แดงและน้ำเงิน) เรียกว่า ตาบอดสีเขียว (Deuteranopia) ถ้าขาดเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงิน เรียกว่า ตาบอดสีน้ำเงิน (Tritanopia) ซึ่งตาบอดสีน้ำเงินนี้พบได้น้อยมากๆ

3. กลุ่มที่มีเซลล์รูปกรวยทั้ง 3 ชนิด (Trichromatism) แต่มีอย่างใดอย่างหนึ่งพร่อง/น้อยกว่าปกติ (Anomalous trichromatism) ซึ่งเป็นกลุ่มตาบอดสีที่พบได้บ่อยที่สุด เช่น มีเซลล์รูปกรวยสีแดงน้อยกว่าปกติ เรียกว่า พร่องสีแดง (Protanomalous) ถ้ามีเซลล์รูปกรวยสีเขียวน้อยกว่าปกติ เรียกว่า พร่องสีเขียว (Deuteranomalous) และพร่องสีน้ำเงินเมื่อมีเซลล์รูปกรวยสีน้ำเงินน้อยกว่าปกติ (Trianomalous) ทั้งนี้ตาบอดสีแต่กำเนิดส่วนใหญ่จะพบพร่องสีแดง และพร่องสีเขียว ส่วนพร่องสีน้ำเงินพบน้อยมากๆจนแพทย์บางท่านเชื่อว่าไม่มีภาวะนี้

  • สรุป ภาวะตาบอดสีแต่กำเนิด อาจเป็น บอดสีแดง หรือพร่องสีแดง บอดสีเขียวหรือพร่องสีเขียว ทำให้มองเห็นสีผิดไปจากคนปกติ ซึ่งในชีวิตประจำวันอาจไม่เดือดร้อน แต่ความสามารถในการแยกสีที่ใกล้เคียงกันลดลงไป มีข้อจำกัดในอาชีพบางอย่างที่ต้องใช้การมองแยกสีเป็นประจำ

ภาวะตาบอดสีแต่กำเนิด จะถ่ายทอดทางโครโมโซม X (Chromosome X, โครโมโซมได้จากเพศหญิง/แม่) ในคนปกติชายมี XY (Y เป็นโครโมโซมเพศชาย ได้มาจากผู้ชาย/พ่อ) โดยที่ X ตัวหนึ่งได้มาจากแม่ ถ้าแม่เป็นพาหะมีภาวะตาบอดสีอยู่ใน X ลูกชายจึงตาบอดสีได้ 50% (โอกาส 1 ในลูกชาย 2 คนจะบอดสี) ส่วนลูกหญิงมี XX ถ้า X ตัวเดียวมีภาวะตาบอดสี ยังเหลือ X ปกติอีกตัวหนึ่ง ลูกหญิงจึงมักไม่แสดงอาการ แต่เป็นพาหะโรคได้

อนึ่ง ในภาพรวมของประชากรทั้งหมด

  • ผู้ชายจะพบการเห็นสีปกติประมาณ 92% (ตาบอดสีประมาณ 8%) โดย
    • ตาบอดสีแดง 1%
    • ตาบอดสีเขียว 1%
    • ตาพร่องสีแดง 1%
    • ตาพร่องสีเขียว 5%
  • ส่วนผู้หญิงมีการเห็นสีปกติประมาณ 99.6% มีตาบอดสีเพียงประมาณ 0.4%

ข.ภาวะตาบอดสีที่เกิดในภายหลัง โดยไม่ได้เกิดแต่กำเนิดจากพันธุกรรมผิดปกติ (Acquired color blind) เป็นความผิดปกติของการเห็นสีที่เกิดในภายหลังจากที่เคยมีการเห็นสีปกติมาก่อน ต่อมามีโรคของ จอตา หรือของประสาทตา หรือตลอดจนโรคของสมองส่วนที่รับรู้การมองเห็น ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้ มีการมองเห็นสีผิดไปโดยเกิดจากมีการสูญเสียเซลล์รูปกรวยชนิดต่างๆ ซึ่งมักเป็นเซลล์รูปกรวยทั้ง 3 ชนิด ไม่ใช่ชนิดใดชนิดหนึ่งแบบตาบอดสีแต่กำเนิด ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า โรคของจอตามักสูญเสียการมองเห็นสีน้ำเงิน-เหลือง และโรคของประสาทตามักสูญเสียการมองเห็นสีแดง-เขียว

  • ความผิดปกติของการเห็นสีในกลุ่มนี้ต่างจากชนิดที่เป็นแต่กำเนิดหลายอย่าง เช่น
    • นอกจากเห็นสีผิดไป มักจะมีสายตา หรือลานสายตาที่ผิดปกติด้วย
    • ความผิดปกติของการเห็นสีของตา 2 ข้างไม่เท่ากัน
    • ผู้ป่วยมักจะรู้สึก และบอกได้ว่ามีการเห็นสีผิดปกติ ทั้งนี้ ผู้ป่วยตาบอดสีแต่กำเนิด มักไม่เคยรู้ว่า มีตาบอดสี จนกว่าจะมีการเรียน หรือการทำงานผิดพลาดจากการใช้สี หรือมีการทดสอบตาบอดสีก่อนเข้าทำงานบางประเภท
    • มีการเปลี่ยนแปลงของการบอดสีในทางเลวลง หรือดีขึ้นได้ ในขณะที่ตาบอดสีแต่กำเนิด การเห็นสีต่างๆจะคงที่

คนตาบอดสีมีปัญหาในการมองเห็นอย่างไร?

ในชีวิตประจำวัน แม้จะมองเห็นสีผิดเพี้ยนไป อาจไม่มีปัญหา มีผู้ศึกษาพบว่าประมาณร้อยละ 70 ของคนตาบอดสี อาจเกิดความยุ่งยากในการตัดสินใจเกี่ยวกับการเลือกสีของสิ่งของอยู่บ้าง โดยเฉพาะผู้ที่บอดสีแดง-เขียวจะรุนแรงกว่าผู้ที่พร่องสีแดง -เขียว มีปัญหาในการตัดสินใจว่าผลไม้นั้นสุกหรือใกล้สุก การเลือกไหมสีต่างๆในการตัดเย็บผิดไป การเลือกสีเสื้อผ้าผิดไป เลือกสีเฟอร์นิเจอร์ และสีทาผนังผิดเพี้ยน เด็กนักเรียนอาจเลือกสีระบายภาพวาดผิดไป แม้แต่การขับรถในบางประเทศจะไม่ออกใบขับขี่ให้ผู้ที่มีตาบอดสี เนื่องจากกลัวว่าจะมองสัญญาณไฟจราจร ตลอดจนไฟท้ายรถยนต์ไม่ชัดเจน เท่าที่ทราบบ้านเราจะผ่อนลงบ้างโดยอนุญาตคนตาบอดสีขับรถส่วนบุคคลได้ แต่ก็ยังห้ามสำหรับขับขี่รถสาธารณะ

อาชีพอะไรที่ไม่เหมาะสำหรับคนตาบอดสี?

อาชีพที่มีความจำเป็นต้องมีการเห็นสีที่ปกติ เป็นอาชีพที่ไม่เหมาะสำหรับคนตาบอดสี เพราะอาจจะเห็นสัญญาณการเตือนภัยต่างๆไม่ชัดเจน ก่อผลเสียต่างๆได้มหาศาล เช่น ทหารในกองทัพ ทั้ง บก เรือ และอากาศ ผู้บังคับจราจรทางอากาศ พนักงานขับรถไฟฟ้า วิศวกรไฟฟ้า พยาธิแพทย์ นักบิน เจ้าหน้าที่ห้องตรวจปฏิบัติการในโรงพยาบาล เภสัชกร พนักงานตำรวจและดับเพลิง เจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมผ้าและสิ่งทอ ช่างทาสี ช่างถ่ายรูป เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยตาบอดสีอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยตาบอดสี โดย

1. เริ่มด้วยการตรวจคัดกรอง (Screening) ดูว่ามีภาวะตาบอดสีหรือไม่ ซึ่งวิธีที่ดีที่สุด คือการตรวจด้วยเครื่องมือที่เรียกว่า Pseudoisochromatic chart หรือที่เรียกกันว่า Ishihara chart ที่เป็นแผ่นภาพบนพื้นสีที่ต่างกัน โดยเลือกสีซึ่งคนตาบอดสีจะสับสน ยกตัวอย่างเช่น คนตาบอดสีแดง จะสับสนระหว่างสีแดงและสีน้ำเงินอมเขียวถ้ามีตัวเลขสีแดงบนพื้นสีน้ำเงินอมเขียว หรือผู้ที่ตาบอดสีแดงจะมองไม่เห็นตัวเลขบนแผ่นทดสอบ เป็น

2. การทำ Color matching โดยใช้เครื่อง Anomaloscope เป็นเครื่องมือที่ใช้แยกสีออกเป็นสีต่างๆ เช่น เรากำหนดสีเหลืองไว้ ให้ผู้ป่วยพยายามผสมสีแดงและเขียวให้ได้สีเหลือง ผู้ที่ตาบอดสีแดง หรือพร่องสีแดงจะใช้สีแดงมากเมื่อเปรียบ เทียบกับคนปกติ ทำให้เราวินิจฉัยว่าผู้นั้นมีการเห็นสีบกพร่อง หรือตาบอดสีแดง วิธีนี้สามารถตรวจได้เฉพาะตาบอดหรือพร่อง สีแดง และสีเขียว

3. การทดสอบ Farnsworth Munsell ซึ่งเครื่องมือมีลักษณะเป็นฝาครอบที่มีสีลดหลั่นกันลงมา โดยให้ผู้ป่วยพยายามเรียงฝาครอบสีต่างๆที่ใกล้เคียงกัน ต่อๆกัน ซึ่งลักษณะการเรียงสีจะผิดไปในคนตาบอดสี การทดสอบนี้จะใช้แยกผู้ที่มีการเห็นสีปกติ และผู้ที่พร่องสีน้อยๆ ออกจากผู้ที่ตาบอดสีขนาดปานกลางถึงรุนแรงได้

อนึ่ง การตรวจวินิจฉัยตาบอดสี เริ่มด้วยการคัดกรองว่ามี หรือไม่มีตาบอดสีก่อน ต่อมาคือ ตาบอดสีอะไร แล้วตามด้วย ดูว่ารุนแรงแค่ไหน มีระดับน้อย ปานกลาง หรือรุนแรง ถ้าน้อยอาจจะถือว่าอยู่ในกลุ่มค่อนข้างปกติ ไม่มีปัญหาในการประกอบอาชีพเลย ถ้าอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง และรุนแรง จะมีข้อจำกัดในบางอาชีพดังได้กล่าวแล้ว

แก้ไขตาบอดสีได้อย่างไร?

ภาวะตาบอดสี เป็นภาวะที่รักษาไม่ได้ ไม่อาจหาเซลล์รูปกรวยสีต่างๆมาชดเชยเซลล์รูปกรวยสีต่างๆที่ขาดหายไปได้ คนตาบอดสีจึงมักแยกสีที่ใกล้เคียงกันไม่ได้ แต่บางครั้ง อาจใช้แว่นซึ่งมีเลนส์บางชนิดเป็นตัวช่วยกรองแสง กรองแสงบางสีออกไป เพื่อช่วยให้เห็นสีต่างๆได้ชัดขึ้น

คนตาบอดสีแดงไม่สามารถแยกสีแดง และสีส้ม ออกจากสีเขียวได้ แต่ถ้าใช้แว่นกรองสีแดงออกจะเห็นสีเขียวชัดขึ้นเพราะสีเขียวจะเด่นขึ้นมา หลักการก็คือ เพิ่มความเข้มของสีหนึ่งให้ต่างจากอีกสีหนึ่ง ทำให้ผู้นั้นเห็นความแตกต่างของสี คนตาบอดสีแดง จึงใช้แว่นเลนส์สีน้ำตาลช่วยให้เห็นสีแดงเด่นชัดขึ้น จึงแยกจากสีเขียวได้ง่าย เพื่อช่วยในการสอบใบขับขี่ เป็นต้น

สำหรับคนตาบอดสีเขียว การใช้แว่นที่มีเลนส์สีเขียวไม่สามารถทำให้สิ่งของสีเขียวเด่นขึ้นมาได้ เพราะแสงสีเขียวผ่านเลนส์ได้ยาก อีกทั้งการลดแสงสีอื่นๆ จะทำให้มองภาพมัวลงไป จึงไม่เหมาะที่จะใช้เลนส์สีเขียวแก้ภาวะตาบอดสีเขียว

อย่างไรก็ตาม การใช้แว่นกรองแสงบางสี ไม่ได้ทำให้คนตาบอดสีนั้นๆ เห็นสีเหมือนคนปกติ เพียงแต่ช่วยให้เขาแยกสีได้ดีขึ้นขณะใช้แว่นกรองแสงบางสีเท่านั้น

อนึ่ง ผู้ป่วยตาบอดสีจากสาเหตุที่เกิดในภายหลัง ใช่เกิดแต่กำเนิด การดูแลรักษาตาบอดสี คือ การดูแลรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ ซึ่งบางครั้งอาจช่วยให้การเห็นสีดีขึ้น แต่บางครั้งการรักษาก็ไม่ได้ผล อย่างไรก็ตาม การดูแลรักษาสาเหตุจะช่วยป้องกัน หรือช่วยชะลอโอกาสเกิดตาบอดได้

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อตาบอดสี? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีบิดา หรือมารดาตาบอดสี หรือสังเกตเห็นความผิดปกติในการเห็นสี หรือสงสัยว่าตนเองเห็นสีผิดปกติ ควรรีบพบจักษุแพทย์ (หมอตา) เสมอ เพื่อการวินิจฉัยที่แน่นอนรวมทั้งการหาสาเหตุ ทั้งนี้เพื่อการปรับตัว เรียนรู้ในการใช้สีต่างๆในชีวิตประจำวัน การเลือกวิชาที่จะเรียน และเลือกอาชีพ ที่ไม่จำเป็นต้องขึ้นกับการใช้สี รวมทั้งควรแจ้งให้ครอบครัว ให้ที่ทำงาน และให้คนรอบข้างทราบถึงภาวะตาบอดสีของเรา เพื่อปรับการใช้ชีวิต และการทำงาน ป้องกันการผิดพลาดจากการใช้สี

การตรวจสุขภาพดวงตาเป็นประจำอย่างน้อยทุกปี หรือบ่อยตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ ซึ่งควรรวมทั้งการตรวจภาวะตาบอดสีด้วย โดยเริ่มตั้งแต่เด็กเมื่อเด็กสามารถให้ความร่วมมือในการตรวจได้ คือ ช่วงอายุประมาณ 3-5 ปี โดยเฉพาะเมื่อบิดา หรือมารดาตาบอดสี จะช่วยการปรับตัวของเด็กในการใช้ชีวิตประจำวัน และในการเรียนได้ดีกว่าการปรับตัวช่วงเป็นผู้ใหญ่ ทั้งนี้ควรแจ้งให้เด็กทราบว่าเด็กมีตาบอดสี และเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ ผู้ปกครองควรแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องกับเด็ก โดยเฉพาะคุณครู ห้องพยาบาล และโรงเรียนทราบว่า เด็กตาบอดสี เพื่อคุณครูได้ให้การดูแลเด็กเป็นกรณีพิเศษ เช่น ตำแหน่งที่นั่งเรียนในห้องเรียน หรือการใช้สีต่างๆในการเรียน การสอนของคุณครู เป็นต้น