โรคของจอตา โรคจอตา (Retinal disease)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

จอตาคืออะไร? ทำหน้าที่อะไร?

จอตา (Retina) บางคนเรียกว่า จอประสาทตา หรือจอรับภาพของตา เป็นส่วนชั้นในสุดของเปลือกหรือผนังของลูกตา โดยเปลือกลูกตามี 3 ชั้น ได้แก่

  • ชั้นนอก ได้แก่ กระจกตา/ตาดำเป็นด้านหน้าและต่อด้วยตาขาวเป็นส่วนต่อไปจนถึงด้านหลังของลูกตา
  • ชั้นกลาง เป็นชั้นของหลอดเลือด
  • และชั้นในสุดคือ จอตา

จอตา เป็นชั้นที่ทำหน้าที่รับรู้การมองเห็น มีเซลล์ประสาทรับรู้การเห็น แปลงพลังงานแสงที่มาโฟกัสที่จอตาให้เป็นพลังไฟฟ้า ส่งต่อไปตามชั้น Nerve fibre layer ของจอตาแล้วติดต่อรวมกันเป็นประสาทตา (Optic Nerve) ไปสู่สมอง จอตาเปรียบเสมือนฟิล์มในกล้องถ่ายรูป ถือว่าเป็นชั้นที่สำคัญที่สุด การถ่ายรูป แม้จะถ่ายด้วยเลนส์ดีแค่ไหน ถ้าฟิล์มเสียภาพจะไม่เกิดขึ้น จอตาก็เช่นกัน แม้ว่าส่วนอื่นๆปกติหมด ถ้าชั้นจอตาไม่ทำงาน การมองเห็นก็จะไม่เกิดขึ้น อีกทั้งเป็นชั้นที่เมื่อเกิดโรค หรือภยันตรายจนเสียหายหรือเสื่อมไป ก็ไม่อาจแก้ไขหรือเอามาเปลี่ยนได้ พูดง่ายๆก็คือ ถ้าเสียแล้วจะเสียเลย ไม่สามารถเอาของเทียมมาแทน (ดังเช่น การใช้แก้วตาเทียมมาแทนแก้วตา ในการรักษาโรคต้อกระจก) หรือไม่สามารถนำชิ้นส่วนเนื้อเยื่อ/อวัยวะของคนเสียชีวิตมาแลกเปลี่ยน (ดังเช่นการเปลี่ยนกระจกตาในการรักษาภาวะตาบอดจากโรคแผลที่กระจกตา)

อนึ่ง อ่านเพิ่มเติม เรื่องกายวิภาคและสรีรวิทยาของจอตาเพิ่มเติมได้จากบทความในเว็บ haamor.com เรื่อง “กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา”

ตรวจจอตาได้อย่างไร?

โรคจอตา

เนื่องจากมีความสำคัญสุด ธรรมชาติจึงสร้างให้จอตาจึงอยู่ด้านในสุด ได้รับการปกป้องอย่างดีจากเนื้อเยื่อ/อวัยวะภายนอก ตัวจอตาเป็นแผ่นบางๆ ไม่มีสี บุอยู่ชั้นในสุดของลูกตา การตรวจหรือการดูว่ามีพยาธิสภาพใดเกิดขึ้น จึงทำได้ยากตามไปด้วยต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษช่วย ให้นึกถึงดวงตาเหมือนตุ่มน้ำที่มีรูปกลม ปากตุ่มเล็ก ตัวจอตาจะบุอยู่ภายในตุ่มทั้งหมด บริเวณก้นตุ่มอาจมองเห็นจากปากตุ่มด้วยเครื่องมือพิเศษที่เรียก Ophthalmoscope แต่บริเวณข้างๆมองเห็นได้ยากหากปากตุ่มแคบ จึงต้องมีการขยายรูม่านตา เพื่อช่วยให้ตรวจจอตาได้ชัดเจนถูกต้องขึ้น

การตรวจจอตาที่ละเอียดทำได้โดย

1. ขยายรูม่านตาให้เต็มที่ด้วยยาหยอดขยายม่านตา ม่านตาคนปกติเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 มิลลิเมตร (มม.) สามารถขยายได้เต็มที่เกือบเท่าขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของกระจกตา (ขยายได้ประมาณ 9 -10 มม.)

2. Ophthalmoscope(กล้องส่องตรวจในลูกตา) มีทั้งชนิด Direct และชนิด Indirect เป็นเครื่องมือส่องถึงจอตา หากใช้เครื่อง Indirect ophthalmoscope สามารถส่องถึงบริเวณขอบๆของจอตา และเห็นภาพเป็น 3 มิติ ถ้าเป็น Direct ophthalmoscope จะตรวจได้เฉพาะบริเวณตรงกลางของจอตา

3. ในกรณีที่หลังรูม่านตามีพยาธิสภาพ เช่น มีแก้วตาขุ่น น้ำวุ้นตาขุ่น ไม่สามารถใช้ Ophthalmoscope ส่องลงไปได้ อาจใช้ตรวจด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ ซึ่งเป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง ที่คนเราไม่ได้ยิน อาศัยการสะท้อนของเสียงบอกถึงความผิดปกติของส่วนหลังของลูกตารวมทั้งจอตาได้

4. OCT (Ocular coherence tomogram) ปัจจุบันมีเครื่องมือสามารถตรวจจอตาละเอียดถึงชั้นต่างๆของจอตา (อ่านเพิ่มเติม เรื่องกายวิภาคและสรีรวิทยาของจอตาเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา”) เห็นได้เทียบเท่าการตรวจทางจอตาด้วยกล้องจุลทรรศน์

5. Electroretinogram (ERG) เป็นการตรวจการทำงานของจอตาโดยตรง

6. Fundus fluorescein angiography (FFA) และ Indocyanine green angiography เป็นการศึกษาถึงหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงจอตา และเนื้อเยื่อ Choroid/เนื้อชั้นหลอดเลือดที่เลี้ยงจอตา (Retinal and choroidal circulation) รวมทั้งตรวจดูการทำงานและโรคของจอตาส่วนกลาง (Macula) อย่างละเอียด (อ่านเพิ่มเติม เรื่องกายวิภาคและสรีรวิทยาของจอตาเพิ่มเติมได้จากบทความเรื่อง “กายวิภาคและสรีรวิทยาของตา”) โดยการฉีดสีเข้าหลอดเลือดดำ แล้วให้สีนี้เข้าไปในหลอดเลือดของจอตา

7. การถ่ายภาพลูกตาด้วยเอกซเรย์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (Computed tomography) เป็นประโยชน์ในบางกรณีของโรคทางจอตา เช่น การตรวจเศษเหล็กหรือสิ่งแปลกปลอมบนจอตา หรือการตรวจดูหินปูนที่เกิดขึ้นในจอตา ( Intraocular calcification) เช่น ในผู้ป่วยเนื้องอกจอตา เป็นต้น

โรคของจอตามีอาการอะไร?

โดยทั่วไปโรคของจอตาไม่ทำให้มีอาการเจ็บปวด ในบางรายในโรคระยะเริ่มต้นอาจไม่มีอาการอะไร ส่วนเมื่อเป็นมาก มักมีอาการดังต่อไปนี้

1. ตามัวลงชั่วคราว หรือมัวตลอด

2. เห็นภาพผิดไป อาจจะมีขนาดเล็กลงหรือใหญ่ขึ้น (เทียบกับเมื่อตอนเห็นปกติ) ภาพบิดเบี้ยว เส้นตรงคดงอ

3. การเห็นสีผิดไป

4. เห็นอะไรลอยไปมา เช่น จุด หรือแผ่นเล็กๆ ดำๆ (Eye floater)/ วุ้นตาเสื่อม

5. เห็นแสงวาบๆ (Flashing)

6. มีจุดบอด/ดวงมืดๆในการเห็นภาพในบางบริเวณ (Scotoma)

7. ลานสายตาเสีย จะเสียอย่างไร ขึ้นกับการเกิดพยาธิสภาพบริเวณใดของจอตา

โรคต่างๆของจอตามีอะไรบ้าง?

โรคของจอตาอาจแบ่งได้กว้างๆ ดังนี้

1. โรคที่เป็นแต่กำเนิดและมักจะเป็นกรรมพันธุ์ เช่น

  • ภาวะผิดปกติของเซลล์เพื่อการมองเห็นของจอตา (Rod และ Cone cell) ซึ่งอาจมีการผิดปกติของเซลล์ Rod นำมาก่อน แล้วตามด้วยการผิดปกติของเซลล์ Cone (Rod-cone dystrophy) หรือนำด้วยการผิดปกติของเซลล์ Cone แล้วจึงตามด้วยการผิดปกติของเซลล์ Rod (Cone-rod dystrophy) ตลอดจนโรคที่พบบ่อย คือ โรค Retinitis pigmentosa และโรค Leber’s congenital Amaurosis (อาจเพิ่มเติมเรื่องโรคเหล่านี้ในบทความเรื่อง ตาบอดกลางคืน)
  • Best’s macular dystrophy เป็นภาวะตาเห็นมืดลงในภายหลัง หลังจากเกิดแล้ว โดยระยะแรกของโรค เมื่อตรวจจอตา จะเห็น Macular คล้ายๆไข่แดง จึงเป็นที่มาของชื่อโรคอีกชื่อว่า Egg yolk maculopathy
  • Cherry red spot เป็นภาวะที่ไขมันไปสะสมในชั้น Ganglion cell ของจอตา เป็นความผิดปกติของการใช้พลังงาน (Metabolism) จากไขมันของร่างกาย
  • Flecked retina เป็นภาวะที่พบจอตาเป็นจุดๆ ทั่วไปในจอตา เช่น โรค Stargardt disease โรค Fundus albipunctatus โรค Familial dominant drusen ฯลฯ ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะมีสายตามัวมากน้อยต่างกันในแต่ละโรค และเกิดตอนอายุน้อยหรืออายุมากแตกต่างกันไปในแต่ละโรคเช่นกัน
  • Albinism (คนเผือก) มีความผิดปกติในการสร้างเม็ดสี (Melanin) ของเซลล์สร้างเม็ดสีทั่วร่างกาย รวมทั้งชั้นที่มีเซลล์สร้างเม็ดสีของจอตา คือ ชั้น RPE (Retinal pigment epithelium) การพัฒนาของจอตาบริเวณจุดรับภาพ (Fovea) ผิดปกติ คนเผือกจึงมักมีสายตาไม่ดี รวมทั้งมักมีสายตาสั้น (Nystagmus)

อนึ่ง โรคในกลุ่มพันธุกรรมนี้ มักรักษาไม่หาย การตรวจวินิจฉัยเพื่อสามารถบอกได้ถึงความรุนแรงของโรค ตลอดจนบอกถึงการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์เพื่อการป้องกันการเกิดในบุตรหลาน และเพื่อการใช้เครื่องช่วยสายตาเพื่อช่วยเพิ่มการมองเห็นตามความเหมาะสมในแต่ละคนและในแต่ละความรุนแรงของโรค

2. จอตาหลุดลอก (Retinal detachment)

จอตาแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือ ชั้นนอก (RPE) และชั้นใน/ชั้นรับรู้การเห็น (Sensory retina) ทั้ง 2 ชั้นจะยึดติดกัน หากชั้น Sensory retina หลุดลอกออกจากชั้น RPE เรียกว่าโรคจอตาหลุดลอก ทำให้เซลล์รับรู้การเห็นในชั้นในของจอตาเสื่อมลงตามระยะเวลาของการหลุดลอก นานเข้าจอตาชั้นในเสีย ไม่รับรู้การเห็น เป็นโรคที่สำคัญที่ทำให้ตาบอดหากรักษาไม่ทัน จอตาหลุดลอกแบ่งได้เป็น 3 ชนิด คือ

  • จอตาหลุดลอกจากมีการฉีกขาดของจอตา (Rhegmatogenous retinal detachment) คำว่า Rhegma เป็นภาษากรีกแปลว่า ฉีกขาด เกิดการหลุดลอกของจอตาเนื่องจากมีรอยฉีกขาดของจอตา ทำให้น้ำวุ้นตาเข้าไปในรูที่ฉีกขาด แล้วเซาะจอตาให้หลุดลอกมากขึ้น
  • จอตาหลุดลอกจากการดึงรั้ง (Tractional retinal tear) เกิดจากมีพังผืดดึงรั้งให้จอตาหลุดจากที่มันเคยเกาะแน่น มักจะเกิดจากมีโรคชนิดที่ก่อให้เกิดพังผืดกับจอตา เช่น ในโรคเบาหวานขึ้นตา จากอุบัติเหตุตาทะลุ หรือจากจอตาผิดปกติในเด็กคลอดก่อนกำหนด
  • จอตาหลุดลอกจากมีของเหลวแทรกระหว่างชั้นของจอตา (Exudative retinopathy) เกิดจากมีพยาธิสภาพที่จอตาและ/หรือที่เนื้อเยื่อ Choroid ที่ทำให้มีน้ำ/ของเหลวซึมจากหลอดเลือดหรือจากเนื้อเยื่อ Choroid เข้าไปแทรกระหว่างชั้นของจอตา เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นความดันโลหิตสูงรุนแรง (Malignant hypertension) ผู้ป่วยที่เป็นโรคครรภ์เป็นพิษ (Eclampsia) หรือ ผู้ป่วยไตวาย เป็นต้น

3. โรคของจอตาส่วนที่เรียกว่า Macula (Maculopathy)

Macula แปลว่า จุดสีเหลือง (Yellow spot) เป็นจอตาที่อยู่บริเวณหลังสุดของจอตา เป็นส่วนที่มีจำนวนเซลล์ Cone cell เป็นจำนวนมาก และมีสาร Xanthophyll (สารสีเหลือง) ซึ่งเชื่อว่าช่วยป้องกันจอตาส่วนนี้จากแสงแดด Macula เป็นบริเวณที่สำคัญที่สุดของจอตา โดยอาจเกิดผิดปกติได้หลายอย่าง เช่น

  • Central serous chorioretinopathy (CSC , บางคนเรียก Central serous retinopathy/CSR) เป็นภาวะที่มักพบใน ชายสุขภาพปกติ อายุ 25 – 55 ปี เกิดจอตาบริเวณ Macula บวมโดยไม่ทราบสาเหตุ โดยมักจะมีสายตาลดลงไม่มาก ร่วมกับมีอาการเห็นภาพผิดไป ภาพขนาดเล็กลงร่วมกับการเห็นสีเปลี่ยนไป บางคนอาจมีอาการเห็นเงาดำตรงกลาง (Central scotoma) ประมาณ 80 – 90% อาการต่างๆจะหายได้เองในประมาณ 3 – 4 เดือน มีประมาณครึ่งของผู้ป่วยโรคนี้ หายแล้วกลับเป็นใหม่ได้ และส่วนน้อยจะมีการเห็นลดลงอย่างถาวร

    แม้โรคจะหายได้เองเป็นส่วนมาก แต่อาจใช้วิธีการรักษาด้วยแสงเลเซอร์ในกรณีที่อาการตามัวนานกว่า 3 – 4 เดือน อาการเกิดขึ้นบ่อยๆ หลังเกิดอาการมักจะสายตาลดลง และ/หรือ ตลอดจนผู้ที่จำเป็นต้องใช้สายตาและต้องการให้ตาพร่ามัวหายเร็วขึ้น

  • จอตาส่วนกลางเสื่อมในผู้สูงอายุ (Age – related macular degeneration เป็นสาเหตุที่สำคัญที่เป็นเหตุให้ตาบอดในคนสูงอายุของสหรัฐอเมริกา
  • จอตาเสื่อมในคนสายตาสั้น (Pathologic myopia) พบในผู้มีสายตาสั้นมาก จากลูกตายาวกว่าปกติ ทำให้ขั้ว RPE ของจอตาและของเนื้อเยื่อ Choroid บางลงจากการถูกยืดออก โดยทั่วไป พบในคนสายตาสั้นมากกว่า 800 D (ไดออปเตอร์) และ/หรือมีความยาวลูกตามากกว่า 32.5 มม. โดยจะพบลักษณะของการฉีกขาดของเนื้อเยื่อ Choroid ตามมาด้วยมีเลือดออกใต้จอตา จอตาส่วนขอบๆจะบางลง ตามมาด้วยมีการฉีกขาด (อาจนำไปสู่จอตาหลุดลอก) ในบริเวณ Macula และอาจจะพบหลอดเลือดเกิดใหม่ในเนื้อเยื่อ Choroid ซึ่งถ้ามีการฉีกขาดของหลอดเลือดนี้ จะทำให้ตามัวลงอย่างฉับพลันได้
  • โรค พังผืดที่จอตา (Epiretinal membrane)
  • Idiopathic macular hole ได้แก่ การเกิดเป็นรูขึ้นที่ Macula โดยไม่ทราบสาเหตุ มักพบในผู้สูงอายุ พบในหญิงมากกว่าชาย ถ้ามีสายตาสั้นด้วยจะพบได้ในอายุที่น้อยกว่า เกิดจากมีความเสื่อมของวุ้นตารอบๆ Macula ทำให้เกิดแรงดึงรั้งจอตาบริเวณ Macula หลุดออกไป การรักษาภาวะนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและสภาวะที่มาพบจักษุแพทย์/หมอตา แต่โรคอาจหายได้เอง ไปจนถึงอาจต้องรับการผ่าตัดวุ้นตา เพื่อลดแรงดึงรั้งลง นอกจากนี้โอกาสที่จะพบในตาอีกข้างมีค่อนข้างสูง จึงควรรับการตรวจตาอีกข้างตามเวลาที่จักษุแพทย์นัดเสมอ

4. โรคของหลอดเลือดจอตา (Retinal vascular disease) ที่จะส่งผลให้เกิดภาวะจอตาเสื่อม เช่น

  • ความดันโลหิตสูง (Hypertensive retinopathy)
  • จอตาเสื่อมจากโรคเบาหวาน (โรคเบาหวานขึ้นตา)
  • จอตาเสื่อมในเด็กคลอดก่อนกำหนด
  • หลอดเลือดดำจอตาอุดตัน
  • หลอดเลือดแดงจอตาอุดตัน

5. การอักเสบของจอตากับเนื้อเยื่อ Choroid (Chorioretinal inflammation) ที่จะส่งผลให้จอตาอักเสบ และเกิดการเสื่อมตามมา เช่น

  • การติดเชื้อของจอตาจากเชื้อเริม (Necrotizing herpetic retinitis)
  • การติดเชื้อไวรัส Cytomegalovirus infection ที่พบมากในผู้ป่วยโรคเอดส์

6. อุบัติเหตุต่อจอตา เช่น

  • Commotio retinae (อุบัติเหตุจากตาถูกกระแทก)
  • Post traumatic endophthalmitis (การอักเสบติดเชื้อ มักเป็นเชื้อแบคทีเรีย ของจอตาที่เกิดภายหลังตาได้รับอุบัติเหตุ)

7. Light Toxicity จอตาถูกทำลายจากแสงต่างๆ เช่น

  • จากรังสี (Radiation retinopathy)
  • จากแสงอาทิตย์ (Solar retinopathy)
  • จากแสงที่ใช้ในอาชีพต่างๆ (Ocupational light toxicity) เช่น ช่างเชื่อมโลหะ

8. เนื้องอก/มะเร็งของจอตา ที่สำคัญ ได้แก่

  • โรคมะเร็งจอตาที่มักพบเกิดในเด็กเล็ก (โรคมะเร็งตาในเด็ก/โรคตาวาว)

รักษาโรคของจอตาได้อย่างไร?

ดังได้กล่าวแล้วว่า เมื่อเกิดความเสียหายกับจอตา จะเสียแล้วเสียเลย ดังนั้นโรคของจอตาจึงรักษาไม่หาย แต่การรักษา จะเพื่อช่วยหยุดยั้ง หรือช่วยชะลอการลุกลามของโรค เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยยังคงใช้สายตาที่เหลือในการมองเห็นและใช้งานในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งแนวทางการรักษาโรคของจอตา ได้แก่ การรักษาควบคุมสาเหตุที่รักษาควบคุมได้ และการดูแลรักษาตามอาการ/การรักษาประคับประคองตามอาการ

  • การรักษาควบคุมสาเหตุ จะแตกต่างกันในผู้ป่วยแต่ละคนโดยขึ้นกับสาเหตุแต่ละสาเหตุ เช่น การรักษาควบคุมโรคเบาหวานเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคเบาหวาน หรือ การรักษาควบคุมโรคความดันโลหิตสูง เมื่อสาเหตุเกิดจากโรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ ได้แก่
    • การรักษาทางด้านจักษุวิทยา/หมอตา เช่น การจี้จอตาด้วยเลเซอร์เพื่อช่วยชะลอการเสื่อมหรือการหลุดลอก เช่น ในโรคเบาหวานขึ้นตา หรือ ใช้ยาเพื่อชะลอการหลุดลอกของจอตาจากบางสาเหตุ เช่น จอตาส่วนกลางเสื่อมในผู้สูงอายุ
    • นอกจากนั้น คือ การใช้อุปกรณ์เสริมทางด้านจักษุ เช่น แว่นขยาย และทั้งนี้รวมไปถึงการปรับตัวของผู้ป่วยให้คุ้นชินกับการเปลี่ยนแปลงของสายตา ทั้งนี้ เพื่อช่วยในการมองเห็น เช่น การใช้แว่นขยาย และเพื่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น การเพิ่มแสงสว่าง การจัดที่พักอาศัยให้สะดวกต่อการเป็นอยู่ ลดโอกาสเกิดอุบัติเหตุต่างๆ การมีคนคอยช่วยเหลือในบางเรื่อง เช่น การช่วยพาไปโรงพยาบาล เป็นต้น ซึ่ง จักษุแพทย์/หมอตา พยาบาล จะให้คำแนะนำผู้ป่วย เป็นรายๆไป

โรคของจอตารุนแรงไหม?

โรคของจอตา จัดเป็นโรครุนแรง ถึงแม้ไม่ทำให้เสียชีวิต แต่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น จึงส่งผลกระทบถึงคุณภาพชีวิตเสมอ

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเอง คือ เมื่อมีอาการต่างๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ อาการ ควรรีบพบจักษุแพท/มาโรงพยาบาลเสมอ ภายใน 1-2 วัน หรืออาจต้องไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน ขึ้นกับอาการ เช่น การได้รับอุบัติเหตุที่ตา เป็นต้น

ส่วนเมื่อทราบแล้วว่า เป็นโรคของจอตา การดูแลตนเอง ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาลอย่างเคร่งครัด ครบถ้วน ถูกต้อง รวมทั้งในการใช้ยาต่างๆ และต้องไม่ขาดยา เมื่อมียาที่แพทย์สั่ง/แนะนำ
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุให้ได้
  • รักษาสุขภาพจิต ปรับการใช้ชีวิตให้เข้ากับสายตา เพื่อการพึ่งพาตนเองให้ได้มากที่สุด
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาล ตามแพทย์นัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัด ซึ่งรวมถึงจักษุแพทย์ เมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง หรือมีอาการผิดปกติไปจากเดิม เช่น ตามัวมากขึ้น
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว แสบตา/เคืองตามากทุกครั้งหลังใช้ยาหยอดตา
    • หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคจอตาได้อย่างไร?

เมื่อดูจากสาเหตุ การป้องกันโรคของจอตาเต็มร้อย เป็นไปไม่ได้ แต่หลายสาเหตุก็ป้องกัน หรือ ลดปัจจัยเสี่ยงลงได้ ดังนั้น การดูแลตนเองที่สำคัญ คือ

  • ป้องกัน รักษา ควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคของจอตา เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง
  • เมื่อต้องเล่นกีฬาที่มีอันตรายต่อตาสูง หรือทำงานเกี่ยวกับการใช้แสง/รังสีต่างๆ ควรต้องสวมใส่เครื่องป้องกันดวงตา รวมทั้งแว่นกันแดดที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันตาจากแสงแดดด้วย
  • กิน อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ให้ครบถ้วนในทุกวันในปริมาณที่เหมาะสมไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน (จำกัด อาหาร ไขมัน แป้ง น้ำตาล เกลือ เพิ่ม ผักและผลไม้มากๆ ) เพื่อป้องกันโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคของจอตา ที่สำคัญ คือ โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และเพื่อความแข็งแรงของเซลล์ จอตา ซึ่งเช่นเดียวกับเซลล์ทุกชนิดของร่างกายที่ต้องการอาหารที่มีประโยชน์
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน เพื่อลดโอกาสเกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • ตรวจสุขภาพประจำปี ทุกปี เริ่มเมื่ออายุ 18-20 ปี เพื่อคัดกรองโรคต่างๆโดยเฉพาะ โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต
  • ผู้ปกครองควรสังเกตการณ์มองเห็นของเด็กตั้งแต่แรกเกิด เมื่อสงสัยว่าผิดปกติ รวมทั้งการมีตาเหล่ ควรรีบนำเด็กพบจักษุแพทย์
  • ตรวจสุขภาพตา เป็นประจำ อาจเริ่มที่อายุที่พอฟังแพทย์พูดได้รู้เรื่อง เช่น ประมาณ 2-3 ขวบ หลังจากนั้น ขึ้นกับคำแนะนำของจักษุแพทย์ หรือเริ่มได้เลยในทุกอายุถ้ายังไม่เคยพบจักษุแพทย์มาก่อน และต่อจากนั้น ความถี่ในการพบแพทย์ ก็เป็นไปตามที่แพทย์แนะนำ