กระจกตาถลอก (Corneal abrasion)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

กระจกตาถลอกคืออะไร? สาเหตุเกิดได้อย่างไร?

กระจกตาถลอก (Corneal abrasion) เป็นภาวะที่มีการหลุดลอกของชั้นเยื่อบุผิว (Epithe lium) ของกระจกตา ส่วนมากเกิดจากมีอุบัติเหตุกระทบกระจกตาที่ไม่รุนแรง อาจจะเทียบเท่ากับรอยขีดข่วนที่ผิวหนัง เป็นภาวะที่พบได้ประมาณ 10% ของอุบัติเหตุทางตา เมื่อผิวกระจกตาบางส่วนหลุดออก จะทำให้เส้นประสาท (Corneal nerve) ที่อยู่ใต้เยื่อบุผิว สัมผัสกับอากาศและกับน้ำตา ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวดอย่างมาก จนทำให้ผู้ป่วยมักจะต้องมาพบแพทย์

เนื่องจากกระจกตาเป็นอวัยวะที่อยู่หน้าสุดของลูกตา จึงเปิดเผยและสัมผัสกับสิ่งแวด ล้อมโดยตรง หากมีลม ฝุ่น สิ่งแปลกปลอมที่ปลิวมา จะเข้าสัมผัสกระจกตาได้ง่าย (กระจกตามีเพียงผิวน้ำตากั้นอยู่ด้านหน้าเท่านั้น) จึงมีโอกาสได้รับอันตราย เกิดกระจกตาถลอกได้ง่าย โดยมีปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุต่างๆ ดังนี้

1. จากสิ่งแวดล้อมและอาชีพการงาน เช่น

  • ผู้อยู่ในสิ่งแวดล้อมสกปรกมีฝุ่นละออง
  • มีอาชีพที่เสี่ยงต่อเศษวัสดุปลิวเข้าตา เช่น ช่างก่อสร้าง, จักรยานยนต์รับ จ้าง, ชาวสวน ชาวไร่ที่เสี่ยงต่อใบไม้ กิ่งไม้บาดตา, ผู้ทำงานโรงงานต่างๆที่มีโอกาสได้รับอุบัติเหตุจากของมีคม

2. อุบัติเหตุ เช่น ในชีวิตประจำวันอาจพลาดพลั้ง แม้แต่กระจกตาถูกนิ้วตัวเอง, ขอบกระ ดาษเวลาพลิกหนังสืออาจพลาดบาดถูกกระจกตา, ตลอดจนสารเคมี ยางต้นไม้เข้าตา, หรือในกรณีมีเศษผงติดที่เยื่อบุตาใต้หนังตาบน เมื่อหลับตา ลืมตา เศษผงนี้จะครูดกระจกตาทำให้เกิดเป็นแผลถลอกได้

3. ใช้คอนแทคเลนส์ อาจจะเป็นเพราะคอนแทคเลนส์ไม่เหมาะกับตา คับไป หลวมไป ใส่นานเกินไป เผลอใส่นอน ใส่เลนส์ผิดประเภท ตลอดจนการดูแลคอนแทคเลนส์ไม่ดี คอนแทคเลนส์สกปรก ผู้ใช้คอนแทคเลนส์ต้องรำลึกเสมอว่า กระจกตามีภาวะขาดออกซิเจนได้ง่ายจากการใส่ จึงมีโอกาสเกิดแผลถลอกที่กระจกตาได้ง่าย

4. สุขอนามัยทั่วไปไม่ดี มือสกปรก อาจขยี้ตา ทำให้เกิดแผลถลอกที่กระจกตาได้

5. มีภาวะตาแห้ง ผิวน้ำตา ไม่สมบูรณ์ จึงง่ายต่อการถลอกของกระจกตา

6. เป็นโรคภูมิแพ้ที่ตา(เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้) ทำให้ขยี้ตาบ่อยๆ

7. มีโรคของเปลือกตา/หนังตา ทำให้ปิดตาไม่สนิท เสี่ยงต่อการมีแผลถลอกของกระจกตา

8. หลังมีการอักเสบของเยื่อบุตา(เยื่อบุตาอักเสบ) และของกระจกตา(กระจกตาอักเสบ)จากเชื้อโรคบางชนิด เช่น ตาแดงจากไวรัส (Epidemic keratoconjunctivitis หรือ Viral conjunctivitis) ในผู้ป่วยบางรายที่มีการอักเสบของกระจกตา อาจทำให้มีกระจกตาถลอกตามมา

9. ผลข้างเคียงจากยาหยอดตาบางชนิด หรือจากหยอดตามากเกินไป ทำให้ผิวกระจกตาถลอกได้ เช่น ยาชาหยอดตา หรือบางคนอาจแพ้ยาที่มีสารกันเสีย/สารกันบูดในยาหยอดตา หากหยอดมากๆ อาจทำให้กระจกตาถลอกได้

10. หลังผ่าตัดตา โดยเฉพาะผ่าตัดต้อเนื้อ มักจะมีแผลถลอกของผิวกระจกตาร่วมด้วย

11. มีโรคบางอย่างของกระจกตา (เช่น Corneal dystrophy) ผิวตาจะถลอกได้เองจากตัวโรค ทำให้มีอาการปวดตามากเป็นครั้งคราวได้ ในกรณีนี้ มักเกิดโดยไม่มีอุบัติเหตุใดๆต่อตา

กระจกตาถลอกมีอาการอย่างไร?

กระจกตาถลอก

เนื่องจากเมื่อผิวกระจกตาหลุดลอก ทำให้เส้นประสาทที่อยู่ใต้ผิวกระจกตาโผล่ออกมาด้านนอก ก่อให้เกิดอาการ

  • เจ็บ/ปวดตา
  • น้ำตาไหล
  • ตาสู้แสงไม่ได้
  • ตาแดง
  • หนังตาบวม
  • อาจตามัว เพราะน้ำตาไหลมาก หรือเพราะผิวกระจกตาไม่เรียบ
  • ส่วนใหญ่จะมีอาการคล้ายมีผงอยู่ในตา เนื่องจากเวลากระพริบตา จะถูกขอบของผิวกระจกตาที่ไม่เรียบ จึงก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อผิวกระจกตาและต่อเส้นประสาทที่กระจกตา

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ควรพบแพทย์/จักษุแพทย์ เมื่อ

1. ส่วนมากของการเกิดแผลถลอกกระจกตามักเป็นจากอุบัติเหตุ การได้รับอุบัติเหตุบริเวณศีรษะ และ/หรือที่ใบหน้า และ/หรือที่ตา ควรพบแพทย์เพื่อตรวจดู อาจมีความผิดปกติอยู่ภายในลูกตา แต่ยังไม่แสดงอาการก็ได้ การตรวจพบแต่แรกย่อมทำให้ได้รับการรักษาทันที

2. มีอาการปวดตา โดยเฉพาะหลังจากรู้สึกว่ามีผงเข้าตา และอาการปวดนานเกิน 1 ชั่วโมง

3. ตาแดง

4. ตามัวลง

5. รู้สึกคล้ายมีผงอยู่ในตาตลอดเวลา

แพทย์วินิจฉัยได้อย่างไรว่ามีกระจกตาถลอก?

แพทย์/จักษุแพทย์จะวินิจฉัยว่ามีกระจกตาถลอกได้จาก

1. ประเมินจากประวัติอาการในผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ เช่น ผู้ป่วยระหว่างพลิกหนังสือ ขอบกระดาษถูกตาแล้วมีอาการปวดตาน้ำตาไหล คาดได้ว่าน่าจะมีแผลถลอกที่กระจกตาเกิดขึ้น เป็นต้น

2. จากอาการแสดงที่ชัดเจน เช่น มีตาแดง น้ำตาไหล ตาสู้แสงไม่ได้ พบรอยโรคที่ผิวกระจกตา บางรายอาจเห็นแม้ใช้ไฟฉายธรรมดา หากขอบแผลที่ถลอกยกขึ้นเห็นได้ชัดเจน บางรายอาจต้องใช้เครื่องมือตรวจตา (Slit lamp) ซึ่งจะช่วยให้เห็นแผลถลอกได้ง่ายขึ้น

3. หากแผลถลอกขนาดเล็กเห็นไม่ชัด แพทย์จะมีวิธีย้อมสีด้วย Fluorescein paper ซึ่งสีจะจับบริเวณแผลถลอก ช่วยให้เห็นรอยถลอกได้ชัดเจน

4. ตรวจหาสิ่งแปลกปลอมที่อาจมีอยู่และเป็นสาเหตุของกระจกตาถลอก ซึ่งมีอยู่บ่อย ครั้งที่มีเศษผงติดที่เยื่อบุตาใต้หนังตาบน โดยเมื่อผู้ป่วยหลับตาหรือกลอกตาไปมา เศษผงนี้จะเขี่ยผิวกระจกตาก่อให้เกิดแผลถลอก ดังนั้น เมื่อพบสิ่งแปลกปลอมแพทย์ต้องเอาออก พร้อมกับรักษาแผลถลอกไปด้วย

5. หากพบในผู้ป่วยใช้คอนแทคเลนส์ ต้องตรวจสภาพของคอนแทคเลนส์ที่อาจมีปัจ จัยทำให้เกิดแผลถลอก

6. ตรวจหาภาวะผิดปกติอื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุ เช่น ภาวะ Corneal dystrophy (ดังได้กล่าวแล้ว), ภาวะตาแห้ง, หรือภาวะเปลือกตา/หนังตาปิดไม่สนิท

รักษากระจกตาถลอกอย่างไร?

รักษากระจกตาถลอก ได้โดย

1. โดยปกติแผลถลอกของกระจกตาเป็นเฉพาะเซลล์เยื่อบุผิวกระจกตา ที่หลุดลอกออก ตัวเยื่อบุผิวกระจกตาสามารถสร้างตัวเองขึ้นมาปิดแผลได้เอง หากไม่มีสิ่งกีดขวาง ในการ ศึกษาพบว่า หากเยื่อบุผิวกระจกตาลอกออกทั้งหมด ตัวเยื่อบุผิวสามารถงอกมาปิดแผลเองได้หมดภายใน 48 – 72 ช.ม. แต่ในชีวิตจริง เนื่องจากมีสิ่งแวดล้อม เช่น จากน้ำตาไหล, บางคนมีขี้ตา, ขยี้ตา, และกระพริบตา ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้ผิวที่ถลอก ปิดช้าลงไป และในผู้ป่วยที่พบ ว่า มีการถลอกเล็กๆน้อย ส่วนใหญ่คาดว่าน่าจะหายได้ใน 24 ช.ม. (หากไม่มีการติดเชื้อเกิด ขึ้น) อย่างไรก็ตาม การรักษาที่แพทย์มักจะให้คือ การให้ยาปฏิชีวนะชนิดหยอดตา เพื่อป้องกันการติดเชื้อ เพราะผิวกระจกตาที่ถลอก จะเปิดทางให้เชื้อโรคเข้ากระจกตาโดยตรง

2. ผู้ป่วยบางรายมีอาการปวดตามาก เนื่องจากมีการทำงานของเนื้อเยื่อลูกตาชนิดหนึ่งที่เรียกว่า Ciliary body มาก ซึ่งอาจใช้หยอดยาในกลุ่ม Cycloplegic ช่วย

3. การปิดตา เดิมเชื่อกันว่าหากปิดตาแน่นเพื่อไมให้ลูกตากลอกไปมา เนื่องจากถ้าตาข้างที่ดีกลอกตา ตาข้างที่กระจกตาถลอกก็จะกลอกตาม การปิดตาแน่นทั้ง 2 ตา ไม่ให้กลอกตาน่าจะลดอาการปวด และเร่งให้แผลหายเร็วกว่าการไม่ได้ปิดตา แต่ปัจจุบันพบว่า การปิดตา ไม่ได้ทำให้แผลถลอกหายเร็วขึ้น หรืออาการปวดน้อยลงในผู้ป่วยบางคน แพทย์จึงพิจารณาแนะนำเป็นรายๆไป โดยทั่วไป คือ หากแผลถลอกมีขนาดเล็ก ก็ไม่จำเป็นต้องปิดตา แต่หากแผลมีขนาดใหญ่ และผู้ป่วยมีอาการตากลัวแสงอย่างมาก แพทย์ก็มักแนะนำการปิดตา

4. การปิดตาด้วยคอนแทคเลนส์ เป็นทางเลือกอีกวิธีหนึ่งแทนการปิดตาจากภายนอก ซึ่งวิธีนี้ จะทำให้ผู้ป่วยใช้สายตาข้างมีการถลอกได้ตามปกติ ความเจ็บปวดจากการกลอกของลูกตา ทำให้ผิวตาที่กลอกสัมผัสกับเปลือกตาลดลง แต่การใช้คอนแทคเลนส์ต้องระวังการติดเชื้อ ที่มักเป็นได้ง่ายกว่าการไม่ใช้คอนแทคเลนส์ แพทย์จึงต้องพิจารณาเป็นรายๆว่า รายใดควรเปิดตา (ใช้แต่แว่นตากันแสง), ปิดตาด้วยผ้า, หรือใช้คอนแทคเลนส์ ซึ่งแต่ละวิธีมีข้อดี ข้อเสียต่างกัน การแนะนำจึงขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์

5. ควบคุม รักษา ภาวะผิดปกติที่ก่อให้เกิดกระจกตาถลอก เช่น ควบคุม รักษา ภาวะตาแห้ง โรคภูมิแพ้ และ/หรือ เลือกการใช้คอนแทคเลนส์ที่เหมาะสม

กระจกตาถลอกมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคในกรณีกระจกตาถลอก คือ

1. โดยทั่วไปผู้ป่วยที่กระจกตาถลอกจากอุบัติเหตุ เล็กๆ น้อยๆ เฉพาะที่ผิวตา มักจะหายได้ใน 2 – 3 วัน โดยไม่มีผลเสียตามมา คือ หายโดยไม่มีแผลเป็นทิ้งไว้ ยกเว้นรายที่แผลลึกลงไปจนถึงเนื้อเยื่อกระจกตาชั้นที่เรียกว่า Stroma จึงจะเกิดมีแผลเป็นที่กระจกตาหลังการหายของแผลได้ ซึ่งแผลเป็นนี้จะส่งผลต่อการมองเห็นได้

2. ผู้ป่วยบางรายที่ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคเรื้อรัง เช่น เบา หวาน อัมพาต ฯลฯ แผลอาจจะหายช้ากว่าคนปกติทั่วไป แพทย์ต้องนัดตรวจตาเป็นระยะๆ จน กว่าแน่ใจว่าแผลปิดเรียบร้อยดีแล้ว

3. หากแก้ไข ควบคุมภาวะที่เป็นต้นเหตุกระจกตาถลอกได้ การพยากรณ์โรคจะอยู่ในข่ายที่ดี และยังจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการถลอกเป็นซ้ำอีก

4. มีบ้างในผู้ป่วยบางราย เมื่อแผลถลอกหายดีแล้ว หลายๆเดือนต่อมา เพียงขยี้ตาเล็กน้อย ผิวกระจกตาก็จะถลอกกลับมาได้อีก เชื่อว่า เกิดจากผิวกระจกตาที่กลับมาติดกันแล้วนั้น ยังไม่แข็งแรงพอ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง อย่าขยี้ตา จนกว่าแผลจะติดสนิทและแน่นพอ อย่างน้อยนานเป็นหลายๆสัปดาห์

กระจกตาถลอกก่อผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากกระจกตาถลอก คือ

1. การเป็นแผลถลอก ทำให้เกิดอาการเจ็บปวดตา ทรมาน ตามัว ขาดงาน ขาดการเรียน

2. บางรายอาจมีโรคแทรกซ้อน มีการติดเชื้อตามมาได้ ทำให้มีแผลอักเสบลึกลงไปในชั้น Stroma ของกระจกตา ทำให้การรักษายุ่งยากขึ้น ใช้เวลานานขึ้น บางครั้งถ้าเป็นเชื้อที่รุนแรง อาจทำให้การมองเห็นลดลง จนถึงขั้นเสียสายตาข้างนั้น การถลอกของผิวกระจกตาเป็นการนำไปสู่ แผลอักเสบของกระจกตาในเนื้อเยื่อชั้นลึกๆ ซึ่งรุนแรงเสมอๆ

การดูแลตนเองเมื่อมีกระจกถลอก และการป้องกันกระจกตาถลอกทำได้อย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีกระจกถลอก และการป้องกันกระจกตาถลอก จะคล้ายคลึงกัน ปรับใช้ด้วยกันได้เป็นอย่างดี จึงขอพูดรวมกันไป

1. เนื่องจากการถลอกของผิวกระจกตาส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ การหลีกเลี่ยงอุบัติ เหตุ เช่น หลีกเลี่ยงไปสถานที่ที่อาจจะเกิด ฝุ่น ผง เข้าตา บริเวณก่อสร้าง ก็จะช่วยลดการระคายเคืองตา (ถ้ามีกระจกตาถลอกอยู่) และ ลดโอกาสเกิดกระจกตาถลอกได้ (กรณีเป็นการป้องกัน)

2. ใช้เครื่องป้องกันภยันตรายในที่ๆมีความเสี่ยง เช่น การใช้หน้ากาก หรือแว่นกันแดด แว่นนิรภัยในที่ที่จำเป็น

3. ผู้ใช้คอนแทคเลนส์ ควรหมั่นตรวจสภาพและความเหมาะสมในการใช้เสมอๆ

4. ถ้าเกิดอุบัติเหตุและสงสัยว่า มีผิวกระจกตาถลอก ควรปรึกษาแพทย์/จักษุแพทย์ เพื่อประเมินความรุนแรง และรับการรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่นๆ

5. อย่าซื้อยามาหยอดตาเอง โดยเฉพาะยาหยอดตาที่มีตัวยาสเตียรอยด์ เพราะอาจทำให้การถลอกกว้างขึ้น และมีการติดเชื้อตามมา

6. ล้างมือให้สะอาดเสมอ

7. ไม่ขยี้ตา

8. ระมัดระวังการใช้กากเพชรกับหนังตา

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

เมื่อมีกระจกตาถลอก ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ

  • อาการต่างๆไม่ดีขึ้น
  • หรือมีอาการต่างๆมากขึ้น เช่น ปวดตา หรือตามัว มากขึ้น
  • หรือมีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น แสบตา/เคื่องตามาก ตาแดงมากขึ้น เป็นต้น
  • หรือเมื่อกังวลในอาการ