สะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 1 กันยายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- อะไรเป็นสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน?
- โรคสะตีเวนส์จอห์นสันมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันอย่างไร?
- มีผลข้างเคียงจากภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันอย่างไร? ภาวะนี้รุนแรงไหม?
- รักษาภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ป้องกันภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- ซัลฟา (Sulfa drugs) ซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides)
- เพนิซิลลิน (Penicillin)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- กระจกตาอักเสบ (Keratitis) กระจกตาเป็นแผล (Corneal ulcer)
บทนำ
ภาวะ หรือโรค หรือกลุ่มอาการสะตีเวนส์จอห์นสัน (Stevens-Johnson syndrome หรือ เรียกย่อว่าโรค SJS) คือ ภาวะที่ปฏิกิริยาของระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายตอบสนองผิดปกติต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย หรือต่อการเจ็บป่วยต่างๆ ที่พบบ่อย เช่น จากยา, เชื้อโรค, และจากโรคมะเร็ง ซึ่งเรียกภาวะนี้ตามชื่อของผู้รายงานภาวะนี้ครั้งแรกเมื่อปี 1922 คือกุมารแพทย์ชาวอเมริกันชื่อ A.M. Steven และ S.G. Johnson โดยพบเด็กมีอาการไข้, มีแผลเต็มปาก, เยื่อตาอักเสบ, และมีผื่นตามตัว
ภาวะสะตีเวนส์ จอห์นสัน และภาวะแพ้ยาที่ก่ออาการต่อผิวหนังและต่อเยื่อเมือกบุอวัยวะภายในต่างๆอย่างรุนแรงที่เรียกว่า ‘Toxic epidermal necrolysis’ หรือเรียกย่อว่า ‘TEN’ คือภาวะเดียวกันแต่มีความรุนแรงต่างกัน โดย TEN เป็นภาวะที่รุนแรงกว่ามาก โดยผู้ป่วยจากภาวะTEN พบเกิดได้น้อยกว่า แต่ที่มีความสำคัญคือ มีโอกาสเสียชีวิตได้สูงกว่า
อนึ่ง แพทย์ยังไม่สามารถให้การพยากรณ์โรคได้ว่า ผู้ป่วยคนใดจะเกิดภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันและ/หรือภาวะ TEN แต่ที่แน่ชัดคือ ภาวะทั้งสองนี้มีโอกาสเกิดเป็นซ้ำได้เสมอ
อุบัติการณ์ของภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันพบได้ประมาณ 2.6 - 6.1 รายต่อประชากร 1 ล้าน คน ส่วนภาวะ TEN พบได้ประมาณ 0.22 - 1.23 รายต่อประชากร 1 ล้านคน ทั้งสองภาวะเกิดได้ในทุกเชื้อชาติ แต่มีรายงานพบในชาวตะวันตกมากกว่า เพศหญิงพบบ่อยกว่าเพศชายในสัดส่วนประมาณ 2:1 พบภาวะนี้ได้ทุกวัยตั้งแต่ทารกจนถึงผู้สูงอายุ แต่ช่วงอายุที่พบได้มากสุดคือ 20 - 40 ปี ที่น่าสนใจคือภาวะทั้งสองนี้ไม่ได้พบแต่เฉพาะในคน มีรายงานว่าเกิดได้ใน หมา แมว และลิงด้วย
อะไรเป็นสาเหตุหรือปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน?
ยังไม่ทราบกลไกการเกิดภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันที่แน่ชัด แต่เชื่อว่าเป็นปฏิกิริยาของระบบ ภูมิคุ้มกันต้านทานฯของร่างกายที่ตอบสนองผิดปกติต่อสิ่งแปลกปลอมที่เข้าสู่ร่างกาย หรือต่อการเจ็บป่วยของร่างกายเอง และทำให้เกิดการอักเสบของเซลล์ผิวหนังและของเยื่อเมือกบุภายในอวัยวะทั่วร่างกาย
สาเหตุที่อาจทำให้เกิดภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน ได้แก่
1. ไม่ทราบสาเหตุ: มีผู้ป่วยอยู่ถึงประมาณ 25 - 50% ที่หาสาเหตุไม่ได้ว่าสิ่งใดเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดภาวะนี้
2. ยารักษาโรคต่างๆ: เช่น
- ยารักษาโรคเกาต์ที่ชื่อว่า Allopurinol เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
- ยาปฏิชีวนะกลุ่มเพนิซิลลิน (Penicillin) เช่น Amoxicillin, Cloxacillin
- ยาปฏิชีวนะกลุ่มซัลฟา (Sulfa) เช่น Co-trimoxazole
- ยาแก้ปวดและยาต้านการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อเอ็นเสดส์ (NSAIDs) เช่น Diclofenac, Ibuprofen, Indomethacin, Piroxicam, Meloxicam
- ยาป้องกันอาการชักซึ่งรวมถึง Phenytoin, Carbamazepine, Valproic acid และ Barbiturates
- ยาอื่นๆเช่น ยาปฏิชีวนะชื่อ Gentamycin, Ciprofloxacin, ยาต้านเศร้าชื่อ Mirtazapine, ยารักษาสิวชื่อ Isotretinoin, ยาต้านเชื้อราชื่อ Fluconazole, ยาต้านเอชไอวี (HIV, โรคติดเชื้อเอชไอวี) ชื่อ Nevirapine, หรือยาเสพติด เช่น โคเคน ก็มีรายงานว่าทำให้เกิดอาการนี้ได้
3. การติดเชื้อ:
- เชื้อไวรัส (โรคจากไวรัส) ที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อยคือ ไวรัสเริม (โรคเริม โรคเริมที่อวัยวะเพศ), เชื้ออื่นๆที่พบได้คือ เชื้อเอชไอวี, เชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดใหญ่, โรคคางทูม, โรคไวรัสตับอักเสบ, สำหรับในเด็กมักจะเกิดจากเชื้อไวรัสชื่อ Epstein-Barr virus หรือเรียกย่อว่า อีบีวีไวรัส (EBV, ทำให้เกิดโรคมีไข้สูงและเจ็บคอชื่อ Infectious mononucleosis บางคนเรียกว่า โรคโมโน), และไวรัสกลุ่ม Enteroviruses (ที่ทำให้เกิดโรคไข้ออกผื่น โรคมือ-เท้า-ปาก หรือ โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
- เชื้อแบคทีเรีย (โรคจากแบคทีเรีย) เชื้อชื่อ Mycoplasma pneumoniae ที่ทำให้เกิดปอดบวม, เชื้อที่ทำให้เกิดโรคไทฟอยด์ (Samonella spp.), เชื้อที่ทำให้เกิดโรคคอตีบ(Corynebac terium diphtheriae), เชื้อชื่อ Streptoccocus spp. ที่ทำให้เกิดแผลที่ผิวหนังหรือคอแดงอักเสบ
- เชื้อรา เช่น เชื้อที่ทำให้เป็น โรคกลาก, โรคเกลื้อน ที่ผิวหนัง
- เชื้ออื่นๆที่มีรายงานเช่น เชื้อที่ทำให้เกิดโรคมาลาเรีย
4. โรคมะเร็ง: มีโรคมะเร็งหลายชนิดเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว แต่โอกาสเกิดภาวะนี้จากโรคมะเร็งพบได้น้อยมาก
5. พันธุกรรม: มีการศึกษาพบว่าคนที่มีลักษณะทางพันธุกรรมบางอย่างอาจมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน และ TEN สูงกว่าคนทั่วไปเช่น คนเชื้อสายเอเชียที่มีรหัสพันธุกรรมที่เรียกว่า HLA-B*1502 (HLA-B75) จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้เมื่อได้รับยากันชัก ชื่อ Carbamazepine และ Phenytoin, หรือคนเชื้อสายเอเชียและยุโรปที่มีรหัสพันธุกรรม HLA-B*5801 (HLA-B58) จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะนี้เมื่อได้รับยารักษาโรคเกาต์ชื่อ Allopurinol โดยพบว่าผู้ป่วยประมาณ 60% ที่เกิดภาวะนี้เมื่อได้รับยา Allopurinol จะมีรหัสพันธุกรรมดังกล่าว
6. ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค: ผู้ป่วยที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่องจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นต่อการเกิดภาวะนี้ด้วยเช่นกัน เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวี, หรือผู้ป่วยที่เป็น โรคเอสแอลอี (SLE, โรคพุ่มพวง) เป็นต้น
โรคสะตีเวนส์จอห์นสันมีอาการอย่างไร?
โรคสะตีเวนส์จอห์นสันมักจะเกิดอาการในช่วง 1 - 4 อาทิตย์ภายหลังกินยา หรือภายหลังติดเชื้อ แต่มีรายงานว่าอาจเกิดภายใน 1 - 3 วันหลังได้ยาเลยก็ได้ โดยเริ่มต้นจะมีอาการคล้ายเป็นโรคไข้หวัดใหญ่คือมี ไข้ หนาวสั่น ปวดศีรษะ เจ็บคอ ปวดเมื่อยร่างกาย บางคนอาจมีอาเจียน และท้องเสียร่วมด้วยได้ อาการเหล่านี้อาจเป็นอยู่เพียง 1 วันหรือนานถึง 14 วัน
หลังจากนั้นผู้ป่วยจะปรากฏพยาธิสภาพที่ผิวหนังและเยื่อเมือกบุอวัยวะต่างๆไปพร้อมๆกัน คือ ตามผิวหนังจะมีผื่นขึ้น เริ่มต้นเป็นผื่นแบนเรียบ ต่อมาจะกลายเป็นผื่นนูนแดงเล็กๆ และขยายออกเป็นผื่นปื้นแดงขนาดใหญ่ ผื่นเหล่านี้จะไม่คัน ในที่สุดผื่นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใส และแตกออกหลุดลอกไปกลายเป็นแผลเกิดขึ้น บางครั้งบริเวณตรงกลางของตุ่มน้ำใสอาจกลายเป็นหนอง และมีเนื้อเน่าตายได้ ซึ่งเมื่อไม่มีชั้นผิวหนังปกคลุมแล้ว เนื้อที่อยู่ชั้นใต้ผิวหนังบริเวณนี้จึงเสี่ยงต่อติดเชื้อโรคต่างๆ ส่งผลให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเกิดการติดเชื้อกับอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายได้
บริเวณที่ผื่นมักจะเกิดคือ ฝ่ามือ ฝ่าเท้า หลังมือ หลังแขน หน้าขา แต่ไม่ว่าจะเป็นบริเวณไหนก็สามารถเกิดขึ้นได้ยกเว้นบริเวณหนังศีรษะ ซึ่งในภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันพื้นที่ที่เกิดการหลุดของผิวหนังเมื่อเทียบกับพื้นที่ผิวหนังปกติจะต้องไม่เกิน 10% แต่ถ้ามีการหลุดลอกของผิว หนังเกิน 30% ของพื้นที่ร่างกาย จะเรียกภาวะนี้ว่า ‘Toxic epidermal necrolysis (TEN)’ สำหรับกรณีที่พื้นที่ที่มีการหลุดลอกของผิวหนังอยู่ระหว่าง 10 - 30% เรียกภาวะนี้ว่า ภาวะคาบเกี่ยว หรือ Overlapping Stevens-Johnson syndrome/Toxic epidermal necrolysis (SJS/TEN)
สำหรับโรคที่เยื่อเมือก จะวินิจฉัยว่าเป็นภาวะนี้ได้ต้องพบพยาธิสภาพที่เยื่อเมือกอย่างน้อย 2 ใน 3 แห่งคือ ที่เยื่อบุตา เยื่อเมือกใน ช่องปาก และ/หรือในอวัยวะเพศ (เช่น บริเวณแคมในของอวัยวะเพศหญิง เยื่อเมือกบุช่องคลอด ทางเดินปัสสาวะ) ส่วนตำแหน่งอื่นๆที่อาจพบได้เช่น เยื่อเมือกบุคอหอย, เยื่อเมือกบุหลอดอาหาร, เยื่อเมือกบุจมูก, เยื่อเมือกบุกล่องเสียง, เยื่อเมือกบุหลอดลม, เยื่อเมือกบุรอบทวารหนัก, โดยพยาธิสภาพจะมีการบวมแดงของเยื่อเมือกเหล่านี้ ต่อมากลายเป็นตุ่มน้ำใส และหลุดลอกออกกลายเป็นแผลที่อาจมีเลือดออกและเสี่ยงต่อการติดเชื้อแทรกซ้อนต่างๆ ผู้ป่วยจะมีอาการเกิดขึ้นตามอวัยวะที่เกิดอาการ เช่น
- ถ้าเกิดที่ตา ก็จะมี ตาแดง ตาแห้ง หรือน้ำตาไหล ปวดตา เคืองตา ปวดแสบร้อนตา
- ถ้าเกิดที่ระบบทางเดินปัสสาวะ ก็จะมีอาการปัสสาวะลำบาก ปวดแสบเวลาปัสสาวะ ปวดท่อปัสสาวะ
- ถ้าเกิดที่ช่องปาก หรือระบบทางเดินอาหาร ก็อาจจะกินไม่ได้ กลืนลำบาก กลืนเจ็บ เป็นต้น
ผู้ป่วยที่เคยเกิดภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันมาแล้วหนึ่งครั้ง เมื่อเกิดขึ้นซ้ำอีกอาการจะรุนแรงขึ้นไปเรื่อยๆ และมีอัตราตายที่สูงขึ้น เช่น ครั้งแรกอาจเกิดผื่นผิวหนังที่มีบริเวณพื้นที่แค่ 1 ฝ่ามือ แต่เมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นเข้าร่างกายอีกครั้ง ผื่นจะกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้างขึ้นเกิน 30% ของพื้นที่ร่างกายซึ่งเรียกว่าเกิดภาวะ TEN ขึ้นมาแทน
แพทย์วินิจฉัยภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันจาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ คือ ประวัติการมีโรคต่างๆ และการใช้ยาต่างๆ
- อาการของผู้ป่วย ร่วมกับการตัดชิ้นเนื้อจากผิวหนังที่เป็นผื่นเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะตรวจพบเซลล์ชั้นผิวหนังกำพร้า (Epidermis) แยกตัวออกจากชั้นใต้ผิวหนังที่เรียกว่า หนังแท้ (Dermis) และพบเซลล์ในชั้นหนังกำพร้ามีการตายเกิด ขึ้น รวมทั้งพบมีเม็ดเลือดขาวอยู่ล้อมรอบหลอดเลือดที่อยู่ในชั้นหนังแท้
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการอื่นๆ จะไม่จำเพาะแต่มีประโยชน์ในการดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น
- การตรวจเลือดซีบีซี (CBC) จะพบปริมาณเม็ดเลือดขาวปกติหรือสูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่ถ้าสูงกว่าปกติมากจะช่วยบ่งว่าผู้ป่วยกำลังติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งในกรณีนี้จะต้องเพาะเชื้อจากแผลที่ผิวหนังและจากเลือดเพื่อระบุหาชนิดของเชื้อต่อไป
- การตรวจดูระดับเกลือแร่ในเลือด(Electrolyte) ผู้ป่วยที่อาการรุนแรงกินไม่ได้ มีผิวหนังลอกเกิดเป็นแผลซึ่งกินบริเวณกว้าง อาจมีระดับเกลือแร่เสียสมดุลเช่น เกลือโซเดียมและเกลือโปแตสเซียมต่ำ
- การตรวจเลือดดูระดับการทำงานของไตที่อาจผิดปกติ ในผู้ป่วยที่มีผิวหนังลอกเป็นบริเวณกว้าง มีการระเหยสูญเสียน้ำออกจากร่างกายมากอาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้
มีผลข้างเคียงจากภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันอย่างไร? ภาวะนี้รุนแรงไหม?
ในผู้ป่วยทั้งภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันและภาวะ TEN ที่ไม่เกิดการติดเชื้อแทรกซ้อนบริเวณที่มีผิวหนังลอกตัวเป็นแผลจะถูกทดแทนด้วยผิวหนังที่เกิดใหม่ภายในเวลา 1 - 2 สัปดาห์ ชั้นผิว หนังใหม่นี้จะมีสีเข้มกว่าปกติบางคนอาจเกิดแผลเป็นนูนได้
โดยทั่วไปผู้ป่วยทั้งภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันและภาวะ TEN มีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรก ซ้อน/ผลข้างเคียงขึ้นได้ง่ายคือ
- การติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนบริเวณผิวหนังที่มีการหลุดลอก ทำให้เนื้อเยื่อใต้ผิว หนังอักเสบเป็นฝีหนอง และเชื้ออาจกระจายเข้าสู่กระแสเลือด (โลหิต) เกิดการติดเชื้อรุนแรงในกระแสเลือด(ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้
- ผิวหนังที่มีการลอกตัวเป็นบริเวณกว้าง เมื่อรักษาหายแล้วจะเป็นแผลเป็นและเกิดพังผืดดึงรั้งทำให้เสียรูปร่าง ถ้าผิวหนังบริเวณโคนเล็บมือเล็บเท้าลอกออกก็อาจทำให้ไม่มีเล็บงอกออกมาอีก ถ้าเป็นบริเวณที่มีขนหรือผมก็จะไม่มีขนหรือผมงอกอีก
- นอกจากนี้ การที่ผิวหนังลอกตัวออกเป็นบริเวณกว้างก็จะมีการระเหยสูญเสียน้ำออกจากร่างกายมากอาจทำให้เกิดภาวะไตวายได้
- เยื่อบุตาที่มีการอักเสบรุนแรง จะมีการลอกตัวของเยื่อเมือกกระจกตา เมื่อหายแล้วจะกลายเป็นพังผืดขุ่นมัว จึงทำให้ตาบอดได้
- การลอกตัวของเยื่อเมือกบุหลอดอาหารที่รุนแรง เมื่อหายแล้วจะเกิดเป็นพังผืดดึงรั้ง เกิดหลอดอาหารตีบตัน อาจทำให้กลืนอาหารไม่ได้
- การลอกตัวของเยื่อเมือกบุหลอดลมในปอด ถ้าเกิดรุนแรงเป็นบริเวณกว้างจะทำให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวได้
- การลอกตัวของเยื่อเมือกบุทางเดินปัสสาวะที่รุนแรง เมื่อหายแล้วเกิดเป็นพังผืดขึ้น มาจะทำให้ท่อทางเดินปัสสาวะตีบตัน ปัสสาวะไม่ออก ในผู้ชายก็อาจทำให้อวัยวะเพศผิดรูป ในกรณีที่เยื่อเมือกบุช่องคลอดเกิดพังผืดก็จะทำให้ช่องคลอดตีบตัน ไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้
อนึ่ง : อัตราตายของภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันประมาณ 1 - 5% แต่ถ้าเป็นภาวะTEN จะมีอัตราตายประมาณ 25 - 35%
รักษาภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันอย่างไร?
แนวทางการรักษาภาวะสะตีเวนส์จอห์นสัน ประกอบด้วย
1. การหยุดยาที่อาจเป็นสาเหตุของภาวะนี้ทั้งหมด
2. การให้ยาฆ่าเชื้อ/ ยาปฏิชีวนะ รักษาในกรณีที่ชัดเจนว่าสาเหตุมาจากการติดเชื้อเช่น
- เป็นปอดบวมจากการติดเชื้อ Mycoplasma pnemoniae ก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้
- เป็นโรคเริมก็ต้องให้ยาต้านไวรัสเริม
3. การให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ ไม่มีข้อสรุปว่าควรให้หรือไม่ให้ บางรายงานระบุว่าการให้ยานี้ทางหลอดเลือดดำจะช่วยลดความรุนแรงของอาการและลดระยะเวลาที่มีอาการได้ แต่ก็มีการศึกษาว่าการให้ยาในกลุ่มนี้ไม่ได้มีประโยชน์อย่างที่กล่าวและอาจทำให้ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงขึ้น โดยเพิ่มอัตราการติดเชื้อได้ ดังนั้นแพทย์จึงมักพิจารณาการรักษาเป็นรายๆไป
4. การให้ยากลุ่มภูมิคุ้มกันต้านทานโรคที่เรียกว่า แอนติบอดี/สารภูมิต้านทาน (Anti body) หรือ Immunoglobulin ที่แพทย์อาจเลือกพิจารณานำมาใช้ ซึ่งยานี้ยังไม่มีข้อสรุปถึงประ โยชน์ที่ชัดเจนเช่นกัน
5. การรักษาแบบประคับประคองตามอาการ เช่น
- การดูแลแผลจากผิวหนังที่หลุดลอก ให้ดูแลแบบผู้ป่วยที่ถูกไฟไหม้ คือ การทำแผลที่ผิวหนัง แต่ให้หลีกเลี่ยงยาทาที่มี Sulfonamide เป็นส่วนผสม เช่น Silver sulfadiazine เพราะอาจเกิดการแพ้ยาได้
- การให้ยาแก้ปวดลดความปวดที่แผล (ต้องระวังการแพ้ยาเช่นกัน)
- การเฝ้าระวังการติดเชื้อ
- การปรับอุณหภูมิห้องให้เย็นเหมาะสมเพื่อป้องกันการสูญเสียความร้อนของร่างกายทางแผลผิวหนัง
- การให้น้ำและเกลือแร่ให้เพียงพอโดยอาจให้ทางหลอดเลือดดำ
- การพิจารณาให้วัคซีนบาดทะยักในรายที่ไม่เคยได้รับมาก่อน
- หากรับประทานอาหารไม่ได้ อาจใส่สายให้อาหารผ่านทางจมูกเข้าสู่กระเพาะอาหารเพื่อเป็นการให้อาหารได้อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วย แต่ถ้าเยื่อเมือกบุจมูกและเยื่อเมือกบุหลอดอาหารมีแผลก็จำเป็นต้องให้สารอาหารทางหลอดเลือดดำแทน
- แผลในปากให้ทำความสะอาดด้วยน้ำยาบ้วนปากและทายาที่ให้ความชุ่มชื้น เช่น Glycerin และอาจใช้ชนิดที่มียาชาผสมเพื่อลดอาการเจ็บปวด
- การให้ยาทากลุ่มสเตียรอยด์ลดการอักเสบที่ผิวหนัง
- ผู้ป่วยที่มีแผลเพียงเล็กน้อยสามารถกินอาหารได้ อาจให้ผู้ป่วยอยู่ที่บ้านได้ และรักษาแผลแบบผู้ป่วยนอก แต่ผู้ป่วยต้องระวังความสะอาดให้ดีไม่ให้แผลติดเชื้อ
- แผลที่เกิดกับเยื่อเมือกบุตา จักษุแพทย์จะเป็นผู้ดูแลรักษาและอาจต้องติด ตามดูแลกันนานเป็นปีๆ
6. การรักษาผลข้างเคียงหรือผลแทรกซ้อนจากภาวะนี้ เช่น
- เมื่อพบการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนก็ต้องให้ยาปฏิชีวนะ
- ผู้ป่วยที่มีแผลจากการหลุดลอกของผิวหนังเป็นบริเวณกว้างอาจเกิดเป็นพังผืดดึงรั้งให้ผิดรูปก็ต้องผ่าตัดปลูกถ่ายผิวหนัง
- ผู้ป่วยที่มีพังผืดเกิดขึ้นที่ตาปัจจุบันก็มีการนำเทคนิคการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (Stem cell) และ/หรือทำการผ่าตัดบางส่วนของกระจกตา เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไร? ป้องกันภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันอย่างไร?
การดูแลตนเองและการป้องกันภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันที่สำคัญ คือ
1. สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยเกิดภาวะสะตีเวนส์จอห์นสันและ TEN ไม่มีวิธีไหนที่สามารถป้องกันการเกิดภาวะเหล่านี้ได้ และไม่สามารถทำนายได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อได้รับยาหรือติดเชื้อโรคใดเข้าไป บอกได้เพียงแค่ว่า ท่านที่มีญาติที่เคยเกิดภาวะเหล่านี้อาจมีความเสี่ยงอยู่บ้างที่จะเกิด หรือถ้าหากได้รับการตรวจรหัสพันธุกรรมแล้วพบว่ามี HLA-B*1502 และ HLA-B*5801 (บ้านเราการตรวจรหัสพันธุกรรมทั้งสองยังไม่สามารถให้บริการปกติได้ และมีบริการการตรวจเฉพาะเพียงบางโรงพยาบาลขนาดใหญ่เท่านั้น) ก็ต้องระวังการได้รับยา Carbamazepine, Phenytoin และ Allopurinol
2. ผู้ที่เคยเกิดภาวะนี้มาแล้วถ้าพบว่าสาเหตุมาจากยาก็ต้องจดจำชื่อตัวยาสามัญ (Generic name) ที่ไม่ใช่ยาชื่อการค้าหรือชื่อยี่ห้อ (Trade name) เพราะชื่อทางการค้าจะมีหลากหลายมากจนไม่สามารถจำได้ และพกบัตรที่ระบุการแพ้ยาดังกล่าวไว้กับตัวตลอดเวลา หรือพกไว้เป็นสายสร้อยข้อมือหรือสร้อยคอก็ได้ ไม่ควรซื้อยากินเองโดยไม่จำเป็น และต้องแจ้งให้แพทย์พยา บาลและเภสัชกรทราบทุกครั้งว่าท่านแพ้ยาอะไร ห้ามใช้สมุนไพรหรืออาหารเสริมที่ไม่ได้ระบุส่วนผสมทั้งหมด
3. ผู้ที่เคยเกิดภาวะนี้มาแล้วจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
- ติดเชื้อไวรัสเริม แพทย์อาจพิจารณาให้ยาต้านไวรัสเริมกินป้องกันตลอดไป
- ถ้าเป็นเชื้อโรคไข้หวัดใหญ่ โรคคอตีบ โรคคางทูม ก็ต้องให้วัคซีนป้องกัน เป็นต้น
- ในกรณีที่ไม่ทราบสาเหตุว่าภาวะนี้เกิดจากอะไร (ซึ่งเป็นสาเหตุส่วนใหญ่) ก็ต้องดูแลรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ไม่เจ็บป่วยเป็นโรค เช่น
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ครบถ้วนทุกมื้ออาหารในปริมาณเหมาะสมที่ไม่ทำให้เกิดโรคอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- ไม่เครียด
- การรักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- หลีกเลี่ยงการซื้อยากินเอง ไม่ใช้ยาสมุนไพร อาหารเสริมพร่ำเพรื่อ และระมัดระวังในการใช้สารเคมีต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ผู้ที่มีผื่นแดงหรือเป็นผื่นตุ่มน้ำใสเกิดขึ้นที่ผิวหนังและ/หรือในช่องปากและ/หรือที่ตาภายหลังการกินยา หรือร่วมกับมีไข้หรือไม่ทราบสาเหตุ ควรรีบพบแพทย์ /มาโรงพยาบาล(โดยเฉพาะเมื่อเกิดที่ตา เพราะการพบแพทย์ล่าช้า ตาอาจบอดได้) เพื่อได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นผื่นที่เกิดจากอะไร และให้นำยาทั้งหมด (ไม่ว่าที่ซื้อกินเองหรือแพทย์แนะนำ) อาหารเสริม และสมุนไพรที่ได้กินในช่วงเวลา 1 - 3 สัปดาห์ก่อนหน้านี้มาให้แพทย์ดูด้วย เพื่อช่วยการวินิจฉัยโรคได้ถูกต้องรวดเร็ว
บรรณานุกรม
- วิมลวรรณ ตั้งปกาศิต. http://med.tu.ac.th/Uploads/sheet/wimonwan.pdf [2019,Aug10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Stevens%E2%80%93Johnson_syndrome [2019,Aug10]
- https://emedicine.medscape.com/article/1124127-overview#showall [2019,Aug10]
- https://emedicine.medscape.com/article/229698-overview#showall [2019,Aug10]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Toxic_epidermal_necrolysis [2019,Aug10]