ไอโอดีน (Iodine)

บทความที่เกี่ยวข้อง
ไอโอดีน

ไอโอดีน(Iodine) เป็นธาตุอาหาร/เกลือแร่ ซึ่งมักอยู่ในรูปแบบของเกลือโซเดียมไอโอดายด์ (Sodium iodide) หรือเกลือโพแทสเซียมไอโอดายด์ (Potassium iodide) เป็นธาตุอาหารที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหารที่เรากินเท่านั้น

อาหารที่มีไอโอดีนอุดมสมบูรณ์ คือ อาหารทะเล สาหร่ายทะเล อาหารที่ใช้เกลือทะเล/เกลือแกงเพื่อเพิ่มความเค็ม เช่น ขนมปัง น้ำผลไม้กล่อง เนย โยเกิรต์ นม นมถั่วเหลือง และอาหารเช้าซีเรียล (Cereal) ที่เพิ่มเสริมอาหารด้วยธาตุอาหารไอโอดีน

ร่างกายดูดซึมไอโอดีนในกระเพาะอาหารและในลำไส้เล็กตอนบน หลังการ ดูดซึม ไอโอดีนจะเข้าสู่กระแสโลหิต เซลล์ต่อมไทรอยด์จะจับกินไอโอดีน เพื่อนำไปสร้างเป็นไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งที่สำคัญ คือ ฮอร์โมน ที-4 (T4, Thyroxine หรือ Tetraiodothyronine) และฮอร์โมน ที-3(T3, Triiodothyronine) และไอโอดีนส่วนเกินส่วนใหญ่จะถูกขับออกทางไตทางปัสสาวะ และส่วนน้อยทางอุจจาระ และทางเหงื่อ

ตามคำแนะนำสำหรับคนทั่วไป ต่อปริมาณไอโอดีนที่ควรบริโภคต่อวัน (DRI, Dietary reference intakes) ของสถาบันการแพทย์แห่งชาติ แห่งสหรัฐอเมริกา (U.S. Food and Nutrition Board, Institute of Medicine, National Academies) คือ

ประโยชน์และโทษของไอโอดีน

ไอโอดีนเป็นธาตุอาหารสำคัญ และจำเป็นต่อร่างกายในทุกๆช่วงอายุ ตั้งแต่ ทารกในครรภ์ เด็ก ไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งร่างกายนำไอโอดีนไปใช้โดยผ่านทางต่อมไทรอยด์ ในการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน ซึ่งมีหน้าที่สำคัญควบคุมการใช้พลังงานของร่างกายเพื่อการทำงานต่างๆของเซลล์ทุกชนิด โดยเฉพาะ สมอง หัวใจ และกล้ามเนื้อ และในการเจริญเติบโตของเซลล์ทุกชนิดโดยเฉพาะในช่วงเป็นทารกในครรภ์ (ต่อเซลล์สมอง เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และต่อกระดูก) ควบคุมอุณหภูมิ ความร้อนหนาวของร่างกาย และช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย

นอกจากนั้น ในผู้หญิง ไอโอดีนยังอาจเกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโตของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเต้านมอีกด้วย โดยมีรายงานการรักษาโรคก้อนในเต้านมชนิดที่เป็นพังผืดและถุงน้ำ (Fibrocystic breast disease) โดยการให้กินไอโอดีนเสริมอาหาร ซึ่งได้ผลในผู้ป่วยบางราย

เมื่อได้รับไอโอดีนสูงเกินความต้องการของร่างกายอย่างต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดโทษ/ผลข้างเคียง หรืออาการ หรือภาวะ หรือโรคต่างๆได้เช่นกัน ที่พบ บ่อย คือ หลายคนจะแพ้ไอโอดีน เช่น เกิดผื่นคัน หรือบางคนอาจแพ้ถึงช็อกได้ บางคนอาจทำให้เป็นสิวมากขึ้น กล้ามเนื้อมือและเท้า ชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง อาจมีสับสน อาจเกิดได้ทั้งโรค/ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน (เพราะไอโอดีนที่มากเกินไป จะไปยับยั้งการสร้างไทรอยด์ฮอร์โมน) หรือภาวะ/โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (จากต่อมไทรอยด์นำไอโอดีนมาสร้างไทรอยด์ฮอร์โมนเพิ่มผิดปกติ) ภาวะต่อมไทรอยด์อักเสบ และโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองของต่อมไทรอยด์ ได้แก่โรคที่เรียกว่า Hashimoto's disease นอกจากนั้นมีบางการศึกษา ตั้งข้อสังเกตว่า ในบางคน การได้รับไอโอดีนมากเกินไป อาจเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ได้

อนึ่ง ค่าปกติของไอโอดีนในร่างกาย จะทราบได้จากการตรวจปริมาณไอโอดีนในปัสสาวะด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการโดยการเก็บปัสสาวะนาน 24 ชั่วโมง ซึ่งค่าปกติของไอโอดีในปัสสาวะคือ 100-199 ไมโครกรัม/ปัสสาวะ1ลิตร

บรรณานุกรม

  1. http://fnic.nal.usda.gov/sites/fnic.nal.usda.gov/files/uploads/recommended_intakes_individuals.pdf [2017,Feb18]
  2. http://www.biolab.co.uk/docs/iodine.pdf [2017,Feb18]
  3. https://www.bda.uk.com/foodfacts/Iodine.pdf [2017,Feb18]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Iodine [2017,Feb18]