ไข้ อาการไข้ ตัวร้อน (Fever)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คืออะไร? นิยามอย่างไร?

ไข้ (Fever หรือ Pyrexia) เป็นอาการไม่ใช่โรค เป็นอาการซึ่งร่างกายมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นกว่าปกติ ทั้งนี้เพื่อตอบสนองเมื่อมีการติดเชื้อโรค หรือเมื่อมีการเจ็บป่วยจากสาเหตุบางสาเหตุเช่น การอักเสบของเนื้อเยื่อจากโรคภูมิต้านตนเอง (โรคออโตอิมมูน) โดยไข้จะเกิดอยู่เพียงชั่วคราวเฉพาะในช่วงเกิดโรคหรือมีการเจ็บป่วย

ในการวินิจฉัยว่า เป็นไข้หรือมีอาการไข้ที่แน่นอนคือ การวัดอุณหภูมิร่างกายด้วยเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกาย ซึ่งโดยทั่วไปรู้จักกันในนามของปรอทวัดไข้ เพราะใช้สารปรอทที่บรรจุอยู่ในท่อหลอดแก้วเป็นตัวบอกค่าอุณหภูมิ ทั้งนี้ที่นิยมที่สุดคือ การวัดที่ใต้ลิ้นหรือเรียกว่า ‘อมปรอท’ แต่วิธีนี้ไม่สามารถใช้กับคนที่ไม่สามารถอมปรอทได้เช่น เด็กอ่อน เด็กเล็ก หรือผู้ป่วยที่ไม่รู้สึกตัว ซึ่งคนไข้ในกลุ่มนี้มักวัดปรอททางรักแร้ (หนีบปรอทไว้ใต้รักแร้) หรือสอดปรอทวัดไข้ทางทวารหนัก นอกจากนั้น ในปัจจุบันยังมีเครื่องวัดอุณหภูมิร่างกายชนิดใหม่ๆที่สะดวกกว่าปรอทวัดไข้ แต่ราคาแพงกว่าเช่น เครื่องวัดอุณหภูมิฯผ่านทางรูหู เครื่องวัดอุณหภูมิฯทางผิว หนัง และเครื่องวัดอุณหภูมิฯสำหรับคนหมู่มากเมื่อมีการระบาดของบางโรค เป็นต้น

อุณหภูมิปกติของร่างกายไม่คงที่ แต่แปรเปลี่ยนได้เสมอประมาณ 0.5 - 1 องศาเซล เซียส (Celsius)ในแต่ละวัน ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น

  • ช่วงเวลาของวัน ซึ่ง อุณหภูมิร่างกายจะต่ำสุดในช่วงประมาณ 6 โมงเช้าและจะสูงสุดในช่วงประมาณ 4 โมงเย็น
  • ในผู้หญิงช่วงตกไข่ ที่อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้น
  • ขณะเล่นกีฬา จะมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น
  • ขึ้นกับอุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม คือ ถ้าอากาศร้อน อุณหภูมิของร่างกายจะสูงขึ้น และเมื่ออากาศเย็นอุณหภูมิของร่างกายก็จะต่ำลง
  • อุณหภูมิร่างกายจะสูงขึ้นเมื่อใส่เสื้อผ้าหนาๆโดยเฉพาะในเด็กอ่อน หรือ
  • ขึ้นกับตำแหน่งการวัดอุณหภูมิ: อุณหภูมิจะสูงสุดเมื่อวัดผ่านทางทวารหนัก และอุณหภูมิจะต่ำสุดเมื่อวัดทางผิวหนัง

อย่างไรก็ตาม ยอมรับกันในทุกวงการและในทางการแพทย์ว่า อุณหภูมิปกติของร่างกาย คือ 37 องศาเซลเซียส(Celsius)/องศาซี (C) หรือ 98.6 องศาฟาเรนไฮต์ (Fahrenheit)/ องศาเอฟ (F) แต่ประเทศไทยนิยมใช้องศาเซลเซียสมากกว่าองศาฟาเรนไฮต์ ดังนั้นในบทความนี้ต่อไป เมื่อกล่าวถึงอุณหภูมิของร่างกายจะกล่าวเฉพาะเป็น “องศาเซลเซียส” เท่านั้น

อุณหภูมิที่ถือว่า ‘เป็นไข้หรือมีไข้’ โดยทั่วไปคือสูงมากกว่า 37.5 องศาเซลเซียส

  • ถ้าสูงไม่เกิน 38 องศาเซลเซียสเรียกว่า “ไข้ต่ำ (Low grade fever)”
  • ถ้าสูงเกิน 38 องศาเซลเซียส เรียกว่า “ไข้สูง (High grade fever)”
  • และถ้าสูงเกิน 41.5 องศาเซลเซียสเรียกว่า “ไข้สูงเกิน(Hyperpyrexia)” ซึ่งจัดว่าอันตรายที่สุด มักเกิดจากการติดเชื้อโรคชนิดมีความรุนแรงสูงมากในกระแสโลหิต (กระแสเลือด) หรือที่เรียกว่าภาวะพิษเหตุติดเชื้อ แต่ที่ได้พบบ่อยคือเกิดจาก ภาวะมีเลือดออกในสมอง/ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ

อนึ่ง อุณหภูมิของร่างกาย จัดเป็นหนึ่งในสัญญาณชีพ (Vital sign) ซึ่งแสดงถึงการมีชีวิต และเป็นตัวบอกถึงการเจ็บป่วย ซึ่งเมื่อเราเจ็บป่วยและไปพบแพทย์ การตรวจพื้นฐานตั้งแต่แรกสำหรับผู้ป่วยทุกคนคือ การตรวจวัดสัญญาณชีพซึ่งได้แก่

  • อุณหภูมิร่างกาย (Temperature หรือ T)
  • ชีพจร (Pulse หรือ P)
  • ความดันโลหิต/ความดันเลือด (Blood pressure หรือ BP/บีพี)
  • และอัตราการหายใจ (Respiratory rate หรือ R หรือ RR/อาร์อาร์)

ไข้เกิดได้อย่างไร?

ไข้

อุณหภูมิปกติของร่างกาย เกิดจากการทำงานของอวัยวะต่างๆโดยเฉพาะกล้ามเนื้อและตับ โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของสมองส่วนที่เรียกว่า ไฮโปธาลามัส (Hypothalamus) ซึ่งเป็นสมองส่วนอยู่ลึกของสมองใหญ่ ทั้งนี้การควบคุมอุณหภูมิของร่ายจะโดยการกำจัดความร้อนที่เกิดในร่างกายออกทางเหงื่อ (ทางผิวหนัง) และทางการหายใจ (ทางปอด)

เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อโรคหรือจากบางสาเหตุ (เช่น มีเลือดออกในสมอง) จะส่งผลกระตุ้นให้สมองไฮโปธาลามัสตอบสนองด้วยการปรับอุณหภูมิร่างกายให้สูงขึ้น เนื้อเยื่อที่จะทำหน้าที่เพิ่มอุณหภูมิของร่างกายตามคำสั่งของสมองคือ ‘กล้ามเนื้อ และหลอดเลือด’ โดยหลอดเลือดจะหดตัวเพื่อป้องกันไม่ให้ความร้อนแพร่กระจายออกทางผิวหนังและทางปอด ซึ่งการหดตัวของหลอดเลือดนอกจากส่งผลให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้นแล้ว จะส่งผลให้ผู้มีไข้รู้สึกหนาวจากมีการลดปริมาณของเลือดที่หล่อเลี้ยง นอกจากนั้นกล้ามเนื้อต่างๆจะหดเกร็งจึงก่ออาการหนาวสั่น ซึ่งทั้งหมดคือ ‘อาการไข้ขึ้น’

แต่เมื่อการกระตุ้นสมองไฮโปธาลามัสลดลง สมองไฮโปธาลามัสจะตอบสนองด้วยการปรับลดอุณหภูมิร่างกาย หลอดเลือดจะกลับมาขยาย เนื้อเยื่อต่างๆได้รับเลือดเพิ่มขึ้น อุณหภูมิในเนื้อเยื่อเหล่านั้นจึงเพิ่มขึ้น ร่างกายจึงขับความร้อนออกทางเหงื่อ ดังนั้นจึงเกิดอาการเหงื่อออกเมื่อไข้ลดลง

ไข้มีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุสำคัญและพบบ่อยที่ทำให้เกิดไข้คือ จากการติดเชื้อโรคชนิดต่างๆที่พบบ่อยคือ

  • จากเชื้อไวรัส (ไวรัส: โรคจากติดเชื้อไวรัส): เช่น โรคไข้หวัดใหญ่ โรคหัด
  • และจากเชื้อแบคทีเรีย (แบคทีเรีย: โรคจากติดเชื้อแบคทีเรีย): เช่น โรคไข้จับสั่น โรคไอกรน โรคไส้ติ่งอักเสบ โรคฉี่หนู โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ

นอกจากการติดเชื้อ ไข้จากสาเหตุอื่นๆที่พบได้บ้าง เช่น จากโรคภูมิต้านตนเอง/โรคออโตอิมมูน, โรคข้ออักเสบรูมาตอย, และโรคมะเร็ง

น้อยครั้งอาจมีไข้และแพทย์หาสาเหตุไม่ได้เรียกว่า ‘เอฟยูโอ (FUO, Fever of unknown origin) หรือ พียูโอ (PUO, Pyrexia of unknown origin)’

ไข้มีอาการอย่างไร?

อาการที่มักเกิดจากร่างกายมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติหรือมีไข้ ได้แก่

  • หนาวสั่น
  • เหงื่อออก
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยตัว อาจมีปวดข้อ
  • อ่อนเพลีย
  • เบื่ออาหาร
  • เมื่อไข้สูงหรือไข้สูงเกิน อาจส่งผลต่อการทำงานของสมองได้ ดังนั้นผู้ป่วยจึงอาจมีอาการ
    • สับสน
    • กระสับกระส่าย
    • เห็นภาพหลอน และ/หรือ
    • ชัก ที่มักพบในเด็กเล็กมากกว่าในผู้ใหญ่

อนึ่ง นอกจากอาการดังกล่าว ไข้ ยังมักเกิดร่วมกับอาการอื่นๆซึ่งแตกต่างกันตามสาเหตุของไข้ เช่น

  • ปวดท้องด้านขวาตอนล่างร้าวมาสะดือ หรือจากสะดือร้าวมาช่องท้องด้านขวาตอน ล่างเมื่อไข้เกิดจากไส้ติ่งอักเสบ หรือ
  • มีผื่นขึ้นตามตัวเมื่อไข้เกิดจากการติดเชื้อบางชนิด เช่น โรคหัด โรคไข้ออกผื่น เป็นต้น

แพทย์วินิจฉัยสาเหตุของไข้ได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุของไข้ได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ ประวัติการสัมผัสโรค ประวัติการติดโรคของคนในครอบครัว โรงเรียน ที่ทำงาน
  • การวัดอุณหภูมิร่างกาย (วิธีวัดปรอท) ซึ่งโดยทั่วไปเป็นการวัดทางปาก การตรวจสัญาณชีพ
  • การตรวจร่างกาย
  • หลังจากนั้นจึงเป็นการตรวจสืบค้นต่างๆ เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุของอาการไข้ ซึ่งถ้าสาเหตุเกิดจากโรคทั่วไปที่พบเป็นประจำ แพทย์มักวินิจฉัยสาเหตุเพียงจากประวัติอาการและการตรวจร่างกาย และให้การรักษาได้เลย แต่บางครั้งเมื่อแพทย์ไม่แน่ใจในสาเหตุ จึงมีการตรวจเพิ่มเติมตามดุลพินิจของแพทย์เช่น
    • การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ โดยเฉพาะการตรวจซีบีซี (CBC)
    • การตรวจปัสสาวะ
    • การตรวจภาพอวัยวะที่มีอาการ เช่น เอกซเรย์ปอดกรณีไอมาก โดยเฉพาะเมื่อไอมีเสมหะ เป็นต้น

รักษาไข้ได้อย่างไร?

การรักษาไข้มี 3 วิธีหลักคือ การลดไข้, การรักษาสาเหตุ, และการรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การลดไข้: โดยทั่วไปคือ การกินยาลดไข้ ยาที่นิยมใช้ คือ ยาพาราเซตามอล (Paracetamol) และการเช็ดตัวเมื่อมีไข้สูงโยเฉพาะในเด็ก (อ่านเพิ่มเติมใน วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้) แต่ในบางครั้งเมื่อมีไข้ต่ำๆอาจไม่จำเป็น ต้องกินยาลดไข้ เพราะเมื่อรักษาสาเหตุไข้ก็จะลงกลับเป็นปกติเอง

ข. การรักษาสาเหตุ: คือ การรักษาสาเหตุที่ทำให้เกิดไข้ซึ่งขึ้นกับแต่ละสาเหตุ เช่น

  • การผ่าตัด เมื่อเกิดจากโรคไส้ติ่งอักเสบ
  • ให้ยาปฏิชีวนะเมื่อเกิดจากโรคติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น โรคไอกรน หรือโรคฉี่หนู
  • ในกรณีติดเชื้อไวรัส ทั่วไปจะเป็นการรักษาประคับประคองตามอาการ ใช้ยาปฏิชีวนะไม่ได้เพราะไม่ฆ่าเชื้อไวรัส
    • อย่างไรก็ตาม มีบางโรคที่มียาต้านไวรัส ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง หรือผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการมีอาการรุนแรง เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว
  • รักษาโรคมะเร็งเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง

ค. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น

  • รักษาอาการปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยเนื้อตัว ด้วยยาแก้ปวด/ยาลดไข้พาราเซตามอล
  • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเมื่อผู้ป่วยอ่อนเพลียมาก หรือ มีภาวะขาดน้ำ
  • ให้ออกซิเจน กรณีหายใจลำบาก หรือหายใจเร็ว/ตื้น

ไข้รุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

โดยทั่วไปไข้ เป็นอาการที่ไม่รุนแรง/มีการพยากรณืโรคที่ดี มักรักษาหายได้เสมอ (ไข้ลง) ภายใน 2 - 3 วันหลังได้รับการรักษาสาเหตุ

แต่ถ้ามีไข้สูงเกิน อาจก่อผลข้างเคียงคืออาการทางสมองได้ ดังได้กล่าวแล้ว หรือ เมื่อไข้สูงในเด็กเล็กมักก่ออาการชัก (ไข้ชัก)ได้

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีไข้? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีไข้ ที่สำคัญคือ การรู้อุณหภูมิของร่างกายเพราะเป็นตัวบอกความรุน แรงของโรค ดังนั้นจึงควรวัดอุณหภูมิร่างกาย (วิธีวัดปรอท) เสมออย่างน้อยทุก 6 - 8 ชั่วโมง หรือเมื่อสงสัยว่าไข้ขึ้นหรือไข้สูง (เช่น ปวดศีรษะมากขึ้น ซึมลง หรือกระสับกระส่ายมาก)

การดูแลตนเองในเรื่องอื่นๆได้แก่

  • พักผ่อนให้มากๆ หยุดงาน หยุดเรียน จนกว่าไข้ลงแล้วอย่างน้อย 1 - 2 วัน
  • กินอาหารอ่อน รสจืด หรืออาหารน้ำ/อาหารเหลว (ประเภทอาหารทางการแพทย์) กินครั้งละน้อยๆ แต่ให้บ่อยขึ้น
  • จิบน้ำ ดื่มน้ำเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อย 8 - 10 แก้วต่อวัน ดื่มครั้งละน้อยๆตลอดทั้งวัน เพื่อป้องกันร่างกายขาดน้ำ (ภาวะขาดน้ำ) ซึ่งจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ไข้ลงช้า
  • สวมใส่เสื้อผ้าหลวมๆที่ระบายความร้อนได้ดีเช่น ผ้าฝ้าย
  • เช็ดตัวบ่อยๆเมื่อมีไข้สูงโดยเฉพาะบริเวณที่เป็นตำแหน่งของหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่เช่น ซอกลำคอและข้อพับต่างๆ (อ่านเพิ่มเติมในบทความเรื่อง วิธีเช็ดตัวเด็กลดไข้)
  • กินยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) ไม่ควรกินยาแอสไพริน เพราะอาจเกิด การแพ้ยาแอสไพรินจนเกิดอันตรายได้
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย และลดโอกาสแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นเมื่อไข้เกิดจากการติดเชื้อ
  • ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอเมื่อ
    • ไข้สูง ไข้ไม่ลงภายใน 2 - 3 วันโดยเฉพาะเมื่อไข้สูงขึ้นทั้งๆที่ดูแลตนเองแล้ว แต่ถ้าในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำเช่น เด็กอ่อน เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ (เช่น เบาหวาน โรคติดเชื้อเอชไอวี) ควรพบแพทย์ภายใน 2 วันหรือถ้าอาการมากควรพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง
    • มีไข้ต่อเนื่องหรือขึ้นๆลงๆนานเกิน 3 - 4 วัน
    • ไข้ลงแล้ว 2 - 3 วันแล้วย้อนกลับมามีไข้อีก
    • เมื่อกังวลในอาการไข้
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 24 ชั่วโมง ถ้ามีอาการรุนแรงอื่นๆร่วมด้วยเช่น
    • ปวดศีรษะมาก
    • คลื่นไส้อาเจียนมาก
    • มีผื่นขึ้นตามตัว
    • กระสับกระส่าย
    • ไอรุนแรง
    • ตากลัวแสง
    • ไข้สูงเกิน 40.5 องศาเซลเซียส และ/หรือ
    • ร่วมกับมีอาการทางปัสสาวะเช่น ปวดเบ่ง ปวดแสบเมื่อสุดปัสสาวะ
  • ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเป็นการฉุกเฉินเมื่อ มีไข้ ร่วมกับ
    • ปวดศีรษะรุนแรง อาจร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน
    • คอบวมมาก หายใจไม่ออก แน่น อึดอัด
    • หายใจลำบาก เจ็บหน้าอก ตัวเขียว มือเท้าเขียวคล้ำ
    • สับสน กระสับกระส่ายมาก
    • ไอเป็นเลือด
    • ปวดท้องมากโดยเฉพาะปวดบริเวณสะดือ และ/หรือช่องท้องด้านขวาตอนล่าง
    • อาเจียนรุนแรงตลอดเวลา
    • ชัก
    • คอแข็งร่วมกับปวดศีรษะมากและ/หรือแขน/ขาอ่อนแรง
    • อาการอื่นๆที่รุนแรง

ป้องกันไข้ได้อย่างไร?

การป้องกันไข้คือ การป้องกันสาเหตุ ซึ่งสาเหตุไข้ที่พบบ่อยที่สุดคือ จากการติดเชื้อโรค ดังนั้นการป้องกันไข้คือ การรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงและป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัดในช่วงมีการระบาดของโรค
  • หลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีกับผู้ป่วยโดยไม่จำเป็น
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่างๆตั้งแต่แรกเกิด และเป็นระยะๆตาม กระทรวงสาธารณสุข แพทย์ พยาบาล อาสาสมัครการแพทย์ แนะนำ

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
  2. Roth, A., and Basello, G. (2003). Approach to the adult patients with fever of unknown origin. Am Fam Physician. 68, 2223-2229.
  3. http://en.wikipedia.org/wiki/Fever [2019,Sept7]
  4. https://familydoctor.org/symptom/fever/?adfree=true [2019,Sept7]