ไข้ หรือ อาการไข้ ตัวร้อน (Fever) – Update

สารบัญ

  • เกริ่นนำ (Introduction)
  • อาการที่เกี่ยวข้อง (Associated symptoms)
  • การวินิจฉัย (Diagnosis)
  • ภาวะตัวร้อนเกิน ((Hyperthermia)
  • ชนิดต่างๆ ของไข้ (Type)
    • ภาวะไข้สูงเกิน (Hyperpyrexia)
  • การวินิจฉัยแยกโรค (Differential diagnosis)
  • ลักษณะการเกิดไข้ (Function)
    • การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน (Immune function)
    • ข้อดีและข้อเสีย (Advantages and disadvantages)
  • พยาธิสรีรวิทยาของการชักนำให้เกิดไข้ (Pathophysiology of fever induction)
    • ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus)
    • ไพโรเจน (Pyrogens)
  • การดูแลอาการไข้ (Management)
    • วิธีการแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative measures)
    • การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน (Immune function)
  • ระบาดวิทยา (Epidemiology)
  • บันทึกในประวัติศาสตร์ (History)
  • สังคมและวัฒนธรรม (Society and Culture)
    • กุมารเวชศาสตร์ (Pediatrics)
    • ไข้ในสัตว์ชนิดอื่นๆ (Other species)

เกริ่นนำ (Introduction)

ไข้หรืออาการตัวร้อน (Fever หรือ Pyrexia) ในมนุษย์หมายถึงการมีอุณหภูมิร่างกาย (Body temperature) สูงกว่าช่วงปกติ (Normal range) เนื่องจากจุดกำหนดอุณหภูมิร่างกาย (Temperature set point) ในไฮโปทาลามัส (Hypothalamus) เพิ่มขึ้น โดยอุณหภูมิปกติในมนุษย์ไม่ได้กำหนดขีดจำกัดบนไว้เพียงค่าเดียว แต่จะมีค่าอยู่ระหว่าง 37.2 ถึง 38.3 °C (99.0 และ 100.9 °F) จุดกำหนดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจะกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหดตัว (Muscle contractions) มากขึ้น และทำให้รู้สึกหนาวหรือหนาวสั่น ซึ่งส่งผลให้เกิดความร้อนมากขึ้นและความพยายามที่จะเก็บความร้อนไว้ เมื่อจุดกำหนดอุณหภูมิกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ผู้ป่วยจะรู้สึกร้อน หน้าแดง และอาจมีเหงื่อออก  ส่วนภาวะชักจากไข้ (Febrile seizure) พบได้บ่อยในเด็กเล็ก ซึ่งส่วนใหญ่มีไข้สูงไม่เกิน 41 ถึง 42 °C (106 ถึง 108 °F) ภาวะชักจากไข้นี้พบได้น้อยในผู้ใหญ่

อาการไข้อาจเกิดจากภาวะทางการแพทย์หลายอย่างตั้งแต่ไม่ร้ายแรงไปจนถึงอันตรายถึงชีวิต (Life-threatening)  ซึ่งรวมถึงการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรีย และปรสิต เช่น ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) ไข้หวัด (Common cold) เยื่อหุ้มสมองอักเสบ (Meningitis) การติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ (Urinary tract infection) ไส้ติ่งอักเสบ (Appendicitis) โรคไข้เลือดออกลาสซา (Lassa) โควิด-19 (COVID-19) และโรคไข้มาลาเรีย (Malaria)    ส่วนสาเหตุที่ไม่ติดเชื้อ ได้แก่ โรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis) ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำส่วนลึก (Deep vein thrombosis) โรคข้ออักเสบจากกลุ่มโรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน (Connective tissue disease)  ผลข้างเคียงของยาหรือการฉีดวัคซีน และโรคมะเร็ง  ทั้งนี้จะแตกต่างจาก (Hyperthermia) ซึ่ง จะมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่าจุดกำหนดอุณหภูมิ  อันเนื่องมาจากการเกิดความร้อนสะสมมากเกินไป หรือมีการสูญเสียความร้อนออกไป (Heat loss) น้อยไป

โดยทั่วไปแล้วไม่จำเป็นต้องรักษาเพื่อให้ไข้ลด แต่การรักษาอาการปวดและการอักเสบที่เกี่ยวข้องอาจมีประโยชน์และช่วยให้ผู้ป่วยได้พักผ่อน การใช้ยาต่างๆ เช่น ไอบูโพรเฟนหรือพาราเซตามอล (Acetaminophen) จะช่วยลดไข้และลดอุณหภูมิให้แก่ผู้ป่วยได้ เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 3 เดือนจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากแพทย์ เช่นเดียวกับผู้ใหญ่ที่มีปัญหาสุขภาพร้ายแรง เช่น มีระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง  (Compromised immune system) หรือผู้ที่มีอาการอื่นๆ ภาวะตัวร้อนเกิน (Hyperthermia) จำเป็นต้องได้รับการรักษา

อาการไข้เป็นสัญญาณทางการแพทย์ (Medical signs) ที่พบบ่อยที่สุด คิดเป็น 30% ของเด็กที่มาหาหมอ  และในผู้ใหญ่ที่ป่วยหนักพบได้สูงถึง 75%   แม้ว่าการมีไข้ จะเป็นกลไกการป้องกันร่างกายอย่างหนึ่ง แต่การรักษาอาการไข้ อาจจะไม่ได้ส่งผลลัพธ์ที่ดีขึ้นหรือแย่ลงแต่อย่างใด พ่อแม่และบุคลากรทางการแพทย์มักกังวลเรื่องไข้เกินกว่าเหตุ ดังปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "ความกังวลและความกลัว เกี่ยวกับภาวะไข้ (Fever phobia)"

อาการที่เกี่ยวข้อง (Associated symptoms)

ไข้มักจะมาพร้อมกับพฤติกรรมการเจ็บป่วย (Sickness behavior) ซึ่งประกอบด้วยอาการง่วง (Lethargy) ซึม (Depression) เบื่ออาหาร (Loss of appetite) ง่วงนอน (Sleepiness) ปวดมากกว่าปกติ (Hyperalgesia) ขาดน้ำ (Hehydration) และไม่มีสมาธิ (Inability to concentrate) การนอนในขณะที่มีไข้มักทำให้ฝันร้ายอย่างรุนแรงหรือสับสน หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า "ฝันร้ายเพราะป่วย (Fever dream)" ส่วนอาการเพ้อ (Delirium) เล็กน้อยหรือมากจนเกิดอาการประสาทหลอน (Hallucinations) อาจเกิดขึ้นในช่วงที่มีไข้สูง

การวินิจฉัย (Diagnosis)

ช่วงอุณหภูมิปกติก็อาจเป็นไข้ได้ อุณหภูมิแกนกลาง (Central temperatures) เช่น อุณหภูมิทางทวารหนัก (Rectal temperatures) จะมีความแม่นยำว่าเป็นไข้ มากกว่าอุณหภูมิส่วนปลาย (Peripheral temperatures) โดยทั่วไปจะวินิจฉัยว่ามีไข้หากอุณหภูมิที่สูงขึ้นนั้น วัดจากจุดกำหนดอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น และ/หรือ

  • มีอุณหภูมิในทวารหนักหรือช่องทวารหนัก (Rectum/Rectal) ตั้งแต่ 37.5–38.3 °C (99.5–100.9 °F) ขึ้นไป ซึ่งอาจใช้อุณหภูมิของรูหู (แก้วหู) หรือหน้าผาก (ขมับ) ก็ได้
  • มีอุณหภูมิในปาก (Oral) ในตอนเช้า ตั้งแต่ 37.2 °C (99.0 °F) ขึ้นไป หรือในช่วงบ่ายสูงกว่า 37.7 °C (99.9 °F)
  • มีอุณหภูมิใต้แขนหรือรักแร้ (Axillary) ที่โดยปกติจะต่ำกว่าอุณหภูมิแกนกลางของร่างกายประมาณ 0.6 °C (1.1 °F)

สำหรับผู้ใหญ่ ช่วงอุณหภูมิช่องปากปกติของผู้ชายที่มีสุขภาพดีอยู่ที่ 35.7–37.7 °C (96.3–99.9 °F) และผู้หญิงอยู่ที่ 33.2–38.1 °C (91.8–100.6 °F) เมื่อวัดอุณหภูมิทางทวารหนักของผู้ชายจะอยู่ที่ 36.7 –37.5 °C (98.1–99.5 °F) และผู้หญิงอยู่ที่ 36.8–37.1 °C (98.2–98.8 °F) และสำหรับการวัดอุณหภูมิที่รูหูของผู้ชายจะอยู่ที่ 35.5–37.5 °C (95.9–99.5 °F) และผู้หญิงอยู่ที่ 35.7–37.5 °C (96.3–99.5 °F)

อุณหภูมิร่างกายปกติจะแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ ได้แก่ อายุ เพศ ช่วงเวลาของวัน อุณหภูมิโดยรอบ ระดับการเคลื่อนไหว และอื่นๆ การแปรผันของอุณหภูมิในแต่ละวันอยู่ที่ 0.5 °C (0.9 °F) อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นไม่ได้ทำให้เป็นไข้เสมอไป ตัวอย่างเช่น อุณหภูมิของคนที่มีสุขภาพแข็งแรงจะสูงขึ้นเมื่อออกกำลังกาย ซึ่งไม่ถือว่าเป็นไข้ เนื่องจากจุดกำหนดอุณหภูมิมีค่าปกติ ในทางกลับกัน อุณหภูมิ "ปกติ" ก็อาจเป็นไข้ได้ ถ้ามีอุณหภูมิที่สูงผิดปกติของคนกลุ่มนั้น เช่น ผู้สูงอายุที่ร่างกายไม่แข็งแรงจะไม่สามารถสร้างความร้อนเพิ่มให้ร่างกายได้ดี ดังนั้น  อุณหภูมิ ที่ดูเป็น "ปกติ" ที่ 37.3 °C (99.1 °F) กลับบ่งชี้ถึงอาการเป็นไข้ได้

  • ภาวะตัวร้อนเกิน (Hyperthermia)

ภาวะตัวร้อนเกิน) หมายถึง ภาวะที่อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าจุดกำหนด เนื่องจากการเกิดความร้อนสะสมมากเกินไปกว่าการสูญเสียความร้อนออก ภาวะตัวร้อนเกินไม่ถือว่าเป็นไข้  ดังนั้นจึงไม่ควรสับสนกันระหว่างภาวะตัวร้อนเกินกับอาการตัวร้อนเนื่องจากเป็นไข้สูง (Hyperpyrexia)

ในทางการแพทย์จะต้องแยกระหว่างไข้และภาวะตัวร้อนเกินให้ชัดเจน เนื่องจากภาวะตัวร้อนเกินอาจทำให้เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็วและไม่ตอบสนองต่อยาลดไข้ อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ฉุกเฉินอาจจำแนกสองภาวะนี้ได้ยาก การดูสาเหตุการเกิดไข้อาจจะช่วยแยกกันได้ 

ชนิดต่างๆ ของไข้ (Types)  

รูปแบบของอุณหภูมิที่วัดจากผู้ป่วย  มีหลายอย่าง ซึ่งบางอย่างอาจบ่งชี้ถึงการวินิจฉัยโรค (Medical diagnosis) โดยเฉพาะ  ได้แก่

    • ไข้สูงลอย (Continuous fever) หมายถึง การมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติและไม่ผันผวนเกิน 1 °C ใน 24 ชั่วโมง (เช่น โรคปอดอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย (Bacterial pneumonia) ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid) การติดเชื้อที่เยื่อหุ้มหัวใจ (Infective endocarditis) วัณโรค (Tuberculosis) หรือโรคไข้รากสาดใหญ่ (Typhus)
    • ไข้สูงเป็นครั้งคราว (Intermittent fever) จะเกิดขึ้นเพียงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น และก็กลับมาเป็นปกติ (เช่น โรคไข้มาลาเรีย (Malaria) โรคลิชมาเนีย (Leishmaniasis) ภาวะเลือดเป็นพิษ (Pyemia) ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) หรือโรคเหงาหลับ (African trypanosomiasis)
    • ไข้แกว่ง (Remittent fever) หมายถึง การมีอุณหภูมิสูงกว่าปกติตลอดเวลาและมีความผันผวนมากกว่า 1 °C ใน 24 ชั่วโมง (เช่น การติดเชื้อที่เยื่อบุหัวใจ (infective endocarditis) หรือโรคบรูเซลโลสิส (Brucellosis)
    • ไข้แบบเพล-เอ็บสไตน์ (Pel–Ebstein fever) จะเป็นไข้เวียนซ้ำซึ่งพบน้อยมากในผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin's lymphoma)
    • ไข้เป็นระยะ (Undulant fever) พบได้ในโรคติดเชื้อบรูเซลโลสิส (Brucellosis)
    • ไข้ไทฟอยด์ (Typhoid fever) มีอาการไข้สูงลอยที่แสดงให้เห็นถึงการวางตัวของลำไส้เหมือนขั้นบันไดและอุณหภูมิร่างกายจะค่อยๆสูงขึ้นและอาจสูงถึง 40 °C

ไข้แกว่ง (intermittent fever) เป็นหนึ่งในอาการของโรคไข้มาลาเรียที่เกิดจากเชื้อต่างๆของโรคนี้ ดังนี้

    • ลักษณะไข้สูงเป็นพักๆ (Quotidian fever) (24 ชั่วโมง) เป็นอาการของโรคมาลาเรียชนิด “โนวไซ” (Plasmodium knowlesi) (P. knowlesi)
    • ลักษณะไข้สูงวันเว้นวัน (Tertian fever) (48 ชั่วโมง) เป็นอาการของโรคมาลาเรียชนิดฟัลซิปารัม (P. falciparum) ชนิดไวแวกซ์ (P. vivax) หรือ ชนิดโอวาเล (P. ovale)
    • ลักษณะไข้ 4 วัน (Quartan fever) (72 ชั่วโมง) เป็นอาการของโรคมาลาเรียชนิดมาลาเรียอี (P. malariae)

อย่างไรก็ตาม สำหรับโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน ซึ่งมีไข้แบบเพล-เอ็บสไตน์นั้น  รูปแบบของไข้ที่เฉพาะเจาะจงนี้จะสัมพันธ์กับโรคนี้ หรือไม่ ยังไม่ชัดเจน ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ โดยผู้ป่วยจะมีไข้สูงเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ ตามด้วยอุณหภูมิต่ำในสัปดาห์ต่อๆไปเรื่อยๆ

ไข้เรื้อรังที่ไม่สามารถอธิบายสาเหตุได้ แม้จะมีการตรวจสอบทางคลินิกเป็นประจำหลายครั้ง เรียกไข้นี้ว่า ไข้ไม่ทราบสาเหตุ (Fever of unknown origin) ไข้ชนิดนี้จะมีระดับเม็ดเลือดขาวต่ำ (Febrile neutropenia หรือ Neutropenic fever) คือ การที่ผู้ป่วยมีระบบภูมิคุ้มกันผิดปกติ หากมีการขาดเม็ดเลือดขาวชนิดนิวโตรฟิลที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน (Infection-fighting neutrophils) จะทำให้การติดเชื้อแบคทีเรียแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว เป็นอันตรายสูง จึงต้องได้รับการดูแลทางการแพทย์อย่างเร่งด่วน ไข้ชนิดนี้พบได้บ่อยในผู้ที่ได้รับเคมีบำบัดเพื่อกดภูมิคุ้มกัน (Immune-suppressing chemotherapy) มากกว่าคนไข้กลุ่มอื่นๆที่ไม่ต้องรับเคมีบำบัด

  • ภาวะไข้สูงเกิน (Hyperpyrexia)

ภาวะไข้สูงเกิน เป็นภาวะที่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งวัดอุณหภูมิในร่างกายได้มากกว่าหรือเท่ากับ 40 หรือ 41 °C (104 หรือ 106 °F) ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแหล่งที่มา ช่วงของภาวะไข้สูงเกินประกอบด้วย กรณีที่ถือว่ารุนแรง (≥ 40 °C) และกรณีที่รุนแรงมาก (≥ 42 °C) โดยภาวะไข้สูงเกินแตกต่างจากภาวะตัวร้อนเกิน กล่าวคือ ภาวะไข้สูงเกินจะมีจุดกำหนดความร้อนในร่างกายสูงกว่าปกติที่นำไปสู่การเกิดความร้อนสูง ในทางตรงกันข้าม ภาวะตัวร้อนเกินจะเกี่ยวข้องกับอุณหภูมิของร่างกายที่เพิ่มสูงกว่าจุดกำหนดอันเนื่องมาจากปัจจัยภายนอก อุณหภูมิที่สูงของภาวะไข้สูงเกินถือเป็นเหตุฉุกเฉินทางการแพทย์ (Medical emergencies) เนื่องจากอาจบ่งบอกถึงภาวะร้ายแรงหรือนำไปสู่การเจ็บป่วยที่รุนแรง (รวมถึงการทำลายสมองอย่างถาวร (Permanent brain damage)) หรือเสียชีวิตได้ สาเหตุทั่วไปของภาวะไข้สูงเกิน เกิดจากภาวะเลือดออกในสมอง (Intracranial hemorrhage) ส่วนสาเหตุอื่นๆ ได้แก่ ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด (Sepsis) โรคคาวาซากิ (Kawasaki syndrome) กลุ่มอาการนิวโรเล็ปติกร้ายแรง หรือกลุ่มอาการเอ็นเอ็มเอส (Neuroleptic Malignant Syndrome : NMS)การใช้ยาเกินขนาด กลุ่มอาการเซโรโทนิน หรือ เซโรโทนินเป็นพิษ (Serotonin syndrome) และภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษวิกฤติ (Thyroid strom)

การวินิจฉัยแยกโรค (Differential diagnosis)

ไข้เป็นอาการร่วมของโรคหลายชนิด ดังต่อไปนี้

    • โรคติดเชื้อ (Infectious disease) เช่น โควิด-19 (COVID-19) ไข้เลือดออก (Dengue) อีโบลา (Ebola) โรคกระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กอักเสบ (Gastroenteritis) เอชไอวี (HIV) ไข้หวัดใหญ่ (Influenza) โรคลายม์ (Lyme disease) โรคไข้พุพองเทือกเขาร็อกกี (Rocky Mountain spotted fever) โรคซิฟิลิสระยะที่ 2 (Secondary syphilis)โรคไข้มาลาเรีย (Malaria) โรคจูบหรือโรคโมโน (Mononucleosis) ตลอดจนการติดเชื้อที่ผิวหนัง เช่น ฝี (Abscesses และ boils)
    • โรคของภูมิคุ้มกัน (Immunological diseases) เช่น โรคเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนอักเสบ (Relapsing polychondritis) ตับอักเสบจากภูมิต้านทานของตัวเอง (Autoimmune hepatitis) โรคหลอดเลือดอักเสบ GPA หรือแกรนูโลมาโตสิส และ โพลีแองจิไอติส (Granulomatosis with polyangiitis) โรคฮอร์ตัน (Horton disease) โรคลำไส้อักเสบ โรคคาวาซากิ โรคภูมิแพ้ตัวเอง (SLE) โรคซาร์คอยโดซิส (Sarcoidosis) โรคสติล (Still’s disease) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis) โรคระบบน้ำเหลืองโตผิดปกติ (Lymphoproliferative disorder) และโรคสะเก็ดเงิน (Psoriasis)
    • โรคที่มีการทำลายเนื้อเยื่อ (Tissue destruction) อาจจะเป็นผลมาจากภาวะเลือดออกในสมอง (Cerebral bleeding) กล้ามเนื้อสลายตัวจากการบาดเจ็บ/โรคจากอวัยวะกดทับ (Crush syndrome) การสลายของเม็ดเลือดแดง (Hemolysis) ภาวะเนื้อตายเหตุขาดเลือด (Infarction) ภาวะกล้ามเนื้อลายสลาย (Rhabdomyolysis) การผ่าตัด (Surgery) ฯลฯ
    • โรคมะเร็ง (Cancers)โดยเฉพาะมะเร็งเม็ดเลือด เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว (Leukemia) และโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง (Lymphomas)
    • กลุ่มอาการผิดปกติทางเมแทบอลิก (Metabolic disorders) เช่น โรคเกาต์ (Gout) และโรคพอร์ไฟเรีย (Porphyria)
    • โรคพันธุกรรมเมตาบอลิซึม (Inherited metabolic disorder) เช่น โรคแฟเบรย์ (Fabry disease)

ในโรคชนิดเดียวกัน อาการแสดงของเด็กและผู้ใหญ่อาจแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น โควิด-19 โดยการศึกษาเชิงอภิมานพบว่า  ไข้พบได้ในผู้ใหญ่ 92.8% ส่วนเด็กพบได้ 43.9%

นอกจากนี้ ไข้อาจเป็นผลมาจากปฏิกิริยาต่อผลิตภัณฑ์จากเลือด ที่เข้ากันไม่ได้

น่าสังเกตว่า ฟันงอก (Teething) ไม่ได้ทำให้เป็นไข้

ลักษณะการเกิดไข้ (Function)

ภาวะตัวร้อนเกิน หมายถึง การที่อุณหภูมิร่างกายสูงกว่าจุดกำหนดอุณหภูมิ ไข้ เป็นอาการซึ่งร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นกว่าปกติ ส่วนภาวะตัวเย็นเกิน  หมายถึง การที่อุณหภูมิร่างกายต่ำกว่าจุดกำหนดอุณหภูมิ

  • การทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน (Immune function)

ไข้น่าจะเป็นกลไกการป้องกันของร่างกาย เนื่องจากสามารถขัดขวางการแพร่เชื้อ (Pathogens) ที่ต้องการอุณหภูมิที่แน่นอน ปฏิกิริยาของภูมิคุ้มกันที่สำคัญบางอย่างจะเพิ่มขึ้นตามอุณหภูมิ ไข้จึงเป็นตัวช่วยในกระบวนการหายได้หลายวิธี ได้แก่

    • เพิ่มการเคลื่อนตัวของเม็ดเลือดขาว (Leukocytes)
    • เพิ่มกระบวนการกินเซลล์เม็ดเลือดขาว (Phagocytosis)
    • ลดผลกระทบของเอนโดทอกซิน (Endotoxin)
    • เพิ่มจำนวนทีเซลล์ (T-cell) ให้มากขึ้น
    •  
  • ข้อดีและข้อเสีย (Advantages and disadvantages)

การตอบสนองของไข้ต่อโรคติดเชื้อโดยทั่วไปถือเป็นการป้องกัน ในขณะที่ ไข้ที่ไม่ใช่การติดเชื้ออาจเป็นอาการไม่พึงประสงค์ แต่การศึกษาก็ยังไม่ชัดเจนว่าการรักษาไข้โดยทั่วไปจะทำให้อาการเลวลงหรือเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือไม่อย่างใด ประโยชน์หรืออันตรายอาจขึ้นอยู่กับชนิดของการติดเชื้อ สถานะสุขภาพของผู้ป่วย และปัจจัยอื่นๆ  การศึกษาโดยใช้สัตว์เลือดอุ่นที่มีกระดูกสันหลัง (warm-blooded vertebrates) พบว่าสัตว์เหล่านี้ จะฟื้นตัวจากการติดเชื้อหรือการเจ็บป่วยร้ายแรงได้เร็วขึ้น หากมีอาการไข้ ในภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด ไข้สัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตที่ลดลง

พยาธิสรีรวิทยาของการชักนำให้เกิดไข้ (Pathophysiology of fever induction)

  • ไฮโปทาลามัส (Hypothalamus)

ไฮโปทาลามัสเป็นศูนย์ควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย เริ่มต้นจากสารไพโรเจน (ซึ่งมาจากผนังเซลล์ของแบคทีเรียทั้งกรัมบวกและกรัมลบ) ออกมา  เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสารโพรสตาแกลนดิน อีทู (Protaglandin E2 หรือ PGE2) ในร่างกาย  สาร PGE2 นี้จะกระตุ้นไฮโปทาลามัส ทำให้จุดกำหนดของอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น จึงทำให้เกิดการสร้างความร้อนขึ้นทั่วร่างกาย

สาร PGE2 จะไปเกาะติดกับตัวรับ (receptor) ตัวรับนี้มี 4 ชนิด  (EP1, EP2, EP3, EP4) พบว่า ตัวรับ EP3 พบในไฮโปทาลามัส เป็นตัวกลางในการตอบสนองต่อไข้ ดังนั้น ไฮโปทาลามัสจึงทำงานเหมือนกับเทอร์โมสตัท (Thermostat หรืออุปกรณ์สำหรับควบคุมอุณหภูมิ) เมื่อจุดกำหนดอุณหภูมิสูงขึ้น ร่างกายก็จะมีอุณหภูมิเพิ่มขึ้นทั้งจากการสร้างให้เกิดความร้อนและการกักเก็บความร้อนมากขึ้น ซึ่งเกิดการหดตัวของหลอดเลือดส่วนปลาย (Peripheral vasoconstriction) ช่วยลดการสูญเสียความร้อนผ่านผิวหนังและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกหนาว

สารนอร์เอพิเนฟรีน (Norepinephrine) จะเพิ่มกระบวนการสร้างความร้อน (Thermogenesis) ในไขมันสีน้ำตาล (Brown adipose tissue) และการหดตัวของกล้ามเนื้อโดยภาวะหนาวสั่นจะทำให้อัตราการเผาผลาญ (Metabolic rate) เพิ่มขึ้น

หากขบวนการข้างต้นเหล่านั้นไม่เพียงพอที่จะทำให้อุณหภูมิของเลือดในสมองสูงขึ้นพอกับจุดกำหนดอุณหภูมิใหม่ในไฮโปทาลามัส สมองจะช่วยร่วมสร้างความร้อนมากขึ้น ผ่านระบบประสาทอัตโนมัติ (Autonomic nervous system) หรือผ่าน ศูนย์ primary motor center เพื่อสร้างให้เกิดความร้อนขึ้นโดยภาวะหนาวสั่น(shivering.)  โดย

    • การสร้างความร้อนเพิ่มขึ้น จากความตึงตัวของกล้ามเนื้อ (Muscle tone) ภาวะหนาวสั่น (Shivering) (การสั่นไหวของกล้ามเนื้อเพื่อสร้างความร้อน) และการปล่อยฮอร์โมนบางชนิด เช่น เอพิเนฟรีน หรือ อะดรีนาลีน (Epinephrine) เพิ่มขึ้น
    • การป้องกันการสูญเสียความร้อน เช่น การหดตัวของหลอดเลือด (Vasoconstriction)

เมื่อจุดกำหนดอุณหภูมิไฮโปทาลามัสย้ายกลับไปสู่สภาวะพื้นฐานเดิม ไม่ว่าจะกลับมาเองโดยธรรมชาติหรือโดยการใช้ยานั้น จะมีการแสดงออกให้เห็นได้ทางร่างกาย เช่น เหงื่อออก ร่วมกับการผันกลับของกระบวนการที่กล่าวมาข้างต้น (เช่น การขยายตัวของหลอดเลือด การหยุดหนาวสั่น และการผลิตความร้อนโดยไม่มีอาการหนาวสั่น) เพื่อทำให้ร่างกายเย็นลงจนอุณหภูมิต่ำถึงจุดที่กำหนดไว

ลักษณะดังกล่าว(Fever) จะแตกต่างจากภาวะตัวร้อนเกิน(hyperthermia) ซึ่งมีสภาพแวดล้อมยังคงปกติ โดยร่างกายจะมีภาวะที่ร่างกายขาดน้ำและอุณภูมิสูงเกินไปจากการเก็บความร้อนที่ไม่พึงประสงค์ หรือการเกิดความร้อนจากปฏิกิริยาภายในร่างกาย ภาวะตัวร้อนเกินมักเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อมที่ร้อนจัด (ลมแดด) หรือจากยาที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์ ทั้งนี้สามารถแยกความแตกต่างระหว่างไข้กับภาวะตัวร้อนเกินได้จากสถานการณ์โดยรอบและการตอบสนองต่อยาลดไข้ (Anti-pyretic medication)

ระบบประสาทอัตโนมัติของทารกอาจกระตุ้นให้ไขมันสีน้ำตาล(brown adipose tissue) สร้างความร้อน (โดยไม่เกี่ยวข้องกับการออกกำลัง

ในช่วงมีไข้จะมีความดันโลหิตเพิ่มขึ้น เนื่องจาก การเพิ่มขึ้นของอัตราการเต้นของหัวใจ และ จากการหดตัวของกล้ามเนื้อหลอดเลือด

  • ไพโรเจน (Pyrogens)

ไพโรเจน คือสารที่ก่อให้เกิดอาการไข้ เมื่อมีเชื้อก่อโรค เช่น แบคทีเรีย ไวรัส ไวรอยด์ ฯลฯ ภูมิคุ้มกันของร่างกายการจะตอบสนองเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตและกำจัดเชื้อก่อโรคเหล่านี้ ไพโรเจนที่พบบ่อยที่สุดคือ เอนโดทอกซิน (Endotoxin) ซึ่งเป็นไลโปโพลิแซ็กคาไรด์ (Lipopolysaccharide - LPS) ที่พบเฉพาะในผนังเซลล์ของแบคทีเรียแกรมลบ (Gram-negative bacteria) เช่น เชื้อ อี. โคไล (E. coli) นอกจากนี้ไพโรเจน ยังรวมถึงสารที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกาย (ที่เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์อื่นที่ไม่ใช่แบคทีเรียแกรมลบหรือจากสารเคมี) ด้วย ไพโรเจนเกิดขึ้นได้ทั้งภายในและภายนอกร่างกาย

"การทำให้เกิดอาการไข้" ของไพโรเจนจะมีความรุนแรงแตกต่างกันไปไม่เท่ากัน ในกรณีที่รุนแรง ไพโรเจนจากแบคทีเรียจะมีคุณสมบัติเป็นซุปเปอร์แอนติเจน (Superantigens) และทำให้เกิดอาการไข้อย่างรวดเร็วและเป็นอันตรายได้

การดูแลอาการไข้ (Management)

อุณหภูมิที่สูงเนื่องจากอาการไข้ ไม่จำเป็นต้องรักษาทุกราย และคนส่วนใหญ่ที่เป็นไข้จะหายได้โดยไม่จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลเป็นพิเศษ  แม้ไจจะมีข้จะดูน่ากังวล แต่อาการไข้มักจะไม่ขึ้นสูงถึงระดับที่เป็นอันตรายทั้งที่ไม่ได้รับการรักษาเพื่อลดไข้

ความเสียหายต่อสมองจะไม่เกิดขึ้นจนกว่าอุณหภูมิร่างกายสูงถึง 42.0 °C (107.6 °F) และมีผู้ป่วยน้อยมากที่ไม่ได้รับการรักษาไข้ แล้วจะมีไข้เกิน 40.6 °C (105.1 °F)

การรักษาอาการไข้ในผู้ที่มีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด จะไม่มีผลต่อผลลัพธ์การรักษาโดยรวม มีการทดลองขนาดเล็กชุดหนึ่ง ที่แสดงให้เห็นว่าการรักษาอาการไข้ที่อุณหภูมิ 38.5 °C (101.3 °F) ขึ้นไป ให้แก่ผู้ป่วยอาการวิกฤตในห้องไอซียูไม่ได้ประโยชน์มากขึ้น และเนื่องจากผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาอย่างเต็มที(aggressive fever treatment) เพื่อลดไข้ ผู้ป่วยนั้นๆมักเสียชีวิตง่ายกว่า การทดลองนั้นจึงยกเลิกไปในระยะเวลาอันสั้น

การลดไข้เพื่อการรักษาโรคนั้น จะเป็นผลดีหรือไม่ยังไม่เป็นที่สรุปยืนยัน   ด้านที่ว่าการรักษาไข้จะเป็นผลดี มาจากข้อมูลของ NIH (สมมติฐานสองอย่างยังไม่สมบูรณ์ในเชิงการทดลอง) กล่าวคือ (1) ไข้เป็นสิ่งอันตราย และ (2) การกดอาการไข้ไว้จะสามารถลดผลเสียของไข้ได้  

ส่วนด้านที่ว่าไม่เป็นผลดีนักมาจาก การศึกษา เป็นการศึกษาเชิงสังเกต  

ในเชิงทฤษฎี การลดไข้อาจมีประโยชน์กับผู้ป่วยวิกฤตและผู้ที่ต้องเผชิญกับความเครียดทางกายภาพเพิ่มเติม แต่หลักฐานที่โต้แย้งกันทั้งสองฝ่ายส่วนใหญ่ยังไม่ชัดเจน

  • วิธีการแบบอนุรักษ์นิยม (Conservative measures)

หลักฐานที่มีอยู่น้อยสนับสนุนการรักษาเด็กที่เป็นไข้ ให้ลดไข้ ด้วยการเช็ดถูด้วยฟองน้ำหรือการอาบน้ำให้ด้วยน้ำอุ่น การใช้พัดลมหรือเครื่องปรับอากาศอาจทำให้อุณหภูมิลดลงและเด็กรู้สึกสบายมากขึ้น ถ้ามีไข้ที่อุณหภูมิสูงจนถึงระดับของภาวะไข้สูงเกิน จำเป็นต้องมีการระบายความร้อนอย่างรวดเร็ว (โดยทั่วไปจะใช้ถุงน้ำแข็งจำนวนมากแปะทั่วร่างกายหรือจุ่มตัวเด็กลงในน้ำเย็นโดยตรง) ทั้งนี้ ผู้ป่วยควรดื่มน้ำให้เพียงพอ แต่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่า การดื่มน้ำเพิ่มขึ้นจะทำให้อาการทั่วไปดีขึ้น หรือทำให้อาการป่วยทางเดินหายใจเช่นโรคไข้หวัด หายเร็วหรือไม่

  • การให้ยาเพื่อลดไข้ (Medications)

การให้ยาเพื่อให้ไข้ลดเรียกว่ายาลดไข้ (Antipyretics) ยาไอบูโพรเฟน (Ibuprofen) มีประสิทธิผลในการลดไข้ในเด็ก มีประสิทธิภาพดีกว่า ยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) (พาราเซตามอล) ยาไอบูโพรเฟนและยาอะเซตามิโนเฟน อาจใช้ร่วมกันได้อย่างปลอดภัยในเด็กที่มีไข้ อย่างไรก็ตาม ประสิทธิภาพของยาอะเซตามิโนเฟนในเด็ก ที่เป็นไข้ยังไม่ชัดเจนว่าดีอย่างไร พบว่าการให้ยาไอบูโพรเฟนในเด็กที่เป็นไขก็ยังดีกว่าการให้ยาแอสไพริน (Aspirin) นอกจากนี้ ไม่แนะนำให้ใช้ยาแอสไพรินในเด็กและคนหนุ่มสาว (ผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 หรือ 19 ปี ขึ้นอยู่กับแต่ละประเทศ) เนื่องจากมีความเสี่ยงต่อกลุ่มอาการเรย์ (Reye's syndrome)

การใช้ทั้งยาพาราเซตามอลและยาไอบูโพรเฟนพร้อมกันหรือสลับกันจะมีประสิทธิภาพในการลดไข้ได้ดีกว่าการใช้ยาตัวใดตัวหนึ่งเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ชัดเจนว่าการลดไข้จะทำให้เด็กรู้สึกสบายตัวขึ้นหรือไม่ เช่นเดียวกันกับ ผลการตอบสนองต่อยาลดไข้ในเด็ก ไม่สามารถจะนำมาทำนายการป่วยหนักเบาของเด็ก

จากการศึกษาในปี 2019 เรื่องผลของยาลดไข้ที่มีต่อความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตของผู้ที่ติดเชื้อ พบผลลัพธ์ที่หลากหลาย  การศึกษาในสัตว์ทดลอง ในปี 2010 เพี่อรักษาไข้ ในโรคไข้หวัดใหญ่ในสัตว์ทดลอง พบผลลัพธ์ที่แย่ลงจากการใช้ยาลดไข้  อย่างไรก็ตามยังไม่ได้ศึกษาเกี่ยวกับการใช้ยานี้ในมนุษย์

ระบาดวิทยา (Epidemiology)

ทางการแพทย์ ไข้เป็นอาการที่พบบ่อยที่สุดอาการหนึ่ง  พบได้ประมาณ 30% ของเด็กที่เข้ารับการรักษา  และเป็น 75% ของผู้ใหญ่ที่ป่วยหนัก  และประมาณ 5% ของผู้ป่วยที่เข้ารักษาในห้องฉุกเฉิน จะมีอาการไข้

บันทึกในประวัติศาสตร์ (History)

ไข้หลายชนิดเป็นที่รู้จักมานาน ในช่วงเวลา 460 ปี ถึง 370 ปีก่อนคริสตกาลขณะที่ฮิปโปเครติส (Hippocrates) ทำการบำบัดโรคต่างๆด้วยยา รวมทั้งไข้มาลาเรีย (ชนิด tertian หรือทุก 2 วัน และชนิด quartan หรือทุก 3 วัน) พบว่าไข้ เป็นอาการของโรคเท่านั้น มากกว่าเป็นตัวโรคเอง

การติดเชื้อที่มาพร้อมอาการไข้เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของมนุษย์มาเป็นเวลาประมาณ 200,000 ปี ตั้งแต่ต้นจนถึงปลายศตวรรษที่ 19 ประมาณครึ่งหนึ่งของมนุษย์เสียชีวิตจากการติดเชื้อก่อนอายุ 15 ปี

จากภาษาละติน การจับไข้ต่ำๆ (Febricula) เคยนำมาใช้เพื่ออ้างถึงอาการไข้ต่ำๆที่กินเวลาเพียงไม่กี่วัน คำนี้เลิกใช้ไปเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 และอาการที่เคยใช้คำนี้อ้างถึง นั้นน่าจะเป็นการติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ (Viral respiratory infections) ที่ไม่รุนแรง

สังคมและวัฒนธรรม (Society and Culture)     

  • กุมารเวชศาสตร์ (Pediatrics)

ในผู้ป่วยเด็ก พ่อแม่ผู้ปกครองและบุคลากรทางการแพทย์ มักกังวลเรื่องไข้เกินกว่าเหตุ ดังปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "ความกังวลและความกลัวเกี่ยวกับภาวะไข้" ซึ่งมีพื้นฐานมาจากความเข้าใจผิด เกี่ยวกับอาการไข้ในเด็ก พ่อแม่หลายคนมีความเชื่อผิดๆว่า ไข้ตัวร้อนเป็นโรคชนิดหนึ่ง แทนที่จะเป็นเพียงอาการที่ปรากฎ แม้แต่อาการไข้ต่ำๆ ที่มีอุณหภูมิสูงกว่าตัวเลข "ปกติ" ในเทอร์โมมิเตอร์วัดไข้เพียงเล็กน้อย ก็คิดว่าเป็นไข้รุนแรงที่ต้องเข้ารับการรักษา นอกจากนี้พวกเขายังกลัวผลข้างเคียงที่ไม่เป็นอันตราย เช่น ภาวะชักจากไข้ และไปประเมินเป็นความเสียหายต่ออวัยวะอย่างถาวรจากอาการไข้ ตามที่ศาสตราจารย์ภาควิชาเกุมารเวชศาสตร์ Barton D. Schmitt กล่าวไว้คือ "ในฐานะพ่อแม่ เรากลัวว่าสมองของลูกเราอาจถูกทำลาย" จากความเข้าใจผิดเหล่านี้ เมื่อลูกมีอุณหภูมิปกติหรือสูงขึ้นเพียงเล็กน้อย พ่อแม่จะรู้สึกวิตกกังวลมาก จึงมักให้ยาลดไข้แก่ลูก และถ้าอาการไข้รบกวนการนอนหลับของลูก ก็ให้ยาเพิ่มขึ้นไปอีก

  • ไข้ในสัตว์ชนิดอื่นๆ (Other species)

ในสัตว์เลี้ยง (Domestic animals) อาการไข้เป็นตัวชี้วัดที่สำคัญสำหรับการวินิจฉัยโรค อุณหภูมิร่างกายของสัตว์ (วัดทางทวารหนัก) แต่ละสายพันธุ์จะแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น ม้ามีไข้สูงกว่า 38.3 °C (101 °F) ในสัตว์บางสายพันธุ์ เช่น อูฐ จะมีอุณหภูมิ "ปกติ" ได้หลากหลาย ตามอุณหภูมิสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง อุณหภูมิร่างกายที่ทำให้เป็นไข้จึงแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอุณหภูมิสิ่งสภาพแวดล้อม นอกจากนี้ สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังบางชนิดยังใช้ไข้มาเป็นเกราะป้องกันตัว เช่น ตั๊กแตนจะควบคุมอุณหภูมิร่างกายให้สูงกว่าปกติ 2–5 °C เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราที่ก่อโรค ชนิด Beauveria bassiana และ Metarhizium acridum  อีกตัวอย่างหนึ่งคือ กลุ่มผึ้งในรัง สามารถกระตุ้นให้เกิดอุณหภูมิสูง เป็นอาการไข้ เพื่อต่อต้านต่อเชื้อรา Ascosphaera apis ได้

อ่านตรวจทานโดย ศ. คลินิก นพ. สุชาติ ไชยเมืองราช

แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Fever [2024, June 15] โดย พชรมน ไกรรณภูมิ