โรคหูคอจมูก โรคทางหูคอจมูก โรคระบบหูคอจมูก (ENT disease)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

โรคหูคอจมูก หรือโรคทางหูคอจมูก (Ear Throat Nose disease หรือย่อว่า ENT disease ) หมายถึง โรค หรือ ภาวะ หรือ อาการ ผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับอวัยวะในส่วนของ หู คอ จมูก และในปัจจุบันครอบคลุมถึงอวัยวะทั้งหมดในส่วนศีรษะและลำคอ ยกเว้น โรคผิวหนัง โรคตา โรคระบบประสาท และโรคฟัน

 

โรคหูคอจมูก เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่นำผู้ป่วยพบแพทย์ เช่น เจ็บคอ, ต่อมทอนซิลอักเสบ, โรคภูมิแพ้หูคอจมูก, มีปัญหาในการได้ยิน, เลือดกำเดา, ตลอดจนอุบัติเหตุ และการเสริมความงามของใบหน้า

 

โรคหูคอจมูก พบทุกเพศและทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยแพทย์ทั่วไปให้การรักษาดูแลผู้ป่วยโรคทางหูคอจมูกได้ในบางโรค (เช่น โรคหวัด) และดูแลรักษาในเบื้องต้นของบางโรค (เช่น เลือดกำเดา) แต่ถ้าโรคซับซ้อนขึ้น การดูแลรักษาจะโดยแพทย์เฉพาะ ทางที่เรียกว่า “แพทย์หูคอจมูก” โดยแพทย์เฉพาะทางจะอยู่ในหน่วยงานที่เรียกว่า “แผนกหูคอจมูก หรือ โสต ศอ นาสิก”

 

โรคหูคอจมูกมีสาเหตุจากอะไร?

โรคหูคอจมูก

สาเหตุหลักของโรคหูคอจมูกจะเช่นเดียวกับสาเหตุหลักของโรคในทุกระบบอวัยวะ ได้แก่

 

ก. พันธุกรรม: โรคทางพันธุกรรม เป็นโรคพบได้น้อย แต่บางโรคพบได้บ่อย เช่น โรคภูมิแพ้

ข. ความพิการแต่กำเนิด: เป็นสาเหตุที่พบได้น้อย โดยอาจมีสาเหตุจากการติดเชื้อของมารดาหรือการขาดสารอาหารของมารดาช่วงตั้งครรภ์ เช่น โรคปากแหว่งเพดานโหว่

ค. การติดเชื้อ: เป็นสาเหตุพบบ่อยของโรคทางหูคอจมูก โดยอวัยวะในส่วนศีรษะและลำคอซึ่งรวมถึงหูคอจมูกด้วย สามารถติดเชื้อโรคได้ทุกชนิดเช่นเดียวกับอวัยวะต่างๆ ทั้งจาก

  • เชื้อแบคทีเรีย: เช่น หูชั้นกลางอักเสบ ต่อมทอนซิลอักเสบ ไซนัสอักเสบ
  • เชื้อไวรัส: เช่น โรคหวัดโรค ไข้หวัดใหญ่ คางทุม โรคหัด
  • เชื้อรา: เช่น ไซนัสอักเสบจากติดเชื้อรา
  • และเชื้อสัตว์เซลล์เดียว: พบได้น้อยมากๆ

ง. โรคทางต่อมไร้ท่อ: ต่อมไร้ท่อที่เกี่ยวข้องกับหูคอจมูก คือ ต่อมไทรอยด์ และต่อมพาราไทรอยด์ เช่น โรคเนื้องอก หรือโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ หรือ โรคเนื้องอกหรือโรคมะเร็งต่อมพา ราไทรอยด์

จ. โรคเนื้องอก: เนื้องอกในโรคหูคอจมูก เป็นโรคที่พบได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับบ่อยมาก ที่พบได้บ่อย คือ เนื้องอกของต่อมไทรอยด์ ที่พบได้ประปรายคือ เนื้องอกของต่อมน้ำลาย เนื้องอกเส้นประสาทหู เป็นต้น

ฉ. โรคมะเร็ง: โรคมะเร็งของหูคอจมูก จัดเป็นโรคมะเร็งพบบ่อย มักมีปัจจัยเสี่ยงคือ การสูบบุหรี่และการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น โรคมะเร็งช่องปาก โรคมะเร็งกล่องเสียง โรคมะเร็งคอหอย โรคมะเร็งหู โรคมะเร็งจมูก โรคมะเร็งโพรงหลังจมูก โรคมะเร็งทอนซิล โรคมะเร็งต่อมน้ำลาย โรคมะเร็งไซนัส

ช. อุบัติเหตุ: เช่น อุบัติเหตุต่อจมูกและหู จากการจราจร การทะเลาะวิวาท การเล่นกีฬา เช่น กระดูกจมูกหัก ใบหูฉีกขาด แก้วหูทะลุจากดำน้ำ หรือสิ่งแปลกปลอมในหู สิ่งแปลกปลอมในจมูก

ซ. อาชีพ: ได้แก่ โรคที่เกิดกับอวัยวะที่ใช้งานซ้ำๆต่อเนื่อง เช่น เสียงแหบจากมีตุ่มเนื้อที่สายเสียง, สายเสียงบวมหรือมีเลือดออกที่มักพบเกิดใน ครู พ่อค้าแม่ค้า และนักร้อง, ประสาทหูเสื่อมจากการได้ยินเสียงดังต่อเนื่อง เช่น ทำงานในโรงงานเครื่องจักรที่มีเสียงดังต่อเนื่อง ใช้หูฟังต่อเนื่อง หรือนักดนตรี

ฌ. อื่นๆ เช่น ขี้หูอุดตัน, น้ำเข้าหู

 

อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหูคอจมูก?

ปัจจัยเสี่ยงในโรคหูคอจมูก เช่นเดียวกับในโรคของอวัยวะอื่นๆ โดยขึ้นกับสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละโรค อ่านเพิ่มเติมได้ในรายละเอียดของแต่ละโรคที่เขียนแยกเป็นแต่ละบท ความต่างๆในเว็บ haamor.com

 

โรคหูคอจมูกมีอาการอย่างไร?

อาการของโรคหูคอจมูกคือ อาการที่เกิดจากความผิดปกติต่างๆของแต่ละอวัยวะในศีรษะและลำคอ/หูคอจมูก โดยอาการพบบ่อย ได้แก่

  • อาการจากการติดเชื้อ: เช่น
    • มีไข้
    • ปวดศีรษะ
    • ปวด บวม แดง/ร้อน ของอวัยวะที่ติดเชื้อ (เช่น จมูกบวม หูบวม เจ็บคอ) และ
    • อาจมีสารคัดหลั่งผิดปกติ เช่น น้ำมูกจากจมูก เสมหะจากคอ หรือ สารคัดหลั่ง/หนอง/ของเหลวจากหู
  • อาการทางหู: เช่น
    • หูได้ยินลดลง
    • มีเสียงในหู
    • ปวดหู
    • มี น้ำ เลือด หรือหนอง ออกจากหู
  • อาการทางจมูก: เช่น
    • ไม่ได้กลิ่น
    • คัด/แน่นจมูก
    • มีน้ำมูก
    • น้ำมูกเป็นเลือด
  • อาการทางคอ: เช่น
    • เจ็บคอ
    • คอบวม
    • มีกลิ่นปาก
    • มีน้ำลายปนเลือด
  • อาการมีแผลที่อวัยวะในระบบหูคอจมูก: เช่น มีแผลในช่องปาก ลิ้น เหงือก
  • อาการมีก้อนเนื้อ: เช่น มีก้อนที่เพดานปาก ที่ต่อมน้ำลาย หรือที่ต่อมไทรอยด์
  • อาการมีเลือดออกจากอวัยวะในศีรษะและคอ/หูคอจมูก: เช่น
    • เลือดกำเดา
    • น้ำลายมีเลือดปน
    • เสมหะมีเลือดปน หรือ
    • น้ำมูกมีเลือดปน
  • อาการเสียงแหบ: ที่เกิดจากมีโรคของกล่องเสียง อาจจาก
    • กล่องเสียงอักเสบติดเชื้อ
    • มีถุงน้ำที่สายเสียง
    • มีตุ่มเนื้อที่สายเสียง หรือ
    • มะเร็งกล่องเสียง
  • อาการต่อมน้ำเหลืองที่ลำคอโต: พบได้หลายรูปแบบขึ้นกับสาเหตุ โดย
    • อาจโตทั้งด้านหน้า และ/หรือ ด้านหลังลำคอ
    • อาจมีต่อมเดียว หลายต่อม
    • อาจพบทั้ง 2 ข้างซ้ายขวาของลำคอ หรือเพียงด้านใดด้านหนึ่งด้านเดียว
    • อาจเจ็บหรือไม่ก็ได้
    • ทั่วไปมักมีขนาดเล็กมักน้อยกว่า 1 เซนติเมตร
    • แต่บางโรคอาจทำให้ต่อมน้ำเหลืองลำคอโตได้หลายเซนติเมตร เช่น โรคมะเร็งของอวัยวะในระบบศีรษะและลำคอ/ระบบหูคอจมูก

 

แพทย์วินิจฉัยโรคหูคอจมูกได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคหูคอจมูกได้ด้วยวิธีการเช่นเดียวกันกับการวินิจฉัยโรคต่างๆในทุกระบบอวัยวะ ได้แก่

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ซึ่งที่สำคัญ เช่น อาการต่างๆของผู้ป่วย ประวัติการงานอาชีพ การเล่นกีฬา อุบัติเหตุ โรคประจำตัว วิธีรักษาโรคในอดีต การใช้ยาต่างๆ เป็นต้น
  • การตรวจร่างกายทั่วไป
  • การตรวจทางหูคอจมูก (ตรวจ ช่องปาก คอ จมูก และ/หรือ หู ด้วยเครื่องมือตรวจทางหูคอจมูก) และ
  • อาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับ อาการผู้ป่วย ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ตรวจเอกซเรย์ และ/หรือ เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ ภาพอวัยวะต่างๆที่มีอาการ เช่น กล่องเสียง โพรงหลังจมูก
    • การตรวจเชื้อ และ/หรือการเพาะเชื้อ จากรอยโรค ลำคอ เสมหะ น้ำลาย สารคัดหลั่ง หนอง ฯลฯ กรณีสงสัยการติดเชื้อบางชนิด
    • การตรวจเลือดดู สารภูมิต้านทาน หรือสารก่อภูมิต้านทาน ของเชื้อต่างๆที่เป็นสาเหตุโรค
    • อาจส่องกล้องตรวจอวัยวะที่มีอาการ เช่น ส่องกล้องตรวจกล่องเสียง เป็นต้น
    • อาจเจาะดูดเซลล์จากรอยโรคเพื่อการตรวจทางเซลล์วิทยา
    • อาจตัดชิ้นเนื้อจากรอยโรคเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา

 

รักษาโรคหูคอจมูกอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคหูคอจมูก จะเช่นเดียวกับการรักษาในทุกโรคคือ รักษาสาเหตุ, และรักษาประคับประคองตามอาการ

ก. การรักษาสาเหตุ: เช่น

1. การให้ยาต่างๆ: เช่น ยาปฏิชีวนะกรณีของการติดเชื้อแบคทีเรีย ยาแก้แพ้และ /หรือยาสเตียรอยด์กรณีโรคภูมิแพ้ ยาช่วยให้หลอดเลือดหดตัวกรณีเลือดกำเดา เป็นต้น

2. การใช้หัตถการต่างๆ: เช่น การผ่าตัดในกรณีของก้อนเนื้อหรือโรคมะเร็งหรือ กระดูกจมูกหัก

ข. การรักษาประคับประคองตามอาการ: เช่น ยาแก้ปวด ยาลดไข้ ยาลดบวม และการให้สารน้ำกรณีกินได้น้อย หรือการให้เลือดกรณีมีเลือดกำเดาออกมากจนซีด เป็นต้น

 

โรคหูคอจมูกรุนแรงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคของโรคหูคอจมูกขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • โรคไม่รุนแรง การพยากรณ์โรคดี เมื่อสาเหตุเกิดจาก โรคหวัด, ต่อมทอนซิลอักเสบ, หรือจากไซนัสอักเสบ
  • แต่ความรุนแรงสูงขึ้นมากเมื่อสาเหตุเกิดจากโรคมะเร็ง

 

ทั้งนี้โดยทั่วไป โรคทางหูคอจมูกเป็นโรคไม่รุนแรง (ยกเว้น โรคมะเร็ง) มักไม่ทำให้เสีย ชีวิต แต่ถ้าปล่อยให้มีอาการเรื้อรัง จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตได้ เช่น เสียงแหบ หรือการมีปัญหาทางการได้ยิน

 

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆและอาการไม่ดีขึ้นใน 2 - 3 วันหลังการดูแลตนเอง หรือเมื่อมีอาการเลวลง ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ

 

แต่เมื่อทราบแล้วว่า เป็นโรคทางหูคอจมูก การดูแลตนเองคือ

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล
  • กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • รักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เสมอ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง หรือ
    • มีอาการผิดไปจากเดิม หรือ
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น วิงเวียนศีรษะมาก
    • เมื่อกังวลในอาการ

มีการตรวจคัดกรองโรคหูคอจมูกไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีการตรวจคัดกรองให้พบโรคหูคอจมูกตั้งแต่ในขณะยังไม่มีอาการซึ่งรวมทั้ง โรคมะเร็งต่างๆด้วย ดังนั้นเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆของอวัยวะในศีรษะและลำคอและในระบบหูคอจมูก จึงควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลแต่เนิ่นๆ เพราะจะช่วยให้การรักษาควบคุมโรคได้ผลดีกว่าเมื่อปล่อยให้เป็นโรคเรื้อรังหรือมีอาการมากแล้ว

 

ป้องกันโรคหูคอจมูกได้อย่างไร?

หลักในการป้องโรคทางหูคอจมูกจะเช่นเดียวกับในทุกโรคคือ

  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อ ด้วยการรักษา สุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ และ
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน โดยจำกัดปริมาณ ไขมัน แป้ง น้ำตาล เค็ม/เกลือ เพื่อป้องกันโรคเรื้อรังต่างๆที่จะกระทบมาถึงสุขภาพของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายที่รวมถึงอวัยวะในระบบหูคอ จมูก เช่น
    • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
    • โรคเบาหวาน
    • โรคไขมันในเลือดสูง
    • โรคความดันโลหิตสูง
    • โรคไต

 

นอกจากนั้นคือ:

  • หลีกเลี่ยงฝุ่นละออง และรักษาสภาพแวดล้อม ป้องกันการกระตุ้นความรุนแรงของโรคภูมิ แพ้
  • หลีกเลี่ยงการได้รับเสียงดังมาก หรือการได้รับเสียงดังอย่างต่อเนื่อง
  • รู้จักเทคนิคการใช้เสียงเมื่อมีอาชีพต้องใช้เสียง เมื่อต้องใช้เสียงดังต่อเนื่องต้องมีอุปกรณ์ขยายเสียงช่วย
  • หลีกเลี่ยงอุบัติเหตุต่างๆ และเรียนรู้เทคนิคการเล่นกีฬาที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่อ ใบหน้า ศีรษะ และคอ
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • ฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่มีวัคซีนตามกระทรวงสาธารณสุขแนะนำ เช่น วัคซีนโรคคางทูม และโรคหัด เป็นต้น เพื่อลดโอกาสติดเชื้อที่ส่งผลถึงโรคหูคอจมูกด้วย

บรรณานุกรม

  1. Emerick,K., and Deschler,D. (2006). Common ENT disorders. Southern Medical Journal.99,1090-1099.
  2. http://en.wikipedia.org/wiki/Otolaryngology [2019,March2]