สมองเสื่อม (Dementia)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ใครๆก็กลัวการเป็นโรคสมองเสื่อม/ภาวะสมองเสื่อม (Dementia) พอมีอาการจำอะไรไม่ ได้ เจอหน้าคนที่รู้จักแต่นึกชื่อไม่ออก เดินจะไปหยิบของในครัว พอไปถึงนึกไม่ออกว่าจะหยิบอะไร จอดรถที่ลานจอดรถของห้างสรรพสินค้า แต่พอเดินกลับมาจะขึ้นรถ จำไม่ได้ว่าจอดรถที่ชั้นไหน อาการต่างๆเหล่านี้ใช่สมองเสื่อมหรือไม่ เราต้องมาติดตามบทความต่อจากนี้ไปเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมให้ดียิ่งขึ้น

โรคสมองเสื่อมคืออะไร?

สมองเสื่อม

โรคสมองเสื่อมเป็นคำที่เรียกกลุ่มอาการต่างๆที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงานของสมองที่เสื่อมลงหลายๆด้าน คนทั่วไปมักเข้าใจว่าผู้ป่วยมีความบกพร่องเฉพาะความจำเท่านั้น แต่จริงแล้ว ยังมีปัญหาในการใช้ความคิด การเรียนรู้สิ่งใหม่ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ พฤติกรรม และบุคลิกภาพ จนส่งผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันทั้งในด้านการงาน การเข้าสังคม และชีวิตส่วนตัว โดยขณะที่แพทย์ประเมินผู้ป่วยว่ามีสมองเสื่อมหรือไม่ ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการสับสนอย่าง ฉับพลันหรือมีระดับการรู้สึกตัวบกพร่อง

โรคสมองเสื่อมพบบ่อยแค่ไหน?

โรคสมองเสื่อมเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุทุกเพศ พบว่าทั่วไปแล้วคนที่อายุเกิน 65 ปี พบ 6 - 8% และตัวเลขนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้น โดยพบสูงถึง 30% ในผู้ที่อายุ 85 ปี

โรคสมองเสื่อมกับโรคอัลไซเมอร์เหมือนกันหรือไม่?

ส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดเหมารวมว่าโรคสมองเสื่อมและโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคเดียวกัน แท้ จริงแล้วโรคอัลไซเมอร์เป็นสาเหตุของโรคสมองเสื่อมที่พบบ่อยที่สุดคือประมาณ 65% ของโรคสมองเสื่อมทั้งหมด โดยผู้ป่วยอัลไซเมอร์จะมีความผิดปกติอย่างช้าๆเป็นปีๆ ทำให้ผู้ใกล้ชิดบอก จุดเริ่มต้นของอาการไม่ชัดเจน

ส่วนสาเหตุอื่นของโรคสมองเสื่อมยังมีได้จากหลายสาเหตุเช่น โรคสมองเสื่อมจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ (โรคสมองเสื่อมเหตุสมองขาดเลือด) ดื่มสุราเรื้อรัง ภาวะสมองขาดออกซิ เจน ภาวะเลือดคั่งในสมอง (เลือดออกในเนื้อสมอง) และภาวะขาดวิตามินบางชนิดเช่น วิตามิน บี-3 เป็นต้น แม้ส่วนมากโรคนี้จะรักษาไม่หายขาด แต่ก็มีประมาณ 5% ที่มีความบกพร่องเฉพาะเกี่ยวกับความจำ สามารถรักษาหายจากอาการดังกล่าวได้ โดยประมาณครึ่งหนึ่งหายเป็นปกติหลังจากได้รับการรักษา

อะไรบ้างเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคสมองเสื่อม?

หลายปัจจัยที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคสมองเสื่อมดังจะกล่าวต่อไป จะเห็นว่าบางปัจจัยสามารถป้องกันรักษาได้เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง การติดสุราเรื้อรัง การสูบบุหรี่ เป็นต้น

ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดสมองเสื่อม ได้แก่

  • อายุมาก
  • ประวัติครอบครัวเป็นโรคสมองเสื่อม
  • ดื่มสุราเรื้อรัง
  • ใช้ยาเสพติด
  • มีประวัติโรคซึมเศร้า
  • มีโรคปัญญาอ่อน
  • ได้รับอันตรายทางสมองเช่น เลือดคั่งในสมอง (ภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง)
  • มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่
  • ประวัติเคยมีภาวะสับสนฉับพลัน
  • เคยสัมผัสโลหะหนักบางชนิดเรื้อรังเป็นเวลานานเช่น สารตะกั่ว สารหนู
  • มีโรคทางระบบประสาทเช่น โรคพาร์กินสัน
  • ติดเชื้อเอชไอวี

อาการหลงลืมในผู้สูงอายุแตกต่างจากโรคสมองเสื่อมอย่างไร?

สิ่งที่ต้องระลึกไว้เสมอคือ โรคสมองเสื่อมไม่ใช่ภาวะปกติของคนที่มีอายุ ผู้สูงอายุมักจะคิดว่าตนเองมีความจำบกพร่อง แท้จริงแล้วอาการหลงลืมเล็กๆน้อยๆนี้สามารถเกิดได้ในผู้สูงอา ยุซึ่งเรียกว่าอาการหลงลืมตามวัยเช่น ลืมว่าวางของไว้ที่ไหน ลืมกาน้ำเดือดไว้บนเตา ลืมชื่อคนที่เคยรู้จัก ลืมว่าวันนี้วันที่เท่าไร เป็นต้น ที่สำคัญอาการหลงลืมนี้ต้องไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุ อาการหลงลืมตามวัยนี้สามารถช่วยให้ดีขึ้นได้ ถ้าผู้สูงอายุมีสมาธิมากขึ้น การจดบันทึกเพื่อเตือนตัวเองก็จะช่วยได้เป็นอย่างดี

ส่วนอาการหลงลืมในโรคสมองเสื่อมนั้นจะมีลักษณะที่แตกต่างออกไป มีลักษณะแปลกๆ และมีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ โดยอาการหลงลืมมักค่อยเป็นค่อยไปอย่างต่อ เนื่องจนจำเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่ได้เลย หรือมีพฤติกรรมแปลกๆเช่น ใส่เสื้อกลับด้าน หรือจำไม่ได้ว่าใส่เสื้ออย่างไร อาบน้ำอย่างไร ลืมชื่อสมาชิกในครอบครัว หลงทางกลับบ้าน เป็นต้น

ทราบได้อย่างไรว่าน่าเป็นโรคสมองเสื่อม?

อาการของโรคสมองเสื่อมมีความแตกต่างได้หลากหลาย และโรคเดียวกันผู้ป่วยแต่ละคนก็อาจมีอาการและความรุนแรงที่แตกต่างกันเช่น บางรายมีอาการหลงลืมเป็นอาการเด่น บางรายมีอาการด้านพฤติกรรม หรือการใช้ภาษาเป็นอาการเด่น เป็นต้น โดยความผิดปกตินี้จะเกิด ขึ้นต่อเนื่องนานอย่างน้อย 6 เดือน แพทย์จึงสามารถให้การวินิจฉัยได้ว่าเกิดจากโรคสมองเสื่อม ผู้ใกล้ชิดผู้สูงอายุอาจทำแบบทดสอบดังใน*ภาคผนวก (IQCODE) ฉบับสั้น (อ่านเพิ่มเติมในตอนท้ายของบทความนี้) เพื่อประเมินเบื้องต้นว่า ผู้สูงอายุรายนั้นน่าจะมีโรคสมองเสื่อมหรือไม่

อาการโรคสมองเสื่อมที่ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยจะสังเกตได้คือ

  • มีความบกพร่องในความจำ การรับรู้ หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ: เช่น ลืมคำพูดระหว่างการสนทนา จึงถามซ้ำๆบ่อยๆหรือพูดวกวนในเรื่องเก่าๆ ลืมเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นเช่น กินข้าวแล้วก็บอกว่ายังไม่กิน ลืมของมีค่าบ่อยๆเช่น กระเป๋าสตางค์ นาฬิกาข้อมือ กุญแจบ้าน เป็นต้น หลงทางในที่ที่คุ้นเคยเช่น ออกจากบ้านแล้วหาทางกลับบ้านไม่ถูก หรือลืมว่าต้องนั่งรถประจำทางสายใดทั้งๆที่เดิมเคยนั่งอยู่เป็นประจำ เป็นต้น
  • มีความบกพร่องเกี่ยวกับการรับรู้สิ่งรอบตัว: เช่น จำวันที่ เดือน ปีไม่ได้ จำชื่อเพื่อน สมาชิกในครอบครัว และบ้านเลขที่ตัวเอง ไม่ได้
  • มีพฤติกรรมผิดปกติ: เช่น มีความบกพร่องในการตัดสินใจแก้ปัญหาเช่น นั่งดูน้ำเดือดบนเตาเฉยๆหรือปล่อยให้น้ำล้นอ่างโดยไม่รู้ว่าต้องทำอย่างไร มีการวางแผนงานหรือความ สามารถในการทำงานลดลง ไม่กล้าตัดสินใจหรือตัดสินใจผิดในเรื่องเล็กๆน้อยๆ มีสุขอนามัยเปลี่ยนไปจากเดิมเช่น ไม่ยอมอาบน้ำ เสื้อผ้าสกปรก หรือไม่โกนหนวดในผู้ชายซึ่งเปลี่ยน แปลงไปจากเดิม หรือมีพฤติกรรมที่คนปกติทั่วไปไม่ปฏิบัติเช่น ชอบขโมยของในร้านค้า เป็นต้น บางคนอาจมีอาการทางจิตเวชเช่น เห็นภาพหลอน หูแว่ว (ประสาทหลอน) มีความเชื่อหรือความคิดหลงผิด นอนไม่หลับ เดินไปเดินมาตอนกลางคืน หรือนอนมากเกินไปทั้งกลางวัน - กลางคืน
  • มีอารมณ์ที่ผิดปกติ: เช่น อารมณ์เฉยเมย เฉื่อยชา ไม่อยากคุยกับใคร แยกตัวจากสัง คม หรือมีอารมณ์แปรปรวน โมโหง่าย พูดจาก้าวร้าว มีความอดทนต่ำ รอนานไม่ได้ ขาดความสนใจในสิ่งที่เคยชอบมาก่อน ขาดแรงจูงใจในการทำกิจกรรมใดๆเช่น เดิมชอบทำสวนปลูกต้นไม้ก็เลิกทำโดยไม่มีสาเหตุที่เป็นเหตุเป็นผล
  • การเปลี่ยนแปลงด้านความคิด: มีความคิดที่ไม่ยืดหยุ่น มีความบกพร่องในการใช้ภาษา ทั้งภาษาพูดและภาษาเขียนเช่น นึกคำไม่ออก ใช้คำที่เสียงใกล้เคียงกันเช่น เรียกเสื้อเป็นแสง ใช้คำศัพท์แปลกๆแทนหรือใช้คำว่า ไอ้นั่น ไอ้นี่ พูดตะกุกตะกักไม่เป็นประโยคต่อ เนื่อง พูดน้อยลงหรือไม่พูดเลย มีความคิดสร้างสรรค์ลดลง มีความบกพร่องในการเริ่มต้นหัวข้อสนทนา เป็นต้น
  • มีความบกพร่องในการประกอบกิจวัตรและในกิจกรรมประจำวัน: เช่น ไม่อาบน้ำ ไม่แต่งตัว หรือแต่งตัวไม่เหมาะสมเช่น ใส่เสื้อชุดนอนไปซื้อของที่ตลาด กลั้นอุจจาระ -ปัสสาวะไม่ได้ หรือปล่อยให้ราดในที่สาธารณะ กินอาหารมูมมามเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่สามารถทำกิจวัตรที่เคยทำเป็นประจำได้เช่น เคยทำอาหารได้ก็ลืมขั้นตอนการทำ รสชาติอาหารต่างไปจากเดิม เคยใช้โทรศัพท์มือถือได้ ใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ ก็ทำไม่ได้ จนในที่สุดจะมีลักษณะเป็นเหมือนเด็กไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้

ทำไมการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมถึงมีความสำคัญ?

โรคสมองเสื่อมมักได้รับการวินิจฉัยในระยะท้าย ในปัจจุบันต้องยอมรับว่าโรคสมองเสื่อมส่วนมากไม่สามารถรักษาให้หายขาด แต่บางภาวะสามารถรักษาหรือชะลอความเสื่อมได้ อันจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยและผู้ดูแล ให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของผู้ป่วย และลดภาระแก่ผู้ดูแลและครอบครัวอีกด้วย

อุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้การวินิจฉัยล่าช้าคือ ตัวผู้ป่วยเองและ/หรือครอบครัวไม่ได้ตระหนักถึงความผิดปกติดังกล่าว และมักคิดว่าเป็นอาการปกติของคนสูงวัย และเนื่องจากปัจจุบันยังขาดการสืบค้นเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัยที่แน่นอนรวดเร็วและจำเพาะ ทำให้การวินิจ ฉัยโรคนี้ล่าช้า

ดังนั้นญาติหรือคนใกล้ชิดผู้สูงอายุจะเป็นผู้ที่มีความสำคัญอย่างมากในการให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และมีความน่าเชื่อถือมากที่สุดในการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อม ซึ่งหากผู้สูงอายุหรือผู้ใกล้ชิด สงสัยว่าผู้สูงอายุอาจเป็นโรคสมองเสื่อม ควรรีบนำมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อการตรวจสืบค้น เพิ่มเติมและวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไป

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ควรรีบพบแพทย์/รีบไปโรงพยาบาลเสมอเมื่อสงสัยว่าตนเองหรือผู้ใกล้ชิดเป็นโรคสมองเสื่อมจากการมีพฤติกรรมที่ผิดปกติไปดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ทราบได้อย่างไรว่าน่าเป็นสมองเสื่อม

วินิจฉัยโรคสมองเสื่อมได้อย่างไร?

เมื่อท่านสงสัยว่าท่านหรือญาติของท่านเป็นโรคสมองเสื่อม ควรไปปรึกษาแพทย์ด้านอายุรกรรม แพทย์จะสอบถามประวัติทางการแพทย์ ตรวจร่างกายผู้ป่วยโดยละเอียด รวมทั้งให้ท่านทำแบบทดสอบเกี่ยวกับความจำเพื่อประเมินว่ามีความผิดปกติหรือไม่

นอกจากนี้ แพทย์จำเป็นต้องมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัย และหาสาเหตุอื่นที่สามารถรักษาได้เช่น การตรวจเลือดดูระดับฮอร์โมนของต่อมไทรอยด์และดูระ ดับเกลือแร่ และในผู้ป่วยบางรายอาจต้องตรวจภาพสมองทางรังสีวิทยาเช่น เอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง (CT scan brain) หรือตรวจสมองด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กกำลังสูง (MRI, เอมอาร์ไอ) อาจยังมีการตรวจพิเศษทางรังสีวิทยาอื่นซึ่งมีในบางโรงพยาบาลเท่านั้น (เช่น เพทสะแกน/PET scan) ไม่ได้มีทั่วไปซึ่งการตรวจนั้นไม่ยุ่งยากและไม่ได้ทำให้ท่านเจ็บตัวนอกเหนือไปจากการเจาะเลือด

ก. การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง/ ซีทีสแกน (CT scan brain): การตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมอง เป็นการใช้รังสีเอกซเรย์ตรวจสมองในภาพตัดขวาง ทำให้เห็นความผิดปกติในเนื้อสมองที่การเอกซเรย์ธรรมดามองไม่เห็นเช่น เห็นเลือดคั่งในสมอง, บริเวณที่สมองขาดเลือด และเนื้องอกในสมอง เป็นต้น ข้อห้ามในการตรวจเช่น ผู้ป่วยที่มีประวัติแพ้อา หารทะเล แพ้สารทึบแสง/สารทึบรังสี แพ้สารอาหารอื่นๆ โรคไตวาย ก่อนตรวจต้องงดน้ำงดอาหาร และงดยาตามที่เจ้าหน้าที่ที่ห้องเอกซเรย์แนะนำ ถ้าหากมีข้อห้ามในการตรวจเช่น เคยแพ้สารทึบแสงหรืออาหารทะเล ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทราบก่อนทำการตรวจ บางรายอาจได้รับน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำหากจำเป็นต้องฉีดสารทึบแสง ขณะตรวจผู้ป่วยจะนอนหงายบนเตียงธรรมดา หากรู้สึกผิดปกติสามารถพูดดังๆเพื่อแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบได้ หลังจากทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์สมองแล้ว ถ้าเกิดมีผื่นคัน หายใจลำบาก ควรรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ทันที ซึ่งผู้ป่วยสามารถกินอาหารได้ปกติและควรดื่มน้ำมากๆโดยเฉพาะผู้ป่วยที่ได้รับการฉีดสารทึบแสง

ข. การตรวจสมองด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กกำลังสูง/ เอมอาร์ไอ (MRI brain): การตรวจสมองด้วยเครื่องสนามแม่เหล็กกำลังสูง (MRI brain) เป็นการตรวจสมองโดยการส่งคลื่นวิทยุเข้าไปกระตุ้นเซลล์ของเนื้อเยื่อต่างๆของสมอง ในขณะที่ผู้ป่วยนอนอยู่ในสนามแม่เหล็กและนำสัญญาณซึ่งต่างกันที่ได้รับจากการกระตุ้นนำมาสร้างเป็นภาพด้วยระบบคอมพิวเตอร์ และสามารถ สร้างภาพได้หลายระนาบ การตรวจวิธีนี้จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับความผิดปกติของเนื้อสมองได้ละเอียดมากขึ้นกว่าการทำเอกซเรย์สมองคอมพิวเตอร์ โดยเฉพาะพยาธิสภาพที่เป็นความผิดปกติของหลอดเลือด เช่น สมองฝ่อ เนื้อสมองตายเหตุขาดเลือด หรือการเปลี่ยนแปลงของเนื้อสมองบางบริเวณ เป็นต้น แต่ค่าใช้จ่ายด้วยการตรวจเอมอาร์ไอสูงกว่าเอกซเรย์คอมพิวเตอร์มากและไม่สามารถทำได้ในทุกโรงพยาบาล

ข้อห้ามในการตรวจเอมอาร์ไอได้แก่ ผู้ป่วยที่ติดเครื่องช่วยกระตุ้นหัวใจ ผู้ที่ผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจชนิดที่เข้าห้องสนามแม่เหล็กไม่ได้ ผู้ที่ผ่าตัดหลอดเลือดโป่งพองและใช้คลิบโลหะหนีบหลอดเลือดไว้ ผู้ที่มีเศษโลหะฝังในลูกตา (เช่น จากอุบัติเหตุ) และผู้ที่ผ่าตัดติดประสาทหูเทียม

สำหรับการเตรียมตัวก่อนเข้าห้องตรวจเอมอาร์ไอ โดยทั่วไปไม่ต้องงดน้ำงดอาหาร ผู้ป่วย อาจได้รับการฉีดยาทางหลอดเลือดดำเพื่อให้เห็นภาพเนื้อเยื่อสมองชัดเจนขึ้น ขณะตรวจควรนอน หลับตาทำจิตใจให้สบาย เพราะบริเวณที่นอนตรวจค่อนข้างแคบและเสียงดังค่อนข้างมาก ควรนอนนิ่งให้ได้มากที่สุดเพื่อให้ได้ภาพสมองที่ชัดเจน หากมีปัญหาขณะตรวจสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา

หลังตรวจฯเสร็จหากเกิดอาการผิดปกติเช่น มีผื่นภายใน 24 ชั่วโมงในรายที่ได้รับการฉีดสารเข้าหลอดเลือดดำ ควรแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบทันทีและดื่มน้ำมากๆโดยเฉพาะผู้ที่ฉีดสารเข้า หลอดเลือดดำ

รักษาโรคสมองเสื่อมอย่างไร? ดูแลตนเองอย่างไร?

การรักษาโรคสมองเสื่อม ก่อนอื่นต้องมองหาสาเหตุที่สามารถรักษาได้ก่อนแม้จะเป็นส่วนน้อยเช่น เลือดคั่งในสมอง สาเหตุจากยาหรือสารเสพติด การติดเชื้อ หรือขาดวิตามินบางชนิด จากนั้นจึงเหลือกลุ่มโรคสมองเสื่อมเรื้อรัง โดยจุดมุ่งหมายในการรักษาดูแลผู้ป่วยคือ ชะลอการลดลงของสติปัญญา ให้ผู้ป่วยช่วยเหลือตนเองได้มากที่สุด โดยเพิ่มความสามารถในการดำรงชีวิตประจำวันและเพิ่มคุณภาพชีวิตทั้งต่อผู้ป่วยเองและต่อผู้ดูแล

แบ่งหลักการรักษาและการดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมเป็น 5 ข้อใหญ่คือ ก. การรักษาโรคสมองเสื่อม, ข. การรักษาโรคร่วม, ค. การส่งเสริมสุขภาพ, ง. การป้องกันความทุพลภาพ และ จ.การดูแลผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วยในแง่สังคม

ก.การรักษาโรคสมองเสื่อม:

การรักษาโรคสมองเสื่อมได้แก่ 1. การรักษาปัญหาการลดลงของสติปัญญาและ 2. การรักษาปัญหาทางพฤติกรรมและจิตเวชในผู้ป่วยสมองเสื่อม

1 การรักษาปัญหาการลดลงของสติปัญญา: ในปัจจุบันโรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ยาที่มีในปัจจุบันเป็นเพียงยาที่ชะลอการดำเนินโรคหรือรักษาตามอาการ ยาที่ได้รับการยอมรับทั่วไปได้แก่ ยากลุ่มที่ออกฤทธิ์ยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ชื่อ อะซีติลโคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholineesterase, สารสื่อประสาทชนิดหนึ่ง) คือ ยาในกลุ่ม Acetylcholineesterase inhibitor; AChEI (เช่น โดนีพีซิล/Donepezil, ไรวาสติกมีน/Rivastigmine, กาแลนตามีน/Galantamine) และยาที่ออกฤทธิ์ต้านการทำงานของตัวรับเอ็นเอ็มดีเอ (NMDA/N-methyl-D-aspartate receptor antagonist) ที่เยื่อหุ้มเซลล์ ซึ่งเป็นกลไกหนึ่งในการเกิดโรคสมองเสื่อมโดยเฉพาะชนิดอัลไซเมอร์

ทั้งนี้ ประสิทธิภาพของยาเหล่านี้ในแต่ละผู้ป่วยแตกต่างกัน หากพูดคร่าวๆคือ 1 ใน 3 ของคนที่ได้รับยาเหล่านี้อาการโดยรวมจะดีขึ้นได้ อีก 1 ใน 3 อาการเท่าๆเดิม และอีก 1 ใน 3 อาการแย่มากขึ้น เนื่องจากผลข้างเคียงของยาโดยเฉพาะความผิดปกติของระบบทางเดินอาหารเช่น ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน อาจมีอาการฝันร้าย หัวใจเต้นผิดปกติ กล้ามเนื้อหดเกร็ง

ส่วนยาหรืออาหารเสริมอื่นเช่น วิตามินอี, วิตามินบี 12, กรดโฟลิก, ฮอร์โมนเอสโตรเจน, ยาต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (เอนเสด/NSAID), และแปะก๊วย, ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอที่สรุปว่ามีประ สิทธิภาพจริง

2 การรักษาปัญหาทางพฤติกรรมและจิตเวช: แบ่งเป็นการรักษาด้วย การไม่ใช้ยา, และ ใช้ยา

2.1 การรักษาโดยไม่ใช้ยา: การรักษาส่วนนี้มีความสำคัญมากต้องพิจารณาก่อนเสมอ ถ้าไม่ได้ผลจึงให้การรักษาส่วนนี้ควบคู่กับการให้ยาดังกล่าวใน 2.2 ซึ่งการรักษาโดยไม่ใช้ยาประ กอบไปด้วย

  • การจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมือนที่อยู่ตามปกติ: ควรจัดสิ่งแวดล้อมให้ง่ายต่อการทำกิจกรรมต่างๆ โดยพยายามเปลี่ยนแปลงให้น้อยที่สุด แต่จะปรับเปลี่ยนในกรณีที่ไม่เหมาะสมเป็นอันตรายแก่ผู้ ป่วยเช่น ควรเอาพรมเช็ดเท้าที่ทำให้ลื่นหกล้มได้ง่ายออก ควรมีไฟบริเวณทางเดินไปห้องน้ำตอน กลางคืน ควรมีราวจับในห้องน้ำห้องส้วมและบันไดพื้นบ้าน รวมถึงในห้องน้ำห้องส้วมควรแห้งอยู่เสมอ ควรจัดห้องนอนอยู่ชั้นล่างใกล้ห้องน้ำ ไม่มีสิ่งกีดขวางทางเดินรวมทั้งบริเวณหน้าและหลังบ้านด้วย
  • การใช้ภาษา: ควรให้ความเคารพนับถือผู้ป่วยเหมือนเป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง อย่าดูแลเขาเหมือนเป็นเด็กเล็ก ผู้ดูแลต้องใจเย็น พยายามใช้สายตาเป็นสื่อปลอบโยนผู้ป่วย ใช้ภาษาที่สุภาพสั้นและง่ายต่อการเข้าใจ ให้เวลาผู้สูงอายุในการถามหรือตอบ พยายามหลีกเลี่ยงการสนทนาที่มีคำถามเยอะๆที่ต้องตอบหลายคำตอบ เพราะทำให้ผู้ป่วยสับสนและมีพฤติกรรมก้าวร้าวตามมาได้ ควรจัดสิ่งแวดล้อมไม่ให้มีเสียงดังเช่น เปิดโทรทัศน์หรือวิทยุเสียงดัง
  • การจัดกิจกรรมประจำวัน: ควรให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมมากที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อเสริมสร้างความมั่นใจแก่ผู้ป่วย ควรให้ความช่วยเหลือบางส่วนถ้าผู้ป่วยไม่สามารถทำได้เอง ให้เวลาผู้ป่วยในการทำกิจกรรม ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถทำได้ ให้อธิบายใหม่ใช้คำพูดที่เข้าใจง่ายสั้นๆตรงไปตรงมา พยายามทำขั้นตอนของกิจกรรมให้สั้นลงถ้าผู้ป่วยไม่สามารถทำได้อาทิ การแต่งตัว ให้บอกทีละขั้นตอนให้ผู้ป่วยทำเอง ถ้าทำไม่ได้จึงค่อยช่วยเหลือ ที่สำคัญต้องเข้าใจว่าผู้ป่วยมีอาการขึ้นๆลงๆได้ บางวันทำได้ วันถัดไปอาจทำไม่ได้ หรือแม้แต่ในวันเดียวกันก็มีความแตกต่างกันได้ การใช้พฤติกรรมบำบัดอาจมีประโยชน์เช่น การฟังเพลงร้องเพลงร่วมกัน การให้ผู้ป่วยรำลึกความหลังโดยดูรูปเก่าๆ การคุยถึงเหตุการณ์ในรูปนั้นๆ การบำบัดรักษาโรคโดยใช้กลิ่นหอม (Aromatherapy) การรดน้ำต้นไม้ปลูกต้นไม้ การสัมผัสและการนวด ควรทำกิจกรรมในวันหนึ่งๆให้เป็นกิจวัตรเหมือนกันทุกวันเพื่อให้ผู้ป่วยไม่สับสน
  • การดูแลสุขอนามัย: ผู้ป่วยมักลืมหรือไม่สนใจสุขอนามัยส่วนบุคคลซึ่งอาจก่อให้ผู้ดูแลกังวล และต้องดูแลมากขึ้น ผู้ป่วยอาจไม่อยากให้ใครมาช่วยเหลือเรื่องส่วนตัวเช่น อาบน้ำ แต่งตัว ผู้ดูแลจึงอาจช่วยเหลือบางขั้นตอน ควรส่งเสริมให้ทำเป็นกิจวัตรประจำวัน และควรพาผู้ป่วยไปพบทันตแพทย์ เป็นระยะๆเพื่อตรวจว่ามีปัญหาในช่องปากหรือไม่
  • อาการอุจจาระและปัสสาวะราด: อาจเนื่องจากผู้ป่วยมีความจำกัดทางกายภาพเช่น ปวดข้อเข่าจึงไปเข้าห้องน้ำไม่ทัน มีการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ หรือเนื่องจากกระเพาะปัสสาวะไวต่อการกระตุ้นกว่าปกติจึงมีปัสสาวะราด ดังนั้นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อหาสาเหตุและแก้ไขก่อนที่จะบอกว่าเป็นจากโรคสมองเสื่อมซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ในผู้ที่มีปัสสาวะราด ผู้ดูแลต้องแน่ใจว่าผู้ป่วยได้รับปริมาณน้ำเพียงพอต่อวัน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีสารกาเฟอีนเช่น ชา กาแฟ อาจจัดตารางการถ่ายปัสสาวะเช่น เข้าห้องน้ำทุก 4 ชั่วโมงและเข้าห้องน้ำก่อนนอนตอนกลางคืน ไม่ดื่มน้ำมากก่อนนอน ใส่เสื้อผ้าที่ถอดออกง่ายเมื่อไปเข้าห้องน้ำเช่น กางเกงยางยืด เสื้อผ้าค่อน ข้างหลวม หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ พิจารณาใช้แผ่นอนามัยผ้ากันเปื้อนที่กันน้ำได้วางไว้บนเก้าอี้ที่ผู้ ป่วยนั่งและที่เตียงนอน
  • อาการนอนไม่หลับ: ญาติควรหากิจกรรมให้ผู้ป่วยทำตอนบ่ายๆ หลีกเลี่ยงการนอนหลับยาวตอนกลางวัน ควรปรึกษาแพทย์เกี่ยวกับรูปแบบการนอนเพื่อพิจารณาหยุดหรือเปลี่ยนยาที่อาจทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับ และแน่ใจว่าจัดห้องนอนให้เหมาะสมต่อการนอน ผู้ป่วยสามารถเดินเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนได้ปลอดภัย หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ กาเฟอีน และยานอนหลับ อาจให้ดื่มนมอุ่นๆก่อนนอนและให้เข้านอนเป็นเวลา
  • พฤติกรรมก้าวร้าวและอาการทางจิตเวช: เช่น คิดหลงผิด หวาดระแวง เห็นภาพหลอน หูแว่ว อาการเหล่านี้อาจเป็นอาการจากตัวโรคเอง หรือเป็นจากยา จากสิ่งแวดล้อมเป็นตัวเสริมเช่น ตาและหูทำงานบกพร่อง จึงระแวงว่าคนอื่นกำลังนินทาตนเอง ผู้ดูแลควรพยายามหาว่าสิ่งกระตุ้นพฤติกรรม นั้นๆคืออะไร ที่สำคัญต้องเข้าใจและอดทนต่อพฤติกรรมของผู้ป่วยว่าเป็นจากตัวโรค ผู้ป่วยไม่ได้ตั้ง ใจให้เป็นเช่นนั้น เมื่อมีพฤติกรรมก้าวร้าว พยายามเบนความสนใจผู้ป่วยไปเรื่องอื่น และหลีกเลี่ยงสาเหตุเสริมที่ทำให้พฤติกรรมนั้นเป็นมากขึ้น หากผู้ป่วยเดินไปมาไม่หยุด ควรมองหาว่าเดินเพราะอะไร มีตัวกระตุ้นหรือไม่เช่น มีเสียงดังจึงอยากเดินหนี หรือจากผลข้างเคียงจากยา ก็ให้แก้ไขต้น เหตุนั้นๆก่อนที่จะโทษว่าเป็นอาการหนึ่งของโรคสมองเสื่อม
  • อาการซึมเศร้า: ผู้ป่วยอาจแสดงออกมาในรูปของอารมณ์เสียใจ น้อยใจ กังวล คิดว่าตนเองไร้ค่า อยากฆ่าตัวตาย หรืออาจเฉยเมย แยกตัวออกจากสังคม ซึ่งอาจเป็นอาการจากโรคสมองเสื่อมเองหรือมีโรคซึมเศร้าร่วมด้วย ซึ่งกรณีหลังสามารถรักษาได้ด้วยยารักษาโรคซึมเศร้า
  • การพูดจาซ้ำซาก: ผู้ดูแลควรให้ความมั่นใจผู้ป่วยว่า ทุกอย่างเรียบร้อยดีไม่ต้องกังวล พยายามเบี่ยงเบนไปทำกิจกรรมอื่น อาจมีเครื่องช่วยเตือนความจำเช่น กระดานหรือสมุดจดกิจกรรมที่ทำประจำวัน พยายามตอบคำถามหรือเปลี่ยนการตอบคำถามเป็นเรื่องราวสนทนากันมากกว่าพูดซ้ำๆอยู่ที่เดิม

2.2 การรักษาโดยการใช้ยา: จะให้ยาในกรณีที่ผู้ป่วยมีอาการรุนแรงหรือให้การรักษาโดยการไม่ใช้ยาแล้วไม่ได้ผลเข่น ยาที่รักษาโรคจิตกลุ่มเก่า/กลุ่มดั่งเดิม (เช่น ยาฮาโลเพอริดอล/Halope ridol), และยารักษาโรคจิตกลุ่มใหม่ (เช่น ยารีสเพอดิโดน/Risperidone ยาโองานซาพีน/Olanzapine)

  • ผลข้างเคียงที่สำคัญของยาเหล่านี้คือ
    • อาการเคลื่อนไหวผิดปกติที่ไม่สามารถควบคุมได้ (Extrapyramidal symptoms) ผู้ป่วยอาจแสดงอาการออกมาได้หลายอย่างเช่น การเคลื่อนไหวโดยไม่ตั้งใจ, สั่นทั้งตัว,และแข็งเกร็ง
    • กระวนกระวาย
    • กล้ามเนื้อหดเกร็ง
    • นอกจากนี้ยังพบการหายใจและหัวใจเต้นผิดปกติ
    • น้ำหนักตัวเพิ่ม
    • น้ำตาลในเลือดสูงเมื่อใช้ยาเป็นเวลานาน การหยุดยาที่ได้รับหรือลดขนาดยาจะทำให้อาการส่วนใหญ่ของผู้ป่วยกลับคืนปกติ

ประสิทธิภาพการรักษาอาการของยาทั้ง 2 กลุ่มดังกล่าวไม่แตกต่างกัน แต่ยากลุ่มใหม่พบผล ข้างเคียงต่อระบบประสาทที่ทำให้เคลื่อนไหวผิดปกติน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ยากลุ่มใหม่มีราคาสูงกว่ายากลุ่มดั่งเดิมค่อนข้างมาก

มีการศึกษาพบว่า ยารักษาเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้น และเพิ่มอัตราการตายเมื่อเทียบกับผู้ป่วยที่ไม่ได้ใช้ยาประมาณ 1.5 - 1.7 เท่าเมื่อใช้ในระยะยาว ดังนั้นการใช้ยาจะใช้เมื่อมีข้อบ่งชี้และใช้ด้วยความระมัดระวัง โดยเริ่มจากขนาดยาต่ำสุดแล้วค่อยๆเพิ่มขนาดยาจนได้ขนาดที่น้อยสุดที่สามารถควบคุมอาการได้ และติดตามดูว่ามีผลข้างเคียงจากการรัก ษาหรือไม่ อย่างน้อยทุก 3 เดือนในระยะแรกของการรักษา แพทย์อาจจะนัดติดตามการรักษาถี่กว่านี้ และพิจารณาหยุดยาเหล่านี้เมื่อไม่มีข้อบ่งชี้หรือเมื่อมีผลข้างเคียงจากยา

ข.การรักษาโรคร่วม:

ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมมักมีโรคอื่นร่วมด้วย มีความจำเป็นที่ต้องรักษาควบคู่กันไป อาทิเช่น โรคซึมเศร้า, โรควิตกกังวล, โรคหัวใจ, เป็นต้น รวมทั้งรักษาภาวะหรือโรคที่ทำให้ผู้ป่วยสับสนมากขึ้น อาทิ ท้องผูก, ภาวะโลหิตจาง /โรคซีด, ความเจ็บ/ปวด, ปัสสาวะบ่อยจากปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะ, โดยกรณีโรคร่วมเหล่านี้แพทย์จะให้การรักษาเหมือนกับผู้ป่วยทั่วไป

ค.การส่งเสริมสุขภาพ:

ควรแนะนำให้

  • รับประทานอาหารที่มีสารอาหารเพียงพอกับความต้องการ (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่) หลีกเลี่ยงภาวะอ้วนหรือผอมเกินไป
  • ส่งเสริมให้มีการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ โดยเลือกกิจกรรมออกกำลังกายที่ผู้ป่วยชอบเพื่อคงความแข็งแรงทางกายภาพให้มากที่สุด และ
  • หลีก เลี่ยงการใช้ยาต่างๆมากเกินความจำเป็น

ง.การป้องกันความทุพลภาพ:

การป้องกันความทุพลภาพ เช่น

  • การรับวัคซีนที่เหมาะสมเหมือนผู้สูงอายุทั่วไป
  • ปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อม และแก้ไขภาวะที่ทำให้ผู้ป่วยหกล้ม
  • หากยังขับรถอยู่ต้องประเมินว่ามีความปลอดภัย หรือไม่

จ.การดูแลผู้ป่วยและผู้ดูแลผู้ป่วย (Carer) ในแง่สังคม:

ควรมีการพูดคุยถึงแนวทางการรักษาในอนาคต (Advance care directives) ในกรณีที่ผู้ ป่วยมีอาการทางกายภาพที่รุนแรง ควรให้ผู้ป่วยเป็นคนตัดสินใจในขณะที่ยังทำได้ หากไม่แน่ใจ ก็เป็นหน้าที่ของแพทย์และนักจิตวิทยาเฉพาะทางที่จะช่วยประเมิน และควรให้มีตัวแทนตัดสิน ใจในการรักษาและจัดการเรื่องมรดกทรัพย์สินตั้งแต่เนิ่นๆ

นอกจากนี้ต้องให้ความสำคัญกับผู้ดูแลผู้ป่วยโดยเปรียบเสมือนเป็นผู้ป่วยคนหนึ่ง ผู้ดูแลมักพบเกิดเป็นโรคซึมเศร้าและโรควิตกกังวลได้บ่อย แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์จะช่วยผู้ดูแลในการวางแผนการรักษาและตัดสินใจ โดยให้ข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการรักษาและการพยากรณ์โรค และอาจส่งผู้ดูแลไปเข้ากลุ่มที่ช่วยเหลือผู้ดูแลอาทิ ร่วมทำกิจกรรมกลุ่มเพื่อเล่าปัญหา หาแนวทางแก้ไขร่วมกัน บางแห่งมีสถานที่ชั่วคราวให้ผู้ป่วยไปพักชั่วคราวเพื่อให้ผู้ดูแลได้พักบ้าง คลายความเครียด นอกจากนี้ผู้ดูแลควรอธิบายให้สมาชิกอื่นในครอบครัวเข้าใจและให้ความช่วยเหลือด้วย

โรคสมองเสื่อมป้องกันได้หรือไม่?

ปัจจุบันยังไม่มียาใดที่รักษาการเกิดโรคสมองเสื่อมได้ โดยทั่วไปจึงเน้นการป้องกันการเกิดโรคสมองเสื่อมดังนี้

1. ควรตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ และป้องกันรักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดสมองเสื่อมเช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ให้ได้ดี อย่างต่อเนื่อง

2. ปรึกษาแพทย์ทุกครั้งหากต้องกินยาต่างๆ

3. ไม่สูบบุหรี่ ดื่มสุรา สารเสพติด

4. ควรให้ผู้สูงอายุได้รับข้อมูลข่าวสารต่างๆรวมถึงด้านโรคต่างๆสม่ำเสมอ ส่งเสริมให้ทำกิจกรรม เพื่อกระตุ้นสมองเช่น เล่นดนตรี เล่นเกม เต้นรำ

5. ให้ผู้สูงอายุรับประทานอาหารอย่างถูกต้อง (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่) ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน

6. ผู้สูงอายุควรพบปะญาติพี่น้องเพื่อนฝูง และเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆเป็นประจำ

7. กระตุ้นให้ผู้สูงอายุทำกิจกรรมที่ช่วยชะลอการเสื่อมของร่างกายเข่น เดินเล่น วิ่งเหยาะๆ ปั่นจักรยาน

ภาคผนวก IQCODE ฉบับสั้น

IQCODE (Informant Questionnaire on Cognitive Decline in the Elderly):

ขอให้ท่านนึกถึงสภาพของผู้สูงอายุเมื่อ 10 ปีก่อนเทียบกับปัจจุบัน คำถามต่อไปนี้จะถาม เกี่ยวกับการใช้ความจำและสติปัญญาการทำงานของผู้สูงอายุใน 10 ปีก่อนเทียบกับปัจจุบันว่าผู้สูงอายุ (ท่าน) สามารถใช้ความจำได้ “ดีขึ้น, เท่าเดิม หรือเลวลง”

ทั้งนี้ถ้าท่านผู้สูงอายุชอบลืมวางของทิ้งบ่อยๆมาตั้งแต่หนุ่มสาวแล้วและก็ยังลืมวางของทิ้งไว้บ่อยๆจนถึงปัจจุบันโดยที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่เลวร้ายลงก็ให้ถือว่า “เท่าเดิม” ให้สังเกตดูอาการต่างๆเหล่านี้ในปัจจุบันโดยเปรียบเทียบกับเมื่อ 10 ปีก่อน

ถ้าผลการประเมินพบว่า “แย่ลง (มากกว่า 3)” ผู้ถูกประเมินหรือผู้สูงอายุควรไปพบแพทย์ /ไปโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ได้ตรวจประเมินการวินิจฉัยโรคสมองเสื่อมที่แน่นอนตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะการรักษาดูแลแต่เนิ่นๆจะช่วยให้ได้ประสิทธิภาพการรักษาที่จะคงคุณภาพชีวิตของทั้งผู้ป่วยและของผู้ดูแล