สมองขาดเลือด (Cerebral ischemia)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?มีกี่ชนิด?

สมองขาดเลือด(Cerebral ischemia หรือ Brain ischemia) คือ โรคหรือภาวะที่ สมองได้รับเลือดไปเลี้ยงไม่เพียงพอโดยเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันจนส่งผลกระทบต่อการทำงานของเซลล์ต่างๆของสมอง ส่งผลต่อเนื่องให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆทางสมองอย่างเฉียบพลันจากสมองขาดเลือด/สมองขาดออกซิเจน เช่น กล้ามเนื้อแขน/ขาอ่อนแรง, พูดไม่ชัด, สับสน, ทั่วไปสาเหตุพบบ่อยที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอเฉียบพลันมักเกิดจากการอุดกั้น/อุดตันในหลอดเลือดเลี้ยงสมองจากลิ่มเลือด และ/หรือจากการตีบ/แคบ/ตีบตันหลอดเลือดสมองจากแผ่นไขมัน(พลาค/Plaque)ที่เกาะจับผนังหลอดเลือดฯ(โรคหลอดเลือดแดงแข็ง)

สมองขาดเลือด เป็นโรคกลุ่มหนึ่งของโรคหลอดเลือดสมอง (อัมพาต/ Stroke) เป็นโรคพบบ่อย องค์การอนามัยโรครายงานว่าในแต่ละปี ทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองประมาณ 15 ล้านคน ในการนี้เกิดจากสมองขาดเลือดประมาณ 85-90% โรคนี้เป็นโรคของผู้ใหญ่ พบสูงขึ้นเรื่อยๆเมื่ออายุมากขึ้นโดยเฉพาะผู้มีอายุตั้งแต่ 65ปีขึ้นไป พบในผู้ชายบ่อยกว่าในผู้หญิง

สมองขาดเลือดมี 2 ชนิด ได้แก่

  • ชนิดขาดเลือดจำกัดเฉพาะเนื้อสมองส่วนใดส่วนหนึ่ง (Focal cerebral ischemia): มักเกิดจากมีลิ่มเลือดและ/หรือหลอดเลือดสมองตีบเฉพาะบางหลอดเลือดที่เลี้ยงเนื้อสมองเฉพาะจุด
  • ชนิดขาดเลือดวงกว้างมากในหลายส่วนของเนื้อสมองซึ่งทั่วไปมักเกิดในเนื้อสมองทุกส่วน(Global cerebral ischemia)พร้อมกัน ที่สาเหตุมักเกิดจากภาวะหัวใจหยุดเต้นที่ส่งผลหยุดถึงการไหลเวียนเลือดโดยสิ้นเชิง

อนึ่ง:

  • ชื่ออื่นของสมองขาดเลือด เช่น Ischemic stroke

สมองขาดเลือดมีอาการอย่างไร?

สมองขาดเลือด

อาการของสมองขาดเลือด เป็นอาการเกิดขึ้นเฉียบพลัน โดยแบ่งเป็น อาการที่จะต่างกันในผู้ป่วยแต่ละรายขึ้นกับว่าสมองส่วนใดขาดเลือด, และอาการทั่วไปที่พบได้กับผู้ป่วยทุกราย

ก. อาการเฉียบพลันที่ขึ้นกับว่าสมองส่วนใดขาดเลือด:จะต่างกันในแต่ละผู้ป่วยขึ้นกับว่า มีสมองส่วนใดขาดเลือด เช่น

  • เมื่อสมองส่วนหน้าขาดเลือด อาการเช่น กล้ามเนื้ออ่อนแรง, มีปัญหาในการพูด, จำอะไรไม่ได้
  • อาการจากก้านสมองขาดเลือด เช่น หายใจลำบาก, มีปัญหาในการพูด, ตาพร่า, การได้ยินลดลง, แขนขาอ่อนแรง, ชาตามร่างกาย

ข. อาการทั่วไปที่เกิดขึ้นเฉียบพลันเช่นกัน: อาการที่ผู้ป่วยทุกรายจะมีอาการเหมือนกัน แต่ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ ที่พบบ่อยได้แก่

  • กล้ามเนื้ออ่อนแรงทันที มักเป็นที่ แขน ขา
  • ชาร่างกายซีกใดซีกหนึ่ง
  • ปากเบี้ยว, ใบหน้าเบี้ยว
  • พูดไม่ออก, พูดไม่ชัด
  • มีปัญหาในการมองเห็น เช่น ตาพร่า, เห็นภาพซ้อน
  • ตากระตุก
  • เดินเซ
  • วิงเวียนศีรษะ
  • มีปัญหาในการรู้สึกตัว และถ้ารุนแรงอาจหมดสติ

สมองขาดเลือดมีสาเหตุจากอะไร?

สมองขาดเลือด มีกลไกเกิดจากเกิดความผิดปกติของหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงสมองที่อาจเป็นหลอดเลือดในตัวสมองเอง และ/หรือ หลอดเลือดใหญ่ระดับลำคอที่มีสาขากระจายไปเลี้ยงสมอง ที่ส่งผลให้หลอดเลือดนั้นๆตีบแคบลงจนปริมาณเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลงจนไม่เพียงพอต่อการทำงานของเซลล์สมอง, หรือ เกิดการอุดกั้น/อุดตันจนเลือดผ่านไม่ได้, หรือเกิดจากการล้มเหลวของการไหลเวียนเลือดที่ทำให้ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง

ก. จากหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองตีบแคบลง: เช่น

  • โรคหลอดเลือดแดงแข็งจากโรคไขมันในเลือดสูง ส่งผลให้มีแผ่นไขมัน(พลาค/Plaque)จับเกาะที่ผนังหลอดเลือด ส่งผลให้ช่องในหลอดเลือดตีบแคบเล็กลง ซึ่งสาเหตุนี้พบบ่อย
  • มีพยาธิสภาพที่กดเบียดทับหลอดเลือด เช่น ก้อนเนื้องอก/มะเร็งสมอง, ก้อนเลือดในกรณีมีภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ สาเหตุนี้พบน้อย

ข. จากหลอดเลือดสมองอุดตัน: เป็นอีกสาเหตุที่พบบ่อย โดยเกิดจาก

  • โรคหลอดเลือดแดงแข็งฯส่งผลให้พลาคไขมันก่อให้เกิดการอักเสบของผนังหลอดเลือดส่งผลให้เกิดการรวมตัวของเกล็ดเลือดจนเกิดเป็นลิ่มเลือดที่อุดกั้น/อุดตันหลอดเลือดสมอง สาเหตุนี้พบบ่อย
  • เกิดก้อนเลือด/ลิ่มเลือด หรือ ฟองอากาศขนาดเล็ก หรือ สิ่งอื่นๆ(เช่น น้ำคร่ำ)ที่เรียกว่า ‘สิ่งหลุดอุดหลอดเลือด(Embolus/Emboli/เอมโบไล)’ ซึ่งเอมโบไลเหล่านี้จะหลุดเข้าหลอดเลือดจนไปอุดตันหลอดเลือดได้ เช่น
    • กรณีก้อนเอมโบไลเกิดจากก้อนเลือด จะพบบ่อยในกรณี โรคหัวใจและหลอดเลือดบางกลุ่ม เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ, โรคลิ้นหัวใจ
    • กรณีก้อนเอมโบไลเป็นฟองอากาศ ซึ่งพบได้น้อย เช่น การฉีดยา/สารต่างๆเข้าหลอดเลือดด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้องที่ส่งผลให้มีฟองอากาศปะปนเข้าสู่กระแสเลือด เช่น การฉีดยาเสพติด
    • กรณีภาวะน้ำคร่ำอุดหลอดเลือด ซึ่งพบน้อยมากๆ ที่เกิดจากชิ้นส่วนเล็กๆของน้ำคร่ำหลุดเข้ากระแสเลือดระหว่างการคลอดบุตร
    • ก้อนเชื้อโรคในกระแสเลือดในกรณีของภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดที่เรียกว่า Septic emboli
  • โรคบางโรคที่มีความผิดปกติของเม็ดเลือดแดงที่ทำให้เม็ดเลือดแดงรวมตัวกันเป็นก้อนลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดต่างๆได้ทั่วร่างกายรวมถึงหลอดเลือดสมอง เช่น โรคเม็ดเลือดแดงรูปเคียว ซึ่งสาเหตุนี้พบน้อยมากโดยเฉพาะในประเทศไทย

ค. การล้มเหลวในการไหลเวียนโลหิตที่ส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำรุนแรงเฉียบพลัน เช่น

  • การเสียเลือดรุนแรงกรณีอุบัติเหตุรุนแรง
  • ภาวะหัวใจหยุดเต้น
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรงที่ส่งผลให้ผนังหลอดเลือดต่างๆอักเสบรุนแรงจนเกิดผนังหลอดเลือดต่างๆแตกจึงเกิดเลือดออกรุนแรงในอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายพร้อมๆกัน

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดสมองขาดเลือด ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดสมองขาดเลือด คือ ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคหลอดเลือดสมอง(อัมพาต) ได้แก่

  • ไขมันในเลือดสูง
  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคหลอดเลือดแดงแข็ง
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • โรคเลือดชนิดที่มีความผิดปกติในปัจจัยการแข็งตัวของเลือด เช่น เม็ดเลือด/เกล็ดเลือดจับตัวรวมกันจนเกิดเป็นลิ่มเลือดได้ง่าย
  • โรคหัวใจแต่กำเนิด เช่น โรคลิ้นหัวใจ
  • เคยมีภาวะหัวใจล้มมาก่อน
  • โรคเบาหวาน
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • สูบบุหรี่จัด
  • ดื่มสุราจัด
  • ใช้ยาเสพติด
  • เคยมีอาการโรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาตมาก่อน
  • มีประวัติโรคหลอดเลือดสมอง/อัมพาตในครอบครัว
  • ผู้สูงอายุ

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

เมื่อมีอาการเฉียบพลันดังกล่าวใน’หัวข้ออาการฯ’และโดยเฉพาะเมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยงควรรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันทีเสมอ

แพทย์วินิจฉัยสมองขาดเลือดได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคสมองขาดเลือดได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการโรคประจำตัว ประวัติการรักษาพยาบาลที่ผ่านมา การใช้ยาต่างๆ ประวัติโรคในครอบครัวโดยเฉพาะโรคสมองขาดเลือด และปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวใน’หัวข้อปัจจัยเสี่ยง’
  • การตรวจร่างกายทั่วไป ที่รวมถึงการตรวจวัดสัญญาณชีพ
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
  • ตรวจเลือดโดยขึ้นกับ ปัจจัยเสี่ยงต่างๆ, อาการผู้ป่วย, และดุลพินิจของแพทย์ เช่น
    • ซีบีซี/CBC ดูภาวะซีด
    • ดูค่า เกล็ดเลือด และ ปัจจัยการแข็งตัวของเลือด
    • ดูค่าน้ำตาลในเลือด(โรคเบาหวาน)
    • ดูค่าไขมันในเลือด
  • ตรวจภาพสมองด้วย เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (ซีทีสแกน) และ/หรือ เอมอาร์ไอ
  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี ดูการทำงานของหัวใจ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • การตรวจเอคโคหัวใจดูการทำงานของหัวใจ โรคลิ้นหัวใจ การเกิดลิ่มเลือดในหัวใจ
  • บางครั้งอาจต้องตรวจลักษณะหลอดเลือดสมองด้วยเทคนิคการใส่สายสวนร่วมกับการฉีดสี/สารทึบแสงเข้าหลอดเลือด(เทคนิคทางรังสีร่วมรักษา)ที่เรียกว่า Cerebral angiogram

รักษาสมองขาดเลือดอย่างไร?

แนวทางการรักษาโรคสมองขาดเลือดมีเป้าหมายเพิ่มเลือดไปเลี้ยงสมองให้เพียงพอด้วยหลากหลายวิธีที่จำเป็นต้องใช้ร่วมกัน ได้แก่ การใช้ยาสลายลิ่มเลือด, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด, การทำหัตการทางแพทย์เพื่อแก้ไขการตีบตันและ/หรือการอุดตันหลอดเลือด, การรักษาสาเหตุ, และการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงต่างๆที่จะเป็นสาเหตุให้เกิดการตีบ/การอุดตันหลอดเลือดซึ่งรวมถึงหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ

ก. ใช้ยาต่างๆเพื่อต้านการเกิดลิ่มเลือดหรือสิ่งหลุดอุดหลอดเลือด/เอมโบไลจากหัวใจ เช่น ยาสลายลิ่มเลือด, ยาต้านการแข็งตัวของเลือด, ยาต้านเกล็ดเลือด ตามสาเหตุและดุลพินิจของแพทย์

ข. ทำหัตการทางการแพทย์ที่รวมถึงการผ่าตัดเพื่อให้เลือดสามารถผ่านหลอดเลือดไปเลี้ยงสมองได้อย่างพอเพียง เช่น

  • การผ่าตัดเพื่อกำจัดก้อนลิ่มเลือด(Embolectomy)กรณีลิ่มเลือดขนาดใหญ่จนใช้ยาสลายลิ่มเลือดไม่ได้ผล
  • ผ่าตัดเปลี่ยนทางเดินของหลอดเลือด(By pass)
  • ขยายหลอดเลือดด้วยบัลลูน(Balloon)โดยใส่สวนสายสวนเข้าหลอดเลือดสมองที่ตีบตัน ซึ่งอาจร่วมกับการใส่ท่อขยายหลอดเลือด(Stent)

ค. การรักษาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง เช่น

  • รักษาโรคความดันโลหิตสูง
  • รักษาควบคุมโรคเบาหวาน
  • รักษาควบคุมโรคไขมันในเลือดสูง
  • รักษาควบคุมโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน

ง. การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต: ซึ่งจะช่วยลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง/หลอดเลือดตีบ/หลอดเลือดอุดตันได้กับทุกหลอดเลือดทั่วร่างกายที่รวมถึงหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งที่สำคัญ เช่น

  • ปรับพฤติกรรมการบริโภคอาหาร เพื่อควบคุมน้ำหนักตัว น้ำตาล และไขมันในเลือด เช่น จำกัดอาหาร หวาน (แป้ง น้ำตาล คาร์โบไฮเดรต), ไขมัน, เค็ม, ปริมาณอาหารแต่ละมื้อที่มากเกินไป
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวัน ตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด
  • งด/เลิกบุหรี่, สุรา, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สมองขาดเลือดรุนแรงไหม?มีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

สมองขาดเลือดเป็นโรครุนแรง มีการพยากรณ์โรคไม่ดี มักมีอาการทางระบบประสาทคงเหลืออยู่เสมอตลอดชีวิตผู้ป่วยหลังได้รับการรักษา ซึ่งการรักษานี้รวมถึงการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตและการทำกายภาพฟื้นฟูที่ต้องทำตลอดชีวิตเพื่อคงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย

อนึ่ง: ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการพยากรณ์โรค ได้แก่

  • มีการขาดเลือดกับสมองส่วนใด และเป็นการขาดเลือดที่รุนแรงหรือไม่
  • มาโรงพยาบาลเร็ว หรือช้า
  • โรงพยาบาลนั้นๆมีศักยภาพอย่างไรในการรักษาอัมพาต/โรคหลอดเลือดสมอง

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยด้วยโรคสมองขาดเลือด ที่สำคัญ คือ

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาล นักกายภาพบำบัด
  • กินยา/ใช้ยาที่แพทย์สั่งให้ถูกต้อง ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
  • รักษาควบคุมโรคที่เป็นปัจจัยเสี่ยงให้ได้อย่างดี
  • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตดังได้กล่าวใน’หัวข้อการรักษาฯ’
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
  • ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการต่างๆแย่ลง
    • กลับมามีอาการเดิมก่อนการรักษา
    • มีผลข้างเคียงอย่างต่อเนื่องจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เลือดออกตามอวัยวะต่างๆ มีจ้ำห้อเลือดตามเนื้อตัว ปวดท้องมากต่อเนื่อง
    • กังวลในอาการ

ป้องกันสมองขาดเลือดได้อย่างไร?

การป้องกันโรคสมองขาดเลือด คือ

  • ป้องกัน/ควบคุม/รักษา ปัจจัยเสี่ยงให้ได้ดี ที่สำคัญ เช่น
    • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
    • โรคเบาหวาน
    • โรคไขมันในเลือดสูง
    • โรคความดันโลหิตสูง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ไม่ดื่มสุรา/ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ตรวจสุขภาพประจำปีกับแพทย์สม่ำเสมอทุกๆปี

*แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดโรคต่างๆที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่รวมถึงวิธีดูแลป้องกัน ได้จากเว็บ haamor.com

บรรณานุกรม

  1. https://www.columbianeurosurgery.org/conditions/cerebral-ischemia/ [2020,Sept5]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Brain_ischemia [2020,Sept5]
  3. https://emedicine.medscape.com/article/1916852-overview#showall [2020,Sept5]