โรคมือ เท้า ปาก (Hand-Foot-and-Mouth Disease)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร?

โรคมือ เท้า ปาก (Hand- Foot-and- Mouth disease ย่อว่า โรคเอชเอฟเอ็มดี/HFMD) คือ โรคติดเชื้อไวรัสที่เกือบทั้งหมดพบในเด็กเล็ก, เป็นโรคติดต่อได้ง่ายมากจากคนสู่คนโดยเฉพาะในหมู่เด็กเล็ก โดยติดต่อทางการใกล้ชิดคลุกคลี, การหายใจ ไอ จาม, และทางปาก, แต่ทั่วไปไม่ใช่โรครุนแรง, อาการหลัก คือ มีไข้ ร่วมกับมีตุ่มน้ำสีแดงที่ ช่องปาก มือ และ เท้า  ซึ่งเป็นที่มาของชื่อโรค

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่กุมารแพทย์และแพทย์ทั่วไปพบได้บ่อย  บางครั้งมีข่าวระบาดที่นั่นที่นี่อยู่เนืองๆ  พ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรต้องทราบ เรื่องโรค การป้องกัน ตลอดจนการดูแลรักษาเพื่อให้ลูกหลานปลอดภัย

โรคนี้พบได้ตลอดปีในแถบร้อนชื้น มักเป็นในเด็กเล็ก (นิยามคำว่าเด็ก) โดยเฉพาะอายุน้อยกว่า 5 ปี แต่พบในเด็กอายุมากกว่านี้ก็ได้ (พบน้อยมากในผู้ใหญ่),  และหากมีการเกิดโรคในสถานเลี้ยงเด็กหรือในโรงเรียนอนุบาล ก็จะพบผู้ป่วยจำนวนมากขึ้นเพราะโรคนี้ระบาดได้ง่ายหากการควบคุมป้องกันโรคไม่เข้มแข็ง

รายงานจากกระทรวงสาธารณสุขไทยข้อมูล ณ วันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2562  พบผู้ป่วยที่เป็นโรคมือ เท้า ปากทั้งประเทศคิดเป็นอัตราป่วย 14.33 รายต่อประชากร 1 แสนคน, อายุพบมากตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ 1,2,และ3ปี , ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต     

*หมายเหตุ: โรคเท้า ปากในสัตว์

  • โรคเท้า-ปาก ที่เกิดในสัตว์ (Foot-and-Mouth disease หรือ Hoof-and-Mouth disease) ‘เป็นคนละโรคกับโรคมือ เท้า ปากในคน’  
  • โดยโรคเท้า-ปากในสัตว์ เกิดจากเชื้อไวรัสเช่นกัน แต่คนละสายพันธุ์กับที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปากในคน
  • โรคเท้า-ปากในสัตว์ เกิดเฉพาะกับสัตว์กีบคู่ (เช่น วัว ควาย หมู แพะ และ แกะ), และมีวัคซีนฉีดป้องกันในสัตว์
  • * ทั่วไป ‘ไม่ติดต่อสู่คน’ ยกเว้นมีรายงานการติดเชื้อบ้างในคนที่สัมผัสคลุกคลีกับสัตว์ป่วยหรือที่ปฏิบัติงานในห้องทดลองเกี่ยวกับโรคในสัตว์นี้

อะไรเป็นสาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก?

 

โรคนี้ส่วนใหญ่เกิดจาก เชื้อไวรัสที่เรียกว่า ‘คอกแซคกีไวรัส เอ 16 (Coxsackievirus A16)’  แต่บางครั้งเมื่อเกิดการระบาด อาจเกิดจากเชื้อไวรัส ชื่อ เอ็นเทอโรไวรัส 71 (Enterovirus 71), คอกแซคกีไวรัส เอ 5, 7, 9, 10 หรือ คอกแซคกีไวรัส บี 2, 5 และอาจเกิดจากเชื้อไวรัส เอ็คโคไวรัส (Echovirus) ได้บ้าง

***** อนึ่ง เชื้อที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงรุนแรง 'ถึงตายได้ คือ เอ็นเทอโรไวรัส 71'

โรคมือ เท้า ปากติดต่อได้อย่างไร? มีระยะฟักตัวนานเท่าไร?

โรคมือ เท้า ปากติดต่อได้ 2 ทาง

  • ทางหนึ่งจากการกินอาหารที่ปนเปื้อนอุจจาระหรือน้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วย
  • อีกทางหนึ่งจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสที่กระจายมาจากผู้ป่วย เมื่อเชื้อเข้าสู่ร่างกายจะใช้เวลาประมาณ 3 - 6 วันผู้ป่วยจึงจะมีอาการ (ระยะฟักตัวของโรค)

โรคมือ เท้า ปากมีอาการอย่างไร?

ส่วนใหญ่เด็กที่เจ็บป่วยด้วยโรค มือ เท้า ปากจะมีอาการน้อย โดยอาจมีไข้ต่ำๆหรือไม่มีไข้ และมีตุ่มน้ำหรือตุ่มแดงๆที่มีการอักเสบกระจายทั่วไปบริเวณริมฝีปาก เหงือก เพดานปาก ลิ้น ด้าน หลังของคอหอย กระพุงแก้ม หรืออาจจะทำให้มีแผลตื้นๆบนเยื่อบุปากที่อักเสบ

มักพบมีผื่นหรือตุ่มน้ำบริเวณมือและเท้าซึ่งจะเจ็บ ส่วนใหญ่จะพบตุ่มน้ำบริเวณฝ่ามือ ฝ่าเท้าขนาดประมาณ 3 - 7 มิลลิเมตร (มม.) มักพบเป็นตุ่มน้ำรูปรีๆเหมือนลูกรักบี้ อาจพบตุ่มน้ำบริเวณหลังเท้าหรือบริเวณก้นได้ ซึ่งตุ่มน้ำเหล่านี้จะหายไปภายในระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์

สำหรับแพทย์หากเห็นตุ่มน้ำที่บริเวณริมฝีปาก ฝ่ามือ และฝ่าเท้าก็จะวินิจฉัยโรคมือ เท้า ปากได้ไม่ยาก

โรคมือ เท้า ปากที่เกิดจากเชื้อเอ็นเทอโรไวรัส 71 มักจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักกว่าที่เกิดจากเชื้อคอกแซคกีไวรัส เอ 16 โดยมักจะทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงทางระบบ ประสาท (มีการอักเสบของก้านสมอง เนื้อสมอง และไขสันหลัง ทำให้เกิดภาวะแขน-ขาอ่อนแรง/อัมพาต) ระบบหัวใจ และปอดได้สูง ทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างรวดเร็วจากภาวะปอดบวมน้ำ เลือด ออกในปอด และภาวะช็อก

อย่างไรก็ตาม  เชื้อคอกแซคกีไวรัส เอ 16 ก็อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนคือ กล้ามเนื้อหัว ใจอักเสบ เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ และภาวะช็อกได้ แต่พบได้น้อยกว่าจากเชื้อ เอนเทอโรไวรัส 71 มาก

เด็กที่เป็นโรคมือ เท้า ปากมักจะกินอาหารและนมได้น้อยลง เด็กเล็กๆจะมีน้ำลายยืดมาก กว่าปกติเพราะมักจะเจ็บปาก กลืนไม่ได้ หากแบมือและดูที่ฝ่าเท้าจะพบมีตุ่มแดงๆในช่วงแรก ซึ่งต่อมาจะโตขึ้นและเห็นเป็นตุ่มน้ำชัดเจน

แพทย์วินิจฉัยโรคมือ เท้า ปากอย่างไร?

ทั่วไปในทางคลินิก แพทย์จะวินิจฉัยโรคมือ เท้า ปากจากอาการและการตรวจร่างกายของผู้ป่วย

การตรวจหาเชื้อไวรัสฯ เช่น การเพาะเชื้อไวรัส หรือ การตรวจหาในระดับโมเลกุลเพื่อการวินิจฉัยเฉพาะเจาะจงอาจทำในกรณีที่มีการระบาดของเชื้อไวรัสเหล่านั้น ซึ่งในปัจจุบันเทคโนโลยีก้าว หน้ามากทำสะดวกและรวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม

ทั้งนี้ อาจต้องแยกจากโรคที่มีอาการคล้ายกัน เช่น

  • การติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดไข้ออกผื่น เช่น จากโรคไข้รูมาติก
  • การติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดผื่นตามผิวหนังและตุ่มน้ำในปากที่เรียกว่า 'เฮอร์แปงไจนา (Herpangina)' ซึ่งจะเห็นมีตุ่มน้ำบริเวณเพดานอ่อนหรือบริเวณคอหอย และ
  • ต้องแยกอาการแผลในปากจากเชื้อโรคเริม เฮอร์ปีย์ซิมเพล็กซ์ (Herpes simplex) ซึ่งทำให้เกิด ตุ่มน้ำและแผลที่เหงือกได้เช่นกัน

นอกจากนี้ หากมีอาการทางระบบประสาท เช่น สมองอักเสบ หรือ อาการทางหัวใจ เช่น กล้าม เนื้อหัวใจอักเสบ  ต้องแยกจากเชื้อที่ทำให้เกิดอาการเหล่านั้นด้วย ซึ่งหากอาการเหล่านั้นเกิดตามหลังการมีตุ่มน้ำในบริเวณที่กล่าวไปแล้วก็ทำให้แพทย์นึกถึงว่าเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคมือ เท้า ปาก มากขึ้น

รักษาโรคมือ เท้า ปากอย่างไร?

เนื่องจากโรคมือ เท้า ปากเกิดจากเชื้อไวรัส และส่วนมากอาการไม่รุนแรง การรักษาที่สำคัญ คือ การรักษาตามอาการ ยังไม่มียาต้านไวรัสเฉพาะที่รักษาโรคนี้

ในขณะนี้ อาจมีการรักษาโดยยาบางชนิดหรือสารที่ช่วยให้ภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยดีขึ้นในกรณีที่มีการติดเชื้อชนิดรุนแรง แต่การรักษายังอยู่ในวงจำกัดซึ่งต้องการหลักฐานจากการศึกษาทางการ แพทย์เพิ่มเติม เพื่อให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพและไม่เป็นอันตรายจากยาที่รักษา

เมื่อไรควรไปพบแพทย์

ควรนำเด็ก/ผู้ป่วยพบแพทย์ เมื่อ

  • เมื่อผู้ป่วยมีอาการไข้สูงซึ่งต้องหาสาเหตุของไข้ เพื่อได้รับการรักษาและได้รับคำแนะนำ ที่เหมาะสมถูกต้อง
  • เมื่อมีแผลที่ริมฝีปาก มือ เท้า, และ/หรือ ร่วมกับมีอาการกินไม่ได้, มีไข้สูง
  • มีอาการซึม หรือ หงุดหงิด ไม่สุขสบาย เหนื่อย หายใจเร็ว
  • มีอาการเขียวคล้ำที่ ตัว มือ เท้า หรือ ชัก ซึ่งแสดงว่ามีอาการหนักมาก

อนึ่ง: ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการมาก แพทย์จะรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล แต่ส่วนใหญ่ของผู้ป่วยอาการไม่มาก ไม่จำเป็นต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

ดูแลเด็กโรคมือ เท้า ปากที่บ้านอย่างไร?

เด็กที่เป็นโรคมือ เท้า ปากจะเจ็บปากมาก, กินอะไรไม่ค่อยได้, ผู้เขียนจะแนะนำให้พ่อแม่ผู้ปกครองให้ลูกกินน้ำเย็น  กินนมแช่เย็น หรือเอานมแช่แข็งให้ หรือไอศกรีม เด็กจะกินได้เพราะความเย็นทำให้ชาไม่เจ็บ

แรกๆพ่อแม่ผู้ปกครองมักกลัวว่ากินของเย็นแล้วไข้จะขึ้น แต่ที่จริงแม้ไม่กินของเย็นไข้ก็ขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นหากเด็กเจ็บปาก ลองให้ลูกกินน้ำเย็น นมเย็นดู เขาจะกินอย่างหิวกระหาย การที่เด็กกินได้ทำให้ไม่เพลียและฟื้นไข้ได้เร็ว

*หากมีไข้ให้เช็ดตัวและให้กินยาพาราเซตามอล (Paracetamol) ลดไข้

ป้องกันโรคมือ เท้า ปากอย่างไร? มีวัคซีนไหม?

เนื่องจากโรคมือ เท้า ปาก ติดต่อโดยการได้รับเชื้อไวรัสจากทางเดินอาหาร, น้ำมูก, น้ำลาย, และจากการ หายใจเอาเชื้อที่แพร่จากผู้ป่วยเข้าสู่ร่างกาย, และปัจจุบัน “ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคนี้” ดังนั้นการป้องกันที่สำคัญ คือ

  • ผู้เลี้ยงดูเด็กและตัวเด็กต้อง
    • ล้างมือให้สะอาด ทั้ง หน้ามือ, หลังมือ, ซอกนิ้วมือ, รอบนิ้วมือ, เล็บ, ข้อมือ, ทั้งสองข้าง รวมทั้ง
      • หลังขับถ่าย และ/หรือ
      • ก่อนปรุงอาหาร และ/หรือ
      • ก่อนรับประทานอาหาร  
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • อย่านำบุตรหลานเข้าไปในที่แออัดเมื่อมีการระบาดของโรค
  • เมื่อบุตรหลานมีอาการของโรคมือ เท้า ปาก ควรให้อยู่บ้าน, ไม่ควรพาไปสถานเลี้ยงเด็ก โรงเรียน หรือในที่ชุมชน เพราะจะนำโรคนี้ไปแพร่ให้เด็กอื่น
  • สถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลควรมีการสอบถามประวัติอาการเด็กที่หน้าโรงเรียนเกี่ยวกับ เรื่องไข้และตุ่มน้ำที่ปาก มือ และเท้าในช่วงที่มีการระบาดของโรค หากสงสัยโรคมือ เท้า ปาก ควร
    • ให้พ่อแม่ผู้ปกครองพาเด็กกลับบ้าน และ ไปพบแพทย์
    • อย่านำเด็กเข้าไปในสถานเลี้ยงเด็กหรือโรง เรียน
    • และควรให้ความรู้แก่ครูพี่เลี้ยง/พ่อแม่ผู้ปกครองเกี่ยวกับโรคและการป้องกันโรคให้ทราบโดยทั่วกัน
  • ในสถานเลี้ยงเด็กหรือโรงเรียนอนุบาลควร
    • เน้นบุคลากรและตัวเด็กในการดูแลตนเอง
    • ตลอดจนดูแลสิ่งของเครื่องใช้
    • ควรแยกข้าวของเครื่องใช้ของเด็กแต่ละคนอย่าให้ปะปนกัน เพราะของเล่นต่างๆอาจ ปนเปื้อน น้ำลาย, น้ำมูก, หรือสิ่งขับถ่ายของเด็ก
    • ควรหมั่นทำความสะอาดข้าวของเครื่องใช้เด็กด้วยสบู่หรือผงซักฟอก แล้วล้างน้ำให้สะอาด และนำไปผึ่งแดดให้แห้ง
  • การทำความสะอาดพื้นเพื่อฆ่าเชื้อโรค ควรทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกปกติก่อน แล้วตามด้วยน้ำยาฟอกขาวคลอรอกซ์หรือไฮเตอร์ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาทีแล้วเช็ดด้วยน้ำสะอาดเพื่อป้องกันสารเคมีตกค้าง
  • หากพบเด็กในห้องเรียนเดียวกันตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเป็นโรคมือ เท้า ปาก ควรต้องปิดห้องเรียน หรือ ปิดโรงเรียนเป็นเวลาอย่างน้อย 5 วัน

บรรณานุกรม

    1. Abzug MJ. Hand-Foot-and-Mouth Disease. Kliegman: Nelson Textbook of Pediatrics, 19th ed.
    2. https://ddc.moph.go.th/uploads/files/e4219b1ecaad8386ed433166d5f233cd.pdf   [2023,March18]
    3. https://en.wikipedia.org/wiki/Hand,_foot,_and_mouth_disease   [2023,March18]
    4. https://www.cdc.gov/hand-foot-mouth/index.html   [2023,March18]