โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส (Coronavirus infection)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส (Coronavirus infection) คือ โรคติดเชื้อไวรัสในกลุ่มโคโรนาไวรัส (Coronavirus ย่อว่า CoV/โควี) ซึ่งทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจอักเสบ หรือ ของกระเพาะอาหารและลำไส้/ระบบทางเดินอาหารอักเสบ

เชื้อโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในคนมี  7 สายพันธุ์ย่อยหลัก(แต่ละสายพันธ์ย่อยจะแตกเป็นสายพันธ์ย่อยๆได้อีกหลายๆสายพันธ์,   โดยเชื้อ 4 สายพันธุ์ย่อยหลักจะทำ ให้ผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อยและสามารถหายเป็นปกติเองได้,  ส่วนอีก 3 สายพันธุ์ย่อยหลักที่ทำให้เกิด โรคซาร์ส (SARS จากเชื้อชนิด SARS-CoV), โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (โรคเมอร์ส/โรค MERS จากเชื้อชนิด MERS-CoV) , และโควิด-19/COVID-19 (จากเชื้อชนิด  SARS-CoV-2) ซึ่งทั้ง 3 ชนิดเป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจรุนแรงที่มีโอกาสถึงตายได้สูง ซึ่งที่มีวัคซีนและมียาต้านไวรัสรักษาเฉพาะคือ โรคCOVID-19

การติดเชื้อโคโรนาไวรัสสามารถพบได้ทั่วโลก และพบได้ในทุกเพศทุกวัยตั้งแต่เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)ไปจนถึง ผู้สูงอายุ โดยความถี่ของการเกิดโรคพบมากในช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ร่วง

สำหรับโรคซาร์สซึ่งเกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสชนิดหนึ่งเช่นกัน เป็นโรคที่เกิดขึ้นเป็น ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2545 ที่ประเทศจีนและได้มีการระบาดไปเกือบ 30 ประเทศทั่วโลก พบผู้ป่วยประ มาณ 8,000 กว่าคน มีผู้เสียชีวิตประมาณ 800 คนจนกระทั่งปลายปี พ.ศ. 2546 สามารถควบคุมโรคซาร์สได้ในที่สุดทำให้ในปัจจุบันยังไม่พบมีการระบาดของโรคนี้อีก

ในปี พ.ศ. 2555 ได้พบโรคอุบัติใหม่ที่เกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่จาก ประเทศซาอุดิอาระเบียตรวจพบเมื่อเดือนมิถุนายน คือ โรคเมอร์ส และได้ระบาดไปหลายประเทศแต่การระบาดไม่รุนแรง

ล่าสุดในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 (ค.ศ.2019) ครั้งใหญ่สุดในเกือบทุกประเทศทั่วโลก คือ โรค COVID-19 ซึ่งยังคงระบาดอยู่จนถึงขณะนี้ (พฤษภาคม 2565)

โคโรนาไวรัสคือเชื้ออะไร?

โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัส-01

โคโรนาไวรัส  คือ เชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่อยู่ในวงศ์ Coronaviridae เมื่อใช้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนดูลักษณะของไวรัสที่อยูในวงศ์นี้จะพบส่วนที่มีลักษณะคล้ายไม้เทนนิสยื่นอยู่รอบตัวของไวรัสดูคล้ายๆภาพรัศมีของดวงอาทิตย์ (Solar corona) จึงตั้งชื่อเรียกไวรัสในวงศ์นี้ว่า ‘Coronaviridae’ นั่นเอง

เชื้อโคโรนาไวรัส ถูกค้นพบเมื่อปี พ.ศ. 2508 เชื้อถูกแบ่งออกเป็นหลายสายพันธุ์ย่อยตาม คุณสมบัติเฉพาะซึ่งปัจจุบันพบมากกว่า 10 สายพันธุ์ย่อย บางสายพันธุ์ย่อยทำให้เกิดโรคในสัตว์ซึ่งได้แก่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลายชนิดและนก, โดยเชื้อแต่ละสายพันธุ์ย่อยจะก่อให้เกิดโรคเฉพาะกับสัตว์ที่มีความใกล้เคียงกัน ซึ่งเชื้อที่ทำให้เกิดโรคในสัตว์ทั่วไปมักไม่ทำให้เกิดโรคในคน

สัตว์แต่ละชนิดที่ติดเชื้อฯจะมีอาการได้หลากหลาย เช่น ในวัวควายจะทำให้มีอาการท้องเสีย, ในแมวอาจทำให้เกิดเยื่อบุช่องท้องอักเสบซึ่งมีอัตราการตายสูง, ในหนูจะเกิดตับอักเสบหรือโรค Multiple sclerosis หรือย่อว่า โรค MS (โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง ย่อว่าโรคเอมเอส /MS), เป็นต้น

สำหรับเชื้อโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในคนเรียกว่า ‘Human coronaviruses’ มีอยู่ 7 สายพันธุ์ย่อยหลักดังได้กล่าวแล้วในตอนต้น

โคโรนาไวรัสติดต่อและก่อโรคอย่างไร?

การติดต่อของเชื้อโคโรนาไวรัสเกิดจากการหายใจเอาเชื้อไวรัสนี้ที่กระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย หรือการสัมผัสกับสิ่ง/สารคัดหลั่งเหล่านี้แล้วนำมาสัมผัสกับเยื่อบุจมูก ตา หรือปาก ซึ่งเรียกว่าเป็น Droplets transmission หรือการอยู่อาศัยและสัมผัสใกล้ชิด (Close person-to-person contact) ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ติดโรคได้ เช่น การกอด การจูบ การสัมผัสเนื้อตัว การทักทายโดยการจับมือ การกินอาหารโดยใช้ภาชนะร่วมกัน การดื่มน้ำ/เครื่องดื่มจากแก้ว/ขวดเดียวกัน เป็นต้น

นอกจากนี้สามารถตรวจพบเชื้อไวรัสจากอุจจาระในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการถ่ายอุจจาระเหลวได้  ดังนั้นการติดต่ออาจเกิดจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่ปนเปื้อนอุจจาระของผู้ป่วยได้ด้วย

เมื่อร่างกายติดเชื้อโคโรนาไวรัสแล้ว เชื้อจะทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนบน (ยกเว้นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคที่รุนแรงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินหายใจตอนล่าง/ปอดได้) ซึ่งส่วนใหญ่คืออาการของ โรคหวัดทั่วๆไป โดยเฉลี่ยแล้วผู้ที่ป่วยเป็นโรคหวัดมีสาเหตุมาจากเชื้อโคโรนาไวรัสประมาณ 10-30%,  

ในผู้ป่วยบางรายเชื้อโคโรนาไวรัสอาจทำให้เกิดอาการของกล่องเสียงอักเสบ และหลอดลมอักเสบได้ หากเป็นผู้สูงอายุ เด็กทารก ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง หรือผู้ที่มีโรคปอด และ โรคหัวใจและหลอดเลือด เรื้อรัง  เชื้ออาจทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง ได้แก่ หลอดลมฝอยอักเสบหรือ ปอดอักเสบ/ปอดบวมได้  นอกจากนี้แล้วเชื้ออาจทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบและลำไส้อักเสบร่วมด้วยได้

สำหรับเชื้อโคโรนาไวรัสที่ทำให้เกิดโรครุนแรงนั้นจะทำให้เกิดอาการของปอดอักเสบที่รุนแรงจนมีโอกาสเกิดภาวะหายใจล้มเหลวจนถึงตายได้

โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสมีอาการอย่างไร?

ระยะฟักตัวของโรค คือ ตั้งแต่รับเชื้อจนกระทั่งแสดงอาการจะประมาณ 2 - 4 วัน ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการเพียงเล็กน้อยไม่รุนแรง เช่น มีไข้ ไอ เจ็บคอ จาม คัดจมูก มีน้ำมูกไหล เชื้อบางสายพันธุ์อาจทำให้มีอาการท้องเสีย ถ่ายอุจจาระเหลวร่วมด้วยได้  อาการเหล่านี้จะเป็นอยู่เพียงไม่ กี่วันและสามารถหายไปได้เองในที่สุด

ในผู้สูงอายุ เด็กทารก ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง หรือ ผู้ที่มีโรคเรื้อรังของปอด และ หัวใจ เชื้ออาจทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้ เช่น ไข้สูง ไอมาก หายใจหอบเหนื่อย แต่มักจะไม่รุนแรงจนถึงขั้นเกิดภาวะหายใจล้มเหลว

สำหรับเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ที่รุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการของปอดอักเสบที่รุนแรง ซึ่งอาการ เช่น ไข้สูง หนาวสั่น ปวดหัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เบื่ออาหาร แล้วตามมาด้วยอาการไอแห้งๆ ไม่มีเสมหะ หอบเหนื่อย/หายใจลำบาก  ปอดอักเสบรุนแรง และอาจเกิดภาวะหายใจล้มเหลวจนกระทั่งถึงตายได้ในที่สุด

แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสอย่างไร?

โดยส่วนใหญ่แล้วผู้ป่วยจะสามารถให้การวินิจฉัยตนเองได้ว่าเป็นโรคหวัดและอาจไม่ได้มาพบแพทย์

สำหรับผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ แพทย์ก็จะดูจากอาการของผู้ป่วยและการตรวจร่างกาย และวินิจฉัยได้ว่าเป็นเพียงโรคหวัดเช่นเดียวกัน แต่เป็นไปไม่ได้ที่แพทย์จะบอกว่าผู้ป่วยกำลังติดเชื้อโคโรนาไวรัสอยู่ เนื่องจากโรคหวัดที่เกิดจากโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ย่อยต่างๆหรือจากเชื้อไวรัสชนิดอื่นๆก็ทำให้เกิดอาการที่แทบไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ก็ไม่มีความจำเป็นในการบอกชนิดเชื้อที่ทำให้เกิดโรคหวัดด้วยเนื่องจากการรักษาเหมือนกัน คือ เพียงแค่ประคับประคองตามอาการเท่านั้นเพราะยาปฏิชีวนะฆ่าได้เฉพาะเชื้อแบคทีเรีย ไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้

สำหรับผู้ที่มีอาการรุนแรงกว่าโรคหวัดก็มักจะมาพบแพทย์  แพทย์ก็อาศัยอาการผู้ป่วยและการตรวจร่างกายเพื่อวินิจฉัยในเบื้องต้นว่าผู้ป่วยน่าจะมีการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง หลังจากนั้นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อวินิจฉัยและหาสาเหตุของเชื้อโดยคร่าวๆ เนื่องจากเชื้อหลายชนิดทั้งแบคทีเรียและเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ สามารถเป็นสาเหตุของการติดเชื้อระบบทางเดินหายใจส่วนล่างได้และมักจะมีอาการคล้ายคลึงกัน

การตรวจต่างๆ เช่น  

  • ตรวจเลือดดูซีบีซี (CBC) อาจช่วยแยกระหว่างการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย
  • เอกซเรย์ปอดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยว่าเป็นปอดอักเสบหรือไม่ และลักษณะของภาพจากเอกซเรย์ปอดบางอย่างอาจช่วยแยกชนิด ของเชื้อได้
  • และ/หรือการนำเสมหะไปเพาะเชื้อซึ่งโดยทั่วไปก็จะเพาะหาเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย

หากการตรวจต่างๆบ่งว่าผู้ป่วยน่าจะติดเชื้อไวรัสมากกว่าแบคทีเรีย แพทย์ก็จะไม่พิจารณาให้ ยาปฏิชีวนะ (ยาปฏิชีวนะใช้รักษาเฉพาะการติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาการติดเชื้อไวรัสไม่ได้และไม่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสได้) แต่ให้การรักษาประคับประคองตามอาการ โดยในสถานการณ์ปกติแพทย์ก็จะไม่ได้ใช้การตรวจทางห้องปฏิบัติการเฉพาะเพื่อแยกว่าเป็นไวรัสชนิดใด

แต่ในกรณีพิเศษ เช่น กรณีการระบาดของ COVID-19 หรือกรณีที่ต้องการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเชื้อโคโรนาไวรัส เป็นต้น แพทย์ก็จะต้องอาศัยห้องปฏิบัติการพิเศษเพื่อตรวจหาว่าอาการเกิดจากเชื้อโคโรนาไวรัส หรือไม่  เช่น

  • การตรวจหาสารก่อภูมิต้านทานต่อไวรัสในเบื้องต้น เช่น จากสารคัดหลั่งในโพรงจมูก, โพรงคอหอย, จากน้ำลาย, เช่น กรณี COVID-19  ที่เรียกว่าการตรวจเอทีเค (ATK /Antigen test kit)
  • การตรวจเลือดหาแอนติบอดี/สารภูมิต้านทาน (Antibody) ต่อเชื้อไวรัสนี้
  • ตรวจเลือดหรือสารคัดหลั่งเพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อนี้ด้วยวิธีที่เรียกว่า PCR (Polymerase chain reaction)
  • หรือการเพาะเชื้อไวรัสนี้จากเลือดหรือจากสารคัดหลั่ง

โรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?

ความรุนแรง/การพยากรณ์โรคและภาวะแทรกซ้อน/ผลข้างเคียงจากการติดเชื้อโคโรนาไวรัส คือ

  • การติดเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธุ์ย่อยต่างๆยกเว้นสายพันธุ์ย่อยที่ทำให้เกิดโรครุนแรง จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการเพียงเล็กน้อยสามารถหายได้เองเป็นปกติโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อน
  • ในผู้สูงอายุ, เด็กทารก, ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง, หรือผู้ที่มีโรคเรื้อรังของปอดและ โรคหัวใจและหลอดเลือด, โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน, กลุ่มโรคเอนซีดี, สตรีตั้งครรภ์, อาจมีอาการค่อนข้างมากได้อันเนื่องจากเชื้อทำให้เกิดอาการของระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง จึงเกิดปอดอักเสบที่รุนแรงจนอาจถึงตายได้

มีแนวทางการรักษาโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสอย่างไร?

ปัจจุบัน ส่วนใหญ่สำหรับรักษาเชื้อโคโรนาไวรัสที่ไม่รุนแรง  จะเพียงแค่รักษาประคับประคองตามอาการแบบเป็นผู้ป่วยนอก  โดยการรับตัวไว้รักษาในโรงพยาบาล หรือการรักษาด้วยยาต้านไวรัสขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและสภาพร่างกายของผู้ป่วย

การรักษาประคับประคองตามอาการ/การรักษาตามอาการ  เช่น   

  • การให้ยาตามอาการ เช่น ยาลดไข้, ยาแก้ปวด, ยาแก้ไอ, ยาบรรเทาอาการเจ็บคอ, ยาลดน้ำมูก  
  • ดื่มน้ำให้มาก หากร่างกายผู้ป่วยมีภาวะขาดน้ำแพทย์จะให้สารน้ำและเกลือแร่ทางหลอดเลือด
  • การให้ออกซิเจนในผู้ป่วยที่หอบเหนื่อย
  • และการใส่เครื่องช่วยหายใจในผู้ที่เกิดภาวะหายใจล้มเหลว
  • และอาจมีการกักแยกตัวกรณีโรคเกิดจากสายพันธ์ที่รุนแรงหรือช่วงมีการระบาดของโรค

ดูแลตนเองและป้องกันโรคติดเชื้อโคโรนาไวรัสอย่างไร?

การดูแลตนเองและการป้องกันการติดเชื้อโคโรนาไวรัส จะเช่นเดียวกับการป้องกันการติดเชื้อไวรัสทั่วไป ใช้หลักการเดียวกันกับการป้องกันการติดเชื้อโรคต่างๆที่มากับระบบทางเดินหายใจที่สำคัญ เช่น

  • หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในที่แออัด ผู้คนหนาแน่น อากาศถ่ายเทไม่สะดวก เว้นระยะห่างระหว่างบุคคล อย่างน้อยตั้งแต่1เมตรขึ้นไป, ทั่วไปอย่างน้อย8;igxHo1.5เมตร
  • หากจำเป็นต้องเข้าไปควรสวมหน้ากากอนามัยป้องกันตนเองจากการสัมผัสกับละอองน้ำมูกน้ำลายจากผู้อื่น
  • ล้างมือบ่อยๆด้วยสบู่หรือน้ำยาล้างมือโดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหารหรือก่อนปรุงอาหาร
  • รักษาสุขภาพให้แข็งแรงโดยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินอาหารที่มีประโยชน์ห้า หมู่ให้ครบถ้วน พักผ่อนให้เพียงพอ เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาคือ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
  • ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงและไม่ได้เข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล: ควรแยกตัวจนกว่าจะหายสนิท ที่สำคัญ เช่น
    • ควรพักอยู่กับบ้าน และป้องกันการแพร่เชื้อสู่คนใกล้ชิดโดย
    • ใช้ผ้าปิดปากปิดจมูก (หน้ากากอนามัย)
    • ใช้ช้อนกลางกินอาหาร
    • แยกของใช้ส่วนตัว และ
    • ควรแยกห้องนอน 
  • ปัจจุบันมีวัคซีนป้องกันและมียาต้านไวรัสสำหรับ 'โรคโควิด-19'

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

โดยปกติผู้ที่มีอาการของโรคหวัดสามารถซื้อยารับประทานเองเพื่อบรรเทาอาการ (ปรึกษา เภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ) และพักผ่อนจนอาการหายได้เป็นปกติโดยที่ไม่จำเป็นต้องมาพบแพทย์ แต่หากอาการเป็นค่อนข้างมากซึ่งอาจเกิดจากมีการติดเชื้อของระบบทาง เดินหายใจตอนล่างได้แก่ มีไข้สูงร่วมกับไอมาก มีเสมหะมาก หายใจหอบเหนื่อย ต้องรีบมาโรง พยาบาลเสมอภายใน 24 ชั่วโมงหรือฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการโดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็กทารก ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Coronavirus  [2022,Aug27]
  2. https://www.paho.org/en/topics/coronavirus-infections  [2022,Aug27]
  3. http://virology-online.com/viruses/CORZA4.htm  [2022,Aug27]
  4. https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa1211721#t=article  [2022,aug27]