โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

การใช้ยารักษาโรคมะเร็งหรือโรคอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกัน (ระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรค หรือ ระบบภูมิต้านทาน หรือ ระบบภูมิคุ้มกัน)ของมนุษย์ที่ผ่านมานั้น ยังไม่ได้ผลการรักษาที่น่าพึงพอใจ อีกทั้งยาในบางกลุ่ม เช่น ยาเคมีบำบัด จะก่อให้เกิดผลข้างเคียงแก่ร่างกายผู้ป่วยสูง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นการใช้ยาที่เป็นพิษแก่เซลล์ปกติทุกชนิดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งด้วย เพราะยาในรุ่นเดิมๆเหล่านั้น ไม่มีความจำเพาะเจาะจง เซลล์ปกติบางส่วนของร่างกายจึงได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) ไปด้วย

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่ง คือ เป็นระบบที่มีความจำเพาะเจาะจงต่อสิ่งแปลกปลอมหรือแอนติเจน (Antigen/สารก่อภูมิต้านทาน) สามารถจดจำและเข้าทำลายสิ่งแปลกปลอมดังกล่าวได้อย่างแม่นยำ นักวิทยาศาสตร์จึงได้นำหลักการของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดังกล่าวมาพัฒนาเป็นยารักษาโรค

กลุ่มยา/ยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies)คือ ยาที่เป็น สารแอนตีบอดีหรือสารภูมิต้านทาน ทำหน้าที่ต่อต้านสิ่งแปลกปลอมของร่างกายอย่างจำเพาะเจาะจง  ตัวยาได้มาจากเซลล์ภูมิคุ้มกัน/เซลล์ภูมิต้านทานร่างกายที่นำมาผ่านกระบวนการโคลนนิ่ง (Cloning/สร้างให้เหมือน) ให้ได้เซลล์ภูมิคุ้มกันที่มีลักษณะเดียวกันจำนวนมากและมีความสามารถในการหลั่งสารแอนตีบอดีจำเพาะออกมา ยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดีแต่ละชนิดจะมีความจำเพาะเจาะจงต่อเซลล์เป้าหมายแตกต่างกันไปตามชนิดของยา ทำให้ลดผลข้างเคียงจากยากลุ่มนี้ลงได้ เนื่องจากยากลุ่มนี้ไม่ได้ออกฤทธิ์ต่อเซลล์ทุกชนิดในร่างกายเหมือนยาเคมีบำบัดในรุ่นเดิมๆ

ปัจจุบัน มีการพัฒนายาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดีมาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง และโรคที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันชนิดต่างๆ เช่น โรคภูมิต้านตัวเอง (โรคออโตอิมูน) โรคข้อรูมาตอยด์ โรคสะเก็ดเงิน เป็นต้น     

อย่างไรก็ดี ยาในกลุ่มนี้ส่วนมากยังเป็นยาใหม่ จึงมีราคาสูง และผลข้างเคียงของยาอาจยังไม่ชัดเจนในทุกแง่มุม  การใช้ยาในกลุ่มนี้จึงควรใช้ในความควบคุมของแพทย์เฉพาะทางอย่างเคร่งครัด

คำอธิบายเบื้องต้นในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์

ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดี เป็นยาที่ใช้หลักการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน/ระบบภูมิต้านทานของร่างกายในการรักษา ความเข้าใจในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการศึกษายาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดีต่อไป

ระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เป็นระบบหนึ่งของร่างกายที่ทำหน้าที่ในการปกป้องร่างกายจากการรุกรานของเชื้อโรคหรือจากสิ่งแปลกปลอมทั้งจากภายในและภายนอกร่างกาย การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความซับซ้อนอย่างยิ่ง โดยเป็นการทำงานร่วมกันของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดต่างๆ

โดยปกติ ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมีความสามารถในการจดจำและการจำแนกระหว่างเซลล์ของร่างกายมนุษย์กับสิ่งแปลกปลอม สิ่งแปลกปลอมมีชื่อเรียกว่า “แอนติเจน” (Antigen, สารก่อภูมิต้านทาน) ซึ่งอาจเป็นเชื้อโรคชนิดต่างๆทั้งเชื้อไวรัส เชื้อรา แบคทีเรีย หรือโปรโตซัว รวมไปถึง เซลล์มะเร็ง และ/หรือสารเคมีชนิดต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย โดยทั่วไป เมื่อแอนติเจนเหล่านี้เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันจะได้รับการกระตุ้นและนำไปสู่การทำลายสิ่งแปลกปลอมเหล่านั้น โดยวิธีส่วนใหญ่ที่ระบบภูมิคุ้มกันใช้คือ การกลืนกินสิ่งแปลกปลอม(Phagocytosis)

ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก คือ

  • ระบบภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด (Innate Immunity):เป็นระบบภูมิคุ้มกันที่ทำงานทั่วไป ไม่จำเพาะเจาะจงต่อชนิดแอนติเจน เช่น ระบบภูมิคุ้มกันทางกายภายนอก อย่าง เช่น ผิวหนัง   เนื้อเยื่อเมือก   และมีเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่แบบไม่จำเพาะเจาะจงในการทำลายสิ่งแปลกปลอม   
  • ระบบภูมิคุ้มกันแบบรับมา (Adaptive Immunity): ที่เป็นระบบภูมิคุ้มกันซึ่งมีการทำงานที่เจาะจงกับแอนติเจนเป็นชนิดๆไป โดยระบบนี้แบ่งเป็น 2 ชนิดย่อยๆ ได้แก่
    • Active immunity:คือ ‘ร่างกายเราสร้างสารภูมิต้านทานขึ้นมาเอง’เมื่อได้รับสารก่อภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนต่างๆ โดยภูมิคุ้มกัน/ภูมิต้านทาน/สารภูมิต้านทานชนิดนี้มักอยู่ได้นานหลายเดือนขึ้นไป
    • Passive immunity: ‘ร่างกายเราได้รับสารภูมิต้านทานของผู้อื่น’ ไม่ได้สร้างเอง เช่น ทารกแรกเกิดที่ได้รับสารภูมิต้านทานจากของมารดาผ่านทางน้ำนมแม่ ซึ่งสารภูมิต้านทานนี้จะอยู่ในร่างกายเพียงระยะเวลาสั้นๆยกเว้นการได้รับต่อเนื่อง

โดยทั่วไป เมื่อมีเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม (แอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทาน) เข้าสู่ร่างกาย ระบบภูมิคุ้มกันแบบที่มีมาแต่กำเนิดจะทำหน้าที่ในการทำลายก่อน หากทำงานไม่สำเร็จ ร่างกายจะสร้าง’ภูมิคุ้มกันแบบรับมา’ขึ้นเพื่อทำลายแอนติเจนนั้นๆ โดยเฉพาะเมื่อทำลายสำเร็จแล้ว ระบบภูมิคุ้มกันแบบรับมาจะจดจำแอนติเจนนั้นๆไว้  หากมีการรุกรานในอนาคต ระบบภูมิคุ้มกันแบบรับมา ก็จะสามารถตอบสนองทำลายแอนติเจนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งระบบภูมิคุ้มกันแบบรับมา ถูกกำหนดโดยเซลล์เม็ดเลือดขาว 2 ชนิดคือ ชนิด “ทีลิมโฟไซต์ (T lymphocyte)” และชนิด “บีลิมโฟไซต์ (B lymphocyte)”

การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันโดยเซลล์เม็ดเลือดขาว

  • ชนิด “ทีลิมโฟไซต์” เป็นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันแบบ“พึ่งเซลล์ (Cell-mediated Immunity)” โดยจะสร้างตัวรับ(Receptor) แบบจำเพาะแอนติเจนบนเยื่อหุ้มเซลล์ และเข้าทำลายแอนติเจนเมื่อได้รับการกระตุ้น
  • *ส่วนชนิด”บีลิมโฟไซต์”เป็นการทำงานแบบพึ่งแอนติบอดดี(สารภูมิต้านทาน/Antibody)หรือการป้องกันร่างกายผ่านการสร้างสารแอนติบอดีหรือสารภูมิต้านทาน  ซึ่งเมื่อมีสิ่งแปลกปลอมภายนอกเข้ามาและทำปฏิกิริยากับ“บี ลิมโฟไซต์” จะก่อเกิดการสร้างสารภูมิต้านทานหรือแอนตีบอดีขิ้นมา หลังจากนั้นเซลล์ “บี ลิมโฟไซต์”จะแบ่งเซลล์ให้เกิดเซลล์ลูก (Daughter cells) ซึ่งมีคุณสมบัติในการสร้างสารภูมิต้านทานได้เหมือนเซลล์แม่  โดยเรียกสารภูมิต้านทานที่สร้างขึ้นมาจากเซลล์ลูกว่า “*โมโนโคลนอลแอนตีบอดี (Monoclonal Antibodies)  หรือ  สารภูมิต้านทานเฉพาะที่สร้างจากเซลล์ลูกแต่มีคุณสมบัติเหมือนเซลล์แม่” ซึ่งมีการนำวิธีการดังกล่าวมาใช้ในการวิจัยและพัฒนาเป็นยาต่างๆที่มีคุณสมบัติเฉพาะเจาะจงต่อตัวรับอีกด้วย

กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดีมีสรรพคุณรักษาโรคอะไร?

ปัจจุบันได้มีการนำเทคโนโลยีโมโนโคลนอลแอนตีบอดีมาใช้ในการพัฒนาเป็นยาเพื่อรักษาโรคต่างๆ โดยมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้และตัวอย่างชื่อยาดังต่อไปนี้ เช่น

ก. ใช้รักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin’s lymphoma) เช่น   ยาเบรนทูซิแมบ (Brentuximab)

ข. ใช้รักษาโรคมะเร็งเต้านม (Breast Cancer) เช่น ยาทราทูซูแมบ (Trastuzumab)

ค. ใช้รักษาโรคหัวใจและหลอดเลือด(Cardiovascular disease)  เช่น ยาแอบซิซิแมบ (Abciximab)

ง. ใช้รักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเรื้อรัง (Chronic lymphocytic leukemia) เช่น  ยาอะเล็มทูซูแมบ (Alemtuzuab) และยาโอฟาทูมูแมบ (Ofatumumab)

จ. ใช้รักษาโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่(Colorectal Cancer) เช่น  ยาพานิทูมูแมบ (Panitumumab)  ยาบีวาซิซูแมบ (Bevacizumab)  ยาซิทูซีแมบ (Cetuximab)

ฉ. ใช้รักษามะเร็งศีรษะและลำคอ(Head and neck cancer)  เช่น  ยาซิทูซีแมบ  

ช. ใช้รักษาโรคจอประสาทตาเสื่อม(อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง โรคของจอตา) เช่น  ยารานิบิซูแมบ (Ranibizumab)

ซ. ใช้รักษาโรคหืดที่มีสาเหตุจากการแพ้  เช่น ยาโอมาลิซูแมบ (Omalizumab)

ฌ. ใช้รักษาโรคมะเร็งไฝ เช่น ยาอิพิลิมูแมบ (Ipilimmab) ยาเพมโบรลิซูแมบ (Pembrolizumab) ยานิโวลูแมบ (Nivolumab)

ญ. ใช้รักษามะเร็งมัลติเพิลมัยอีโลมา(Multiple Myeloma) เช่น ยาดาราทูมูแมบ (Daratumumab)

ฎ. ใช้รักษาโรคโครห์น (Chron’s Disease)  เช่น ยานาทาลิซูแมบ (Natalizumab)

ฎ. ใช้รักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กินส์ (Non-Hodgkin lymphoma)  เช่น  ยาริทูซิแมบ(Rituximab)  ยาโทซูทูโมแมบ (Tositumomab) ยาไอบริทูโมแมบ (Ibritumomab)

ฐ.ใช้รักษาโรค Paroxysmal nocturnal hemoglobinuria (PNH) ซึ่งเป็นโรคเกี่ยวกับการแตกของเม็ดเลือดแดงในหลอดเลือดโดยมีสาเหตุมาจากเซลล์ต้นกำเนิด (Stem Cell) ได้แก่ ยาอีซูลิซูแมบ (Eculizamab)

ฑ. ใช้รักษาโรคกระดูกพรุนในวัยหมดประจำเดือน  เช่น  ยาดีโนซูแมบ (Denosumab)

ฒ. ใช้รักษาโรคสะเก็ดเงิน  เช่น  ยาอีฟาลิซูแมบ (Efalizumab) และยาอัสเตคิเนียม (Ustekinumab)

ด. ใช้รักษาโรคข้อรูมาตอยด์  เช่น ยาโทซิลิซูแมบ (Tocilizumab) และยาโกลิมูแมบ (Golimumab)

ต. ใช้รักษาโรคภูมิต้านตนเอง /โรคออโตอิมมูนระยะรุนแรง(Several Auto-immune disorders)  เช่น ยาอะดาลิมูแมบ (Adalimumab) และยาอินฟิซิแมบ (Infliximab)

ถ. ใช้รักษาปฏิกิริยาร่างกายต่อต้านอวัยวะใหม่(Transplant Rejection)  เช่น ยาบาซิลิซิแมบ (Basiliximab) ยาดาซิซูแมบ (Daclizumab) และยามูโรโมแนบ (Muromonab)

กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดีมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดี มีความสัมพันธ์กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยพบว่า ยาในกลุ่มนี้มีกลไกการออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันไปขึ้นกับแต่ละชนิดของตัวยาย่อย  ยาบางชนิดอาจมีกลไกการออกฤทธิ์มากกว่าหนึ่งกลไก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเซลล์เป้าหมายในการออกฤทธิ์ อันประกอบด้วย

  • วิธี Neutralization: เป็นการนำแอนตีบอดีหรือตัวยาไปยับยั้งการทำงานของเซลล์หรือของโมเลกุลเป้าหมาย/เซลล์แปลกปลอม โดยจะไปเกาะกับตัวรับบนผิวเซลล์แปลกปลอม เมื่อเซลล์แปลกปลอมจะแบ่งตัว (เช่น เซลล์มะเร็ง)ก็จะไม่สามารถทำได้  เนื่องจากมีแอนตีบอดี/ยานี้ไปขัดขวางไว้อยู่   เซลล์แปลกปลอมจึงหยุดการแบ่งตัว และนำไปสู่การตายของเซลล์แปลกปลอมนั้นๆตามมา
  • วิธี Antibody-dependent cell-mediated cytotoxicity (ADCC): ยานี้หรือแอนตีบอดี จะเข้าจับกับแอนติเจนหรือสิ่งแปลกปลอมบนผิวของเซลล์เป้าหมาย/เซลล์แปลกปลอม (เช่นเซลล์มะเร็ง) และเหนี่ยวนำให้เซลล์ภูมิคุ้มของร่างกาย อาทิเช่น เซลล์ Natural Killer Cells ซึ่งเป็นเซลล์ภูมิคุ้มกันที่มีมาแต่กำเนิด เข้ามาทำลายเซลล์เป้าหมายนั้นๆ
  • วิธี Complement-dependent Cytotoxic (CDC): เป็นการใช้ Complement System ซึ่งเป็นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีมาแต่กำเนิดในการสนับสนุนการทำงานของแอนติบอดี/ของยานี้ โดยสารโปรตีนในระบบ Complement จะเข้าจับกับแอนตีบอดี/ยานี้ และจับกับเซลล์เป้าหมาย/เซลล์แปลกปลอม  และกระตุ้นให้เกิดการทำลายเยื่อหุ้มเซลล์ของเซลล์เป้าหมาย
  • วิธี Drug delivery carrier: เป็นวิธีที่ใช้แอนติบอดีในการนำส่งยานี้ไปสู่เซลล์เป้าหมาย/เซลล์แปลกปลอมได้อย่างแม่นยำและลดผลข้างเคียงต่อเซลล์ปกติ เช่น ใช้นำส่งยานี้ในรูปกัมมันตรังสี(ที่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ทุกชนิดสูง/Cytotoxic Drug ทั้งต่อเซลล์แปลกปลอมและเซลล์ปกติ)จึงส่งผลให้เฉพาะเซลล์แปลกปลอมได้รับกัมมันตรังสี

กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดีมีรูปแบบเภสัชภัณฑ์หรือชนิดยาอะไรบ้าง?

ยาในกลุ่มโมโนโลนอลแอนตีบอดี ในปัจจุบัน เป็นยาในรูปแบบ “ฉีด” โดยตัวเภสัชภัณฑ์มีหลายประเภท เช่น

  • ทั้งยาน้ำพร้อมฉีด (Sterile Solution for Injection)
  • ยารูปแบบที่บรรจุในเข็มฉีดยาพร้อมใช้งาน (Pre-filled syringe)
  • ยาผงพร้อมผสมเพื่อใช้เป็นยาฉีด (Sterile Powder/Lyophilized powder for Injection)
  • ยาน้ำเพื่อหยดเข้าหลอดเลือดดำ (Sterile Solution for Infusion)

ยาชื่อสามัญ

ยาชื่อการค้า

รูปแบบเภสัชภัณฑ์

แอบซิซิแมบ (Abciximab)

โคลติแนบ (Clotinab)

ยาน้ำปราศจากเชื้อชนิดฉีด ขนาดความแรง 2 มิลลิกรัมต่อขวด

อะดาลิมูแมบ (Adalimumab)

ฮูมิรา (Humira)

ยาน้ำปราศจากเชื้อชนิดฉีด ขนาดความแรง 40 มิลลิกรัมต่อ 0.8 มิลลิลิตร

บาซิลิซิแมบ (Basiliximab)

ซิมูเลกต์ (Simulect)

ยาผงปราศจากเชื้อเพื่อผสมเป็นยาฉีด ขนาดความแรงบรรจุภัณฑ์ละ 20 มิลลิกรัม

บีลิมูแมบ (Belimumab)

เบนลิสตา (Benlysta)

ยาผงปราศจากเชื้อเพื่อผสมเป็นยาฉีด ขนาดความแรงบรรจุภัณฑ์ละ 120 มิลลิกรัม

บีวาซิซูแมบ (Bevacizumab)

 อวาสติน (Avastin)

ยาน้ำปราศจากเชื้อชนิดสำหรับฉีด ขนาดความแรง 25 มิลลิกรัมต่อบรรจุภัณฑ์

คานาคินูแมบ (Canakimumab)

อิลาริส (Ilatis)

ยาผงปราศจากเชื้อพร้อมผสมเพื่อใช้ฉีด ขนาดความแรง 150 มิลลิกรัมต่อบรรจุภัณฑ์

ซิทูซิแมบ (Cetuximab)

เออร์บิทักซ์ (Erbitux)

ยาน้ำปราศจากเชื้อชนิดฉีด ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัมต่อมมิลลิตร

ดีโนซูแมบ (Denosumab)

โพรเลีย (Prolia)

ยาน้ำสำหรับฉีด ขนาดความแรง 60 มิลลิกรัมต่อหนึ่งขวดบรรจจุภัณฑ์

เอกซ์จีว่า (Xgeva)

ยาน้ำสำหรับฉีดขนาดความแรง 120 มิลลิกรัมต่อหนึ่งขวดบรรจุภัณฑ์

โกลิมูแมบ (Golimumab)

ซิมโพนิ (Simponi)

ยาน้ำปราศจากเชื้อสำหรับฉีด ขนาดความแรง 50 มิลลิกรัมต่อหนึ่งขวดบรรจุภัณฑ์

อิบริทูโมแมบ (Ibritimomab)

ซีวาลิน (Zavalin)

ยาน้ำปราศจากเชื้อ ขนาดความแรง 3.2 มิลลิกรัมต่อ 2 มิลลิลิตร

อินฟลิซิแมบ (Infliximab)

เรมิเคด (Remicade)

ยาผงปราศจากเชื้อพร้อมผสมเพื่อเป็นยาฉีด ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัมต่อบหนึ่งขวดบรรจุภัณฑ์

เร็มซิมา (Remsima)

ยาผงปราศจากเชื้อพร้อมผสมเพื่อเป็นใช้หยดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัมต่อบหนึ่งขวดบรรจุภัณฑ์

อิพิลิมูแมบ (Ipilimumab)

เยอร์วอย (Yervoy)

ยาน้ำปราศจากเชื้อสำหรับฉีด ขนาดความแรง 5 มิลลิกรัมต่อ 1 มิลลิลิตร

นาทาลิซูแมบ (Natalizumab)

ไทซาบรี (Tysabri)

ยาน้ำปราศจากเชื้อเชื้อชนิดเข้มข้น พร้อมผสมเพื่อเป็นยาหยดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดความแรง 20 มิลลิกรัมต่อหนึ่งขวดบรรจุภัณฑ์

โอมาลิซูแมบ (Omalizumab)

โซเลีย (Zolair)

ยาผงปราศจากเชื้อ พร้อมผสมเพื่อเป็นยาฉีด ขนาดความแรง 150 มิลลิกรัมต่อบรรจุภัณฑ์

โอฟาทูมูแมบ (Ofatumumab)

อาร์เซอร์รา (Arzerra)

ยาน้ำปราศจากเชื้อชนิดฉีด ขนาดความแรง 20 มิลลิกรัมต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์

พานิทูมูแมบ (Panitumumab)

เวคทิบิกซ์ (Vectibix)

ยาน้ำเข้มข้นปราศจากเชื้อพร้อมผสมเพื่อเป็นยาหยดเข้าหลอดเลือดำ ขนาดความแรง 100 มิลลิกรัมต่อหนึ่งบรรจุภัณฑ์

ริทูซิแมบ (Rituximab)

ริสโทวา (Ristova)

ยาน้ำปราศจาดเชื้อขนาดความแรง 10 มิลลิกรัมต่อ 1 มิลลิลตร

โทซิลิซูแมบ (Tocilizumab)

แอกเทมรา (Actemra)

ยาน้ำปราศจากเชื้อชนิดเข้มข้น พร้อมเจือจางเพื่อใช้เป็นยาหยดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดความแรง 80 มิลลิกรัมต่อบรรจุภัณฑ์

ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab)

เฮอร์เซ็พติน (Herceptin)

ยาผงปราศจากเชื้อกเชื้อชนิดเข้มข้น พร้อมเจือจางเพื่อใช้เป็นยาหยดเข้าหลอดเลือดดำ ขนาดความแรง 440 มิลลิกรัมต่อ20 มิลลิลิตร

อัสทีคินูแมบ (Ustekinumab)

สเตลาร่า (Stelara)

ยาน้ำปราศจากเชื้อชนิดฉีด ขนาดความแรง 45 และ 90 มิลลิกรัมต่อบรรจุภัณฑ์

 

กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดีมีขนาดการใช้ยาอย่างไร?

ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดีมีขนาดการใช้ยาขึ้นกับข้อบ่งใช้ของยาแต่ละชนิดย่อย, ชนิดโรคของผู้ป่วย, และลักษณะทางกายภาพของผู้ป่วย เช่น น้ำหนักตัว   การทำงานของตับและของไต, รวมถึงโรคร่วมอื่นที่กำลังเป็นร่วมอยู่, ซึ่งแพทย์ผู้รักษา จะพิจารณาการใช้ขนาดยาต่อผู้ป่วยเฉพาะรายไป

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดี ควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร ดังนี้ เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร  และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยา ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่าย และยาที่ซื้อทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร โดยเฉพาะยาที่มีฤทธิ์ในการกดภูมิต้านทาน/ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressants) หรือกำลังใช้ยาเพื่อรักษาการติดเชื้อ และอาการอักเสบ
  • ประวัติโรคประจำตัวที่เคยเป็น หรือที่เป็นอยู่ เช่น โรคหัวใจ  โรคตับ  โรคไต
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร ทราบ หากมีการติดเชื้อ หรือ การอักเสบในบริเวณต่างๆของร่างกาย ก่อนและระหว่างการใช้ยาต่างๆรวมยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดี ทั้งนี้ รวมไปถึงแผลเล็กๆ หรืออาการติดเชื้อที่ไม่ได้มีความรุนแรง อย่างเช่น โรคเริมที่บริเวณริมฝีปากด้วย
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล หรือทันตแพทย์ ทราบว่ากำลังใช้ยานี้หากจำเป็นต้องดำเนินการผ่าตัดต่างๆ
  • แจ้งให้ แพทย์ พยาบาล ทราบว่ากำลังใช้ยานี้ หากมีความจำเป็นต้องรับวัคซีนชนิดต่างๆ

หากลืมเข้ารับการบริหารยาควรทำอย่างไร?

หากลืมบริหารยา/ใช้ยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดี:

  • หากเป็นยาที่ต้องเข้ารับจากสถานพยาบาล ให้ติดต่อสถานพยาบาลที่ทำการรักษาอยู่โดยเร็วที่สุดเพื่อนัดหมายการรับการบริหารยาต่อไป
  • หากเป็นยาที่ใช้การบริหารเองที่บ้าน ควรปรึกษา แพทย์ พยาบาล หรือเภสัชกร ทันทีที่นึกขึ้นได้

กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดีมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดีมีผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา) เช่น

  • ผลข้างเคียง ณ ตำแหน่งที่ฉีดยา: เช่น เจ็บปวด บวมแดง บริเวณที่ฉีด    
  • ผลข้างเคียงอื่นที่อาจพบได้สำหรับยาในทุกรูปแบบเภสัชภัณฑ์จากยากลุ่มนี้ เช่น ปวดเมื่อยเนื้อตัว อ่อนเพลีย

*อนึ่ง หากเกิดการแพ้ยานี้  เช่น มีผื่นคันขึ้นตามตัว ใบหน้าบวม ริมฝีปาก เปลือกตา/หนังตาบวม  หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย ภายหลังการรับยานี้ ให้หยุดยานี้ทันที แล้วรีบเข้าพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยาในกลุ่มนี้ เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยานี้ ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมาก มีพบว่าเกิดอาการไม่พึงประสงค์ชนิดรุนแรง  ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้างเคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้น และรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/รีบไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน หากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดีอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดี เช่น

  • ไม่ใช้ยากับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ในผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือการใช้ต้องอยู่ภายใต้วิจารณญาณของแพทย์ผู้ทำการรักษา
  • ผู้ป่วยควรแจ้งประวัติโรคต่างๆที่เป็นอยู่ให้แพทย์ทราบ โดยเฉพาะประวัติการเกิดโรคติดเชื้อ หากเกิดอาการเหมือนอาการติดเชื้อ เช่น มีไข้  ปวดเมื่อยตามตัว  น้ำหนักลด  ร่วมกับมีเหงื่อออก  หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย  ควรแจ้งให้ แพทย์ พยาบาล ทราบ โดยทันที/ฉุกเฉิน
  • ควรระมัดระวังการใช้ในผู้ป่วยที่เคยมีประวัติโรคไวรัสตับอักเสบชนิดต่างๆ
  • ควรหลีกเลี่ยงการรับวัคซีนต่างๆระหว่างการใช้ยานี้ หากมีความจำเป็นต้องรับวัคซีน ควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยาในกลุ่มนี้อยู่
  • ระมัดระวังการใช้ยาในกลุ่มผู้ป่วยผู้สูงอายุโดยเฉพาะอายุมากกว่า 65 ปีและเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)
  • ปรึกษาแพทย์ และ/หรือเภสัชกร ถึงข้อควรระวังการใช้ยานี้ในประเด็นอื่นๆที่จำเพาะกับยาย่อยแต่ละชนิดโรค
  • หากใช้ยานี้ไปแล้วพบว่าเกิดอาการเจ็บป่วยบ่อยครั้ง เช่น มีไข้   หนาวสั่น  เจ็บคอ ควรรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ที่ทำการรักษาทราบ

กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดีมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดี โดยทั่วไปอาจมีปฏิกิริยาระหว่างยากับ

  • ยาในกลุ่มเดียวกัน หรือ
  • กับยาที่มีฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกัน

*อย่างไรก็ดี ควรปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกรถึงยาต่างๆที่ท่านใช้ รวมไปถึงวิตามิน  สมุนไพร และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เพื่อค้นหาปฏิกิริยาระหว่างยาที่อาจเกิดขึ้นได้

ควรเก็บรักษากลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดีอย่างไร?

ยาแต่ละชนิดในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนตีบอดี มีวิธีการเก็บรักษาที่แตกต่างกัน ควรติดต่อฝ่ายเภสัชกรรมของสถานพยาบาลนั้นๆถึงนโยบายการเก็บรักษายานี้ที่ถูกต้อง หรือสอบถามจากเภสัชกรขณะรับยานี้

กลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดีมียาอะไรบ้าง? ผลิตหรือจัดจำหน่ายโดยบริษัทอะไร?

ตัวอย่างกลุ่มยาโมโนโคลนอลแอนตีบอดี และบริษัทผู้ผลิต/ผู้จัดจำหน่าย เช่น

ชื่อสามัญทางยา

ชื่อการค้า

บริษัทผู้ผลิต

แอบซิซิแมบ (Abciximab)

โคลติแนบ (Clotinab)

บริษัท บี.เอ็ล.ฮั้ว จำกัด

อะดาลิมูแมบ (Adalimmab)

ฮูมิรา (Humira)

บริษัท แอ๊บวี่ จำกัด

บาซิลิซิแมบ (Basiliximab)

ซิมูเลกต์ (Simulect)

บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด

บีลิมูแมบ (Belimumab)

เบนลิสตา (Benlysta)

บริษัท แกล็กโซสมิทไคล์น (ประเทศไทย) จำกัด

บีวาซิซูแมบ (Bevacizumab)

อวาสติน (Avastin)

บริษัท โรชไทยแลนด์ จำกัด

คานาคินูแมบ (Canakinumab)

อิลาริส (Ilaris)

บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด

ซิทูซิแมบ (Cituximab)

เออร์บิทักซ์ (Erbitux)

บริษัท เมอร์ค จำกัด

ดีโนซูแมบ (Denosumab)

โพรเลีย (Prolia)

บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด

เอกซ์จีว่า (Xgeva)

บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด

โกลิมูแมบ (Golimumab)

ซิมโพนิ (Simponi)

บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด

อิบริทูโมแมบ (Ibritumomab)

ซีวาลิน (Zavalin)

บริษัท มุนดิฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด

อินฟลิซิแมบ (Infliximab)

เรมิเคด (Remicade)

บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด

เร็มซิมา (Remsima)

บริษัทอินโดไชน่า เฮลท์ แคร์  จำกัด

อิพิลิมูแมบ (Ipilimumab)

เยอร์วอย (Yervoy)

บริษัท บริสตอล-ไมเยอร์ส สควิบบ์ ฟาร์มา (ประเทศไทย) จำกัด

นาทาลิซูแมบ (Natalizumab)

ไทซาบรี (Tysabri)

บริษัท ยูซีบี เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด

โอมาลิซูแมบ (Omalizumab)

โซเลีย (Zolair)

บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด

โอฟาทูมูแมบ (Ofatumumab)

อาร์เซอร์รา (Arzerra)

บริษัท โนวาร์ตีส (ประเทศไทย) จำกัด

พานิทูมูแมบ (Panitumumab)

เวคทิบิกซ์ (Vectibix)

บริษัท ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด

ริทูซิแมบ (Rituximab)

ริสโทวา (Ristova)

บริษัท โรชไทยแลนด์ จำกัด

โทซิลิซูแมบ (Tocilizumab)

แอกเทมรา (Actemra)

บริษัท โรชไทยแลนด์ จำกัด

ทราสทูซูแมบ (Trastuzumab)

เฮอร์เซ็พติน (Herceptin)

บริษัท โรชไทยแลนด์ จำกัด

อัสทีคินูแมบ (Ustekinumab)

สเตลาร่า (Stelara)

บริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด

 

บรรณานุกรม

  1. Hashimoto G; Wright, PF, Karzon, DT, Antibody-dependent cell-mediated cytotoxicity against influenza virus-infected cells". The Journal of Infectious Diseases. 1983;148 (5): 785–794.
  2. Hooks MA, Wade CS, Millikan WJ. Muromonab CD-3: a review of its pharmacology, pharmacokinetics, and clinical use in transplantation". Pharmacotherapy. 1991;11 (1): 26–37
  3. Weiner GJ. Monoclonal antibody mechanisms of action in cancer. Immunol Res. 2007;39(1-3):271-8.
  4. Masumi Suzuki, Chie Kato, Atsuhilo Kato. Therapeutic antibodies: their mechanisms of action and the pathological findings they induce in toxicity studies. J Toxicol Pathol. 2015 Jul; 28(3): 133–139.
  5. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/cancer/in-depth/monoclonal-antibody/art-20047808 [2023,Feb4]   
  6. https://www.health.mil/Military-Health-Topics/Health-Readiness/Immunization-Healthcare/Clinical-Consultation-Services/Immunology-Basics [2023,Feb4]