โปรโพฟอล (Propofol)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 ตุลาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- โปรโพฟอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โปรโพฟอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โปรโพฟอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โปรโพฟอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- โปรโพฟอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โปรโพฟอลอย่างไร?
- โปรโพฟอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโปรโพฟอลอย่างไร?
- โปรโพฟอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยานอนหลับ (Hypnotic drug)
- ยาคลายเครียด ยากล่อมประสาท (Tranquilizer Drugs)
- โรคภูมิแพ้ (Allergy)
- เลือดเป็นกรดจากกรดแลคติก (Lactic acidosis)
- ตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis)
บทนำ: คือยาอะไร?
โปรโพฟอล (Propofol) คือ ยาใช้ช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย, ไร้ความรู้สึก, ผู้ป่วยจะรู้สึกง่วง และเข้าสู่ภาวะหลับได้ง่าย, มีการออกฤทธิ์เพียงระยะสั้นๆ, ทางคลินิกนำมาใช้ร่วมกับการใช้ยาชา/ยาสลบก่อนการผ่าตัด, โดยมีรูปแบบเป็นยาฉีด และมีใช้แต่ในสถานพยาบาลเท่านั้น
ยาโปรโพฟอล ถูกค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1977 (พ.ศ. 2520), ซึ่งองค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาโปรโพฟอล เป็นยาที่จำเป็นขั้นพื้นฐานสำหรับสถานพยาบาลต่างๆ ควรต้องมีสำรองไว้ให้บริการกับ
ตัวยาโปรโพฟอลที่เข้าสู่กระแสเลือดจะมีการกระจายตัวเป็นลำดับขั้น เช่น มีการรวมตัวกับพลาสมาโปรตีนได้ประมาณ 95 - 99%, และใช้เวลาประมาณ 15 - 30 วินาทีก็จะเริ่มออกฤทธิ์, โดยมีระยะเวลาออกฤทธิ์ประมาณ 5 - 10 นาที, ตับจะเป็นอวัยวะที่คอยทำลายยานี้อย่างต่อเนื่อง, ร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 30 - 60 นาทีเพื่อกำจัดยานี้ออกจากกระแสเลือด
อนึ่ง: สถานพยาบาลหลายแห่งนิยมใช้ยาโปรโพฟอลมากกว่ายาโซเดียมไทโอเพนทัล (Sodium thiopental, ยาสลบชนิดหนึ่ง) ด้วยเหตุผลว่า ผู้ที่ได้รับยาโปรโพฟอลสามารถฟื้นสติหลังการวางยาสลบได้รวดเร็วกว่า
อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อจำกัดบางประการที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้ยานี้ได้ หรืออาจต้องใช้ยานี้ด้วยความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เช่น
- ผู้ป่วยมีประวัติแพ้ยานี้มาก่อน
- ผู้ป่วยที่มีประวัติ เป็นลมชัก มีระดับไขมันในเลือด (คอเลสเตอรอล หรือ ไตรกลีเซอไรด์)สูงมาก รวมถึงสตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ซึ่งเป็นกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาทุกประเภทรวมถึงยานี้, กรณีสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ควรต้องเว้นการให้นมบุตรในระหว่างที่ได้รับยานี้
- ผู้ป่วยกลุ่มสูงอายุ แพทย์จะลดปริมาณของยานี้ลงอย่างเหมาะสม ด้วยความสามารถใน การกำจัดยาออกจากร่างกายของผู้สูงอายุจะมีประสิทธิภาพน้อยกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ อีกทั้งยังเสี่ยงต่ออาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ต่างๆ เช่น ความดันโลหิตต่ำ ระบบทางเดินหายใจอุดตัน
- ห้ามใช้ยานี้เพื่อทำให้ผู้ป่วยหลับในเด็กที่อายุต่ำกว่า 3 ปี, และห้ามใช้เป็นยาคงสภาวะหลับ ของทารกที่อายุต่ำกว่า 2 เดือน
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการแพ้อาหารประเภทไข่หรือผลิตภัณฑ์จากถั่ว เพราะอาจทำให้เกิด อาการแพ้ไข่หรือแพ้ถั่วได้
- ห้ามใช้กับมารดาที่กำลังจะคลอดบุตร ด้วยยานี้สามารถผ่านรกเข้าถึงตัวทารกในครรภ์และส่ง ผลต่อทารกให้มีภาวะซึม, และยังปัญหาระหว่างการทำคลอด
นอกจากนี้ การใช้ยาโปรโพฟอลยังสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงอื่นที่พบเห็นได้ เช่น มีความดันโลหิตต่ำ หรือความดันโลหิตสูง คลื่นไส้อาเจียน หัวใจเต้นช้า จึงถือเป็นเหตุผลที่ทีมแพทย์จะต้องเฝ้าระวังสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วยขณะที่ใช้ยานี้ โดยต้องควบคุมให้เป็นปกติหรือใกล้เคียงปกติให้มากที่สุด
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุให้ยาโปรโพฟอลอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจัดเป็นประเภทยาควบคุมพิเศษ, โดยทั่วไป ผู้บริโภคสามารถพบเห็นการใช้ยานี้ได้ในสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชน
โปรโพฟอลมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโปรโพฟอลมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- ใช้ในกระบวนการผ่าตัดเพื่อช่วยทำให้ผู้ป่วยมีสภาพไร้ความรู้สึก เหมือนมีอาการชา และ มีสภาวะหลับง่ายขึ้น
- ช่วยระงับประสาท (ยาคลายเครียด) กับผู้ที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
โปรโพฟอลมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาโปรโพฟอล คือ ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้จะเกิดภาวะกดการทำงานของระบบประสาท และเป็นยากล่อมประสาท (ยาคลายเครียด) ทำให้ผู้ป่วยมีความรู้สึกผ่อนคลาย ไร้ความรู้สึกจนเข้าสู่สภาวะหลับได้ง่าย, ตัวยามีระยะเวลาของการออกฤทธิ์ไม่นาน, อีกทั้งผู้ป่วยสามารถฟื้นสภาพกลับสู่สภาวะตื่นได้รวดเร็ว
โปรโพฟอลมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโปรโพฟอลมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาฉีด ขนาด 10 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาดความเข้มข้น 1%
โปรโพฟอลมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?
ยาโปรโพฟอลมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยา เช่น
ก. ผู้ที่อายุน้อยกว่า 55 ปี: เช่น
- กรณีใช้ยานี้เพื่อกระตุ้นให้เกิดสภาพไร้ความรู้สึกและภาวะหลับ: ฉีดยา 40 มิลลิกรัมเข้าหลอดเลือดดำทุกๆ 10 วินาทีจนกระทั่งยาเริ่มออกฤทธิ์, การใช้ยาอาจอยู่ในช่วง 2 -5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม, โดยขนาดการใช้ยาสูงสุดไม่เกิน 250 มิลลิกรัม
- ขนาดยาที่ใช้เพื่อคงระดับการรักษา/คงการหลับ: ให้ใช้เป็นลักษณะหยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 100 - 200 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว1 กิโลกรัม/นาที, ขนาดการใช้สูงสุดไม่เกิน 20,000 ไมโครกรัม/นาที
ข. ผู้ที่อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป: เช่น
- กรณีเพื่อกระตุ้นให้เกิดสภาพไร้ความรู้สึกและภาวะหลับ: ให้ฉีดยา 20 มิลลิกรัมเข้าหลอดเลือดดำทุก 10 วินาทีจนกระทั่งยาเริ่มออกฤทธิ์, ขนาดการใช้สูงสุดไม่เกิน 200 มิลลิกรัม
- ขนาดที่ใช้เพื่อคงระดับการรักษา/คงการหลับ: ให้ใช้เป็นลักษณะหยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 50 - 100 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที
ค. เด็กอายุ 3 - 6 ปี: เช่น
- กรณีกระตุ้นให้เกิดสภาพไร้ความรู้สึกและภาวะหลับ: ฉีดยาเข้าหลอดเลือดดำขนาด 2.5 - 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในช่วง 20 - 30 วินาที
- ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษา/คงการหลับ: ให้ใช้เป็นลักษณะหยดยาเข้าหลอดเลือดดำในอัตรา 125 - 300 ไมโครกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/นาที
ง. เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีลงมา: ขนาดการใช้ยากับเด็กกลุ่มนี้ ให้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษาโดยพิจารณาเป็นกรณีไป
*อนึ่ง: ขนาดที่ใช้คงระดับการรักษา หมายถึง การให้ยาผู้ป่วยเพื่อคงสภาพการหลับในขณะที่หัตถการ/การผ่าตัดยังไม่เสร็จสิ้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาโปรโพฟอล ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโปรโพฟอลอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
โปรโพฟอลมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโปรโพฟอล สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบต่างๆของร่างกาย: เช่น
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น ความดันโลหิตต่ำ, อัตราการเต้นของหัวใจลดลง, ภาวะหัวใจหยุดเต้น, ภาวะหัวใจล้มเหลว
- ผลต่อระบบทางเดินหายใจ: เช่น กระตุ้นให้เกิดอาการไอ, ทำให้ทางเดินหายใจส่วนต้นตีบตันจนอาจเกิดมีภาวะระบายลมหายใจพร่อง/หายใจลำบาก
- ผลต่อระบบเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น มีภาวะไขมันในเลือดสูงขึ้น, เกิดภาวะเลือดเป็นกรดจากกรดแลคติก
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น อาจเกิดภาวะผด/ผื่นคัน
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น อาการชัก, กล้ามเนื้อหลังเกร็งจนหลังแอ่น, ร่างกายเคลื่อนไหวได้ช้า
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น คลื่นไส้อาเจียน, ตับอ่อนอักเสบ
- ผลต่อการทำงานของไต: เช่น ปัสสาวะมีสีเขียว หรือ สีน้ำนมอมชมพู
อนึ่ง: *สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับยาโปรโพฟอลเกินขนาด จะมีอาการต่อระบบการทำงานของหัวใจ, ระบบการหายใจถูกกดหรือทำงานได้น้อยลง, การบำบัดรักษา: โดยแพทย์จะใช้เครื่องช่วยหายใจเพื่อช่วยให้ร่างกายได้รับปริมาณออกซิเจนอย่างเพียงพอ, กระตุ้นการทำงานของหลอดเลือดที่เลี้ยงบริเวณหัวใจโดยการยกเท้าผู้ป่วยให้สูงขึ้น, รวมถึงการใช้ยาประเภท Anticholinergic ร่วมด้วย
มีข้อควรระวังการใช้โปรโพฟอลอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโปรโพฟอล: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาชนิดนี้
- ห้ามใช้ยากับ สตรีตั้งครรภ์ด้วยตัวยาสามารถซึมผ่านรกและเข้าถึงทารกได้, รวมถึงสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรโดยจะต้องเว้นการให้นมบุตรจนกระทั่งร่างกายกำจัดยานี้หมดเสียก่อน, การจะใช้ยานี้กับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้กับ ผู้ที่แพ้อาหารประเภทไข่หรือประเภทถั่วต่างๆ
- ขณะให้ยานี้กับผู้ป่วย แพทย์/พยาบาลจะควบคุมกำกับดูแลสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หากมีภาวะสัญญาณชีพผิดปกติ ผู้ป่วย/ญาติต้องรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลทันที
- การใช้ยานี้ในผู้ป่วยสูงอายุและเด็ก จะมีขนาดใช้ยาที่ไม่เหมือนขนาดการใช้กับผู้ใหญ่ โดยแพทย์จะใช้ขนาดยาตามคำแนะนำที่ระบุในเอกสารกำกับยา/ ฉลากยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโปรโพฟอลด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โปรโพฟอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโปรโพฟอลมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- การใช้ยาโปรโพฟอล ร่วมกับยา Selegiline อาจส่งผลต่อความดันโลหิตของผู้ป่วย หากจำเป็นต้องใช้ยาโปรโพฟอล ต้องหยุดการใช้ยา Selegiline เป็นเวลา 10 - 14 วันก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- ห้ามใช้ยาโปรโพฟอล ร่วมกับยา Sodium oxybate เพราะการใช้ยาร่วมกันจะก่อให้เกิดภาวะกดการหายใจ/หายใจตื้น/หายใจเบา, ความดันโลหิตต่ำ, เป็นลม, มีภาวะโคม่าจนถึงขั้นตายได้
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาโปรโพฟอล ร่วมกับยา Hydrocodone ด้วยจะทำให้เกิดผลกระทบต่อระบบการหายใจ, อัตราการเต้นของหัวใจ, ความดันโลหิต, รวมถึงมีภาวะสงบประสาท/ลดการทำงานของระบบประสาทตามมา
- การใช้ยาโปรโพฟอล ร่วมกับยา Amiodarone อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการทำงานของหัวใจ เช่น มีการเต้นของหัวใจและการทำงานของคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ, กรณีที่ใช้ยาร่วมกันแพทย์/พยาบาลจะต้องฝ้าระวังและควบคุมสัญญาณชีพของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
ควรเก็บรักษาโปรโพฟอลอย่างไร?
ควรเก็บยาโปรโพฟอล: เช่น
- เก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โปรโพฟอลมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโปรโพฟอล มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Anepol (อะเนพอล) | Hana Pharm |
Anesvan (แอเนสแวน) | Chi Sheng |
Fresofol 1% MCT/LCT (เฟรโซฟอล 1% เอ็มซีที/แอลซีที) | Fresenius Kabi |
Pofol (โพฟอล) | Dong Kook Pharma |
Profol (โพรฟอล) | Claris Lifesciences Ltd |
Propofol Abbott (พรอโพฟอล แอ๊บบอต) | Abbott |
Propofol-Lipuro 1% (พรอโพฟอล-ลิพูโร 1%) | B Braun |
อนึ่ง: ยาชื่อการค้าของยาโปรโพฟอลในประเทศตะวันตก เช่น Diprivan
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Propofol [2022,Oct29]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1C&rcno=5300032&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,Oct29]
- https://www.drugs.com/sfx/propofol-side-effects.html [2022,Oct29]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/fresofol%201percent%20mct-lct/?type=brief [2022,Oct29]
- https://www.mims.com/philippines/drug/info/propofol?mtype=generic [2022,Oct29]
- https://www.drugs.com/pro/propofol.html [2022,Oct29]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/propofol-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Oct29]