โดพามีน อะโกนิสต์ (Dopamine agonist)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

โดพามีน อะโกนิสต์ (Dopamine agonist) คือ กลุ่มยา/สารเคมีที่ออกฤทธิ์ต่อตัวรับ (Receptor)ในสมองที่มีชื่อว่า Dopamine receptor ก่อให้เกิดผลทางเภสัชวิทยา และมีสรรพคุณเหมือนสารสื่อประสาทในสมอง ยาโดพามีน อะโกนิสต์ถูกนำมาใช้ประโยชน์ทางคลินิกโดยมีวัตถุประสงค์ส่วนใหญ่ในการบำบัดอาการของโรคพาร์กินสัน (Parkinson’s syndrome), กลุ่มอาการสมาธิสั้น (Attention deficit/hyperactivity disorder), กลุ่มอาการขาอยู่ไม่สุข (Restless legs syndrome),

 ยากลุ่มโดพามีน อะโกนิสต์ จะมีความแรงและฤทธิ์ของการรักษาน้อยกว่ายา Carbidopa และยา Levodopa แต่ก็อาจมีข้อดีตรงที่ทำให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ที่เรียกว่า Dyskinesias (อาการเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติที่บังคับการเคลื่อนไหวนั้นๆไม่ได้) ได้น้อย

อาจแบ่งกลุ่มยาโดพามีน อะโกนิสต์ ออกเป็นรายการย่อยได้ดังนี้เช่น Apomorphine, Bromocriptine, Cabergoline, Ciladopa, Dihydrexidine, Dinapsoline, Doxanthrine, Epicriptine, Lisuride, Piribedil, Pramipexole, Sumanirole, Quinagolide, Ropinirole, Rotigotine, Roxindole

 รูปแบบยาแผนปัจจุบันของยาโดพามีน อะโกนิสต์จะมีทั้งยาชนิด รับประทาน ยาฉีด และ พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง โดยยาโดพามีน อะโกนิสต์สามารถใช้รักษาอาการโรคทั้งลักษณะที่เป็นยาเดี่ยวหรือจะใช้ร่วมกับยาอื่นก็ได้

อาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) ทั่วไปของยากลุ่มโดพามีน อะโกนิสต์ เช่น คลื่นไส้ ประสาทหลอน ง่วงนอนอย่างฉับพลัน และวิงเวียนศีรษะ อันเนื่องมาจากความดันโลหิตต่ำ ดังนั้นแพทย์จึงมักเริ่มรักษาโดยใช้ยานี้ขนาดต่ำๆก่อน จากนั้นจึงค่อยปรับขนาดเพิ่มขึ้นตามลำดับโดยพิจารณาการตอบสนองของการรักษาจากตัวผู้ป่วย

ยังมีข้อพึงระวังในการรับประทานยากลุ่มโดพามีน อะโกนิสต์บางประการ เช่น หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา/เครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ร่วมด้วย หรือหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกับยาจิตเวช ซึ่งมักจะส่งผลให้เกิดอาการความดันโลหิตต่ำติดตามมา

กฎหมายของไทยมีการจัดหมวดหมู่ของยาโดพามีน อะโกนิสต์ให้เป็นยาอันตราย และบางรายการเป็นยาควบคุมพิเศษ โดยการใช้ยาต้องมีใบสั่งจากแพทย์ เราจะพบเห็นการใช้ยากลุ่มนี้ตามสถานพยาบาลเสียเป็นส่วนมาก ด้วยแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่สามารถจ่ายยานี้ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัยและเหมาะสมที่สุดข

โดพามีน อะโกนิสต์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โดพามีน-อะโกนิสต์

ยาโดพามีน อะโกนิสต์มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • รักษาและบำบัดอาการโรคพาร์กินสัน
  • รักษาอาการอัลไซเมอร์
  • รักษาโรคสมาธิสั้น
  • รักษาอาการขาอยู่ไม่สุข
  • บำบัดการติดสุรา, ยาเสพติด

โดพามีน อะโกนิสต์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

 กลไกการออกฤทธิ์ของยากลุ่มโดพามีน อะโกนิสต์คือ ตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับประเภท Dopamine receptor ในสมองทำให้เกิดสมดุลของสารสื่อประสาท จึงมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดฤทธิ์ของการรักษา โดยจะบรรเทาอาการป่วยของโรคอย่าง เช่น โรคพาร์กินสัน ทำให้ผู้ป่วยควบคุมการเคลื่อนไหวและการทรงตัวได้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ กลไกเหล่านี้ขึ้นอยู่กับขนาดของยาที่ใช้กับผู้ป่วยร่วมกับการตอบสนองของผู้ป่วยเอง โดยแพทย์ผู้รักษาเท่านั้นที่สามารถปรับขนาดการใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม

โดพามีน อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโดพามีน อะโกนิสต์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:  

  • ยาชนิดรับประทาน
  • ยาฉีด
  • ยารูปแบบพลาสเตอร์ปิดผิวหนัง

โดพามีน อะโกนิสต์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

 ด้วยยาในกลุ่มโดพามีน อะโกนิสต์มีหลายรายการ การใช้ยานี้ในผู้ป่วยแต่ละบุคคลจึงมี ความแตกต่างกันออกไป ขนาดที่เหมาะสมและปลอดภัยนั้นจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์ผู้รักษา เท่านั้น

อาจยกตัวอย่างขนาดการใช้ยาโดพามีน อะโกนิสต์พอสังเขป เช่น

  • ยา Apomorphine: ผู้ใหญ่, ฉีดยาใต้ผิวหนังขนาด 2 มิลลิกรัม/ครั้ง
  • ยา Bromocriptine: ผู้ใหญ่, รับประทานครั้งละ 1.25 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้งโดยรับประทานพร้อมอาหาร
  • ยา Pramipexole: ผู้ใหญ่, รับประทานเริ่มต้น 0.375 มิลลิกรัม/วันโดยแบ่งรับประทานและรับ ประทานยานี้พร้อมอาหาร
  • ยา Ropinirole: ผู้ใหญ่, รับประทาน 2 - 4 มิลลิกรัมวันละครั้งโดยสามารถรับประทานก่อน หรือหลังอาหารก็ได้
  • ยา Rotigotine: ผู้ใหญ่, ใช้ปิดผิวหนังขนาด 2 มิลลิกรัม/24 ชั่วโมง

*อนึ่ง ในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก): ขนาดการใช้ยานี้ในเด็กจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีๆไป

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาโดพามีน อะโกนิสต์ผู้ป่วยควรแจ้ง  แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโดพามีน อะโกนิสต์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โดพามีน อะโกนิสต์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

อาจกล่าวโดยรวมได้ว่า ยาโดพามีน อะโกนิสต์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง)  เช่น

  • มีอาการเคลิบเคลิ้ม
  • มีน้ำในถุงหุ้มหัวใจมากเกินไป
  • มีภาวะประสาทหลอน
  • ความดันโลหิตต่ำ
  • น้ำหนักตัวลด
  • เบื่ออาหาร
  • คลื่นไส้
  • นอนไม่หลับ  
  • ง่วงนอน
  • วิงเวียน  
  • มีอาการคล้ายโรคลมหลับ

มีข้อควรระวังการใช้โดพามีน อะโกนิสต์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโดพามีน อะโกนิสต์  เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้โดยไม่ปรึกษาแพทย์
  • ห้ามใช้ยานี้ที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
  • หากมีอาการแพ้ยานี้เช่น มือ-เท้า-ใบหน้าบวม มีผื่นคัน-ลมพิษขึ้นเต็มตัว อึดอัด/หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก ให้รีบหยุดการใช้ยานี้และนำตัวผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน
  • กรณีใช้ยานี้ไปแล้วตามเวลาที่เหมาะสมแต่อาการไม่ดีขึ้น ควรกลับมาปรึกษาแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
  • หากมีอาการวิงเวียนหลังใช้ยานี้ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะหรือการทำงานที่ต้องควบคุมเครื่องจักร
  • ตรวจสอบความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอในระหว่างใช้ยานี้
  • มาโรงพยาบาลตามที่แพทย์นัดทุกครั้ง
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโดพามีน อะโกนิสต์ด้วย) ยาแผนโบราณ  อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โดพามีน อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโดพามีน อะโกนิสต์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น       

  • การใช้ยา Apomorphine ร่วมกับยา Propoxyphene อาจทำให้เกิดอาการวิงเวียน ง่วงนอน สับสน ขาดสมาธิ อาการเหล่านี้จะพบมากในผู้ป่วยสูงอายุ เพื่อเป็นการป้องกันอาการข้างเคียงดังกล่าวจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • ห้ามใช้ยา Bromocriptine ร่วมกับยา Sumatriptan ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหลอดเลือดตีบแคบจนเป็นเหตุของความดันโลหิตสูงและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือส่งผลทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะส่วนปลายไม่เพียงพอ
  • ห้ามใช้ยา Cabergoline ร่วมกับยา Clarithromycin ด้วยจะทำให้ระดับยา Cabergoline ในเลือดเพิ่มสูงขึ้นจนได้รับอาการข้างเคียงเช่น ทำให้หลอดเลือดตีบแคบ ปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆน้อยลง นอกจากนี้ยังเสี่ยงต่อการเกิดความดันโลหิตสูงและภาวะหัวใจล้มเหลวติดตามมา
  • การใช้ยา Pergolide ร่วมกับยา Sodium oxybate จะส่งผลกระทบต่อประสาทส่วนกลางหรือสมองโดยทำให้เกิดอาการ วิงเวียน สับสน ซึมเศร้า ความดันโลหิตต่ำ บางกรณีอาจเกิดภาวะโคม่าจนถึงขั้นตายในที่สุด กรณีที่มีความจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ยาให้เหมาะสมเป็นกรณีไป

ควรเก็บรักษาโดพามีน อะโกนิสต์อย่างไร

สามารถเก็บยาในหมวดยาโดพามีน อะโกนิสต์:

  • เก็บยาภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น หรือเก็บยาต่ำกว่า 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ควรเก็บยาตามคำแนะนำในเอกสารกำกับยา/ฉลากยาที่แนบมากับตัวผลิตภัณฑ์
  • ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และความชื้น
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

โดพามีน อะโกนิสต์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

         ยาโดพามีน อะโกนิสต์  มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Bromergon (โบรเมอร์กอน) Sandoz
Suplac (ซูแพล็ก) Biolab
APO-go (แอโพ-โก) Stada
Uprima (อัพไพรมา) Abbott
Trivastal Retard 50 (ไทรเวสทัล รีทาร์ด) Servier
Pramexol (พราเม็กซอล) Unison
Sifrol/Sifrol ER (ไซฟรอล/ไซฟรอล อีอาร์) Boehringer Ingelheim
Requip PD 24 Hour (รีควิป พีดี 24 ชั่วโมง) GlaxoSmithKline
Neupro (นิวโพร) UCB/Abbott

 

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Dopamine_agonist    [2022,March26]
  2. https://www.drugs.com/drug-class/dopaminergic-antiparkinsonism-agents.html   [2022,March26]
  3. https://www.parkinson.org/Understanding-Parkinsons/Treatment/Prescription-Medications/Dopamine-Agonists  [2022,March26]
  4. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/sifrol-sifrol%20er/?type=full#Actions  [2022,March26]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Apomorphine  [2022,March26]
  6. https://www.drugs.com/drug-interactions/acetaminophen-propoxyphene-with-apomorphine-81-0-224-0.html  [2022,March26]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/alsuma-with-bromocriptine-2136-14627-414-0.html  [2022,March26]
  8. https://www.mayoclinic.org/drugs-supplements/bromocriptine-oral-route/before-using/drg-20062385  [2022,March26]