เลือดเป็นด่าง (Alkalosis)

บทความที่เกี่ยวข้อง
เลือดเป็นด่าง

ความเป็นกรด-ด่าง หรือ pH ของเลือด/ของร่างกายจะเป็นตัวช่วยให้การทำงานของเซลล์ และของเนื้อเยื่อทุกชนิดให้ทำงานได้อย่างปกติ ซึ่งโดยทั่วไปเลือดของคนปกติจะมีค่าความเป็นกรด-ด่างอยู่ในช่วง 7.35 - 7.45 แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่ค่า pH ของเลือดสูงกว่า 7.45 จะจัดว่าร่างกาย/เลือดมีภาวะเลือดเป็นด่าง (Alkalosis) ซึ่งค่า pH ของร่างกายนี้แพทย์ตรวจทราบได้จากอาการผู้ป่วยร่วมกับการตรวจเลือดดูค่าความเป็นกรด-ด่างของเลือด และจากการตรวจปัสสาวะดูค่าความเป็นกรดด่างของปัสสาวะ

ความเป็นกรด-ด่างในร่างกายจะขึ้นอยู่กับสมดุลของเกลื่อแร่ต่างๆรวมถึงปริมาณของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือด ดังนั้นความเป็นกรด-ด่างของร่างกายจึงถูกควบคุมให้อยู่ในสมดุลโดย 2 อวัยวะคือ ไตที่ควบคุมสมดุลของเกลือแร่ และปอดที่ควบคุมปริมาณของกาซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเมื่อเลือดเป็นด่างเกิดจากไตเรียกว่า “Metabolic alkalosis” ส่วนเมื่อเกิดจากปอด จะเรียกว่า “Respiratory alkalosis”

ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้เกิดการทำงานผิดปกติของไตหรือของปอดอาจมีสาเหตุได้จาก

  • โรคของไตเอง หรือโรคของปอดเอง
  • โรคตับ
  • โรคจากขึ้นที่สูง
  • ภาวะร่างกายขาดออกซิเจนเช่น ภาวะช็อก
  • มีไข้สูง
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดเช่น ยาในกลุ่ม Salicylate
  • อาการอาเจียนเรื้อรังหรือรุนแรง

อาการของภาวะเลือดเป็นด่างเช่น สับสน วิงเวียน มือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก กล้ามเนื้อหดเกร็ง คลื่นไส้อาเจียน ใบหน้า-มือ-เท้ามีอาการชาหรือรู้สึกเหมือนมีเข็มตำ

แพทย์วินิจฉัยภาวะเลือดเป็นด่างได้จากประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วยเช่น การใช้ยาต่างๆ โรคประจำตัว การตรวจร่างกาย การตรวจเลือดดูค่า pH และค่าเกลือแร่ (Electrolyte) และการตรวจปัสสาวะดูค่า pH ของปัสสาวะ

การรักษาภาวะเลือดเป็นด่างคือ การแก้ไขให้ pH ของเลือดกลับมาสู่ภาวะปกติโดยการให้น้ำและให้เกลือแร่ทางหลอดเลือดดำและการให้ออกซิเจน ร่วมกับการรักษาสาเหตุของอา การเช่นการรักษาโรคไตหรือโรคปอดแล้วแต่กรณี

ทั้งนี้การพยากรณ์โรคของภาวะเลือดเป็นด่างขึ้นกับสาเหตุและความรุนแรงของแต่ละสาเหตุ แนะนำอ่านเพิ่มเติมในแต่ละสาเหตุดังกล่าวจากเว็บ haamor.com

บรรณานุกรม

  1. https://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/001183.html [2016,Aril9]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Alkalosis [2016,Aril9]