เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding or GI bleeding)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?

เลือดออกในทางเดินอาหาร (Gastrointestinal bleeding ย่อว่า GI bleeding หรือ Gastrointestinal hemorrhage ย่อว่า GI hemorrhage) คือ อาการ/ภาวะผิดปกติที่ส่งผลให้เกิดการอักเสบ บาดเจ็บ เสียหาย ต่อหลอดเลือดในเนื้อเยื่อของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารส่วนใด/จุดใดก็ได้ จนส่งผลให้เกิดเลือดออกจากหลอดเลือดที่เสียหายเหล่านั้นเข้าสู่ช่องทางเดินอาหารและผ่านออกนอกร่างกายโดย การอาเจียนเป็นเลือด และ/หรือ อุจจาระเป็นเลือด ซึ่งภาวะเลือดออกจากทางเดินอาหารนี้ เป็นได้ทั้งภาวะ/อาการที่เกิดอย่างเฉียบพลัน (พบได้บ่อย) หรืออาจพบเกิดอย่างเรื้อรังต่อเนื่อง (พบได้น้อยกว่า)

 

อนึ่ง ระบบทางเดินอาหาร (Gastrointestinal tract เรียกย่อว่า GI tract) ในบทความนี้ หมาย ถึงทั้ง

  • “ทางเดินอาหารตอนบน” (Upper GI tract) ประกอบด้วย หลอดอาหาร, กระเพาะอาหาร, และดูโอดีนัม/Duodenum/ลำไส้เล็กตอนบน และ
  • “ทางเดินอาหารตอนล่าง” (Lower GI tract) ประกอบด้วย ลำไส้เล็กตอนล่างที่เรียกว่า เจจูนัม /Jejunum, ไอเลียม/Ileum , ลำไส้ใหญ่ ลงมาจนถึง ทวารหนัก

 

อวัยวะในทางเดินอาหารตอนบนและตอนล่าง เป็นอวัยวะที่มีช่องตรงกลาง ที่เป็นทาง ผ่านของอาหาร และมีหน้าที่โดยตรงในการย่อยอาหาร ดูดซึมอาหาร และกำจัดกากอาหารและของเสียออกจากร่างกายผ่านทางอุจจาระ

 

อวัยวะในส่วนนี้ทั้งหมดดังได้กล่าวแล้ว สามารถเกิดภาวะมีเลือดออกได้เสมอ ทั้งที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เช่น อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด หรือจากที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่ตรวจพบจากการตรวจอุจจาระในผู้ป่วยที่มีอาการเบื้องตัน ที่แพทย์สงสัยว่าผู้ป่วยอาจมีเลือดออกในทางเดินอาหาร(ชนิดมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า) เช่น ผู้ป่วยมีภาวะซีดที่หาสาเหตุไม่ได้ (แพทย์ทราบจากตรวจร่างกายและการตรวจเลือด ซีบีซี/CBC) และต้องตรวจสืบค้นด้วยวิธีเฉพาะเพิ่มเติม เช่น การส่องกล้องตรวจทางเดินอาหาร เป็นต้น

 

อาการเลือดออกในทางเดินอาหารตอนบนในสหรัฐอเมริกา มีรายงานว่า ใน 1 ปี พบได้ประมาณ 40-50 ครั้ง (ใน 1 คน อาจเกิดได้หลายครั้ง) ต่อประชากร 1 แสนคน ซึ่งในการนี้ พบอัตราเสียชีวิตได้ 6-10% ส่วนอาการเลือดออกในทางเดินอาหารตอนล่างใน 1 ปี พบได้ประ มาณ 20-27 ครั้งต่อประชากร 1 แสนคนต่อปี โดยมีอัตราเสียชีวิตประมาณ 4-10%

 

ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เกิดได้ทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย แต่พบในผู้ชายได้สูงกว่าในผู้หญิง และภาวะนี้พบได้ในทุกอายุ แต่โดยทั่วไป เป็นภาวะที่พบในผู้ใหญ่วัยกลางคนขึ้นไป

 

เลือดออกในทางเดินอาหารมีสาเหตุจากอะไร?

เลือดออกในทางเดินอาหาร

สาเหตุของการเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร ได้แก่

1. สาเหตุของการมีเลือดออกในทางเดินอาหารตอนบน ได้แก่

  • โรคของหลอดอาหาร ที่พบได้บ่อย คือ หลอดเลือดดำในหลอดอาหารโป่งพอง เช่น จากภาวะมีความดันสูงในระบบไหลเวียนเลือดของตับ, หลอดอาหารอักเสบ, มีแผลในหลอดอาหาร, โรคกรดไหลย้อน, มะเร็งหลอดอาหาร, ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ส่งผลให้เลือดออกง่าย เช่น ยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาแอสไพริน หรือยาวาร์ฟาริน (Warfarin ) เป็นต้น
  • โรคของกระเพาะอาหาร ที่พบได้บ่อย คือ โรคแผลในกระเพาะอาหาร, โรคกระ เพาะอาหารอักเสบ, โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร, โรคความผิดปกติของหลอดเลือดในกระเพาะอา หาร (Gastric antral vascular ectasia), ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ก่อให้เกิดกระเพาะอา หารอักเสบ และ/หรือแผลในกระเพาะอาหาร เช่น ยาแก้ปวด/ยาต้านการอักเสบ/ยาแก้อักเสบในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs, Non steroidal anti-inflammatory drugs), ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ส่งผลให้เลือดออกง่าย ดังกล่าวแล้วในหัวข้อของหลอดอาหาร
  • โรคของลำไส้เล็กดูโอดีนัม ที่พบได้บ่อย คือ โรคแผลในลำไส้เล็กตอนบน (โรคแผลเปบติค), ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ส่งผลให้เลือดออกง่าย ดังกล่าวแล้วในหัวข้อของหลอดอาหาร, และโรคความผิดปกติของหลอดเลือดในดูโอดีนัม

 

2. สาเหตุของการมีเลือดออกในทางเดินอาหารตอนล่าง ได้แก่

  • โรคของลำไส้เล็กไอเลียม ภาวะเลือดออกจากลำไส้ส่วนนี้ พบได้น้อยมากๆ โดยอาจจากมีความผิดปกติของหลอดเลือด หรือมีเนื้องอก
  • โรคของลำไส้ใหญ่ ที่พบได้บ่อย คือ ลำไส้ใหญ่อักเสบ เช่น โรคลำไส้ใหญ่อัก เสบเป็นแผลเรื้อรัง, โรคบิด, ติ่งเนื้อเมือกลำไส้ใหญ่, มะเร็งลำไส้ใหญ่, โรคถุงผนังลำไส้ใหญ่อักเสบ (Diverticulitis), ผลข้างเคียงจากยาต้านการอักเสบดังกล่าวแล้ว, ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ส่งผลให้เลือดออกง่าย ดังกล่าวแล้ว
  • โรคของทวารหนัก ที่พบได้บ่อย คือ โรคริดสีดวงทวาร, โรคแผลรอยแยกขอบทวารหนัก, ทวารหนักอักเสบติดเชื้อ เช่น ติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์, ทวารหนักฉีกขาด เช่น จากเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก

 

ใครมีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร?

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดเลือดออกในทางเดินอาหาร ได้แก่

  • เป็นโรคที่ทำให้เกิดความผิดปกติในการแข็งตัวของเลือด เช่น โรคเลือด โรคตับ โรคไต
  • มีโรคของอวัยวะในระบบทางเดินอาหาร เช่น ลำไส้อักเสบเรื้อรัง แผลในกระเพาะอาหาร โรคริดสีดวงทวาร โรคมะเร็งระบบทางเดินอาหาร (เช่น มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งลำไส้ใหญ่)
  • กินยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาแอสไพริน ยาวาร์ฟาริน
  • กินยาแก้ปวดในกลุ่มเอ็นเสดเรื้อรัง
  • กินยาสเตียรอยด์ปริมาณสูง หรือเรื้อรัง
  • ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นสาเหตุของโรคตับแข็ง (ตับสร้างสารช่วยการแข็งตัวของเลือดลดลง และตัวโรคเองก่อให้เกิดภาวะหลอดเลือดดำขอดในหลอดอาหาร) และภาวะหลอดเลือดดำขอดในหลอดอาหาร (หลอดเลือดแตกได้ง่าย)
  • มีปัญหาด้านอารมณ์/จิตใจ เพราะส่งผลให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้ง่ายจากมีกรดสูงมากในกระเพาะอาหาร

 

เลือดออกในทางเดินอาหารมีอาการอย่างไร?

อาการจากมีเลือดออกในทางเดินอาหาร คือ

 

1. อาการจากเลือดออกในทางเดินอาหารตอนบน ที่พบได้บ่อย คือ

  • อาเจียนเป็นเลือด ซึ่งอาจเป็นเลือดสด หรือถ้าเป็นเลือดออกในกระเพาะอาหารหรือลำไส้เล็กดูโอดีนัม บางครั้งเมื่อเลือดโดนกับกรดในกระเพาะอาหาร สีของเลือดจะเปลี่ยนสีคล้ายกาแฟดำได้
  • บางครั้ง ผู้ป่วยบางราย อาจไม่มีอาเจียนเป็นเลือด แต่จะมี ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ ที่มีลักษณะ ดำ เปียก เหนียว เหมือนกับยางมะตอย (Black tarry stool) และมีกลิ่นเหม็นรุนแรงผิดไปจากกลิ่นทั่วไปของอุจจาระ ทั้งนี้เนื่องจากเลือดที่ผ่านกรดในกระเพาะอาหาร จะมีปฏิ กิริยากับกรดในกระเพาะอาหาร เปลี่ยนให้สีของเลือดกลายเป็นสีดำและมีลักษณะดังกล่าว
  • บางครั้งพบเกิดร่วมกันได้ทั้งอาเจียนเป็นเลือด และถ่ายอุจจาระดำเหมือนยางมะตอย
  • อาการอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วยได้ คือ มีอาการปวดท้องช่วงตอนบนเหนือระดับสะดือ อาจคลื่นไส้ เบื่ออาหาร และถ้าเลือดออกมากก็จะมีภาวะซีด อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็วและเบา อาจเป็นลม และหมดสติได้ เพราะเมื่อเลือดออกมาก จะส่งผลให้มีความดันโลหิตต่ำ จึงเกิดการหมดสติ/โคม่าได้

 

2. อาการจากมีเลือดออกในทางเดินอาหารตอนล่าง ที่พบได้บ่อย คือ

  • อุจจาระเป็นเลือด หรือเรียกอีกอย่างว่า เลือดออกทางทวารหนัก ซึ่งอาจเป็นเลือดสด (มักออกจากแผล) หรือมีมูกปนเลือดก็ได้ (มักเกิดจากมีการอักเสบของลำไส้ร่วมด้วย)
  • อาการอื่นๆที่อาจพบร่วมด้วยได้ คือ ปวดท้องตอนล่าง (ปวดในตำแหน่งต่ำกว่าสะ ดือลงมา) ปวดเบ่งอุจจาระ อุจจาระอาจเหลว หรืออาจเป็นก้อนก็ได้ ภาวะซีดกรณีเลือดออกมาก อ่อนเพลีย หัวใจเต้นเร็ว แต่เบา เป็นลม หมดสติ เพราะเมื่อเลือดออกมากจะส่งผลให้ความดันโลหิตต่ำ จึงเกิดการหมดสติ/โคม่าได้

 

อนึ่ง บางครั้ง การมีเลือดออกในทางเดินอาหารทั้งตอนบนละตอนล่าง อาจไม่พบการอา เจียนเป็นเลือด อุจจาระดำ หรือ อุจจาระเป็นเลือด แต่ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์จากการมีภาวะซีด ทั้งนี้เกิดจากภาวะเลือดทยอยออกครั้งละน้อยมากจนไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า แต่มีเลือดออกต่อเนื่องเรื้อรัง จึงส่งผลให้เกิดภาวะซีด เรียกเลือดออกในลักษณะนี้ว่า ‘Occult GI bleeding’ ซึ่งแพทย์วินิจฉัยได้จากการตรวจพบเม็ดเลือดแดงในอุจจาระจากการตรวจอุจจาระ

นอกจากนั้น ประมาณ 5% ของผู้ป่วยเลือดออกในทางเดินอาหาร ภายหลังการตรวจต่าง ๆแล้ว แพทย์อาจไม่สามารถหาพบตำแหน่งที่เกิดเลือดออกได้ เรียกว่า ภาวะนี้ว่า ‘Obscure GI bleeding’ แต่ถ้าต่อมามีเลือดออกซ้ำอีก โอกาสที่จะตรวจพบตำแหน่งเลือดออกจะสูงขึ้น ซึ่งกรณีเช่นนี้ ประมาณ 75% เป็นเลือดออกในลำไส้เล็ก

 

แพทย์วินิจฉัยเลือดออกในทางเดินอาหารได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหาร ทั้งทางเดินอาหารตอนบนและตอนล่างได้ด้วยวิธีการเดียวกัน คือ

  • จากการซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีตและปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาต่างๆ
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจอุจจาระ
  • อาจส่องกล้องตรวจระบบทางเดินอาหารตอนบน และ/หรือตอนล่าง (โดยเฉพาะกรณีมีภาวะซีดที่ไม่มีอาเจียนเป็นเลือดหรืออุจจาระเป็นเลือด)
  • การดูดน้ำย่อยจากกระเพาะอาหาร เพื่อตรวจดูอาการเลือดออก กรณีอุจจาระดำเหมือนยางมะตอย เพื่อแยกว่าเป็นเลือดออกในทางเดินอาหารตอนบนหรือตอนล่าง
  • การตรวจเลือดดูค่า ซีบีซี/CBC ค่าเกลือแร่ /Electrolyte ค่าการทำงานของตับและของไต เพื่อดูปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวกับการแข็งตัวของเลือด
  • บางครั้งอาจมีการตรวจพิเศษอื่นๆเพิ่มเติมทั้งนี้ขึ้นกับ อาการผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ เพื่อหาจุดเลือดออกที่แน่นอนที่ไม่สามารถตรวจพบจากการส่องกล้อง เช่น
    • ตรวจที่เรียกว่า 99mTechnetium-labelled red blood cell scintigraphy
    • หรือการตรวจภาพหลอดเลือดในระบบทางเดินอาหารด้วยการฉีดสี/สารทึบแสง (Angiography) เป็นต้น

 

รักษาเลือดออกในทางเดินอาหารอย่างไร?

แนวทางการรักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารทั้งตอนบนและตอนล่างจะเหมือนกัน คือ การรักษาเพื่อหยุดการเลือดออก การรักษาสาเหตุ และการรักษาประคับประคองตามอาการ

  • การรักษาเพื่อหยุดการเลือดออก จะขึ้นกับความรุนแรงของอาการเลือดออก สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย และดุลพินิจของแพทย์ ทั้งนี้อาจรักษาเป็นผู้ป่วยนอกเมื่ออาการไม่รุนแรง แต่หากมีอาการรุนแรง การรักษาจำเป็นต้องเป็นแบบผู้ป่วยในโรงพยาบาล ตัวอย่างวิธีรักษา เช่น
    • การกินอาหารอ่อน (ประเภทอาหารทางการแพทย์) ในกรณีเลือดออกไม่รุนแรง
    • การงดอาหารและน้ำในกรณีเลือดออกรุนแรง อาจร่วมกับการใส่สายดูดของเหลว/น้ำย่อยอาหารออกจากกระเพาะอาหาร
    • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
    • การหยุดยาและปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เลือดออก (เช่น ปรับยาประจำที่ลดการแข็งตัวของเลือด หยุดสูบบุหรี่ หยุดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์)
    • การใช้ยาต่างๆเพื่อลดปัจจัยเสี่ยงเกิดเลือดออกฯ (เช่น ยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะ ยาคลายเครียด)
    • อาจส่องกล้องดูจุดที่เลือดออกแล้วจี้ด้วยไฟฟ้า หรือใช้ยาให้เลือดหยุด
    • ในรายที่เลือดออกรุน แรงมาก อาจต้องใส่สารอุดตันเข้าในหลอดเลือด เพื่ออุดจุดรั่วของหลอดเลือด (เป็นการรักษาทางด้านรังสีร่วมรักษา)
    • และในบางครั้งเมื่อรักษาทุกวิธีการดังกล่าวแล้ว ยังไม่สามารถหยุดเลือดออกได้ อาจต้องผ่าตัดเพื่อการผูกหลอดเลือดที่เกิดเลือดออก หรือบางครั้งอาจต้องผ่า ตัดอวัยวะในส่วนที่มีเลือดออก
  • รักษาสาเหตุ เช่น
    • การรักษาโรคที่เป็นสาเหตุ (เช่น โรคเลือด โรคตับ โรคไต)
    • การหยุดยาที่เป็นสาเหตุ
    • การรักษาโรคแผลในกระเพาะอาหาร
    • หรือการรักษาโรคมะเร็งต่างๆในระ บบทางเดินอาหารที่เป็นสาเหตุ เช่น โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร เป็นต้น
  • การรักษาประคับประคองตามอาการ เช่น
    • ให้ยาคลายเครียดเพื่อให้ผู้ป่วยสงบ นอนหลับ ไม่เครียด
    • การให้เลือดเมื่อผู้ป่วยมีภาวะซีด
    • และการให้สารน้ำ/อาหารทางหลอดเลือดดำ เมื่อแพทย์ให้งดอาหารทางปาก เป็นต้น

 

เลือดออกในทางเดินอาหารรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ความรุนแรง/ การพยากรณ์โรคของภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร เป็นภาวะที่มีความรุนแรง จึงควรต้องรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉินเสมอเมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ทั้งนี้เพราะเลือดอาจออกมากจนช็อก และเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้

 

ส่วนผลข้างเคียงสำคัญของการมีเลือดออกในทางเดินอาหาร คือ

  • ภาวะซีด
  • และถ้าเลือด ออกมาก จะเกิดความดันโลหิตต่ำมากอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดอาการช็อกและโคม่า

 

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัด/ฉุกเฉินเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองและการพบแพทย์/มาโรงพยาบาลที่สำคัญ คือ

  • เมื่อมีอาการดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ‘อาการฯ’ ควรต้องรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉินเสมอ เพราะเลือดอาจออกมากจนช็อกได้

 

ส่วนเมื่อพบแพทย์และได้รับการวินิจฉัยว่ามีเลือดออกในทางเดินอาหาร และมีสาเหตุจากอะ ไรแล้ว การดูแลตนเองเมื่ออยู่บ้าน คือ

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วนถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง/สาเหตุต่างๆดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ ‘สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ฯ’
  • กินอาหารอ่อน (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์) จนกว่าอาการต่างๆจะหายเป็นปกติอย่างน้อย 2 สัปดาห์ หรือตามแพทย์ พยาบาลแนะนำ
  • ไม่ซื้อยากินเอง แต่ถ้าจำเป็นต้องซื้อยากินเอง ต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาถึงผลข้างเคียงของยาเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • รีบพบแพทย์ก่อนนัด หรือไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ
    • เมื่อกลับมามีอาการต่างๆดังกล่าวอีก โดยเฉพาะอุจจาระดำเหมือนยางมะตอย อุจจาระเป็นเลือด หรือ อาเจียนเป็นเลือด
    • อาการต่างๆเลวลง เช่น ซีด , อ่อนเพลีย, กินอาหารได้น้อยลง
    • และ/หรืออาการต่างๆผิดปกติไปจากเดิม เช่น ปวดท้องมาก คลื่นไส้ อาเจียน ร่วมกับไม่ผายลม
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่น ท้องผูกมาก วิงเวียนศีรษะมาก
    • และ/หรือ เมื่อกังวลในอาการ

 

ป้องกันเลือดออกในทางเดินอาหารอย่างไร?

การป้องกันภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารทั้งตอนบนและตอนล่าง จะเช่นเดียวกัน คือ การหลีกเลี่ยง สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้ ดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อ สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • รักษาสุขอนามมัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อในระ บบทางเดินอาหาร และเพื่อมีสุขภาพจิตที่ดี เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการอักเสบ และ/หรือการเกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร
  • ไม่ดื่มสุรา เลิกสุรา เพื่อป้องกันโรคตับที่จะส่งผลให้ตับสร้างสารช่วยการแข็งตัวของเลือดลดลง ที่สำคัญ คือ โรคตับแข็ง
  • จำกัดอาหารไขมัน อาหารแป้ง น้ำตาล เค็ม เพื่อลดโอกาสเกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็ง และ โรคเบาหวาน เพื่อลดโอกาสเกิดโรคไตเรื้อรัง ที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือดเช่นเดียวกับในโรคตับ
  • กินยาต้านการอักเสบในกลุ่ม สเตียรอยด์ และเอนเสด์ เฉพาะตามแพทย์แนะนำเท่านั้น ไม่ควรซื้อยานี้กินเอง
  • เมื่อจำเป็นต้องซื้อยากินเอง ควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาถึงผลข้าง เคียงของยาเสมอ

 

บรรณานุกรม

  1. Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, D., Hausen, S., Longo, D., and Jamesson, J. (2001). Harrrison’s: Principles of internal medicine. New York: McGraw-Hill.
  2. Manning-Dimmitt,L. et al. (2005). Diagnosis of gastrointestinal bleeding in adults. Am Fam Physician. 71, 1339-1346.
  3. Mitchell,S. et al. (2004). A new view of occult and obscured gastrointestinal bleeding. Am Fam Physician. 69, 875-881.
  4. Strate,L. (2005). Lower GI bleeding. Gastroenterol Clin N Am. 34, 643-654.
  5. Wilkins, T. et al. (2012). Diagnosis and management of upper gastrointestinal bleeding. Am Fam Physician. 85, 469-476.
  6. https://emedicine.medscape.com/article/187857-overview#showall [2019,June8]
  7. https://emedicine.medscape.com/article/188478-overview#showall [2019,June8]
  8. https://www.uptodate.com/contents/evaluation-of-suspected-small-bowel-bleeding-formerly-obscure-gastrointestinal-bleeding [2019,June8]
  9. https://en.wikipedia.org/wiki/Gastrointestinal_bleeding [2019,June8]
  10. https://en.wikipedia.org/wiki/Upper_gastrointestinal_bleeding [2019,June8]
  11. https:// https://en.wikipedia.org/wiki/Lower_gastrointestinal_bleeding [2019,June8]