ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ลำไส้อักเสบ (Enterocolitis) คือ โรคที่เกิดจากเนื้อเยื่อที่บุภายในลำไส้ (เนื้อเยื่อบุผิว) เกิดมีการอักเสบ ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นการอักเสบจากติดเชื้อ แต่ส่วนน้อยเกิดจากการอักเสบโดยไม่มีการติดเชื้อ

ลำไส้อักเสบ เป็นคำรวมที่เรียก ‘การอักเสบที่เกิดขึ้นกับทั้งลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่’

  • แต่ถ้ามีลำไส้เล็กอักเสบเพียงอวัยวะเดียว เรียกว่า ‘ลำไส้เล็กอักเสบ (Enteritis)’
  • และถ้ามีลำไส้ใหญ่อักเสบเพียงอวัยวะเดียว เรียกว่า ‘ลำไส้ใหญ่อักเสบ (Colitis)’

ทั้งนี้ลำไส้อักเสบ อาจเกิดร่วมกับ มีการอักเสบของกระเพาะอาหาร (กระเพาะอาหารอักเสบ, Gastritis) และ/หรือของทวารหนัก(ทวารหนักอักเสบ, Proctitis) ร่วมด้วยหรือไม่ก็ได้

อนึ่ง:

  • เมื่อลำไส้อักเสบเกิดทันที และสามารถรักษาได้หายภายในระยะเวลาเป็นสัปดาห์ เรียกว่า “ลำไส้อักเสบเฉียบพลัน”
  • แต่ถ้าอาการลำไส้อักเสบมีเรื้อรังเป็นเดือน หรือเป็นๆหายๆตลอดเวลา เรียกว่า “ลำไส้อักเสบเรื้อรัง”

ลำไส้อักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อ เป็นโรคพบบ่อยโดยเฉพาะในประเทศที่การสาธารณ สุขยังไม่ดีพอ พบในทุกอายุ ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยจัดรวมอยู่ในกลุ่ม”โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร”

แต่ลำไส้อักเสบสาเหตุอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดจากติดเชื้อ เป็นโรคพบน้อย โดยพบได้ในทุกอายุเช่นกัน

ลำไส้อักเสบเกิดจากอะไร?

ลำไส้อักเสบ

ลำไส้อักเสบมีสาเหตุแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ จากการติดเชื้อโรค และจากสาเหตุอื่นๆที่ไม่ใช่การติดเชื้อโรค

ก. ลำไส้อักเสบสาเหตุจากการติดเชื้อโรค เกิดได้จากเชื้อโรคทุกชนิด ทั้งแบคทีเรีย (พบบ่อยที่สุด) ไวรัส ปรสิต และเชื้อรา

  • แบคทีเรีย: เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลำไส้อักเสบได้บ่อยที่สุด โดยแบคทีเรียที่ทำให้เกิดลำไส้อักเสบมีได้หลายชนิด ที่พบบ่อย คือ อีโคไล (E.coli) และ Staphylococcus โดยโรคลำไส้อักเสบที่เกิดจากแบคทีเรียที่พบบ่อย เช่น โรคอาหารเป็นพิษ โรคบิด โรคไทฟอยด์ อหิวาตกโรค
  • ไวรัส ที่ทำให้เกิดลำไส้อักเสบ เช่น ไวรัสโรตาที่ทำให้เกิดโรคท้องร่วงจากไวรัสโรตา อะดีโนไวรัส (Adenovirus) ที่ทำให้ท้องเสียที่เรียกว่า ไข้หวัดลงกระเพาะ (Stomach flu) หรือ ไวรัสซีเอมวี (CMV, Cytomegalovirus) ที่ทำให้เกิดลำไส้อักเสบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เป็นต้น
  • ปรสิต เช่น อะมีบา (Amoeba) ในโรคบิดมีตัว พยาธิต่างๆ เช่น พยาธิตัวกลมที่เรียกว่า พยาธิสตรองจิลอยด์ สตรองจิลอยดิอาซิส (Strongyloidiasis)
  • เชื้อรา มักพบเป็นสาเหตุให้เกิดลำไส้อักเสบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง เช่น โรคเอดส์

ข. ลำไส้อักเสบสาเหตุไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ เป็นโรคที่พบได้ประปราย เช่น

  • ลำไส้ขาดเลือด (Ischemic colitis)จากมีโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
  • หรือมีเนื้อเยื่ออักเสบในทุกอวัยวะ รวมทั้งลำไส้อักเสบจากโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง เป็นต้น

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดลำไส้อักเสบ?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดลำไส้อักเสบ ได้แก่

ก. ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่จะเกิดลำไส้อักเสบสาเหตุจากติดเชื้อโรค ได้แก่

  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในถิ่นที่การสาธารณสุขยังไม่เจริญ
  • นักท่องเที่ยว
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในที่แออัด เช่น โรงเรียน ค่ายทหาร ค่ายอพยพ
  • ผู้ดูแลผู้ป่วยโรคระบบทางเดินอาหาร

ข. ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดลำไส้อักเสบสาเหตุไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ จะขึ้นกับแต่ละสาเหตุ เช่น มีประวัติโรคนี้ในครอบครัว (พันธุกรรม) เช่น ในโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง, หรือ เด็กคลอดก่อนกำหนดเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดลำไส้อักเสบที่เรียกว่า โรคNecrotizing enterocolitis เป็นต้น

ลำไส้อักเสบมีอาการอย่างไร? เมื่อไรควรพบแพทย์?

อาการที่พบได้บ่อยในโรคลำไส้อักเสบ คือ ท้องเสียหรือท้องร่วงร่วมกับปวดท้อง โดยการปวดจะมีลักษณะแบบปวดบีบ นอกจากนั้นที่อาจพบร่วมด้วยได้ เช่น

  • ลักษณะอุจจาระอาจ เหลว เป็นน้ำ เป็นมูก หรือเป็นมูกเลือด มักมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ โดยสีอาจปกติ หรือ ซีดกว่าเดิม
  • มีไข้ พบได้ทั้งไข้สูง หรือไข้ต่ำ ขึ้นกับสาเหตุ
  • รู้สึกหนาวสั่น
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • อ่อนเพลีย
  • ถ้าท้องเสียมากโดยเฉพาะมีอาเจียนร่วมด้วย และ/หรือดื่มน้ำได้น้อย มักมีภาวะขาดน้ำ

อนึ่ง เมื่อมีอาการดังกล่าวที่รุนแรง หรือ อาการไม่ดีขึ้นหลังดูแลตนเอง หรือ อาการเลวลงใน 24 ชั่วโมง ควรต้องรีบไปโรงพยาบาล แต่ถ้ามี ไข้สูง ปวดท้องมาก และ/หรืออาการจากภาวะขาดน้ำ (เช่น ตาโหล ปากแห้ง วิงเวียน เป็นลม ใจสั่น) ต้องรีบไปโรงพยาบาลฉุกเฉิน

แพทย์วินิจฉัยลำไส้อักเสบได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุลำไส้อักเสบได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญคือ ประวัติอาการ ประวัติการเดินทาง ประวัติถิ่นที่อยู่อาศัย และการระบาดของโรค
  • การตรวจร่างกาย
  • การตรวจอุจจาระ
  • การตรวจเลือด เช่น
    • ดูค่า ซีบีซี(CBC) เพื่อดูว่ามีการติดเชื้อแบคทีเรียหรือไม่
    • และดูค่าเกลือแร่/ Electrolyte (ดูภาวะขาดน้ำ)
  • การตรวจเพาะเชื้อจากอุจจาระหรือจากเลือด
  • และอาจมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ทั้งนี้ขึ้นกับ อาการผู้ป่วย, ความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบ, และดุลพินิจของแพทย์ เช่น การเอกซเรย์ภาพช่องท้องกรณีปวดท้องมาก เป็นต้น

รักษาลำไส้อักเสบได้อย่างไร?

การรักษาลำไส้อักเสบ มีหลัก 2 ประการ คือ การรักษาประคับประตองตามอาการ และการรักษาสาเหตุ

1. การรักษาประคับประคองตามอาการ ที่สำคัญ คือ

  • การป้องกันภาวะขาดน้ำด้วยการให้กินผงละลายเกลือแร่โออาร์เอส [ORS / Oral rehydration salt, แนะนำอ่านเพิ่มเติม วิธีกินโออาร์เอสในเด็กได้ในเว็บ haamor.com ในเกร็ดเรื่อง วิธีกินผงละลายเกลือแร่ (โออาร์เอส)ในเด็ก]
  • หรือถ้าขาดน้ำมาก จะเป็นการให้น้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ
  • นอกจากนั้น คือ
    • การกินอาหารอ่อน หรืออาหารน้ำ อาหารเหลว (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์)
    • การใช้ยาแก้ปวดท้อง
    • การให้ยาลดไข้
    • และ/หรือ ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

2. การรักษาสาเหตุ ซึ่งจะแตกต่างกันตามแต่สาเหตุ เช่น

  • การให้ยาปฏิชีวนะกรณีการอักเสบเกิดจากติดเชื้อแบคทีเรีย
  • การให้ยาต้านเชื้อราเมื่อการอักเสบเกิดจากเชื้อรา
  • การรักษาควบคุมโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเองเมื่อมีสาเหตุจากโรคนี้ เป็นต้น

ลำไส้อักเสบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?

ลำไส้อักเสบ โดยทั่วไปเป็นโรคไม่รุนแรง แพทย์มักรักษาควบคุมโรคได้ แต่กรณีที่พบแพทย์ล่าช้า หรือมีโรคประจำตัวอื่น สุขภาพไม่ดี โรคลำไส้อักเสบอาจรุนแรงลุกลามจนเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ และผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจพบได้ ได้แก่

  • การติดเชื้อในกระแสโลหิต (ภาวะพิษเหตุติดเชื้อ)
  • หรือการติดเชื้อของ เยื่อบุช่องท้อง (เยื่อบุช่องท้องอักเสบ)
  • หรือมี ลำไส้ทะลุ
  • หรือเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือดจนเน่าตาย (เนื้อตายเหตุขาดเลือด)

ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีลำไส้อักเสบ ได้แก่

  • กินอาหารอ่อน (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ประเภทอาหารทางการแพทย์)
  • ดื่มน้ำให้ได้มากกว่าปกติ อย่างน้อยต้องชดเชยน้ำที่เสียไปจากการถ่ายอุจจาระและ/หรืออาเจียน
  • ดื่มน้ำเกลือแร่ ORS เมื่อมีอาการท้องเสียต่อเนื่อง หรือท้องเสียมาก
  • และระวังอย่าให้เกิดภาวะขาดอาหาร โดยกิน อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบ กินครั้งละน้อยๆ แต่กินให้บ่อยขึ้น
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • รักษาความสะอาดอาหารและน้ำดื่ม
  • รักษาความสะอาดเครื่องใช้ส่วนตัว ชาม ช้อน แก้วน้ำ การล้างมือก่อนกินอาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ การอุจจาระในส้วม เพื่อป้องกันโรคแพร่กระจายสู่ผู้อื่น กรณีโรคเกิดจากการติดเชื้อ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนนัดเมื่อ
    • อาการเลวลง หรือไม่ดีขึ้น เช่น ปวดท้องมากขึ้น อุจจาระเป็นเลือดมากขึ้น
    • มีไข้
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ขึ้นผื่นทั้งตัว ท้องผูกมากต่อเนื่อง คลื่นไส้อาเจียนทุกครั้งหลังกินยา
    • กังวลในอาการ
  • ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉินเมื่อ
    • ไข้สูง
    • ปวดท้องมาก
    • อาเจียนมาก
    • และมีอาการของภาวะขาดน้ำ

ป้องกันลำไส้อักเสบได้อย่างไร?

การป้องกันโรคลำไส้อักเสบที่สามารถป้องกันได้อย่างมีประสิทธิภาพคือ โรคลำไส้อัก เสบที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อ ส่วนที่สาเหตุไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อมักเป็นโรคที่ไม่สามารถป้องกันได้

การป้องกันโรคลำไส้อักเสบสาเหตุจากติดเชื้อ ได้แก่

  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เสมอ
  • รักษาความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม โดยเฉพาะน้ำแข็ง ห้องครัว เครื่องใช้ในการปรุง อาหาร และในการกิน/ดื่ม
  • กินอาหารปรุงสุกทั่วถึงเสมอ
  • ล้างมือให้สะอาดบ่อยๆ และทุกครั้งก่อนกินอาหารและหลังเข้าห้องน้ำ
  • ไม่ใช้ ช้อน ซ่อม แก้วน้ำ ร่วมกับผู้อื่น และใช้ช้อนกลางในการรับประทานอาหารทุก ครั้ง
  • ใช้ส้วมเสมอในการขับถ่าย เพื่อลดโอกาสเกิดโรคระบาดติดต่อทางอุจจาระ
  • ศึกษาสุขอนามัยของประเทศที่จะไปท่องเที่ยวก่อนเสมอ โดยเฉพาะในเรื่องน้ำดื่ม

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Colitis [2019,March9]
  2. https://en.wikipedia.org/wiki/Enterocolitis [2019,March9]
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Enteritis [2019,March9]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Necrotizing_enterocolitis [2019,March9]
  5. https://www.niddk.nih.gov/health-information/digestive-diseases/viral-gastroenteritis [2019,March9]