เหนื่อยล้า อ่อนล้า อ่อนเพลีย (Fatigue)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 29 กรกฎาคม 2559
- Tweet
- บทนำ
- อาการเหนื่อยล้ามีกี่ประเภทและมีสาเหตุจากอะไร?
- อาการเหนื่อยล้ามีอาการร่วมอื่นๆอะไรบ้าง?
- แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการเหนื่อยล้าอย่างไร?
- รักษาอาการเหนื่อยล้าอย่างไร?
- อาการเหนื่อยล้ารุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- เมื่อมีอาการเหนื่อยล้าควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันอาการเหนื่อยล้าอย่างไร?
- บรรณานุกรม
- ความเครียด ภาวะซึมเศร้า และโรคซึมเศร้า (Stress, Depression and Depressive disorder)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- เครื่องดื่มชูกำลัง เครื่องดื่มบำรุงกำลัง (Energy drinks)
- มะเร็ง (Cancer)
- โลหิตจาง เลือดจาง ซีด (Anemia)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
บทนำ
เหนื่อยล้า อ่อนล้า ล้า หรืออ่อนเพลีย (Fatigue) เป็นอาการหรือความรู้สึกไม่ใช่เป็นโรค มักพบเกิดหลังพักผ่อนไม่เพียงพอ อดนอน ทำงานหนักต่อเนื่อง และ/หรือมีปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ
เหนื่อยล้าเป็นอาการพบบ่อยอาการหนึ่ง พบได้ทั้งในเด็ก (มีรายงานพบเกิดได้ในเด็กตั้งแต่ อายุ 5 ปี) ไปจนถึงผู้สูงอายุโดยพบได้บ่อยขึ้นเมื่อยิ่งสูงอายุ ผู้หญิงและผู้ชายมีโอกาสเกิดอาการนี้ได้ใกล้เคียงกัน
อาการเหนื่อยล้ามีกี่ประเภทและมีสาเหตุจากอะไร?
บางท่านแบ่งอาการเหนื่อยล้าได้เป็น 3 ประเภทคือ
- อาการเหนื่อยล้าปกติจากการใช้ชีวิตประจำ (Physiologic fatigue)
- อาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิ (Secondary fatigue) และ
- อาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue หรือ Chronic fatigue syndrome)
แต่บางท่านแบ่งอาการเหนื่อยล้าเป็น 2 ประเภทคือ
- อาการเหนื่อยล้าเฉียบพลัน (Acute fatigue) และ
- อาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue หรือ Chronic fatigue syndrome)
ก. อาการเหนื่อยล้าปกติจากการใช้ชีวิตประจำวัน (Physiologic fatigue) ได้แก่ อาการ เหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นเป็นปกติกับทุกคน จะมีอาการในช่วงระยะเวลาสั้นๆจากพักผ่อนไม่เพียงพอ, อดนอนทำงานหนัก, มีปัญหาทางอารมณ์/จิตใจ โดยอาการจะหายไปเองหลังการพักผ่อนหรือผ่านระยะ ความเครียด/กังวลนั้นไปแล้ว มักมีอาการอยู่ประมาณไม่เกิน 2 - 4 สัปดาห์ซึ่งจัดเป็น “อาการเหนื่อยล้าเฉียบพลัน (Acute fatigue)”
ข. อาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิ (Secondary fatigue) คืออาการเหนื่อยล้าที่เกิดจากมีสาเหตุผิด ปกติของร่างกายเช่น
- จากมีโรคเรื้อรังเช่น โรคเบาหวาน โรคตับแข็ง โรคไตเรื้อรัง โรคหัวใจ โรคมะเร็ง โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง ภาวะซีด ภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก หรือ
- จากผลข้างเคียงของยาบางชนิดเช่น ยาลดน้ำตาลในเลือด ยาเคมีบำบัดในการรักษาโรคมะเร็ง ซึ่งอาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิจะหายได้ภายหลังการรักษาควบคุมสาเหตุได้แล้ว ทั้งนี้อาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิเป็นได้ทั้ง “อาการเหนื่อยล้าเฉียบพลัน (Acute fatigue) และอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue หรือ Chronic fatigue syndrome)”
ค. อาการเหนื่อยล้าเฉียบพลัน (Acute fatigue) คืออาการเหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นภายในระยะเวลา ไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งคืออาการเหนื่อยล้าตามปกติที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันและอาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิ
ง. อาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue หรือ Chronic fatigue syndrome) คืออาการ เหนื่อยล้าที่เกิดขึ้นต่อเนื่องนานเกิน 6 เดือนขึ้นไป ซึ่งมักเกิดจากการควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุไม่ได้ เช่น ควบคุมโรคมะเร็งไม่ได้ เป็นต้น ซึ่งเมื่ออาการเกิดขึ้นเรื้อรังนานเกิน 6 เดือนและเป็นอาการที่แพทย์ตรวจไม่พบสาเหตุที่ชัดเจนเรียกว่า กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (Chronic fatigue syndrome หรือย่อว่า ซีเอฟเอส/CFS)
อาการเหนื่อยล้ามีอาการร่วมอื่นๆอะไรบ้าง?
อาการอื่นๆที่อาจเกิดร่วมกับอาการเหนื่อยล้าคืออาการจากสาเหตุได้แก่
1. อาการเหนื่อยล้าปกติจากการใช้ชีวิตประจำวัน อาการร่วมเช่น ทำงานมากเกินไปจึงเหนื่อยล้าหรือนอนไม่พอ ปกติควรนอนพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 6 - 8 ชั่วโมงโดยต้องเป็นการนอนหลับได้อย่างเต็มที่ ไม่ใช่ตื่นตลอดคืน เป็นต้น
2. อาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิ มักเกิดร่วมกับอาการที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการเหนื่อยล้าเช่น อา การจากภาวะซีด อาการจากภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก อาการจากโรคเบาหวาน หรืออาการจากโรคมะเร็ง เป็นต้น
3. อาการเหนื่อยล้าเรื้อรังที่มีสาเหตุจากโรคต่างๆ จะมีอาการต่างๆของแต่ละโรคร่วมด้วยเช่น อาการของโรคเบาหวาน เป็นต้น
4. ส่วนกลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง/กลุ่มอาการซีเอฟเอส มักมีอาการร่วมได้หลากหลายอาการเช่น อาจมีไข้ต่ำๆ อาจมีหนาวสั่น เจ็บคอเรื้อรัง คลำพบต่อมน้ำเหลืองโตได้ทั่วตัวและเจ็บ ปวดศีรษะเป็นประจำ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดเมื่อยข้อต่างๆ มีปัญหาในการนอนหลับ ตากลัวแสง หลงลืมง่าย ขาดสมาธิ มีปัญหาด้านการตัดสินใจ และมีอาการซึมเศร้า ซึ่งอาการเหล่านี้มักส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการเหนื่อยล้าอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุอาการเหนื่อยล้าได้จากประวัติอาการ ประวัติการเจ็บป่วยทั้งในอดีต และในปัจจุบัน ประวัติการใช้ยาต่างๆ ประวัติปัญหาในชีวิต/ครอบครัว การตรวจร่างกาย การตรวจอื่นๆ เพิ่มเติมตามความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและตามดุลพินิจของแพทย์เช่น ตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ดูภาวะซีด ตรวจเลือดดูค่าน้ำตาลในเลือดเมื่อสงสัยโรคเบาหวาน ตรวจเลือดดูค่าการทำงานของตับไตเมื่อสงสัยโรคของตับหรือของไต เป็นต้น อาจตรวจเอกซเรย์ปอด และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจเมื่อสงสัยโรคหัวใจ หรือตัดชิ้นเนื้อเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยาเมื่อพบก้อนเนื้อผิดปกติและสงสัยโรคมะเร็ง เป็นต้น
รักษาอาการเหนื่อยล้าอย่างไร?
1. แนวทางการรักษาอาการเหนื่อยล้าปกติจากการใช้ชีวิตประจำวัน คือ การพักผ่อนและการนอนหลับให้เพียงพอ กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกๆวัน การออกกำลังกายตามควรกับสุขภาพ
2. แนวทางการรักษาอาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิ คือ การดูแลรักษาควบคุมสาเหตุเช่น การดูแลรักษาควบคุมโรคเบาหวาน หรือภาวะโลหิตจางจากขาดธาตุเหล็ก เป็นต้น
3. แนวทางการรักษาอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง คือ การรักษาประคับประคองตามอาการเนื่องจากไม่ทราบสาเหตุเช่น การให้ยากระตุ้นให้ตื่นตัว การให้ยานอนหลับ การให้ยาแก้ปวด การให้ยารักษาอาการซึมเศร้า การให้ฮอร์โมนบางชนิด การกินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบในทุกๆวัน การออกกำลังกายพอควรกับสุขภาพ การเลิกบุหรี่ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการจำกัดเครื่องดื่มกาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ โคล่า เครื่องดื่มชูกำลัง)
อาการเหนื่อยล้ารุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอย่างไร?
1. อาการเหนื่อยล้าจากการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นอาการไม่รุนแรง อาการมักหายเป็นปกติหลัง การพักผ่อนและเมื่อนอนหลับได้เต็มที่
2. ความรุนแรงของอาการเหนื่อยล้าทุติยภูมิ จะขึ้นกับสาเหตุเช่น
- รุนแรงน้อยเมื่อเกิดจากภาวะซีดจากขาดธาตุเหล็ก
- รุนแรงปานกลางเมื่อเกิดจากโรคเบาหวาน และ
- ความรุนแรงจะสูงขึ้นเมื่อเกิดจากโรคมะเร็ง
3. อาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง ถึงแม้ไม่ทำให้เสียชีวิต (ตาย) แต่ก็มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวันกระทบถึงการทำงานจึงมีผลต่อคุณภาพชีวิต
ส่วนผลข้างเคียงจากอาการเหนื่อยล้าคือ ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ต่อการสังคม และต่อการงาน
เมื่อมีอาการเหนื่อยล้าควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองและการพบแพทย์เมื่อมีอาการเหนื่อยล้าคือ
- ควรพักผ่อนนอนหลับให้เต็มที่ให้เหมาะสมกับสุขภาพ
- กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบทุกวัน
- ออกกำลังกายเคลื่อนไหวร่างกายเสมอให้เหมาะสมกับสุขภาพ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต และเพื่อลดโอกาสติดเชื้อเพราะเมื่อเหนื่อยล้า ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกายจะต่ำลงจึงมีโอกาสติดเชื้อต่างๆได้ง่ายขึ้น
- เลิก/ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- เลิก/ไม่สูบบุหรี่
- จำกัดเครื่องดื่มกาเฟอีนเพราะจะมีผลต่อการนอนหลับ
- ไม่ซื้อยากินเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเพราะยาบางชนิดอาจมีผลข้าง เคียงให้เหนื่อยล้าได้
- ดูแลรักษาควบคุมโรคที่เป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง
- ควรพบแพทย์เมื่อ
- อาการเหนื่อยล้าไม่ดีขึ้นหลังพักผ่อนเต็มที่แล้ว หรือมีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน หรือต่อการ งาน
- ผอมลงโดยยังกินได้เป็นปกติ
- มีอาการปวดต่างๆผิดปกติหรือปวดมากเช่น ปวดศีรษะ ปวดข้อ เป็นต้น
- มีอาการผิดปกติต่างๆเช่น คลำพบก้อนเนื้อ มีต่อมน้ำเหลืองโต หรือมีเลือดออกทางใดทางหนึ่งเช่น ทางเหงือก ทางปัสสาวะ หรือทางอุจจาระ หรือมีเลือดออกปนในเสมหะหรือในน้ำลาย
- มีความกังวลในอาการ
ป้องกันอาการเหนื่อยล้าอย่างไร?
การป้องกันอาการเหนื่อยล้าจะเช่นเดียวกับในการดูแลตนเองเมื่อมีอาการเหนื่อยล้าซึ่งที่สำคัญ คือ
- พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอประมาณวันละ 6 - 8 ชั่วโมง
- ออกกำลังกายแต่พอควร
- กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ)
- เลิก/ไม่ดื่มสุรา, เลิก/ไม่สูบบุหรี่
- จำกัดการดื่มเครื่องดื่มมีกาเฟอีน
- ดูแลรักษาควบคุมโรคเรื้อรังต่างๆเช่น โรคเบาหวาน เพราะเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด อาการเหนื่อยล้า
- ตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ (การตรวจสุขภาพ) เพื่อให้พบโรคเรื้อรังตั้งแต่แรกเป็น ขณะยังไม่มีอาการ ซึ่งการดูแลรักษาควบคุมจะได้ผลดีกว่าเมื่อตรวจพบโรคเมื่อมีอาการแล้ว
บรรณานุกรม
- Craig, T., and Kakumanu, S. (2002). Chronic fatigue syndrome: evaluation and treatment. Am Fam Physician. 65, 1083-1091.
- Fatiguehttp://en.wikipedia.org/wiki/Fatigue [2016,July9]
- Fatiguehttp://www.ccohs.ca/oshanswers/psychosocial/fatigue.html [2016,July9]
- Rosenthal, T. et al. (2008). Fatigue: an overview. Am Fam Physician. 78, 1173-1179.
Updated 2016, July 9