เหนื่อยล้า อ่อนล้า อ่อนเพลีย (Fatigue) - Update

สารบัญ

  • เกริ่นนำ
  • ลักษณะทั่วไปของความอ่อนเพลีย
  • ลักษณะเฉพาะของความอ่อนเพลียแต่ละประเภท
  • สาเหตุของอาการอ่อนเพลีย
  • โรคและความเจ็บป่วยที่ก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลีย
  • ความเจ็บป่วยทางร่างกาย
  • ความเจ็บป่วยทางจิต
  • การรักษา
  • ความชุกของโรค
  • ความเป็นไปได้ของสาเหตุความอ่อนเพลีย

เกริ่นนำ

อาการอ่อนเพลีย (Fatigue) อธิบายถึงภาวะเหนื่อยล้า(ซึ่งไม่ใช่จากอาการง่วงนอน) เหนื่อยอ่อน หรือขาดพลังงาน  ในทางการแพทย์อาการอ่อนเพลียครอบคลุมถึงการประสบปัญหาหมดแรง ซึ่งไม่ได้มีสาเหตุมาจากการใช้ชีวิตปกติประจำวัน  ส่วนภาวะเหนื่อยล้า (Tiredness) ที่เป็นผลมาจากการทำงานหนัก ความเครียด ความกังวล การที่สมองหรือร่างกายขาดหรือได้รับการกระตุ้นมากเกินไป เจ็ทแล็ก การสันทนาการ ความเบื่อหน่าย หรือการนอนไม่พอ ไม่ถูกจัดอยู่ในภาวะอาการอ่อนเพลียทางการแพทย์  (ตามคำจำกัดความทางการแพทย์ของ MeSH (Medical Subject Heading)  

อาการอ่อนเพลียทางการแพทย์ โดยมากเกี่ยวเนื่องกับภาวการณ์เจ็บป่วย เช่น โรคแพ้ภูมิตัวเอง อวัยวะล้มเหลว อาการปวดเรื้อรัง ความผิดปกติทางอารมณ์ โรคหัวใจ โรคติดเชื้อ และสภาวะหลังการติดเชื้อ อย่างไรก็ตามภาวะอาการอ่อนเพลียค่อนข้างมีความซับซ้อน และหนึ่งในสามของผู้ป่วย ไม่สามารถวินิจฉัยสาเหตุทางการแพทย์หรือทางจิตเวชได้

อาการอ่อนเพลีย ในภาวะจากความเหนื่อยล้าทั่วไป มักเกิดจากการทำกิจกรรมทางร่างกายหรือการใช้สมองต่อเนื่องเป็นเวลานาน ความอ่อนเพลียทางกายมักเกิดจากความเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ เนื่องจากกิจกรรมทางกายภาพที่หนักหน่วง ขณะที่ความอ่อนเพลียทางจิตเกิดจากการใช้สมองทำงานอย่างหนัก จนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการคิดและตัดสินใจ

อาการอ่อนเพลียทางจิตใจสามารถแสดงออกในรูปแบบของอาการง่วงนอน ความเซื่องซึม หรือการขาดสมาธิ นอกจากนี้ ความอ่อนเพลียทางจิตใจยังสามารถส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพทางร่างกาย ทำให้เกิดการเหนื่อยล้าทางกายเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ลักษณะทั่วไปของความอ่อนเพลีย

ลักษณะเด่นของความอ่อนเพลียทางการแพทย์ ได้แก่

  • การคาดเดาไม่ได้
  • ระดับความรุนแรงที่แปรปรวน
  • ความอ่อนเพลียค่อนข้างรุนแรง และมีผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน
  • ไม่ดีขึ้นแม้ได้รับการพักผ่อน
  • ในกรณีที่มีโรคประจำตัวอยู่ ความรุนแรงของความอ่อนเพลียมักจะไม่สอดคล้องกับความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่.

ลักษณะเฉพาะของความอ่อนเพลียแต่ละประเภท

ลักษณะเฉพาะของความอ่อนเพลียที่แตกต่างกัน อาจช่วยระบุสาเหตุของของความอ่อนเพลียได้ ซึ่งลักษณะเหล่านี้ประกอบด้วย

  • อ่อนเพลียหลังออกแรงหรือออกกำลังกาย เป็นลักษณะเฉพาะทั่วไปของโรค ME/CFS (กลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง) และภาวะของผู้ป่วยลองโควิดส่วนใหญ่ ซึ่งไม่พบในภาวะอ่อนเพลียประเภทอื่น
  • อ่อนเพลียมากขึ้นจากความร้อนหรือความเย็น ลักษณะเฉพาะเหล่านี้ มักพบมากในผู้ป่วยโรคเอ็มเอส หรือ ปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
  • การทุเลา การอ่อนเพลียจากโรคเอ็มเอสอาจลดลงในช่วงที่อาการเอ็มเอสทุเลาลง ขณะที่ผู้ป่วยกลุ่มอาการความล้าเรื้อรังอาจมีช่วงเวลาของการอ่อนเพลียที่สั้นกว่า
  • ร่วมด้วยอาการสมองทำงานช้าลง การนอนหลับไม่เพียงพอ ส่งผลต่อการรับรู้และพฤติกรรมทางประสาท รวมถึงการขาดสมาธิและการตอบสนองที่ช้าลง  โรคเอ็มเอส และความอ่อนล้าเรื้อรังอาจทำให้เกิดสมองมึนงงเป็นเวลานานขึ้น
  • ความถี่ในการเกิดอาการ ความอ่อนเพลียแต่ละสาเหตุจะมีความถี่และเวลาที่เกิดแตกต่างกัน  ความอ่อนเพลียจากโรคบางชนิด เช่น โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ แล มะเร็ง มักมีอาการต่อเนื่องได้ตลอดเวลา  ขณะที่ความอ่อนเพลียจากสาเหตุอื่น ๆ เช่น โรคเอ็มเอส  โรคภูมิแพ้แบบโจเกรน โรคแพ้ภูมิตนเองลูปัส  และการบาดเจ็บที่สมอง มักเกิดขึ้นไม่ต่อเนื่อง 

จากการศึกษาในปี 2010 พบว่า

    • ผู้ป่วยด้วยโรคโจเกรน จะมีอาการอ่อนเพลียหลังตื่นนอน และดีขึ้นในช่วงเช้า แต่จะแย่ลงหลังจากนั้นในแต่ละวัน
    • ในขณะที่ผู้ป่วยด้วยโรคแพ้ภูมิตนเองลูปัสจะมีอาการเหนื่อยอ่อนเพียงเล็กน้อยหลังตื่นนอน แต่อาการจะหนักขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดทั้งวัน
    • อาการอ่อนเพลียของผู้ป่วยโรคเอ็มเอส/โรคอ่อนล้าเรื้อรัง สามารถเกิดขึ้นต่อเนื่อง หรือแปรปรวนได้ระหว่างวัน และอาจแตกต่างกันในแต่ละวัน  ติดต่อกันเป็นเวลานาน
  • ลักษณะการเกิดอาการ ความอ่อนเพลียจากโรคที่ต่างกัน จะมีรูปแบบการกำเริบที่ต่างกัน เช่นความอ่อนเพลียจากโรคเอ็มเอสสามารถเกิดขึ้นได้แบบกระทันหัน
  • ความรู้สึกหนัก อาการอ่อนเพลียจากโรคบางประเภท เช่นโรคเอ็มเอส ผู้ป่วยอาจรู้สึกหนักหรือถ่วง เช่นมีคนเคยบรรยายถึงอาการนี้ว่า “ฉันรู้สึกเหมือนมีลูกตุ้มเหล็กผูกไว้ที่แขนขา หรือถูกแรงโน้มถ่วงยึดตัวไว้”

สาเหตุของอาการอ่อนเพลีย

ในผู้ป่วยบางราย อาจพบว่าอาจมีสาเหตุที่ก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลียมากว่าหนึ่งสาเหตุ

  • การใช้ยา

จากผลการศึกษาของประเทศเกาหลีในปี 2021 พบว่าการบริโภคแอลกอฮอล์เป็นตัวแปรสำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดความอ่อนเพลีย ขณะที่การศึกษาของประเทศนอร์เวย์ในปี 2020 พบว่า 69% ของผู้ใช้สารเสพติดมีอาการอ่อนเพลียอย่างรุนแรง  โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ที่ใช้ยานอนหลับเบนโซไดอะซีพีนอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน อย่างไรก็ตาม การศึกษาทั้งสองยังไม่ได้รับการพิสูจน์ถึงความสัมพันธ์เชิงสาเหตุอย่างชัดเจน

  • การอ่อนเพลียที่ไม่สามารถระบุสาเหตุได้

หนึ่งในสามของผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลียไม่สามารถระบุสาเหตุที่ชัดเจนได้ผ่านการวินิจฉัยทางการแพทย์ เช่นเดียวกับอาการเหนื่อยล้า ซึ่งมักถูกจัดเป็นอาการทั่วไปที่ไม่สามารถอธิบายได้ด้วยภาวะทางการแพทย์เฉพาะเจาะจง

  • ภาวะการนอนผิดปกติ

ความอ่อนเพลียบ่อยครั้งมีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการนอนที่ไม่เหมาะสม การอดนอนหรือการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพสามารถนำไปสู่การเกิดความอ่อนเพลียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากการนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพนั้นเกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพที่ส่งผลต่อระดับพลังงานของร่างกาย นอกจากนี้ การบริโภคคาเฟอีนหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจรบกวนการนอนหลับและเพิ่มโอกาสในการเกิดอาการอ่อนเพลียตามมา

  • การใช้ยา

ความอ่อนเพลียสามารถเป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด เช่น เกลือลิเธียม ยาปฏิชีวนะซิโปรฟลอกซาซิน ยาที่ใช้รักษาอาการแพ้หรือไอ รวมถึงการบำบัดโรคมะเร็งหลายวิธี โดยเฉพาะการให้เคมีบำบัดและรังสีบำบัด นอกจากนี้ การใช้ยานอนหลับเบนโซไดอะซีพีนพบว่ามีความสัมพันธ์สูงกับอาการอ่อนเพลีย ในขณะที่ยากลุ่มเบต้า บล็อกเกอร์ ก็สามารถนำไปสู่ภาวะอ่อนเพลียขณะออกกำลังกายได้

โรคและความเจ็บป่วยที่ก่อให้เกิดอาการอ่อนเพลีย

อาการอ่อนเพลียมักมีความเกี่ยวข้องกับโรคหรือภาวะเจ็บป่วยที่หลากหลาย โดยกลุ่มอาการหรือภาวะที่มีความอ่อนเพลียเป็นหนึ่งในอาการร่วม ได้แก่ โรคทางร่างกาย การใช้สารเสพติดจนเกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โรคทางจิตเวช และภาวะเจ็บป่วยอื่น ๆ ซึ่งล้วนส่งผลต่อสุขภาพโดยรวมและระดับพลังงานของร่างกาย

  • ความเจ็บป่วยทางร่างกาย
    • โรคแพ้ภูมิตนเอง เช่น โรคเซลิแอค (ลำไส้เล็กเกิดการอักเสบจนไม่สามารถดูดซึมสารอาหารชนิดต่าง ๆ ได้) โรคลูปัส โรคปลอกประสาทโลหิตตีบ กล้ามเนื้ออ่อนแรง โรคจากภูมิคุ้มกันผิดปกติประเภท NMOSD กลุ่มอาการโจเกรน โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์  โรคกระดูกสันหลังอักเสบ โรคเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน UCTD (กลุ่มโรคที่มีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน)  อาการเบื้องต้นของผู้ป่วยเหล่านี้คืออาการอ่อนเพลีย
    • โรคเกี่ยวกับเลือด เช่น โรคโลหิตจาง และโรคเม็ดเลือดแดงน้อย
    • การบาดเจ็บทางสมอง
    • มะเร็ง ในกรณีนี้ เรียกว่า ความเหนื่อยล้าในผู้ป่วยมะเร็ง
    • โควิด 19 และลองโควิด
    • กลุ่มโรคพันธุกรรมเมแทบอลิกเช่น ความสามารถในการดูดซึมฟรุคโตสบกพร่อง
    • โรคติดเชื้อ เช่น โรคโมโนนิวคลีโอซิส (บางครั้งเรียกว่าโรคติดต่อจากการจูบซึ่งเกิดจากการติดเชื้อไวรัสเอ็บสไตบาร์(Epstein-Barr Virus: EBV) ที่สามารถแพร่กระจายผ่านทางน้ำลาย)
    • วัณโรค
    • กลุ่มอาการลําไส้แปรปรวน
    • โรคไต เช่น ไตวายเฉียบพลัน และไตวายเรื้อรัง
    • มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือมะเร็งต่อมน้ำเหลือง
    • โรคลายม์ (เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีชื่อว่า Borrelia Burgdorferi โดยคนสามารถติดเชื้อนี้ได้จากการถูกเห็บกัด)
    • ความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น โรคลมหลับ โรคพาร์กินสัน โรคไข้กาฬหลังแอ่น และกลุ่มอาการภายหลังสมองกระทบกระเทือน 
    • ภาวะบาดเจ็บทางร่างกาย และและสภาวะที่ก่อให้เกิดความเจ็บปวดอื่น ๆ เช่น โรคข้ออักเสบ
  • ความเจ็บป่วยทางจิต
    • โรควิตกกังวล เช่น ภาวะวิตกกังวลทั่วไป
    • โรคซึมเศร้า
    • ภาวะความผิดปกติเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร ซึ่งอาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าเนื่องจากโภชนาการไม่เพียงพอ
  • สาเหตุอื่น ๆ
    • โรคสมองและไขสันหลังอักเสบที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ/กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (ME/CFS)
    • ความเหนื่อยล้าเรื้อรังที่ไม่ทราบสาเหตุ หมายถึงภาวะเหนื่อยล้าต่อเนื่องยาวนาน ซึ่งไม่รวมอยู่ใน ภาวะอ่อนเพลียเรื้อรัง หรือกลุ่มอาการความล้าเรื้อรัง 
    • กัลฟท์วอร์ซินโดรม (อาการหลักๆ ของโรคนี้เหมือนโรคที่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่แสดงอาการแตกต่างกัน เช่น มีความเครียดสูง เป็นโรคผิวหนัง กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจติดขัด โรคไข้หวัดใหญ่เรื้อรัง )

การรักษา

แพทย์จะวินิจฉัยสาเหตุที่ก่อให้เกิดความอ่อนเพลีย เพื่อกำหนดวิธีรักษาที่เหมาะสมกับอาการ เช่น

  • การหยุดยาที่ทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย

ยาบางตัวสามารถมีผลข้างเคียงให้เกิดความอ่อนเพลีย เมื่อหยุดหรือเปลี่ยนยา อาการผู้ป่วยจะเริ่มดีขึ้น

  • ใช้ยารักษาอาการอ่อนเพลีย

ในทางการแพทย์มีการแนะนำให้ใช้ ยาอะแมนตาดีน (amantadine) ยาโมดาฟินิล (modafinil) และยาต้านเศร้ากลุ่มSSRIs (จากแนวทางเวชปฏิบัติของ National Institute for Health and Care Excellence หรือ NICE  แห่งประเทศอังกฤษ )

ยากลุ่มกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เช่น เมทิลเฟนิเดต (methylphenidate) แอมเฟตามีน (amphetamines) และโมดาฟินิล (modafinil) มักถูกนำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนเพลียซึ่งเกิดจากโรคซึมเศร้า หรือภาวะเจ็บป่วยทางการแพทย์ เช่น กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง และโรคมะเร็ง ยาเหล่านี้ยังถูกนำมาใช้เพื่อลดความอ่อนเพลียในกรณีที่เกิดจากการอดนอน และในบางกรณีสำหรับผู้ปฏิบัติงานด้านการบิน เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและความตื่นตัว

  • การบำบัดทางจิต

การบำบัดความคิดและพฤติกรรม (Cognitive Behavioral Therapy: CBT) อาจมีประโยชน์ในการรักษาอาการอ่อนเพลีย รวมถึงโรคสมองและไขสันหลังอักเสบที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อ/กลุ่มอาการเหนื่อยล้าเรื้อรัง (ME/CFS) แต่ไม่ได้ถูกบรรจุอยู่ในแนวทางการรักษา ME/CFS ของสถาบันแห่งชาติเพื่อความเป็นเลิศด้านสุขภาพและการดูแล

  • แนวทางอื่น ๆ
    • หลีกเลี่ยงความร้อน ความอ่อนเพลียจากภาวะโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส มักมีความสัมพันธ์กับอุณหภูมิภายในร่างกาย
    • ปรับปรุงคุณภาพการนอน ในผู้มีอาการบางราย เพียงการปรับปรุงคุณภาพการนอนก็สามารถช่วยลดความอ่อนเพลียได้
    • การทำ IF (Intermittent fasting) จากการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กในปี 2022 พบว่า 40 % ของกลุ่มผู้ป่วยด้วยภาวะอ่อนเพลียมีอาการดีขึ้นหลังจากทำ IF แบบ 16:8 เป็นระยะเวลานานสามเดือน
    • การกระตุ้นเส้นประสาทวากัส จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กของผู้ป่วยด้วยโรคภูมิต้านทานผิดปกติชนิดโจเกรนในปี 2023 พบว่าผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยอ่อนลดลง หลังรรักษาด้วยวิธีกระตุ้นเส้นประสาทวากัส เป็นเวลา 56 วัน
    • ชี่กงและไทเก็ก การบริหารกายและจิตร่วมกันแบบชี่กงและไทยเก็ก ได้รับการสันนิษฐานว่ามีประโยชน์ในการลดความอ่อนเพลียได้ แต่หลักฐานอาจยังไม่เด่นชัด

ความชุกของโรค

  • เวชปฏิบัติทางการแพททย์ ปี 2023 ระบุว่าอุบัติการณ์ของอาการอ่อนเพลียในเพศหญิงจะอยู่ระหว่าง3% ถึง 21.9% โดยอุบัติการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย
  • การศึกษาจากประเทศเยอรมนีในปี 2021 พบว่า 10-20% ของผู้ที่เข้ารับบริการทางการแพทย์มีภาวะอ่อนเพลียเป็นสาเหตุหลักหรือสาเหตุร่วมของอาการที่พวกเขาเผชิญ
  • จากการศึกษากลุ่มตัวอย่างขนาดใหญ่ของคนอเมริกันที่มีอายุ 51 ปีขึ้นไป โดยใช้แบบสำรวจด้านสุขภาพและการเกษียณอายุ (HRS) ระยะยาวทุกสองปี ประจำปี 2004 พบว่า 33% ของผู้หญิงและ 29% ของผู้ชายมีการรายงานการเกิดอาการอ่อนเพลีย ในกลุ่มผู้รายงานอาการดังกล่าวมีอายุเฉลี่ยที่ประมาณ 65 ปี

ความเป็นไปได้ของสาเหตุความอ่อนเพลีย

  • การจัดการพลังงานของร่างกาย

ความอ่อนเพลียเป็นกลไกที่สะท้อนถึงการปรับตัวเพื่อจัดการพลังงานให้สอดคล้องกับสภาวะทางชีวภาพ จิตใจ และสรีรวิทยาของร่างกาย อาการนี้อาจเกิดขึ้นเมื่อร่างกายต้องการสงวนพลังงานสำหรับการซ่อมแซมตัวเอง (ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพฤติกรรมในภาวะเจ็บป่วย) หรือเพื่อเก็บพลังงานไว้ใช้ในความต้องการที่จำเป็นในปัจจุบันหรืออนาคต รวมถึงในสถานการณ์ที่รู้สึกไม่ปลอดภัยอีกด้วย

  • การปรับตัวเชิงวิวัฒนาการของร่างกายต่อโรค

มีการสันนิษฐานว่าความอ่อนเพลียเป็นกลไกที่มีประโยชน์ทางวิวัฒนาการ โดยช่วยให้ร่างกายสงวนพลังงานไว้สำหรับกระบวนการฟื้นฟูและบำบัดโรค เช่น การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรค นอกจากนี้ ความอ่อนเพลียยังอาจทำหน้าที่จำกัดการแพร่กระจายของโรคผ่านการลดปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งช่วยลดโอกาสในการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

อ่านตรวจทานโดย รศ. ดร. พญ. วารุณี พรรณพานิช วานเดอร์พิทท์

แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Fatigue [2025, January 10] โดย อาภาภรณ์ โชติกเสถียร