อีสุกอีใส (Chickenpox)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 9 มีนาคม 2562
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- โรคอีสุกอีใสมีอาการอย่างไร?
- ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอีสุกอีใส?
- โรคอีสุกอีใสเกิดได้อย่างไร? ติดต่อได้ไหม?
- แพทย์วินิจฉัยโรคอีสุกอีใสได้อย่างไร?
- โรคอีสุกอีใสมีวิธีรักษาอย่างไร?
- โรคอีสุกอีใสรุนแรงไหม มีผลข้างเคียงอย่างไร?
- ดูแลอย่างไรเมื่อเป็นโรคอีสุกอีใส? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- มีวิธีป้องกันโรคอีสุกอีใสไหม? มีวัคซีนป้องกันโรคไหม ?
- ฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสมีประโยชน์อะไรอีก? แพ้ไหม? มีข้อห้ามไหม?
- ฉีดวัคซีนแล้วยังเป็นโรคอีสุกอีใสได้อีกไหม?
- เมื่อยังไม่เคยฉีดวัคซีนอีสุกอีใสตอนเด็ก ควรฉีดวัคซีนอีสุกอีใสไหม?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- ไข้ อาการไข้ ตัวร้อน (Fever)
- ไข้ชัก (Febrile seizure)
- โรคหัด (Measles)
- โรคหัดเยอรมัน (German measles)
- วัคซีนอีสุกอีใส หรือ วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส(Varicella Vaccine)
- งูสวัด (Herpes zoster)
บทนำ
โรคอีสุกอีใส หรือหลายท่านเรียกว่า ‘โรคสุกใส’ หรือบางท่านเรียกว่า ‘ไข้อีสุกอีใส’ หรือ ‘ไข้สุกใส’ (Chickenpox หรือ Varicella) เป็นโรคติดต่อที่พบบ่อยโรคหนึ่ง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่มีชื่อว่า วาริเซลลา ซอสเตอร์ ไวรัส (Varicella zoster virus หรือเรียกย่อว่า VZV/วีซีวี ไวรัส) โดยทั่วไปเป็นโรคพบในเด็กตั้งแต่อายุประมาณ 1 ขวบไปจนถึงอายุประมาณ 12 ปี แต่อย่างไรก็ตามพบได้ในทุกอายุทั้ง เด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ โดยโอกาสเกิดใกล้เคียงกันทั้งในผู้หญิงและในผู้ชาย
โรคอีสุกอีใสมีอาการอย่างไร?
อาการพบบ่อยของโรคอีสุกอีไส ได้แก่
- มีไข้ มีได้ทั้งไข้สูงหรือไข้ต่ำ
- ปวดศีรษะ
- ปวดท้อง
- เจ็บคอ
- รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สบาย
- ประมาณ 1 - 2 วันหลังจากอาการดังกล่าว ไข้จะลง อาการต่างๆดังกล่าวดีขึ้น
- แต่ผิวหนังจะขึ้นผื่นอย่างรวดเร็ว โดยผื่นจะขึ้นบริเวณใบหน้าและลำตัวก่อน ต่อจากนั้นจึงขึ้นไปที่ หนังศีรษะ ที่แขนขา โดยผื่นขึ้นหนาแน่นในส่วนใบหน้าและลำตัว และอาจขึ้นในเยื่อบุช่องปาก และกับผิวหนังของอวัยวะเพศภายนอก
- ผื่นมีลักษณะเป็นผื่นแดง เม็ดเล็กๆ คันมาก
- ต่อจากนั้นภายใน 1 วัน ผื่นจะกลายเป็นตุ่มพอง มีน้ำใสๆในตุ่ม (อาจเป็นหนองเมื่อติดเชื้อแบคทีเรีย) อาจมีตุ่มพองทยอยเกิดต่อเนื่องได้อีกภาย ใน 3 - 6 วัน และ
- ต่อจากนั้น ผื่นจะแห้งตกสะเก็ดภายใน 1 - 3 วัน และสะเก็ดแผลจะค่อยๆลอกจางหายไปกลับเป็นปกติภายในระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์
ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอีสุกอีใส?
ผู้มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอีสุกอีใส ได้แก่
- ผู้ไม่เคยได้รับวัคซีนอีสุกอีใส (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วัคซีนอีสุกอีใส)
- เด็กอ่อนอายุต่ำกว่า 1 ปี
- ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น คนท้อง ผู้มีโรคเรื้อรังประจำตัว ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาสเตียรอยด์
โรคอีสุกอีใสเกิดได้อย่างไร? ติดต่อได้ไหม?
โรคอีสุกอีใสเป็นโรคติดต่อได้อย่างรวดเร็วมาก แต่น้อยกว่าโรคหัด ทั้งนี้เกิดจากการสัมผัสเชื้อจากผู้ป่วยทั้ง
- จากละอองเชื้อนี้ในอากาศ จากละอองการไอ จาม การหายใจ และตัวผื่น
- การสัมผัสเชื้อผู้ป่วยโดยตรง เช่น สัมผัสผื่นที่ผิวหนัง และ/หรือ น้ำเหลืองจากตุ่มน้ำของโรค รวมไปถึงการสัมผัสเสื้อผ้า สิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆของผู้ป่วย
ทั้งนี้:
- โรคอีสุกอีใสมีระยะฟักตัวประมาณ 10 - 21 วัน และ
- ผู้ป่วยจะเริ่มแพร่เชื้อได้ในช่วงประมาณ 2-5 วันก่อนขึ้นผื่น ยาวไปจนถึงเมื่อตุ่มน้ำแห้งแตกเป็นสะเก็ดหมดแล้ว (การสัมผัสสะเก็ดแผลไม่ติดโรค) ดังนั้นระยะแพร่เชื้อในโรคอีสุกอีใสจึงนานได้ถึง 7 - 10 วันหรือนานกว่านี้ในผู้ใหญ่ จึงเป็นสาเหตุให้เป็นโรคติดต่อระบาดได้อย่างกว้างขวางถ้าไม่แยกผู้ป่วยให้ดี
แพทย์วินิจฉัยโรคอีสุกอีใสได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคอีสุกอีใสได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ การเกิดผื่น ลักษณะการขึ้นผื่น ประวัติสัมผัสโรค
- การตรวจร่างกาย
- ไม่จำเป็นต้องมีการตรวจสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ยกเว้นในผู้ป่วยที่เกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อน
โรคอีสุกอีใสมีวิธีรักษาอย่างไร?
เนื่องจากเป็นการติดเชื้อไวรัส การรักษาจึงเป็น
- การรักษาประคับประคองตามอาการ ไม่จำเป็นต้องกินยาปฏิชีวนะ เพราะยาปฏิชีวนะฆ่าไวรัสไม่ได้ ฆ่าได้แต่แบคทีเรีย
- พักผ่อนให้เต็มที่
- ดื่มน้ำสะอาดมากๆอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้ว
- ใช้ยาทาและ/หรือยากินบรรเทาอาการคัน (ยาแก้คัน)
- ยาลดไข้
- และแพทย์อาจให้ยาต้านไวรัสกรณีโรครุนแรง หรือเมื่อมีผลข้างเคียงแทรกซ้อน เช่น ยา Acyclovir ซึ่งยาต้านไวรัสอาจเป็นยากินหรือยาฉีดขึ้นกับความรุนแรงของอาการและดุลพินิจของแพทย์
- การดูแลที่สำคัญที่สุดคือ การแยกผู้ป่วยรวมทั้งเครื่องใช้ทุกอย่างเพื่อป้องกันการติดเชื้อ/แพร่เชื้อ จนกว่าแผลจะตกสะเก็ดหมดทั้งตัวแล้ว
โรคอีสุกอีใสรุนแรงไหม มีผลข้างเคียงอย่างไร?
โดยทั่วไปโรคอีสุกอีใสเป็นโรคไม่รุนแรง/มีการพยากรณ์โรคที่ดี รักษาได้หาย ถึงแม้จะติดต่อได้รวดเร็วก็ตาม ดูแลรักษาหายได้ภายใน 1-2สัปดาห์ และร่างกายจะมีภูมิต้านทานต่อโรคนี้ไปจนตลอดชีวิตคือ ไม่ติดโรคนี้อีก ยกเว้นเมื่อเกิดภาวะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำลง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี
ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอีสุกอีใสรุนแรง:
อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงของโรคอีสุกอีใส/การเกิดผลข้างเคียงรุนแรงที่อาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ ขึ้นกับ อายุ และสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย
โดยความรุนแรงโรคสูงขึ้น (มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนสูงขึ้น)ใน
- ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ และ
- โดยเฉพาะในผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น
- กินยากดภูมิคุ้มกัน
- คนท้อง
- ผู้สูงอายุ
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น เบาหวาน โรคมะเร็ง
ผลข้างเคียงจากโรคอีสุกอีใส:
ผลข้างเคียง/ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดในผู้ป่วยโรคอีสุอีใส ที่บางโรคอาจรุนแรงจนเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ เช่น
- ตุ่มพองติดเชื้อแบคทีเรียกลายเป็นตุ่มหนอง (ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้เกิดแผลเป็นได้)
- โรคปอดบวม
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ
- โรคสมองอักเสบ
- นอกจากนั้นคือ เมื่อโรคหายแล้ว เชื้อบางส่วนอาจยังไม่หมดไป แต่จะแฝงตัวอยู่ตามปมประสาทต่างๆโดยเฉพาะของลำตัว เมื่อแก่ตัวลง หรือมีภูมิต้านทานคุ้มกันโรคต่ำ จะก่อให้เกิดเป็นโรคงูสวัดได้
*อนึ่ง เมื่อเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว มักมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคตลอดชีวิต ไม่กลับมาเป็นโรคอีก
ดูแลอย่างไรเมื่อเป็นโรคอีสุกอีใส? ควรพบแพทย์เมื่อไร?พบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
การดูแลตนเองและดูแลเด็กป่วยด้วยโรคอีสุกอีใส *ที่สำคัญที่สุดคือ
- แยกผู้ป่วยรวมทั้งเครื่องมือเครื่องใช้ส่วนตัวต่างๆ เช่น เสื้อผ้า แก้วน้ำ ช้อน ชาม และ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ป้องกันเชื้อติดต่อสู่ผู้อื่น และเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อน
การดูแลอื่นๆนอกจากดังได้กล่าวแล้ว ได้แก่
- ตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันการเกาเกิดแผลซึ่งจะติดเชื้อได้ง่าย
- ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากๆอย่างน้อยวันละ 6 - 8 แก้วเมื่อไม่มีโรคที่แพทย์ให้จำกัดน้ำดื่ม
- ทายาแก้คันเช่น ยาคาลามาย (Calamine lotion) และ/หรือกินยาแก้คัน โดยปรึกษาเภสัชกรก่อนซื้อยากินเองเสมอ เพื่อความปลอดภัยในการใช้ยา
- กินยาลดไข้พาราเซตามอล (Paracetamol) เมื่อมีไข้ อย่ากินยาแอสไพรินเพราะอาจมีการแพ้ยาแอสไพรินได้โดยเฉพาะในเด็กๆ
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลภายใน 24 โมง เมื่อ
- มีไข้สูง และไข้ไม่ลงภายใน 1 - 2 วันหลังกินยาลดไข้
- ตุ่มพองเป็นหนอง
- ไอมาก ไอมีเสมหะ (มักเป็นตัวบ่งชี้ว่า มีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อน ซึ่งต้องได้รับการรักษาด้วยยาปฏิชีวนะโดยแพทย์)
- รีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลฉุกเฉิน/ทันที เมื่อ
- เจ็บหน้าอกมาก (เป็นอาการของปอดติดเชื้อ/ปอดบวม)
- หายใจติดขัด/หายใจลำบาก หอบเหนื่อย (เป็นอาการของปอดติดเชื้อ)
- ปวดศีรษะมาก อาจร่วมกับ แขน ขา อ่อนแรง หรือชัก (เป็นอาการของสมองอัก เสบ หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ)
มีวิธีป้องกันโรคอีสุกอีใสไหม? มีวัคซีนป้องกันโรคไหม?
วิธีป้องกันโรคอีสุกอีใส*ที่สำคัญที่สุด คือ การไม่สัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ซึ่งทำยากมากเพราะเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย
นอกจากนั้นคือ รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงลดโอกาสเกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโรค
แต่*การป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุด ป้องกันโรคได้ถึงประมาณ 90-95% ได้แก่ ‘การฉีดวัคซีนป้องกัน (ฉีดเข้าใต้ผิวหนัง)’ ซึ่งแพทย์แนะนำให้เริ่มฉีดตั้งแต่อายุได้ 1 ปี โดยเมื่ออายุ 1 -12 ปี และให้ฉีดกระตุ้นเข็มที่ 2 หลังเข็มแรกอย่างน้อย 3 เดือน (วัคซีนให้ผลป้องกันโรคได้ตลอดชีวิต) แต่การฉีดวัคซีนในอายุตั้งแต่ 13 ปีขึ้นไปจนถึงในผู้ใหญ่ ให้ฉีดเข็มที่สองตามหลังเข็มแรกประมาณ 4 - 8 สัปดาห์ซึ่งภูมิคุ้มกันอยู่ได้อย่างน้อยประมาณ 20 ปี (แนะนำอ่านราย ละเอียดวัคซีนนี้เพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง วัคซีนอีสุกอีใส)
ฉีดวัคซีนป้องกันอีสุกอีใสมีประโยชน์อะไรอีก? แพ้ไหม? มีข้อห้ามไหม?
วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส นอกจากป้องกันโรคได้แล้ว ยังช่วยลดโอกาสเกิดแผลเป็น และช่วยลดความรุนแรงของโรคเมื่อเกิดเป็นโรคอีสุกอีใสหลังฉีดวัคซีนแล้ว
วัคซีนอีสุกอีใสไม่ค่อยก่อให้เกิดผลข้างเคียงแทรกซ้อน ยกเว้น เจ็บ แดง และบวมในตำ แหน่งที่ฉีดยา แต่ในบางคนอาจมีไข้ได้
อย่างไรก็ตาม มีข้อห้ามไม่ให้ฉีดวัคซีนอีสุกอีใสใน
- ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ต่างๆ ควรต้องปรึกษาแพทย์ เพราะอาจแพ้วัคซีนได้ (การแพ้ยา)
- คนที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เพราะวัคซีนเป็นชนิดวัคซีนเชื้อเป็น (เป็นเชื้ออีสุกอีใสที่นำมาทำให้อ่อนกำลังลงมาก ไม่ทำให้เกิดโรคในคนปกติ แต่กระตุ้นให้ร่างกายเกิดภูมิคุ้มกันต้านทานโรคได้) จึงอาจก่อการติดเชื้อรุนแรงได้ เช่น
- ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
- มีโรคเรื้อรังต่างๆ
- คนที่กินยากดภูมิคุ้มกัน (เช่น ในโรคภูมิแพ้ตนเอง/ภูมิต้านตนเอง)
- หญิงตั้งครรภ์ ซึ่งอาจก่อให้ทารกในครรภ์ติดเชื้อนี้ และเกิดความพิการแต่กำเนิดได้
- เคยแพ้วัคซีนต่างๆมาแล้วและ/หรือแพ้วัคซีนอีสุกอีใสเข็มแรกมาแล้ว
ฉีดวัคซีนแล้วยังเป็นโรคอีสุกอีใสได้อีกไหม?
เมื่อฉีดวัคซีนอีสุกอีใสแล้ว เมื่อสัมผัสเชื้อนี้อีก มีโอกาสเป็นอีสุกอีใสได้ประมาณ 2 - 10% โดย
- มีอาการเช่นเดียวกับในคนไม่เคยฉีดวัคซีนดังกล่าวแล้ว แต่อาการน้อยกว่ามาก
- มีผื่นและตุ่มพองน้อยกว่ามาก
- หายเร็วกว่ามาก อาจภายใน 3 - 7 วัน
- แต่ยังแพร่เชื้อให้ผู้อื่นได้เหมือนเดิมด้วยวิธีดังได้กล่าวแล้วใน’หัวข้อ อีสุกอีใสเกิดได้อย่างไรฯ’
เมื่อยังไม่เคยฉีดวัคซีนอีสุกอีใสตอนเด็ก ควรฉีดวัคซีนอีสุกอีใสไหม?
เมื่อยังไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสในตอนเด็ก แต่เคยเป็นโรคอีสุกอีใสแล้ว ไม่จำเป็นต้องฉีด เพราะจะมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคได้ตลอดชีวิตดังได้กล่าวแล้ว แต่เมื่อจำไม่ได้ไม่แน่ใจและอยากฉีด ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพราะอาจมีภูมิคุ้มกันโรคนี้อยู่แล้วก็ได้ (ร่าง กายมักสร้างภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบางชนิดได้เมื่อเป็นผู้ใหญ่)
บรรณานุกรม
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th ed.). New York: McGraw-Hill.
- https://www.cdc.gov/chickenpox/index.html [2019,Feb16]
- https://www.cdc.gov/chickenpox/hcp/index.html [2019,Feb16]
- http://en.wikipedia.org/wiki/Chickenpox [2019,Feb16]
- http://www.vaccineinformation.org/varicel/qandavax.asp [2019,Feb16]