หมู่เลือด หมู่โลหิต (Blood group)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ

การรักษาด้วยการให้เลือด (Blood transfusion) เป็นการรักษาที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการรักษาด้วยยา การผ่าตัด หรือการรักษาที่จำเป็นอื่นๆ การให้เลือดได้ช่วยชีวิตผู้ป่วยนับจำนวนมหาศาล และนั่นย่อมมาจากการที่ต้องมีความรู้ความเชี่ยวชาญของแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ที่เกี่ยว ข้องในการเตรียมเลือดและส่วนประกอบของเลือดเพื่อให้แก่ผู้ป่วย

ความสำคัญพื้นฐานในเรื่องของการให้เลือดคือความรู้เรื่อง “หมู่เลือด หรือหมู่โลหิต หรือกรุ๊ป เลือด หรือกรุ๊ปโลหิต (Blood group หรือ Blood type)” ซึ่งผู้เขียนขอนำมาให้ผู้อ่านได้รับทราบเป็นเบื้องต้นดังนี้

หมู่เลือดคืออะไร?

หมู่เลือด คือ การแยกเลือดของคนเราออกเป็นหมู่/เป็นกรุ๊ป (Group หรือ Type) ตามชนิดของ ‘สารชีวเคมี (Biochemical substance)’ ที่มีชื่อว่า ไกลโคโปรตีน (Glycoprotein) หรือไกลโคไลปิด(Glycolipid)ที่ร่างกายสร้างขึ้นและปรากฏบนผิวเม็ดเลือดแดงและเรียกว่าแอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทาน (Antigen) ซึ่งมีลักษณะจำเพาะในแต่ละหมู่เลือด

ปัจจุบันมีการค้นพบแอนติเจนชนิดต่างๆมากกว่า 300 ชนิด และได้นำแต่ละชนิดที่มีคุณลักษณะคล้ายคลึงกันหรือมีความสัมพันธ์กันมาจัดเป็นระบบหมู่เลือด จำแนกได้มากกว่า 35 ระบบ แต่ระบบที่มีความสำคัญที่คนทั่วไปควรทราบ ได้แก่ ‘หมู่เลือดระบบเอบีโอ (ABO)’, และ‘หมู่เลือดระบบอาร์เอช (Rh)’

หมู่เลือดระบบเอบีโอ (ABO Blood group) คืออะไร?

หมู่เลือดระบบเอบีโอเป็นหมู่เลือดที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติในคนทุกคนซึ่งมีลักษณะแตกต่างกันไปตามชนิดของยีน/จีน(Gene) ที่ได้รับการถ่ายทอดมาจากพ่อและแม่

“ยีน/จีน” เป็นสารพันธุกรรมที่กำหนดในการสร้างสารชีวเคมีแต่ละชนิดที่เราเรียกว่า แอนติเจน และมีการตั้งชื่อกำกับตามที่ผู้ค้นพบกำหนด แอนติเจนในระบบเอบีโอนอกจากพบบนผิวเม็ดเลือดแดงยังพบได้บนเกล็ดเลือด เม็ดเลือดขาว บนเชลล์ของเนื้อเยื่อต่างๆเช่น เนื้อเยื่อบุอวัยวะภายในอวัยวะต่างๆ (เช่น ไต) และในสารคัดหลั่งของร่างกายเช่น น้ำลาย น้ำนม เป็นต้น

 การค้นพบหมู่เลือดระบบเอบีโอนี้เริ่มในปี ค.ศ. 1900 (พ.ศ. 2443) โดยคาร์ล แลนด์สไตเนอร์ (Karl Landsteiner, นักชีววิทยาและแพทย์ชาวออสเตรียน-อเมริกัน) ซึ่งได้ทดลองเจาะเลือดของผู้ ร่วมงานจำนวน 6 คน แล้วนำมาแยกเม็ดเลือดแดงและน้ำเหลืองของเลือด/พลาสมา (Plasma) ออกจากกัน ต่อจากนั้นได้นำเม็ดเลือดแดงและน้ำเหลืองของแต่ละคนมาทำปฏิกิริยาสลับกันไปมา ผลปรากฏว่า บางคู่เกิดปฏิกิริยาจับกลุ่ม/การตกตะกอนของเลือด, บางคู่เลือดก็ผสมเป็นเนื้อเดียวกันโดยไม่มีการจับกลุ่ม

จากปรากฏการณ์นี้ต่อมาในปี ค.ศ. 1901 (พ.ศ. 2444) คาร์ล แลนด์สไตเนอร์ จึงสรุปผลการทดลองค้นคว้าว่า เลือดแบ่งออกเป็น 3 หมู่คือ เอ, บี, และ โอ, (อนึ่ง:เลือดประกอบด้วยส่วนที่เป็นเม็ดเลือดและส่วนที่เป็นน้ำเหลือง/พลาสมา/Plasma, ส่วนที่เป็นเม็ดเลือด มีทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด)

สำหรับเลือดหมู่ที่ 4 คือหมู่เอบี (AB) ค้นพบโดย เอ วอน ดีคาสติโล และ เอ สเตอลิ (Alfred von Decastello and Adriano Sturli, ทั้ง 2 ท่านถูกระบุว่าเป็นผู้ร่วมงานของ Karl Landsteiner ในเวียนนา แต่ไม่มีการระบุถึงรายละเอียดของอาชีพและเชื้อชาติ) ในปี ค.ศ. 1902 (พ.ศ. 2445)

หมู่เลือดระบบเอบีโอ (ABO) มีกี่หมู่? อะไรบ้าง? ตรวจได้อย่างไร?

หมู่เลือดระบบเอบีโอประกอบด้วยหมู่เลือดหลัก 4 หมู่/กรุ๊ป ได้แก่

  • หมู่เอ (A)
  • หมู่บี (B)
  • หมู่โอ (O) และ
  • หมู่เอบี (AB)

ซึ่งกำหนดหมู่เลือดได้โดยชนิดของแอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทานที่อยู่บนผิวของเม็ดเลือด แดงและแอนติบอดี/สารภูมิต้านทาน (Antibody) ที่อยู่ในน้ำเหลืองหรือพลาสมาซึ่งถูกสร้างขึ้นมาโดยธรรมชาติเช่นกัน แต่จะพบว่าคนเราจะไม่สร้างแอนติบอดีต่อแอนติเจนที่ตนเองมีอยู่แล้ว (แอน ติบอดีหรือสารภูมิต้านทานเป็นสารที่ร่างกายสร้างขึ้นเมื่อมีสารแปลกปลอมหรือแอนติเจนเข้าสู่ร่าง กาย)

ดังนั้นเราจะสามารถบอกชนิดของหมู่เลือดของแต่ละคนได้โดยการตรวจหาแอนติเจนและ แอนติบอดีจากเลือด โดยหมู่เลือดแต่ละหมู่/กรุ๊ปจะมีลักษณะดังนี้

  • หมู่เอ: มีแอนติเจนเอบนผิวเม็ดเลือดแดง มีแอนติบอดีบีในพลาสมา
  • หมู่บี: มีแอนติเจนบีบนผิวเม็ดเลือดแดง มีแอนติบอดีเอในพลาสมา
  • หมู่โอ: ไม่มีแอนติเจนทั้งเอและบีบนผิวเม็ดเลือดแดง แต่มีทั้งแอนติบอดีเอและบีในพลาสมา
  • หมู่เอบี: มีแอนติเจนทั้งเอและบีบนผิวเม็ดเลือดแดง แต่ไม่มีทั้งแอนติบอดีเอและบีในพลาสมา

คนไทยมีหมู่เลือดเอบีโอเป็นอย่างไร?

หมู่โลหิต/หมู่เลือดในระบบเอบีโอ/ABO มีความแตกต่างกันในแต่ละเชื้อชาติซึ่งก็มีความ แตกต่างจากคนไทย ดังตัวอย่างความถี่ของหมู่เลือดที่ได้มีการศึกษาไว้ในประเทศต่างๆ ตามตารางต่อไปนี้

หมู่เลือดอาร์เอช (Rh) มีกี่หมู่? และตรวจได้อย่างไร?

หมู่เลือดระบบอาร์เอชเป็นหมู่เลือดที่ประกอบด้วยแอนติเจนที่มีความสำคัญทางคลินิก 5 ชนิด คือ แอนติเจนดีใหญ่ (D), ซีใหญ่ (C), อีใหญ่ (E), ซีเล็ก ( c), อีเล็ก (e) และแอนติเจนอื่นที่เกี่ยวข้องที่ไม่ค่อยมีความสำคัญทางคลินิกอีก 46 ชนิด แต่แอนติเจนสำคัญที่เป็นตัวบ่งบอกชนิดของหมู่เลือดระบบอาร์เอชนี้คือ แอนติเจนดีใหญ่ (D) ซึ่งจะแบ่งออกได้เป็น 2 หมู่คือ

1. หมู่เลือดอาร์เอชบวก (Rh positive, Rh+): คือหมู่เลือดที่มีแอนติเจน-ดีใหญ่ (Antigen-D) อยู่ที่ผิวของเม็ดเลือดแดง

  • ในคนไทยมีหมู่เลือด ‘อาร์เอช (D) บวก ประมาณ 7%’

2. หมู่เลือดอาร์เอชลบ (Rh negative, Rh-): คือหมู่เลือดที่ไม่มีแอนติเจน-ดีใหญ่ (Antigen -D) อยู่ที่ผิวของเม็ดเลือดแดง ในคนไทยพบว่ามีหมู่เลือดนี้เพียง 0.3% หรือ 1,000 คนจะพบเพียง 3 คนเท่านั้น ซึ่งเราเรียกว่าเป็น"หมู่เลือดหายาก"หรือ"หมู่เลือดพิเศษ"

หมู่เลือดระบบอาร์เอชเป็นหมู่เลือดที่มีความสำคัญรองลงมาจากหมู่เลือดระบบเอบีโอเนื่องจากแอนติเจน-ดีใหญ่สามารถกระตุ้นให้สร้างแอนติบอดีได้ดีกว่าแอนติเจนอื่นๆของเม็ดเลือดแดง

ปกติโดยธรรมชาติในคนเราจะไม่สร้างแอนติบอดีต่อแอนติเจน-ดีใหญ่ แต่จะพบว่ามากกว่า 80% ของคนหมู่อาร์เอชลบจะสร้างแอนติบอดี-ดีใหญ่ (Anti-D)ได้เมื่อได้รับเลือดหมู่อาร์เอชบวก จากการถ่ายเลือด/ได้รับเลือดหรือจากตั้งครรภ์ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องตรวจหมู่เลือดอาร์เอช (ตรวจได้จากการตรวจเลือด) ทั้งในผู้ป่วยและในผู้บริจาคเลือดเพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยที่เป็นหมู่เลือดอาร์เอชลบ จะได้รับเลือดอาร์เอชลบเท่านั้นเพื่อป้องกันการสร้างแอนติบอดี-ดีใหญ่ ซึ่งเป็นแอนติบอดีที่มีความสำคัญทางคลินิกเพราะสามารถทำให้เกิดเม็ดเลือดแดงแตก/ถูกทำลายในคนที่มีแอนติบอดี-ดีใหญ่และได้รับเลือดอาร์เอชบวกเข้าไป

การตรวจหมู่เลือดระบบอาร์เอช

แอนติเจน-ดีใหญ่บนผิวเม็ดโลหิตแดง/เม็ดเลือดแดงเป็นตัวกำหนดว่าบุคคลนั้นจะมีหมู่เลือดอาร์เอชบวกหรืออาร์เอชลบ โดยทดสอบด้วยน้ำยาแอนติบอดี-ดีใหญ่

  • เม็ดโลหิตแดงที่เป็นอาร์เอชบวกส่วนใหญ่เมื่อทำปฏิกิริยากับน้ำยาแอนติบอดี-ดีใหญ่จะเกิดปฏิกิริยาจับกลุ่ม/ตกตะกอนของเม็ดโลหิตแดงให้เห็นชัดเจนทันที
  • ถ้าเม็ดโลหิตแดงที่ทำปฏิกิริยากับแอนติบอดี-ดีใหญ่แล้วไม่จับกลุ่ม ถือว่าบุคคลนั้นเป็นอาร์เอชลบ (ไม่มีแอนติเจน-ดีใหญ่)

ประโยชน์ของการตรวจหมู่เลือดเอบีโอและอาร์เอช

ประโยชน์ของการตรวจหมู่เลือดเอบีโอและหมู่เลือดอาร์เอช คือ

  • เป็นลักษณะจำเพาะที่พบบนเม็ดโลหิต/เม็ดเลือดทำให้แต่ละบุคคลทราบชนิดหมู่เลือด ของตนเอง
  • เป็นหมู่เลือดหลักที่ใช้ในการพิจารณาหาเลือดที่เหมาะสมและเข้ากันได้กับผู้ป่วยที่ต้อง ได้รับเลือดเพื่อการรักษาภาวะผิดปกติของร่างกายเพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยาไม่พึงประสงค์(ผลข้างเคียง) จากการได้รับเลือด
  • การที่สามารถตรวจและทราบชนิดของหมู่เลือดเอบีโอและหมู่เลือดอาร์เอชจะเป็นประ โยชน์ในการวินิจฉัยและป้องกันภาวะที่หมู่เลือดแม่และลูกเข้ากันไม่ได้ที่อาจทำให้เม็ดเลือดแดงของลูกถูกทำลายโดยแอนติบอดีจากแม่ได้
  • หมู่เลือดมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยการควบคุมของยีน/จีนจึงใช้เป็นหลักฐาน พิสูจน์ทางนิติเวชถึงความเป็นพ่อแม่ลูกกันได้และใช้ศึกษาการสืบเชื้อสายของเหล่าพันธุ์ได้

พ่อและแม่ถ่ายทอดหมู่เลือดระบบเอบีโอให้ลูกเป็นหมู่เลือดใดได้บ้าง?

พ่อและแม่ถ่ายทอดหมู่เลือด/หมู่โลหิตระบบเอบีโอให้ลูกเป็นหมู่เลือด/หมู่โลหิตได้ดังในตารางด้านล่างนี้

มีหลักการให้เลือดอย่างไร?

หลักในการให้เลือด:

  • คนที่มีหมู่เลือดแต่ละหมู่หากจำเป็นต้องได้รับเลือด แพทย์จะพิจารณาการให้เลือดที่ตรงหมู่กับผู้ป่วยเป็นอันดับแรก  
  • ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน หรือ ไม่สามารถหาเลือดตรงหมู่กับผู้ป่วยได้ ก็จะใช้หลักการในการให้เลือดที่เมื่อให้เข้าไปในร่างกายผู้ป่วยแล้ว เม็ดเลือดแดงต้องไม่มีแอนติเจน/สารก่อภูมิต้านทานที่ตรงกับแอนติบอดี/สารภูมิต้านทานที่ผู้ป่วยมี เพราะจะทำให้เกิดปฏิกิริยากันระหว่างแอนติเจนและแอนติบอดีแล้วเม็ดเลือดแดงนั้นก็จะถูกทำลายไป ตัวอย่าง เช่น
    • ผู้ป่วยหมู่เอ มีแอนติเจนเอและมีแอนติบอดีบี จะรับเลือดหมู่บีซึ่งบนเม็ดเลือดแดงมีแอนติเจนบีไม่ได้ เพราะจะทำปฏิกิริยากับแอนติบอดีบีของผู้ป่วยจนเม็ดเลือดแดงผู้ป่วยถูกทำลาย เป็นต้น

เลือดหมู่ใดสามารถให้ใครได้บ้าง?

เลือดหมู่ที่สามารถให้เลือดหรือให้พลาสมากันได้ดังตารางด้านล่างนี้

*อนึ่ง: จากตารางการให้เลือดข้างต้นจะเห็นว่า

  • คนหมู่เลือด โอ: สามารถให้เม็ดเลือดแดงแก่คนหมู่เลือดอื่นได้ทุกหมู่, แต่รับเม็ดเลือดแดงได้จากคนหมู่เลือดโอเท่านั้น
  • คนหมู่เลือด เอบี: สามารถให้พลาสมากับคนหมู่เลือดอื่นได้ทุกหมู่, แต่จะรับพลาสมาจากคนหมู่เลือดเอบีได้เท่านั้น

*ดังนั้น:

  • ในธนาคารเลือดทั่วไปจึงจำเป็นที่จะต้องมีการสำรองส่วนประกอบของเลือดที่เป็น ‘เม็ดเลือดแดงเข้มข้นหมู่เลือดโอ’ ไว้ไม่ให้ขาด
  • และพยายามสำรองส่วนประกอบชนิด’พลาสมาหมู่เลือดเอบี’ไว้สำหรับผู้ป่วยหมู่เลือดเอบี

สรุป

จะเห็นว่าการทราบชนิดของหมู่เลือดระบบเอบีโอและระบบอาร์เอชของตนเองรวมทั้งของบุคคลในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องใช้เลือดในการรักษาพยาบาลก็สามารถช่วยเหลือกันได้อย่างรวดเร็วโดยเฉพาะหมู่เลือดที่หายาก

บรรณานุกรม

  1. Practical Transfusion Medicine. 4th edition, 2013.
  2. AABB Technical Manual. 7th edition,2011.
  3. Immunohematology Principle & Practice. 3rd edition,2011.
  4. https://www.cancer.gov/publications/dictionaries/cancer-terms/def/abo-blood-group-system [2023,Feb4]