การสูญเสียความทรงจำ ภาวะเสียความจำ (Amnesia)

สารบัญ

บทนำ

ชายหนุ่ม ถูกส่งมาที่สถานีตำรวจ เพราะพลเมืองดีไปพบว่า เดินไปเดินมาอยู่ริมถนนโดยไม่ทราบว่าตนเองจะไปไหน ชื่ออะไร กลัวว่าจะถูกวางยาจากกลุ่มมิจฉาชีพ ตำรวจได้พยายามสอบถามว่าชื่ออะไร เป็นใครอยู่ที่ไหน ญาติพี่น้องเป็นใครบ้าง ชายหนุ่มรายนี้ไม่สามารถตอบใด ๆได้เลย ทำไมจึงเป็นแบบนี้ ภาวะแบบนี้เรียกว่า “การสูญเสียความทรงจำ หรือ ภาวะเสียความจำ (Amnesia)” หรือเรียกทั่วไปว่า การเสียความจำ

สูญเสียความทรงจำ

การสูญเสียความทรงจำคืออะไร?

การสูญเสียความทรงจำ หรือ Amnesia มาจากภาษากรีก แปลว่า ไม่มีความจำ อาจเกิดจากสมองได้รับการกระทบกระเทือน หรือสภาพจิตใจได้รับการกระทบกระเทือน ซึ่งความทรงจำที่เสียไปนั้น อาจเสียไปบางส่วน หรือเสียไปทั้งหมดก็ได้ เหมือนตัวดังอย่างข้างต้นในบทนำ

การสูญเสียความทรงจำต่างจากโรคสมองเสื่อมหรือไม่?

การสูญเสียความทรงจำและโรคสมองเสื่อม ทั้ง 2 โรค/ภาวะนี้มีความแตกต่างกัน เพราะภาวะสูญเสียความทรงจำนั้น ผู้ป่วยจะสูญเสียความทรงจำเท่านั้น แต่ความสามารถส่วนอื่นๆ เช่น การตัดสินใจ พฤติกรรม ความสามารถในการวางแผนต่างๆยังปกติ ซึ่งโรคสมองเสื่อมนั้นจะสูญเสียไปในหลายๆด้านหรือเกือบทุกด้าน

การสูญเสียความทรงจำมีสาเหตุมาจากอะไร?

การสูญเสียความทรงจำนั้นมีสาเหตุจาก 3 กลุ่มหลัก คือ

  • การกระทบกระเทือนที่สมอง
  • ภาวะทางสุขภาพจิต
  • การได้รับยาหรือสารพิษต่างๆ

การกระทบกระเทือนที่สมอง เนื่องจากสมองส่วนที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ/ความทรงจำ คือ สมองส่วนกลีบขมับ (Temporal lobe) โดยเฉพาะสมองส่วนที่เรียกว่า Hippocam pus (ฮิปโปแคมปัส) โดยสาเหตุที่พบบ่อยคือ อุบัติเหตุต่อสมอง โรคหลอดเลือดสมอง โรคสมองอักเสบ โรคลมชัก ภาวะสมองขาดออกซิเจน รวมทั้งโรคเนื้องอกสมอง ก็พบได้แต่ไม่บ่อย

ภาวะทางสุขภาพจิต มักเกิดความเครียดเรื้อรัง และมีสิ่งกระตุ้นหรือเหตุการณ์ที่รุนแรงกระทบสภาพจิตใจเกิดขึ้น เช่น ผิดหวังอย่างแรง ทะเลาะขัดแย้งอย่างรุนแรง ผู้ป่วยต้องการลืมเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แต่กลับลืมเรื่องอื่นๆไปร่วมด้วย

การได้รับยาพิษหรือสารพิษ สารพิษ ยาพิษ เช่น สารเสพติด หรือ ยาบางชนิด เช่น การใช้ยานอนหลับเกินขนาด หรือการใช้ยานอนหลับบางชนิดที่ส่งผลให้เกิดภาวะดังกล่าว โรคพิษสุราเรื้อรัง การได้รับก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon monoxide) เช่น ควันพิษ ควันรถ ยนต์ ควันจากภูเขาไฟ ในปริมาณสูง

แพทย์ทราบได้อย่างไรว่าเป็นภาวะสูญเสียความทรงจำ?

แพทย์วินิจฉัยว่า เป็นภาวะเสียความทรงจำโดยพิจารณาจากอาการที่เกิดขึ้นว่า มีเฉพาะการสูญเสียความทรงจำ หรือมีภาวะหลงลืม หรือมีภาวะอื่นๆที่คล้ายกัน เช่น ภาวะการจำชื่อไม่ ได้ (Naming aphasia) การมองเห็นผิดปกติ(Visual agnosia) หรือความเครียด เมื่อพิจารณาแล้วว่าเป็นภาวะสูญเสียความทรงจำ แพทย์ก็จะหาสาเหตุว่าเกิดจากสาเหตุใด โดยการสอบ ถามประวัติทางการแพทย์ต่างๆ ตรวจร่างกาย และถ้าจำเป็นก็ส่งตรวจเลือด เอกซเรย์คอมพิว เตอร์ หรือ เอมอาร์ไอ สมอง หรือ คลื่นไฟฟ้าสมอง ซึ่งจะพิจารณาเป็นแต่ละกรณีไป

ภาวะสูญเสียความทรงจำมีรูปแบบใดบ้าง?

ภาวะสูญเสียความทรงจำมีการแบ่งเป็นหลายรูปแบบ ในที่นี้ขอแบ่งเป็น 2 แบบ คือ

  • สูญเสียความทรงจำบางส่วนหรือทั้งหมด
  • สูญเสียความทรงจำแบบไปข้างหน้า (Anterograde amnesia) และสูญเสียความทรงจำย้อนหลัง (Retrograde amnesia) โดยเอาตัวเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นจุดแบ่ง ว่าไปข้างหน้าหรือย้อนหลัง ถ้าจำเรื่องราวที่เกิดก่อนเหตุการณ์ครั้งนี้ไม่ได้ ก็คือการสูญเสียความทรงจำแบบย้อนหลัง แต่ถ้าสูญเสียความทรงจำเรื่องราวหลังจากเกิดเหตุการณ์ก็เป็นแบบไปข้างหน้า

การรักษาภาวะสูญเสียความทรงจำทำอย่างไร?

การรักษาภาวะสูญเสียความทรงจำขึ้นกับสาเหตุของการสูญเสียความทรงจำ (เช่น รัก ษาโรคเนื้องอกสมอง หรือการใช้สารเสพติดต่างๆ) ร่วมกับการฝึกสมอง กรณีเกิดจากโรคในสมอง แต่ถ้าเกิดจากสภาพจิตใจ ก็ต้องเป็นการทำจิตบำบัดโดยจิตแพทย์

ภาวะสูญเสียความทรงจำนี้รักษาหายได้หรือไม่?

การรักษาภาวะสูญเสียความทรงจำได้หายหรือไม่ ขึ้นกับสาเหตุของโรคที่พบร่วมหรือเป็นสาเหตุ

  • กรณีเป็นจากสมองได้รับอุบัติเหตุแต่ไม่มีรอยโรคในสมองก็มักจะหายดี
  • กรณีเกิดจากสภาพจิตใจก็มีผลการรักษาที่ดี
  • แต่ถ้าเป็นจากโรคสมองอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง พิษสุราเรื้อรัง ผลการรักษาก็ไม่ค่อยได้ ผลดี

การพยากรณ์โรค นอกจากสาเหตุของการเกิดภาวะสูญเสียความจำแล้ว โรคประจำตัวที่พบร่วมด้วยก็มีส่วนมากในเรื่องผลของการรักษา เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน โอกาสหายต่ำกว่าผู้ป่วยทั่วไป นอกจากนี้ ยังขึ้นอยู่กับการรักษาที่เหมาะสมทั้งการรักษาสาเหตุ การฝึกสมอง และจิตบำ บัดทางจิตเวช

การกลับมาของความจำว่าดีเร็วหรือช้าเท่าใดนั้นขึ้นกับสาเหตุ เช่น

  • ในสาเหตุจากยานอนหลับเมื่อหมดฤทธิ์ยา และมีการทบทวนเหตุการณ์และความจำต่างๆแล้ว ความจำก็จะฟื้นอย่างรวดเร็ว แต่บางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่หมดสตินั้นก็จำไม่ได้เลย
  • ถ้าเป็นการสูญเสียความจำจากภาวะสมองขาดเลือดมาเลี้ยงชั่วคราว ความจำนั้นก็กลับมาอย่างรวดเร็ว และเช่นเดียวกันความจำของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นระหว่างสูญเสียความจำนั้นก็จำไม่ได้
  • ถ้าเป็นจากอาการชัก จะมีการฟื้นความจำอย่างเร็วภายในไม่เกิน 24-72 ชั่วโมง
  • กรณีเกิดจากสมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างแรงนั้นก็จะฟื้นความจำอย่างช้าๆ

ทั้งนี้ ระยะเวลาที่สมองจะฟื้นตัวนั้น จะใช้หลักร้อยละ (%) 50 ,75, 100 ของที่จะฟื้นความจำได้ดีที่สุดที่ระยะเวลาประมาณ 3, 6 และ 12 เดือนตามลำดับ

สมองของคนเรานั้น สามารถพัฒนาได้อย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ถ้าเกิน 1 ปี การฟื้นคืนก็เป็นไปได้น้อยมาก แต่ยังไม่หมดโอกาส

ที่เห็นจากละครว่า การกระทบกระเทือนสมองอีกครั้ง ความทรงจำจะกลับมาได้ จริงไหม?

การกระทบกระเทือนสมองอย่างรุนแรงซ้ำ ไม่สามารถทำให้สมองดีขึ้น แต่ถ้าสมองนั้นได้ รับการกระตุ้นด้วยกระแสไฟฟ้าอย่างเหมาะสม ก็จะดีขึ้นได้ เช่น การรักษาด้วยการกระตุ้นไฟฟ้าสมองอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลาหนึ่ง เป็นต้น

ภาวะสูญเสียความทรงจำสามารถป้องกันไม่ให้เป็นได้หรือไม่?

จากสาเหตุเบื้องต้นที่กล่าวในหัวข้อ สาเหตุ จะพบว่าเราสามารถป้องกันไม่ให้เกิดภาวะนี้ได้ทั้งหมด โดยการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้แข็งแรงตลอดชีวิต ไม่ดื่มเหล้า และหลีก เลี่ยงการเกิดอุบัติเหตุที่ศีรษะ รวมทั้งการใช้ยานอนหลับที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์

ดังนั้นเราควรต้องดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจให้แข็งแรง เพื่อที่จะได้ไม่เกิดภาวะสูญ เสียความทรงจำ เพราะความทรงจำที่ดีๆของเรานั้น ทำให้เรามีความสุขอย่างมากครับ

เมื่อมีการสูญเสียความทรงจำ ควรดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เมื่อมีอาการสูญเสียความทรงจำ ควรรีบพบแพทย์ทันที และหลังจากนั้นควรต้องพบแพทย์สม่ำเสมอตามแพทย์นัด โดยเฉพาะ สาเหตุที่เกิดอาการนั้น หรือ มีโรคที่ต้องให้การรักษาอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนั้นคือ ควรฝึกสมอง (อ่านเพิ่มเติมในบท การฝึกสมอง) เป็นประจำ หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้สมองได้รับอันตรายเพิ่มเติม เช่น การอดนอน นอนดึก สูบบุหรี่ ดื่มสุรา ไม่พักผ่อน ใช้สมองขณะที่ไม่สบาย ควรต้องทานอาหารเช้าด้วยเสมอ เพื่อช่วยให้มีเลือดไปเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอ และถ้ามีอาการใดๆผิดปกติ ก็ควรรีบพบแพทย์ทันที

ครอบครัวควรดูแลผู้ป่วยอย่างไร? เมื่อไหร่ควรพาไปพบแพทย์

ครอบครัวจะมีความสำคัญมาก ที่จะต้องคอยดูแล และให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเท่าที่มีความจำเป็น โดยพยายามให้ผู้ป่วยรับการรักษาอย่างสม่ำเสมอ ดูแลการทานยาของผู้ป่วย การพาไปพบแพทย์ตามนัด และเมื่อเกิดอาการผิดปกติ ที่สำคัญต้องคอยสนับสนุนให้ผู้ป่วยได้ทำกิจกรรมต่างๆอย่างเหมาะสมและต่อเนื่อง กระตุ้นการฝึกสมอง และพูดคุยให้กำลังใจเสมอ

ครอบครัวควรดูแลตนเองและคนในครอบครัวอย่างไร?

ทุกคนในสังคมยุคปัจจุบันซึ่งมีปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อม ก่อให้เกิดภาวะสิ่งแวด ล้อมที่ไม่เหมาะสม และก่อให้เกิดความเครียดได้ง่าย ส่งผลให้สุขภาพกายและสมองมีปัญหาได้ง่าย จึงควรดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัวให้ดีในทุกๆด้าน มีกิจกรรมร่วมกันเพื่อเป็นการลดความเครียด เพิ่มความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว ก็จะเป็นการส่งเสริมและดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีของกันและกัน