การสูญเสียความทรงจำหรือภาวะเสียความจำ (Amnesia) - Update

สารบัญ

เกริ่นนำ

การสูญเสียความทรงจำหรือภาวะเสียความจำ (Amnesia) เกิดจากการที่สมองถูกทำลายหรือเป็นโรคใดโรคหนึ่ง เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นชั่วคราวจากการใช้ยาระงับประสาท (Sedative) และยานอนหลับ (Hypnotic) หลายชนิด ความทรงจำอาจสูญหายทั้งหมดหรือหายเป็นบางส่วนขึ้นอยู่กับความเสียหายที่เกิดขึ้น ภาวะเสียความจำมี 2 ประเภท คือ

  • คือการไม่สามารถเรียกข้อมูลที่เคยมีกลับมา ซึ่งมักจะเกิดขึ้นในวันที่เกิดอุบัติเหตุหรือการผ่าตัด ในบางกรณี การสูญเสียความทรงจำอาจกินเวลานานหลายสิบปี หรือบางคนอาจสูญเสียความทรงจำเพียงไม่กี่เดือนเท่านั้น
  • ภาวะเสียความจำไปข้างหน้า (Anterograde amnesia) ภาวะเสียความจำย้อนหลังเกิดจากการไม่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ได้ แต่ความจำเก่าๆ ก่อนเกิดเหตุยังคงอยู่ ผู้ที่มีภาวะเสียความจำไปข้างหน้าจะไม่สามารถจดจำสิ่งต่างๆ เป็นเวลานานได้

 ทั้งนี้เราไม่สามารถแยกความผิดปกติทั้งสองประเภทนี้ออกจากกันและยังสามารถเกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน

ในกรณีศึกษายังแสดงให้เห็นว่าภาวะเสียความจำมักเกี่ยวข้องกับความเสียหายต่อสมองกลีบขมับส่วนใน (Medial temporal lobe) และบริเวณ CA1 ของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ยังเกี่ยวข้องกับความจำอีกด้วย ยิ่งกว่านั้นการวิจัยยังแสดงให้เห็นว่าเมื่อเกิดความเสียหายต่อส่วนท้ายของสมองส่วนหน้า (Diencephalon) ก็อาจทำให้เกิดการสูญเสียความทรงจำได้ การศึกษาล่าสุดแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างการขาดโปรตีน RbAp48 และภาวะเสียความจำ นักวิทยาศาสตร์ค้นพบว่าหนูที่มีหน่วยความจำเสียหายมีโปรตีน RbAp48 ในระดับต่ำกว่า เมื่อเทียบกับหนูปกติที่มีสุขภาพดี

ในผู้ที่มีภาวะเสียความจำ จะยังนึกถึงข้อมูลเฉพาะหน้าได้ (Immediate information) อยู่ และยังสร้างความจำใหม่ได้ แม้ว่าความสามารถในการเรียนรู้เนื้อหาใหม่และการดึงข้อมูลเก่าลดลงอย่างมาก แต่ผู้ป่วยสามารถเรียนความจำกระบวนการใหม่ได้อยู่ นอกจากนี้ การเตรียมการรู้ (Priming) ทั้งความรู้สึกและความคิด สามารถช่วยผู้เสียความจำในการเรียนความรู้ชนิดไม่ประจักษ์ (Non-declarative knowledge) ใหม่ได้ ผู้ป่วยที่เสียความจำยังคงมีทักษะทางปัญญา ภาษา และสังคมอยู่พอสมควร แม้จะมีความสามารถนึกถึงข้อมูลบางอย่างที่เคยประสบในช่วงการเรียนก่อนหน้าบกพร่องไปมาก

สัญญาณและอาการ (Signs and symtomps)

ผู้ที่มีภาวะเสียความจำสามารถเรียนรู้ข้อมูลใหม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข้อมูลดังกล่าวเป็นความรู้ชนิดไม่ประจักษ์ (Non-declarative knowledge) อย่างไรก็ตาม ในบางสถานการณ์ ผู้ที่มีภาวะเสียความจำไปข้างหน้าแบบ Dense จะจำตอนที่พวกเขาได้เรียนรู้หรือสังเกตข้อมูลก่อนหน้านี้ไม่ได้ ผู้ที่มีภาวะเสียความจำบางรายจะแสดงให้เห็นถึงการสูญเสียความทรงจำ ความสับสน และการจำผู้อื่นหรือสถานที่ได้ยากผิดปกติ ส่วนผู้ที่หายดีแล้วมักจำไม่ได้ว่าเคยมีภาวะเสียความจำ

ข้อมูลเชิงประจักษ์ (Declarative information)

ความจำเชิงประจักษ์สามารถแบ่งออกเป็นความจำอาศัยความหมาย (Semantic memory) และความจำอาศัยเหตุการณ์ (Episodic memory) ความจำอาศัยความหมาย เป็นความจำของข้อเท็จจริง ส่วนความจำอาศัยเหตุการณ์เป็นความจำที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์

แม้ผู้ป่วยที่มีภาวะเสียความจำอาจมีการสูญเสียความจำเชิงประจักษ์ แต่ก็จะแตกต่างกันไปตามความรุนแรง และข้อมูลเชิงประจักษ์มักขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ตัวอย่างเช่น LSJ เป็น ผู้ป่วย ที่มีภาวะเสียความจำย้อนหลัง อันเป็นผลมาจากความเสียหายของสมองกลีบขมับส่วนในทั้งสองข้าง (Bilateral) แต่เธอยังคงสามารถจดจำวิธีแสดงทักษะเชิงประจักษ์บางอย่างได้ โดยเธอสามารถจดจำวิธีการอ่านดนตรีและเทคนิคที่ใช้ในงานศิลปะได้ เธอได้เก็บรักษาความจำเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้องกับทักษะไว้สำหรับบางสิ่ง แม้เธอจะมีภาวะบกพร่องด้านความจำเชิงประจักษ์อื่นๆ ก็ตาม ยิ่งกว่านั้นเธอยังสามารถทำคะแนนด้านความจำเชิงประจักษ์ที่เกี่ยวข้องกับทักษะได้สูงกว่าทักษะการใช้สีน้ำ ซึ่งเป็นเทคนิคที่เธอใช้ในอาชีพการงานของเธอก่อนที่จะมีภาวะเสียความจำ

ข้อมูลเชิงความหมาย (Semantic information)

การสูญเสียข้อมูลเชิงความหมายในภาวะเสียความจำ มีความสัมพันธ์อย่างชัดเจนกับความเสียหายต่อสมองกลีบขมับส่วนใน หรือนีโอคอร์เทกซ์ (Neocortex) มากที่สุด

ผู้ป่วยบางรายที่มีภาวะเสียความจำไปข้างหนัง ยังคงสามารถรับข้อมูลเชิงความหมายได้ แม้ว่าอาจจะยากกว่าและอาจไม่เกี่ยวข้องกับความรู้ทั่วไปมากนัก ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วย H.M. สามารถวาดแผนผังบ้านที่เขาอาศัยอยู่ ภายหลังการผ่าตัดได้อย่างถูกต้องแม่นยำ แม้จะไม่ได้อยู่ที่นั่นมาหลายปีแล้วก็ตาม ซึ่งมีหลักฐานว่าสมองส่วนฮิปโปแคมปัสและสมองกลีบขมับส่วนใน อาจช่วยรวมความจำอาศัยความหมายเข้าด้วยกัน แต่กลับมีความสัมพันธ์กับนีโอคอร์เทกซ์มากกว่า แม้ว่ารอยโรค (Lesion) ที่สมองส่วนฮิปโปแคมปัสทำให้สูญเสียความจำอาศัยเหตุการณ์ แต่หากมีผลกระทบใดๆ ต่อความจำอาศัยความหมาย ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงมากกว่าและมักจะอยู่ได้ไม่นาน

ข้อมูลเชิงเหตุการณ์ (Episodic information)

เหตุผลหนึ่งที่ผู้ป่วยไม่สามารถสร้างความจำอาศัยเหตุการณ์ณ์ใหม่ได้น่าจะเป็นเพราะพบรอยโรคบริเวณ CA1 ของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ดังนั้น สมองส่วนฮิปโปแคมปัสจึงไม่สามารถเชื่อมต่อกับคอร์เทกซ์ (Cortex) ได้ หลังเกิดภาวะขาดเลือด  (Ischemic) [การไหลเวียนของเลือดไปยังสมองหยุดชะงัก] เมื่อทำ MRI ให้กับผู้ป่วย R.B. หลังการผ่าตัดพบว่าสมองส่วนฮิปโปแคมปัสของเขายังสมบูรณ์อยู่ ยกเว้นรอยโรคเฉพาะที่จำกัดอยู่ที่เซลล์ประสาทพีระมิด CA1 การสูญเสียความทรงจำชั่วคราวมีสาเหตุมาจากรอยโรค CA1 ของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส แม้จะเป็นการสูญเสียความทรงจำชั่วคราว แต่ก็แสดงให้เห็นถึงความสำคัญด้านความจำบริเวณ CA1 ของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส การสูญเสียความจำอาศัยเหตุการณ์มักจะเกิดขึ้นเมื่อมีความเสียหายต่อสมองส่วนฮิปโปแคมปัส โดยมีหลักฐานว่าความเสียหายต่อสมองกลีบขมับส่วนในมีความสัมพันธ์กับการสูญเสียความจำเชิงอัตชีวประวัติ (Autobiographical episodic memory)

ข้อมูลเชิงไม่ประจักษ์ (Non-declarative information)

ภาวะเสียความจำย้อนหลังและภาวะเสียความจำไปข้างหน้า อาจเป็นความจำเชิงไม่ประจักษ์ซึ่งรวมถึงการเรียนรู้โดยปริยาย (Implicit learning) และการเรียนรู้เชิงกระบวนวิธี (Procedural learning) ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยบางรายมีการปรับปรุงการทดลองลำดับสุ่มเทียม (Pseudorandom) เช่นเดียวกับคนที่มีสุขภาพดี ดังนั้น การเรียนรู้เชิงกระบวนวิธีจึงสามารถดำเนินการได้อย่างอิสระจากระบบสมอง ที่จำเป็นสำหรับความจำเชิงประจักษ์ ผู้ป่วยที่มีภาวะเสียความจำบางรายสามารถจดจำทักษะที่ได้เรียนรู้มาโดยไม่สามารถจำได้ว่าตนเองเรียนรู้ข้อมูลนั้นมาจากที่ใด ตัวอย่างเช่น พวกเขาอาจเรียนรู้ที่จะทำงานและต่อมาก็สามารถทำงานนั้นได้โดยไม่ต้องจำการเรียนรู้งานนั้นเลย จากการศึกษาของ fMRI (= Functional Magnetic Resonance Imaging – การนำภาพถ่ายมาดัดแปลงด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ให้แสดงผลเป็นสีที่ต่างกัน) พบว่าการได้มาของความทรงจำเชิงกระบวนวิธีจะกระตุ้นปมประสาทฐาน (Basal ganglia) คอร์เทกซ์กลีบหน้าผากส่วนหน้า (Premotor cortex) และเขตสั่งการเสริม (Supplementary motor area) ซึ่งเป็นบริเวณที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างความจำเชิงประจักษ์

การแยกระหว่างความจำเชิงประจักษ์และความจำเชิงกระบวนวิธีนี้ยังพบได้ในผู้ป่วยที่มีภาวะเสียความจำบริเวณไดเอนเซฟาลอน (Diencephalic amnesia) เช่น กลุ่มอาการคอร์ซาคอฟฟ์ (Korsakoff's syndrome) อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้จากผู้ป่วยบางราย เช่น K.C. และ H.M ที่บริเวณสมองกลีบขมับส่วนในได้รับความเสียหายและมีภาวะเสียความจำไปข้างหน้า ยังคงมีการเตรียมการรับรู้โดยปรากฏการณ์ การรับรู้บรรลุผลสำเร็จในการทดลองเกี่ยวกับภาวะเสียความจำหลากหลายรูปแบบ ซึ่งพบว่าผู้ป่วยสามารถเตรียมการรับรู้ได้ กล่าวคือ แม้ว่าพวกเขาจะไม่สามารถจดจำเหตุการณ์ได้ แต่ก็มีการตอบสนอง ผู้ป่วยเหล่านั้นทำได้ดีในการทดสอบความจำโดยปริยาย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่าความจำเชิงไม่ประจักษ์สามารถเก็บในในรูปแบบของทักษะการพัฒนาการเคลื่อนไหว ทว่ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับแนวคิดนี้ในแง่ที่ว่าทักษะด้านการเคลื่อนไหวจำเป็นต้องมีทั้งข้อมูลเชิงประจักษ์และไม่ประจักษ์ควบคู่กัน

ผู้ที่มีภาวะเสียความจำแบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่ การบาดเจ็บที่ศีรษะ (เช่น ศีรษะถูกกระแทก) เหตุการณ์สะเทือนขวัญ (เช่น การเห็นบางสิ่งที่ทำร้ายจิตใจอย่างรุนแรง) หรือความบกพร่องทางร่างกาย (เช่น การฝ่อ [Atrophy] ของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส) ภาวะเสียความจำและและปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความจำส่วนใหญ่เกิดจาก 2 ประเภทแรก เนื่องจากสามารถพบได้บ่อยกว่า ส่วนประเภทที่ 3 ถือเป็นประเภทย่อยของประเภทแรก

  • การบาดเจ็บที่ศีรษะ (Head trauma) มีขอบเขตกว้างมาก เนื่องจากเกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บทุกประเภทหรือการกระทำต่อสมองซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะเสียความจำ ภาวะเสียความจำย้อนหลังและภาวะเสียความจำไปข้างหน้ามักพบได้จากเหตุการณ์เหล่านี้ ตัวอย่างเช่น การบำบัดทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า (Electroconvulsive therapy: ECT) ซึ่งจะส่งผลต่อผู้ป่วยในช่วงเวลาสั้นๆ
  • เหตุการณ์สะเทือนขวัญ (Traumatic event) เป็นเรื่องภายในของแต่ละบุคคลมากกว่า สิ่งที่สร้างความบอบช้ำทางจิตใจมักขึ้นอยู่กับว่าบุคคลได้รับบาดแผลอะไรมา เหตุการณ์สะเทือนขวัญเป็นเหตุการณ์ที่สร้างความรู้สึกเจ็บปวดมาก จนทำให้เลือกที่จะลืมแทนที่จะจัดการกับความเครียด ตัวอย่างของภาวะเสียความจำจากเหตุการณ์สะเทือนขวัญนั่นคือ ภาวะลืมแบบ ไม่เกี่ยวข้อง (Dissociative amnesia) ซึ่งจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อบุคคลนั้นลืมเหตุการณ์ที่รบกวนใจตนอย่างหนัก เช่น การลืมอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ร้ายแรงปางตายและภาพติดตาที่เกี่ยวข้องกับคนที่ตนรัก
  • ความบกพร่องทางร่างกาย (Physical deficiency) แตกต่างจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ เนื่องจากความบกพร่องทางร่างกายมีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาทางกายภาพ ตัวอย่างของภาวะบกพร่องทางกายภาพ ได้แก่ โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer’s) กลุ่มอาการของความผิดปกติทางระบบประสาท (Neurological paraneoplastic syndrome) เช่น โรคสมองอักเสบจากภาวะแพ้ภูมิต้านทานต่อตัวรับเอ็นเอ็มดีเอ (Anti-NMDAR receptor encephalitis) และการขาดวิตามินบี 12

สาเหตุของภาวะเสียความจำ

  • การบำบัดทางจิตเวชด้วยไฟฟ้า โดยการกระตุ้นให้เกิดอาการชักด้วยไฟฟ้าในผู้ป่วยเพื่อหวังผลการรักษาแบบเฉียบพลัน รวมทั้งภาวะเสียความจำย้อนหลังและภาวะเสียความจำไปข้างหน้า
  • แอลกอฮอล์สามารถทำให้เกิดภาวะวูบหมดสติและมีผลเสียต่อการสร้างความจำ

การวินิจฉัยโรค

ประเภท

  • ภาวะเสียความจำไปข้างหน้า คือการไม่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ได้เนื่องจากสมองถูกทำลาย ในขณะที่ความทรงจำระยะยาวก่อนเกิดเหตุการณ์ยังคงอยู่ ภาวะที่สมองถูกทำลายอาจเกิดจากผลของโรคพิษสุราเรื้อรังระยะยาว ภาวะทุพโภชนา (Malnutriion) การขั้นรุนแรง โรคอัมพฤกษ์-อัมพาต การบาดเจ็บที่ศีรษะ โรคไข้สมองอักเสบ (Encephalitis) การผ่าตัด กลุ่มอาการเวอร์นิเก-คอซาคอฟ เหตุการณ์หลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular) ภาวะขาดออกซิเจน (Anoxia) หรือการบาดเจ็บอื่นๆ บริเวณสมองสองส่วนที่เกี่ยวข้องกับภาวะนี้คือสมองกลีบขมับส่วนในและไดเอนเซฟาลอน (Diencephalon) ส่วนใน ภาวะเสียความจำไปข้างหน้าไม่สามารถรักษาด้วยวิธีทางเภสัชวิทยา (Pharmacological) ได้เนื่องจากมีการสูญเสียเซลล์ประสาท แต่สามารถรักษาโดยการสอนให้ผู้ป่วยทำกิจวัตรประจำวันของตนเอง เมื่อผ่านขั้นตอนการรักษาต่างๆ แล้ว ผู้ป่วยจะเริ่มได้ความจำเชิงกระบวนวิธี ซึ่งสามารถทำงานได้ปกติแม้จะไม่มีความจำรูปแบบอื่น แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นเช่นนั้นเสมอไป ในทำนองเดียวกัน การสนับสนุนทางสังคมและอารมณ์ก็มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีภาวะเสียความจำไปข้างหน้า ภาวะเสียความจำย้อนหลังเป็นภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถจำเรื่องราวก่อนที่จะเริ่มมีภาวะเสียความจำ แต่สามารถสร้างความทรงจำใหม่ได้หลังเกิดเหตุการณ์ ภาวะเสียความจำย้อนหลังมักเกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะหรือการที่สมองถูกทำลาย ยกเว้นสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งมีหน้าที่ในการเข้ารหัสหน่วยความจำใหม่ ความจำอาศัยเหตุการณ์มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบมากกว่าความจำอาศัยความหมาย การที่สมองถูกทำลายมักเกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ อุบัติเหตุหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์-อัมพาต โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอก (Tumor) ภาวะออกซิเจนต่ำ (Hypoxia) โรคไข้สมองอักเสบ หรือโรคพิษสุราเรื้อรังเรื้อรัง (Chronic alcoholism) ผู้ที่มีภาวะเสียความจำย้อนหลังมักจะจำความรู้ทั่วไปได้มากกว่าความรู้ที่เฉพาะเจาะจง แม้จะมีโอกาสน้อยมากในการฟื้นคืนความทรงจำล่าสุด แต่จะฟื้นความทรงจำเก่า ๆ ได้ง่ายกว่าเนื่องจากความมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ภาวะเสียความจำไปข้างหนังมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวและสามารถรักษาได้โดยการเล่าเรื่องราวที่เคยเกิดขึ้นให้ผู้ป่วยฟังเพื่อเป็นการฟื้นความทรงจำ การสร้างเสถียรภาพแก่ความทรงจำ (กระบวนการนำความรู้ใหม่มาเก็บให้เป็นความรู้ถาวรในสมอง) จะเกิดขึ้นในช่วงเวลา/วัน สัปดาห์ เดือน และปีที่ยาวนานกว่า และน่าจะเกี่ยวข้องกับการโอนย้ายข้อมูลจากสมองส่วนฮิปโปแคมปัสไปยังที่เก็บถาวรในเยื่อหุ้มสมองมากกว่า กระบวนการสร้างเสถียรภาพแก่ความทรงจำระยะยาวนี้พบได้ในภาวะเสียความจำย้อนหลังของผู้ป่วยที่ได้รับความกระทบกระเทือนบริเวณสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งสามารถจำความทรงจำในวัยเด็กได้ค่อนข้างปกติ แต่ไม่สามารถนึกถึงประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีก่อนที่พวกเขาจะมีภาวะเสียความจำ ในกรณีของผู้ป่วย LSJ แสดงให้เห็นว่าภาวะเสียความจำย้อนหลังอาจส่งผลต่อความรู้ในส่วนต่างๆ มากมาย กล่าวคือ LSJ ไม่สามารถจำสิ่งต่างๆ ในวัยเด็กหรือวัยผู้ใหญ่ของเธอได้ เธอไม่สามารถจดจำสิ่งที่คนส่วนใหญ่พบเจอในชีวิตประจำวันได้ เช่น โลโก้หรือชื่อเพลงทั่วไป
  • ภาวะเสียความจำภายหลังเผชิญเหตุการณ์สะเทือนใจ เกิดจากอาการบาดเจ็บที่ศีรษะ ภาวะเสียความจำจากเหตุการณ์สะเทือนใจมักเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว แต่อาจเกิดขึ้นถาวรหรือเกิดแบบไปข้างหน้า ย้อนหลัง หรือแบบผสมก็ได้ ระยะเวลาของภาวะเสียความจำจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับระดับของการบาดเจ็บ และอาจบ่งบอกถึงการพยากรณ์โรค (Prognosis) เพื่อการฟื้นฟูการทำงาน (Function) อื่นๆ เหตุการณ์สะเทือนใจระดับเบา เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ที่ทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อต้นคอไม่รุนแรงอาจทำให้ผู้อยู่ในรถจำช่วงเวลาก่อนเกิดอุบัติเหตุไม่ได้ เนื่องจากกลไกการถ่ายโอนความทรงจำระยะสั้น/ระยะยาวหยุดชะงักชั่วคราว ยิ่งกว่านั้นผู้ป่วยอาจจำไม่ได้ว่าใครเป็นใคร การมีภาวะเสียความจำหรือความรู้สึกตัวหลังการบาดเจ็บเป็นเวลานานอาจเป็นข้อบ่งชี้ว่าจะต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูที่ยาวนานกว่า

การสูญเสียความทรงจำแบบไม่เกี่ยวข้อง เกิดจากการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ เป็นโรคทางจิตเวชชนิดหนึ่งซึ่งตรงข้ามกับสมองที่ถูกทำลายอันเกิดจากการบาดเจ็บที่ศีรษะ การบาดเจ็บทางร่างกาย หรือโรค ซึ่งเรียกว่าภาวะเสียความจำที่เกิดจากสภาวะทางจิต บุคคลดังกล่าวจะมีปัญหาในการแสดงออกทางอารมณ์และความทรงจำที่เสียหายนั้นก็จะคงอยู่ตลอดไป ซึ่งสามารถจำแนกการสูญสียควมทรงจำจากการกระทบกระเทือนทางอารมณ์ได้ดังนี้

  • ความทรงจำที่อัดอั้น (Repressed memory) หรือเดิมชื่อ “Psychogenic amnesia” คือการไม่สามารถจำข้อมูลได้ ซึ่งมักจะเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ตึงเครียดหรือกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง เช่น ความรุนแรงหรือภัยพิบัติ แม้จะเก็บไว้ในความทรงจำระยะยาว แต่ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ เนื่องจากการใช้กลไกทางจิตป้องกันตนเอง บุคคลยังสามารถในการเรียนรู้ข้อมูลใหม่ๆ และอาจมีการฟื้นความทรงจำบางส่วนหรือทั้งหมดได้ในภายหลัง
  • การลืมแบบไม่เกี่ยวข้อง (Dissociative fugue) หรือเดิมชื่อ "Psychogenic fugue" เป็นที่รู้จักในชื่ออาการลืมตัวตน (Fugue state) มีสาเหตุมาจากบาดแผลทางจิตใจซึ่งมักเกิดขึ้นชั่วคราวและไม่ได้รับการแก้ไข และอาจกลับมาเป็นซ้ำอีก สามารถแบ่งออกเป็น 2 อย่างคือ (1) สภาพที่เป็นมาก่อน เช่น การผ่าตัดเนื้อกลีบสมองส่วนหน้า (Lobotomy) และ (2) อิทธิพลของสารสื่อประสาทที่เกิดขึ้นทันที เช่น แอลกอฮอล์หรือยาเสพติด บุคคลที่มี การลืมแบบไม่เกี่ยวข้อง จะลืมหรือสับสนเกี่ยวกับตัวตนของตนโดยสิ้นเชิง และอาจถึงขั้นเปลี่ยนตัวตนใหม่ได้ พวกเขาสามารถเดินทางจากบ้านหรือที่ทำงานได้หลายร้อยไมล์ พวกเขาอาจแสดงให้เห็นถึงนิสัยที่ไม่ใช่ลักษณะนิสัยปกติอื่น ๆ และบางครั้งก็อาจเป็นอันตราย ตัวอย่างเช่น จากการศึกษาชาย 5 คนที่มีภาวะการลืมแบบไม่เกี่ยวข้อง พบว่า 2 คนมีส่วนในการกระทำผิดทางอาญาในขณะที่มีอาการลืมตัวโดยที่พวกเขาไม่เคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน แม้ภาวะดังกล่าวจะได้รับความนิยมในนิยาย แต่ภาวะเสียความจำประเภทนี้พบได้ยากมาก
  • ภาวะเสียความจำหลังถูกสะกดจิต (Posthypnotic amnesia) เกิดขึ้นเมื่อลืมเหตุการณ์ต่างๆ ในระหว่างการสะกดจิต หรือไม่สามารถฟื้นความทรงจำได้ ความล้มเหลวในการจดจำเหตุการณ์เหล่านั้นเกิดจากกาให้คำแนะนำในระหว่างการสะกดจิต ลักษณะของภาวะเสียความจำหลังถูกสะกดจิตบางอย่าง ได้แก่ การไม่สามารถจำเหตุการณ์เฉพาะในขณะที่ถูกสะกดจิต การพลิกฟื้นความทรงจำ และการไม่มีความสัมพันธ์ระหว่างความจำโดยปริยาย (Implicit) และความจำแบบชัดแจ้ง (Explicit)ได้โดยใช้ความคิดระดับสูง การวิจัยพบว่าอาจเกิดภาวะเสียความจำแบบเลือกจำเฉพาะบางอย่างที่อยากจำเมื่อเกิดภาวะเสียความจำหลังถูกสะกดจิต
  • ภาวะเสียความจำแบบ เป็นโพรง (Lacunar amnesia) คือการสูญเสียความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นภาวะเสียความจำชนิดที่ทำให้เกิดโพรง (ช่องว่าง) ในบันทึกความทรงจำบริเวณเปลือกสมอง สาเหตุของภาวะเสียความจำประเภทนี้เป็นผลมาจากการที่ระบบสมองส่วนกลาง (Limbic) ซึ่งเป็นตัวควบคุมความทรงจำและอารมณ์ถูกทำลาย
  • ภาวะเสียความจำในวัยเด็ก (Childhood amnesia) หรือเรียกอีกอย่างว่าภาวะเสียความจำในวัยทารก (Infantile) คือการไม่สามารถจดจำเหตุการณ์ในวัยเด็กได้ ซิกมันด์ ฟรอยด์ (Sigmun Feud) เรียกว่าลักษณะนี้ว่าเป็นการกดขี่ทางเพศ (Sexual depression) ซึ่งหมายถึงสภาวะที่บุคคลถูกขัดขวางไม่ให้แสดงออกถึงเรื่องเพศของตนเอง ในขณะที่ระเบียบวิธีแบบวิทยาศาสตร์สมัยใหม่อ้างว่า ลักษณะเช่นนี้เป็นเรื่องของการพัฒนาสมองหรือจิตวิทยาพัฒนาการรวมถึงการพัฒนาทางภาษาด้วย จึงอาจเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมผู้คนจึงจำเหตุการณ์ในช่วงการพัฒนาทางภาษาขั้นแรกเริ่มไม่ค่อยได้ บางงานวิจัยระบุว่าผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ไม่สามารถจำเรื่องราวในช่วง 1-2 ขวบได้ ซึ่งการวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่ามีอิทธิพลทางวัฒนธรรมที่ส่งผลต่อการนึกถึงความทรงจำเก่าๆ นักวิจัยพบว่าความทรงจำโดยปริยายไม่สามารถเรียกคืนหรืออธิบายได้ การจดจำวิธีเล่นเปียโนเป็นตัวอย่างของความจำโดยปริยายเช่นเดียวกับการเดิน การพูด และกิจกรรมอื่นๆ ในชีวิตประจำวันที่ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้ใหม่ทุกครั้งที่ตื่นนอนตอนเช้า ในทางกลับกัน ความทรงจำแบบชัดแจ้งสามารถเรียกคืนและอธิบายเป็นคำพูดได้ การจดจำครั้งแรกที่พบกับครูเป็นตัวอย่างหนึ่งของความทรงจำที่ชัดเจน
  • โรคหลงลืมชั่วคราว (Transient global amnesia) เป็นลักษณะทางการแพทย์และทางคลินิกที่ได้มีการอธิบายไว้อย่างชัดเจน โรคนี้จะแตกต่างตรงที่บางครั้งสามารถมองเห็นความผิดปกติในสมองส่วนฮิปโปแคมปัสได้โดยการตรวจเอ็กซ์เรย์ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Magnetic resonance imaging: MRI) ที่เรียกว่าโปรแกรม Diffusion-weighted imaging (DWI) โดยทั่วไปมักมีอาการไม่ถึงหนึ่งวัน และไม่มีปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการหรือความบกพร่องทางระบบประสาทอื่นๆ ที่ชัดเจน สาเหตุของโรคนี้ยังไม่ชัดเจน ส่วนสมมติฐานของกลุ่มอาการ ได้แก่ การไหลเวียนเลือดลดลงชั่วคราว อาการชัก (Seizure) หรือไมเกรน (Migraine) แบบไม่เฉพาะ โดยทั่วไปผู้ป่วยจะจดจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตได้นานกว่า 2-3 นาที แม้ว่าจะยังคงมีความจำเฉพาะหน้าอยู่ก็ตาม
  • ภาวะเสียความจำแหล่งที่มา (Source amnesia) คือการไม่สามารถจดจำได้ว่าข้อมูลที่เรียนรู้ก่อนหน้านี้ว่า ได้มาที่ไหน เมื่อใด หรืออย่างไร แต่ยังคงจดจำข้อมูลจริงได้ เมื่อบุคคลไม่สามารถจำได้ ก็อาจเกิดความทรงจำเท็จและทำให้เกิดความสับสนอย่างมาก
  • กลุ่มอาการคอร์ซาคอฟฟ์ (Korsakoff's syndrome) อาจเป็นผลมาจากโรคพิษสุราเรื้อรังหรือภาวะทุพโภชนาการเป็นเวลานาน มีสาเหตุมาจากสมองที่ถูกทำลายอันเนื่องมาจากการขาดวิตามินบี 1 และจะรุนแรงขึ้นหากไม่ปรับเปลี่ยนปริมาณแอลกอฮอล์และโภชนาการ ปัญหาทางระบบประสาทอื่นๆ มักจะเกิดขึ้นร่วมกับภาวะเสียความจำประเภทนี้ เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสมองกลีบขมับส่วนในและความผิดปกติที่สมองใหญ่ส่วนหน้า และก็เป็นที่รู้กันว่ากลุ่มอาการคอร์ซาคอฟฟ์เกี่ยวข้องกับการกุ (Confabulation) เหตุความจำเสื่อม โดยความจำระยะสั้นของบุคคลนั้นอาจดูเหมือนเป็นปกติ แต่อาจมีช่วงเวลาที่ยากในการพยายามนึกถึงเรื่องราวในอดีต หรือใช้คำที่ไม่เกี่ยวข้อง กลุ่มอาการคอร์ซาคอฟฟ์มีลักษณะเฉพาะเนื่องจากเกี่ยวข้องกับภาวะเสียความจำไปข้างหน้าและภาวะเสียความจำย้อนหลัง
  • ภาวะเสียความจำที่เกิดจากยา (Drug-induced amnesia) เกิดขึ้นจากการฉีดยาลบความทรงจำเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยลืมการผ่าตัดหรือหัตถการทางการแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ไม่ได้ดมยาสลบ หรือมีแนวโน้มว่าจะกระทบกระเทือนจิตใจเป็นพิเศษ ยาดังกล่าวเรียกอีกอย่างว่า “ก่อนการระงับความรู้สึกในห้องผ่าตัด (premedicants)” โดยทั่วไปมักเลือกใช้กลุ่มยา 2-halogenated benzodiazepine (กลุ่มยานอนหลับ) เช่น มิดาโซแลม (midazolam) หรือฟลูนิแทรซิแพม (flunitrazepam) แต่ก็ใช้ยาลบความทรงจำชนิดรุนแรงอื่นๆ เช่น โปรโพฟอล (propofol) หรือสโคโปลามีน (scopolamine) เช่นกัน การดำเนินการในขั้นตอนการลบความทรงจำจะมีผลในช่วงที่ยาออกฤทธิ์เท่านั้น
  • ภาวะเสียความจำเฉพาะสถานการณ์ (Situation-specific amnesia) สามารถเกิดขึ้นได้ในหลายสถานการณ์ (เช่น การกระทำความผิด การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก [Child sexual abuse]) ที่ส่งผลให้เกิด PTSD (= Post-traumatic stress disorder) กล่าวคือภาวะนี้มักเกี่ยวข้องกับการจำกัดจิตสำนึกให้แคบลงโดยให้ความสนใจไปที่รายละเอียดการรับรู้จากส่วนกลาง และ/หรือการประมวลผลเหตุการณ์ทางอารมณ์หรือบาดเจ็บที่แตกต่างจากความทรงจำทั่วไป
  • โรคลืมชั่วคราวจากโรคลมชัก (Transient epileptic amnesia) เป็นโรคลมชัก (Epilepsy) กลีบขมับที่หายากและไม่เป็นที่รู้จัก ซึ่งโดยทั่วไปจะเป็นการสูญเสียความทรงจำอาศัยเหตุการณ์แบบไม่ต่อเนื่อง และเป็นกลุ่มอาการที่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากันชัก
  • ภาวะเสียความจำอาศัยความหมาย (Semantic amnesia) ส่งผลต่อความจำอาศัยความหมายและแสดงออกในรูปแบบของปัญหาในการใช้ภาษาและการเรียนรู้ภาษาเป็นหลัก ภาวะเสียความจำอาศัยความหมายสามารถนำไปสู่โรคสมองเสื่อมได้
  • ภาวะสมองเสื่อมเทียม (Pseudodementia) (หรือเรียกอีกอย่างว่าความผิดปกติของการรับรู้ที่เกี่ยวข้องกับภาวะซึมเศร้า) เป็นภาวะที่ทำให้การรับรู้ทางจิตลดลงชั่วคราว คำว่า “ภาวะสมองเสื่อมเทียม” นำใช้กับสภาวะทางจิตเวชที่หลากหลาย เช่น ภาวะซึมเศร้าและโรคจิตเภท ซึ่งอาจจะคล้ายกับภาวะสมองเสื่อม แต่สามารถรักษาให้หายได้ โดยทั่วไปภาวะสมองเสื่อมเทียมเกี่ยวข้องกับองค์ประกอบด้านการรู้คิด 3 ส่วน ได้แก่ (1) ปัญหาด้านความจำ (2) ความบกพร่องในการจัดการ การตัดสินและการวางแผน และ (3) ความบกพร่องในการพูดและภาษา อาการด้านการรู้คิดที่เฉพาะเจาะจงอาจรวมถึงปัญหาในการจำคำศัพท์หรือการจดจำสิ่งต่าง ๆ ความใส่ใจและการให้ความสนใจต่อสิ่งที่ทำลดลง ความยากในการทำงานหรือการตัดสินใจ ความเร็วและความคล่องในการพูดที่ลดลง และความเร็วในการประมวลผลบกพร่อง ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมเทียมต้องทนทุกข์กับความบกพร่องทางสติปัญญาอย่างมาก อย่างไรก็ตามมีวิธีการรักษาเฉพาะ 2 วิธีที่พบว่ามีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะซึมเศร้า และการรักษาเหล่านี้อาจเป็นประโยชน์ต่อการรักษาภาวะสมองเสื่อมด้วย (1) การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (Cognitive behavioral therapy) เกี่ยวข้องกับการสำรวจและเปลี่ยนแปลงรูปแบบความคิดและพฤติกรรมเพื่อปรับปรุงด้านอารมณ์ของตนเอง และ (2) การบำบัดจิตสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (Interpersonal therapy) มุ่งเน้นไปที่การสำรวจความสัมพันธ์ของแต่ละบุคคลและระบุวิธีที่อาจจะนำมาซึ่งความรู้สึกซึมเศร้า

การรักษา

ภาวะเสียความจำหลายรูปแบบสามารถหายเองได้โดยไม่ต้องเข้ารับการรักษา อย่างไรก็ตาม หากจำเป็นต้องรักษาก็มีหลายวิธี เนื่องจากภาวะเสียความจำเกิดได้จากหลายสาเหตุจึงมีวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน การสนับสนุนทางอารมณ์และความรักตลอดจนการใช้ยาและการบำบัดทางจิตถือว่ามีประสิทธิ ผลในการรักษาที่ดี

หนึ่งในเทคนิคการรักษาภาวะเสียความจำ คือการบำบัดความคิดหรือกิจกรรมบำบัด ในการบำบัด จำเป็นต้องพัฒนาทักษะความจำที่มีอยู่และพยายามฟื้นคืนส่วนที่สูญเสียไปโดยการค้นหาเทคนิคที่ช่วยฟื้นคืนความทรงจำ หรือสร้างเส้นทางการสืบค้นข้อมูลใหม่ๆ นอกจากนี้ยังอาจรวมถึงกลยุทธ์ในการจัดระเบียบข้อมูลเพื่อให้จดจำได้ง่ายขึ้น และเพื่อเพิ่มความเข้าใจการสนทนาที่ยาวขึ้น

กลไกการรับมืออีกประการหนึ่ง คือการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เช่น อุปกรณ์ดิจิทัลส่วนบุคคลเพื่อติดตามงานในแต่ละวัน ซึ่งสามารถตั้งค่าการแจ้งเตือนการกินยา วันเกิด และเหตุการณ์สำคัญอื่นๆ ยิ่งกว่านั้นยังสามารถเก็บรูปภาพต่างๆ ไว้เพื่อช่วยให้ผู้ที่มีภาวะเสียความจำสามารถจำชื่อเพื่อน ครอบครัว และเพื่อนร่วมงานได้ ส่วนสมุดบันทึก ปฏิทินติดผนัง เครื่องแจ้งเตือนการกินยา และรูปถ่ายผู้คนและสถานที่ต่างๆ ล้วนเป็นเครื่องช่วยจำที่ใช้เทคโนโลยีง่ายๆ ซึ่งสามารถช่วยได้เช่นกัน

แม้จะไม่มียารักษาภาวะเสียความจำ แต่ก็สามารถรักษาเพื่อเพิ่มความจำให้ดีขึ้นได้ โดยอาจเกี่ยวข้องกับการทำงานของต่อมไทรอยด์ต่ำ โรคตับหรือไต อัมพฤกษ์-อัมพาต ภาวะซึมเศร้า (Depression)  โรคไบโพลาร์ (Bipolar)  และลิ่มเลือดในสมอง (Blood clot) ส่วนภาวะเวอร์นิเก คอซาคอฟ (Wernicke-Korsakoff syndrome) เป็นการขาดวิตามินบี 1 และสามารถทดแทนวิตามินนี้ด้วยการบริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยวิตามินบี 1 เช่น ธัญพืชไม่ขัดสี พืชตระกูลถั่ว (ถั่วและถั่วเลนทิล [Lentil]) เนื้อหมูไม่ติดมัน และยีสต์ (Yeast) การรักษาโรคพิษสุราเรื้อรังและการป้องกันการใช้แอลกอฮอล์และยาเสพติดที่ผิดกฎหมายช่วยป้องกันความเสียหายเพิ่มเติมได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะไม่สามารถฟื้นคืนความทรงจำที่หายไปได้

แม้ว่าอาการอาจดีขึ้นหากผู้ป่วยได้รับการรักษาบางอย่าง แต่ยังไม่มีวิธีรักษาภาวะเสียความจำที่แท้จริงได้ ผู้ป่วยจะฟื้นตัวได้มากน้อยเพียงใดและภาวะเสียความจำจะดำเนินต่อไปอีกนานแค่ไหนมักขึ้นอยู่กับชนิดและความรุนแรงของรอยโรค

ประวัติความเป็นมา

นักจิตวิทยาชาวฝรั่งเศส Theodule-Armand Ribot เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์กลุ่มแรกๆ ที่ศึกษาเกี่ยวกับภาวะเสียความจำ เขาเสนอกฎของ Ribot ซึ่งระบุว่าภาวะเสียความจำย้อนหลังจะพิจารณาตามการไล่ระดับเวลา (time gradient) โดยกฎเป็นไปตามการเพิ่มขึ้นของความทรงจำที่สูญเสียไปอันเนื่องมาจากโรคภัยไข้เจ็บ ในตอนแรก ผู้ป่วยสูญเสียความทรงจำล่าสุด จากนั้นความทรงจำส่วนตัว และสุดท้ายคือความทรงจำทางสติปัญญา เขาบอกเป็นนัยว่าความทรงจำล่าสุดจะหายไปก่อน

กรณีศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการค้นพบภาวะเสียความจำและส่วนต่างๆ ของสมองที่ได้รับผลกระทบ การศึกษานี้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญว่า ภาวะเสียความจำจะส่งผลอย่างไรต่อสมองบ้าง การศึกษาช่วยให้นักวิทยาศาสตร์มีทรัพยากรในการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับภาวะเสียความจำและข้อมูลเชิงลึกด้านการรักษาหรือการป้องกัน นอกจากนี้ยังมีกรณีศึกษาที่สำคัญอย่างยิ่งหลายกรณี ได้แก่ กรณีศึกษาของ Henry Molaison, R.B และ G.D.

Henry Molaison

Henry Molaison เดิมรู้จักในชื่อ H.M. ได้เปลี่ยนวิธีคิดของผู้คนในเรื่องความทรงจำ ในปี ค.ศ. 1957 William Beecher Scoville และ Brenda Milner ได้รายงานเรื่องนี้เป็นครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ เขาเป็นผู้ป่วยที่เป็นโรคลมชักรุนแรงซึ่งมีสาเหตุมาจากอุบัติเหตุทางจักรยานตอน 9 ขวบ แพทย์ไม่สามารถควบคุมอาการชักด้วยยาได้ ดังนั้น ศัลยแพทย์ระบบประสาท Scoville จึงลองใช้วิธีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการผ่าตัดสมองโดยเอาสมองกลีบขมับส่วนในออกทั้งสองข้างผ่านการตัดกลีบขมับ (Temporal lobectomy) โรคลมชักของเขาดีขึ้น แต่ Molaison ไม่สามารถสร้างความทรงจำระยะยาวใหม่ (ภาวะเสียความจำไปข้างหน้า) แต่ความจำระยะสั้นของเขาทำงานปกติ ถ้าเขาได้รับรายการคำศัพท์ เขาจะลืมมันในเวลา 1 นาที ในความเป็นจริง เขาจะลืมไปว่าเขาได้รับรายการตั้งแต่แรกด้วยซ้ำ อย่างไรก็ตาม การทำงานและความจำระยะสั้นของ H.M. ดูเหมือนจะไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ เขาสามารถจำตัวเลขได้ปกติ (Digit span) และสามารถสนทนาโดยไม่จำเป็นต้องจำบทสนทนาที่ผ่านมา แต่ทันทีที่ Molaison หยุดคิดถึงรายการต่างๆ เขากลับไม่สามารถจำรายการเหล่านั้นจากความทรงจำระยะยาวได้ ภาวะนี้จึงเป็นหลักฐานที่ดีต่อนักวิจัยในแง่ที่ว่าแท้จริงแล้วความจำระยะสั้นและระยะยาวนั้นเป็นกระบวนการที่แตกต่างกัน กล่าวคือ แม้ว่าเขาจะลืมรายการนั้นแล้ว แต่เขาก็ยังคงสามารถเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านความทรงจำโดยปริยายของเขา นักจิตวิทยาขอให้เขาวาดภาพบางอย่างบนกระดาษ แต่ให้มองกระดาษโดยใช้กระจก แม้ว่าเขาจะจำไม่ได้ว่าเคยทำงานนั้นมาก่อน แต่เขาก็จะมีการปรับปรุงหลังจากทำมันซ้ำแล้วซ้ำอีก ซึ่งก็แสดงให้นักจิตวิทยาเห็นว่าเขากำลังเรียนรู้และจดจำสิ่งต่าง ๆ โดยไม่รู้ตัว ในบางการศึกษาพบว่าการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ของ H.M. ยังคงเหมือนเดิม และทักษะการรับรู้อื่นๆ ของเขาก็ทำงานอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังพบว่าบางคนที่มีภาวะเสียความจำจากข้อมูลเชิงประจักษ์สามารถเตรียมการรับรู้ได้

ทั้งนี้ได้มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องตลอดช่วงชีวิตของ Molaison เพื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะเสียความจำ นักวิจัยทำการศึกษาติดตามผลเกี่ยวกับ Molaison เป็นเวลา 14 ปี พวกเขาได้ศึกษา Molaison เป็นระยะเวลา 2 สัปดาห์เพื่อเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาวะเสียความจำของเขา หลังจากผ่านไป 14 ปี Molaison ยังคงจำเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่การผ่าตัดไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เขายังคงจำเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นก่อนผ่าตัดได้ นักวิจัยยังพบว่าเมื่อถาม Molaison เขาสามารถตอบคำถามเกี่ยวกับเหตุการณ์ในประเทศและต่างประเทศได้ แต่เขากลับจำเรื่องส่วนตัวของตนเองไม่ได้ หลังจากที่เขาเสียชีวิต Molaison ได้บริจาคสมองเพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งทำให้พวกเขาสามารถค้นพบบริเวณต่าง ๆ ของสมองที่มีรอยโรคซึ่งทำให้เขาสูญเสียความจำ โดยเฉพาะสมองกลีบขมับส่วนใน กรณีศึกษานี้ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่สำคัญเกี่ยวกับพื้นที่ของสมองที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเสียความจำไปข้างหน้า รวมถึงวิธีการทำงานของภาวะเสียความจำ กรณีของ H.M. แสดงให้เห็นว่ากระบวนการทำงานในส่วนของความจำถูกรวมไว้ในส่วนต่างๆ ของสมอง และความจำระยะสั้นและการทำงานมักจะไม่บกพร่องในกรณีของภาวะเสียความจำ

Clive Wearing

กรณีประวัติศาสตร์อันโด่งดังของภาวะเสียความจำอีกกรณีหนึ่งนั่นคือกรณีของ Clive Wearing เขาเป็นวาทยกรและนักดนตรีที่ติดเชื้อไวรัสเริม (Herpes simples virus: HSV) ซึ่งส่งผลกระทบต่อสมองส่วนฮิปโปแคมปัส และเนื่องจากสมองส่วนนี้ถูกทำลาย Wearing จึงไม่สามารถจดจำข้อมูลได้เกิน  2-3 นาที ความจำเชิงไม่ประจักษ์ของ Wearing ยังคงทำงานอยู่ แต่ความจำเชิงประจักษ์ของเขาบกพร่อง สำหรับเขาแล้ว เขารู้สึกว่าเขาเพิ่งรู้สึกตัวครั้งแรกในทุกครั้งที่เขาไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ ซึ่งสามารถนำกรณีนี้ไปใช้เป็นหลักฐานได้ว่าหน่วยความจำเชิงประจักษ์และเชิงไม่ประจักษ์มีลักษณะที่ต่างกัน และยังนำไปเป็นหลักฐานเพิ่มเติมว่าสมองส่วนฮิปโปแคมปัสเป็นส่วนสำคัญในการจดจำเหตุการณ์ในอดีต และความจำเชิงประจักษ์และไม่ประจักษ์มีกระบวนการทำงานในส่วนต่างๆ ของสมองที่แตกต่างกัน

ผู้ป่วย R.B.

R.B. เป็นผู้ชายที่ทำงานได้ตามปกติจนถึงอายุ 52 ปี เมื่ออายุ 50 ปี เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ตีบ (Angina) และได้รับการผ่าตัด 2 ครั้ง หลังจากเกิดภาวะขาดเลือด (เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง) ซึ่งเกิดจากการผ่าตัดบายพาส (Bypass) หัวใจ R.B. แสดงให้เห็นถึงภาวะเสียความจำไปข้างหน้า แต่เกือบจะไม่มีภาวะเสียความจำย้อนหลังเลย ยกเว้นในช่วง 2ปีก่อนการผ่าตัด และไม่มีสัญญาณของความบกพร่องทางสมองอื่นใด จนกระทั่งหลังจากการตายของเขา นักวิจัยก็มีโอกาสตรวจสมองของเขา พวกเขาพบว่ามีรอยโรคอยู่บริเวณ CA1 ของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส กรณีศึกษานี้นำไปสู่การวิจัยที่สำคัญเกี่ยวกับบทบาทของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสและการทำงานของความจำ

ผู้ป่วย G.D.

G.D. เป็นชายผิวขาวที่เกิดในปี ค.ศ. 1940 และทำหน้าที่ในกองทัพเรือ เขาได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังและได้รับการรักษาด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (Hemodialysis) ตลอดชีวิต ในปี ค.ศ 1983 เขาไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการผ่าตัดพาราไธรอยด์ (Parathyroidectomy) นอกจากนี้เขายังผ่าตัดตัดกลีบไทรอยด์ด้านซ้ายออกเนื่องจากการเสียเลือดอย่างรุนแรงในกลีบซ้าย เขาเริ่มมีปัญหาเกี่ยวกับหัวใจอันเป็นผลมาจากการผ่าตัด และรู้สึกกระวนกระวายใจมาก แม้จะออกจากโรงพยาบาลได้ 5 วันแล้ว เขาก็จำไม่ได้ว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา นอกเหนือจากภาวะเสียความจำแล้ว ดูเหมือนว่าจะไม่มีผลต่อกระบวนการรับรู้เลย เขาไม่อยากเข้าร่วมในการวิจัยมากนัก แต่จากการทดสอบด้านความจำจากแพทย์แล้ว แพทย์ยืนยันว่าปัญหาด้านความจำของเขาจะยังอยู่ต่อไปอีก 9.5 ปีจนกระทั่งเขาเสียชีวิต หลังจากที่เขาเสียชีวิตสมองของเขาถูกนำไปบริจาค เพื่อการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ มีการถ่ายภาพ และเก็บรักษาไว้เพื่อการศึกษาในอนาคต

ในนิยาย (Fiction)

โรคหลงลืมชั่วคราวเป็นแนวเรื่องทั่วไปในนิยาย แม้ว่าในความเป็นจริงจะพบได้ยากมากก็ตาม ในบทนำของกวีนิพนธ์เรื่อง The Vintage Book of Amnesia นั้น  Jonathan Lethem เขียนว่า

ภาวะเสียความจำที่แท้จริงที่สามารถวินิจฉัยได้ (คนที่ศีรษะกระแทกและลืมชื่อตนเอง) ส่วนใหญ่เป็นเพียงข่าวลือที่เกิดขึ้นในโลกเท่านั้น ซึ่งถือเป็นภาวะที่หายาก และมักเกิดขึ้นเพียงเวลาสั้นๆ อย่างไรก็ตาม ในหนังสือและภาพยนตร์ อาการของภาวะเสียความจำมีอยู่ทุกที่ ตั้งแต่เรื่อง Mission Impossible ไปจนถึงผลงานชิ้นเอกที่เป็นอภินวนิยายและแนวคิดของปรัชญาไร้สาระที่มีจุดแวะพักหลายสิบจุดระหว่างนั้น ภาวะเสียความจำอาจไม่มีมากนัก แต่ก็มักเห็นตัวละครที่มีภาวะเสียความจำไม่ว่าจะเป็นหนังสือการ์ตูน ภาพยนตร์ และความฝันของเรา เราทุกคนอาจจะเคยพบและเป็นพวกเขามาแล้ว

Lethem สืบย้อนถึงต้นตอของภาวะเสียความจำจากวรรณกรรมของ Franz Kafka และ Samuel Beckett และคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับอิทธิพบมาจากการซึมซับวัฒนธรรมสมัยนิยมของผลงานของ Sigmund Freud ซึ่งมีอิทธิพลอย่างมากต่อภาพยนตร์ประเภทต่างๆ เช่น Film noir ภาวะเสียความจำมักถูกนำมาใช้เป็นวิธีการสร้างโครงเรื่องในภาพยนตร์ โดยเหยื่อจะถามตัวเองว่า "ฉันอยู่ที่ไหน? ฉันเป็นใคร? ฉันเป็นอะไร?" หรือบางครั้งก็ถามชื่อตัวเองว่า "บิลหรือ? บิลคือใคร?"

ในภาพยนตร์และโทรทัศน์ โดยเฉพาะละครหรรษา (Situation comedy) และละครน้ำเน่ามักกล่าวว่าการตีศีรษะครั้งที่ 2 แบบเดียวกับครั้งแรกที่ทำให้เกิดภาวะเสียความจำ จะทำให้หายได้ แต่ในความเป็นจริง การถูกกระทบกระแทก (Concussion) ซ้ำๆ อาจทำให้เกิดความผิดปกติสะสม รวมถึงปัญหาทางการรับรู้ และในบางกรณีอาจทำให้สมองบวมถึงตายที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มอากาถูกกระทบกระเทือนครั้งที่ 2 (Second-impact syndrome)

ในนิยายวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการปิดบังซ่อนเร้นในทางไสยศาสตร์หรือมนุษย์ต่างดาว เช่น Men in Black หรือ SCP Foundation (SCP = Secure, Contain, and Protect ซึ่งเป็นองค์กรสมมุติ) จะทำให้เกิดภาวะเสียความจำโดยใช้ยาหรือเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อทำให้ลืมปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ

อ่านตรวจทานโดย ศ. นพ. สมศักดิ์ เทียมเก่า

 

 แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Amnesia [2023, December 25] โดย พชรมน ไกรรณภูมิ