สารละลายน้ำเกลือ (Saline or Sodium chloride solution)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาสารละลายน้ำเกลือ/น้ำเกลือ (Saline หรือ Sodium chloride solution หรือ Saline solution) จัดเป็นสารอิเล็กโทรไลต์ (Electrolyte)/สารเกลือแร่ชนิดเหลวที่มีองค์ประกอบของเกลือแกง (Sodium chloride) บริสุทธิ์ที่เรียกว่า “Pharmaceutical grade” โดยมีความเข้มข้นของสารละลายได้หลากหลายเช่น 0.9% หรือ 0.45% ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสูตรตำรับยาที่มีวัตถุประสงค์การใช้แตกต่างกันออกไป ค่าความเป็นกรด-ด่างหรือที่เรียกกันว่าค่าพีเอช (pH) ของสารละลายน้ำเกลือจะอยู่ที่ 5.5 หรือในช่วง 4.5 - 7

ในกระบวนการผลิตสารละลายน้ำเกลือจะมีขั้นตอนป้องกันการปนเปื้อนของเชื้อโรคในผลิตภัณฑ์รวมถึงขั้นตอนที่ทำให้ผลิตภัณฑ์สารละลายน้ำเกลือปราศจากเชื้อด้วยความร้อน สารละลายน้ำเกลือที่ผ่านการวิเคราะห์จากฝ่ายประกันคุณภาพไม่ว่าจะเป็นในเรื่องเปอร์เซ็นต์ของสัดส่วนของสารสำคัญ (เกลือแกง) ค่าความเป็นกรด-ด่าง ปราศจากตะกอน และที่สำคัญจะต้องปราศจากเชื้อ จะถูกบรรจุลงในถุงหรือขวดพลาสติกหรือขวดแก้วที่ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสมต่อการใช้งานทางคลินิกเช่น การให้น้ำเกลือ/สารละลายน้ำเกลือเข้าหลอดเลือดดำ ที่ขวดน้ำเกลือต้องมีที่แขวนถุง/ขวดน้ำเกลือและมีระดับบ่งบอกปริมาณน้ำเกลือที่บรรจุในถุง/ขวด เป็นต้น

ทางคลินิกนอกจากจะนำน้ำเกลือที่ปราศจากเชื้อมาให้ทางหลอดเลือดดำเพื่อปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายแล้ว ยังมีการนำไปเตรียมเป็นสารเจือจางของยาฉีดชนิดต่างๆเพื่อฉีดเข้าเส้นเลือด/หลอดเลือดโดยเฉพาะหลอดเลือดดำ หรือผลิตออกมาเป็นน้ำยาล้างแผล/น้ำยาทำแผล ที่ไม่ก่อให้เกิดอาการแสบขณะสัมผัสกับบาดแผล หรือใช้เป็นน้ำยาล้างจมูกกรณีที่ป่วยด้วยโรคไซนัสอักเสบ รวมถึงใช้เป็นยาหยอดหูเพื่อบรรเทาอาการอักเสบของช่องหู

มีข้อจำกัดในการใช้ยาสารละลายน้ำเกลือบางประการที่ผู้บริโภคควรรับทราบดังต่อไปนี้

  • ห้ามใช้กับผู้ที่มีประวัติแพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบของยาสารละลายน้ำเกลือ
  • สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร ล้วนแต่เป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการใช้ยาแทบทุกประเภทซึ่งรวมถึงยาสารละลายน้ำเกลือด้วย การใช้ยาสารละลายน้ำเกลือกับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางอย่างจะต้องเพิ่มความระมัดระวังเป็นอย่างมากก่อนการใช้ยาสารละลายน้ำเกลือด้วยอาจทำให้อาการและความรุนแรงของโรคกำเริบขึ้นได้อย่างมากมายเช่น ผู้ที่ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยโรคตับโรคไต ผู้ที่ร่างกายมีเกลือโซเดียมหรือเกลือโพแทสเซียมอยู่ในระดับสูงในเลือด รวมถึงผู้ที่มีโรคระบบทางเดินปัสสาวะ
  • การใช้ยาสารละลายน้ำเกลือร่วมกับยาบางกลุ่มก็สามารถทำให้ผู้ป่วยได้รับผลกระทบ (ผลข้างเคียง) จากยาสารละลายน้ำเกลือได้มากขึ้นเช่นกันเช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์/Cortico steroid (เช่น ยาเพรดนิโซโลน/Prednisolone) เป็นต้น
  • ขณะผู้ป่วยได้รับยาสารละลายน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำ แพทย์จะมีการตรวจสอบควบคุมระดับเกลืออิเล็กโทรไลต์ต่างๆในเลือดว่าอยู่ในระดับปกติหรือยัง การได้รับยาสารละลายน้ำเกลือมากเกินไปก็สามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้เช่นกันเช่น ภาวะบวมน้ำ

สารละลายน้ำเกลือยังสามารถก่อให้เกิดอาการข้างเคียง (ผลข้างเคียง) บางอย่างได้เหมือน กับยาชนิดอื่นเช่น ทำให้มีอาการไข้ ปัสสาวะบ่อย รวมถึงเกิดอาการอักเสบของหลอดเลือดดำในส่วนที่มีการแทงเข็มเพื่อเดินน้ำเกลือเข้าหลอดเลือด

ประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยาได้กำหนดให้ยาสารละลายน้ำเกลืออยู่ในบัญชี ยาหลักแห่งชาติและมีใช้ตามสถานพยาบาลทั้งของรัฐและเอกชนโดยทั่วไป

การใช้ยาสารละลายน้ำเกลือควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์ ผู้บริโภคที่มีข้อสงสัยเพิ่มเติม สามารถสอบถามรายละเอียดของยาสารละลายน้ำเกลือจากแพทย์ผู้รักษาหรือจากเภสัชกรได้โดยทั่วไป

สารละลายน้ำเกลือมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

สารละลายน้ำเกลือ

ยาสารละลายน้ำเกลือมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้เช่น

  • บำบัดและชดเชยการขาดสมดุลของน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย
  • ใช้ทำละลายหรือเจือจางยาฉีดหลายชนิดเพื่อหยดยาเหล่านั้นเข้าหลอดเลือดดำอย่างช้าๆ
  • ใช้เป็นยาชำระล้างบาดแผล/ยาทำแผล ยาล้างจมูก ยาหยอดหู โดยใช้สูตรตำรับยาที่มีความเข้มข้นของ Sodium chloride 0.9% ซึ่งเรียกยาสารละลายน้ำเกลือความเข็มข้นในขนาดนี้ว่า Normal saline (N/S หรือ NS) หรือ Normal saline solution (NSS)
  • ใช้สวนทวารหนักช่วยเป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกโดยสูตรตำรับจะมีความเข้มข้นของ Sodium chloride อยู่ที่ 15%

สารละลายน้ำเกลือมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาสารละลายน้ำเกลือมีกลไกการออกฤทธิ์เช่น

ก. กรณีหยดยาเข้าหลอดเลือดดำ: มักใช้ยาสารละลายน้ำเกลือชนิดที่เข้มข้นของSodium chloride 0.9% หรือ 0.45% จะมีกลไกการออกฤทธิ์โดยจะช่วยปรับสมดุลเกลือแร่ในร่างกายจึงส่งผลต่อการทำงานของระบบอวัยวะต่างๆในร่างกายให้กลับมาเป็นปกติ

ข. กรณีที่ใช้เป็นยาล้างแผล/ยาทำแผล ยาล้างจมูก ยาหยอดหู: ซึ่งจะใช้ยาสารละลายน้ำเกลือชนิดที่มีความเข้มข้นของ Sodium chloride 0.9% ทางคลินิกถือว่าความเข้มข้นระดับนี้จะทำให้เกิดแรงตึงหรือความดันชนิดออสโมซิส (Osmosis, ความดันชนิดที่ก่อให้เกิดการซึมผ่านของสารต่างๆผ่านผนังเซลล์หรือผ่านผนังหลอดเลือด) เท่ากับในเลือด จึงชำระล้างบาดแผลได้โดยไม่ทำให้เกิดอาการปวดแสบ จากกลไกดังกล่าวจึงส่งผลให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ

ค. กรณีใช้เป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกชนิดสวนทวาร: การสวนทวารด้วยยาสารละลายน้ำเกลือที่มีความเข็มข้นของ Sodium chloride 15% จะกระตุ้นให้ลำไส้ใหญ่สวนปลายเกิดการบีบตัวอย่างแรงจนมีอาการปวดอุจจาระและเกิดการขับถ่ายอุจจาระในที่สุด

สารละลายน้ำเกลือมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาสารละลายน้ำเกลือมีรูปแบบการจัดจำหน่ายเช่น

  • สารละลายสำหรับหยดหรือฉีดเข้าหลอดเลือดขนาดความเข้มข้นของ Sodium chloride 0.45 และ 0.9%
  • สารละลายสำหรับล้างแผล ล้าง/พ่นจมูก หรือหยอดหู ขนาดความเข้มข้นฯ 0.9%
  • สารละลายสำหรับสวนทวารหนักช่วยเป็นยาระบาย/ยาแก้ท้องผูกขนาดความเข้มข้นฯ 15%

สารละลายน้ำเกลือมีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาสารละลายน้ำเกลือมีขนาดการบริหารยา/ใช้ยาเช่น

ก. กรณีบำบัดสมดุลน้ำและเกลือแร่ของร่างกาย:

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: การให้ยาสารละลายน้ำเกลือทางหลอดเลือดดำจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น ทั้งนี้ขึ้นกับเงื่อนไขของอาการป่วย อายุ น้ำหนักตัว รวมถึงโรคประจำตัวต่างๆของผู้ป่วย

ข. กรณีใช้ชำระล้างบาดแผล ล้างจมูก หยอดหู หรือสวนทวาร:

  • ผู้ใหญ่และเด็ก: แพทย์/พยาบาลจะเป็นผู้แนะนำทั้งขนาดและวิธีใช้ยาสารละลายน้ำเกลือ ที่ถูกผลิตมาเพื่อชำระล้างบาดแผล ล้างจมูก หยอดหู หรือสวนทวารหนัก ได้อย่างเหมาะสมที่สุด ผู้ป่วยควรใช้ยาสารละลายน้ำเกลือตามคำแนะนำของแพทย์/พยาบาลอย่างเคร่งครัด

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาสารละลายน้ำเกลือ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรดังนี้

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดเช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆรวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาสารละลายน้ำเกลืออาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

สารละลายน้ำเกลือมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาสารละลายน้ำเกลือสามารถก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ดังนี้เช่น ทำให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจติดขัด/แน่นหน้าอก มีไข้ ผื่นคัน ปวดข้อ เปลือกตา/หนังตา-ใบหน้า-ปาก-มือ-เท้ามีอาการบวม

มีข้อควรระวังการใช้สารละลายน้ำเกลืออย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาสารละลายน้ำเกลือเช่น

  • ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้หรือแพ้ส่วนประกอบในสูตรตำรับของยาสารละลายน้ำเกลือ
  • ห้ามใช้กับสตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
  • ระวังการใช้กับผู้ป่วยด้วยโรคหัวใจล้มเหลว ผู้ป่วยด้วยความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคตับโรคไต
  • ระหว่างการใช้ยาสารละลายน้ำเกลือหากเกิดอาการแพ้ยาเช่น แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก/ หายใจลำบาก ตัวบวม มีผื่นคัน ต้องหยุดการให้ยาสารละลายน้ำเกลือทันทีแล้วรีบแจ้งแพทย์/พยาบาลโดยเร็วทันที/ฉุกเฉิน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมสารละลายน้ำเกลือด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ ด้วยยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ทุกครั้งที่มีการใช้ยาควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอ

สารละลายน้ำเกลือมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาสารละลายน้ำเกลือมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น

  • การใช้สารละลายน้ำเกลือร่วมกับยา Lithium อาจส่งผลให้ประสิทธิภาพในการรักษาของยา Lithium ด้อยลงไป หากจำเป็นต้องใช้ร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดการใช้ให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
  • การใช้สารละลายน้ำเกลือชนิดฉีดร่วมกับยารักษาภาวะเกลือโซเดียมในเลือดต่ำเช่น Tolvaptan สามารถส่งผลให้ระดับเกลือโซเดียมในเลือดสูงมากเกินไป หากไม่มีความจำเป็นใดๆ ควรหลีกเลี่ยงการใช้ร่วมกัน

ควรเก็บรักษาสารละลายน้ำเกลืออย่างไร

ควรเก็บยาสารละลายน้ำเกลือภายใต้อุณหภูมิห้องที่เย็น ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อนและความชื้น เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง และไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์

สารละลายน้ำเกลือมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาสารละลายน้ำเกลือที่จำหน่ายในประเทศไทย มียาชื่อการค้าและบริษัทผู้ผลิตเช่น

ชื่อการค้าบริษัทผู้ผลิต
Nasal Irrigation (นาซอล เออริเกชั่น) A.N.B.
0.9% Sodium chloride injection (0.9% โซเดียมคลอไรด์ อินเจ็คชั่น) Thai Nakorn Patana
Kolex (โคเลกซ์)Millimed
U-Enema (ยู-อีนีมา) Unison

บรรณานุกรม

  1. http://www.drugs.com/cdi/sodium-chloride-solution.html [2016,April30]
  2. http://www.rxlist.com/normal-saline-drug.html [2016,April30]
  3. http://www.drugs.com/drug-interactions/sodium-chloride-index.html?filter=2&generic_only= [2016,April30]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_chloride [2016,April30]
  5. http://www.mims.com/thailand/drug/info/u-enema/?type=brief [2016,April30]
  6. http://webdb.dmsc.moph.go.th/ifc_qa/DBQA/17025/EN/1113_50_EN.pdf [2016,April30]